การฉีดวัคซีนคือนวตกรรมที่ยิ่งใหญ่

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
28 มิถุนายน 2559

          พวกเรากลัวเข็มฉีดยาวัคซีนฉันใด เด็กรุ่นปัจจุบันก็ยังคงกลัวฉันนั้น และคงจะกลัวกันต่อไปจนกว่าจะมีวิธีการอื่นที่ดีกว่าการฉีดยา พ่อแม่พะวงกลัวลูกเจ็บตัวและมีผลแทรกซ้อนโดยลืมนึกไปว่าการฉีดวัคซีน (vaccination) นี่แหละเป็นนวตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดชิ้นหนึ่งของมนุษยชาติ

          ก่อนมีวัคซีนมนุษย์ตายกันเป็นใบไม้ร่วงจากสารพัดโรคติดเชื้อ เช่น โปลิโอ อหิวาตกโรค โรคฝีดาษ โรคบาดทะยัก โรคคอตีบ โรคไอกรน โรคพิษสุนัขบ้า ฯลฯ

          โรคฝีดาษเป็นโรคร้ายแรงที่ผูกพันกับประวัติศาสตร์การฉีดวัคซีนมากที่สุด เชื่อกันว่า โรคฝีดาษเกิดขึ้นกับมนุษย์เมื่อประมาณ 12,000 ปีก่อนในประวัติศาตร์ของมนุษย์ที่ยืนตัวตรง และมีหน้าตาเหมือนมนุษย์ปัจจุบันเมื่อ 150,000 ปีก่อน มีหลักฐานของรอยแผลเป็นจากโรคฝีดาษบนร่างมัมมี่ของฟาโรห์Ramses ที่ 5 ของอียิปต์

          ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 โรคฝีดาษฆ่าคนยุโรปไป 400,000 คนต่อปี และเป็นสาเหตุของจำนวนหนึ่งในสามของคนตาพิการ ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 โรคฝีดาษพร่าคนไปประมาณ 300-500 ล้านคน แม้แต่ในปี 1967 WHO (World Health Organization) ประมาณการว่ามีคนติดเชื้อในปีนั้น 15 ล้านคน และในจำนวนนี้ 2 ล้านคนเสียชีวิต

          อย่างไรก็ดีการรณรงค์ต่อสู้โรคฝีดาษด้วยการใช้วัคซีนตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ทำให้ WHO ให้คำยืนยันในปี 1979 ว่าโรคฝีดาษเป็นโรคติดเชื้อที่สามารถกำจัดได้แล้ว ต่อมาในปี 2011 อีกโรคหนึ่งคือ Rinderpest ก็ได้รับคำประกาศลักษณะเดียวกัน โรคนี้เป็นโรคไวรัสร้ายแรงที่เป็นกับสัตว์ประเภทวัวควาย

          ขอเสนอสถิติเพื่อให้เห็นภาพว่าโรคติดเชื้อร้ายแรงเพียงใด อังกฤษซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านการแพทย์อย่างมากในสมัย ค.ศ. 1750 นั้น เด็กเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่รอดพ้นอายุ 5 ขวบ (ตาย 2 ใน 3) เด็กทุกคนจะมีประสบการณ์ที่พี่หรือน้องเสียชีวิตจากการติดเชื้อ หรือพิการ หรือมีรูปลักษณ์ผิดไปเนื่องจากการเจ็บป่วย ปัจจุบันสถิติเดียวกันของอังกฤษก็คือในเด็กจำนวน 1,000 คน ที่เกิดมีตายเพียง 4 คนเท่านั้น (อัตราตายต่ำลงประมาณ 170 เท่า)

          โรคโปลิโอเมื่อ 20 กว่าปีก่อนพร่าชีวิตปีละ 300,000 คน (ปัจจุบันเกือบหมดไปจากโลก) การตายของโรคหัดลดจาก 6 ล้านคนต่อปี เหลือต่ำกว่า 1 ล้านคน โรคบาดทะยักซึ่งแต่ก่อนฆ่าเด็กมานัก ต่อนัก ปัจจุบันหายไปจาก 2 ใน 3 ของประเทศกำลังพัฒนา โรคไอกรนก็หายไปร้อยละ 90 โรคคอตีบก็หายไปในสัดส่วนเดียวกัน

          การฉีดวัคซีนซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการลดลงของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อมีความเป็นมาที่น่าสนใจ และผูกโยงกับโรคฝีดาษซึ่งเป็นโรคระบาดที่ติดเชื้อกันได้ง่ายและเกิดผลรุนแรงดังกล่าวแล้ว จีนเป็นชาติแรกในโลกที่สังเกตและค้นพบวิธีสู้กับโรคฝีดาษที่เมื่อติดเชื้อจนเกิดเม็ดมีหนองขึ้นบนส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไข้ขึ้นสูง ระบบทำงานของร่างกายล้มเหลว ฯลฯ แล้วโอกาสรอดนั้นมีไม่มากนัก

          อย่างไรก็ดีคนจีนพบว่าคนที่รอดตายมาพร้อมกับแผลเป็นมีรอยปรุบนใบหน้าและลำตัวแล้วจะไม่ติดโรคนี้อีกไม่ว่าจะอยู่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรคนี้เพียงใดก็ตาม ดังนั้นจึงเอาหนองจากแผลคนที่เป็นชนิดไม่รุนแรงมากมาใส่แผลสดของคนที่ยังไม่เคยเป็น บางคนก็ตายจากการเป็นโรคฝีดาษ แต่ส่วนใหญ่รอดชีวิต และดูเหมือนจะมีภูมิต้านทานเหมือนกับคนที่เคยเป็นโรคมาแล้วจริง ๆ

          การกระทำเช่นนี้ที่เรียกกันว่า “variolation” ลามเป็นไฟไหม้ป่า จากเอเชียสู่ตุรกีซึ่งทูตอังกฤษประจำประเทศนี้และภรรยาเกิดความเลื่อมใส ภรรยาของทูตคือ Lady Mary Wortley Montague จึงทำวิธีนี้กับลูกของเธอ ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า Inoculation ซึ่งหมายถึงการจงใจรับเอาเชื้อมาเพื่อให้ เป็นโรค เมื่อเห็นว่าวิธีนี้ประสบความสำเร็จจึงแพร่กระจายไปยังชนขั้นสูงของอังกฤษ

          ถึงแม้วิธีนี้จะมีความเสี่ยงอยู่มากแต่คนส่วนหนึ่งก็พร้อมที่จะเสี่ยงมากกว่านั่งพับเพียบพนมมือรอโรคฝีดาษ ซึ่งโอกาสตายหรือรอดมาอย่างหล่อหรือสวยเหมือนเดิมมีน้อยมาก ในทศวรรษ 1790 หมอหนุ่มชาวอังกฤษคือ Edward Jenner ก็เป็นผู้ทำให้เกิดฝันดีมากกว่าฝันร้ายหลายเท่าตัวนัก

          หมอผู้นี้สังเกตเห็นว่าสาว ๆ จำนวนมากที่ทำงานรีดนมวัวมีหน้าตาหมดจดไร้รอยแผลเป็นจากโรคฝีดาษ เขาเดาว่าพวกนี้คงเคยเป็นโรค cowpox หรือโรคฝีดาษวัวซึ่งมีอาการเบาบางกว่าโรคฝีดาษจริงเป็นอันมาก ดังนั้นจึงเอาลูกชายคนสวน (ไม่ใช่ลูกตัวเองดังเรื่องเล่าเพราะการเอาลูกคนอื่นมาเสี่ยงน่าจะเป็นไอเดียที่ดีกว่า) ชื่อ James Phipps มาทดลอง

          เขาเอาหนองจากแผลที่เป็นโรค cowpox มาใส่แผลสดของ James หลังจากนั้น 2-3 อาทิตย์ เขาจงใจให้ James สัมผัสกับเชื้อโรคฝีดาษ ผลปรากฏว่าถึงแม้จะทดลองอีกหลายครั้งเขาก็ไม่เป็นโรคฝีดาษ Jenner สามารถโน้มน้าวให้ทางการอังกฤษเห็นว่าการจงใจให้สัมผัสกับเวอร์ชั่นของโรคที่ไม่มีพิษภัยคือการป้องกันได้สำเร็จ นับแต่นั้นเป็นต้นมานวตกรรม vaccination ก็เกิดขึ้นในโลก มีการค้นคว้าวิจัยเรื่องโรคติดเชื้ออื่น ๆ อีกมากมายเพื่อใช้วิธีนี้ป้องกันโรคอย่างได้ผล

          vaccination ทำงานได้ผลก็เพราะร่างกายของเรามีระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อร่างกายรับเอา pathogen (เชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรค) เข้ามาในร่างกายก็เกิดปฏิกิริยาผลิตโปรตีนออกมาเป็นระลอกซึ่งเรียกว่า antibodies ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของแต่ละเชื้อโรค

          ร่างกายใช้เวลาไม่มากนักที่จะผลิต antibodies ที่ตรงกับเชื้อโรคนั้นโดยร่างกายอาจต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการของโรคก่อนที่จะสามารถตั้งตัวลุกขึ้นมาต่อสู้ได้ ในที่สุดถ้าสู้ได้เชื้อโรคนั้นก็จะถูกทำลายและร่างกายฟื้นตัว ในเวลาต่อมาหากร่างการประสบกับเชื้อโรคตัวนั้นอีก คราวนี้ antibodies ก็พร้อมที่จะเข้าห้ำหั่นอย่างรวดเร็วและกำจัดเชื้อโรคนั้นก่อนที่มันจะพัฒนาไปไกล

          วัตถุประสงค์ของ vaccination ก็คือการทำให้ระบบภูมิคุ้มกันพร้อมที่จะผลิต antibodies ที่เหมาะสมออกมาโดยใช้วิธีทำให้ร่างกายประสบกับเชื้อโรคที่ตายแล้วหรืออ่อนแอ หรือเป็นส่วนหนึ่งของเวอร์ชั่นอ่อนของเชื้อโรคนั้น เหล่าบรรดาเชื้อโรคไร้พิษภัยเหล่านี้จะไปกระตุ้นการผลิต antibodies ออกมาแต่ไม่ก่อให้เกิดโรคนั้น ๆ

          เคล็ดลับของ vaccination ก็คือการค้นพบวัคซีนที่จะไปกระตุ้นให้เกิดการผลิต antibodies ที่ถูกต้องสอดคล้องกับเชื้อโรคนั้น ปัจจุบันเราสู้กับโรคติดเชื้อได้ดี แต่กำลังเผชิญศึกหนักกับสิ่งที่เรียกว่า NCD (non-communicable disease) ซึ่งประกอบด้วยโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน ฯลฯ รวมกันฆ่าคนทั้งหมดประมาณร้อยละ 80 ของจำนวนการตายทั่วโลกในปัจจุบันในแต่ละปี