วรากรณ์ สามโกเศศ
13 มิถุนายน 2560
คนที่มีประสบการณ์การทำงานย่อมได้พบเห็นเจ้านายที่เข้าท่าชนิดลูกน้องยินดีร่วมมือและทำงานให้ด้วยความเต็มใจและไม่เข้าท่าอย่างสุดจะพรรณนาได้ เจ้านายประเภทแรกทำให้เกิดความสำเร็จในการทำงานขององค์กร ส่วนเจ้านายประเภทหลังก็พอจะเห็นภาพได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ผู้เขียนได้พบข้อเขียนในอินเตอร์เน็ตเรื่อง “10 คุณสมบัติเจ้านายที่ลูกน้องยอมเทใจให้สุดกำลัง” ซึ่งเรียบเรียงโดย BusinessCafe.com ซึ่งต้นฉบับมาจาก Businessnewsdaily.com จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อ ในตอนท้ายผู้เขียนขอเพิ่มเติมในบริบทของสังคมไทย
การเป็นนักบริหารที่ดีไม่เพียงแต่คุณจะต้องเก่งกาจในเรื่องของการบริหารงาน การวิเคราะห์ตลาด และการวางแผนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่การเป็นสุดยอดนักบริหารตัวจริง คุณจะต้องเก่งในเรื่องของ “การบริหารคน” ด้วย เพราะธุรกิจของคุณจะไม่มีทางขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีได้เลยถ้าคุณไม่ได้ใจลูกน้อง
10 คุณสมบัติเจ้านายที่ทำให้ลูกน้องยินดีร่วมมือและทำงานให้ด้วยความเต็มใจ
จากผลการสำรวจและวิจัยของ Gallup พบว่าใน 100 คน มีเจ้านายเพียง 10 คนเท่านั้นที่ลูกน้องรักและยินดีร่วมงานด้วยแบบไม่มีเงื่อนไข ยินดีให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตาม และให้ความเคารพอย่างแท้จริง ไม่ใช่การทำไปเพราะตำแหน่งและบทบาทในหน้าที่การงานเท่านั้น และต่อไปนี้คือ 10 คุณสมบัติเจ้านายที่ได้ใจลูกน้องและลูกน้องรักเหลือเกิน
1. ใช้อำนาจเป็น การใช้อำนาจในที่นี้คือการใช้อำนาจในฐานะของเจ้านายอย่างเหมาะสมและไม่มากจนเกินไป ไม่เบ่งอำนาจจนลูกน้องรู้สึกว่าตัวเองกำลังเป็นทาสอยู่รึเปล่า รวมทั้งใช้อำนาจตามอำเภอใจ สั่งให้ลูกน้องทำในสิ่งที่อยู่นอกเหนืองานที่รับผิดชอบ
2. มีความยุติธรรมและมีภาวะความเป็นผู้นำ ความยุติธรรมและภาวะความเป็นผู้นำคือคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ของผู้ที่จะเป็นหัวหน้า หากคุณต้องการให้บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างราบรื่น รวดเร็ว และงานมีคุณภาพสูง คุณต้องมีความยุติธรรมและสร้างภาวะความเป็นผู้นำให้ลูกน้องเกิดความเชื่อถือให้ได้ นอกจากนี้ห้ามเป็นเจ้านายที่ลำเอียงเด็ดขาด เพราะบอกได้คำเดียวว่าลูกน้องเกลียดที่สุด
3. สามารถแก้ไขปัญหาได้ดี เจ้านายที่ลูกน้องรักนอกจากจะมีความยุติธรรม มีคุณธรรมและภาวะความเป็นผู้นำสูงแล้ว อีกหนึ่งคุณสมบัติที่สามารถสร้างความประทับใจให้กับลูกน้องได้คือความสามารถในการแก้ไขปัญหาอย่างยอดเยี่ยม ยิ่งปัญหาได้รับการแก้ไขรวดเร็วเท่าไหร่ ลูกน้องจะยิ่งให้ความเคารพในตัวเจ้านาย เชื่อมั่น และมีศรัทธา มากขึ้นตามไปเท่านั้น
4. ชี้เป้าหมายที่ชัดเจน การชี้เป้าหมายที่ชัดเจนช่วยให้ลูกน้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์ต่อบริษัท เนื่องจากบางครั้งความคลุมเครือ การไม่พูดและบอกออกไปตรง ๆโดยคาดว่าอีกฝ่ายน่าจะรู้ว่าต้องทำอะไรเป็นวิธีที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่เกิดประโยชน์ และลูกน้องไม่ชอบ เพราะไม่รู้ว่างานที่ทำผิดตรงไหนหรือหัวหน้าต้องการให้งานเป็นอย่างไร อยากให้ทำอย่างไรก็บอกลูกน้องไปตรง ๆ แบบนี้แหละได้ใจ
5. ทำงานร่วมกับลูกน้อง การทำงานร่วมกับลูกน้องช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น แตกต่างจากเจ้านายที่จะพบเจอกันเฉพาะในการประชุมเท่านั้น ส่งผลให้เจ้านายประเภทนี้มีความเข้าอกเข้าใจลูกน้องมากเป็นพิเศษ เพราะการทำงานร่วมกันทำให้ได้เรียนรู้ตัวตน ความคิด ทัศนคติ ศักยภาพ และความสามารถที่ลูกน้องแต่ละคนมี ช่วยให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น การทำงานราบรื่นรวดเร็วและเป็นระบบ นอกจากนี้การแจกจ่ายงานยังเป็นเรื่องง่ายเพราะเจ้านาย รู้ว่าใครเก่งอะไร เจ้านายมั่นใจในผลงาน ลูกน้องก็สบายใจได้ทำงานที่ถนัดที่สุด
6. สร้างความรู้สึกมีส่วนร่วม ลูกน้องส่วนใหญ่มักจะประทับใจและให้ความร่วมมือในการทำงานอย่างสุดความสามารถกับเจ้านายที่เห็นความสำคัญและทำให้พวกเขารู้สึกได้ว่าพวกเขามีส่วนร่วมกับบริษัท เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ และทุกความสำเร็จเกิดขึ้นจากพนักงานทุกคนร่วมมือกัน ไม่ใช่เพราะการบริหารงานที่ดีของเจ้านายเพียงคนเดียว
7. เปิดโอกาสให้ลูกน้องแสดงความคิดเห็น เจ้านายที่ดีต้องให้ลูกน้องได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเองได้ ซึ่งข้อดีของการเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้แสดงความคิดเห็นนั้นจะช่วยให้รูปแบบการทำงาน ผลงาน และความสัมพันธ์ในการทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น เกิดแนวคิดและไอเดียธุรกิจใหม่ ๆ อยู่เสมอ
8. ช่วยให้ลูกน้องเห็นศักยภาพของตนเอง ถึงแม้ว่าลูกน้องแต่ละคนจะทราบดีว่าตนเองมีความสามารถอะไรอยู่ แต่นั่นก็อาจไม่ใช่ทั้งหมด การที่เจ้านายช่วยให้ลูกน้องเห็นศักยภาพที่แท้จริงหรือศักยภาพทั้งหมดที่ตนเองมี ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ลูกน้องสามารถทำงานตามความสามารถได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเท่านั้น แต่ลูกน้องยังมีโอกาสพัฒนาศักยภาพที่ตนเองมีให้มีเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ อีกด้วย
9. เปลี่ยนเรื่องยากเป็นเรื่องที่ง่าย ในแต่ละวันของการทำงาน นอกจากปัญหาสารพัดที่สามารถเกิดขึ้นได้แล้ว ความเยอะของเจ้านายยังสามารถสร้างความลำบากในการทำงานให้กับลูกน้องได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นเจ้านายที่ช่วยให้การทำงานเป็นเรื่องง่ายหรือเปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้เป็นเจ้านายที่ลูกน้องรักจริง ๆ
10. ให้กำลังใจที่ดีและให้ความช่วยเหลือสนับสนุน บางครั้งความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นจากการทำงาน เจ้านายที่คอยให้กำลังใจที่ดี เข้าใจ ให้อภัย และให้ความช่วยเหลือสนับสนุนลูกน้องอยู่เสมอคือเจ้านายในดวงใจ เพราะไม่มีลูกน้องคนไหนอยากทำผิดพลาด และเมื่อผิดพลาดแล้วได้รับกำลังใจที่ดีให้เริ่มต้นใหม่ แบบนี้ลูกน้องคนไหนไม่รักและทุ่มเทใจทำงานให้ก็บ้าแล้ว
ทั้ง 10 คุณสมบัตินี้คือคุณสมบัติของเจ้านายที่ลูกน้องอยากให้เกิดขึ้นกับเจ้านาย ทุกคน เพราะคนเป็นลูกน้องต่างให้ความเห็นว่าเจ้านายเป็นส่วนสำคัญของการทำงาน ถ้ามีเจ้านายดี การทำงานก็ราบรื่นมีความสุข ต่อให้งานยากแค่ไหน พวกเขาก็เต็มใจทำให้ด้วยความยินดีและอยากทำงานให้เจ้านายแบบนี้ตลอดไป
ในสังคมไทย “การซื้อใจ” ผ่าน “การมีน้ำใจ” หรือ “การดีกับลูกน้อง” อย่างจริงใจ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง การมี “น้ำใจ” กินความกว้างขวางในบริบทของวัฒนธรรมไทย ตั้งแต่การเห็นอก เห็นใจ การเข้าถึงความรู้สึกของลูกน้อง (empathy) ความโอบอ้อมอารี การมีใจคอกว้างขวาง การไม่เห็นแก่ตัว ความเอื้ออาทร ความมีเมตตา “การดี” กับลูกน้อง ฯลฯ
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ “ความมีใจนักเลง” ซึ่งมีนัยยะของความกล้าหาญในเชิงยอมรับผิดรับชอบ กล้าแอ่นอกรับความผิดที่เกิดขึ้น ไม่ขี้ขลาดเอาหัวซุกทรายเหมือนนกกระจอกเทศเพื่อไม่ให้คนมองเห็น ฯลฯ ลูกน้องไทยดูจะรังเกียจคุณลักษณะนี้เป็นพิเศษ
เจ้านายที่เป็นผู้นำที่แท้จริงต้องเป็นคนที่ know the way, go the way, and show the way (John Maxwell)