ปราบคอรัปชั่นถอยหลังลงคลอง

วรากรณ์  สามโกเศศ
21 พฤศจิกายน 2560

          ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อว่าเรากำลังจะมีกฎหมายปราบคอรัปชั่นที่อ่อนแอลงกว่าเก่าท่ามกลางปัญหาคอรัปชั่นที่รุนแรง และความพยายามที่จะกำจัดจากรัฐบาล

          ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ได้ผ่านวาระแรกโดยที่ประชุม สนช. ไปเรียบร้อยแล้ว ต่อไปคือการพิจารณารายมาตราในวาระที่ 2 ภายใน 58 วัน จากนั้นก็พิจารณาวาระที่สามโดยที่ประชุม สนช.และออกมาเป็นกฎหมาย

          สิ่งที่น่าตกใจว่าจะทำให้การปราบปรามคอรัปชั่นอ่อนแอลงอย่างยิ่งก็คือมาตรา 104 ของร่าง พ.ร.บ. ป.ป.ช. ฉบับใหม่ที่ว่า “เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลโดยสรุปเกี่ยวกับจำนวนทรัพย์สินและหนี้สินและที่ตั้งของทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเฉพาะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปโดยเร็ว ข้อมูลโดยสรุปดังกล่าวต้องไม่ระบุถึงรายละเอียดทางทะเบียนของทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จำเป็น หรือที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเจ้าของข้อมูลได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด”

          มาตรานี้แตกต่างจากมาตรา 35 วรรคสองของ พ.ร.บ. ป.ป.ช. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันที่บัญญัติว่าบัญชีเอกสารทรัพย์สินของเหล่าบุคคลข้างต้นให้เปิดเผยให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมา ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ที่ยื่นไว้กับ ป.ป.ช. ต่อสาธารณชนโดยละเอียด

          ร่าง พ.ร.บ. ป.ป.ช. ฉบับใหม่จึงเปลี่ยนจากการเปิดเผยรายการทรัพย์สินของบุคคลสาธารณะเหล่านี้ “อย่างละเอียด” มาเป็น “โดยสรุป” ซึ่งจะทำให้แทบไม่เห็นอะไรเลย การเปิดเผย “อย่างละเอียด” จะช่วยทำให้ประชาชนทั้งประเทศสามารถร่วมตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของบุคคลเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในอดีตได้นำไปสู่การดำเนินคดีคอรัปชั่นหลายคดี

          ภายใต้กฎหมายปัจจุบันบุคคลเหล่านี้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตอนเข้าดำรงตำแหน่ง ยื่นอีกครั้งเมื่อพ้นจากตำแหน่ง และอีกครั้งเมื่อพ้นเวลา 1 ปี การเห็นข้อมูลเช่นนี้โดยสาธารณชนจะเป็นการป้องกันให้บุคคลเหล่านี้ไม่กล้าคิดร้ายต่อชาติ และสามรถปราบปรามคอรัปชั่นได้ดีขึ้นเพราะจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สิน ยิ่งรายละเอียดปรากฎต่อตาประชาชนมากเท่าใดก็ยิ่งตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเท่านั้น

          ยุคปัจจุบันของโลกคือยุค Open Data ประเทศต่าง ๆ ที่ปราบคอรัปชั่นได้ผลก็ใช้วิธีการสร้างความโปร่งใสเช่นว่านี้ เพราะความโปร่งใสคือดาบที่คม ความมืดดำมัว ๆ คือปุ๋ยของมะเร็งร้าย

          รัฐบาลปัจจุบันได้ดำเนินการเรื่อง Open Data มาไกลแล้ว โดยให้เปิดเผยข้อมูลจัดซื้อ จัดจ้าง การใช้งบประมาณของรัฐทั้งหมด (ดูแอพพลิเคชั่น “ภาษีไปไหน”) ซึ่งเป็นการกระทำเยี่ยงสากล การเปลี่ยนมาเป็นเปิดเผย “โดยสรุป” คือการไม่สนับสนุนนโยบายปราบปรามคอรัปชั่นของชาติ

          ผู้สนับสนุนมี 2 ข้ออ้างเพื่อการเปลี่ยนแปลง (1) “การเปิดเผย” อย่างละเอียดเป็นการไม่เคารพสิทธิส่วนบุคคลของผู้ยื่นบัญชีทรัพย์สินเหล่านี้ (2) รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพียง “เปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน” เท่านั้น หากให้เปิดเผยโดยละเอียดจะขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2560

          ข้ออ้างแรก มองข้ามความจริงที่ว่าบุคคลเหล่านี้คือนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มิได้ถูกบังคับให้มาดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจล้นฟ้า (ไม่มีกลุ่มบุคคลใดที่สามารถเพิ่มเงินเดือน เพิ่มอำนาจ ให้นกเป็นไม้ บัญญัติให้สาหร่ายเป็นปลา ฯลฯ ได้เหมือนบุคคลเหล่านี้) ดังนั้นการสูญเสียบางสิ่งเพื่อทำให้บ้านเมืองมีกฎกติกาที่ดีจึงเป็นเรื่องที่สมควร มันไม่ใช่เรื่องของบุคคลหากเป็นเรื่องของหลักการ การเสียสิทธิส่วนบุคคลไปบ้างเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ เหมือนที่เขากระทำกันในประเทศที่ดีอื่น ๆ ทั่วโลก

          ข้ออ้างที่สอง ขอลอกข้อความในรัฐธรรมนูญ 2560 มาให้อ่านเพื่อจะได้ตัดสินว่าการ “เปิดเผยโดยละเอียด” นั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

          มาตรา 234 …….คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้ …….(3) กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

          …….ในการปฏิบัติหน้าที่ตาม (1) (2) และ (3) ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่จะต้องจัดให้มีมาตรการหรือแนวทางที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพ เกิดความรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม…….”

          เห็นได้ชัดว่าการ “เปิดเผยโดยละเอียด” นั้นทำได้และไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ หากต้องการให้การปราบปรามคอรัปชั่นเดินไปข้างหน้าก็ต้องเขียนลงไปในร่าง พ.ร.บ. ที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ให้เป็นไปอย่างที่เคยเป็นมา กล่าวคือ “เปิดเผยโดยละเอียด” มิใช่ “เปิดเผยเพียงข้อมูลโดยสรุป”

          ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ ปชช. ที่กำลังอยู่ในวาระ 2 ว่าต่อนี้ไปจะมีการเปลี่ยนแปลงการเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินของบุคคลผู้มีความสำคัญยิ่งต่อประเทศโดยไม่เป็นไปอย่างละเอียดอย่างที่เคยเป็นมา
ผมมั่นใจว่าถ้ารู้จะมีคนจำนวนมากไม่พอใจเพราะตระหนักดีว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นแบบถอยหลังลงคลองโดยแท้