ชีวิตเด็ก “อัจฉริยะ”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
26 พฤษภาคม 2558

          เด็กสิงคโปร์อายุสองขวบได้การยอมรับว่าเป็น ‘อัจฉริยะ’ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ชีวิตของเด็ก ‘อัจฉริยะ’ เหล่านี้ทั่วโลกน่าสนใจและน่าเศร้าใจในเวลาเดียวกัน อะไรที่ทำให้เขาเป็น ‘อัจฉริยะ’ และเมื่อโตขึ้นชีวิตของเขาเป็นอย่างไร

          ก่อนนอน Elijah Catalig เด็กสิงคโปร์ อายุ 2 ขวบ 6 เดือน มีกิจกรรมที่ต่างจากเด็กวัยเดียวกันค่อนข้างมาก นอกจากให้แม่อ่านนิทานและอ่านหนังสือที่สนุก ๆ ให้ฟังแล้ว เขาเล่นเกมส์ IQ ของเด็ก 5 ขวบ แม่ของ Elijah บอกว่าถ้าเขาสนใจอะไรแล้วจะขะมักเขม้นทุ่มเท สนใจอย่างยิ่งได้เป็นชั่วโมง ๆ ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของเด็กประเภทนี้

          “เด็กประเภทนี้” ถ้าจะเป็นอย่างทางการก็ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมที่มีชื่อว่า Mensa International ซึ่งมีสมาคมสาขาอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สมาชิกซึ่งมีอยู่รวมประมาณ 121,000 คน จะต้องมีระดับ IQ อยู่ใน top 2% ของเด็กในวัยเดียวกัน (พูดอีกอย่างว่าต้องอยู่ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่า 98.0 percentile)

          Mensa เป็นสมาคมเก่าแก่ของพวก IQ สูง หรืออัจฉริยะทั่วโลก “Mensa” เป็นภาษาละติน หมายถึง “โต๊ะ” ซึ่งส่อความหมายของโต๊ะกลมซึ่งมีนัยยะว่าต้อนรับคน IQ สูงจากทั่วโลกซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 50 ประเทศ

          Mensa ตั้งขึ้นโดยคนอังกฤษและออสเตรเลีย ในปี ค.ศ. 1946 มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ของคนที่ฉลาดที่สุดในโลก ส่งเสริมให้นำความฉลาดมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ไม่มุ่งหวังกำไร และไม่ผูกพันกับแนวคิดการเมืองใด ๆ โดยทุกผิวสีเชื้อชาติและสัญชาติ ร่วมเป็นสมาชิกได้หมดตราบที่มีระดับ IQ ตามวิธีการวัด IQ ที่เรียกว่า Stanford-Binet Intelligence Scales สูงกว่า 132

          ในกรณีของ Elijan สมาคม Mensa สาขาสิงคโปร์ได้วัด IQ ตามมาตรฐานและการกำกับของ Mensa International และพบว่าเขามี IQ เท่ากับ 142 จึงได้รับเข้าเป็นสมาชิกและถือได้ว่าเป็น genius อย่างเป็นทางการ

          สำหรับ Mensa Singapore นั้น ตั้งแต่ได้รับการยอมรับให้เป็นสาขาของ Mensa International ในปี 1987 มีเด็กอายุขนาดนี้เพียง 7 คนเท่านั้นในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา อายุน้อยที่สุดคือทารกชายวัย 2 ขวบ 2 เดือน ซึ่ง Mensa Singapore รับเข้าเป็นสมาชิกในเดือนพฤศจิกายน ปี 2014

          IQ Test มีหลายวิธี แต่ที่นิยมกันปัจจุบันก็คือ Standford-Binet Intelligence Scales ซึ่งวัด 5 ด้านคือการใช้เหตุผลด้านปริมาณ ความจำ การใช้เหตุผล การเชื่อมต่อระหว่างมองเห็นและระยะทาง ตลอดจนความรู้ในระดับหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องรอบตัว

          คำว่า IQ มาจากอายุสมอง (วัดว่าผู้สอบมีความสามารถในการกระทำหรือตอบคำถามได้เทียบเคียงเด็กปกติในกลุ่มอายุใด) หารด้วยอายุจริง และคูณด้วย 100 ดังนั้น IQ ของเด็กปกติคือ 100 กล่าวคืออายุสมองของเขาหารด้วยอายุจริง เช่น 5 ขวบ หารด้วย 5 ขวบ และคูณด้วย 100 จึงเป็น 100

          ตัวอย่างเด็ก “อัจฉริยะ” อายุ 3 ขวบ มี IQ เท่ากับ 132 จึงหมายความว่ามีอายุสมองเท่ากับ 3.96 ปี อายุจริงคือ 3 ปี (3.96 ÷ 3) x 100 = 132

          อะไรทำให้เขาเป็นเด็กเช่นนี้? การศึกษาในโลกตะวันตกเพื่อตอบคำถามมีไม่มากดังที่น่าจะเป็นแม้แต่ในปัจจุบันเองเนื่องจากเป็นหัวข้อที่อ่อนไหวมาก คนในโลกตะวันตกเชื่อมั่นในเรื่องความเท่าเทียมกัน เชื่อว่าความสำเร็จเกิดขึ้นเพราะความพยายามทุ่มทำงานหนัก ดังนั้นการศึกษาเรื่องการมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าโดยยังไม่ได้ออกแรงตั้งแต่เกิด และสามารถสืบทอดกันได้จากพ่อแม่ถึงลูก หรือบางกลุ่มเชื้อชาติหรือบางเพศมีข้อได้เปรียบเหนือกว่า จึงเป็นสิ่งที่รับไม่ได้เพราะบั่นทอนความเชื่อของตน

          เมื่อไม่กี่ปีมานี้อธิการบดีมหาวิทยาลัย Harvard ชื่อ Lawrence Summers ต้องลาออกหลังจากโดนโจมตีอย่างหนักหลังจากแสดงความเห็นสั้น ๆ ว่า โลกวิชาการทางวิทยาศาสตร์ถูกครอบงำด้วยผู้ชาย ไม่ใช่เพราะความเอนเอียงเลือกที่รักมักที่ชัง แต่เป็นเพราะขาดแคลนผู้หญิงที่มี IQ สูง ที่ถนัดด้านคณิตศาสตร์

          การวัด IQ จึงเป็นเรื่องฮื้อฉาวมายาวนานในประวัติศาสตร์ มีคนจำนวนมากปฏิเสธการวัดเช่นนี้ และเชื่อว่ามิได้วัดอะไรนอกจากความสามารถในการเล่นเกมส์ทางสมอง อย่างไรก็ดีงานวิจัยใหม่เท่าที่มีจากโลกตะวันออกโดยเฉพาะจากจีนพบว่า Genius ชนิดมี IQ สูงมากนั้นอาจเกิดจากอุบัติเหตุทางพันธุกรรมที่ผสมปนเปกันพอดีจนได้คนที่มี IQ สูงมาก จีนมีการศึกษา DNA ของเด็กอัจฉริยะทั่วโลกนับพันคนมาหลายปีเพื่อตอบคำถามว่าเด็กอัจฉริยะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้ารู้คำตอบ แน่ชัดก็อาจสร้างเด็กอัจฉริยะขึ้นมาได้เป็นจำนวนมากโดยจัดการกับ DNA ตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อน

          งานศึกษาคู่แฝดชนิดไข่ใบเดียวกัน พี่น้องร่วมพ่อแม่จำนวนมากพบว่า IQ สามารถสืบทอดมาจากพ่อแม่ผ่านพันธุกรรมได้ถึงร้อยละ 50-80

          นอกจากคำถามว่า ‘เด็กอัจฉริยะ’ มาจากไหนแล้ว อีกคำถามที่น่าสนใจก็คือเมื่อโตขึ้นแล้วเขาไปไหนกัน งานศึกษาเส้นทางเดินของ ‘เด็กอัจฉริยะ’ หลายชิ้นระบุว่าการเลี้ยงดูและบ่มเพาะเด็กเหล่านี้ตอนเติบโตขึ้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการเติบโตทางสมองล้ำหน้าการเติบโตทางร่างกาย การปรับความสมดุลขณะเปลี่ยนผ่านจากเด็กเป็นผู้ใหญ่จึงยากกว่าเด็กปกติ

          ‘เด็กอัจฉริยะ’ หลายคนเบื่อหน่ายการเรียนรู้ในห้องที่เขาแซงหน้าไปมากแล้ว หลายคนติดยาเสพติด เลิกเรียน มีความอดทนไม่มากกับคนอื่นที่ฉลาดน้อยกว่าเขา หลายคนมีอีโก้สูงว่าเป็นคนฉลาดจนไม่มีใครคบหาด้วย สำหรับหลายคนการคิดว่าตนเองฉลาดกว่าคนอื่นทำให้การเรียนรู้และการพัฒนาความเป็นมนุษย์ของเขาหยุดลง

          Theodore Kaczynski มีระดับ IQ 167 เข้าเรียน Harvard ตั้งแต่อายุ 16 ปี อายุ 25 ปี เป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ที่เด็กที่สุดของ Berkeley แต่อีก 2 ปีต่อมาก็ลาออกและไปสุงสิงกับพวกหัวรุนแรง จนในที่สุดกลายเป็นผู้สร้างระเบิดฆ่าคนไป 3 คน หลบหนีอยู่ได้ 20 ปีก่อน ถูกจับ ฉายาของเขาที่รู้จักกันทั่วโลกคือ Unabomber

          Sufiah Yusof เป็นเด็กอัจฉริยะชาวมาเลเซีย เข้าเรียนคณิตศาสตร์ที่ Oxford ตอนอายุ 13 และหายตัวไป พบอีกทีกำลังทำงานเสิรฟอาหาร เมื่อกลับมาเรียนอีกครั้งก็ไม่สำเร็จ ปีต่อมาแต่งงานและก็เลิกกันใน 13 เดือน ในปี 2007 พบว่าทำงานเป็นโสเภณี เธอเล่าว่าชีวิตถูกกดดันมากจึงหนีออกมาจากวงจร

          เด็กอัจฉริยะจำนวนมากทำงานเป็นปกติ เป็นนักวิจัย อาจารย์ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ สร้างความเจริญให้สังคมเป็นอันมาก แต่จำนวนหนึ่งก็ประสบปัญหาในด้านการปรับตัว (เกือบทั้งหมดมีบุคลิกเก็บตัว ครุ่นคิด มีศีลธรรมสูง)

          ในบ้านเรางานในด้านการคัดกรองดูแล บ่มเพาะเด็ก “อัจฉริยะ” เหล่านี้อย่างจริงจังและเป็นเรื่องเป็นราวและถูกทิศทางยังไม่เกิดขึ้น ทั้งที่ในจำนวนคน 67 ล้านคนนั้นต้องมีเด็กอัจฉริยะอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย

          สังคมจะช่วยกันอย่างไรดีให้เด็กที่มีความบังเอิญทางพันธุกรรมเหล่านี้มีความสุข สามารถใช้ประโยชน์จากความพิเศษเพื่อสร้างสรรค์มากกว่าทำลายตัวของเขาเอง