ข้อแนะนำหลีกเลี่ยงสูญเงิน

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
14 ตุลาคม 2557

          ความผิดพลาดเลินเล่อในอดีตที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตวันต่อวันของบางคนสามารถเป็นบทเรียนให้คนอื่นได้เพื่อมิให้มีคนต้องเสียน้ำตาและเสียเงินอีก

          เรื่องแรกคือการเผลอเรอให้ธนบัตรใบใหญ่และรับเงินทอนมาเสมือนว่าได้ให้ธนบัตร ใบเล็กไป เช่น ให้ธนบัตรใบละห้าร้อยหรือพันเพื่อซื้อของ แต่คนทอนจะป้ำเป๋อเหมือนคนรับ หรือจะตั้งใจให้เงินทอนมาเสมือนว่าเป็นธนบัตรหนึ่งร้อยบาท

          ผู้เขียนมั่นใจว่าสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นกับผู้อ่านมาแล้วหลายครั้งในชีวิต อาจรู้ตัวแต่ก็ต้องยอมรับกรรมเพราะไม่อาจเถียงได้หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ คำถามก็คือจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก

          คำตอบน่าจะเป็นว่าทุกครั้งที่ให้ธนบัตรใบใหญ่แก่ผู้ขายให้พูดว่า “แบ๊งค์ใหญ่นะ” เพื่อเตือนตัวเราเองและเตือนคนขายไม่ให้คิดมั่วกับเรา นอกจากนี้เรายังเอาไว้อ้างได้หากเขาทอนมาเสมือนว่าเป็นธนบัตรร้อยบาทว่าเราได้พูดแล้วตอนที่มอบแบ๊งค์ใหญ่ให้คุณนะ

          โอกาสที่จะได้เงินทอนผิดก็คือตอนเรารีบร้อน หรือดูท่าทางใจลอยคิดอะไรอยู่ เหตุการณ์ทอนเงินธนบัตรใบใหญ่แบบนี้เกิดขึ้นวันหนึ่งนับแสน ๆ ครั้ง โอกาสรับเงินทอนผิดพลาดจึงมีจำนวนไม่น้อยครั้งและเป็นเงินที่ผู้รับเงินทอนเสียหาย

          เรื่องที่สองคือการลืมสายสร้อยคอ แหวน ตุ้มหู หรือสิ่งมีค่าที่ถอดออกมาจากร่างกายเมื่อต้องการอาบน้ำในสถานที่ไม่ใช่บ้าน อาจเป็นโรงแรม ห้องน้ำของศูนย์ฟิตเนส ห้องน้ำของสระว่ายน้ำ ฯลฯ คนจำนวนมากเสียน้ำตาเพราะความเสียดายสิ่งที่มีคุณค่าทางใจและเงินทองกันมามากแล้ว

          ข้อแนะนำก็คือจงถอดสิ่งเหล่านี้โดยวางลงบนผ้าเช็ดตัวที่เราตั้งใจจะใช้ทันทีที่อาบน้ำเสร็จ มันจะเตือนใจเราให้ใส่กลับอย่างเดิมก่อนที่จะใช้มันเช็ดร่างกาย อย่างนี้ไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางท่านอาจบอกว่าทำไม่ได้ขณะตัวเปียก ถ้าเช่นนั้นก็วางของทั้งหมดลงบนผ้าผิวเรียบ (เพื่อมิให้บางชิ้นหลบซ่อนอยู่จนมองไม่เห็น) เช่น ผ้าเช็ดหน้า และวางทับลงบนผ้าเช็ดตัวเพื่อไม่ให้ลืมใส่กลับ

          จุดที่ต้องระวังก็คือผู้ชายชอบแขวนสายสร้อยพร้อมพระไว้บนที่แขวนเสื้อบนด้านในของบานประตูห้องน้ำ เมื่อใช้ผ้าเช็ดตัวเสร็จก็แขวนทับลงบนที่แขวนเดียวกันจนมองไม่เห็นสายสร้อยจนลืมทิ้งไว้

          สำหรับสุภาพสตรีที่เคยทราบก็คือการใช้ทิชชูห่อแหวน ตุ้มหู และสิ่งมีค่าอื่น ๆ และเผลอขยำทิชชูแผ่นนั้นทิ้งขยะไปเนื่องจากทิชชูห่อหุ้มจนมองไม่เห็นของ หรือลืมทิ้งไว้เพราะมองเห็นแต่แผ่นทิชชูไม่ใช้แล้วอยู่บนโต๊ะ

          เรื่องการใช้ทิชชูห่อสิ่งของมีค่าเพื่อเก็บรักษา ไม่ว่าห่อใส่ไว้ในกระเป๋าถือ ลิ้นชัก ตู้เสื้อผ้า กระเป๋าเสื้อหรือกางเกง ต้องระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะของที่เป็นชิ้นเล็กและมีน้ำหนักไม่มาก สุภาพสตรีโยนทิชชูเหล่านี้ทิ้งด้วยความเผลอเรอกันมานักต่อนักแล้ว เคยได้ยินว่ามีบางคนเอาของมีค่าห่อทิชชูและใส่ไว้ในช่องเล็ก ๆ ในตู้เย็น เด็กล้างตู้เย็นก็โยนทิ้งไปเพราะคิดว่าเป็นขยะ

          ตัวผู้เขียนเองเกือบเสียแว่นตาอ่านหนังสือไปหนึ่งอัน แต่ก็สูญไปอีกหนึ่งอันบนเครื่องบิน

          กล่าวคือเมื่อใช้แว่นตาเสร็จแล้วก็เอาทิชชูห่อกันช้ำและใส่ไว้ในกระเป๋าของที่นั่งที่อยู่ข้างหน้าโดยแย่งพื้นที่กับนิตยสารและถุงใส่อาจียร (ยังไม่ได้ใช้ครับ) เมื่อหลับไปและตื่นขึ้นมามันก็หายไปแล้ว ครั้งแรกเดินไปถามแอร์โอสเตสก็พบว่าเขาคิดว่าเป็นขยะเมื่อเดินผ่านมาจึงให้บริการที่ดีด้วยการหยิบไปทิ้ง ต้องคุ้ยหาในถังขยะจึงพบ ครั้งที่สองเข้าใจว่าอยู่ก้นถังจึงไม่ได้คืนมา ผู้เขียนจึงเข็ดกับการเอาทิชชูห่อของมาก บ่อยครั้งเป็นยาที่ต้องกินจึงห่อทิชชูและเก็บไว้ในกระเป๋าเสื้อ แต่น้อยครั้งมากที่ได้กิน ดังตั้งใจเพราะมักเผลอโยนทิ้งไปเพราะนึกว่าเป็นทิชชูใช้แล้ว

          เรื่องที่สามคือโทรศัพท์มือถือตกลงไปในน้ำ จากการสังเกตก็พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากเอาโทรศัพท์ใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ เมื่อก้มลงมันก็จะลื่นไถลลงมา บ่อยครั้งจะไหลลงไปในโถส้วม อ่างหรือถังน้ำ เครื่องซักผ้า บ่อน้ำหรือคูคลอง หรือแม้แต่แม่น้ำ

          ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเมื่อเอาขึ้นจากน้ำ ห้ามไปยุ่งกับมันเป็นอันขาด โดยเฉพาะการปิดเครื่องเพราะมันจะช๊อตทันทีและเสียเลย ให้เอาผ้าเช็ดภายนอกให้แห้งและไปหา “หมอโทรศัพท์” ตามศูนย์การค้าทันที บางเสียงก็บอกว่าทำเองได้โดยทำให้แห้งสนิท และเอาพัดลมค่อย ๆ เป่าให้แห้ง ทิ้งไว้อีก 1-2 วันจนน้ำที่เข้าไปในเครื่องเหือดแห้งหมด มีคนบอกว่าเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีความชื้นเหลืออยู่เลยในตัวเครื่องให้ห่อด้วยกระดาษทิชชูและเอาไปหมกไว้ในถังข้าวสารสัก 2-3 คืน หลังจากนั้นจึงเปิดเครื่องใช้ได้ (ภูมิปัญญาโบราณในการทำให้ความชื้นหายไป)

          ถังข้าวสารยังมีประโยชน์อื่นอีกนอกจากมีไว้ให้ตก ใครมือเปื้อนยางขนุนหากเอาไปกวนในถังข้าวสารสัก 10-20 ที ยางก็จะหายไป (แต่จะไปอยู่ในข้าวที่บริโภคแทน) มีดเปื้อนยางขนุนก็จะเข้าลักษณะเดียวกัน ส่วนมือแปดเปื้อนคอรัปชั่นคิดว่าทำอย่างไงก็ไม่หาย

          เรื่องที่สี่คือทำอย่างไรไม่ให้โดนหักเงินจากบัญชีของเราอย่างไม่มีขีดจำกัดก่อนที่เราจะรู้ตัวโดยเฉพาะในเรื่องค่าใช้อินเตอร์เน็ต พวกที่อนุญาตให้หักเงินจากบัญชีบัตรเครดิตประสบความเสี่ยงเช่นว่านี้ แต่ถ้าหากเราใช้บัตรเดบิตซึ่งมีชื่อของเรา มีหมายเลขบัตร มีหมายเลขซีเคียวริตี้ หลังบัตรเหมือนบัตรเครดิตทุกประการก็จะสามารถหลุดพ้นจากสภาวะนี้ได้

          บัตรเครดิตคือการเรียกเก็บเงินจากเราในภายหลัง ส่วนบัตรเดบิตคือการหักเงินที่เรามีอยู่แล้วออกไปจากบัญชีของเรา ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้บัตรเดบิตโดยใส่เงินไว้ไม่มากก็ไม่ต้องกังวลเพราะเราจะสูญเสียอย่างมากก็แค่เงินที่เรามีอยู่ในบัญชีนั้นเท่านั้น

          วิธีนี้จะทำให้ “การหักโดยไม่จำกัด” ไม่เกิดขึ้น เราจะมีโอกาสไต่ถาม ชี้แจง และต่อรองได้ถนัดมือกว่าการใช้บัตรเครดิต เราอาจเคยบอกหมายเลขซีเคียวริตี้ของบัตรเครดิต (หมายเลขหลังบัตร) ไปทางโทรศัพท์ในหลายโอกาส (ไม่ควรทำอย่างยิ่ง) จนหวาดหวั่นว่าจะถูกโกงเงินจำนวนมาก การใช้บัตรเดบิตจะขีดวงจำกัดความเสียหายให้เราอย่างลดความกังวลไปได้มาก

          ถ้าเสียของมีค่าเพราะความเลินเล่อก็จงนึกว่าอย่างไรเสียมันก็อยู่กับเราไปไม่ได้ตลอดอยู่แล้ว ยามเมื่อเราเสียชีวิตไปก็ไม่ได้เป็นเจ้าของอีกต่อไป และก็ไม่รู้อนาคตของมันเหมือนกันว่าจะไปอยู่ในมือใคร จริง ๆ แล้วการสูญเสียวันนี้ก็คือการมาถึงก่อนกำหนดเท่านั้นเอง และมันทำให้ตัวเราเบาขึ้นอีกด้วย