อายุ 102 ปีรับปริญญาเอก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
23 มิถุนายน 2558 

          สิ่งที่ไม่เป็นธรรมไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็สามารถแก้ไขได้เสมอในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง การแก้ไขสิ่งผิดให้เป็นถูกไม่มีการสายเกินไปตราบที่สังคมนั้นมีจิตสำนึกในความดี ความงาม และความจริง มหาวิทยาลัย Hamburg ต้องการแก้ไขการกระทำผิดในอดีตถึงแม้วันเวลาจะผ่านไปแล้วถึง 80 ปี ก็ตาม

          เมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2015 มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้อนุญาตให้แพทย์หญิงเยอรมันวัย 102 ปี เข้าสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเธอซึ่งได้ทำเสร็จเรียบร้อยเมื่อ 80 ปีก่อน (จนอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งหมดของเธอก็ได้ไปสวรรค์เรียบร้อยหมดแล้ว) แต่เธอไม่ได้รับอนุญาตให้สอบเพราะมีแม่เป็นยิว

          แค่มีแม่เป็นยิวก็ไม่ได้สอบ มันจะอะไรกันนักกันหนาสำหรับความรู้สึกของคนสมัยนี้ แต่ในสมัยฮิตเลอร์ครองอำนาจนั้นผู้ที่ถูกถือว่าเป็นยิวไม่ได้เพียงแต่ไม่ได้สอบเท่านั้นอาจถูกสั่งเข้าค่ายกักกัน ถูกฆ่าโดย รมแก๊สก็เป็นได้ แต่เธอโชคดีไม่ตายอยู่รอดจนได้มา “ล้างแค้น” สอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกจนจบได้ในที่สุดเมื่อมีอายุ 102 ปี

          ชื่อของเธอคือแพทย์หญิง Ingeborg Rapoport ผู้กลายเป็นผู้ได้รับปริญญาเอกที่มีอายุมากที่สุดในโลก เธอเรียนจบแพทย์ในปี 1937 และศึกษาต่อโดยเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง Diphtheria (โรคคอตีบ) ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพรุนแรงในขณะนั้น

          Hitler ผ่านกฎหมายกลางต่อต้านยิว และต่อมาท้องถิ่นก็ออกกฎหมายตามจนมี เทศบัญญัติ กฎเกณฑ์ ระเบียบต่อต้านยิวรวมแล้วนับเป็นร้อย ๆ ฉบับในช่วง ค.ศ. 1933-1939 การต่อต้านรังเกียจยิวเป็นหัวใจของลัทธินาซี ยิวจำนวนมากที่มีการศึกษาและมีเงินจึงอพยพหนีออกนอกประเทศกันจ้าละหวั่น

          ครอบครัวของเธอก็เช่นกัน เธออพยพไปสหรัฐอเมริกาและพบสามี Mitja Rapoport ซึ่งเป็นยิวอพยพมาจากออสเตรีย และที่สหรัฐอเมริกาเธอเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอีกในสาขาเชี่ยวชาญจนได้เป็นกุมารแพทย์

          อาจเรียกได้ว่าเธอหนีเสือปะจระเข้ เพราะในยุคทศวรรษ 1950 Jospeph McCarthy วุฒิสมาชิกอเมริกันปลุกระดมต่อต้านคอมมูนิสต์ กล่าวหา คุกคาม ทำลายชื่อเสียงผู้คนในสาธารณะ จนเรียกยุคนั้นว่า McCarthyism เธอและสามีซึ่งมีแนวคิดเอนเอียงทางสังคมนิยมจึงรู้สึกไม่มั่นคง

          ทั้งสองจึงตัดสินใจอพยพกลับเยอรมัน แต่ไม่ใช่เยอรมันตะวันตกซึ่งมีอุดมการณ์ ทุนนิยมประชาธิปไตย หากเป็นเยอรมันตะวันออกของสหภาพโซเวียต เธอทำงานเป็นกุมารแพทย์เป็นเวลายาวนาน เป็นศาสตราจารย์และกุมารแพทย์ที่มีชื่อเสียงของประเทศ เธอเคยได้รับรางวัลระดับชาติสำหรับผลงานในการลดอัตราตายของเด็กในเยอรมันตะวันออก

          การมีแม่เป็นยิว เธอจึงถูกจัดอยู่ในประเภทที่กฎหมายเยอรมันเรียกว่า Mischling ก็คือเป็นยิวอยู่นั่นเอง สถานะเช่นนี้ทำให้เสียสิทธิความเป็นพลเมืองจนทำให้ Hamburg University จำต้องปฏิเสธการสอบปริญญาเอกขั้นสุดท้ายของเธอในปี 1938 อย่างไรก็ดีอาจารย์ที่ปรึกษาของเธอได้เขียนจดหมายเป็นหลักฐานไว้ในปี 1938 ว่าถ้าแม้นว่ามีการสอบแล้ว เขาก็จะให้เธอสอบผ่านอย่างไม่มีข้อสงสัย

          Hamburg University ได้ทราบกรณีของเธอเมื่อตอนเธอมีอายุครบ 100 ปี จึงต้องการแก้ไขสิ่งที่ผิด มีการสอบสวนหาความจริงและในที่สุดก็อนุญาตให้เธอสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ที่ล่าช้าไป 80 ปี

          คุณหมอเล่าว่ารู้สึกตื่นเต้นมากเมื่อมีศาสตราจารย์ 2 คน จะเดินทางมาสอบเธอด้วย วิธีปากเปล่าที่บ้าน เธอติดต่อเพื่อนหมอ เรียนรู้ความก้าวหน้าล่าสุดของโรคคอตีบซึ่งเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ของเธอ พร้อมกับอ่านศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเตรียมสอบอย่างจริงจัง (ขณะมีอายุ 102 ปี!)

          สองอาจารย์ผู้สอบให้สัมภาษณ์หลังการสอบว่ารู้สึกประทับใจมากกับความรู้การแพทย์สมัยใหม่ของเธอ เธอตื่นตัวในวัย 102 ปี และมีความรู้ในเรื่องที่เธอสอบอย่างสมกับปริญญาเอกที่เธอได้รับ กรรมการสอบตัดสินให้เธอได้รับเกรด magna cum laude ด้วย (เกียรตินิยมสูงสุด)

          สื่อเรียกเธอว่า Dr.Syllm-Rapoport โดยนำเอานามสกุลเก่าของเธอผสมกับนามสกุลของสามีซึ่งเป็นนักชีวเคมี (biochemist) และทั้งสองมีลูกด้วยกัน 4 คน

          Hamburg University แถลงการณ์ว่าถึงแม้ไม่อาจย้อนเวลาเพื่อไปแก้ไขสิ่งที่ผิดในอดีตให้ถูกต้องได้ แต่การกระทำครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการย้อนกลับไปพิจารณาประวัติศาสตร์เพื่อช่วยให้สามารถมองและกระทำสิ่งต่าง ๆ ในอนาคตได้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น

          คุณหมอ Syllm-Rapoport ให้สัมภาษณ์หลังการสอบว่าเธอไม่ได้ต้องการอะไรมากมายในอายุขนาดนี้ “มันเป็นเรื่องของหลักการ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว” ซึ่งขยายความว่าการสอบเป็นสัญลักษณ์ของการแก้ไขการกระทำที่ผิดคือตัดรอนสิทธิความเป็นพลเมืองของยิวในอดีตให้ถูกต้อง เมื่อเธอพร้อมที่จะสอบดังที่อาจารย์ที่ปรึกษายืนยัน เธอก็ต้องได้สอบ

          ภาพที่เห็นตอนเธอรับใบปริญญาคือการยิ้มแย้มอย่างมีความสุขของคุณหมอและครอบครัว แต่หากมองอีกแง่มุมหนึ่งแล้วนี่คือการแก้แค้นลัทธินาซีของเยอรมันซึ่งมีฮิตเลอร์เป็นหัวโจกอย่างสาสมและสะใจเพราะมันหมายถึงว่าความชั่วช้าอย่างใดก็ไม่สามารถเอาชนะฉันได้ พวกเธอตายไปหมดแล้วด้วยสาเหตุที่อเนจอนาถต่าง ๆ แต่ฉันยังมีชีวิตอยู่และได้ทำสิ่งที่พวกเธอเคยห้ามอย่างไม่ถูกต้องครองธรรม

          การแก้แค้นที่งดงามที่สุดและไม่เป็นสิ่งบั่นทอนจิตใจของตนเองก็คือการมีชีวิตอยู่อย่างสุขสำราญในขณะที่คู่แค้นได้ตายไปแล้ว