เรื่องแปลกจากอินโดนีเซีย

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
5 เมษายน 2559

          ผู้เขียนได้ไปอินโดนีเซียมาจึงขอนำเรื่องล่าสุดเกี่ยวกับประเทศพี่ใหญ่แห่งอาเซียนนี้มา เล่าสู่กันฟัง ขอเล่าเฉพาะเรื่องแปลก ๆ ที่อาจมีคนจำนวนไม่มากนักทราบกัน

          หลังจากที่ไม่ได้ไปเมืองจาการ์ต้าเมืองหลวงมาประมาณกว่า 10 ปี ผู้เขียนบอกได้เลยว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คลองจำนวนมากน้ำใส มีต้นไม้ปลูกริมคลองสวยงาม สะอาดและร่มรื่นในหลายบริเวณ ต้นไม้ใหญ่มีหนาตาขึ้น และเย็นตาท่ามกลางความร้อนกว่าบ้านเรา (ใกล้เส้นศูนย์สูตรซึ่งวิ่งผ่านอินโดนีเซียทางตอนเหนือ)

          ผู้เขียนไปอินโดนีเซียโดยเฉพาะจาการ์ต้ามานับสิบ ๆ ครั้งในระหว่างปี 1980-2000 ล่าสุดไปเมืองบันดุงเมื่อ 2 ปีก่อน จึงเชื่อว่าพอให้ภาพเปรียบเทียบได้

          ประเทศนี้มีประชากรปัจจุบันประมาณกว่า 250 ล้านคน เฉพาะจาการ์ต้ามีคนอาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน หากรวมรอบนอกด้วยก็อาจถึง 20 ล้านคน หากดูด้วยสายตาและสังเกตการเปลี่ยนแปลง พูดได้เต็มปากว่าการบริหารจัดการเมืองใหญ่และประเทศใหญ่เช่นนี้เป็นไปด้วยดีกว่าสมัยก่อนเป็นอันมาก

          จาการ์ต้าเป็นแหล่งของการมีงานทำ ผู้คนจึงหลั่งไหลอพยพจากเกือบทุกบริเวณของอินโดนีเซียเข้ามาหางานทำซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย คนเร่ร่อนจึงมีอยู่มากพอควร อาชีพหนึ่งที่บ้านเรายังไม่มีคืองานช่วยการจราจรเล็ก ๆ น้อย ๆเพื่อหารายได้ เช่น ช่วยโบกรถเวลาเลี้ยวยูเทิร์น (ไปยืนขวางนั่นแหละเพื่อให้คันที่หมายตาไว้สามารถเลี้ยวได้สะดวก) คนขับก็จะเปิดกระจกและหยิบเงินให้ประมาณ 2,000 รูปี (ประมาณ 6 บาท อัตราแลกเปลี่ยนคือ 10,000 รูปี เท่ากับ 30 บาท) ทำเช่นนี้เกือบตลอดเวลาในเมืองจน ข้างคนขับรถบัสจะมีธนบัตร 2,000 รูปีไว้เป็นตั้งเพื่อเอาไว้จ่าย “ผู้ช่วย” ซึ่งมีอยู่แทบ ทุกแยก เรื่องนี้น่าจะเป็นทัศนคติของ “พอ ๆ ช่วยกันไป” ให้อยู่กันได้เพราะสมประโยชน์กัน ซึ่งเป็นเรื่องน่ารัก

          นอกจากนี้ถนนบางสายที่ห้ามรถยนต์ที่มีต่ำกว่า 3 คนนั่งผ่าน ก็จะมีคนยืนคอยรับจ้างนั่งโดยสารไปกับรถที่ขับมาคนเดียวหรือสองคนเพื่อไม่ให้ถูกจับ ทุกเช้าเวลาเร่งด่วนจะมีคนได้รับรายได้ไม่น้อยจากการแก้เผ็ดมาตรการแก้ไขปัญหาจราจรนี้ทีเดียว

          อินโดนีเซียไม่มีระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้าใต้ดิน หรือบนดิน แต่ที่มีและได้ผลก็คือบริการรถโดยสารที่บ้านเราเรียกว่า BRT แถวถนนนราธิวาส ฯ กล่าวคือมีช่องทางพิเศษให้รถโดยสารวิ่งตลอดเวลาโดยมีอิฐกั้นเตี้ย ๆ ป้องกันคนอื่นไปช่วยใช้ซึ่งมีมอเตอร์ไซค์เข้าไปวิ่งให้เห็นอยู่บ้าง

          สิ่งที่อัศจรรย์อย่างมากก็คือมอเตอร์ไซค์ที่มีอยู่มากมายเหมือนบ้านเรานั้น คนขี่ ทุกคนใส่หมวกกันน็อกและเป็นหมวกจริงไม่ใช่ปลอม ๆ ผู้เขียนจ้องจับผิดอยู่หลายวันก็ยังไม่เคยเห็นแม้แต่คนเดียวที่ไม่ใส่บนถนนในจาการ์ต้า ซึ่งเหมือนกับที่ฮานอย ตำรวจเขาเข้มข้นได้จริง ๆ ในเรื่องนี้ เขาทำสำเร็จได้อย่างไรน่าศึกษามาก

          อินโดนีเซียประกอบด้วยเกาะจำนวน 14,000 เกาะ ประกอบด้วยกลุ่มเกาะใหญ่ 5 กลุ่ม

          ซึ่งได้แก่ Sumatra/Java (ประชากรกว่าร้อยละ50 อยู่บนเกาะนี้) / Kalimantan / Sulawesi / Lesser Sunda Islands (บาหลีอยู่ในนี้) ดังนั้นจึงมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างยิ่ง (คำขวัญของประเทศคือ “Unity in Diversity”)

          อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นลำดับสี่ของโลก เป็นประเทศมุสลิมที่มีประชากรมากที่สุด มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทย 2.4 เท่า พื้นที่ซึ่งเป็นที่ดินใหญ่กว่าไทย สี่เท่าตัว (ไทย 500,000 ตารางกิโลเมตร อินโดนีเซียเกือบ 2 ล้านตารางกิโลเมตร) รายได้ประชากรต่อหัวของไทยคือ 5,400 เหรียญสหรัฐ (180,000 บาท) ต่อปี ส่วนอินโดนีเซียคือ 3,500 (115,000 บาท) เวียดนาม 2,300 (80,000 บาท)

          ขนาดเศรษฐกิจและประชากรที่ใหญ่กว่าเพื่อนใน ASEAN จึงทำให้เป็นผู้นำไปโดยปริยาย หากอินโดนีเซียไม่นำ ASEAN อย่างจริงจัง การเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ก็คงเป็นไปได้ยากในความเป็นจริง ถึงแม้ว่าในทางการจะเป็นไปแล้วตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2015 ก็ตาม

          เป็นที่ทราบกันดีใน ASEAN ว่าประเทศที่ประชาชนมีความตื่นตัวมากที่สุดกับการเป็นประชาคมอาเซียนก็คือประเทศไทย ไม่ว่าจะไปโรงเรียนเล็กหรือใหญ่ในเมืองหรือชนบท จะเห็นเรื่องราวของ ASEAN ติดอยู่ข้างฝาห้องเรียน บ้างก็มีธงชาติหรือข้อมูลเกี่ยวกับประเทศสมาชิกแสดงไว้

          เราไปไกลกันถึงกับเลื่อนการเปิดเรียนภาคแรกของสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด จากเดิมมิถุนายนไปเป็นเดือนสิงหาคม ทั้งนี้เพื่อให้ตรงกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ตรงกับอีกหลายประเทศสมาชิกอยู่ดี และท่ามกลางความร้อนระอุของเดือนเมษายนและพฤษภาคม นักศึกษามหาวิทยาลัยต้องเรียนภาคสองกันอย่างเหงื่อไหลไคลย้อยเพื่อความเป็นอาเซียน

          พูดถึงเรื่องความร้อนก็สังเกตเห็นว่าบ้านของผู้คนในเกาะชวานั้นมักไม่มีหน้าต่างระบายอากาศ จะมีความรู้สึกว่าค่อนข้างมืดและอึดอัดสำหรับคนที่ชอบลมเย็นพัดโกรกบ้านแบบคนไทย ได้ทราบว่าคนอินโดนีเซียโดยทั่วไปไม่ชอบการปะทะลมเย็นที่ออกมาจากเครื่องปรับอากาศ และจาก ลมธรรมชาติ ดังนั้นเกือบทุกสถานที่จึงไม่เย็นฉ่ำเสมือนอยู่ขั้วโลกเหนือเช่นบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นล็อบบี้โรงแรม สนามบิน ศูนย์การค้า สถานที่สาธารณะต่างมีความเย็นลักษณะนี้เหมือนกันหมด ได้ทราบว่าเหตุผลคือบางคนกลัวไม่สบาย แต่บ้างมีความเชื่อว่าลมนำสิ่งชั่วร้ายมา

          คนอินโดนีเซียดูจะทนความร้อนได้ดีกว่าคนไทย เสื้อบาติกคอเสื้อเชิ้ตปล่อยชายซึ่งเคยเป็นเครื่องแบบประจำชาติอันศักดิ์สิทธิ์ (โดยเฉพาะมีแขนยาว) ปัจจุบันใส่กันทั่วไปในชีวิตประจำวัน กล่าวคือชายเกือบทุกคนใส่เสื้อบาติคแบบเดิมปล่อยชายสไตล์เสื้อฮาวาย แขนสั้นเพียงแต่เป็นผ้าลายบาติค และผ้าส่วนใหญ่ก็เป็นลายพิมพ์ด้วยเครื่องจักร ไม่ใช่ทำด้วยมือเหมือนเครื่องแบบประจำชาติ เสื้อแบบนี้เหมาะสมมากกับอากาศร้อน ใส่สบายเพราะระบายอากาศได้ดี

          สิ่งที่ประทับใจของทุกคนที่ไปเยือนจาการ์ต้าก็คือ การจราจรที่ติดขัดอย่างหนัก เกือบทุกแห่ง ทุกเวลา เดิมก็ติดขัดมายาวนาน แต่เมื่อมีการปิดกั้นช่องทางเพื่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินและบนดินจึงทำให้ติดขัดยิ่งขึ้น เมืองอื่น ๆ ที่เห็นก็ติดขัดเช่นเดียวกัน

          ทางด่วนที่พอมีอยู่บ้างก็ติดขัดเหมือนถนนธรรมดา ใครที่เบื่อหน่ายการจราจรกรุงเทพฯ ถ้าเห็นจราจรที่จาการ์ต้าแล้วจะรู้ว่าของเรานั้นเพียงอยู่ในระดับลูกเท่านั้นเอง (ถ้าอยากเห็นระดับปู่ขนานแท้ก็ต้องไปมะนิลาครับ)

          สิ่งแปลกอีกอย่างหนึ่งซึ่งตรงข้ามความเข้าใจของคนไทยก็คือค่าจ้างแรงงานไร้ฝีมือของโรงงานในบริเวณตะวันตกของเกาะชวา คือแถบจาการ์ต้านั้นสูงกว่าไทย มีการคำนวณว่าอาจสูงถึงประมาณ 340 บาทต่อวัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะถึงแม้ตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำจะต่ำจริงแต่ที่นี่จ่ายเป็นรายเดือนโดยเดือนหนึ่งทำงาน 25 วัน ถึงแม้จะไม่มาทำงานก็ได้เงิน และได้รับสวัสดิการอื่น ๆ ด้วย เช่น แรงงานทุกคนได้รับโบนัสไม่ต่ำกว่า 1 เดือนต่อปี รัฐบาลเป็นผู้บังคับกฎเกณฑ์ และจะสั่งให้ปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามแรงกดดันจากสหภาพแรงงานในปัจจุบัน สำหรับไทยนั้นจ่ายเป็นรายวัน ๆ ละ 300 บาท หากไม่มาทำงานก็ไม่ได้เงิน เมื่อคำนวณดูจำนวนวันที่ทำงานจริง ๆ และรายจ่ายอื่น ๆ ก็พบว่าค่าแรงอินโดนีเฃียในบริเวณนี้โดยแท้จริงแล้วสูงกว่าไทย อย่างไรก็ดีในท้องที่อื่น ๆ ที่ไกลออกไปทางตะวันออกของเกาะชวา ค่าจ้างแรงงานไร้ฝีมือต่ำกว่ามากเนื่องจากมีแรงงานเหลือเฟือ

          อินโดนีเซียเป็นประเทศน่าท่องเที่ยวเพราะงดงามด้วยภูมิประเทศและความหลากหลายของวัฒนธรรม มีสินค้าทุกระดับให้ฃื้อในชอปปิ้งมอลล์จำนวนมาก เมื่อรถไฟฟ้าใต้ดินและบนดินเสร็จจะน่าท่องเที่ยวยิ่งขึ้นอีกมาก