วรากรณ์ สามโเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
27 ตุลาคม 2558
รู้มานานแล้วว่าญี่ปุ่นมีคนพื้นเมืองดั้งเดิมที่เรียกกันว่า “ไอนุ” แต่ไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร มีประวัติความเป็นมา และปัจจุบันมีจำนวนเท่าใด และอยู่กันในบริเวณไหนบ้าง โอกาสนี้ผู้เขียนขอนุญาตขยายความให้พอเห็นภาพ
ขอเริ่มต้นที่ภูมิศาสตร์ของญี่ปุ่น เกาะใหญ่ตอนเหนือสุดคือฮอกไกโด เรียงลงมาคือเกาะใหญ่สุดคือฮอนชู (ที่ตั้งของเมืองใหญ่ทั้งหมดเช่นโตเกียว นาโงยา เกียวโต โอซาก้า โกเบ ฯลฯ) และไล่ลงมาด้วยเกาะชิโกกุและคิวชู และไกลออกไปคือโอกินาว่า (อีกชื่อคือ เกาะริวกิวที่มาของชื่อปลาริวกิว)
ญี่ปุ่นมีเกาะรวมกันทั้งหมด 6,852 เกาะ ฮอกไกโดเป็นเกาะใหญ่รองที่สอง มีพื้นที่ประมาณ 1 ใน 5 ของญี่ปุ่น มีประชากรประมาณ 5.5 ล้านคน มีเมืองหลักคือซัปโปโร และที่เกาะแห่งนี้แหละคือแหล่งที่พักพิงใหญ่ของชาวไอนุ
เหนือขึ้นไปจากเกาะฮอกไกโดเพียงเล็กน้อยก็คือหมู่เกาะแซคาลินและคูริลของรัสเซีย (ญี่ปุ่นแท้จริงแล้วอยู่ใกล้รัสเซียมาก เมืองวลาดิวอสต็อกซึ่งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ห่างจากเมืองซัปโปโรเพียง 600-700 กิโลเมตรเท่านั้น) ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับฮอกไกโดมีชาวไอนุอาศัยอยู่เช่นกัน
สันนิษฐานว่าชาวไอนุอาศัยอยู่ในบริเวณที่เป็นประเทศญี่ปุ่นมาเป็นหมื่น ๆ ปีก่อนที่คนญี่ปุ่นจะมาตั้งรกราก นักสังคมวิทยาเชื่อว่าชาวไอนุมีรากวัฒนธรรมจากการหลอมรวมของสองวัฒนธรรมเก่าแก่คือ Okhotsk และ Satsumon และถูกรุกไล่จนมาอยู่ที่เกาะเหนือในปัจจุบันด้วยจำนวนที่บอกได้ยากว่ามีเท่าใด
ในทางวิชาการมีข้อถกเถียงกันมากว่าชาวไอนุเป็นมงโกล เช่น คนเอเชีย หรือ คอเคเซียน เช่น ฝรั่งยุโรป มีการพิสูจน์ด้วย DNA และเปรียบเทียบหน้าตา แต่ไม่ว่าหลักฐานจะเป็นอย่างไรแต่จากรูปภาพสมัยโบราณคนส่วนใหญ่จะบอกว่าหน้าตาไปทางฝรั่งมากกว่าคนเอเชีย เพราะมีผิวขาว ตัวสูงใหญ่ หนวดเครายาว จมูกโด่ง ฯลฯ ดูไม่แตกต่างจากคนรัสเซีย หรือคนในยุโรปตะวันออกมากนัก
อย่างไรก็ดีรูปภาพก็อาจหลอกลวงได้เพราะไอนุมีการผสมข้ามเผ่าพันธุ์กันทั้งรัสเซีย และญี่ปุ่นตลอดหนึ่งพันปีที่ผ่านมา รูปที่ได้มานั้นอาจมาจากกลุ่มที่ใกล้ชิดวัฒนธรรมรัสเซีย หรือลูกครึ่ง ฝั่งฝรั่งก็เป็นได้
ในสมัยโชกุนโตกุกาวะ (ค.ศ. 1600-1862) ไอนุค้าขายกับคนญี่ปุ่นมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากญี่ปุ่นยึดครองเกาะ อย่างไรก็ดีคนญี่ปุ่นมีความอดทนน้อยกับความแปลกแยก ดังนั้น ชนกลุ่มน้อยดังเช่นไอนุจึงประสบปัญหาการถูกกีดกัน ไอนุหาทางออกโดยนิยมให้ลูกหลานแต่งงานกับคนญี่ปุ่นจนในที่สุดความเป็นไอนุถูกกลืนไปเกือบหมด ภาษาไอนุก็แทบไม่มีคนใช้แล้วในปัจจุบัน
ในปี ค.ศ. 1868 มีตัวเลขว่ามีไอนุอยู่ประมาณ 15,000 คน บนเกาะฮอกไกโด และมาประมาณ 2,000 คน บนเกาะแซคาลิน และ 100 คน บนเกาะคูริล ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงจากต้นศตวรรษก่อนหน้าซึ่งมีประมาณ 80,000 คน
ปัจจุบันตัวเลขของไอนุอยู่ระหว่าง 25,000-200,000 คน ในญี่ปุ่น และประมาณ 100-1,000 คน ในรัสเซีย สาเหตุที่ตัวเลขไม่มีความแน่นอนก็เพราะการแต่งงานกับคนญี่ปุ่นและรัสเซีย และอีกจำนวนมากไม่เปิดเผยว่าเป็นเชื้อสายไอนุเนื่องจากเกรงว่าจะกลายเป็นคนแปลกแยกและถูกกีดกัน
บนเกาะฮอกไกโดบริเวณเมืองเล็ก ๆ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะหรือบริเวณที่เรียกว่า Hidaka มีไอนุอาศัยอยู่มากกว่าบริเวณอื่น ๆ อย่างไรก็ดีจำนวนมากไม่พูดภาษาไอนุ หากพูดภาษาญี่ปุ่น และไอนุในฝั่งรัสเซียก็พูดรัสเซีย ไอนุ “แท้” แทบจะไม่มีเหลืออยู่เลย (ในปี 1966 งานวิจัยของญี่ปุ่นพบว่ามีไอนุ “แท้” อยู่ประมาณ 300 คน)
ไอนุมาจากคำว่า ainu ซึ่งแปลว่ามนุษย์ อย่างไรก็ดีไอนุปัจจุบันไม่ชอบชื่อที่ถูกเรียกว่า “ไอนุ” เพราะเสมือนเป็นคำดูถูก (คล้ายกรณีของ “แม้ว” จนปัจจุบันต้องเรียกว่า “ม้ง” หรือ “เอสกิโม” ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “อินโนวิต”) ไอนุต้องการที่จะเรียกตัวเองว่า “Utari” ซึ่งแปลว่า “เพื่อน” ในภาษาไอนุมากกว่า เอกสารทางการใช้ทั้งสองชื่อในปัจจุบัน
ในปี 2008 สภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นลงมติเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับว่าไอนุเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของญี่ปุ่น และขอร้องให้เลิกการกีดกันชนกลุ่มน้อยนี้ มติดังกล่าวระบุชัดเจนว่า “ไอนุเป็น ชนพื้นเมืองดั้งเดิมโดยมีภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมเป็นของตนเอง” รัฐบาลญี่ปุ่นก็ตอบสนองทันทีว่า “ยอมรับความจริงทางประวัติศาสตร์ว่าไอนุจำนวนมากถูกกีดกันและถูกบังคับให้เข้าสู่ความยากจนท่ามกลางความสมัยใหม่ถึงแม้ว่าจะเท่าเทียมทางกฎหมายกับคนญี่ปุ่นก็ตามที”
ไอนุต่อสู้กับคนญี่ปุ่นยาวนาน แต่ก็พ่ายแพ้และถูกกีดกันตลอดจนถูกบังคับใช้แรงงาน ชีวิตที่อยู่รอดด้วยการเกษตรก็เป็นไปอย่างแร้นแค้น พอมีอาหารประเทืองชีวิตเท่านั้น
ปัจจุบันมีการรื้อฟื้นวัฒนธรรมไอนุบนเกาะฮอกไกโด ลายเสื้อผ้าอันงดงามคล้ายของชาวไทยภูเขาถูกนำมาใช้ในทางศิลปะเพื่อการค้า โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยว มีชาวไอนุที่เปิดเผยตนเองมากขึ้นจนถึงขนาดตั้งพรรคการเมือง The Ainu Party ในปี 2012
ในปัจจุบันไอนุส่วนหนึ่งเปิดเผยตัวออกมาแสดงศิลปะด้านร้องเพลง แสดงศิลปะการ ปักผ้า เครื่องปั้น ฯลฯ โดยโยงใยกับการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคสำคัญยิ่งของฮอกไกโด นอกเหนือจากการผลิตสินค้าเกษตรของเกาะอย่างเป็นกอบเป็นกำจนเรียกได้ว่าเป็นแหล่งอาหารของคนญี่ปุ่นทั้งประเทศแล้ว สินค้าเกษตรอันได้แก่ ข้าวสาลี มันฝรั่ง หัวหอม ฟักทอง ถั่วเหลือง ข้าวโพด นม เนื้อวัว ฯลฯ เหล่านี้ฮอกไกโดผลิตเป็นอันดับหนึ่งในญี่ปุ่นทั้งสิ้น
ฮอกไกโดอุดมด้วยป่าธรรมชาติ สดเขียวงดงาม รัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อ 100 กว่าปีมาแล้วตระหนักดีว่าการปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีผู้คนอาศัยก็จะถูกรุกรานโดยรัสเซียซึ่งอยู่ใกล้กันมากได้ ดังนั้นจึงมีโครงการอพยพผู้คนไปตั้งรกรากบนเกาะนี้อย่างมากจาก 58,000 คน ในปี ค.ศ. 1876 พุ่งขึ้นเป็น 240,000 คน ใน ค.ศ. 1882 และเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจนถึงหลักล้านในปัจจุบัน
จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นถึง 5.5 ล้านคน ทำให้ไอนุยิ่งมีสัดส่วนน้อยลง และถูกมองข้ามเมื่อมีการพัฒนาเศรษฐกิจครั้งใหญ่บนเกาะ ประเด็นการเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมของไอนุยังมิได้กลายเป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ให้ความสนใจนักในปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างไปจากอินเดียนแดงในสหรัฐอเมริกา หรือเมารีในนิวซีแลนด์
ถ้าไอนุกล้าที่จะออกมาแสดงความเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมมากขึ้นและเข้มแข็งขึ้น โดยยอมแลกกับการถูกมองว่าเป็นสิ่งแปลกแยก สวัสดิการชีวิตของเขาก็น่าจะมีโอกาสดีขึ้น