วรากรณ์ สามโกเศศ
19 มิถุนายน 2560
ข้อมูลเป็นวัตถุดิบที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการตัดสินใจและความสำเร็จของเป้าหมาย นโปเลียน โบนาปาร์ต นักรบผู้ยิ่งใหญ่เคยบอกว่า “War is ninety percent information.” อย่างไรก็ดีข้อมูลมีหลายระดับ ข้อมูลจากระดับล่างสุด คือ street data เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยถ้าหากต้องการ “ชนะ”
โลกรู้จัก street food (อาหารข้างถนน) อันเรืองนามของบ้านเรา นอกจากนี้ก็ยังมี street boxing (ชกกันข้างทางแบบสดๆต่อหน้าคนดู) street cars (รถรางไฟฟ้า) walking street (ถนนคนเดิน) และที่โจรต้องระวังเป็นพิเศษก็คือ street CCTV
data หรือข้อมูล มาจากภาษาละติน data หมายถึง “(thing) given”หรือ “สิ่งที่ถูกให้มา” data เป็นพหูพจน์ ส่วน datum คือเอกพจน์ ในภาษาอังกฤษในยุคต้นทศวรรษ 2010 data อยู่ในรูปพหูพจน์ แต่ในปัจจุบัน data ถูกใช้ในรูปของ mass noun หรือเรียกแบบรวม ๆ เช่น rain / sand / หรือ information
data มีการออกเสียงกัน 3 อย่าง คือ “เด-ต้า” / “แด-ต้า” และ “ดา-ต้า” มีคน 2 กลุ่มที่ออกเสียงต่างกัน คนอังกฤษและอเมริกันมักออกเสียงว่า “เด-ต้า” หรือ “แด-ต้า” ส่วนคนออสเตรเลียออกเสียงว่า “ดา-ต้า”
data / information และ knowledge มีความสัมพันธ์กันใกล้ชิด data หมายถึงข้อมูลที่เป็นทั้งตัวเลขและไม่ใช่ตัวเลข อาจเป็นข้อความในจดหมาย คำบอกเล่า สถิติ ความรู้สึก สถานะของคนหรือสถานการณ์ ยอดขาย กำไร อัตราการว่างงาน ฯลฯ โดยไม่จำเป็นที่ data ต้องเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด data ที่สำคัญก็คือข้อมูลที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา
ถ้านำ data มาวิเคราะห์พิจารณาก็จะได้ information หรือสารสนเทศ และเมื่อนำ information มาผสมปนเปกับประสบการณ์อย่างกว้างขวางก็จะได้ knowledge หากนำหรือไม่นำความรู้นั้นไปใช้และรู้ว่าจะทำอย่างไรกับมันก็คือสิ่งที่เรียกว่าปัญญา (wisdom)
ตัวอย่าง เช่น ความสูงของยอดภูเขา Everest คือ data หากนำข้อมูลนี้มาประกอบกับข้อมูลอื่นเพื่ออธิบายการพิชิตภูเขานี้อย่างปลอดภัย มันก็กลายเป็น information ถ้านำมันมาใช้ประกอบกับประสบการณ์ของหลายคนที่พิชิตยอดเขานี้มาเพื่อใช้เป็นบทเรียนในการปีนเขา มันก็จะกลายเป็น knowledge และถ้าบุคคลหนึ่งนำความรู้นี้มาใช้เพื่อประเมินความสามารถของตนเองในการพิชิตยอดเขาก็จะสามารถตัดสินใจได้อย่างมีสติว่าสมควรไปปีนยอดเขา Everest กับเขาหรือไม่ อย่างนี้คือ wisdom
อีกตัวอย่างที่ใกล้ตัว เช่น รู้สึกเหนื่อยง่ายมากเวลาขึ้นบันได หรือเจ็บอกเป็นพัก ๆ เวลาออกกำลังกาย เหล่านี้คือ data ถ้านำ data เหล่านี้มาวิเคราะห์ประกอบกับข้อมูลทางการแพทย์อื่น ๆ ก็ได้สารสนเทศหรือ information ว่าเป็นโรคหัวใจ หากไปหาแพทย์โรคหัวใจและมีการตรวจอย่างลึกซึ้งก็รู้ว่าเป็นโรคหัวใจรุนแรงเพียงใดและควรดูแลรักษาตนเองอย่างไร อย่างนี้ก็คือความรู้ และการรู้จักดำเนินชีวิตกับโรคหัวใจก็คือปัญญา (wisdom)
street data หรือข้อมูลในระดับต้นหญ้า เป็นสิ่งที่ผู้คนในทุกระดับตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรอื่น ๆ ลงมา ตลอดจนหัวหน้าครอบครัวต้องให้ความใส่ใจและนำมาแปรเปลี่ยนเป็น information และ knowledge จนถึง wisdom อย่างไม่ผิดพลาดและอย่างชาญฉลาด
ในระดับครอบครัวพ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรม (รูปร่าง หน้าตา ความคิด ภาษากาย ตลอดจนการแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ ของลูกบ้าน) ซึ่งก็คือ street dataนั่นเองเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความหมาย และเพื่อให้คำแนะนำสั่งสอนอันเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งของพ่อแม่ (“ลูกสนิทกับดิฉันมาก เราคุยกันทุกเรื่อง เขาบอกดิฉันทุกอย่าง” ระวังความเชื่อนี้เพราะเป็นสิ่งลวงตา)
ในทุกองค์กรก็เช่นกัน การเก็บ street data จากเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร จะช่วยทำให้การตัดสินใจชัดคม และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขอเน้นว่าเป็นข้อมูลระดับล่างสุดจากการไถ่ถาม พูดจาและสังเกต ไม่ใช่จากรายงานหรือคำบอกเล่าของผู้ใต้บังคับบัญชา
มีคำพูดตลกที่แฝงความจริงอยู่มากก็คือให้เจ้านาย “ระวังผักชี” และ “การเป็นเห็ดที่อยู่ในความมืดเพราะลูกน้องชอบที่จะให้เจ้านายรู้เฉพาะเรื่องที่อยากให้รู้โดยเฉพาะเรื่องที่ทำให้เขาดูดี และจะป้อนแต่ BS (bullshit หรือบีเอสหรือขี้วัว หรือขยะ) ให้อยู่เสมอ”
หนทางที่จะหลีกหนีจาก “ผักชี” และ “BS” ได้ก็คือการดิ้นรนหา street data เท่านั้น ถ้าเป็นผู้บริหารประเภท remote management(การบริหารระยะทางไกล) ไม่ใช่ประเภทถึงลูกถึงคนแล้ว รับรองได้ว่าสักวันหนึ่งหรือโอกาสหนึ่งจะสำลักกลิ่นผักชีและกลิ่นขี้วัวตายแน่นอน
street data สำหรับผู้บริหารภาครัฐยิ่งมีความสำคัญเพราะมันไม่ได้ถูกขีดวงอยู่แค่กำไรและขาดทุน หากหมายถึงชีวิตของผู้คน ความกินดีอยู่ดีและ คุณภาพชีวิตของตัวเขาเอง ตลอดจนครอบครัวและลูกหลานของเขาไปอีกหลายชั่วคนข้างหน้า
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างที่เห็นมาจริง เรื่องนี้ภาครัฐตั้งใจดี เห็นแก่ความปลอดภัยของชีวิตผู้คนโดยต้องการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล จึงบังคับให้มีการรัดเข็มขัดหากนั่งกระบะหลังซึ่งทำให้นั่งได้จำกัดคนมาก เมื่อมีประชาชนร้องมา (street data) ก็ยอมผ่อนปรนโดยเป็นนโยบายจากส่วนกลาง โดยไม่ได้แก้ไขกฎหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือชาวบ้านเดือดร้อนมากเพราะการนั่งรถกระบะเช่นนี้เป็นความจำเป็นในการเดินทาง กฎหมายที่ยังมีอยู่กลายเป็นเครื่องมือรีดไถของเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มอย่างสนุกมือเพราะวิจารณญาณของผู้ใช้กฎหมายที่หิวโหยย่อมเป็นช่องทางหากินชนิดแรดวิ่งผ่านได้เสมอ street data ในเรื่องนี้ก็คือความไม่พอใจรัฐอย่างเงียบ ๆ อย่าคิดว่าความพอใจของผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือคนมีปัญหาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจะสามารถหักลบกับความไม่พอใจ นี้ได้ ผู้เขียนเชื่อว่าเขาเห็นเป็นคนละเรื่องกัน
“เสียงชาวบ้าน” หรือ “feedbacks จากชาวบ้าน” คือ street data นั้นเป็นของจริงเพราะมาจากบุคคลที่สำคัญที่สุด ตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคที่ดีมิได้หมายความว่าเศรษฐกิจส่วนตัวของทุกคน หรือของทุกภาคเศรษฐกิจจะต้องดีไปด้วย จะรู้ว่าเศรษฐกิจ “ข้างล่าง” เป็นอย่างไรนั้น ต้องดิ้นรน หา street data จากชาวบ้านโดยเฉพาะในชนบท
กลิ่น “ผักชี” นั้นฉุนและหอมหวานสำหรับผู้บริหารบางคนจนอาจทำให้มึนงงจนตัดสินใจผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ได้ ยารักษามีตัวเดียวคือ street data