ช่วยหนึ่งชีวิตคือช่วยโลก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
28 กรกฎาคม 2558

          ถึงแม้เธอจะแต่งงานกับชายผู้นี้มาเป็นเวลา 50 ปีแล้ว แต่ก็ไม่เคยรู้เลยว่าเขาได้ทำสิ่งที่โลกสรรเสริญ จนกระทั่งวันหนึ่งเธอได้พบสมุดบันทึกพร้อมด้วยรูปภาพ จดหมาย เอกสารเดินทาง ใบบันทึกข้อความจำนวนมากในห้องเก็บของบนชั้นหลังคา หลังจากบังคับให้สามีอธิบายเธอจึงได้รู้ว่าสิ่งที่เขาทำไปคือการช่วยเด็กจำนวน 669 คนให้พ้นจากเงื้อมมือของนาซีเมื่อ 50 ปีก่อน วีรบุรุษผู้นี้บอกเธอว่าทิ้งมันไปเถอะคงไม่มีใครสนใจหรอก ในขณะนั้นเขามิได้ตระหนักเลยว่าโลกจะตื่นเต้นกับเรื่องของเขาเพียงใด

          ชื่อของเขาคือ Nicholas Winton ชาวอังกฤษ ซึ่งตอนเกิดเป็นเยอรมันเชื้อสายยิว แต่ต่อมาเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ ในปี 1938 ขณะที่เขามีอายุ 29 ปี กำลังทำงานในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนก็ได้รับโทรศัพท์ชักชวนจากเพื่อนที่อยู่ในกรุงปารกเมืองหลวงของเชคโกสโลวาเกียว่าให้ไปช่วยงานสำคัญ เมื่อเขาไปถึงก็รู้สึกสลดใจเป็นอันมากกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวยิวที่ สิ้นหวัง พยายามดิ้นรนอพยพออกจากประเทศเพราะรู้ว่าภัยกำลังมาใกล้ตนเองและลูกหลาน

          นาซีกำลังไล่ล่ายิวในทุกหนแห่ง และในดินแดนนี้มีความชัดเจนว่าในอีกไม่ช้าเยอรมันจะเข้ายึดครอง และคาดได้ว่ายิวเหล่านั้นจะมีชะตากรรมอย่างไร

          Winton ร่วมกับเพื่อนหาหนทางช่วยเหลือเด็กยิวออกนอกประเทศ ซึ่งมีสองประเทศคืออังกฤษและสวีเดนเท่านั้นที่รับเด็กอพยพอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีครอบครัวยอมรับให้ไปอยู่ในบ้าน และเงินสดอีก 50 ปอนด์เพื่อเป็นค่าตั๋วเดินทางกลับหากมีปัญหา

          ยิวบางคนมีเงินแต่ปัญหาก็คือไม่มีใบอนุญาตให้เข้าประเทศจากรัฐบาลอังกฤษและหน่วยงานอังกฤษก็ทำงานเชื่องช้ามาก Winton จึงฝากให้เพื่อนช่วยลงทะเบียนเด็กที่ต้องการอพยพท่ามกลางน้ำตาของพ่อแม่และเด็กที่ต้องจากกันโดยไม่รู้ว่าชาตินี้จะได้พบกันอีกหรือไม่ พ่อแม่ยอมเสียสละให้ลูกได้ไปอยู่ในที่ปลอดภัย เพราะตัวเองถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศ (พ่อแม่เหล่านี้ทั้งหมดต่อมาถูกส่งไปอยู่ค่ายกักกัน และเสียชีวิต)

          ตัวของ Winton เดินทางกลับไปลอนดอนเพื่อระดมหาเงินทุนเพื่อเป็นค่าเดินทาง ค่าอาหาร ซึ่งขาดแคลนมากในสถานที่ซึ่งเพื่อนกำลังแอบรับลงทะเบียนเนื่องจากต้องทำอย่างลับ มิฉะนั้นอาจถูกหน่วยเกสตาโปจับไปสอบสวนและฆ่าได้

          งานที่ Winton ช่วยเหลือเด็กของเชคโกสโลวาเกียนี้คู่ขนานกับโครงการของรัฐบาลอังกฤษที่ช่วยเหลือยิวเยอรมันและออสเตรีย ซึ่งมีชื่อว่า Operation Kindertransport งานของเขาเป็นงานส่วนตัวที่ทุ่มเทแรงงานแรงใจเพื่อช่วยเหลือเด็กเชคโกสโลวาเกียที่เขาเห็นแล้วทนไม่ได้เพราะไม่มีใครช่วยเหลือ และต้องรีบทำก่อนที่เยอรมันจะบุก

          Winton ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ได้รับเงินช่วยเหลือและได้รับน้ำใจจากครอบครัวชาวอังกฤษ ยินดีรับเด็กไปอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก แต่คำถามก็คือจะขนเด็กเหล่านี้ซึ่งเขาต้องการขนไปเป็นพันคนตามคำขอร้องของพ่อแม่ได้อย่างไร ถ้าทำเอิกเกริกไปก็อาจถูกห้ามโดยนาซีไม่ให้ออกนอกประเทศเลย วิธีการของเขาก็คือการติดสินบนทหารนาซีที่ดูแลคนเหล่านี้ในทุกระดับและในทุกจุดที่เดินทาง สำหรับใบอนุญาตเข้าอังกฤษนั้นเมื่อใช้เวลานานมากนักก็ปลอมมันเสียเลย

          ในวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1939 ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ฮิตเลอร์จะแบ่งดินแดนของ เชคโกสโลวาเกียและเข้ามายึดครอง เด็กกลุ่มแรก 20 คนก็ออกเดินทางจากปรากด้วยเครื่องบิน และอีก 6 กลุ่มตามมาโดยการเดินทางด้วยรถไฟ นั่งเรือข้ามช่องแคบอังกฤษและจบลงที่สถานีรถไฟ Liverpool Street ในลอนดอน ซึ่งมีครอบครัวมารับกันมากมาย

          Winton ทำได้สำเร็จรวมเด็กทั้งหมด 669 คน ที่เดินทางถึงอังกฤษอย่างปลอดภัยและเต็มไปด้วยความตื่นเต้นตลอดการเดินทางที่อาจถูกระงับได้ทุกขณะท่ามกลางความเศร้าสร้อยที่ต้องจากพ่อแม่ไปอยู่ในมือของคนที่ไม่รู้จัก โดยเด็กมิได้ตระหนักในขณะนั้นว่าแท้จริงแล้วกำลังหลบหนีมือมัจจุราช

          สิ่งน่าเศร้าที่สุดที่เกิดขึ้นก็คือในการเดินทางเที่ยวสุดท้ายซึ่งมีเด็กจำนวนมากที่สุดถึง 250 คน ซึ่งกำหนดเป็นวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 นั้น ตรงกับวันที่ฮิตเลอร์บุกโปแลนด์อันเป็นชนวน ไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่สองพอดี ชายแดนทั้งหมดถูกปิด ห้ามการเดินทางออกนอกประเทศทุกลักษณะ เด็กเหล่านั้นจึงไม่ได้ขึ้นรถไฟจากสถานีกรุงปราก และไม่เคยมีใครได้ทราบข่าวคราวของเด็กเหล่านั้นอีกเลย เข้าใจว่าถูกฆ่าตายหมดในห้องแก๊สที่นาซีใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดยิว

          ถ้าแม้นว่าเดินทางเร็วกว่าเพียงหนึ่งวัน เด็กกลุ่ม 250 คนนี้ก็คงได้มีโอกาสมีชีวิตที่ดีและ มีลูกหลานสืบต่อมาเหมือนเด็ก 669 คน ที่ Winton กับเพื่อนอีกหลายคนได้ร่วมกันช่วยไว้

          Winton เป็นคนถ่อมตัว เขาไม่คิดว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้นเป็นเรื่องใหญ่โตหรือมีความสำคัญมากนักแต่ก็มีคนเอาไปสร้างเป็นภาพยนตร์ถึง 3 เรื่อง ได้รับเกียรติมากมายหลังจากเรื่องราวของเขาถูกเปิดเผยขึ้นหลังจากผ่านไปแล้ว 50 ปี โดยระหว่างนั้นเขาไม่เคยเล่าให้ใครฟังเลยแม้แต่ลูกและภรรยา

          เกียรติสูงสุดที่เขาได้รับจากอังกฤษก็คือ “Knighthood” จากสมเด็จพระราชินี (ได้เป็น Sir Nicholas George Winton) และจากประธานาธิบดี Czech Republic ได้รับ Order of T.G. Masaryk

          สิ่งที่เขาทำไปทั้งหมดเขาไม่นึกว่าเทียบได้กับผลงานของ Schindler ชาวเยอรมันผู้ช่วยยิว 1,200 คน ให้ทำงานในโรงงานและช่วยให้หลบหนี หรือผลงานของ Wallenberg นักธุรกิจชาวสวีเดนและนักการทูตที่ช่วยออกพาสปอร์ตและเอกสารปลอมช่วยเหลือยิวนับหมื่นคนในฮังการี อย่างไรก็ดีงานจำลองเหตุการณ์ที่ควรจะเกิดขึ้นกับรถขบวนสุดท้ายขนเด็ก 250 คน เมื่อ 70 ปีก่อน ทำให้เขาตระหนักถึงความสำคัญขึ้นมา กลุ่มของ “Winton’s Children” ดั้งเดิมและลูกหลานได้ร่วมกันจัดขบวนรถไฟที่วิ่งในสมัยที่เขาหนีรอดมาได้โดย โดยสารกันไปจากสถานีกรุงปรากไปยังสถานี Liverpool Street Station ในลอนดอนที่ Winton ผู้ซึ่งมีอายุผ่าน 100 ปีไปหมาด ๆ รออยู่

          ในจำนวนเด็กของเขานั้นหลายคนได้กลายเป็นคนสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมมากมาย เช่น เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์คนสำคัญ เป็นสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ รัฐมนตรีของอังกฤษ ผู้ก่อตั้งกองทัพอากาศอิสราเอล นักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจ ฯลฯ ยังไม่นับลูกหลานอีกมากมายที่เป็นพลังสำคัญของสังคมในเวลาต่อมา

          Winton เพิ่งจากไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ในวัย 106 ปี อย่างอิ่มเอมใจกับสิ่งที่เขาได้ทำในชีวิตถึงแม้จะไม่ได้ตั้งใจให้ใครรู้ก็ตาม ก่อนเสียชีวิตเขาใส่แหวนที่บรรดา “ลูก” ของเขาได้มอบให้เป็นของขวัญ บนแหวนมีข้อความสลักที่นำมาจาก Talmud หรือ Book of Jewish Law ว่า “Save one life, save the world”