เรื่องสนุกของธนบัตร

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
27 มกราคม 2558

          ธนบัตรเป็นสิ่งที่แปลกกว่ากระดาษทั้งปวง มันมีกลิ่นประจำตัวที่สามารถทะลุซองจดหมายได้ มีพื้นผิวที่ถึงจะหลับตาสัมผัสก็บอกได้ว่าเป็นธนบัตร ธนบัตรของประเทศใดก็ตามล้วนมีความงดงามในตัวจนเป็นที่น่าเชื่อถือ และประการสำคัญไม่มีใครโยนทิ้งไม่ว่าจะเก่าขาดรุ่งริ่งเพียงใดก็ตาม กระดาษประหลาดแผ่นนี้มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ

          เมื่อมนุษย์พัฒนาสมองขึ้นจนเริ่มรู้จักการแลกเปลี่ยนสินค้ากันเมื่อหลายหมื่นปีก่อน ขั้นตอนต่อมาก็คือการใช้สิ่ง “ของมีค่า” เป็นตัวแทนสินค้าที่แลกเปลี่ยนกันเพื่อความสะดวก สิ่งของที่ใช้กันก็ได้แก่เปลือกหอย เมล็ดโกโก้ และเหรียญโลหะเมื่อ 600-700 ปีก่อนคริสตกาล หรือเมื่อเกือบ 3 พันปีก่อน ทั้งในวัฒนธรรมอินเดีย จีน กรีก และโรมัน

          โลหะที่ใช้ก็มีมากมาย เช่น ทองแดง ดีบุก เงิน ทองคำ และพัฒนาขึ้นเป็นลำดับจนเป็นโลหะผสมหลากหลายชนิดที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ อย่างไรก็ดีน้ำหนักและขีดจำกัดมูลค่าของมันเป็นอุปสรรคจนทำให้เกิดธนบัตรขึ้นมาใช้ประกอบ

          นักประวัติศาสตร์พบว่ามีการใช้ธนบัตรเป็นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ฮั่นประมาณ 118 ปีก่อนคริสตกาล (หลังพุทธกาลประมาณ 400 ปีเศษ) โดยใช้เป็นแผ่นหนัง ไอเดียก็คือธนบัตรเป็น “สัญญา” ว่าผู้ถือสามารถนำไปชำระหนี้ได้ เอาไปแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งมีค่าได้ดังที่ระบุไว้ใน ‘สัญญา’ ดังนั้นธนบัตรจึงมีค่าไม่ต่างไปจากเหรียญทองคำหรือเงินตราบที่ผู้ออกธนบัตรทำตามคำสัญญา

          จากแผ่นหนังมาเป็นกระดาษในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) โดยผู้ถือคือพ่อค้า แม่ขายในทุกระดับ ออกโดยผู้ซึ่งเป็นที่น่าเชื่อถือในเมืองต่าง ๆ พ่อค้าไม่ต้องแบกถุงเงินถุงทองหนักข้ามระยะทางไกล แต่รับเป็นธนบัตรแทน เมื่อถึงอีกเมืองหนึ่งก็เอาไปจ่ายและรับมา ธนบัตรรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งออกโดยหลายผู้มีอิทธิพลก็มีการยอมรับซึ่งกันและกันตราบที่ผู้ออกธนบัตรยังมีความน่าเชื่อถือ

          ธนบัตรกลายเป็นเอกสารที่ออกโดยรัฐบาลกลางอย่างถูกต้องตามกฎหมายใน ค.ศ. 960 ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ต่อมาเมื่อเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นรัฐบาลกลางก็เลยกลายเป็นผู้ผูกขาดการผลิต “สัญญา” นี้หรือพิมพ์ธนบัตรแต่เพียงผู้เดียว

          ประโยชน์ก็คือรัฐบาลเสกอากาศมาเป็นเงินได้ เมื่อก่อนต้องมีเหรียญเงินเหรียญทองเป็นตัวตนจริง ๆ ให้ประชาชนใช้ คราวนี้แค่ผลิต “สัญญา” หรือกระดาษออกมาโดยใช้บล็อกไม้เป็นแม่พิมพ์ รัฐบาลกลางก็มีเงินใช้อย่างสบาย

          ธนบัตรในยุโรปเริ่มปรากฏตัวใน ค.ศ. 1661 ในสวีเดน นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าเป็นผลพวงมาจากการกลับมาจากการเดินทางไปเอเชียและอยู่ในจีนรวมทั้งหมด 24 ปีของมาร์โค โปโล (มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1254-1324) มาร์โค โปโล เป็นคนเวนิส และไม่ใช่คนตะวันตกคนแรกที่ไปเอเชีย แต่เป็นคนแรกที่มีการบันทึกการเดินทางและสิ่งที่ได้พบเห็นไว้อย่างละเอียด สารพัด pasta ของคนอิตาลีในปัจจุบันก็เชื่อกันว่ามีที่มาจากเส้นก๋วยเตี๋ยวที่เขาเห็นในเมืองจีน ส่วนมะเขือเทศที่คนอิตาลีขาดไม่ได้ในปัจจุบันนั้นโดยแท้จริงแล้วเพิ่งบริโภคกันไม่เกิน 500 ปีเศษหลังจากที่โคลัมบัสนำมาจากทวีปอเมริกา พืชอื่นที่โลกเก่าคือยุโรปและเอเชียรู้จักหลังการเดินทางไปทวีปอเมริกาของโคลัมบัสก็คือข้าวโพด สาเก มันฝรั่ง มันเทศ ฯลฯ

          ธนบัตรมีเรื่องสนุกหลายเรื่องดังต่อไปนี้ (1) นิตยสาร Discovery ฉบับ 1501 เมื่อไม่นานมานี้ระบุว่าร้อยละ 90 ของธนบัตรอเมริกันพบเศษของยาเสพติดโคเคนติดอยู่ ข้อเท็จจริงนี้ได้มาจากการพิสูจน์ธนบัตรจาก 17 เมืองใหญ่ในสหรัฐอเมริกา สำหรับวอชิงตันดี.ซี. ซึ่งเป็นเมืองหลวงนั้นตัวเลขนี้สูงขึ้นไปถึงร้อยละ 95 การพบเศษโคเคนเช่นนี้มีความหมายอย่างไรคงไม่ต้องเดาต่อนะครับ

          (2) นอร์เวย์กำลังออกธนบัตรชุดใหม่ที่มีภาพและสัญญลักษณ์สะท้อนวัฒนธรรมนอร์เวย์โดยนำเสนอในรูปของศิลปะสมัยใหม่อย่างงดงามและล้ำหน้า ผู้คนเรียกกันว่า Kroner Creativity

          (3) ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกธนบัตรที่มิใช่กระดาษหากเป็น polymer (เป็นแผ่นพลาสติกบาง บ้านเราก็เคยใช้อยู่พักหนึ่งและเลิกไป) โดยออกในปี 1988 เป็นต้นมา ธนบัตรชนิดนี้คงทนอยู่นานกว่ากระดาษ 4 เท่าซึ่งช่วยลดต้นทุนและทำให้ปลอมได้ยากขึ้น อีกทั้ง รีไซเคิลได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่ากระดาษที่มาจากต้นไม้

          (4) อังกฤษปัจจุบันมีการเปลี่ยนธนบัตรเงินปอนด์หลายมูลค่าอยู่เนือง ๆ โดยยกเลิกธนบัตรแต่ละมูลค่าไม่พร้อมกัน เข้าใจว่าเพื่อไม่ให้กลายเป็นสกุลสำคัญในการปลอมแปลงและไม่ให้แอบเก็บไว้โดยมีวัตถุประสงค์ที่ไม่สุจริต

          คนปลอมธนบัตรย่อมไม่อยากปลอมธนบัตรที่ต้องรีบใช้ให้หมดใน 4-5 ปี ต้องลงทุนแกะบล็อกเพื่อปลอมบ่อยทำให้ต้นทุนสูง ไม่มีใครอยากแอบเก็บไว้เพราะเมื่อธนบัตรหมดค่า หากจะใช้ต้องเปลี่ยนธนบัตรโดยเอาไปแลกเป็นธนบัตรใหม่ที่ธนาคารเท่านั้น คนที่เป็นโจรที่อยากแอบเก็บไว้ก็จะไม่ชอบเงินสกุลนี้อย่างแน่นอน

          ในทางตรงกันข้ามธนบัตรดอลล่าร์ของสหรัฐอเมริกาไม่เคยเปลี่ยนหน้าตามานานหลายทศวรรษ ทุกใบมีสีเขียวหมด ไม่ว่าร้อยเหรียญ หรือหนึ่งเหรียญ อย่างไรก็ดีการเป็นเงินสกุลหลักของโลกทำให้ไม่สามารถเลียนแบบการกระทำของเงินปอนด์ได้

          สุดท้ายมีชายผู้หนึ่งหากินโดยหัวใจสร้างสรรค์ เขาเขียนชื่อที่อยู่ด้วยหมึกสีแดงลงบนธนบัตรหนึ่งเหรียญสหรัฐที่ผ่านมือเขาในการใช้จ่ายทุกวันและเขียนว่า ‘กรุณาส่งธนบัตรใบนี้ให้ผมด้วย ผมยากจนมาก’ ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา เขาได้รับธนบัตรกลับมาทุกวัน ๆ ละประมาณสองเหรียญอย่างสม่ำเสมอ จนเป็นรายได้หลักของเขา พูดง่าย ๆ ทุกรายจ่ายที่ออกไปจากกระเป๋า มันจะหมุนกลับมาเป็นรายได้ให้เขา

          ธนบัตรโดยแท้จริงแล้วมันก็คือเศษกระดาษธรรมดา ๆ นี่เอง แต่ไม่มีใครทิ้งหรือหากตกอยู่ก็แย่งกันเก็บ บ้างก็ชอบเก็บไว้ที่บ้านเป็นหลาย ๆ สิบล้านเพราะต้องดมกลิ่นก่อนนอน ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพราะมั่นใจว่ามันมีค่าตามที่ระบุอยู่บนหน้าธนบัตรจนสามารถเอาไปใช้ต่อได้ไม่ว่าในการซื้อของ การออม หรือการชำระหนี้ ถ้าความเชื่อมั่นเช่นนี้หมดไปเมื่อใดมันก็กลายเป็นสิ่งรกบ้านทันที

          จำตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุนที่เจ๊งไปเมื่อตอน ‘ต้มยำกุ้ง’ หรือจดหมายยืนยัน “ชิ้นส่วนรถยนต์” ของแชร์แม่ชม้อยได้ไหมครับ ธนบัตรที่ผู้คนหมดศรัทธาก็เข้าหรอบเดียวกัน