คุกญี่ปุ่นน่าอยู่แต่โหดร้าย

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
5 มกราคม 2559

          หากใครไปเยี่ยมคุกญี่ปุ่นก็จะเห็นว่าสะอาด เป็นระเบียบ สงบเงียบ เหมือนบ้านเมืองญี่ปุ่น อย่างไรก็ดีหากเจาะลึกลงไปแล้วก็จะพบความน่าสังเวชใจของนักโทษอย่างไม่น่าเชื่อ ญี่ปุ่นเป็นเมืองที่มีอาชญากรรมต่ำมาก ตำรวจออกตรวจโดยขี่จักรยานและเหน็บไม้กระบองไปทั่วเพราะไม่มีถนนไหนที่น่ากลัวเป็นพิเศษเหมือนประเทศอื่น ๆอาชญากรรมจากปืนแทบไม่มีคนรู้จัก การจี้ปล้นแทบไม่มี เรียกได้ว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่เพราะมีความปลอดภัยสูง

          ในกลุ่มประเทศพัฒนาด้วยกันแล้ว ญี่ปุ่นมีอัตรานักโทษต่อประชากร 100,000 คน ต่ำสุดคือ 49 ในขณะที่ตัวเลขสูงสุดคือสหรัฐอเมริกา 698 คน สิงคโปร์ 220 อังกฤษ 148 จีน 119 คานาดา 106 ฝรั่งเศส 100 เกาหลีใต้ 104 เยอรมันนี 78 ไทย 457

          ระบบยุติธรรมของญี่ปุ่นไม่มีการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายโดยทั่วไปรุนแรง เนื่องจากเน้นการปรับตัวเป็นคนดี ทั้งตำรวจและศาลจะช่วยกันไม่ให้คนทำผิดครั้งแรกติดคุก ถ้าทำผิดเล็กน้อยครั้งแรกก็จะถูกตักเตือนและปล่อยตัว ภาครัฐจะพยายามประสานกับครอบครัวเพื่อให้คนที่ทำผิดกลับเข้าสู่เส้นทางคนดี และหากถูกส่งเข้าคุก ข้างในคุกดูเผิน ๆ ก็เหมือนโรงเรียนประจำชั้นดี

          อย่างไรก็ดีท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ มีจุดอ่อนที่ทำให้นักโทษญี่ปุ่นอาจเป็นนักโทษที่น่าสงสารกว่าหลายประเทศ กล่าวคือระบบยุติธรรมของญี่ปุ่นเน้นการสารภาพเป็นหลัก โดยถือว่าการสารภาพคือก้าวแรกของการกลับตัวเป็นคนดี

          สำหรับอาชญากรรมที่รุนแรงเช่นฆ่าคนตาย ระบบยุติธรรมไม่ปล่อยให้หลุดออกมาหากเล่นงานหนักมาก ตำรวจจะสอบสวนอย่างหนักเพื่อรีดคำสารภาพให้ได้ จนมีสถิติว่า 89 คดีใน 100 คดีที่อัยการฟ้องนั้นมีการสารภาพและเกือบทั้งหมดถูกลงโทษจนทำให้อัตราถูกลงโทษในจำนวนที่ฟ้องสูงถึงร้อยละ 99.8

          เมื่อการบังคับให้สารภาพเป็นหัวใจของการดำเนินงาน ปัญหาก็เกิดตามมาคือผู้ต้องสงสัยหลายคนยอมสารภาพเพื่อหลีกหนีการถูกสอบสวนชนิดหนักหนาสาหัสของตำรวจญี่ปุ่น ตำรวจและอัยการสามารถกักขังผู้ต้องสงสัยไว้ได้นานถึง 23 วัน โดยไม่มีการตั้งข้อหา ซึ่งนานกว่าที่ประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ กักขังผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายเสียด้วยซ้ำ

          การสอบสวนใช้เวลานานติดต่อกันกว่า 8 ชั่วโมง โดยบังคับให้อยู่ในท่าเดียว ไม่ให้หลับนอน ถูกข่มขู่ ตะโกนใส่พร้อมคำถามข่มขู่เพื่อให้สารภาพ น้อยคนที่เจอสภาพอย่างนี้แล้วจะไม่สารภาพเพื่อให้พ้น ๆ ไปจากความทรมาน ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้ต้องสงสัยจะพบกับการถูกสอบสวนเพื่อให้สารภาพเช่นนี้โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ตระหนัก และไม่มีการต่อต้านให้เปลี่ยนแปลง

          ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นาน หลายคดีผุดขึ้นมาว่านักโทษมิได้กระทำอาชญากรรมจริงหากถูกศาลตัดสินเพราะคำสารภาพ มีอยู่รายหนึ่งถูกจำคุก 46 ปี เพิ่งถูกปล่อยตัวเมื่อไม่นานมานี้เพราะศาลพบว่าตำรวจและอัยการร่วมมือกันสร้างหลักฐานเท็จจนต้องยอมรับสารภาพ เขาบอกว่าเขาถูกสอบสวนวันละ 11 ชั่วโมง เป็นเวลา 23 วัน แถมถูกนวดด้วยกระบองและถูกเข็มทิ่มเวลาเขาง่วงหลับ

          มีหลายคดีที่ติดคุกนับสิบ ๆ ปีเพราะคำสารภาพที่ไม่จริง และหลุดได้ในเวลาต่อมาเพราะการพิสูจน์ DNA รายการโทรทัศน์ของ Asahi เมื่อไม่นานมานี้ได้เปิดโปงเรื่องน่าสังเวชใจเช่นนี้จนเริ่มปลุกสาธารณชนญี่ปุ่นให้หันมาสนใจระบบยุติธรรมที่เน้นการสารภาพ มีประมาณการว่าร้อยละ 10 ของนักโทษติดคุกเพราะยอมสารภาพทั้งที่มิได้กระทำผิดจริง

          พฤติกรรมของอัยการก็มีส่วนทำให้เกิดสภาพการณ์เช่นนี้ สถิติการชนะคดีที่ฟ้องของอัยการถือเป็นเรื่องใหญ่ จนบางคนต้องพยายามทำทุกวิถีทางให้ชนะ การตรวจสอบการทำงานของอัยการก็มีน้อยและการเป็นอัยการในญี่ปุ่นนั้นเป็นสถานะอันทรงเกียรติ

          การปฏิรูประบบยุติธรรมของญี่ปุ่นเริ่มขยับตัวด้วยการตัดสินคดีแบบมีลูกขุนโดยให้ประชาชนร่วมพิจารณาคดีตั้งแต่ปี 2009 นับถึงปัจจุบันมีผู้ร่วมเป็นลูกขุนประมาณ 50,000 คน สำหรับคดีอาชญากรรมร้ายแรง

          ในคุกญี่ปุ่นนั้นนักโทษก็ถูกระทำอย่างโหดร้ายทางจิตวิทยา ถึงแม้จะมีสภาพแวดล้อมเป็นเยี่ยมก็ตาม นักโทษห้ามสบตาผู้คุมเด็ดขาด มีโอกาสอ่านหนังสือน้อย นักโทษคนหนึ่งบอกว่ามีอิสรภาพอย่างเดียวคือหายใจ ไม่ว่าจะทำสิ่งใดต้องขออนุญาตเสียก่อนแม้แต่การยืน นักโทษส่วนใหญ่นั่งกับพื้นจนเนื้อที่สัมผัสพื้นนาน ๆ ด้านจนเป็นแผล การถูกขังเดี่ยวโหดร้ายมากเพราะไม่ให้ทำอะไรนอกจากเพ่งมองประตูแต่เพียงอย่างเดียว

          นักโทษประหารนั้นยิ่งโหดร้ายมาก เพราะไม่บอกวันประหาร นักโทษต้องรออย่างไม่รู้วันตาย หัวใจเต้นแรงทุกครั้งที่ผู้คุมเดินผ่านหน้าประตูท่ามกลางความเงียบสงัด นักโทษหันไปทางใดก็มีแต่ความเงียบและไม่มีอะไรให้ทำถึงแม้จะกินดีอยู่ดีก็ตาม

          นักวิชาการญี่ปุ่นบอกว่าผู้คนในกระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่นมีทางโน้มที่มองจากแง่ของเหยื่อมากกว่าที่จะมองจากมุมของผู้ต้องสงสัยเช่นไม่พิจารณาสภาพแวดล้อมของผู้ต้องสงสัยที่ทำให้เกิดอาชญากรรมขึ้น เมื่อแนวคิดเป็นเช่นนี้ผลลัพธ์จึงเป็นไปในทิศทางของการลงโทษรุนแรง ถึงแม้จะอ้างว่าไม่ใช่การแก้แค้นหากเป็นการพยายามทำให้ปรับตัวเป็นคนดีก็ตาม

          การบังคับให้สารภาพเพื่อเอาผิดเป็นวิธีการแบบโบราณทั่วโลกเมื่อหลายร้อยหลายพันปีก่อน ถึงแม้จะได้คนสารภาพแต่ก็มิได้หมายความว่าได้ความจริงว่าใครเป็นคนผิด ในประวัติศาสตร์ของไทยมีคนถูกลงโทษผิด ๆ เพราะคำสารภาพเนื่องจากการทรมานมีมากมาย

          บางสิ่งที่เราเห็นว่าดีจากข้างนอกนั้นบ่อยครั้งเมื่อเจาะลึกลงไปก็อาจพบสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เป็นได้ การไว้ใจตาของตนเองแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ใช้สมองและจิตใจที่พยายามค้นหาความจริงประกอบจึงเป็นเรื่องที่สมควรใคร่ครวญโดยแท้