เกิดอะไรขึ้นกับกรีก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
21 กรกฎาคม 2558

          โลกเต็มไปด้วยข้อมูลและข่าวสารมากมายจนล้นไปหมดในแต่ละวัน บางครั้งไม่ได้สนใจบางข่าวนักจนกลายเป็นเรื่องใหญ่โตในเวลาต่อมา ท่านใดที่มิได้ติดตามเรื่องราวของประเทศกรีก วันนี้ผู้เขียนขอนำเสนอที่มาที่ไปเพื่อไขความสงสัย

          กรีกเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางใต้ของทวีปยุโรป โดยอยู่ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีประชากรประมาณ 11 ล้านคน มีพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทย รายได้ต่อหัวต่อปีประมาณ 3 เท่ากว่าของประเทศไทย (กรีกประมาณ 622,000 บาท) เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นสมาชิกของ EU (European Union) และเป็นหนึ่งประเทศใน EU ที่ใช้เงินสกุลยูโร

          ใน 28 ประเทศที่เป็นสมาชิก EU มีอยู่ 19 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน และ อีก 9 ประเทศใช้เงินสกุลท้องถิ่นของตนเอง เช่น อังกฤษ เดนมาร์ก ฯลฯ กรีกเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้เงินยูโรเช่นเดียวกับออสเตรีย เบลเยี่ยม ไซปรัส เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมันนี ไอร์แลนด์ อิตาลี แลทเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ ปอร์ตุเกส สโลวาเกีย สโลวีเนีย และสเปน

          ในปี 2002 กรีกเริ่มใช้เงินยูโร โดยได้รับการพิจารณาจาก EU ให้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ใช้เงินยูโร (Eurozone) หลังจากมีหลักฐานว่ามิได้เป็นพิษเป็นภัยต่อเงินสกุลยูโร กรีกโดดเข้าเป็นสมาชิกเพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ส่วนผู้บริหาร EU ก็ยินดีรับเข้าร่วม Eurozone โดยเชื่อว่ากรีกมีความพร้อม

          หลักฐานสำคัญอันหนึ่งของการได้เข้าร่วม Eurozone ก็คือมีการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล (รายได้ของรัฐบาลหักด้วยรายจ่ายแล้วติดลบ กล่าวคือรายจ่ายมากกว่ารายได้) ไม่เกินกว่าร้อยละ 3 ของ GDP รัฐบาลกรีกยืนยันโดยแสดงตัวเลขให้ดูและมีการตรวจสอบว่าตัวเลขนี้ของกรีกสูงเพียงร้อยละ 1.5 เท่านั้น

          จุดนี้แหละคือตัวการสำคัญของการเกิดปัญหาหนักอกของกรีกในเรื่องหนี้ของรัฐบาลในเวลาต่อมา การโกหกตัวเลขนี้ทั้งที่จริงสูงถึงร้อยละ 8.3 ของ GDP ซึ่งถือว่าสูงมาก (พบในปี 2004 โดยรัฐบาลต่อมา แต่ก็เก็บเป็นความลับเพราะเป็นปีที่กรีกเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก) เป็นฐานหนึ่งที่ทำให้ดอกเบี้ยพอกพูนสูงขึ้น

          คำถามก็คือเหตุใดรัฐบาลจึงขาดดุลงบประมาณมากถึงเพียงนั้น และพุ่งสูงขึ้นในเวลาต่อมาจนปัจจุบันสูงถึงกว่า 246,000 ล้านยูโร คำตอบง่าย ๆ ก็คือรากฐานคือรายจ่ายสูงกว่ารายได้มาก เมื่อรัฐบาลเก็บภาษีไม่ได้มากเพราะเกือบร้อยละ 99.9 ของสถานประกอบการเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ตามเก็บภาษีได้ยาก รัฐบาลมีระดับคอรัปชั่นสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรป รัฐบาลเอาใจประชาชนมากเกินเหตุในเกือบทุกครั้งเมื่อมีการนัดชุมนุมประท้วงหยุดงานซึ่งมีมากเป็นพิเศษในกรีก แถมด้วยรายจ่ายในการจัดกีฬาโอลิมปิก และการจ้างข้าราชการจำนวนมากขึ้น ระหว่างปี 2002 และ 2010 (จาก 450,000 คน พุ่งเป็นเกือบ 800,000 คน)

          ค่าใช้จ่ายเงินเดือนข้าราชาการ 800,000 คน เพื่อบังคับใช้กฎหมายที่เพิ่มขึ้นกว่า 4,000 ฉบับ กฎกระทรวงกว่า 110,000 ฉบับใน 30 ปี ที่ผ่านมาทำให้เกิดภาระอย่างมากทางการเงิน ดังนั้นเมื่อรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วก็ไม่เพียงพอกับรายได้จากภาษีอากร

          อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เก็บภาษีได้ไม่มากเท่าที่ควรก็เพราะการมีกฎระเบียบมากมายทำให้การค้าขายอย่างเสรีเป็นไปได้อย่างยากเย็น ธุรกิจใหม่เกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้นเมื่อไม่มีรายได้เกิดขึ้นจากธุรกิจ ภาษีอากรก็ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้เช่นเดียวกัน

          ช่องว่างระหว่างรายจ่ายและรายได้จากภาษีอากรก็คือเงินกู้ รัฐบาลออกพันธบัตรให้ประชาชน ธุรกิจ สถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศซื้อ (ก็คือการให้รัฐบาลกรีกกู้นั่นเองโดยสัญญาว่าจะคืนเงินให้ภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน) หนี้รัฐบาลกรีกจึงพอกพูนเพิ่มมากขึ้นทุกปี

          เมื่อความลับว่ามีหนี้มากถูกเปิดเผยออกมา การกู้ยืม (ขายพันธบัตร และวิธีการ อื่น ๆ) ก็กระทำได้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเนื่องจากความเสี่ยงสูงขึ้น หนี้ใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อชดเชยการขาดดุลในปีต่อ ๆ มาจึงมีมูลค่าสูงขึ้นมาก

          ในปี 2008 เกิดวิกฤตเงินโลกโดยสหรัฐอเมริกาเป็นต้นเหตุ กรีกที่ร่างกายไม่แข็งแรงอยู่แล้วเพราะมีหนี้มาก (รัฐบาลมีขีดจำกัดในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพราะมีภาระหนี้หนักที่ต้องแบกรับในงบประมาณรายปี) ก็ถูกซ้ำเติมหนักขึ้น เมื่ออำนาจซื้อของคนยุโรปที่มาท่องเที่ยวกรีกลดลง รายได้ของประเทศก็ลดลง ภาษีอากรก็เก็บได้น้อยลงแต่ค่าใช้จ่ายของภาครัฐมิได้ลดน้อยลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น

          ในปี 2010 EU กับ IMF และ ECU (ธนาคารกลาง EU) ก็ช่วยเหลือเพราะเกรงว่าหากกรีกชำระหนี้ไม่ได้ก็จะทำให้ความเชื่อมั่นใน EU ลดต่ำลง ประเทศ EU ก็จะต้องกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ต้นทุนในการประกอบธุรกิจก็จะสูงขึ้น การช่วยเหลือครั้งนี้มีมูลค่า 110,000 ล้านยูโร โดยมีเงื่อนไขว่ารัฐบาลกรีกต้องเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น และตัดทอนรายจ่ายของรัฐลง

          อย่างไรก็ดีเมื่อถึงปี 2012 หนี้สะสมรวมก็พุ่งสูงขึ้นไปถึง 246,000 ล้านยูโร โดยเป็นสัดส่วน 177% ของ GDP เจ้าหนี้ร่วม 3 ฝ่ายก็โดดเข้าช่วยเหลืออีกโดยมีเงื่อนไขเข้มข้นเหมือนเดิม

          คนกรีกทนไม่ไหวกับมาตรการเข้มข้น ตัดรายจ่ายของภาครัฐ ข้าราชการถูกปลดไปเป็นจำนวนมาก เงินสวัสดิการถูกตัดไปมาก เมื่อ GDP ลดลงไปร้อยละ 25 ใน 5 ปีก็ทำให้เก็บภาษีได้น้อยลง มีการว่างงานทั่วไปในอัตราสูงถึงร้อยละ 30 และในหมู่เยาวชนสูงถึงร้อยละ 50 การประท้วงเกิดขึ้นทุกวัน รัฐบาลเปลี่ยนไป 2 ครั้ง จนในปี 2015 ก็ได้รัฐบาลใหม่ที่ได้รับเลือกเข้ามาเพราะสัญญาว่าจะลดมาตรการเข้มข้นเหล่านี้ และต่อรองกับเจ้าหนี้ให้ดุเดือดขึ้น

          กำหนดใช้หนี้แรกแก่ IMF คือ 30 มิถุนายน 2015 เป็นเงิน 1,550 ล้านยูโรมาถึงโดยไม่สามารถชำระได้ กรีกจึงเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศแรกในประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้และเป็นหนี้เสียก้อนใหญ่สุดของ IMF อีกด้วย การต่อรองกันอย่างหนักกับเจ้าหนี้ก่อนหน้านี้ก็ไม่เป็นผล

          นายกรัฐมนตรีคนใหม่ นายอเล็กซิส ซิปราส ก็ประกาศขอประชามติจากประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับข้อเสนอปรับการให้ชำระหนี้ใหม่พร้อมเงื่อนไขของสามเจ้าหนี้ใหญ่ โดยรัฐบาลบอกว่าการลงคะแนนไม่เห็นด้วยก็เท่ากับว่าให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเพิ่มขึ้นในการต่อรองกับเจ้าหนี้ ซึ่งเท่ากับลดมาตรการเข้มข้นลง ฝ่าย EU ก็บอกว่าการทำตามนี้ก็หมายถึงการต้องออกไปจาก Eurozone กล่าวคือไม่ให้ใช้เงินสกุลยูโรอีกต่อไปแล้ว

          ประชาชนลงคะแนนเสียง 61% ต่อ 39% อยู่ข้างนายกรัฐมนตรี โดยเบื่อหน่ายมาตรการเข้มงวด แต่ถึงจะชนะแล้วก็ใช่ว่าหนี้จะหายไปและมาตรการเข้มข้นหายไปข้ามคืน นักวิเคราะห์มีความเห็นว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับการต่อรองกับ 3 เจ้าหนี้ใหญ่ก่อน 20 กรกฎาคม 2015 เพราะถ้าวันนั้นมาถึงโดยกรีกไม่อาจจ่ายหนี้อีก 3,500 ล้านยูโรได้ ความหายนะจะมาเยือนกรีกอีกแน่นอน ความเชื่อมั่นในกรีกจะลดลงจนในที่สุดต้องออกจาก Eurozone ก็เป็นได้ (ไม่มีกฎหมายระบุว่าจะออกได้อย่างไร มีแต่ให้เข้าร่วม ดังนั้นจะเป็นปัญหาปวดหัวทางกฎหมายต่อไปอีกมาก)

          อนาคตของกรีกจะเป็นอย่างไรขึ้นกับการต่อรองและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับเจ้าหนี้ ทั้งหมดมีผลต่อคนกรีกอย่างมาก สถานการณ์เช่นนี้จะไม่มาถึงเป็นอันขาดหากมีการใช้จ่ายเงินของรัฐอย่างระมัดระวัง ไม่ใช้จ่ายเกินตัวในเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้น จนเกิดปัญหาหนี้ที่สร้างความหายนะให้แก่ประเทศ ประเทศสารขัณฑ์จงจำไว้ให้ดี