หน้าม้าปรบมือของบัลเล่ต์ Bolshoi

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
24 กันยายน 2556

          ไม่น่าเชื่อว่าบัลเล่ต์ชื่อเสียงเรืองนามระดับโลกดังเช่น Bolshoi จะมีการจ้างหน้าม้า ปรบมือนำเพื่อเชียร์นักแสดง ข้อเท็จจริงนี้ทำให้ฉุกคิดเกี่ยวกับหลายเรื่องที่เราพานพบกันในชีวิตประจำวัน

          เมื่อเร็ว ๆ นี้หนังสือพิมพ์ International Herald Tribune รายงานการทำงานของ “หน้าม้าปรบมือ” หรือ claqueurs ในโรงละครรัสเซีย Bolshoi ชื่อดังของโลก สิ่งที่พบนี้ได้สร้างความแปลกใจและความเขินอายไปทั่ว

          Bolshoi มีความหมายสองอย่าง ๆ แรกคือ (ก) บริษัทบัลเล่ต์ Bolshoi ของรัสเซียซึ่งมีทั้ง The Bolshoi Ballet และ Bolshoi Opera (2) โรงละครรัสเซียมีชื่อเสียงซึ่งมีชื่อว่า Balshoi Theatre

          บริษัท Ballet Bolshoi มีอายุกว่า 200 ปี และมีชื่อเสียงมากตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 มีนักแสดงรวมกว่า 200 คน ส่วนโรงละครมีอายุกว่า 200 ปีเช่นกัน โดนไฟไหม้หลายครั้งและเปลี่ยนชื่อหลายหนจนในที่สุดกลายเป็นชื่อปัจจุบัน

          ในการแสดงไม่ว่าจะเป็นละคร มิวซิเคิล โอเปร่า หรือบัลเล่ต์ ล้วนมีช่องว่างระหว่างการแสดงซึ่งผู้ชมที่ชื่นชอบบทพูด เสียงร้อง การแสดง ท่วงท่า สามารถแสดงออกซึ่งความพึงพอใจในบางจังหวะได้อย่างไม่ผิดประเพณีนิยม และนี่เป็นช่องทางให้ “หน้าม้าปรบมือ” ทำมาหากินด้วยการเป็นผู้นำในการปรบมือ

          “claqueurs” เป็นคำมาจากภาษาฝรั่งเศส” “claque” ก็คือ “to clap” (ปรบมือ) การมีหน้าม้าปรบมือโดยแท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่เลย มีมาตั้งแต่สมัยโรมัน มีบันทึกว่าเวลาจักรพรรดิ เนโรเล่นละครจะมีทหารเป็นกองเชียร์ปรบมือชื่นชมถึง 5,000 คน

          ในศตวรรษที่ 16 หน้าม้าปรบมือสมัยใหม่ก็เริ่มขึ้นโดยการริเริ่มของกวีชาวฝรั่งเศส Jean Daurat ในปี 1820 ก็กลายเป็นธุรกิจจริงจัง โดยมีการรับจ้างกันลับ ๆ โดยนักแสดงและเจ้าของโรงละคร และในปี 1830 ผู้จัดการโรงโอเปร่าก็จ้างหน้าม้าปรบมืออย่างเป็นระบบเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ การเชียร์ก็ทำได้หลายวิธี เช่น ชวนคนนั่งข้าง ๆ พูดคุยเพื่อแสดงความชื่นชมตัวละครระหว่างเปลี่ยนฉาก หัวเราะดัง ๆ นำเมื่อมีบทที่ขบขัน แกล้งร้องไห้ซับน้ำตานำเมื่อมีบทเศร้า ตะโกนร้อง “bis bis” (หมายถึง encores หรือขอให้เล่นซ้ำอีก) ฯลฯ

          ต่อมาการจ้างหน้าม้าปรบมือระบาดไปทั่วถึงอิตาลี เวียนนา ลอนดอน นิวยอร์ก รัสเซียและในโรงละครใหญ่โตมีชื่อเสียงด้วย เช่น Covent Garden ในลอนดอน Metropolitan Opera ในนิวยอร์ก โรงละคร Bolshoi ในมอสโคว์ ฯลฯ

          สื่อเปิดเผยว่าใน Bolshoi Theatre ปัจจุบันก็มีการจ้างปรบมือนำโดยนักแสดงเพื่อเชียร์ การแสดงของตน หรือจ้างโดยผู้ดูแลผลประโยชน์ของคณะละคร ในแต่ละรอบจะมีกองทัพหน้าม้านับ สิบ ๆ คน นั่งกระจายกันอยู่ในที่นั่งอันเหมาะสมต่อการรับสัญญาณและการชี้นำการปรบมือ หัวหน้าใหญ่จะเป็นผู้ให้สัญญาณโดยพิจารณาดูความเหมาะสมของจังหวะและอารมณ์ของผู้ชมที่แตกต่างกันในแต่ละรอบ

          หัวหน้าทีมให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าการกระทำเช่นนี้เป็นศิลปะขั้นสูงที่ต้องเข้าใจจังหวะ จะโคนของการแสดง หน้าม้ามิได้รับจ้างมาหากแต่เป็นพวกแฟนคลับที่ชื่นชอบนักแสดงโดยแลกกับบัตรเข้าชม

          การยอมรับว่ามีหน้าม้าจริงแต่ไม่มีการจ่ายเงินขัดแย้งกับความเป็นจริงโดยเฉพาะเมื่อผู้นำปรบมือเหล่านี้ต้องเข้าชมซ้ำรอบแล้วรอบเล่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือในแต่ละรอบ โรงละครจะมอบ ตั๋วฟรีเพื่อเข้าชมให้แก่นักแสดง ๆ ก็จะไปจ้างหน้าม้ามาปรบมือเชียร์ตนโดยแลกกับบัตรเข้าดูซึ่งมีมูลค่าถึงใบละ 300-500 เหรียญสหรัฐ

          ในแต่ละรอบกลุ่มหน้าม้านี้จะได้ตั๋วฟรีส่วนเกินจากที่พวกตนใช้ไปนั่งแล้วประมาณ 28 ใบ ถ้าเอา 28 คูณกับราคาตั๋วก็พอจะได้ไอเดียว่าเป็นค่าจ้างนำปรบมือที่สูงมาก อย่างไรก็ดีเมื่อคำนึงถึงว่า Bolshoi Theatre มีการแสดงกว่าปีละ 300 ครั้งก็น่าเห็นใจ เพราะจะต้องชมการแสดงเรื่องหนึ่งถึง 20 ครั้งในเวลา 10 วัน ชมไปก็ต้องเหลือบมองสัญญาณจากหัวหน้าไปเพื่อจะได้ปรบมือได้ถูกจังหวะอย่างไม่ผิดพลาด

          การจ้างปรบมือเป็นเรื่องที่นักแสดงจะไม่มีวันพูดถึงเป็นอันขาด น้อยครั้งมากที่จะมีนักแสดงออกมาต่อสู้ในสาธารณะกับกลุ่มรับจ้างปรบมือ สาเหตุที่ทำให้กล้าก็มักมาจากความเหลืออดอันป็นผลจากการแตกคอกับผู้รับจ้าง ในตอนแรกนักแสดงก็ยินดีจ้างเพราะต้องการเสียงปรบมือ แต่เมื่อมีชื่อเสียงขึ้นก็มักจะเลิกจ้าง จุดนี้ถ้าตกลงกันไม่ดีก็จะเป็นปัญหา อาจถูกกลั่นแกล้งจากกลุ่ม หน้าม้า เช่น ปรบมือผิดจังหวะ ทำเสียงดังให้เสียสมาธิ ส่งเสียงไล่ ฯลฯ

          สิ่งที่น่าสงสัยก็คือเหตุใดผู้ชมจึงปรบมือตามหน้าม้าเกือบทุกครั้ง หัวหน้าทีม หน้าม้าบอกว่าผู้ชมทั่วไปนั้นไม่ไว้ใจตัวเอง ชอบที่จะดูคนอื่นและทำตาม สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเมื่อผู้ชมเห็นคนหนึ่งหรือหลายคนปรบมืออย่างแข็งขันแสดงความพอใจ ก็จะนึกว่าสิ่งอันเป็นพิเศษได้เกิดขึ้นแล้วซึ่งตนเองอาจมองไม่เห็นหรือไม่เข้าใจดังนั้นก็จะปรบมือตามเพราะไม่ต้องการให้คนอื่นเห็นว่าตนเป็นคนโง่เง่าที่ดูไม่เป็น ตรงนี้แหละที่ทำให้หน้าม้ามีเงินใช้ถึงแม้จะเบื่อแสนเบื่อกับการดูบัลเล่ต์ก็ตาม

          เมื่อเปรียบเทียบการทำงานของหน้าม้าในโรงละครกับชีวิตจริงแล้วก็ไม่แตกต่างกันเลย บ่อย ๆ ที่เราถูกหลอกโดยสื่อ โดย “คนเชียร์แขก” ที่ปรากฏในสื่อโทรทัศน์ โดยข้อความในอินเตอร์เน็ตให้หลงเชื่อในบางข้อเท็จจริงหรือยอมรับความคิดหรือพฤติกรรมของบางคน ทั้งหมดนี้มีการชี้นำอย่างเป็นระบบ เฉกเช่นเดียวกับการปรบมือนำของหน้าม้าในโรงละคร

          การโฆษณาสินค้าโดยมีผู้น่าเชื่อถือของสังคมเป็นผู้นำเสนอก็เข้าหรอบเดียวกับการทำงานของหน้าม้าปรบมือ การชี้นำผู้คนอย่างเป็นระบบมีอยู่จริงในสังคมเราและมีการพยายามเสริมสร้างให้เติบโตแข็งแรงขึ้นทุกวันอย่างมีวัตถุประสงค์แอบแฝง