หมอดูกับเลือกตั้งศรีลังกา

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
3 กุมภาพันธ์ 2558

          หมอดูศรีลังกาจำนวนมากหน้าแตกไปตาม ๆ กันเมื่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเร็ว ๆ นี้ออกมาอย่างตรงกันข้ามกับคำพยากรณ์ ประเทศที่มีความใกล้ชิดทางศาสนากับเรามากประเทศนี้กำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและจะมีผลโยงใยไปถึงเรื่องสังคมและเศรษฐกิจอย่างสำคัญ

          ศรีลังกาเป็นเกาะอยู่ทางใต้ของอินเดีย ชายฝั่งของสองประเทศห่างกันแค่ไม่ถึง 50 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 65,000 ตารางกิโลเมตร (100 เท่าของภูเก็ต) มีประชากร 21 ล้านคน ร้อยละ 70 เป็นพุทธ ร้อยละ 13 เป็นฮินดู ร้อยละ 10 เป็นมุสลิม และร้อยละ 7 นับถือศาสนาคริสต์

          ระยะเวลา 25 ปี ของการต่อสู้ระหว่างคนศรีลังกาด้วยกันจบลงในปี 2009 ด้วยการฆ่าสมาชิกของกลุ่มทมิฬแบ่งแยกดินแดนที่เรียกตัวเองว่า Liberation Tigers of Tamil Eelam (LTTTE) อย่างทารุณถึงกว่า 40,000 คน

          ศรีลังกาหรือซีลอน (ชื่อเมื่อก่อนหน้าปี 1972) เป็นแหล่งที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่าง ชาวสิงหล (หน้าตาคล้ายคนไทย นับถือศาสนาพุทธ) ทมิฬ (ผิวดำเป็นฮินดูมีหน้าตาเหมือนแขก อินเดียทางตอนใต้) และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ มายาวนานนับพันปี จนกระทั่งเกิดกลุ่มกบฏทมิฬต้องการแบ่งแยกดินแดนและต่อสู้ด้วยวิธีการก่อการร้าย

          ผู้นำรัฐบาลที่ปราบ LTTE ได้ราบคาบด้วยความรุนแรง คือ นาย Mahinda Rajapaksa ซึ่งเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ ค.ศ. 2005 ในตอนแรกเขาได้รับความชื่นชมจากประชาชนทั่วไปที่ต้องการเห็นความสงบเรียบร้อยแต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาความนิยมลดลงเป็นลำดับเมื่อได้รับรู้ความรุนแรงในการปราบปราม และรู้เห็นการใช้อำนาจเผด็จการเพิ่มมากขึ้นทุกทีของประธานาธิบดี ตลอดจน การเล่นพรรคเล่นพวกแถมรายล้อมด้วยผลประโยชน์ของวงศาคณาญาติท่ามกลางคอร์รัปชั่นที่แพร่ระบาดหนักหน่วง

          นาย Rajapaksa ได้จัดการให้มีการยกเลิกข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญที่ให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งต่อเนื่องได้เพียงสองสมัย แก้กฎหมายให้อำนาจประธานาธิบดีเพิ่มมากขึ้น น้องชายคนหนึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกคนหนึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ น้องชายอีกคนเป็นประธานรัฐสภา ลูกชายคนโตเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ญาติอีกหลายคนของประธานาธิบดีได้รับตำแหน่งใหญ่โตในรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ

          เหตุการณ์ที่ประชาชนระอาก็คือในปี 2013 พรรคของประธานาธิบดีถอดถอนประธานศาลฎีกาหญิงที่ขัดขวางการใช้อำนาจของประธานาธิบดีอย่างไม่อายฟ้าดิน และแต่งตั้งคนของตนเองเป็นแทน เสียงไม่พอใจดังขึ้นจนประธานาธิบดีชิงประกาศเลือกตั้งก่อนถึงกำหนดถึง 2 ปี เพราะมั่นใจว่าจะชนะแน่

          คราวนี้แหละก็ถึงการออกโรงของบรรดาโหรทั้งหลาย คนศรีลังกาโดยปกติเป็นคนเชื่อถือเรื่องดวง นับถือโชคลาง ฤกษ์ผานาที เหมือนคนพม่า คนไทย คนลาว คนกัมพูชา ฯลฯ ซึ่งถ้าจะว่าไปก็คนแถวนี้เกือบทั้งหมด เมื่อถึงเวลาทำนายอนาคตครั้งสำคัญนี้โหรจะนั่งอยู่เฉย ๆ ได้กระไร

          โหรมือดีถูกเชิญมานั่งเรียงกันเป็นลูกชิ้นปิ้งออกโทรทัศน์ โหรฝั่งรัฐบาลบอกว่าดวงของ นาย Rajapaksa นั้นแข็งนักขนาดเอาชนะกบฏทมิฬมาแล้ว ก็อีแค่เลือกตั้งแค่นี้นะหรือไม่พอมือแน่ ดังนั้นจะชนะเลือกตั้งครั้งนี้อย่างแน่นอน บางคนพูดไปไกลถึงว่าอย่าว่าแต่คราวนี้เลย ต่อให้ในการแข่งขันเป็นประธานาธิบดีเทอมที่สี่ก็จะชนะอีกด้วย

          โหรฝ่ายคู่แข่งคือนาย Sirisena ก็ทำนายว่าฝ่ายตรงข้ามชนะแน่ แต่เมื่อได้รับเชิญมาน้อยคนกว่าเพราะรัฐบาลครอบงำสื่ออย่างเต็มที่และเป็นผู้จัดรายการทำนายครั้งนี้จึงฟังดูมีน้ำหนักน้อยกว่า

          คนศรีลังกานั้นเชื่อหมอดูไม่น้อยไปกว่าคนไทย ฝ่ายรัฐบาลต้องการให้เกิดจิตวิทยาของฝูงชนคือเมื่อรู้แน่ว่าชนะก็จะได้ออกมาร่วมลงคะแนนให้ (ฝรั่งเรียกว่า Bandwagon Effect) หรือหากเป็นฝ่ายตรงข้ามจะได้ถอดใจไม่มาลงคะแนน

          อย่างไรก็ดีในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2015 นาย Sirisena คู่ต่อสู้ของประธานาธิบดีเป็นผู้ชนะไปด้วยคะแนนร้อยละ 51.2 กับคะแนนร้อยละ 47.6 ของนาย Rajapaksa ซึ่งเรียกได้ว่าฉิวเฉียด นาย Sirisena ชนะอย่างหน้าบาน แต่บรรดาโหรฝ่ายรัฐบาลหน้าแตกชนิดหมอปฏิเสธเย็บ

          นาย Sirisena นั้นเมื่อก่อนหน้าที่ประธานาธิบดี Rajapaksa ประกาศให้มีการเลือกตั้ง เป็นเลขาธิการพรรคของประธานาธิบดี และเป็นรัฐมนตรีคนสำคัญของรัฐบาล ทันทีที่ประกาศลงแข่งก็ถูกนาย Rajapaksa ปลดออกจากพรรคพร้อมกับเพื่อนร่วมทีมที่แยกตัวออกมาด้วยความโกรธที่อาจหาญมาแข่งขันกับ ‘ราชา’ ที่ว่ากันว่าเกือบยึดประเทศได้สำเร็จแล้ว

          นาย Rajapaksa แนบแน่นกับจีน และชอบพอกับรัสเซีย หันหลังให้โลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ส่วนนาย Sirisena นั้นนโยบายแตกต่างออกไป ผู้วิจารณ์การเมือง เชื่อว่าชัยชนะของนาย Sirisena ผู้เป็นนักการเมืองมาอย่างโชกโชนในวัย 63 ปี เคยเป็นรัฐมนตรีมาหลายกระทรวงในหลายรัฐบาลและหลายพรรคจะเปลี่ยนผันทิศทางของศรีลังกา

          ประธานาธิบดีคนใหม่สาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งในวันรุ่งขึ้นหลังเลือกตั้งทันที (ไม่ยอมให้ประธานศาลฎีกาที่นาย Rajapaksa แต่งตั้งเป็นผู้ประกอบพิธี) ประกาศว่าจะปรับลดอำนาจของประธานาธิบดีลง โดยจะหันประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ใช้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากประชาชนเป็นฐานไปสู่การได้นายกรัฐมนตรีจากสภาฯ ทั้งหมดจะกระทำให้เสร็จในเวลา 100 วัน

          คำถามที่คนสงสัยก็คือเหตุใดประธานาธิบดี Rajapaksa จึงยินยอมถ่ายโอนอำนาจให้ง่ายดายนักหลังจากมีการประกาศคะแนนไม่นาน คำตอบที่ปรากฏในสื่อต่างประเทศก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังฉาก โดยมีความว่าจริง ๆ แล้วประธานาธิบดีนั้นเชิญผู้นำทุกเหล่าทัพเข้าหารือทำนองจะทำรัฐประหารเมื่อรู้ว่าจะแพ้ แต่เมื่อมีการปฏิเสธและมีการสัญญาจากประธานาธิบดีคนใหม่ว่าจะไม่มีการรื้อฟื้นคดีฆ่าโหดกบฏทมิฬขึ้นมาเล่นงานนาย Rajapaksa ในระดับประเทศและระหว่างประเทศ การถ่ายโอนอำนาจจึงเป็นไปอย่างราบรื่น

          สื่อต่างประเทศอีกกระแสหนึ่งกล่าวว่าประธานาธิบดีคนใหม่ Sirisena ก็ไม่น่าจะรื้อฟื้นคดีเพราะในปลายยุคการปราบกบฏทมิฬที่มีความรุนแรงนั้นตัวเขาเองก็เป็นรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่รับผิดชอบงานนี้อยู่ด้วย

          ศรีลังกาเป็นมิตรประเทศที่ดีของไทยมายาวนาน ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงเรารับ พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์จากลังกาในประมาณ พ.ศ. 1820 เพื่อมาเผยแพร่ทั่วอาณาจักรสุโขทัย และต่อมาในสมัยอยุธยา พ.ศ. 2294 รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สยามได้ส่งสมณทูตไทยจำนวนสิบรูปไปลังกาตามคำทูลของพระเจ้ากิตติราชสิงหะกษัตริย์ลังกาเพื่อทำการบรรพชาอุปสมบท กุลบุตรชาวลังกาจนเกิดนิกายสยามวงศ์ขึ้นในลังกาซึ่งสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

          ศรีลังกาตั้งอยู่ในตำแหน่งสำคัญของเส้นทางเดินเรือของเรือบรรทุกสินค้และน้ำมันของชาวโลก และอยู่ใกล้อินเดียซึ่งกำลังกลายเป็นคู่แข่งขันสำคัญของจีน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงเป็นที่จับตาของชาวโลก และโลกได้เรียนรู้ว่าอย่าไปเชื่อหมอดู จงเชื่อคะแนนเลือกตั้งที่สุจริตจากประชาชนเท่านั้น