พระอัจฉริยภาพ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

วรากรณ์  สามโกเศศ
31 ตุลาคม 2560

          เดือนตุลาคม พ.ศ. 2453 เมื่อ 107 ปีก่อนกับเดือนตุลาคม 2559 จะอยู่ในความทรงใจของคนไทยไปตราบนานเท่านาน การสวรรคตของสมเด็จพระปิยะมหาราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นสองเหตุการณ์ของ 4-5 ชั่วคนที่นำความโศกเศร้าอย่างยิ่งมาสู่ปวงชนชาวไทย ทั้งสองพระองค์ทรงครองราชย์รวมกัน 112 ปี ในช่วงเวลา 235 ปีของราชวงศ์จักรี อย่างไรก็ดีในการสูญเสียที่เปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของชีวิตแต่ละคนสูญหายไปด้วยนี้มีสิ่งชวนให้ใคร่ครวญอยู่

          “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” คือพระปฐมบรมราชโองการเนื่องในพระราชพิธีบรมราชภิเษก กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าทรงทำตามที่ทรงสัญญาไว้ ทุกประการตลอดเวลา 70 ปี ของการครองราชย์ของพระองค์

          คนไทยร้องไห้เสียใจ รู้สึกใจหาย และอ้างว้าง คำถามที่เกิดขึ้นก็คือเมื่อเราตั้งสติได้แล้ว เราจะช่วยทำให้สิ่งที่พระองค์ได้ทรงสอนและทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่างนั้นมีคนนำไปคิดและปฎิบัติตามจนเกิดเป็นมรรคผลขึ้นสืบต่อไปในอนาคตได้อย่างไร อย่าลืมว่าไม่มีใครทำให้เกิดขึ้นได้นอกจากพวกเราคนไทยด้วยกันเอง

          ผู้เขียนขอเสนอเรื่องหนึ่งที่ทุกคนไม่ว่าจะสูงวัย หรืออยู่ในลักษณะใดก็ตาม สามารถร่วมกันสร้างสรรค์สังคมของเราได้ตามแนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ซึ่งสะท้อนถึง พระอัจฉริยภาพ พระวิริยะอุตสาหะและพระราชปณิธานที่จะขจัดปัญหาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย

          ถึงแม้แนวคิดนี้จะเกี่ยวพันกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาพื้นที่ในชนบทเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่น ๆ ได้เช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับความเข้าใจผิดของเยาวชนเราในปัจจุบัน ผู้เขียนขออนุญาตยกมาสัก 3 เรื่อง ดังต่อไปนี้

          เรื่องแรก “ผม (หนู) ก็เป็นคนดีในบางเรื่อง และเลวในบางเรื่องเหมือนคนทั่วไป” ความเข้าใจนี้มีอยู่ดาษดื่นในหมู่เยาวชนไทยจนมีการทำความผิดร้ายแรงต่อสังคม แต่เขาเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเรื่องดีอื่น ๆ เขาก็ทำอยู่ด้วย มันก็หักกลบลบกันไปเป็นเรื่องปกติ

          การตีความว่าอะไรดีอะไรเลวมากน้อยเพียงใดเป็นเรื่องน่ากลัวเพราะมันอยู่ที่คนตีความ และยิ่งเชื่อว่าดีกับเลวสามารถหักลบกันได้แล้ว ชีวิตจะยุ่งอย่างแน่นอน ความจริงของชีวิตก็คือเมื่อเกิดเป็นมนุษย์และอยากอยู่อย่างไม่ก่อความเดือดร้อนให้ใครและตนเองก็ไม่เดือดร้อน อีกทั้งมีความเจริญด้วยแล้วต้องเป็นคนดีอย่างเดียว มีธรรมะประจำใจ โดยดีกับเลวนั้นเหมือนบุญกับบาปคือหักลบกันไม่ได้

          การที่บอกว่าดีบ้างเลวบ้างนั้น ผู้ใหญ่หมายความว่าเลวในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับคุณธรรม เช่น ขี้รำคาญ ขี้อิจฉา ขับรถขาดมารยาท ชอบขัดคอคน ขัดใจพ่อแม่ ฯลฯ แต่เป็นคนดีโดยพื้นฐาน มิได้หมายความว่าเมื่อทำบุญแล้วก็คดโกงเอาเปรียบคนอื่นได้ หรือรับใช้ชาติและปล้นชาติในเวลาเดียวกันได้

          การจะเข้าใจเรื่องนี้ได้นั้น เยาวชนต้อง “เข้าใจ” ความหมายของประโยคข้างต้น “เข้าถึง” ความจริงของชีวิต รู้ว่าการทำความดีนั้นเป็นเกราะกำบังตนเองจากสารพัดกระสุนและความเจ็บปวดกังวลใจ จากนั้นก็รู้ “การพัฒนา” คือพัฒนาตนเอง แก้ไขความเข้าใจประโยคดังกล่าวอย่างผิด ๆ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองเสีย

          พวกเราผู้ใหญ่ที่เห็นชีวิตมามากกว่าต้องช่วยกันในทุกโอกาส ให้เยาวชนเข้าใจความถูกต้องว่าบุญกับบาปนั้นหักกลบลบกันไม่ได้ฉันใด ความดีกับความเลวก็หักลบกันไม่ได้ฉันนั้น

          เรื่องสอง “ความเหลื่อมล้ำในสังคมต้องแก้ไขด้วยอำนาจและความฉับพลัน” มีเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่เมื่อรับรู้เรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยแล้ว “ของขึ้น” อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทันควันด้วยกำลัง ความต้องการอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอันบริสุทธิ์นี้แท้จริงแล้วเป็นเรื่องน่ายินดีเพราะแสดงว่าสนใจอยากแก้ไขปัญหาของชาติ พวกเรผู้ใหญ่ต้องช่วยกันอธิบายว่ามันมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศของเรา มันเกิดขึ้นในทุกสังคม มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ประเด็นอยู่ที่ว่าโมเมนตั้มของมันไปในทิศทางใด และมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นต้นเหตุของสารพัดปัญหาอย่างจริงใจหรือไม่ อีกทั้งกำลังเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมมากน้อยเพียงใด

          ความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งเป็นผลพวงจากความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้และความมั่งคั่งซึ่งมีมาแต่โบราณ และจะมีอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการแทรกแซงด้วยมาตรการที่เหมาะสม (หนังสือ The Anatomy of Inequality (2016) โดย Per Molander และ The Economics of Inequality (2015) โดย Thomas Piketty เป็นหนังสือ 2 เล่ม ที่ปลุกความสนใจเรื่องนี้ได้ดียิ่ง) ทั้งหมดนี้ใช้เวลาและต้องใช้ความมุ่งมั่นทั้งทางการเมืองและ สังคมโดยใช้นโยบายเศรษฐกิจและสังคม

          “การเข้าใจ” ธรรมชาติของความเหลื่อมล้ำ อีกทั้ง “เข้าถึง” สาเหตุที่ทำให้ความ เหลื่อมล้ำดำรงอยู่ของเยาวชนจะทำให้เกิด “การพัฒนา” กล่าวคือแปรเปลี่ยนความเร่าร้อนอันบริสุทธิ์ใจให้เป็นพลังร่วมกันแก้ไขปัญหาสืบต่อไปข้างหน้า

          เรื่องสาม “เราไม่ต้องเรียนภาษาต่างประเทศกันอีกต่อไปแล้ว เมื่อมีเครื่องมือแปลอันเลิศเช่นนี้” เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา Google ได้เปิดตัวหูฟังไร้สายที่มีชื่อว่า Pixel Buds ซึ่งสามารถแปลภาษาต่าง ๆ ที่สื่อสารถึงกันได้ทันทีทั้งสองทาง ในขั้นต้นนั้นครอบคลุม 42 ภาษา (มีภาษาไทยอยู่ด้วย)

          เครื่องมืออัศจรรย์นี้ทำให้คนจำนวนมากคิดว่า ต่อนี้ไปไม่ต้องเรียนภาษาต่างประเทศให้ปวดหัวกันแล้ว เยาวชนจำนวนมากอาจละทิ้งความบากบั่นเล่าเรียนภาษาเมื่อได้ยินคำพูดเหล่านี้ จนอาจสร้างความเสียหายได้มากในสังคมที่มีผู้คนเบาปัญญาอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย

          สถานการณ์นี้ก็คล้ายกับว่าเมื่อมีเครื่องคิดเลขแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องเรียนบวกลบคูณหารเลขอีกต่อไป แค่จิ้มแป้นเป็นก็ได้ตัวเลขแล้ว ที่อยากถามก็คือเมื่อมีคอมพิวเตอร์ และเครื่องคิดเลขมานับ 50-60 ปี แล้ว เหตุใดมนุษย์จึงไม่เลิกเรียนคณิตศาสตร์
คำถามที่ท้าทายให้เยาวชนคิดก็คือถ้าไม่ได้เรียนภาษาต่างประเทศและหากไม่มีเครื่องมือนี้ หรือเสีย หรือแบตเตอรี่หมด จะทำอย่างไร? จะเข้าใจป้ายจราจร ป้ายร้านค้า ป้ายประกาศซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศอยู่ริมถนนได้อย่างไร? ภาษามิได้มีแค่ฟัง ยังมีเขียนและอ่านอีก ถ้าไม่เรียนภาษาแล้วจะสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างสมบูณ์และมีประสิทธิภาพอย่างไร?

          การ “เข้าใจ” “เข้าถึง” ของเยาวชนผ่านการตอบคำถามเหล่านี้ จะทำให้เข้าใจว่า “การพัฒนา” ตนเองที่ต้องตามมาคืออะไร หน้าที่ของพวกเราคือการชี้แจงว่าการเรียนภาษายิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคอมพิวเตอร์แปลถูกในทุกบริบท การเข้าใจภาษาต่างประเทศจะช่วยทำให้การใช้เครื่องมือเช่นว่านี้มีประโยชน์ยิ่งขึ้น จะไม่มีวันที่อุปกรณ์หรือเครื่องมือใด ๆ มาทดแทนมนุษย์ได้ ตราบที่มนุษย์ยังคงมีจิตใจที่เป็นมนุษย์

          หลักการ “เข้าใจ” “เข้าถึง” และ “พัฒนา” เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการทำงานรับใช้ประชาชน และการดำเนินชีวิตของมนุษย์ พวกเราสามารถน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ด้วยการช่วยชี้แจงเยาวชนกันคนละไม้คนละมือ เพราะพวกเขาคือกำลังสำคัญของชาติในวันหน้าอย่างแท้จริง