ระวังอคติ ตัวเลขและอารมณ์

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
29 ตุลาคม 2556

          ไม่มีอะไรน่าเจ็บใจเท่ากับถูกหลอกจากการใช้อารมณ์ของตัวเราเองมากกว่าเหตุผล แต่ที่น่าเจ็บปวดกว่านี้ก็คือทั้งที่ใช้เหตุใช้ผลแล้วก็ยังตัดสินใจผิดอีก

          ขอนำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับอคติ ตัวเลข และอารมณ์ ในบางเรื่องมาเล่าสู่กันฟังเพื่อป้องกันการเจ็บกระดองใจ

          เรื่องแรกคืออคติเกี่ยวกับผลงานที่เห็นจนทำให้มองข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ตัวอย่างเช่นจะต้องตัดสินใจเลือกหมอผ่าตัดหัวใจหนึ่งใน 3 คน ในจำนวนคนไข้ 30 คนที่ผ่านมา หมอ ก. มีสถิติที่คนไข้ตายระหว่างผ่า 3 คน หมอ ข. 6 คน และหมอ ค. 9 คน เมื่อเผชิญหน้ากับสถิติ อย่างนี้คนทั่วไปจะเลือกหมอ ก. ทันทีเพราะผลงานน่าชื่นชม (ถึงแม้จะมีตาย 3 คน ก็ตาม)

          อย่างไรก็ดีหากพิจารณาลงไปลึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทางก็จะพบว่าหมอ ค. นั้นเชี่ยวชาญผ่าตัดหัวใจผู้สูงอายุ หมอ ข. ถนัดผ่าตัดหัวใจเด็กอ่อน ส่วนหมอ ก. นั้นผ่าตัดคนปกติเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเห็นข้อมูลประกอบแล้ว หมอ ก. อาจไม่ใช่การเลือกที่ดีที่สุดไปแล้วก็ได้

          ในประการแรก ขนาดตัวอย่างเพียง 30 คนนั้นเล็กเกินกว่าจะสะท้อนความสามารถที่แท้จริงของหมอได้ ประการที่สองการผ่าตัดคนสูงอายุและเด็กอ่อนนั้นยากกว่าและมีโอกาสที่จะเสียชีวิตระหว่างผ่าตัดสูงกว่าคนวัยอื่น ตัวเลขคนตายมากเกินปกติของหมอ ข. และ ค. จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แต่หมอ ก. ที่มีคนปกติตายถึง 3 คนนั้นอาจน่ากลัวกว่า

          บทเรียนในเรื่องนี้ก็คือมนุษย์มักมีอคติในการมองไปที่ผลที่เกิดขึ้นทันที โดยละเลยการพิจารณาข้อมูลประกอบ ในชีวิตจริงเรามักโดดเข้าใส่อาหารอร่อย หน้าตาดี โดยไม่รู้ว่าเขาทำสะอาดแค่ไหน เราเลือกงานโดยดูที่เงินเดือนโดยไม่พิจารณาว่างานที่ทำนั้นช่วยทำให้เป็นคนมีคุณค่าเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด เราเลือกคนมาช่วยงานบ้านโดยดูที่หน้าตาการพูดจารู้เรื่อง โดยไม่พิจารณาให้ดีว่ามีประวัติอย่างไร เราเลือกคนหน้าตาดีมาเป็นแฟนโดยละเลยการดูข้อมูลประกอบ ฯลฯ

          เรื่องที่สองคือตัวเลขเฉลี่ย มนุษย์มักชอบดูตัวเลขเฉลี่ยเพื่อประเมินข้อเท็จจริงโดยหารู้ไม่ว่าตัวเลขเฉลี่ยนั้นหลอกลวงได้ง่าย ตัวอย่างเช่นคน 19 คนนั่งอยู่ในห้องด้วยกัน เมื่อลองคิดรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีก็พบว่าตกประมาณ 500,000 บาท อีกสักพักหนึ่ง Bill Gates (ขอใช้ชื่อฝรั่งแทนเศรษฐีไทยเพื่อตัดประเด็นอารมณ์ออก) ก้าวเข้ามาในห้อง คราวนี้เมื่อคำนวณรายได้เฉลี่ยของ ทุกคนในห้องนี้ดูปรากฏว่าเป็นคนละ 500 ล้านบาท

          รายได้เพิ่มขึ้นจาก 500,000 บาทต่อคน เป็น 500 ล้านบาทเนื่องมาจากอิทธิพลของข้อมูลจากคน ๆ เดียวซึ่งทำให้ภาพมันบิดเบี้ยวไปหมด จากภาพของการเป็นคนมีรายได้สูงพอควรกลายเป็นสูงมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่ใน 19 คนแรกไม่มีใครมีรายได้ถึง 1 ล้านบาทสักคนก่อนหน้า Bill Gates เข้ามานั่งด้วย

          ข้อมูลฝนตกเฉลี่ยก็ลวงเราได้เช่นกัน พื้นที่ ก. ฝนตกเฉลี่ย 1,500 มิลลิเมตรต่อปี พื้นที่ ข. เฉลี่ย 1,000 มิลลิเมตรต่อปี เมื่อเห็นตัวเลขอย่างนี้ก็ต้องบอกว่าพื้นที่ ก. ชุ่มฉ่ำกว่า แต่เมื่อดูการกระจายตัวของตัวเลขฝนตกก็อาจพบว่าในพื้นที่ ก. นั้นฝนไม่ตก 11 เดือน มีเดือนสุดท้ายเท่านั้นที่ฝนตกหนักมากทั้งเดือนจนฉุดให้ตัวเลขเฉลี่ยสูง ในขณะที่พื้นที่ ก. ฝนตกเฉลี่ยสม่ำเสมอทุกเดือน คำถามก็คือพื้นที่ใดน่าพึงปรารถนากว่ากัน

          คนไข้ไปหาหมอให้ตรวจร่างกายโดยบอกว่าในปีที่ผ่านมาได้ดื่มไวน์แดงเฉลี่ยวันละ 1 แก้วเพื่อสุขภาพตามที่หมอแนะนำ (น่าได้คุณหมอคนนี้มารักษาประจำตัว) อย่างแน่นอน หมอถามว่าดื่มอย่างไร คนไข้ตอบว่า 364 วันแรกไม่ได้ดื่มเลย แต่วันสุดท้ายคือวันที่ 365 ดื่ม 365 แก้ว ดังนั้นจึงดื่มรวม 365 แก้วใน 365 วัน หรือหนึ่งปีจึงมีค่าเฉลี่ยวันละ 1 แก้วพอดีตรงตามที่หมอสั่ง ส่วนคนไข้อีกคนบอกหมอว่าดื่มทุกวัน ๆ ละแก้วตลอด 365 วัน ดังนั้นจึงเฉลี่ย 1 แก้วต่อวันเช่นกัน ตัวเลขเฉลี่ยเหมือนกันแต่ผลที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน (ข้อมูลของคนแรกทราบจากวิญญาณของเขา)

          เรื่องที่สาม เมื่อเราเดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือตลาดมักพบเห็นการทดลองให้ชิมสินค้าเสมอ อยากบอกว่าถ้าไม่ต้องการซื้ออย่าได้ชิมของเขาเป็นอันขาดเพราะธรรมชาติของมนุษย์จะโน้มน้าวให้เราตอบแทน “ความรู้สึกเป็นหนี้” จากการชิมด้วยการซื้อในที่สุด

          นักจิตวิทยาการตลาดและนักวิจัยเรื่องการบริจาคได้ทำการทดลองอย่างกว้างขวาง และพบว่ากลยุทธ์ “ให้ก่อน และเอาทีหลัง” นั้นผูกพันกับ “ความรู้สึกเป็นหนี้” ที่ต้องตอบแทนและมักได้ผลเสมอ

          มนุษยชาติอยู่รอดกันมาได้ทุกวันนี้ก็เพราะสัญชาตญาณตอบแทนหนี้กันและกัน สิ่งนี้คือวิธีจัดการความเสี่ยงอย่างหนึ่งของมนุษย์ กล่าวคือตอนอยู่ในถ้ำเวลาที่จับสัตว์เป็นอาหารได้มากก็แบ่งปัน และยามที่ไม่มีอาหารเพื่อนบ้านก็จะแบ่งให้

          มองด้านหนึ่งเป็นความงดงาม แต่อีกด้านหนึ่งเป็นกลยุทธ์ทางการค้าที่กระทำกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ตราบที่ผู้บริโภคตระหนักถึงอารมณ์ตอบแทน “ความรู้สึกเป็นหนี้” เช่นนี้ของตนเองก็ไม่น่าเป็นห่วง แต่ถ้าไม่ทันเกมส์ก็จะเสียเงินมากกว่าที่ต้องการก็เป็นได้ การซื้อเสียงที่ได้ผลส่วนหนึ่งก็เพราะคนที่รับเงินไปนั้นไว้ใจได้ว่าจะลงคะแนนให้เพราะเกิด “ความรู้สึกเป็นหนี้” ขึ้นในใจ

          ทุกวันมนุษย์จะเผชิญหน้ากับการเลือกในหลายสิ่ง ถ้าเข้าใจอคติ ข้อมูลตัวเลขลวงตาบางอย่าง และอารมณ์ตามธรรมชาติของตัวเราเองแล้ว การตัดสินใจที่ผิดพลาดก็อาจมีน้อยลง

          คนที่หลอกเราได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดก็คือตัวเราเอง