สักการะพุทธสังเวชนียสถาน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
31 มีนาคม 2558

          เพิ่งเคยไปสักการะพุทธสังเวชนียสถานทั้งสี่ตำบลที่อินเดียและเนปาลเป็นครั้งแรก และเกิดความรู้สึกหลายอย่างที่อยากสื่อต่อ สิ่งที่เขียนนี้อาจซ้ำซากสำหรับท่านที่เคยไปมาแล้วต้องขออภัยด้วย

          เพื่อนร่วมเรียนชั้นมัธยมและเพื่อนฝูงรวม 16 ชีวิตได้เดินทางไปสวนลุมพินีวัน (สถานที่ประสูติ) ตำบลพุทธคยา (สถานที่ตรัสรู้) ตำบลสารนาถ (สถานที่แสดงปฐมเทศนา) และตำบลกุสินารา (สถานที่ปรินิพพาน) แห่งแรกอยู่ในเนปาล ที่เหลืออยู่ในอินเดียในรัฐพิหาร (Bihar หรือ วิหาร) ซึ่งเป็นรัฐที่จนที่สุด รายได้ต่อหัวต่ำกว่าไทย 6-7 เท่าตัว

          บริเวณที่ไปนี้อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ปีหนึ่งเดินทางไปสักการะได้ไม่เกิน 3 เดือน (ช่วงปลายปีถึงประมาณเกือบปลายมีนาคมซึ่งคือช่วงหน้าหนาว เพราะ 9 เดือนที่เหลืออากาศร้อนมาก ๆ และมีฝุ่นมาก การเดินทางปัจจุบันสะดวกกว่าเก่าเพราะเดินทางได้ด้วยเครื่องบินเกือบทั้งหมด มีบางจุดเท่านั้นที่ต้องนั่งรถ
ความรู้สึกแรกก็คืออินเดียนั้นเป็นของจริงแท้แน่นอน คือ เห็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่มีการเสแสร้ง คนจนก็จนสุด ๆ ที่รวยก็รวยสุด ๆ ผู้เขียนไปอินเดียมา 6-7 ครั้ง ๆ ละสั้น ๆ แต่ก็ไม่เคยมาบริเวณนี้เลย เป็นความตั้งใจมาตลอดชีวิตว่าอยากมาสัมผัสพุทธิภูมิของบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการเป็นตัวเรามากที่สุดคนหนึ่ง เมื่อมาถึงแล้วก็รู้สึกสับสน ใจหนึ่งยินดีที่ได้ทำสิ่งที่ตั้งใจมานาน แต่อีกใจหนึ่งก็รู้สึกสลดใจที่ความยากจนสุด ๆ นั้นมันยังคงอยู่อย่างแนบแน่นกับคนอินเดียส่วนหนึ่ง และอาจมีจำนวนหลายร้อยล้านคนในประชากร 1,300 ล้านคน ด้วย

          ระหว่างทางที่นั่งรถปรับอากาศประมาณ 8 ชั่วโมงกว่าในตอนบ่ายจากพาราณสีสู่เมือง กุสินารานั้น ได้เห็นภาพชนบทที่งดงามและเห็นชีวิตของคนที่ลำบากยากจนมากสองข้างทางที่ ต้องทำงานหนักสารพัดเพื่อเอาตัวรอด และมันก็คงเป็นมาหลายพันชั่วคน (มนุษย์มีหน้าตาแบบปัจจุบันยาวนานประมาณ 7,500 ชั่วคน) และดูท่าจะเป็นอย่างนี้ไปอีกหลายชั่วคน เชื่อว่าชีวิตของบรรพบุรุษ ในสมัยพุทธกาลกับปัจจุบันก็คงไม่มีอะไรแตกต่างกันนัก 2,500 กว่าปีผ่านมาแต่ก็ยังต่อสู้กับความยากจนเหมือนเดิม

          ใครที่มีโลภะสูงเมื่อเห็นคนเหล่านี้แล้ว มั่นใจว่าจะมีดีกรีลดลงไปเป็นอันมาก เพราะเขาไม่มีอะไรเลยก็ยังอยู่กันมาได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ นี่แหละคือความ ‘พอเพียง’ ที่ทำให้เขาอยู่กันมาได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์แสนสาหัส ทุกวันอาหารก็ไม่แตกต่างกัน ทนร้อนสุดและหนาวสุดด้วยบ้านหลังเล็กที่อยู่กันแน่น อาบน้ำ ซักผ้า ก็ต้องใช้ปั้มน้ำสาธารณะริมถนนร่วมกัน ส่วนส้วมก็คือทุ่งใหญ่ที่มีอากาศถ่ายเทร่มเย็นเป็นธรรมชาติ

          เกิดความรู้สึกขัดแย้งกันในประการแรกคือระหว่างความยินดีที่ได้ไปกับความสลดใจที่ได้เห็นความยากจนยังไม่พอ ยังมีความรู้สึกขัดแย้งในประการที่สองคือรู้สึกว่าเราไม่สามารถช่วยคนเหล่านี้ได้เลยถึงแม้เราจะสามารถช่วยบางคนได้บ้างก็ตามที

          ขอทานที่มีอยู่มากมายซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กนั้น การขอของเขาก็คือการทำงาน อย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ แต่มันมีจำนวนมากมายจนเป็นที่รู้กันว่าห้ามให้อย่างเปิดเผยเป็น อันขาด มิฉะนั้นอาจถูกกลุ้มรุมด้วยคนเป็นร้อยๆ วุ่นวายปั่นป่วนไปหมด การให้เด็กคนหนึ่ง สักร้อยสองร้อยบาท (บาทเป็นสกุลที่ผู้คนบริเวณนี้ยินดีต้อนรับ) เป็นสิ่งที่ทำได้โดยเราไม่เดือดร้อน และเงินจำนวนนี้ ถือว่ามากพอควรหากเทียบกับที่ให้กัน 10 รูปี (6 บาท) แต่เราก็ไม่อาจให้ได้ และมันก็มิใช่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนด้วย

          คนไทยที่ไปนั้นส่วนใหญ่นุ่งห่มขาว มีจำนวนมากเป็นร้อย ๆ คนที่เห็นในเวลา 7 วัน ทั้งหมดล้วนใจบุญ ชอบแจกเงิน แจกขนม แจกปากกา โดยรับทราบมาว่าต้องมีจังหวะ อันเหมาะสมในการแจก เช่น ให้แล้วขึ้นรถหรือไม่ก็ให้จากหน้าต่าง แต่ถ้าหากโยนลงไปเด็กอาจแย่งกันจนเกิดอันตรายได้หากของเข้าไปอยู่ใต้ท้องรถ

          ความรู้สึกประการที่สามคือความรู้สึกปิติว่าได้มายังจุดหรือสถานที่ซึ่งครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์เคยประทับ ความรู้สึกเหมือนกับไปสุโขทัย เชียงใหม่ หรืออยุธยา คือรู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต สิ่งนี้ทำให้เกิดความสนใจพระพุทธศาสนามากขึ้นถึงแม้จะเป็นพุทธมามกะ มาตลอดชีวิตก็ตาม รู้สึกว่าช่องว่างระหว่างพระพุทธเจ้ากับตัวเราแคบลง

          เมื่อก่อนรู้สึกว่าการสวดมนต์เป็นสิ่งเกินจำเป็น หากเรารักษาศีลห้า ทำความดี ละเว้นความชั่ว ไม่เบียดเบียนใครอย่างตั้งใจ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่เมื่อได้เห็นการสวดมนต์กันอย่างจริงจังของเพื่อนผู้ร่วมเดินทางซึ่งมีพระเป็นผู้นำสวดในสถานที่สำคัญทุกแห่ง และเห็นคนไทยอื่น ๆ ที่ไปก็ล้วนสวดมนต์กันทั้งนั้น (ชาติอื่น ๆ ที่ไปสักการะก็คือธิเบต เนปาล ไต้หวัน จีน เวียดนาม ศรีลังกา เริ่มมีพม่ามากขึ้น) การอยู่ในสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศเช่นนี้ทำให้เกิดเห็นว่าการสวดมนต์เป็นสิ่งที่พึงกระทำ เป็นวาทกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกมุ่งมั่นกระทำตามหลักการของศาสนายิ่งขึ้น ทำให้จิตใจสงบ เกิดศรัทธายิ่งขึ้น ฯลฯ บทสวดมนต์ล้วนมีความหมายอันงดงามและเป็นมงคล การเปล่งวาจาตอกย้ำคำพูดเหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งเสริมความเจริญสำหรับตนเองอย่างแน่นอน การร้องเพลงยังปลุกใจได้ แล้วทำไมการสวดมนต์จะมีประสิทธิภาพด้อยกว่าไปได้

          ในประการที่สี่ การเดินทางครั้งนี้ทำให้เข้าใจบริบททางสังคมและการเมืองของประวัติศาสตร์พุทธศาสนาและพระพุทธเจ้า ตลอดจนเรื่องราวของประเทศอินเดียซึ่งเป็นความสนใจของผู้เขียนมานานแล้วมากขึ้น ครั้งใดที่รู้สึกว่าประสบความลำบากในการเดินทางเมื่อนึกขึ้นมาว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าและผู้คนในสมัยนั้น ตลอดจนผู้คนยากจนสองข้างทางประสบนั้นหนักหนาสาหัสกว่าเราเป็นอันมาก เราแค่ต้องอดทนเพียงไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน แต่พวกเขาสิต้องทนไปตลอดชีวิต

          การเดินทางครั้งนี้เป็นไปตามที่พระท่านกล่าวคือต้องไปด้วยใจ ไม่ใช่ไปด้วยปาก (ได้กินอาหารอร่อย) ไปด้วยกาย (สะดวกสบาย) ไปด้วยตา (ความงดงาม) ไปด้วยหลัง (นอนสบาย) ไปด้วยสัมผัส (สุขสบายกายและใจ) ผู้เขียนเห็นว่ามันเป็นเที่ยวเดินทางทางจิตวิญญาณโดยแท้ เมื่อกลับมาแล้วก็ยังนึกถึง และอยากกลับไปเมืองใกล้เคียงอื่น ๆ ที่ไม่ได้ไป เช่น เมืองสาวัตถี ซึ่งเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลาประทับอยู่นานถึง 24 ปี ในเวลาที่เสด็จจาริกไปตามที่ต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ คำสอนในช่วงเวลา 45 ปี และเป็นที่ตั้งของเชตวันวิหารและวัดบุพพารามซึ่งเป็นสถานที่ประทับสำคัญของพระพุทธเจ้าด้วย

          โลกผันแปรไปไม่รู้จบ ปัจจุบันเด็ก ๆ เรียกแขกผู้มาเยือนโดยเฉพาะคนไทยว่า “มหาราชา มหารานี” แทนที่จะเรียก ‘อาจารย์’ อย่างเก่า จนทำให้อดอมยิ้มไม่ได้ว่าช่างไปสรรหามาเรียกพร้อมกับพูดภาษาไทยต่อรองราคาได้คล่องแคล่ว คิดดูเถอะแม้แต่เด็ก ๆ ก็ยังปรับตัวตามโลกจากโลกธรรมสู่โลกทุนนิยม

          ถ้าถามว่านอกจากได้รับรสพระธรรมที่ได้รับรู้มาตั้งแต่เด็ก ๆ เพิ่มเติมแล้ว มีอะไรที่เป็นข้อคิดบ้าง ผู้เขียนชอบพระปัจฉิมวาจาก่อนปรินิพพานซึ่งมีความหมายที่ดีมากสำหรับท่าน ส.ว.ทุกคน ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาพวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”