ดอกโบตั๋นที่ลั่วหยาง

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
24 พฤษภาคม 2559

          ดอกโบตั๋นมีชื่อเสียงเลื่องลือในความงามจนมีภาพวาดทั้งในอดีตและปัจจุบันในจีน ยุโรป และทวีปอเมริกามากมายเนื่องจากเป็นพืชพื้นเมืองของเอเชีย ยุโรป และบริเวณตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ เมื่อมีคำเล่าลือเช่นนั้น เพื่อน ๆ และผมจึงตามไปดูกันที่เมืองลั่วหยาง (Luoyang) เมื่อปลายสงกรานต์ที่ผ่านมา

          เราไปกัน 20 คน หญิงเกือบทั้งหมด สนุกสนานมากเพราะเป็นคนในวัยเดียวกัน รู้จักกันตั้งแต่ชั้นมัธยมปลายเมื่อ 50 ปีก่อน ในช่วงก่อนเดินทาง ผู้เขียนแอบไม่ค่อยแน่ใจนักว่าจะไปกันรอดหรือไม่เพราะจากไลน์ที่เขียนถึงกันนั้น รู้สึกว่ามีความหวั่นไหวกันในหลายเรื่อง แต่เมื่อไปกันแล้วไม่มีปัญหาใด ๆ เลย ทุกคนเดินกันทนทานกระฉับกระเฉง (ถึงแม้บางคนจะช้าหน่อย) โดยเฉพาะตรงใกล้ร้านขายของ ทุกคนมีรสนิยมที่ตรงกันอยู่อย่างน้อยสองอย่างคือเข้าห้องน้ำกับถ่ายรูป โดยเฉพาะกับดอกโบตั๋น (แถมติดดอกโบตั๋นเทียมบนผมกันเต็มพิกัดเพื่อถ่ายรูปอีกด้วย หลานยายหลานย่าเห็นรูปแล้วงงกันเป็นแถว)

          ดอกโบตั๋นกับดอกท้อนั้นแตกต่างกัน โบตั๋นคือ peony ซึ่งเป็นดอกโดด ๆ ดอกใหญ่ มีกลีบเป็นชั้น ๆ ซ้อนกัน ส่วนดอกท้อคือ plum flower ซึ่งเป็นดอกช่อออกชมพู และก็ต่างจากดอกซากุระหรือดอกเชอรี่ซึ่งเป็นช่อออกชมพูขาวเช่นเดียวกัน (ลูกเชอรี่ไม่ได้มาจากซากุระ)

          ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ที่คนจีนร่ำรือกันในความงาม มีบทกวีที่กล่าวถึงความงามมากมายในเฉพาะในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618–907) โบตั๋นมีถึงกว่า 40 พันธุ์ มีสีเดียวเช่นแดง เหลือง ชมพู ขาว จนกระทั่งถึงผสมหลายสีในดอกเดียวกัน โบตั๋นเป็นไม้พุ่มที่มีผู้นิยมปลูกกันในสวนมากที่สุดพันธุ์หนึ่ง ดอกของมันเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมานับพันปี

          ดอกโบตั๋นไม่ใช่ดอกไม้ประจำชาติจีน ในปี 1903 ในสมัยราชวงศ์ชิง มีการประกาศให้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติ แต่ในปี 1929 สมัยรัฐบาลจีนยุคใหม่(ราชวงศ์ชิงล้มไปตั้งแต่ 1912) ประกาศให้ดอกท้อเป็นดอกไม้ประจำชาติเนื่องจากโยงใยกับหลักสาม ประการของอดีตประธานาธิบดีซุนยัดเซ็น ซึ่งได้แก่ nationalism / democracy และ the livelihood of the people

          ต่อมาไต้หวันในปี 1964 ได้ประกาศให้ดอกท้อเป็นดอกไม้ประจำชาติ ในปี 1994 สมาคมผู้ปลูกดอกไม้ของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้พยายามผลักดันให้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติ แต่ทางการก็เก็บเรื่องไว้เงียบ ในปี 2003 ก็มีกระบวนการเลือกดอกไม้ประจำชาติอีกครั้งแต่ก็เงียบไปอีกครั้ง จนกระทั่งบัดนี้จีนก็ยังไม่มีดอกไม้ประจำชาติทางการ การเมืองเรื่องดอกไม้โบตั๋นจึงน่าสนใจ เพราะครั้นจะเลือกดอกโบตั๋นราชวงศ์ชิงฃึ่งถูกโค่นล้มไปก็เลือกไปแล้วในปี 1903 ครั้นจะเลือกดอกท้อก็ถูกไต้หวันเลือกไปแล้ว และคงมีคนจีนไม่พอใจโดยเฉพาะบริเวณเมืองลั่วหยาง ซึ่งอยู่ใกล้เมืองซีอานแหล่งวัฒนธรรมเก่าแก่และมีประชาชนชื่นชอบดอกโบตั๋นอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงไม่ตัดสินใจ ทิ้งไว้ให้คนรุ่นต่อไปรับภาระ ดังแนวคิดของเติ้ง เสี่ยว ผิงเกี่ยวกับเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้และไม่ถึงขนาดคอขาดบาดตาย

          ดอกโบตั๋นไม่ใช่ดังเฉพาะในจีนเท่านั้น รัฐสภาอินเดียน่าของสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายให้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำรัฐตั้งแต่ ค.ศ. 1957 แทน zinnia (ดอกบานชื่น) ที่เป็นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1931

          คนจีนเรียกดอกโบตั๋นว่า “หมู่ตาน” ชื่อโบตั๋นในภาษาไทยนั้นมาจากชื่อดอกไม้นี้ในภาษาญี่ปุ่นว่า “โบะตัง” ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าคนไทยเรียกว่าโบตั๋นกันมาตั้งแต่สมัยไหน หรือเพี้ยนมาจาก “หมู่ตาน” ก็เป็นได้ (ขนาดชื่อของ “เฮนรี เบอร์นี” ทูตอังกฤษเดินทางมาไทยในสมัยราชกาลที่ 3 คนไทยยังเรียกว่า “หันแตร บารนี”

          โบตั๋นมิได้งามแต่รูปเท่านั้น หากหลายพันธุ์มีกลิ่นหอมและรุ่มรวยในสรรพคุณทางยามานับพันปี ทั้งเมล็ด เปลือก ราก ใบ คนจีนใช้เป็นสมุนไพรประจำบ้านเช่นเดียวกับ charlemagne ในประวัติศาสตร์อังกฤษที่เป็นทั้งเพื่อนของหมอและคนปรุงอาหาร หลายส่วนประกอบของต้นโบตั๋นลดไข้ รักษาการอักเสบ ปวดหัวตัวร้อน รักษาอาการชัก ฯลฯ

          ดอกท้อกับดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ที่แข่งขันกันมายาวนานในประวัติศาสตร์จีน โบตั๋นเป็นที่รู้จักกันในนามของ “ดอกไม้แห่งความมั่งคั่งและเกียรติยศ” “ราชาของดอกไม้” ในญี่ปุ่นเรียกโบตั๋น บางพันธุ์ว่า “นายกรัฐมนตรีของดอกไม้” ความนิยมโบตั๋นกระจายไปถึงเกาหลี ญี่ปุ่น (ดอกโบตั๋นกับสัตว์เป็นลายสักที่นิยมกันมากในญี่ปุ่น)

          เอกสารของจีนกล่าวว่าการปลูกโบตั๋นเริ่มตั้งแต่เมื่อ 1,400-4,000 ปีก่อน เพื่อใช้เป็นสมุนไพร แต่มีการนำมาปลูกในสวนเพื่อความงามในสมัยจักรพรรดิ Yang (ค.ศ. 605-617) ของราชวงศ์สุ่ย ต่อมาในราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) โบตั๋นได้รับความนิยมอย่างมาก มีการคัดสรรพันธุ์ที่งดงามมาปลูกในสวนของพระราชวัง

          ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279) การปลูกโบตั๋นได้กระจายไปทั่วประเทศ ลั่วหยางซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์นี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมการปลูกโบตั๋นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          ลั่วหยางมีอุณหภูมิที่ไม่หนาวเกินไป อีกทั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำจากแม่น้ำเหลืองและแม่น้ำเว่ย ไม่ห่างคลองที่ขุดเชื่อมต่อระหว่างเมืองไคเฟ็งกับหังโจวริมทะเล (ขุดในสมัยราชวงศ์สุ่ย) และคลองที่ขุดเชื่อมต่อระหว่างเซี่ยงไฮ้กับเทียนจิน (ขุดในสมัยราชวงศ์หยวน ค.ศ. 1279-1368) ฯลฯ ลั่วหยางจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญระหว่างการคมนาคมในประเทศกับเส้นทางสายไหมที่เชื่อมต่อไปต่างประเทศ

          ลั่วหยางเป็น 1 ใน 7 ของเมืองเก่าแก่ของจีน เป็นบริเวณที่เป็นเมืองหลวงของ 13 ราชวงศ์ตลอดระยะเวลายาวนานถึง 5,000 ปี เป็นเมืองน่าท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ นอกเหนือจากการเป็นเมืองหลวงการปลูกโบตั๋นของโลกแล้ว

          เนเธอร์แลนด์มีดอกทิวลิป อังกฤษมีดอกกุหลาบ จีน (ลั่วหยาง) ก็มีดอกโบตั๋น เป็นสัญลักษณ์สำคัญแก่โลก (ไทยต่อไปอาจมีดอกเบี้ย) ภาพเขียนดอกโบตั๋นไม่ว่าโดยจิตรกรจีน ยุโรป หรืออเมริกัน ไม่ว่าในสไตล์ใดจับตาจับใจเสมอด้วยความงามจากความซับซ้อนของกลีบ และความหลากหลายของสี

          ทุกปีดอกโบตั๋นจะบานประมาณครึ่งหลังของเดือนเมษายนเท่านั้น เมืองลั่วหยางจัดนิทรรศการทุกปีระหว่าง 15-29 เมษายน ถ้าอยากจะดูดอกโบตั๋นบานอย่างงดงามเต็มที่โดยไม่ชอกช้ำ ไม่มีใครบุกเข้าไปกอดจับ ลูบคลำ รวมทั้งถ่ายรูปแบบประชิดดอกและลำต้นแล้ว ควรไปตั้งแต่ต้นฤดูกาล หรือก่อนหน้าด้วยซ้ำเพราะมีสวนดอกโบตั๋นเอกชนให้ชมอีกหลายแห่ง

          ดอกโบตั๋นงามจริง ๆ ครับ แต่ต้องเตรียมตัวไปด้วยสปิริตของการต่อสู้ในทุกเรื่องตั้งแต่ เข้าแถว ขึ้นรถ เข้าห้องน้ำ ทานอาหาร ฯลฯ เพราะมีจำนวนคนมากจริง ๆ ที่ต้องการสิ่งเดียวกับพวกเรา