ศึกสายเลือดของ Lotte

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
20 ตุลาคม 2558

          พล็อตเรื่องของละครตอนหัวค่ำหรือเซียรีส์ละครชีวิตต่อสู้ของเกาหลีนั้นเต็มไปด้วยการ แย่งชิงอำนาจความเป็นใหญ่ หักหลังทรยศพลิกกลับไปมาอย่างตื่นเต้น เมื่อไม่นานมานี้เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นของกลุ่มบริษัท Lotte ของเกาหลีไม่แตกต่างไปจากพล็อตเรื่องเหล่านี้เลย

          ชื่อ Lotte (ล๊อตเต้) คุ้นหู โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงยี่ห้อหมากฝรั่ง ไม่น่าเชื่อว่าความร่ำรวยจากการขายหมากฝรั่งในตอนต้นทำให้สามารถเป็นอัครมหาเศรษฐีได้ในเวลาต่อมา ผู้ก่อตั้งปัจจุบันอายุ 92 ปี มีชื่อว่า Shin Kyuk-ho ในสมัยวัยรุ่นเรียนหนังสือที่ญี่ปุ่น (จบจากโรงเรียนมัธยมของมหาวิทยาลัย Waseda) และพอสงครามเลิก ในปี ค.ศ. 1948 เขาก็ตั้งบริษัทผลิตหมากฝรั่งขายให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จนร่ำรวยสามารถเอาทุนที่ได้ไปตั้งบริษัทในบ้านเกิดคือเกาหลีใต้จนกลายเป็นกลุ่มบริษัทใหญ่โตในปัจจุบัน

          ธุรกิจของเขาประสบความสำเร็จในตอนต้นจากการผลิตและขายส่งหมากฝรั่ง ลูกกวาด ขนมหวาน และต่อมาขยายไปเกือบทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ธุรกิจก่อสร้าง บ ริการการเงิน ค้าขายสารเคมี อิเล็กทรอนิกส์ IT ขายปลีก สวนสนุก ฯลฯ จนเป็นบริษัทที่มีทรัพย์สินมากเป็นอันดับ 5 ของเกาหลีใต้ โดยทั้งหมดรวมกันประมาณ 80 บริษัท เป็น Lotte Group

          ฐานบริษัทอยู่ในเกาหลี (ร้อยละ 80 ของรายได้มูลค่า 70,000 ล้านเหรียญต่อปีมาจากเกาหลี) รองลงมาคือญี่ปุ่น และในประเทศอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ โปแลนด์ ฯลฯ รวมทั้งไทยด้วยโดยทั้งผลิตและขายส่งลูกกวาด

          ความตื่นเต้นเร้าใจเริ่มขึ้นในตอนต้นปี 2015 เมื่อลูกชายคนโตชื่อ Shin Dong-joo อายุ 61 ปี รองประธานกรรมการของกลุ่ม Lotte ถูกปลดออกจากตำแหน่ง และพ่อแต่งตั้งลูกชายคนเล็ก (พ่อแม่เดียวกัน) อายุ 60 ปี ชื่อ Shin Dong-bin เป็นทายาทสืบแทน แต่หลังจากนั้นไม่นานลูกชาย คนโตก็โน้มน้าวให้พ่อเปลี่ยนใจ เข็นรถพ่อเข้าไปในห้องประชุม ปลดกรรมการ 6 คน รวมทั้งน้องออกจากตำแหน่ง

          สนุกแค่นี้ยังไม่พอ อีก 2 วันต่อมา พอน้องชายตั้งตัวได้ก็ประชุมแต่งตั้งบอร์ดกลับ และบอร์ดปลดพ่อออกจากตำแหน่งประธานกรรมการและแต่งตั้งตนเองเป็นแทน เรื่องยังไม่จบครับ อีก 2-3 วันต่อมาพี่ชายก็ออกมาปรากฏตัวต่อสาธารณะพร้อมพ่อซึ่งประกาศว่าสนับสนุนลูกชายคนโต

          ขั้นตอนต่อไปคือการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าเพื่อยืนยันการเป็นประธานกรรมการของน้องชาย หรือเปลี่ยนตัวกลับเป็นพี่ชายแทน หรือพ่อจะกลับมามีตำแหน่งอย่างเก่าโดยให้ลูกชายคนโตเป็นรองประธาน

          ระหว่างนี้ทั้งสองฝ่ายต่างก็คุยว่าตนเองมีแรงสนับสนุนจากกรรมการมากกว่ากัน ในทะเบียนผู้ถือหุ้นนั้นลูกชายต่างถือหุ้นของกลุ่มประมาณร้อยละ 20 พ่อถือร้อยละ 28 และอีกเกือบร้อยละ 28 ถือโดยบริษัทเล็ก ๆ ในญี่ปุ่นที่กล่าวกันว่าเป็นของพ่อ การลึกลับดำมืดในข้อมูลเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาของกลุ่มบริษัทที่เป็นของครอบครัวซึ่งมีอยู่ประมาณกว่า 40 กลุ่มอันเป็นลักษณะเฉพาะของ เกาหลีใต้ เรียกกันว่า chaebol เช่น Samsung (เกาหลีออกเสียงว่า ซัม-ซัง) ฮุนได / LG / แดวู ฮันจิน ฯลฯ

          ธุรกิจของกลุ่มบริษัทของแต่ละครอบครัวนั้นครอบครองกิจการกว้างขวาง ถือหุ้น ไขว้กันไปมา ซึ่งทำให้การช่วยเหลือหรือปิดบังการล้มเหลวของบริษัทในกลุ่มเป็นไปอย่างแนบเนียน กลุ่มบริษัทเหล่านี้กุมชะตากรรมของเศรษฐกิจเกาหลี และมีอิทธิพลต่อการเมืองมากจนการออกกฎหมายกำกับ ควบคุมและตรวจสอบเพื่อสร้างธรรมาภิบาลนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก

          ในแต่ละกลุ่มการสืบทอดอำนาจให้ลูกหรือน้องเป็นปัญหาหนักอก การต่อสู้แย่งชิงของกลุ่ม Lotte ยังไม่จบ เช่นเดียวกับกลุ่มฮุนไดที่ฟาดฟันแย่งชิงกันอย่างหนักระหว่างลูก 8 คน จนแตกออกเป็น 3 กลุ่ม และต้องสู้กับบรรดาอา ๆ และลูก ๆ ของอาอย่างไม่จบสิ้น กลุ่ม Samsung ก็มีเรื่องของการแย่งชิงเช่นกัน

          งานวิจัยของ Credit Suisse พบว่า 3 ใน 4 ของบริษัทใหญ่ที่มีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญ โดยมีครอบครัวเป็นเจ้าของไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 อยู่ในเอเชีย เทียบกับตัวเลขเดียวกันของอเมริกาเหนือซึ่งมีจำนวนเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น

          18 ใน 40 บริษัท chaebol ของเกาหลีใต้มีปัญหาเรื่องการสืบทอดอำนาจ ตัวเลขที่เหลือมิได้หมายความว่าไม่มี หากยังไม่ถึงเวลาของการแย่งชิง มีงานศึกษาของ Chinese University of Hong Kong ที่พบว่าการแย่งชิงอำนาจของบริษัทใหญ่ในไต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกง ทำให้มูลค่าของบริษัทโดยเฉลี่ยลดลงไปร้อยละ 60 ในช่วงเวลาของการต่อสู้ฟาดฟัน

          การเป็นประธานกรรมการของบริษัท chaebol เปรียบเสมือนพระราชา มีอำนาจและเงินมหาศาล จะแต่งตั้งใคร จะปลดใคร ทำได้ง่ายดายเพราะเสมือนเป็นกิจการของครอบครัว ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงเป็นบริษัทมหาชนที่มีเงินของประชาชนลงทุนอยู่ด้วย ความอ่อนแอของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายในทวีปเอเชีย คอรัปชั่นที่มีอยู่ดื่นดาษและการขาดธรรมาภิบาลของบริษัททำให้การลุแก่อำนาจของประธานกรรมการและของสมาชิกครอบครัวเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ

          ประชาชนเกาหลีใต้จำนวนไม่น้อยรังเกียจพฤติกรรมของ chaebol เพราะบ่อยครั้งที่บรรดาเจ้าของทำตัวเหมือนเทวดาไม่เห็นหัวคนเดินดิน ทั้งเอาเปรียบและคดโกง ดังนั้นครั้งใดที่คนเหล่านี้ผิดพลาด จะโดนเล่นงานหนักดังเรื่องของ Heather Cho ผู้ตกจากสวรรค์เพราะถั่วถุงเดียว

          เรื่องก็มีอยู่ว่าในปลายปี 2014 หญิงสาววัยต้น 40 ผู้เป็นรองประธานกรรมการของกลุ่ม Hanjin (ฮันจิน) ซึ่งเป็นเจ้าของ Korean Air สายการบินแห่งชาติ (เป็นของเอกชนแต่ได้เป็นสายการบินแห่งชาติ คิดดูก็แล้วกันว่า chaebol แห่งนี้ใหญ่แค่ไหน) แผดเสียงพร้อมกับดุด่าเจ้าหน้าที่ต้อนรับ บนเครื่องบินในเที่ยวบินจากนิวยอร์กไปโซลที่เธอโดยสารมา เธอไม่พอใจมากที่เสิร์ฟถั่ว macadamia เป็นถุง ไม่ใส่จานมาให้เธอผู้เป็นลูกสาวประธานกรรมการบริษัทที่เป็นเจ้าของสายการบิน

          เหตุการณ์เกิดขึ้นขณะที่เครื่องบินกำลังจะขึ้น เธอสั่งให้เปลี่ยนแผนการบินให้เครื่องบินวิ่งไปส่งเจ้าหน้าที่คนนี้ (ไล่ลง) เมื่อมีผู้เอาเรื่องมาแชร์กันในโลกอินเตอร์เน็ต ก็มีคนโกรธแค้นในความหยิ่งโอหังของเธอเป็นจำนวนมาก บีบคั้นให้อัยการเอาเรื่องกับเธอ ในข้อหาทำให้เที่ยวบินล่าช้า ขู่เข็ญพนักงานบนเครื่องบินคนอื่น ๆ ให้ไม่พูดความจริง กดขี่ข่มเหงลูกจ้าง ฯลฯ กระแสแรงมากจนเธอต้องลาออกจากทุกตำแหน่งเพื่อลดแรงเสียดทานกลุ่มบริษัท แต่ถึงจะลาออกอย่างไรในที่สุดเธอก็ถูกดำเนินคดีอาญา ศาลตัดสินจำคุก 1 ปี เธอต้องติดคุกอยู่หลายเดือนกว่าที่จะออกมาได้

          นี่คือแรงสะท้อนของความรู้สึกของประชาชนเกาหลีใต้ที่มีต่อ ‘ลูกท่านหลานเธอ’ ของบริษัท chaebol การฟาดฟันกันทุกครั้งมีผู้จับตามองอย่างใกล้ชิดว่ามีใครทำผิดกฎหมายบ้างเพื่อจักได้เล่นงาน อย่างไรก็ดีภายใต้สภาพที่เป็นอยู่มีเพียงนาน ๆ ครั้งเท่านั้นที่จะมีข้อผิดพลาดชนิดที่ช่วยเหลือปิดบังกันไม่ได้