วรากรณ์ สามโกเศศ
10 มกราคม 2560
การพยากรณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในปี 2017 เป็นเรื่องยากมากทั้งในระดับโลกและระดับชาติเนื่องจากมีตัวแปรจำนวนมากอีกทั้งยังซับซ้อนและหลายตัวโยงใยกันเองอีกด้วย มีเรื่องเดียวที่พอมั่นใจได้ว่าไม่ผิด นั่นก็คือแนวโน้มในเรื่องอาหารที่เกี่ยวกับผักและผลไม้
โลกเรามีสถิติเรื่องการทิ้งอาหารสูญเปล่าอย่างน่าเสียดายยิ่ง (1) ในแต่ละปี 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตทั้งหมดในโลกซึ่งมีปริมาณประมาณ 1.3 พันล้านตันหรือมีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ถูกทิ้งลงถังขยะโดยผู้บริโภคและผู้ขายรายย่อย อีกส่วนเน่าเสีย สูญเสียอันเกิดจากการขนส่ง การเก็บเกี่ยว การดูแลรักษาที่ขาดประสิทธิภาพ
(2) ถ้าเราบริโภคและสูญเสียอย่างเปล่าประโยชน์ในระดับนี้ที่มีประชากรโลกประมาณ 7 พันล้านคน ก็หมายความว่าในปี 2050 ซึ่งคาดว่าจะมีประชากรโลกประมาณ 9.6 พันล้านคน เราต้องมีโลกดังเช่นปัจจุบันถึง 3 ใบ จึงจะมีทรัพยากรเพียงพอ
(3) ประชากรโลก 2 พันล้านคนในปัจจุบันมีน้ำหนักเกินพอดี ในขณะที่ประมาณ 1 พันล้านคนมีภาวะทุโภชนาการ และอีก 1 พันล้านคนอดหยาก
(4) น้อยกว่า 3% ของน้ำในโลกที่ใช้ดื่มได้ (ส่วนใหญ่คือน้ำทะเล) ในจำนวนนี้ 2.5% เป็นก้อนน้ำแข็งในทวีป Arctic และ Antarctica ส่วนอีก 0.5% มาจากแม่น้ำ ห้วยหนอง คลองบึง และใต้ดิน
ในสหรัฐอเมริกามีการคำนวณว่าเกือบถึงร้อยละ 40 ของอาหารที่ผลิตนั้นสูญเปล่า ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นเงินแล้วตกประมาณครัวเรือนละ 2,200 เหรียญสหรัฐ (78,680 บาท) เงินจำนวนนี้สูญหายไปจากกระเป๋าอย่างน่าเสียดาย เพราะอาจเป็นเงินออมหรือเงินลงทุนที่ก่อให้เกิดผลตอบแทนในอนาคตได้มากมาย
อย่างไรก็ดีท่ามกลางการสูญเปล่าดังกล่าว มนุษย์มีความรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าอาหารบางประเภท เช่น ผัก ผลไม้ มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสุขภาพ แต่ก็พบว่า “ของดี” เหล่านี้จำนวนมหาศาลถูกโยนทิ้งไปอย่างไม่แยแสเนื่องจากมีหน้าตาไม่งดงาม และการทำให้ต้องตาผู้บริโภคก็ต้องใช้สารเคมีที่มีผลต่อสุขภาพของทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภคอีกด้วย
เมื่อเรานิยมมะเขือเทศที่ผิวสดใส ผลไม้ที่ผิวไม่มีรอยด่างดำ ผักที่เขียวสด มีผิวและมีรูปร่างที่น่าบริโภค ผลไม้ก็ต้องไม่แคระแกร็น ไม่บิดเบี้ยว ฯลฯ ผู้ปลูกและผู้ขายปลีกก็โยนทิ้งผักผลไม้ที่ไม่น่ากินเหล่านี้ไปสิ้น
มีตัวเลขของสหประชาชาติว่าเกษตรกรโยนทิ้งร้อยละ 20-40 ของผลผลิตเกษตรที่ไม่ “เข้าท่า” เพียงเพราะไม่สวยพอที่จะตรงกับความคาดหวังของผู้บริโภค ถ้าตัวเลขนี้เป็นจริงสำหรับบ้านเราก็หมายความว่าผักและผลไม้ที่เราบริโภคกันนั้นคือเพียงเกือบครึ่งเดียวของผลผลิตที่ผลิตได้ทั้งหมด น่าเสียดายอีกครึ่งหนึ่งที่สูญเสียไปเพียงเพราะไม่ถึง “ระดับความงาม” ทั้งที่ใช้ทรัพยากรที่ดิน น้ำ ปุ๋ย แรงงาน ฯลฯ ในปริมาณใกล้เคียงกัน
ในเรื่องทางโน้มที่ได้เกริ่นไว้ ลักษณะแรกที่จะเกิดขึ้นในระดับโลกและอาจลามมาถึงบ้านเราก็คือปรากฏการณ์ของการใส่ใจ “Ugly Greens” กล่าวคือ มีหลายบริษัทใหญ่ในสหรัฐอเมริการ่วมมือกับกลุ่มบริษัทที่ไม่มุ่งหวังกำไร (บ้างก็เป็น Social Enterprise) เริ่มโครงการเก็บสต๊อกและขายมันฝรั่งที่รูปร่าง บิดเบี้ยว ส้มที่มีผิวไม่สวย แอปเปิ้ลที่ผิวมีตำหนิ ฯลฯ ฃึงพืชผลเกษตรเหล่านี้มีรสชาติและคุณค่าทางอาหารไม่ต่างจากพวก “งดงาม” แต่ที่สำคัญคือถูกกว่าและสุขใจกว่าที่ช่วยโลก
กระแสนี้จะมีพลังโดยการผลักดันของพวก Millennials (เป็นผู้ใหญ่ราว ค.ศ. 2000) เนื่องจากปัญหาน้ำ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาการสูญเปล่า ภัยพิบัติในโลก ฯลฯ มีความเป็นจริงชัดเจนขึ้น ทุกวัน
ลักษณะที่สอง คือ กระแสการใช้วัตถุดิบเกือบทุกส่วนของผลิตภัณฑ์เกษตรเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาหาร การสร้างปุ๋ยธรรมชาติ ปุ๋ย EM แอลกอฮอล์ ก๊าซ ฯลฯ ตลอดจนแสวงหาผักผลไม้ชนิดแปลกใหม่
ผักผลไม้โดยทั่วไปเป็นที่นิยมมากขึ้นเพียงใด ผักที่มีสีจัดหลากหลายตามธรรมชาติที่ไม่เคยบริโภคกันกว้างขวางมาก่อนก็จะเป็นที่แสวงหากันมากขึ้นเพียงนั้นเพราะพิสูจน์แล้วว่ามีสาร Anti-oxidants ป้องกันมะเร็งมากเป็นพิเศษ
ลักษณะที่สาม การปลูกผักไว้บริโภคเอง ไม่ว่าจะใช้กระถาง แปลงเพาะ เพาะในถังหรือกระป๋อง จะมีมากขึ้นเพราะเกรงกลัวสารเคมี แนวนิยมการปลูกเชิง organic ของผักผลไม้และผลิตภัณฑ์เกษตรจะเป็นกระแสที่ไม่ตก
การเพาะเองเพื่อบริโภคต้นอ่อน เช่น ทานตะวัน ถั่วงอก อัลฟัลฟ่า ฯลฯ เป็นทางโน้มที่เห็นชัดเจน (ธุรกิจภายใต้ Thailand 4.0 อันหนึ่งก็คือการขายชุดสำเร็จรูปของการปลูกเพาะต้นอ่อนเช่นนี้โดยเฉพาะสำหรับต้นอ่อนที่มีราคาสูง)
โจทย์ที่สำคัญของนักวิชาการเกษตรก็คือการเพิ่มผลิตภาพ(productivity)ของสินค้าเกษตรประเภทผักและผลไม้ ตลอดจนดอกไม้ หญ้า ไม้ประดับ ซึ่งสามารถแปรเปลี่ยนไปเป็นส่วนประกอบของธุรกิจบริการได้เป็นอย่างดี
การบริโภค“Ugly Greens” เป็นปรากฏการณ์ที่มีประโยชน์ในบ้านเราเพราะทำให้ไม่ต้องบริโภคยาฆ่าแมลงเกินเหตุ อีกทั้งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย อย่าลืมว่าสิ่งที่อยู่ข้างในคือประโยชน์ที่เราได้รับอย่างแท้จริง จริงอยู่ที่ความงามให้คุณค่าทางจิตใจก่อนกิน แต่คำถามก็คือในยามที่โลกมีปัญหาเรื่องทรัพยากรเช่นในปัจจุบัน ความงามส่วนที่เพิ่มขึ้นของผักและผลไม้คุ้มกันหรือไม่กับการสูญเปล่าที่เพิ่มขึ้น
เพื่อประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา บางครั้งเราก็ต้องยอมบริโภคผักผลไม้ที่ตกรอบประกวดความงามกันบ้าง อย่าลืมว่าภรรยาหรือสามีเราที่บ้านเกือบทั้งหมดหากไปประกวดความงามก็ตกรอบแรกกันทั้งนั้น แต่เราก็อยู่กันมาได้อย่างมีความสุขไม่ใช่หรือครับ