รู้จักภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
24 มีนาคม 2558

          เรื่องที่เขียนวันนี้อาจไม่ถูกใจท่านผู้อ่านเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการต้องเสียเงิน แต่ก็จำเป็นต้องนำเสนอเพราะมันเป็นเรื่องสำคัญของการเป็นพลเมืองที่ดี ที่จะกล่าวถึงนี้ก็คือเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กำลังพูดถึงกันอยู่มากในขณะนี้

          ในเบื้องต้นขอเรียนว่าภาษีที่เก็บบนมูลค่าทรัพย์สินนั้นที่จริงไม่ใช่ของใหม่ ประเทศต่าง ๆ ในโลกที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงบ้านเราเขามีกันทั้งนั้นโดยเฉพาะบางประเทศใน ASEAN ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ส่วนไทยนั้นก็มีเหมือนกันมายาวนาน เพียงแต่มันบิดเบี้ยวไม่เป็นธรรมจนต้องมีข้อเสนอใหม่จากรัฐบาลชุดนี้ในเรื่องการเก็บภาษี บนฐานทรัพย์สินที่เป็นมาตรฐานของโลก

          ในปัจจุบันเรามีอย่างน้อยสองภาษีที่เก็บจากฐานทรัพย์สิน ภาษีแรกคือภาษีบำรุงท้องที่ที่เราจ่ายให้ กทม. หรือเทศบาลกัน มีหลายอัตราของการจัดเก็บ ถ้าที่ดินว่างเปล่าก็ถูกเก็บแพงหน่อย แต่ปัญหาก็คือมีข้อยกเว้น กล่าวคือเขตต่าง ๆ ของเมืองประกาศพื้นที่ขั้นต่ำที่ได้รับการยกเว้น เช่น 100 ตารางวา หรือนอกเมือง เช่น 1 ไร่

          ถ้าใครมีที่ดินต่ำกว่า 100 ตารางวาในเขตนั้น หรือนอกเมืองต่ำกว่า 1 ไร่ ก็ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว ภาษีที่สองคือภาษีโรงเรือนและที่ดินที่เก็บจากค่าเช่า แต่ถ้าไม่มีการเช่าเพราะอยู่เองก็ได้รับการยกเว้นทั้งหมด

          ถ้าใครมีบ้านมูลค่า 100 ล้านบาท อยู่บนเนื้อที่ต่ำกว่า 100 ตารางวา ก็ไม่ต้องเสียภาษีเลยแม้แต่บาทเดียวเพราะได้รับการยกเว้นจากภาษีทั้งสอง แต่ถ้าใครมีบ้านหลังเล็ก ๆ ทำการค้า บนพื้นที่ต่ำกว่า 100 ตารางวา ก็ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 12.5 ของค่าเช่าที่ได้รับตามกฎหมายภาษีโรงเรือนของ พ.ศ. 2477 ส่วนที่ดินได้รับการยกเว้นจากภาษีบำรุงท้องที่

          เมื่อมันมีโอกาสไม่เป็นธรรมเช่นนี้ และมีข้อยกเว้นมากมายจนท้องถิ่นทั่วประเทศไทยเก็บได้น้อยมากเพียงปีละ 25,000 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นจึงมีความพยายามตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ที่จะปรับปรุงด้วยการยกเลิกสองภาษีนี้และใช้ภาษีใหม่ที่ใช้มูลค่าที่ดินและมูลค่าที่อยู่อาศัยเป็นฐานภาษีตรง ๆ ไปเลย และมีข้อยกเว้นที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด

          หลายรัฐบาลพยายามริเริ่มภาษีเช่นนี้แต่ก็เลิกไปทุกครั้งเพราะกลัวประชาชนจะไม่พอใจ (ไม่มีใครอยากเสียภาษีเพิ่มเป็นธรรมดา) แต่ครั้งนี้อยู่ในยุคปฏิรูปจึงมีความกล้าที่จะเสนอภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างโดยเก็บในอัตราที่ต่ำมาก ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ

          ตามข้อเสนอนั้นประเภทที่อยู่อาศัยถ้ามีมูลค่าต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเลย มูลค่า 1.5-5 ล้านบาทเสียภาษีในอัตรา 0.1 (หนึ่งล้านบาทจะเสียภาษีหนึ่งพันบาท) แต่จะลดให้ครึ่งหนึ่ง กล่าวคือถ้ามูลค่า 5 ล้านบาทก็ต้องเสียภาษี 5,000 บาท แต่เนื่องจากลดครึ่งหนึ่งจึงเสียภาษีแค่ 2,500 บาทต่อปี

          ที่อยู่อาศัยมูลค่า 5 ล้านบาทขึ้นไปเสียภาษีอัตราร้อยละ 0.1 เช่น บ้านมูลค่า 10 ล้านบาทก็เสียภาษี 10,000 บาทต่อปี ซึ่งถ้าคนมีบ้านราคาขนาดนี้ก็ควรมีปัญญาจ่ายภาษีที่ น้อยกว่าค่าประกันรถยนต์

          มูลค่าที่อยู่อาศัยนี้มาจากราคาประเมินไม่ใช่ราคาตลาดซึ่งหมายถึงมูลค่าที่มาจากการประเมินหลังจากหักค่าเสื่อมไปแล้ว ซึ่งข้อเสนอก็มีการให้หักค่าเสื่อมของสิ่งปลูกสร้างถึง 69 แบบ เช่น ถ้าเป็นบ้านไม้ถ้ามีอายุ 19 ปี ก็ให้ลดหย่อนถึง 93% ของมูลค่าซึ่งหมายความว่ากว่าเจ้าของที่อยู่อาศัยจะเสียภาษี ก็ต้องหามูลค่าประเมินหลังจากหักค่าลดหย่อนตามอายุของสิ่งปลูกสร้างเสียก่อนจึงจะคิดภาษี

          เมื่อเป็นอย่างนี้ ภาษีที่เจ้าของที่อยู่อาศัยต้องจ่ายจริงจึงน้อยมาก ๆ ต่อปี อาจเป็นร้อย ๆ บาทก็เป็นได้ และจะเริ่มเก็บภาษีในอีก 1 หรือ 2 ปี ข้างหน้า ใครที่กังวลใจกลัวเสียภาษีจนนอน ไม่หลับก็พอคลายความกังวลใจได้ และจะตระหนักว่าความเป็นพลเมืองดีอันมาจากการปฏิบัติหน้าที่ในการเสียภาษีนั้นมีราคาไม่แพงเลย

          มีการคาดคะเนว่าจะเก็บภาษีเช่นนี้ได้ถึง 200,000 ล้านบาทต่อปีโดยท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการลดภาระของรัฐบาลกลางไปมากโดยไม่ต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้ท้องถิ่นมากมายดังเคย จนสามารถเอาเงินนี้ไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน รถไฟรางคู่ รถไฟใต้ดินบนดิน เครือข่ายไอที ใช้หนี้ของรัฐบาลที่มีอยู่เป็นแสน ๆ ล้านบาท โครงสร้างบริการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุที่จะพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 30 ของประชากรในเวลา 15-20 ปี ชดเชยรายได้จากภาษีขาเข้าที่หายไปอันเนื่องจากการเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน ฯลฯ

          ประเทศเรามีความจำเป็นในการหารายได้จากภาษีอากรอย่างมากใน 20-30 ปีข้างหน้า เรามีรายได้ที่หลุดรอดไปจากการเสียภาษีมากมาย เมื่อเก็บตอนเป็นรายได้ไม่ได้ก็สามารถตามไปเก็บได้ตอนเป็นทรัพย์สินที่อยู่อาศัยซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะมีเลขที่ตามกฎหมายและย้ายหนีไม่ได้

          สำหรับทรัพย์สินประเภทที่ดินนั้นหากใช้เพื่อการเกษตรกรต่ำสุดคือร้อยละ 0.05 (หนึ่งล้านบาทจ่าย 500 บาท) เพื่อการพาณิชย์ร้อยละ 0.2 (หนึ่งล้านจ่าย 2,000 บาท) ที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะโดนหนักคือร้อยละ 0.5 (หนึ่งล้านบาทจ่าย 5,000 บาท) ซึ่งจะจูงใจให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่ปล่อยไว้โดยไร้ประโยชน์

          บ่อยครั้งที่เราอาจลืมไปว่าประโยชน์ที่เราได้รับจากภาครัฐ ไม่ว่าถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา ความปลอดภัย บริการสาธารณสุข ฯลฯ ล้วนมาจากการลงทุนมหาศาลซึ่งมาจากเงินภาษีอากรของประชาชน ทังสิ้น ถ้าประชาชนไม่ร่วมกันจ่ายภาษีก็ไม่มีเงินมาสร้างสิ่งเหล่านี้ได้เลย เมื่อเราต้องการสิ่งเหล่านี้เราก็ต้องช่วยกันจ่ายภาษี

          ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างช่วยสร้างความเป็นธรรม เพราะคนมีเงินน้อยมีมูลค่าทรัพย์สินน้อยก็จ่ายน้อยหรือไม่ต้องจ่ายเลย ใครมีทรัพย์สินมากก็จ่ายมาก ลักษณะเช่นนี้เป็นธรรม เพราะคนมีทรัพย์สินมากก็ได้รับการคุ้มครองจากรัฐมากกว่าคนมีทรัพย์สินน้อย (ถ้าสูญหายไปก็เสียประโยชน์มากเพราะมีทรัพย์สินมาก) ทางใดที่จะทำให้คนมีเงินต้องจ่ายภาษีมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันในบ้านเรานั้นถูกต้องทั้งสิ้นเพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการหลีกเลี่ยงภาษีของคนมีเงินในสังคมไทยนั้นเป็นเกมส์ที่คนเหล่านี้ประสบชัยชนะมายาวนาน

          อย่ากังวลใจกับภาษีนี้เลยครับเพราะสิ่งแน่นอนสองอย่างในชีวิตที่เราไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้คือความตายและการเสียภาษี