โลกใหม่เขาคิดกันใหม่

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
4 กุมภาพันธ์ 2557

          โลกหมุนเร็วจนน่าเวียนหัว บางสิ่งซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในอดีต แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นสิ่งปกติ หลายสิ่งไม่เกี่ยวกับศีลธรรม แต่หลายสิ่งคาบเกี่ยวประเด็นจริยธรรมอย่างน่าหวาดเสียว

          มีหลายตัวอย่างที่เห็นกัน รอยสักบนร่างกายนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของคนไทยในสมัยโบราณที่ถือกันว่าเพื่อป้องกันภยันตราย ต่อมารอยสักเหล่านี้แสดงนัยยะของการเป็นคนขาดการศึกษา เป็นผู้ใช้แรงงาน หรือไม่ก็เป็นคน “แก่แดด” “พวกเฮ้ว” “พวกนอกรีต” ปัจจุบันการสักของคนไทยกลุ่มหนึ่งถือว่าเป็นสิ่งโก้เก๋ทันสมัย ในโลกตะวันตกการสักเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทั้งที่เมื่อร้อยกว่า ปีก่อน สักกันเฉพาะในบุคคลชั้นสูงและต่อมาในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

          หลายรัฐในสหรัฐอเมริกาในอดีต ผู้หญิงและผู้ชายอยู่กันโดยไม่แต่งงานถือว่าผิดกฎหมายและศีลธรรม (living in sin) แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นวิถีชีวิตไปแล้วแม้แต่ในบ้านเรา เมื่อสมัยก่อนจะพักโรงแรมร่วมกันต้องแสดงบัตรเป็นหลักฐานว่าเป็นสามีภรรยากันด้วยซ้ำ

          การแต่งงานกันของกลุ่มผู้รักร่วมเพศไม่ว่าชายหรือหญิงได้รับการยอมรับทางกฎหมายในหลายประเทศมากขึ้นทุกที และบางประเทศยอมให้สามารถรับลูกบุญธรรมไปเลี้ยงได้อีกด้วย สหรัฐอเมริกาเองซึ่งเดิมไม่รับเกย์เข้าเป็นทหารหรือไม่ยอมให้แสดงตัวว่าเป็นเกย์ก็เริ่มเปลี่ยนไป

          กัญชาซึ่งเคยถือกันว่าเป็นยาเสพติดชนิดสำคัญ แต่นับตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมาก็เป็นสิ่งถูกกฎหมายไปแล้วในรัฐโคโลราโดซึ่งเป็นแห่งเดียวในโลก คนอายุ 21 ปีขึ้นไปสามารถซื้อเพื่อเอาไปเสพเป็นยาหรือเพื่อหย่อนอารมณ์ได้อย่างองอาจ ในบ้านเราเองทางการผู้รับผิดชอบก็มีการเสนอให้ใบกระท่อมถูกกฎหมาย สถานการณ์ก็คล้ายกับยาบ้าซึ่งเดิมชื่อยาม้า เมื่อ 40 ปีก่อนยาบ้าถูกกฎหมายทั้งในบางประเทศที่พัฒนาแล้ว และในประเทศไทย

          แต่เดิมผู้จะลงแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จำเป็นต้องเป็นนักกีฬาสมัครเล่นเท่านั้น ปัจจุบันเงื่อนไขนี้ก็เลิกไปเพราะไม่สามารถให้คำจำกัดความของนักกีฬาสมัครเล่นได้อีกต่อไป นักกีฬาที่แข่งขันและได้รางวัลเป็นสินค้าถือว่าเป็นสมัครเล่นหรือไม่ หรือเฉพาะการรับเป็นเงินสดจึงถือว่าไม่เป็นสมัครเล่น และถ้าไม่ได้รับทั้งรางวัลและเงินสดหากได้รับสิทธิพิเศษเป็นสมาชิกคลับกีฬากิตติมศักดิ์จะถือได้ไหมว่าเป็นรางวัล การตีความยากเช่นนี้ทำให้ปัจจุบันไม่มีเงื่อนไขของการเป็นนักกีฬาสมัครเล่นอีกต่อไป

          แม้แต่การแต่งกายก็เช่นกัน แต่ดั้งเดิมมาในโลกตะวันตกการใส่สูทผูกเนคไทถือว่าเป็น “เครื่องแบบ” ที่สุภาพชนพึงใส่ในโอกาสสำคัญ เช่น ไปทำงาน เข้าประชุม ร่วมงานสำคัญ แต่ปัจจุบันกำลังเปลี่ยนไป ในสหรัฐอเมริกาการแต่งกายของประธานาธิบดีถือว่าเป็นตัวอย่างของพนักงาน นักธุรกิจและคนทั่วไป แต่ไหนแต่ไรมาประธานาธิบดีจะผูกเนคไทกับเชิ้ตขาวและใส่สูทเสมอเวลาทำงาน ประชุมหรือไปงานนอกสถานที่ยกเว้นพักผ่อน แต่ในปัจจุบันบ่อยครั้งที่ประธานาธิบดี ใส่สูทแต่ไม่ผูกเนคไท นั่งประชุมในไวท์เฮาน์ จนมีการพูดกันว่า “เครื่องแบบ” ชุดนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไป

          เรื่องโด๊ปยาก่อนแข่งขันของนักกีฬาก็เป็นปัญหามายาวนาน นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกเคยถูกถอดเหรียญมาแล้วเมื่อตรวจพบว่ามีสารโด๊ปอยู่ในปัสสาวะ ข้ออ้างก็คือกินยาอื่นแต่สารออกฤทธิ์คล้ายยาโด๊ปจนทำให้ดูเสมือนว่าโด๊ปยา ผู้ตัดสินก็ปวดหัวมากเพราะยาโด๊ปก็เปลี่ยนรูปแบบไป บางลักษณะก็ไม่ใช้ยาแต่เป็นวิธีการอื่นเช่นถ่ายเลือดที่มีออกซิเจนสูงเข้าร่างกายเพื่อให้การออกกำลังมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทางโน้มที่กำลังเกิดขึ้นก็คืออาจเลิกเรื่องตรวจการโด๊ปยา แต่ตรวจสารบางอย่างที่อยู่ในปัสสาวะซึ่งเป็นหลักฐานของการกินยาโด๊ปบางตัวที่ห้ามเด็ดขาดแทน

          ล่าสุดที่น่าสนใจจากสหรัฐอเมริกาก็คือแนวคิดเรื่องการมีภรรยาหลายคนถือว่าเป็น lifestyle อย่างหนึ่งเฉกเช่นเดียวกับการแต่งงานของพวกรักร่วมเพศ (ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งมีอารมณ์ ลองฟังแนวคิดที่โลดโผนนี้หน่อยว่าเป็นอย่างไร)

          ในภาษาอังกฤษคำว่า polygamy คือการแต่งงานที่มีผู้ร่วมกันเกินกว่า 2 คน ถ้าผู้ชายแต่งงานกับผู้หญิงเกินกว่า 1 คนในเวลาเดียวกัน ความสัมพันธ์นี้เรียกว่า polygyny และในกรณีของผู้หญิงที่มีสามีมากกว่า 1 คน ก็เรียกว่า polyandry และถ้าการแต่งงานมีสามีและภรรยาหลายคนรวมกันเรียกว่า conjoint marriage ส่วน ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ เรียกว่า monogamy

          คำว่า “การแต่งงาน” ในที่นี้หมายถึงการอยู่ร่วมกันในฐานะสามีภรรยาในความเป็นจริง ไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียนหรือได้การยอมรับทางกฎหมายหรือมีพิธีแต่งงาน

          มีการสำรวจทางวิชาการในเรื่องสภาพการแต่งงานของสังคมต่าง ๆ ในโลกก็พบว่าจาก 1,231 สังคม มีอยู่ 186 สังคมที่ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ มีอยู่ 453 สังคมที่มีลักษณะ polygyny ปนอยู่บ้าง มีอยู่ 588 สังคมที่มี polygyny ปนอยู่มาก และมี 4 สังคมที่เป็น polyandry

          สังคม “ภรรยาหลายคน” มีมาเก่าแก่แต่ผิดกฎหมายใหม่เพราะไม่สร้างสรรค์ชีวิตครอบครัว ส่วนสังคมที่มี “สามีหลายคน” นั้นส่วนใหญ่อยู่ในแถบภูเขาหิมาลัย บริเวณทิเบตเนปาล บางส่วนของจีน และบางส่วนของทางเหนือของอินเดีย กล่าวคือผู้หญิงมีสามีหลายคนในบ้านเดียวกัน บางสังคมสามีเหล่านี้ก็เป็นพี่น้องกันหมด หรือบางสังคมสามีก็ไม่ใช่พี่น้องกัน

          สาเหตุของสังคม “หลายสามี” ก็เพื่อตัดปัญหาการแบ่งที่ดินออกเป็นมรดกแปลงย่อยเนื่องจากบริเวณแถบนี้มีที่ดินจำกัดมากเพื่อทำการเกษตรซึ่งเป็นหัวใจของการอยู่รอด การมีครอบครัวทั้งหมดอยู่ในบ้านเดียวกันเพื่อทำการเกษตรบนที่ดินผืนเดียวกันตลอดหลายช่วงคนจึงทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรอันจำกัด

          กลุ่ม Mormons หรือที่มีชื่อทางการว่า The Church of Jesus Christ of Latter-day Saints (LDS Church) นั้นสามีมีภรรรยาได้หลายคนและปฏิบัติกันมาตั้งแต่ศาสดาคนแรกคือ Joseph Smith Jr. ให้คำสอนใน ค.ศ. 1831 อย่างไรก็ดีเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในบางรัฐของสหรัฐอเมริกาและเป็นเรื่องค่อนข้างอ่อนไหวในการพูดถึงประเด็นนี้ระหว่างคนในกลุ่มและนอกลุ่ม

          กลุ่มคนที่ผลักดันว่าการมีภรรยาหลายคนเป็นเรื่องของ lifestyle ถูกวิจารณ์มากว่า โยงใยกับความคิดของกลุ่ม Mormons ถึงแม้แนวคิดนี้จะตามแนวโน้มของการผ่อนปรนในเรื่องต่าง ๆ ในโลกนี้นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา แต่ดูจะเป็นแนวคิดที่ฝ่าด่านคนที่ยืนหยัดไม่เห็นด้วยไปได้ยาก

          ถ้าใจของเราพยายามเข้าใจการหมุนของโลกในแนวผ่อนปรนเช่นนี้ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยก็คงมีความทุกข์ไม่มากนัก แต่ถ้าหากเราไม่เห็นด้วยและไม่พยายามเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นก็จะมีความทุกข์เป็นอันมากจนหาความสุขไม่ได้

          เราคงต้องรู้ว่าอะไรที่เราสามารถไปหยุดมันได้ และอะไรที่เราหยุดมันได้ยาก ใจเราจะสงบก็เมื่อสามารถแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้