วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
28 มกราคม 2557
การเมืองบังคลาเทศเป็นที่สนใจของชาวโลกเพราะไม่น่าเชื่อว่าการประท้วง การกีดกัน การบอยคอตการเลือกตั้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นวิธีการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายตรงข้ามนั้น ล้วนเป็นฝีมือของสองหญิงผู้เกลียดกันเข้ากระดูกดำ โดยทั้งสองเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วคนละ 2 สมัย
คนแรกคือนายกรัฐมนตรีหญิงคนปัจจุบันชื่อ Sheikh Hasina อายุ 66 ปี เป็นลูกสาวของผู้ถือกันว่าเป็นบิดาประเทศบังคลาเทศ นาย Sheikh Mujibur Rahman หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า Mujib
คนที่สอง คือ Khaleda Zia ภรรยาหม้าย อายุ 68 ปีของอดีตประธานาธิบดีที่มาจากการรัฐประหารในปี 1977 ชื่อนายพล Zia Rahman ผู้เป็นประธานาธิบดีต่อจาก Mujib
หญิงทั้งสองผ่านความเจ็บปวดในชีวิตมาด้วยกัน แต่ก็ดูจะไม่เห็นใจกันเลย ขับเคี่ยวแข่งขันชิงดีชิงเด่นตลอดเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา Mujib พ่อของ Hasina ถูกสังหารในปี 1975 หลังจากได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกเมื่อบังคลาเทศได้เกิดเป็นประเทศขึ้นในปี 1971
สำหรับ Khaleda Zia หรือ Zia นั้นสามีถูกสังหารเช่นกันในปี 1981 แต่ยังนับว่าหนักหน่วงน้อยกว่ากรณีของ Hasina เพราะพ่อของเธอถูกสังหารพร้อมกับครอบครัวเกือบทั้งหมด เธอรอดชีวิตกับน้องสาวเพราะอยู่นอกประเทศในขณะเกิดเหตุ
บังคลาเทศนั้นเดิมมีชื่อว่าปากีสถานตะวันออก เป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่มีอีกดินแดนหนึ่งคือปากีสถานตะวันตกเป็นส่วนประกอบ ทั้งตกและออกรวมกันเป็นประเทศโดยดินแดนสองส่วนไม่อยู่ติดกันเพราะมีอินเดียคั่นอยู่
ปากีสถานตะวันออกดิ้นรนต่อสู้เป็นเอกราชโดยมี Mujib เป็นหัวหน้าคนสำคัญหลังจากต่อสู้กับปากีสถานตะวันตกจนประชาชนตายไปนับล้านคน ปากีสถานตะวันออกก็ได้เอกราชและเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นบังคลาเทศ ส่วนปากีสถานตะวันตกก็เปลี่ยนชื่อเป็นปากีสถาน
การเมืองในทั้งสองประเทศมีความรุนแรง ต่อสู้กันดุเดือดทั้งในกติกาและนอกกติกา นาง Benazir Bhutto นายกรัฐมนตรีสองสมัยของปากีสถานก็ถูกสังหารในปี 2007 ทั้งสองประเทศดูจะมีวัฒนธรรมที่เหมือนกันอยู่สองเรื่องคือความรุนแรงทางการเมืองและคอรัปชั่น
หลังจากนายพล Zia Rahman ประธานาธิบดีบังคลาเทศสามีของนาง Khaleda Zia ถูกลอบสังหารในปี 1981 ประเทศก็ตกอยู่ในความวุ่นวาย ในปี 1982 นายพล Hossain Mohammad Ershad ทำรัฐประหารและขึ้นเป็นประธานาธิบดี สามารถครองอำนาจอยู่เป็นเวลานานระหว่าง 1982 ถึง 1990
เมื่อรัฐบาลเผด็จการถูกกดดันหนักจากต่างประเทศและในประเทศให้กลับสู่ระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งก็เกิดขึ้นในปี 1991 โดยเปลี่ยนการปกครองจากระบอบประธานาธิบดีมาเป็นระบอบรัฐสภา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจบริหารสูงสุด
Zia ลงแข่งเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรค BNP ซึ่งสามีเธอเป็นคนตั้งขึ้น โดยมีนโยบายเศรษฐกิจเสรี ส่วน Hasina ก็ลงแข่งเป็นหัวหน้าพรรค Awami League (AL) สืบทอดอุดมการณ์ โน้มเอียงสังคมนิยมของพ่อเธอ ทั้งสองแข่งขันกันเข้มข้น ในที่สุด Zia ก็เป็นผู้ชนะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลกมุสลิม
Zia เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง 1991-1996 ท่ามกลางการประท้วงและความรุนแรงเกือบตลอดเวลา เมื่อมีการเลือกตั้งในปี 1996 Hasina ผู้นำฝ่ายค้านก็บอยคอตการเลือกตั้ง ระดมสรรพกำลังต่อต้านและประท้วงอย่างดุเดือด ในที่สุด Hasina ก็ชนะเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนที่ Zia ซึ่งกลับไปเป็นผู้นำฝ่ายค้าน
ในระหว่างการครองอำนาจของ Hasina ครั้งแรก ระหว่าง 1996-2001 Zia ก็ประท้วงก่อกวนนายกรัฐมนตรีเฉกเช่นที่ Hasina เคยทำเมื่อครั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้าน
เมื่อการเลือกตั้งในปี 2001 มาถึง Zia ก็ลงเลือกตั้งและสามารถเอาชนะ Hasina ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 และระหว่างที่เธอครองอำนาจระหว่าง 2001-2006 Hasina ก็ไม่ได้อยู่เฉย ก่อกวนประท้วงตามวัฒนธรรมที่เคยเป็นกันมา
ในการเลือกตั้งปี 2006 Hasina ก็บอยคอตเลือกตั้ง ประท้วงอย่างวุ่นวายจนทหารทน ‘วีรกรรม’ ของสองนางพญาไม่ไหวเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลระหว่างที่ยังไม่มีการเลือกตั้งเพื่อล้างบางคอรัปชั่นและความชั่วร้ายต่าง ๆ เช่น การลอบสังหาร ความรุนแรงในการประท้วง การอุ้มฝ่าย ตรงข้าม และสื่อ ฯลฯ
รัฐบาลชุดนี้จับทั้งสองนางขึ้นศาลพร้อมบรรดาพรรคพวกและลูก 2 คนของ Zia ในข้อหาคอรัปชั่น แต่เมื่อขึ้นศาลทั้งสองก็หลุด ยิ่งไปกว่านั้นในการเลือกตั้งในปี 2008 Hasina ก็ชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้น กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง
ทั้งสองพยายามจะเป็นนายกรัฐมนตรีสองสมัยต่อเนื่องกันแต่ก็ไม่อาจทำได้เพราะ ฝ่ายค้านต่อสู้หนักหน่วงโดยใช้ทุกกลวิธี
เมื่อถึงเวลาต้องเลือกตั้งใหม่เพราะครบเทอมในต้นปี 2014 Hasina ก็พยายามเต็มที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีสองสมัยต่อเนื่องกัน กล่าวคือครองอำนาจ 2008-2013 ยังไม่พอ ต้องการต่อออกไปอีกถึง 2018 ดังนั้นจึงห้ามฝ่ายค้านชุมนุม ใช้ตำรวจเป็นมือเป็นแขน ไม่ยอมให้มีการตั้งรัฐบาลรักษาการดูแลเลือกตั้งดังที่เคยทำกันมา
Zia หัวหน้าฝ่ายค้านกับพรรคเล็กอื่น ๆ จึงรวมหัวกันบอยคอตเลือกตั้ง ไม่ส่งคนจากพรรค BNP ลงสมัคร โดยทำทุกอย่างเหมือนที่ Hasina เคยทำกับเธอในตอนเลือกตั้งปี 1996 ความรุนแรงต่าง ๆ จึงประทุขึ้นดังที่เราเห็นกันในสื่อตลอดช่วงเวลาต้นปี 2014 ที่ผ่านมา
นี่คือเรื่องราวของสองหญิงคู่แค้น ผลัดกันเป็นนายกรัฐมนตรีท่ามกลางคนตายนับสิบ ๆ คนทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง โดยไม่ยอมลดราวาศอกให้กันถึงแม้จะอยู่ในวัยปลายชีวิตด้วยกันทั้งคู่แล้วก็ตาม