หมอผ่าตัดตามหัศจรรย์จากเนปาล

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
1 ธันวาคม 2558

           คงจะหาใครในโลกที่สร้างกุศลแก่ผู้มีสายตาพิการได้ทัดเทียมคุณหมอ Sanduk Ruit ชาวเนปาลผู้ซึ่งผ่าตัดตามาไม่ต่ำกว่า 100,000 คนได้ยาก มันเป็นเรื่องราวเหลือเชื่อที่ทำให้คนหายจากตาพิการได้ในเวลา 1 วัน ด้วยการผ่าตัดที่ใช้เวลาเพียง 5 นาที

          ทุกวันจะมีคนเฒ่าคนแก่ตาพิการเพราะมีต้อบังตาอยู่นับร้อยคนเดินทางมาจาก ทั่วสารทิศมาหาคุณหมอเพื่อช่วยให้มองเห็น สำหรับคนยากจนเหล่านี้การมองไม่เห็นคือการจบสิ้นของชีวิตเพราะไม่สามารถเก็บฟืน หาของป่า ช่วยเลี้ยงลูกหลาน ทำกับข้าว หรือช่วยเหลือตัวเองได้ การเป็นภาระแก่ครอบครัวที่ยากจนอยู่แล้วเป็นการซ้ำเติมที่ทำให้ชีวิตของทุกคนลำบากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่คุณหมอทำจึงเท่ากับเป็นการช่วยฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวโดยตรง

          หมอมหัศจรรย์ท่านนี้มิใช่หมอผีรดน้ำมนต์พ่นน้ำหมากรักษาตาพิการ หากเป็นหมอ ที่เรียนจบจากโรงเรียนแพทย์ที่มีชื่อของอินเดีย และมีโอกาสไปเรียนต่อที่เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา สิ่งที่หมอ Sanduk นำเสนอคือทางเลือกที่ง่ายและมีราคาถูก

          ปัจจุบันหมอ Sanduk อายุ 60 ปี มีภรรยาเป็นพยาบาลเชี่ยวชาญเรื่องการผ่าตัดตา บ้านเกิดของหมออยู่ท่ามกลางหุบเขาในชนบททางตะวันออกเฉียงเหนือของเนปาล โรงเรียนที่ใกล้บ้านที่สุดต้องใช้เวลาเดิน 11 วัน พ่อแม่ของหมอมิได้เรียนหนังสือมามาก แต่การเป็นนักค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ของพ่อทำให้รู้ว่าการศึกษาของลูกเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ดังนั้นจึงสนับสนุนการศึกษาของลูกทุกวิถีทาง

          เขาเข้าโรงเรียน St. Robert’s School ที่ Darjeeling อันเป็นเมืองของโรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียงของอินเดียมายาวนาน ตอนมัธยมปลาย Sanduk เรียนจบจากโรงเรียนใน Kathmandu เมืองหลวงของประเทศในปี 1969 และได้ศึกษาต่อในโรงเรียนแพทย์

          Sandak ได้พบกับศาสตราจารย์ชาวออสเตรเลียชื่อ Fred Hollows และได้กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของเขา ทั้งสองร่วมกันค้นคว้าหาวิธีผ่าตัดตาเอาต้อกระจกที่เป็นตัวการทำให้มองไม่เห็นออกด้วยวิธีที่ง่ายและมีต้นทุนที่ต่ำมาก

          การผ่าตัดเอาต้อกระจกออก (cataract surgery) ก็คือการเอาเลนส์ตาธรรมชาติซึ่งเกิดแผ่นขุ่นฝ้าขึ้นซึ่งเรียกว่าต้อกระจกออก เหตุที่เกิดขุ่นฝ้าหรือสิ่งที่เรียกว่า opacification ก็เนื่องมาจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเมตาบอลิซึมของเยื่อบนเลนส์ข้ามเวลายาวนานจนนำไปสู่การเกิดต้อกระจกและทำให้ขาดความโปร่งใสของเลนส์จนมองเห็นไม่ชัดหรือมองไม่เห็นทั้งหมดในที่สุด

          แสงแดดจ้าซึ่งมีรังสีอัลตราไวโอเลตแอบแฝงอยู่ โดยเฉพาะในบริเวณที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมาก เช่น ทิเบต เนปาล เร่งกระบวนการเกิดต้อกระจกซึ่งเกิดผลเต็มที่ใน คนสูงอายุ ถ้าเป็นคนมีเงินหรืออยู่ในประเทศพัฒนาแล้วก็ไม่มีปัญหาเพราะการผ่าตัดถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับคนยากจนในประเทศกำลังพัฒนาแล้วโอกาสเข้าถึงเครื่องมือราคาแพงเป็นไปไม่ได้

          หลักการของการผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบันก็คือเอาเลนส์ตาเก่าที่ฝ้ามัวออกและเอาเลนส์ใหม่ที่เป็นกระจกหรือพลาสติกใส่เข้าไปแทน การผ่าตัดมี 2 วิธีใหญ่ อย่างแรกเรียกว่า phacoemulsification (phaco) ก็คือการผ่าเป็นแผลยาว 2-3 มิลลิเมตรเพื่อเอาเลนส์ตาออกโดยใช้การสั่นสะเทือน (vibration) เพื่อให้เลนส์เก่าแตกเป็นของเหลวออกมา และเอาเลนส์ใหม่ใส่แทนโดยไม่มีการเย็บแผล ปัจจุบันมีการใช้เลนส์พลาสติกที่ม้วนสอดผ่านรูที่เจาะ เมื่อเลนส์เข้าไปก็จะขยายตัวออกซึ่งทำให้ไม่ชอกช้ำมาก วิธีนี้ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ราคาแพงประกอบ

          อีกวิธีคือผ่าตาด้วยแผลกว้างกว่าคือ 10-12 มิลลิเมตร และเอาเลนส์ที่มีปัญหาออก ใส่เลนส์ใหม่แล้วต้องเย็บ อย่างไรก็ดีปัจจุบันไม่ดุเดือดขนาดนั้น สามารถผ่าเป็นแผลเล็กมาก สอดเลนส์ใหม่เข้าไปโดยไม่ต้องเย็บ

          ตรงนี้แหละคือวิธีของหมอ Sanduk ที่พัฒนาขึ้นมาต่อจากอาจารย์ของเขาโดยใช้เครื่องมือที่ราคาถูกกว่าผ่าตัดเป็น microsurgery คุณหมอผ่าสองแผลด้านข้างเล็กมากโดยดูผ่านกล้องจุลทรรศน์และเลื่อนเอาเลนส์ที่ขุ่นมัวออก และใส่เลนส์ใหม่เข้าไป ทั้งหมดใช้เวลาเพียง 5 นาที และแกะเปิดตาได้ในเวลา 1 วัน มีต้นทุน 25 เหรียญสหรัฐต่อคน หมออธิบายว่าคล้ายกับเข้าไปเจาะหาไข่แดงใน ไข่ต้ม ต้องกว้านเปิดกว้างด้วยแผลเล็ก ควักเอาเลนส์ออกและใช้เครื่องดูดทำความสะอาดที่เหลือ ของดวงตา แล้วจึงเอาเลนส์ใหม่ใส่เข้าไปแทน โดยไม่มีการเย็บแผลเนื่องจากแผลเล็กมาก

          ในตอนแรกวิธีนี้เป็นที่เยาะเย้ยขบขันของหมอทั่วโลกว่าเสี่ยงและไม่ได้ผล แต่เมื่อนานวันเข้ามีหมอจากทั่วโลกไปดูงาน โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาเพื่อพิสูจน์ความจริง และในที่สุด ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าได้ผลและมีประโยชน์อย่างยิ่ง

          American Journal of Ophthalmology ตีพิมพ์บทความที่ติดตามผลการผ่าตัดของหมอภายใน 6 เดือน และยืนยันว่าได้ผล 98% เหมือนวิธี phaco ซึ่งมีราคาแพงกว่ามาก

          หมอ Sanduk ตั้งสถาบัน Tilganga Institute of Ophthalmology ซึ่งดูแลโรงพยาบาล ธนาคารดวงตา ผลิตเลนส์ (ราคาอันละ 3 เหรียญ เปรียบเทียบกับ 200 เหรียญในโลกตะวันตก) หาเงินจากการรักษาคนรวยมาช่วยคนจนแบบฟรี

          สิ่งที่หมอภูมิใจมากที่สุดคือเป็นตัวกระจายวิธีใหม่นี้ไปสู่ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ยากจน มีหมอจากไทย อินเดีย อาฟกานิสถาน กานา เอธิโอเปีย และอีกนับสิบ ๆ ประเทศไปฝึกฝนกับหมอเพื่อนำไปช่วยคนยากจนที่ตาพิการ จนอาจนับได้ว่าช่วยคนเป็นล้าน ๆ คนในโลกที่มีคนตาบอดทั้งสิ้นประมาณ 39 ล้านคน ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้มีสาเหตุจากต้อกระจก อีก 246 ล้านคนตาพิการบางส่วน

          ขณะนี้วิธีผ่าตาของหมอ Sanduk กำลังเริ่มใช้กันในสหรัฐอเมริกา หมอ Sanduk ผ่าตัดโดยใช้รถเคลื่อนที่ไปหาคนยากจนบนภูเขา เพราะเครื่องมือไม่ซับซ้อนและถูกกว่าเครื่องมือในโลกตะวันตกเป็นอันมาก ถึงดูหวาดเสียวกว่าแต่ก็ได้ผลใกล้เคียงกัน (ภาพที่คนผ่าตัดเห็นผ่านเลนส์หลังผ่าตัดอาจสู้ภาพจากเครื่องมือผ่าตัดสมัยใหม่ไม่ได้เพราะเลนส์ถูกกว่าแต่ก็เพียงพอสำหรับคนตาพิการในโลกกำลังพัฒนาที่แค่มองเห็นก็นับว่าเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่แล้ว)

          มีคนถามหมอ Sanduk ว่าถ้าท่านไปทำงานในประเทศพัฒนาแล้วคงรวยไม่รู้เรื่อง หมอตอบว่าที่ทำอยู่นี้ดีกว่าเงินทองมากมาย เพราะเป็นโอกาสอันหาได้ยากยิ่งที่จะช่วยคนจำนวนมากให้มีความสุข เงินมาก ๆ ที่ได้มาไม่ได้ทำให้สุขเท่าอย่างแน่นอน

          หมอ Sanduk ทำงานในบริเวณภูเขาหิมาลัยซึ่งเป็นต้นกำเนิดของความคิดเรื่องสวรรค์ของคนตะวันออก หมอได้ผ่าตัดบนสวรรค์ก่อนตายมานานแล้วอย่างมีความสุขและปลาบปลื้มใจ