อินเตอร์เน็ตสร้าง “กึ่งคลุมถุงชน”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
19 พฤษภาคม 2558

          การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในทุกสังคมใน ทุกยุคสมัย มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ประเพณีการแต่งงานแบบ ‘คลุมถุงชน’ ของอินเดียที่มีมายาวนานนับพันปีกำลังเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ทำให้ผู้หญิงมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น

          ประดิษฐกรรมล้อเมื่อ 5 พันปีก่อน ทำให้มนุษย์มีเครื่องทุ่นแรงมหัศจรรย์ไม่ว่าจะเป็นการขนของตามแนวนอน (รถเข็น) หรือแนวตั้ง (ลูกรอก) สามารถสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่โต เช่น พิรามิด นครวัด ฯลฯ ทิ้งเป็นอนุสาวรีย์แก่ชาวโลก

          คนไทยรู้จักหม้อหุงข้าวไฟฟ้าประมาณปี พ.ศ. 2500 โดยเป็นประดิษฐกรรมของบริษัท Mitsubishi และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเราก็ไม่มีน้ำข้าวให้คนเจ็บ ให้สุนัขอีกต่อไป และแถมไม่มี ไม้ขัดหม้อไว้ดัดนิสัยลูกหลานกันอีกด้วย

          การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในรอบ 100 ปี มีมากมายเกินบรรยาย แต่คงไม่มีใครปฏิเสธว่า smartphone ซึ่งปรากฏตัวอย่างสำคัญเมื่อ Apple เปิดตัว i-Phone รุ่นแรกในเดือนมิถุนายนของปี ค.ศ. 2007 หรือเมื่อ 8 ปีก่อน มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์ของผู้คนอย่างที่สุดของที่สุด

          ปัจจุบันตื่นนอนเช้าก็ได้ยินเสียงปิ๊ง ๆ จากการส่งสติ๊กเกอร์ใน Line ของเหล่าบรรดาแม่บ้าน และ ส.ว. ทั้งหลายทักทายกัน (สาย บ่าย เย็น ก็ยังทักทายกันอีก) ภาพที่เห็นเจนตาก็คือครอบครัว นั่งทานข้าวกัน แต่ละคนก็มี smartphone ข้างหน้าคนละเครื่อง และนั่งจ้องจออย่างให้ความสนใจเต็มที่จนการพูดจากันแบบมนุษย์ปกติเหมือนเมื่อสมัยก่อน ค.ศ. 2007 นั้นแทบไม่มี

          smartphone ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่อยู่ใกล้กันนั้นอ่อนแอลง แต่อาจช่วยทำให้ความสัมพันธ์ที่ไกลกันเข้มแข็งกว่าที่เคยเป็นมา เพราะถึงอยู่ไกลก็เหมือนอยู่ใกล้ ติดต่อสื่อสารกลับไปมากันได้ในเวลาไม่กี่วินาทีซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่จะใช้โทรศัพท์ทางไกลแต่ละครั้งก็ต้องเดินทางไปไปรษณีย์กลาง จดหมายส่งไปทีหนึ่งก็ 7-10 วัน กลับมาอีกครั้งก็ 7-10 วัน หากเป็นโทรเลขกลับไปมาก็ไม่ต่ำกว่า 3-4 ชั่วโมง

          โลกมันเปลี่ยนแปลงไปมากมายในไม่ถึง 10 ปีเมื่อมี smartphone โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุมไปทั่วโลก ไม่มีใครรู้ว่าต่อจากนี้ไป 10-20 ปี สังคมมนุษย์ที่เคยอยู่กันแบบเดิม ๆ มาประมาณสองแสนปีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

          ในอินเดียการแต่งงานของลูกสาวเป็นหน้าที่สำคัญของพ่อ การแต่งงานคือเครื่องมือของการสร้างความมั่นคง การสร้างความเชื่อมต่อ การสร้างและรักษาความมั่งคั่ง ฯลฯ ของครอบครัวตนเอง ไม่ใช่เรื่องของความรัก ดังนั้นการคัดเลือกเจ้าบ่าวมาร่วมชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และเรื่องสำคัญอย่างนี้ใครจะมา “รู้ดีเท่าพ่อ” ดังนั้นการแต่งงานแบบ “คลุมถุงชน” (เข้าใจว่ามาจากภาษาไก่ชน กล่าวคือจำเป็นต้องเอาถุงมาคลุมเพื่อไม่ให้ตื่นกลัวก่อนจะเอามาตีกัน ดังนั้นชื่อจึงไม่ค่อยเป็นมงคลนัก)

          บังเอิญประเพณีในอินเดียที่มีมายาวนานคือผู้หญิงสู่ขอผู้ชาย ดังนั้นพ่อจึงต้องคัดสรรเจ้าบ่าวจากข้อมูลที่ได้มาจากเครือข่ายพ่อสื่อแม่ชักที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสันเพราะได้ผลประโยชน์ตอบแทน เมื่อตัดสินใจเลือกแล้วและตกลงกันในเรื่องสินสอดซึ่งฝ่ายเจ้าสาวเป็นผู้จ่ายได้ลงตัว การแต่งงานก็เกิดขึ้น

          อย่างไรก็ดีในรอบ 5-6 ปีผ่านมา วิธีการคัดสรรเจ้าบ่าวได้เปลี่ยนไปแล้วจนกลายเป็น “กึ่งคลุมถุงชน” เนื่องจากลูกสาวและอาจมีพี่ชายน้องสาวเข้ามาร่วมมีส่วนด้วย ทั้งนี้เนื่องจากพ่อได้ข้อมูลจากเว็บไซต์ในอินเดียที่อยู่มากกว่า 1,500 แห่ง ซึ่งลูกสาวสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้เช่นเดียวกัน

          การจะมาบังคับกันเต็มที่ในสไตล์ “คลุมถุงชน” สำหรับคนที่อยู่ในเมืองซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 31 นั้นทำได้ยาก ลูกสาวปัจจุบันมีสิทธิมีเสียงมากขึ้นเพราะสามารถเสนอแนะคนอื่นจากเว็บไซต์อื่นที่น่าสนใจกว่าและน่าจะลงตัวกว่าได้

          ที่เรียกว่า “ลงตัว” ก็หมายถึงชายนั้นมีหน้าตาและพื้นฐานอยู่ในวรรณะ ศาสนา การศึกษา อาชีพ ฐานะของครอบครัว ฯลฯ ซึ่งน่าจะทำให้ไปกันได้ดีในการสร้างครอบครัวใหม่

          วัฒนธรรมการ ‘ออกเดท’ ในอินเดียนั้นมีน้อยถึงแม้ในปัจจุบันก็ตามที แต่การนัดพบ ดูตัวจริงกันก่อนที่จะตกลงปลงใจหลังจากต่างได้รับข้อมูลแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเว็บไซต์มีมากขึ้น อย่างไรก็ดีสำหรับคนในชนบทนั้นก็ยังคงเป็น ‘คลุมถุงชน’ แบบเต็มที่เหมือนเดิม

          เว็บไซต์หนึ่งประกาศตัวว่าเขาสามารถช่วยให้เกิดการแต่งงานได้ถึงเดือนละ 50,000 คู่ และสถิติจากการสำรวจพบว่าประมาณร้อยละ 25 ของจำนวนการแต่งงานทั้งหมดในหนึ่งปีของอินเดียมาจากการแต่งแบบ ‘กึ่งคลุมถุงชน’ การแต่งงานเพราะความรักแบบชาวโลกโดยไม่ต้องให้พ่อแม่เลือก และให้ความเห็นชอบนั้นมีเพียงร้อยละ 5 ที่เหลือก็คือการแต่งงานแบบ ‘คลุมถุงชน’ แบบดั้งเดิม

          ผู้เขียนเคยเห็นประกาศในหน้าหนังสือพิมพ์อินเดียวันอาทิตย์เมื่อหลายปีก่อน มีทั้งหญิงและชายประกาศหาคู่ ฝ่ายหญิงซึ่งเป็นผู้จ่ายสินสอดระบุลักษณะที่ต้องการ เช่น หน้าตา บุคลิกภาพ ศาสนา วรรณะ ระดับการศึกษา หรือแม้แต่ระดับของสินสอดที่ยินดีจะจ่าย ถ้าเป็นแพทย์ วิศวะ ก็จะมีสินสอดสูง บางคนประกาศว่าถ้าจบจาก

          มหาวิทยาลัยมีชื่อจากต่างประเทศจะให้สินสอดสูงเป็นพิเศษก็มี บ้างก็ระบุว่าวรรณะไม่สำคัญ ขอเพียงมีความจริงใจ มีความซื่อสัตย์และมีความพร้อมทางใจที่จะมีครอบครัวร่วมกันเท่านั้น

          สินสอดในเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์มีวัตถุประสงค์ให้เกิดมีเงินก้อนหนึ่งเป็นทุนเริ่มต้นของชีวิตคู่สมรส (เขาไม่ได้ตั้งใจให้พ่อแม่ ดังนั้นจงอย่ารับไว้) เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตของทั้งสอง ถึงแม้จะมีความพยายามของทางการอินเดียให้ยกเลิกประเพณีสินสอดแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะมันค้านประเพณีที่มีมายาวนาน

          สินสอดในอินเดียโดยเฉพาะในชนบทบ่อยครั้งที่ก่อให้เกิดผลเสีย ครอบครัวที่ยากจนและมีลูกสาว เมื่อไม่มีปัญญาจ่ายสินสอดเลือกเจ้าบ่าวให้ลูกก็เกิดความอับอายเพราะเสียหน้า ดังนั้นว่ากันว่าในแต่ละปีมีเด็กหญิงที่เกิดมาและหายไปอย่างอธิบายไม่ได้ปีละหลายล้านคน

          บางครั้งได้สินสอดไปแล้ว ลูกสาวย้ายไปอยู่บ้านผู้ชายแล้ว แต่ก็ยังถูกบังคับจากครอบครัวสามีให้มาเอาทีวี ตู้เย็น เพิ่มขึ้น หากไม่ได้ก็ถูกทุบตี หรือถูกฆาตกรรมก็มีไม่น้อย เพื่อครอบครัวฝ่ายชายจะได้แต่งงานใหม่และได้สินสอดอีก

          เป็นเรื่องน่ายินดีที่หญิงในอินเดียมีโอกาสมากขึ้นในการเลือกคนที่จะมาเป็นสามี ถึงแม้จะไม่เสรีเต็มที่ก็ตามผ่านความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงภายในครอบครัวที่ยอมรับความเป็นสมัยใหม่ให้ลูกได้มีสิทธิมีเสียงเพิ่มขึ้น

          ไม่ว่าพ่อเลือกให้หรือเลือกเอง การเลือกสามีก็เปรียบเสมือนซื้อล๊อตเตอรี่ ต่อให้ได้ เลขสวยแค่ไหนก็มีโอกาสทำใบล๊อตเตอรี่หาย และบ่อยครั้งที่ตัวเลขสวยบนล๊อตเตอรี่มันเลือนไป หรือก็ไม่เคยถูกรางวัลเลยเพราะเลขที่ออกมีแต่เลขไม่สวย