ชีวิตจัณฑาลหญิงในอินเดีย

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
9 มิถุนายน 2558

          ‘จัณฑาล’ เป็นกลุ่มคนในอินเดียที่น่าสงสารอย่างไม่ต่างไปจาก “โรฮิงญา” ในแง่มุมหนึ่ง ‘โรฮิงญา’ อยู่ในสถานะที่ดีกว่าเพราะหากสามารถลี้ภัยไปอยู่ประเทศอื่นก็อาจมีชีวิตเหมือนคนธรรมดาที่มีเสรีภาพและมีกินมีใช้ แต่ “จัณฑาล” นั้นยากที่จะหลุดไปจากความเป็น “จัณฑาล” ได้เลย เพราะในสังคมฮินดูเมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องดำรงสถานะนี้ไปตลอดชีวิต

          Malala Yousafzai มีชื่อเสียงดังทั่วโลกเพราะได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2557 เธอมีพรรคพวกเป็นสื่อระดับโลกมากมายไม่ว่าจะเป็น BBC หรือ New York Times เพราะเข้าใจชีวิตอันระทมของเธอ Malala อาศัยอยู่ใน Swat Valley ในปากีสถาน เธออยากไปโรงเรียนเพื่อเติบโตขึ้นเป็นหมอ เมื่อตอนเธอมีอายุ 15 ปี กลุ่ม Taliban ประกาศว่าโรงเรียนนั้นไม่ใช่สถานที่ของเด็กผู้หญิง เฉพาะเด็กผู้ชายเท่านั้นที่สมควรไปโรงเรียน เธอออกมาต่อสู้กลุ่ม Taliban ทางอินเตอร์เน็ตอย่างกล้าหาญมิใยที่ถูกขู่ว่าจะฆ่าเธอถ้าไม่หยุดปากวิจารณ์

          ในวันที่ 9 ตุลาคม 2012 มือปืนจับเธอไปจากรถโรงเรียนและยิงเธอที่ศีรษะ แต่โชคดีไม่เสียชีวิต เธอได้รับการช่วยเหลือนำไปรักษาตัวที่อังกฤษ หลังจากได้รับการรักษาอย่างดีเธอก็รอดชีวิตราวปาฏิหาริย์ ประธานาธิบดีโอบามา รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา นักแสดงชื่อดัง Angelina Jolie เขียนบทความเรื่องราวของเธอ ภาพเธอลงหน้าปกนิตยสาร Time ฯลฯ จนในที่สุดเธอก็ได้รับรางวัลโนเบล

          แต่สำหรับ Surekha Bhotmange (ขอเรียกว่า ‘สุเรขา’) ซึ่งเป็นจัณฑาลหญิงอินเดียอายุ 40 ปี หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า ‘Dalit’ (Broken People) หรือ ‘Untouchable’ ไม่มีโอกาสแม้แต่กระผีกริ้นเท่า Malala ที่จะมีคนรู้ความทุกข์ยากของเธอ

          เธอเป็นจัณฑาลซึ่งกล้าหาญละทิ้งความเป็นฮินดูและเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาเช่นเดียวกับครอบครัวของเธอ เธอเป็นที่เกลียดชังของชาวบ้านในวรรณะอื่นเนื่องจากการพยายามออกนอกกฎของสังคม ไม่ยอมอยู่ในวรรณะที่ถูกกำหนดมาแต่กำเนิด ส่วนจัณฑาลคนอื่น ๆ ก็ไม่ชอบเธอเช่นกันที่พยายามหลีกหนีออกไปจากความเป็นจัณฑาล

          สุเรขามิได้ยากจนขนาดหนัก เธอมีการศึกษาพอควรเช่นเดียวกับลูก ๆ ของเธอ 3 คน คือลูกชาย 2 และลูกหญิง 1 ลูกชายทั้งสองกำลังเรียนมหาวิทยาลัย ส่วนลูกคนเล็กกำลังอยู่ใน ชั้นมัธยมปลาย ครอบครัวของเธอมีที่ดินหนึ่งแปลงเพื่อทำกินโดยอาศัยอยู่ในหมู่บ้านชื่อ Khairlanji ในรัฐ Maharashtra

          ที่ดินของเธอถูกรายล้อมด้วยคนในวรรณะอื่น ๆ ที่ถือว่าตนเองอยู่ในฐานะทางสังคมที่สูงกว่า เมื่อเธอเป็นจัณฑาลจึงไม่มีสิทธิที่จะมีชีวิตที่สุขสบาย บ้านเธอจึงมิได้รับอนุญาตให้มีไฟฟ้าใช้ ห้ามมิให้เปลี่ยนบ้านจากไม้ไผ่เป็นอิฐ ชาวบ้านไม่ยอมแม้กระทั่งให้เธอตักน้ำจากบ่อสาธารณะและวิดน้ำจากคลองเพื่อมารดน้ำพืชผัก

          เรื่องใหญ่เกิดขึ้นเมื่อหมู่บ้านจะทำถนนผ่านที่นาของเธอ เมื่อเธอประท้วงไม่ยอม ชาวบ้านก็เอาเกวียนมาย่ำยีนาของเธอ สุเรขาไม่ยอมและไปแจ้งความกับตำรวจซึ่งก็มิได้ให้ความสนใจแต่อย่างใด ความตึงเครียดหนักหน่วงขึ้นจนถึงจุดชาวบ้านเตือนเธอทางอ้อมถึงผลที่จะเกิดขึ้นหากเธอไม่ยอมด้วยการบุกเข้าไปทำร้ายญาติของเธอจนตาย

          ถึงตรงนี้ตำรวจจึงออกแรงจับชาวบ้านที่ทำผิดกฎหมาย แต่ก็ปล่อยตัวออกมาหลังจากได้ประกันตัวเกือบจะทันที ในเวลาประมาณ 6 โมงเย็นของวันที่ปล่อยตัวผู้กระทำผิด ชาวบ้านประมาณ 70 คน ทั้งหญิงและชายมาล้อมบ้านเธอ เหล่าม็อบกรากเข้าลากสุเรขาและลูกทั้ง 3 คนออกมานอกบ้าน ลูกชายถูกสั่งให้ข่มขืนแม่และน้องสาว เมื่อปฏิเสธก็ถูกรุมทำร้ายและตัดอวัยะเพศ สุเรขากับลูกสาวถูกข่มขืนและถูกตีจนตาย ศพทั้ง 4 ถูกทิ้งลงคลองใกล้บ้าน

          สื่อรายงานว่าเป็นฆาตกรรมที่มีสาเหตุจากการที่สุเรขาเป็นชู้กับญาติชายที่ถูกฆ่าก่อนหน้า กลุ่ม Dalit ต่าง ๆ ที่เป็นองค์กรอยู่ทั่วประเทศพากันประท้วงกระบวนการยุติธรรม จนมีการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริง และสรุปว่าเป็นอาชญกรรมอันเกิดจากความแค้นส่วนตัว ไม่มีหลักฐานของการข่มขืน ถึงแม้คนทำผิดถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ก็เชื่อว่าจะหลุดในศาลชั้นต่อไปตามธรรมเนียมที่เป็นมา เรื่องราวทั้งหมดไม่มีแง่มุมของการแบ่งชั้นวรรณะเข้ามาเกี่ยวพันเลย

          นี่คือเรื่องราวหนึ่งของ Dalit ซึ่งเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ในปัจจุบันมีสถิติว่าอาชญกรรมที่กระทำต่อ Dalit โดยคนที่ไม่ใช่ Dalit นั้นเกิดขึ้นทุก 16 นาที ทุกวันหญิง Dalit มากกว่า 4 คนถูกข่มขืน ทุกอาทิตย์ถูกฆ่าตาย 13 คน 6 คนถูกลักพา เฉพาะในปี 2012 หญิง Dalit 1,574 คน ถูกข่มขืน และ 651 คน ถูกฆาตกรรม ปัจจุบันมี Dalit ในอินเดียประมาณ 200 ล้านคน ในประชากร 1,300 ล้านคน

          เป็นเวลานับพันปีที่ระบบวรรณะถูกใช้เป็นกลไกในการจัดระบบสังคมอินเดียให้อยู่กัน “ราบรื่น” โดยแบ่งเป็น 4 วรรณะ คือ พราหมณ์ (ผู้ประกอบพิธี) กษัตริย์ (นักรบ) แพศย์ (พ่อค้า) และศูทร (ผู้ใช้แรงงาน)

          วรรณะเป็นการจัดช่วงชั้นในสังคม ซึ่งแต่ละวรรณะถูกกำหนดแต่กำเนิดโดยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิต แต่ละวรรณะแต่งงานกันเองโดยลูกหลานเป็นสมาชิกของวรรณะโดยอัตโนมัติ หากมีการแต่งงานข้ามวรรณะก็จะกลายเป็น Untouchable หรือจัณฑาล กลุ่มจัณฑาลไม่ถือว่าเป็นวรรณะ หากเป็น ‘เศษสวะของสังคม’ ที่ต้องรู้จัก ‘ที่’ ของตนเอง จะไปสัมผัสภาชนะหรืออยู่ในสถานที่หรือเลียนแบบการกระทำของคนวรรณะสูงกว่าไม่ได้เป็นอันขาด จะถูกลงโทษโดยสังคมถึง เจ็บตัว

          เมื่อก่อน Dalit ยอมรับชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของตนมายาวนานอย่างดุษฎีภาพ แต่ปัจจุบันมีกระบวนการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมมากขึ้น แต่ก็ยังห่างไกลจากความสำเร็จอยู่มาก

          บุคคลหนึ่งที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติสังคมฮินดูในเรื่องวรรณะเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อนคือพระพุทธเจ้า ทุกคนจากทุกวรรณะสามารถนับถือพุทธศาสนาได้และเป็นอย่างเท่าเทียมกันด้วย พระที่บวชทีหลังไม่ว่าจะมาจากวรรณะใดก็ตามต้องแสดงความเคารพพระที่บวชมาก่อนเสมอ

          บุคคลหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันให้ Dalit ก็คือ Dr. Bhimrao Ramji Ambedkar ผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญอินเดียเมื่อได้รับเอกราชในปี 1947 โดยตัวเขาเปลี่ยนจากศาสนาฮินดูมานับถือศาสนาพุทธเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการพยายามพังทลายวรรณะ

          ใน ค.ศ. 1956 เขานำการชุมนุมใหญ่และผู้มาชุมนุมพร้อมใจกันเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธถึง 500,000 คน จนมีส่วนทำให้ปัจจุบันมีพุทธศาสนิกชนในอินเดียประมาณ 40 ล้านคน

          ชีวิตของจัณฑาลน่าสมเพชเพราะเกือบทั้งหมดขาดแรงจูงใจที่จะต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากสถานะของตน ยอมรับกฎกติกาของสังคมและจมปลักอยู่กับความยากจนข้นแค้นและดูหมิ่นเกลียดชังเพราะคนอื่นถือว่าเป็น “เศษขยะของสังคม”