“คุณแม่” กับเลือกตั้งเมียนมาร์

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
24 พฤศจิกายน 2558

          “คุณแม่” ของชาวเมียนมาร์ชนะเลือกตั้งชนิดถล่มทลายเกินความคาดหมายของใคร ๆ ทั้งหมด และอาจแม้แต่ของตัว “คุณแม่” เองด้วยซ้ำ ชัยชนะเช่นนี้หมายความอย่างไรและมีอะไรในกอไผ่หรือไม่เพียงใด

          อองซาน ซูจี หรือเรียกอย่างเคารพเป็นทางการว่า “ดอร์ ซูจี” เป็นหัวหน้าพรรค NLD (National League for Democracy) สู้กับพรรค USDP (Union Solidarity and Development Party) ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนของกลุ่มทหารที่ครองเมืองมาตั้งแต่ ค.ศ. 1962 หรือ 53 ปีก่อน ขณะที่เขียนนี้มีการประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการไปประมาณร้อยละ 50 ของจำนวน ส.ส. ที่เลือกตั้งกัน NLD ได้ ส.ส. ไปประมาณร้อยละ 90 พรรค USDP ร้อยละ 5 ซึ่งคาดว่าส่วนที่เหลือก็น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

          เรา “มาถึงตรงนี้กันได้อย่างไร” เป็นประโยคที่วัยรุ่นไทยชอบใช้กันใน Facebook ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้พอดี

          หลังจากการปฏิวัติเมื่อ ค.ศ. 1962 พม่า (ชื่อในขณะนั้น) ก็ปิดประเทศ คนพม่า คนไหนอยากออกนอกประเทศก็ไปได้เลย แต่ห้ามเอาสมบัติออกไปด้วย ระบบเศรษฐกิจนั้นทหารเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการเองเรียกได้ว่าเป็นเผด็จการขนานแท้โดยนายพลเนวิน (ไม่ใช่คนที่อยู่ทางอีสาน) ต่อมาเมื่อมีการประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 8 เดือน 8 ของปี 1988 ทหารก็ถอยและยอมให้มีการเลือกตั้งใหญ่ในปี 1990

          ครั้งนั้นพรรค NLD ซึ่งนำโดยอองซาน ซูจี ซึ่งเป็นลูกสาวของนายพลอองซาน (ผู้ก่อตั้งกองทัพพม่า และเป็นวีรบุรุษต่อสู้จนพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948) ก็ชนะอย่างขาดลอย ได้ร้อยละ 80 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด แต่รัฐบาลทหารก็ไม่ยอมคืนอำนาจ กลับจับเธอขังไว้ในบ้าน ผู้นำนักศึกษาจำนวนมากถูกทรมานและฆ่าตาย และถูกจับใส่คุกเป็นจำนวนมาก

          เมื่อกระแสการเมืองโลกต่อต้านรัฐบาลหนักขึ้นก็มีการร่างรัฐธรรมนูญและเลือกตั้งในปี 2010 แต่อองซาน ซูจีกับพวกคว่ำบาตรไม่ลงเลือกตั้งด้วย พรรค USDP ก็ได้ผู้แทนเข้ามาเกือบเต็มสภา ต่อมาประธานาธิบดีเต็ง เส่ง มองเห็นว่าถ้ากลุ่มของเธอไม่ร่วมมือด้านการเมืองด้วย เมียนมาร์ก็ก้าวไปข้างหน้าไม่ได้เพราะแรงกดดันจากต่างประเทศให้ปล่อยเธอและให้มีเลือกตั้งสูงมาก

          พรรค NLD ก็กลับมาอีกครั้ง ลงเลือกตั้งซ่อมในเขตใกล้ย่างกุ้ง ในจำนวน 45 ที่นั่ง NLD กวาดไปเกลี้ยง 43 ที่นั่ง และหนึ่งในนั้นก็คือ “คุณแม่” ผู้ก้าวเข้ามาเป็น ส.ส. ด้วย นั่นคือสัญญาณเล็ก ๆ ว่าพรรค NLD มีผู้นิยมมากเพียงใด และเมื่อการเลือกตั้งใหม่มาถึงอีกครั้งในปี 2015 คราวนี้พรรค NLD ก็ลงเลือกตั้งเต็มตัว

          อย่างไรก็ดี ถึงแม้ชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้นแต่หนทางที่จะได้อำนาจคืนมาสมบูรณ์ก็ ตีบตันเพราะรัฐธรรมนูญเขียนดักทางไว้หลายชั้น เช่น (ก) คนจะสมัครเป็นประธานาธิบดีได้ต้องไม่มีสามีหรือลูกที่ถือสัญชาติอื่น (หมายถึงเธอเพราะแต่งงานกับชาวอังกฤษและลูกชาย 2 คนถือสัญชาติอังกฤษ) (ข) ทหารมีโควต้าผู้แทนอยู่แล้วร้อยละ 25 ของจำนวนผู้แทนทั้งหมด (จำนวนสภาบนและสภาล่างรวมกัน) (ค) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและมหาดไทยซึ่งคุมตำรวจและความสัมพันธ์กับชนกลุ่มน้อย ผู้บัญชาการกองทัพเป็นคนเลือก (ง) ในภาวะฉุกเฉินสภาความมั่นคงและ การป้องกันประเทศสามารถยึดอำนาจคืนจากรัฐบาลได้ (ฟังดูคุ้นหูจัง)

          รัฐธรรมนูญมาตรา (59 f) เรื่องสัญชาติคือตัวกีดกันที่ทำให้ “คุณแม่” ไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีได้ ถึงแม้พรรค NLD จะชนะได้ที่นั่งมากมายเพียงใดก็ตาม “คุณแม่” บอกก่อนเลือกตั้งว่าหากชนะจะเป็นคนที่ “เหนือกว่าประธานาธิบดี” ซึ่งไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเธอหมายถึงอะไร จะชักหุ่นอยู่เบื้องหลัง? (ซึ่งอาจผิดรัฐธรรมนูญ) หรือจะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร?

          ลองมาดูจำนวนที่นั่งเลือกตั้งกันว่าพรรค NLD ชนะขาดอย่างไร เมื่อรวมสภาบนและ สภาล่างแล้วจะมีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 664 คน ในจำนวนนี้มีโควต้าของทหารได้อยู่แล้วโดยไม่ต้อง ลงแข่งร้อยละ 25 หรือ 166 คน ดังนั้นจึงมีการเลือกตั้งเพียง 498 ที่นั่ง

          ในจำนวน 498 ที่นั่งนี้คาดว่าพรรค NLD จะชนะร้อยละ 80-90 ซึ่งหมายถึงได้จำนวนที่นั่งประมาณ 398-488 ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของ 664 คน หรือ 332 คน อยู่มาก ดังนั้นพรรค NLD จึงไม่ต้องอาศัยพรรคอื่นเลย (ลงสมัครกันกว่า 90 พรรค ผู้มีสิทธิออกเสียง 30 ล้านคน มาลงคะแนนกัน ร้อยละ 80)

          ที่ขยายความเรื่องจำนวนที่นั่งก็เพราะการเลือกประธานาธิบดีจะกระทำกันในอีก 3 เดือนข้างหน้า หรือใกล้มีนาคม โดยแต่ละกลุ่ม (กลุ่มทหาร สภาบน และสภาล่าง) เสนอชื่อ 1 คน เป็น ประธานาธิบดี และนับเสียงจากการลงคะแนนของ 664 คนว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี คนได้คะแนนรองมา 2 คน เป็นรองประธานาธิบดี

          เมื่อพรรค NLD ได้ถึง 398-488 ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งไปมากจึงเป็นที่แน่นอนว่าชื่อที่ NLD เสนอจะต้องได้เป็นประธานาธิบดี คำถามก็คือใครจะได้เป็นประธานาธิบดี ก็มีคนพูดถึงชื่อนายพล Tin Oo อดีตผู้บัญชาการทหาร ซึ่งรักใคร่สนิทสนมกับ “คุณแม่” แต่ก็มีอายุถึง 88 ปี ถึงแม้จะยังแข็งแรงอยู่ก็ตาม

          ช่วงเวลาที่รัฐธรรมนูญตั้งใจเว้นไว้นานถึง 3 เดือนก่อนเลือกประธานาธิบดีก็เพื่อช่วยในเรื่องการต่อรองเพื่อร่วมกันทำงานเพราะไม่ว่าพรรคใดเป็นรัฐบาลก็ไม่อาจทำงานได้โดยไม่ร่วมมือกับฝ่ายทหารซึ่งยังมีอำนาจอยู่มาก อย่างไรก็ดีไม่มีใครนึกว่า “คุณแม่” จะชนะอย่างฟ้าถล่มดินทลายเช่นนี้ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ “คนแม่” เป็นประธานาธิบดีแลกกับเงื่อนไขที่ฝ่ายทหารพอใจก่อนการเลือกในเดือนมีนาคม 2559

          ผู้แทนจากสภาล่างและสภาบนที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่หมดวาระจนถึงตอนก่อนเลือกประธานาธิบดี ดังนั้นจึงสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้และก็มีความชอบธรรมด้วยเมื่อคำนึงถึงความประสงค์อันชัดเจนอย่างยิ่งของประชาชนเมียนมาร์

          เมียนมาร์มีชนกลุ่มน้อยอยู่ไม่ต่ำกว่า 120 กลุ่ม (7 กลุ่มใหญ่) รวมกันเป็น 1 ใน 3 ของประชากรประมาณ 52 ล้านคน ในอดีตแต่ละรัฐของชนกลุ่มน้อยต้องการปกครองตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มทหารไม่เห็นชอบ เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องเจรจาหาทางออกเพื่อหยุดการสู้รบกับรัฐบาลกลางซึ่งมีมายาวนานกว่า 50 ปี ให้ได้เพื่อสร้างความสงบ

          ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้ ธุรกิจต่างประเทศที่ไปลงทุนในเมียนมาร์ คนชั้นกลางและคนเมียนมาร์ทั่วไปต่างมีความหวาดหวั่น กังวลและคาดหวังแตกต่างกันไปเพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด และจะไปได้ดีเพียงใด อย่างไรก็ดีผู้นำการเมืองเมียนมาร์ทุกฝ่ายได้เห็นบทเรียนจากหลายประเทศเพื่อนบ้าน และคงเรียนรู้ว่าการร่วมมือกันอย่างเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญเท่านั้นที่จะเป็นทางออกสำหรับชาวเมียนมาร์ที่ได้ออกมาแสดงความประสงค์ของตนเองอย่างท่วมท้นที่ต้องการจะเห็นการเปลี่ยนแปลง