Tobin Tax สูงส่งกว่าที่กำลังจะทำ

วรากรณ์  สามโกเศศ
12 เมษายน 2559

         เรื่องร้อนแรงที่สุดในยุโรปตอนนี้คงไม่หนีเรื่องการอพยพของผู้คนนับล้านเข้าสู่ยุโรป การก่อการร้ายและเรื่องการลงประชามติของอังกฤษในวันที่ 23 มิถุนายน 2016 ว่าจะอยู่ต่อกับ EU หรือจะ ‘ลาจาก’ ดังที่เรียกกันในชื่อว่า Brexit เหตุผลของกลุ่ม ‘ลาจาก’ ที่นับว่ามาแรงขึ้นทุกวันก็คือเรื่องความสามารถในการควบคุมหลายสิ่งที่การเป็นสมาชิกEU ให้ไม่ได้ เช่น การต้องจ่ายเงินมหาศาลสนับสนุนสมาชิก อื่น ๆ กฎหมายควบคุมการจ้างงานและการประกอบการค้า ฯลฯ ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ไม่ชอบก็คือเรื่อง Tobin Tax

          James Tobin นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลในปี 1981 แห่งมหาวิทยาลัยเยล ถ้ายังมีชีวิตอยู่คงแปลกใจที่ชื่อของตนถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งราวกับจะวัดรอยเท้า John Maynard Keynes ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ตัวเขาเคยเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกวิเคราะห์วิจารณ์กลไกที่ Keynes กล่าวถึงในการเข้าสู่ดุลยภาพของระดับการว่างงานชนิดไม่ตั้งใจ

          Tobin Tax หรือการเก็บภาษีจากธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศตามแนวคิดของ James Tobin ที่ 11 สมาชิกของ EU กำลังพยายามผลักดันอยู่ในขณะนี้คือเหตุผลหนึ่งของผู้สนับสนุนการ ‘ลาจาก’ EU เพราะเชื่อว่าจะทำร้ายอังกฤษในที่สุดเพราะหากไม่ออกมาก็ต้องเก็บ Tobin Tax ด้วย

          11 สมาชิกที่เห็นชอบกับ Tobin Tax ได้แก่ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ออสเตรีย เบลเยี่ยม กรีซ ปอร์ตุเกส สโลวาเกีย สโลวาเนีย และเอสโตเนีย เหตุผล ง่าย ๆ ที่ต้องการเก็บ Tobin Tax ก็เพราะต้องการได้เงินมาแก้ไขวิกฤตหนี้สาธารณะของ EU

          James Tobin ถ้าฟื้นขึ้นมาก็คงสะดุ้งอีกเหมือนกันเพราะสิ่งที่เขาเสนอนั้นแตกต่าง จากที่ 11 สมาชิกกำลังเสนออยู่ทั้งในเรื่องวัตถุประสงค์และลักษณะของภาษีที่เก็บ

          ในปี 1972 James Tobin เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีในอัตราประมาณร้อยละ 0.5 เหมือนกันหมดในทุกประเทศจากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศทั้งหมด และนำเงินเหล่านี้ไปเก็บสะสมไว้ที่ธนาคารโลกเพื่อเอาไปใช้เป็นเงินช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา วัตถุประสงค์ของการเก็บภาษีก็เพื่อไม่ให้มีการซื้อขายเงินตราต่างประเทศในปริมาณมากจนมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของการไหลของเงินทุน

          พูดง่าย ๆ ก็คือต้องการจูงใจไม่ให้มีการเก็งกำไรเงินตราต่างประเทศมากจนทำให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพโดยจงใจทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นจากการต้องจ่ายภาษีนี้

          Tobin ย้ำว่าจะได้ผลก็ต่อเมื่อมีการเก็บภาษีในอัตราเดียวกันทั้งหมดในทุกประเทศ (ที่เป็นสมาชิกธนาคารโลก หรือ IMF) โดยอยู่ในอัตราที่เหมาะสม หากสูงหรือตำ่เกินไปก็ไม่ได้ผล และจะต้องร่วมมือกันอย่างกว้างขวางด้วย

          อย่างไรก็ดีเหมือนทุกสิ่งในโลก เมื่อวันเวลาผ่านไปก็มีการ “แปลงสาร” เกิดขึ้น จนมีการขยายไอเดียของ Tobin Tax ไปถึงการเก็บภาษีจากการเปลี่ยนมือหุ้น หุ้นกู้ และธุรกรรมการเงินต่าง ๆ ทั้งในประเทศเองและระหว่างประเทศด้วย นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้มีอัตราการเก็บภาษีร้อยละ 0.1 ถึง 1 อีกด้วย

          11 ประเทศของ EU นี้ไปไกลกว่าคือต้องการเก็บเพื่อหารายได้มาแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้ของภาครัฐที่หลายประเทศสมาชิกเผชิญอยู่และเกิดสภาพ “เตี้ยอุ้มค่อม” กับประเทศผู้ช่วยเหลืออยู่ในเวลานี้ เสถียรภาพของการไหลของเงินทุนระหว่างประเทศมิใช่ประเด็นหลัก

          Tobin Tax ในปัจจุบันจึงมีความหมายที่แตกต่างกันออกไปจาก “ต้นฉบับ” ผู้เห็นด้วยกับการเก็บเพื่อหารายได้อ้างความเป็นธรรมที่สถาบันการเงินควรจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อเอาเงินไปช่วยลดระดับหนี้สาธารณะซึ่งตนเองก็มีส่วนช่วยให้มันเพิ่มขึ้นด้วย (รัฐบาลได้โดดเข้าไปช่วยสถาบันการเงินให้หลุดออกมาจากวิกฤตการเงินด้วยการกู้เงินมามากมาย)

          ผู้เห็นด้วยกับการเก็บเชื่อว่า Tobin Tax จะช่วยให้เกิดเสถียรภาพมากขึ้น ถ้าแม้นว่ามีการเก็บภาษีในลักษณะนี้แล้ววิกฤตเศรษฐกิจในทศวรรษ 1990 ของประเทศในเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ รัสเซีย เม็กซิโก เกาหลี อาจไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดมากมายจากการที่ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงมากเมื่อถูกคุกคามโดยผู้เก็งกำไรเงินตราต่างประเทศ

          ผู้ไม่เห็นด้วยบอกว่าการเจ็บครั้งนั้นมิได้เกิดจากการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจนสูงอย่างเดียว แต่เกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่ง Tobin Tax ไม่น่าจะช่วยให้หลีกการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูง ตลอดจนช่วยสร้างเสถียรภาพของการไหลของเงินทุนได้ขนาดนั้น

          นอกจากนี้การเก็บ Tobin Tax จะทำให้มีจำนวนธุรกรรมการเงินน้อยลง ผู้ออมและกองทุนเงินออมทั้งหลายจะได้ผลตอบแทนตำ่ลง เนื่องจากสถาบันการเงินในหลายสถานการณ์สามารถผลักภาระภาษีไปสู่ลูกค้าได้

          คำถามที่น่าสนใจก็คือมีการทดลองเก็บ Tobin Tax ในประเทศใดบ้างหรือไม่? คำตอบก็คือ Tobin Tax ในเวอร์ชั่นหนึ่งมีการทดลองในสวีเดนในปี 1984 กล่าวคือในตอนแรกมีการเก็บภาษีในอัตรา ร้อยละ 0.5 จากการซื้อและขายหุ้น และต่อมาลดลงเป็นลำดับจนเหลือเพียงร้อยละ 0.003 ผลปรากฏว่าเก็บภาษีได้เพียงร้อยละ 3 ของที่คาดการณ์ไว้โดยเฉลี่ย ในปี 1991 จึงมีการยกเลิกภาษีนี้

          อย่างไรก็ดียังมีการเก็บ Tobin Tax ในบางลักษณะในฮ่องกง มุมไบ โซล ไทเป โจฮันเนสเบิร์ก ซึ่งกำลังกลายเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก โดยเก็บรวมกันได้ประมาณปีละ 600,000 ล้านบาท และตัวเลขนี้แหละที่ 11 ประเทศ EU กำลังน้ำลายไหลและมองเห็นเป็นโอกาส

          คนอังกฤษซึ่งมีลักษณะอนุรักษ์นิยมอยู่แล้วโดยธรรมชาติมีความรู้สึกกังวลกับมาตรการ Tobin Tax นี้อยู่ค่อนข้างมาก ลอนดอนซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินโลกมีธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในข่ายของการถูกเก็บภาษีอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่มีใครตอบได้ว่าหากมี Tobin Tax ตามข้อบังคับของ EU ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้นจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อการเป็นศูนย์การเงินของโลก ทั้งหมดนี้ต้องคำนึงว่าเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกนั้นไม่มี Tobin Tax

          บ่อยครั้งสิ่งซึ่งเป็นข้อสรุปตามกรอบคิดเชิงทฤษฎีนั้นแตกต่างจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่นการใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันนั้น ในตอนพิจารณามีข้อสรุปทางทฤษฎีว่ามีสารพัดข้อดี ปัญหาอุปสรรคก็มีเช่นกัน แต่สรุปว่ามีข้อดีมากกว่า ปัจจุบันก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าที่ EU เละเป็นวุ้นทางเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้นั้นเป็นผลอย่างสำคัญจากการใช้เงินสกุล ยูโรร่วมกัน

          Tobin Tax ในครั้งนี้ก็อีกเช่นกัน อังกฤษมีการใช้ stamp duty หรือค่าธรรมเนียมที่เก็บจากการซื้อขายหุ้นมาช้านาน ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการประเมินผลกระทบของ Tobin Tax อย่างไรก็ดีอย่าลืมเรื่องราวของการสรุปครั้งเงินยูโรเป็นอันขาด

          James Tobin มีชีวิตอยู่ระหว่าง 1918-2002 (เสียชีวิตตอนอายุ 84 ปี) ได้ให้ไอเดียในเรื่องการเก็บภาษีจากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศเพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจของโลก และเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนา ใครที่ “แปรสาร” Tobin Tax เพื่อหารายได้แต่เพียงอย่างเดียว กำลังมองข้ามความสูงส่งของความคิดที่จะสร้างเสถียรภาพและความเท่าเทียมขึ้นในเวลาเดียวกัน