edtech เปลี่ยนแปลงโลกการเรียนรู้

วรากรณ์  สามโกเศศ
1 สิงหาคม 2560

          การเรียนรู้ในห้องเรียนแบบที่เราใช้กันมาเกือบ 300 ปีกำลังถูกทำให้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและลามไปทั่วโลกด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้มีผลกระทบต่อนโยบายการศึกษาและการใช้ทรัพยากรในการให้การศึกษาอย่างไม่เคยมีมาก่อน

          รูปแบบการเรียนรู้ในห้องเรียนแบบดั้งเดิมชนิดที่นักเรียนทุกคนเรียนรู้สิ่งเดียวกัน ในเวลาเดียวกันด้วยวิธีการสอนเดียวกันและด้วยความเร็วในการเรียนรู้ (pace of learning) เดียวกัน กำลังถูกท้าทายด้วยเทคโนโลยี ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถช่วยเพิ่มพูนประสิทธิภาพการให้การศึกษาได้อย่างสำคัญ

          รูปแบบการศึกษาดั้งเดิมใช้การมีชั้นเรียนไต่ลำดับขึ้นไป มีหลักสูตรมาตรฐาน และมีตารางเรียนคงที่ ลักษณะการสอนดังกล่าวนี้มีต้นแบบมาจากประเทศปรัสเซีย (ต่อมาคือเยอรมัน) ในศตวรรษที่ 18 และถูกนำไปใช้กันทั่วโลกในเวลาต่อมา ก่อนหน้านั้นหากเป็นคนมีเงินก็จ้างครูมาสอนตัวต่อตัวหรือให้ครอบครัว แต่ถ้าไม่มีเงินก็ไม่ได้รับการศึกษา

          ความคิดที่จะเปลี่ยนรูปแบบดั้งเดิมซึ่งใช้ต้นทุนต่อหัวผู้เรียนต่ำและเป็นวิธีเรียนรู้ที่เชื่อว่าได้ผลที่สุดนั้นเริ่มเกิดขึ้นในกลางศตวรรษที่ 20 และมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเมื่อมีคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะและแบบโน้ตบุ๊คโดยสร้างซอฟต์แวร์ให้ผู้เรียนตอบคำถามแบบปรนัยและมีคำเฉลยให้โดยไม่มีการตอบโต้กลับระหว่างครู (เครื่อง) กับผู้เรียน อย่างไรก็ดีในรอบ 5-10 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีไอทีมีความก้าวหน้ามากขึ้น การเรียนรู้แบบใหม่เป็นที่นิยมอย่างมาก โรงเรียนทั่วโลกจำนวนมากกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การศึกษาที่อาศัยซอฟต์แวร์ทันสมัยซึ่งทำให้การสอนแบบกลุ่มในห้องเรียนมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับ การสอนส่วนตัว

          Adaptive Learning Software หรือซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ของแต่ละคนอย่างแตกต่างกันด้วยความเร็วในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันและ แก้ไขจุดอ่อนที่ไม่เหมือนกันของผู้เรียน โปรแกรมพัฒนาจากการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ที่เก็บมาจากผู้เรียนจำนวนมากมาวิเคราะห์และสร้างปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) ขึ้นเป็นซอฟต์แวร์ ในการใช้ของผู้เรียนเพื่อศึกษาเนื้อหาวิชานั้นผู้เรียนต้องตอบคำถามจำนวนหนึ่งจนโปรแกรมสามารถประเมินความสามารถในการเรียนรู้และการขาดความรู้ในบางเรื่อง จากนั้นซอฟต์แวร์ก็จะให้คำถามที่เลือกมาเป็นการเฉพาะและแนะนำให้เรียนรู้บางเรื่องเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้รายบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ

          personalized learning หรือการเรียนรู้เฉพาะบุคคลกำลังเกิดขึ้นในห้องเรียนเดิมโดยใช้ edtech (education technology) หรือเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่อย่างหลากหลายชนิด ตัวอย่างที่โดดเด่นก็คือ adaptive learning software

          edtech กำลังก้าวหน้ายิ่งขึ้นโดยเทคโนโลยีไอทีที่เรียกว่า machine learning (สาขาหนึ่งของ artificial intelligence) ซึ่งหมายถึงการที่ machine (อาจเป็นหุ่นยนต์ หรือในรูปแบบอื่น) เรียนรู้เพิ่มขึ้นผ่านประสบการณ์ตามที่โปรแกรมสั่งให้ทำ ตัวอย่างเช่นนอกจากสังเกตเห็นพฤติกรรมการติดต่อเพื่อนบางคนผ่านสมาร์ทโฟนบ่อยเป็นพิเศษจนเครื่องทำให้สะดวกขึ้นในการติดต่อแล้ว เครื่องยังให้ความสะดวกเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ถูกสั่งให้ทำ อีกตัวอย่างคือนอกจากการสังเกตเห็นการขาดความรู้ในบางเรื่องของผู้เรียนหรือการมีจุดบกพร่องในการเรียนรู้จากการสังเกตการตอบคำถามของผู้เรียน เครื่องก็จะให้บริการอื่นเพิ่มเติม

          มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า personalized learning ช่วยทำให้สัมฤทธิ์ผลการเรียนรู้ของนักเรียนสูงกว่าการศึกษาในแบบดั้งเดิมอย่างชัดเจน อีกทั้งยังทำให้ผู้เรียนเกิดความสนุก อยากเรียนรู้มากขึ้นอีกด้วยเนื่องจากตรงกับความต้องการ ความสนใจ ความใฝ่ฝัน และพื้นฐานวัฒนธรรมอีกด้วย

          นักเรียนแต่ละคนมีอัตราการเติบโตของร่างกายและสมองที่แตกต่างกัน เด็กบางคนเรียนรู้ได้เร็วในวัยต้น บางคนเรียนรู้ช้าในวัยต้น แต่มาเร่งความเร็วในตอนวัยกลาง หากต้องมาเรียนในห้องเดียวกัน เรียนเรื่องเดียวกัน ถูกสอนด้วยวิธีการเดียวกันในอัตราความเร็วเดียวกัน เด็กบางคนจะตามไม่ทันจนอาจท้อใจและเลิกเรียนได้ แต่ถ้าหากเป็น personalized learning ผ่านการใช้ adaptive learning software แล้วก็สามารถช่วยเพิ่มสัมฤทธิ์ผลของการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

          ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์มีความรู้เรื่องการทำงานของสมอง ความจำ กระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนจิตวิทยาของการเรียนรู้มากกว่าเดิมเป็นอันมาก จนทำให้เกิดความก้าวหน้าในเรื่อง science of learning (วิทยาศาสตร์ของการเรียนรู้) อันเป็นผลต่อการสร้างซอฟต์แวร์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น edtech ในปัจจุบันที่ใช้กันทั่วโลกได้แก่ Mindspark / ALEKS / Geekie / Khan Academy ฯลฯ

          edtech ครอบคลุมหลากหลายวิธีของการเรียนรู้และชนิดของฃอฟแวร์ แต่ไม่ว่าจะก้าวหน้าอย่างไรก็ตาม การเรียนรู้แบบดั้งเดิมก็ยังคงอยู่อย่าง เหนียวแน่นสำหรับเด็กเยาวชนเกือบ 1,500 ล้านคนในโลก การนำ edtech มาใช้ประกอบในห้องเรียนดั้งเดิมจึงช่วยทำให้ “การบังคับให้เหมือนกัน” หายไปได้มาก

          การใช้ edtech ให้ได้ผลขึ้นอยู่กับทัศนะคติฝังใจ (mindset) ของครูเป็นอย่างมาก ไม่ว่าภาครัฐจะให้การสนับสนุนมากเพียงใด หากครูใจไม่กว้างพอ ไม่ยอมปรับตัวเปลี่ยนจาก “การเป็นครู” เป็น “ผู้อำนวยการเรียนรู้” ไม่ยอมเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่แล้ว ผู้เรียนก็จะไม่ได้รับประโยชน์จาก edtech และถ้าหากปล่อยให้เด็กใช้ edtech ตามยถากรรมโดยไม่ติดตามความก้าวหน้าของการเรียนรู้ ไม่เอาใจใส่กระบวนการเรียนรู้แบบผสมของเด็ก และไม่รับผิดชอบในหน้าที่ของครูอย่างเต็มที่แล้ว edtech จะกลับให้ผลเสียด้วยซ้ำ เพราะเด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้อย่างเต็มที่ในช่วงชีวิตที่สำคัญของเขา

          ในประเทศไทยเท่าที่ผู้เขียนติดตามงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน (นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์) ก็พบว่าท่านมีความรู้และให้ความสนใจเรื่อง edtech เป็นพิเศษ เท่าที่ทราบมีหลายโครงการในหลายโรงเรียนที่มีการดำเนินการอยู่ในขั้นตอน ต่าง ๆ ในปัจจุบัน ประเด็นที่สำคัญเป็นพิเศษของประเทศเราก็คือการปรับตัวของครูอย่างสอดคล้องกับวิวัฒนาการของการเรียนรู้ผ่าน edtech

          edtech มิได้ทดแทนครู นักเรียนยังต้องการการสอนตัวต่อตัว การอบรมบ่มเพาะด้านคุณธรรม ตลอดจนการเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ในการดำรงชีวิต ไม่มีสิ่งใดที่ทดแทนครูได้ มีแต่ สิ่งที่มาช่วยให้ครูมีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่มากขึ้นเท่านั้น