New Normal ไม่ใช่เรื่อง Abnormal

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
6
ตุลาคม 2558

Photo by Roger Bradshaw on Unsplash

          New Normal ดูจะเป็นคำที่มีคนพูดถึงกันมากในปัจจุบันเนื่องจากผูกพันกับการเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นอยู่รอบตัวในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจและธุรกิจ อย่างไรก็ดีหากเราพิจารณากว้างขึ้นก็จะเห็น New Normal เกิดขึ้นในเรื่องอื่น ๆ อีกมากในสังคมเรา

          New Normal เริ่มเป็นคำที่ใช้กันในแวดวงเศรษฐกิจและธุรกิจหลังจากการเกิด “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ 2007-2008” และลามไปถึงยุโรป โดยสื่อถึง ‘บรรทัดฐาน’ ใหม่ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ อย่างยิ่งหลังเหตุการณ์สำคัญหนึ่ง

          ในแวดวงวิชาการและสื่อ New Normal เป็นคำที่สะท้อนถึง ‘ระดับอ้างอิง’ ใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างน่าจะถือได้ว่าเป็นมาตรฐานใหม่ เช่น เมื่อสมัยก่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ในระดับร้อยละ 5 ต่อปี จนถือว่าเป็นระดับปกติ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งเกิดขึ้น การเติบโตโดยเฉลี่ยเป็นร้อยละ 3 ต่อปีดังนั้นจึงเกิดอัตราที่เป็นปกติใหม่ขึ้น อย่างนี้เรียกว่า New Normal

          เมื่อมีผู้ตรวจสอบคำนี้ดูในประวัติศาสตร์ก็พบว่ามันไม่ใช่คำใหม่ (ทุกสิ่งเก่า ๆ ในโลกนี้จะกลายเป็นของใหม่เสมอในวันหนึ่ง) Catherine Rampell พบว่าคำว่า New Normal ถูกใช้บ่อยมากที่สุดในหนังสือซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1800 (“Frankenstein”) ตามมาด้วยหนังสือซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1890 ในชุด Sherlock Holmes และตีคู่มาคือหนังสือหลายเล่มซึ่งเขียนโดย Albert Einstein ตีพิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1915

          ในเรื่องเศรษฐกิจไทยระหว่าง ค.ศ. 2000-2010 และ 2011-2014 ได้เกิด New Normal ขึ้นหลายเรื่องอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ เช่น (ก) แรงงานไทยโตช้าลงเรื่อย ๆ (ข) เผชิญการแข่งขันสูงจากหลายประเทศ (ค) ผลิตภาพแรงงานลดลง (ง) ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยสูงขึ้น (จ) หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น (ฉ) มูลค่าการส่งออกขยายตัวช้าลง (ช) ปัจจัยรายอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลง (ซ) ธรรมาภิบาลลดลง

          แรงงานไทยโตช้าลงเรื่อย ๆ จากเดิมในช่วงเวลาแรก 2000-2010 เติบโตร้อยละ 1.2 ต่อปี ลดเหลือร้อยละ 0.2 ต่อปี ในช่วงเวลา 2011-2014 นอกจากนี้ผลิตภาพ (productivity) ของแรงงานไทยซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี เหลือเพียง 1.7 และเมื่อค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มจากร้อยละ 2 ต่อปีในช่วงแรกเป็นร้อยละ 10 ในช่วงหลัง จึงทำให้ต้นทุนแรงงาน ต่อหน่วยพุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.9 ต่อปี

          การแข่งขันจากหลายประเทศ เช่น เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดเงินลงทุนโดยตรงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากที่เคยเป็นแค่ร้อยละ 30 ของเงินลงทุนตรงที่ไหลเข้าไทยเมื่อปี 2543 ก็กลายเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ในปี 2556 มูลค่าการส่งออกของเวียดนาม ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากที่เคยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 17 ของมูลค่าส่งออกไทยก็เพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 70% ในปี 2557 ทั้ง ๆ ที่ขนาดเศรษฐกิจเวียดนามเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของไทย

          หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 85 ของ GDP ในปัจจุบันเมื่อเทียบกับร้อยละ 46 ในปี 2543 เมื่อคำนึงถึงการอิงกับราคาสินค้าเกษตรของแรงงานเกินครึ่งของประเทศ การลดต่ำของราคาสินค้าเกษตรแทบทุกชนิด ทำให้อำนาจซื้อในประเทศขยายตัวได้ยาก

          การส่งออกของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยขยายตัวต่ำกว่าปกติเนื่องจากการแข่งขันจากต่างประเทศ เช่น มูลค่าส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยโตขึ้นร้อยละ 20 ในปี 2552 ในขณะที่เวียดนามเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าตัว

          ปัญหาประสิทธิภาพของระบบราชการ ปัญหาคอรัปชั่น และปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองร่วมกันทำให้ธรรมาภิบาลของไทยอ่อนแอลงจนมีทางโน้มทำให้ต่างชาติขาดความมั่นใจ

          ทั้งหมดนี้ทำให้เกิด New Normal ขึ้นสองประการที่สำคัญ กล่าวคือ (ก) การส่งออกซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมายาวนาน จากที่เคยขยายตัวเฉลี่ยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี New Normal จะเป็นว่าต่ำกว่าร้อยละ 4 ต่อปี (ข) การขยายตัวของเศรษฐกิจ จากที่เคยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ระหว่าง 2000-2010 ก็จะกลายเป็นร้อยละ 3 ต่อปีจากนี้ไป

          New Normal ใน 2 เรื่องนี้ดูจะมีความเป็นไปได้มากกว่าการระบุ New Normal ของการบริโภคในประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศ

          ภาครัฐ ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาครัฐจำเป็นต้องเข้าใจบริบทของการเกิด New Normal ในการกำหนด New Policy (หากไม่มีนโยบายใหม่ ในเวลาไม่นานอาจเกิด New Abnormal คือระดับที่ต่ำอย่างผิดปกติเป็นระดับอ้างอิงใหม่ก็เป็นได้) (ข้อมูลที่ใช้ข้างบนนี้ ผู้เขียนนำมาจากเอกสารของ Thailand Future Foundation, “Thailand’s New Normal”, กรกฎาคม 2015)

          คนไทยจะมีความสุขในอนาคตต่อไปได้ถ้ามีแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในหัวใจ กล่าวคือไม่เพ้อฝันไปสุดโต่งของการเจริญเติบโตสูง ๆ อย่างไม่รู้จบ หากต้องคาดหวังแต่พอควรในทางสายกลางอย่างไม่สุ่มเสี่ยง รู้จักพอ ไม่คาดหวังบรรยากาศที่ดีสำหรับธุรกิจอย่างไม่มีขอบเขต

          New Normal ทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องมี New Normal ในการคาดหวังและการมี mindset ที่เหมาะสมอย่างสอดคล้องกัน มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาทางสังคมอันเนื่องมาจากความผิดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่มีคนยากจนและคนชั้นกลางระดับล่างอยู่เป็นสัดส่วนที่สูงเช่นสังคมไทย การปรับจิตใจของประชาชน และการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมของภาครัฐในการสร้างความสอดคล้องระหว่างสองด้านนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

          New Normal ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจหรือหวาดหวั่นจนขาดสติ โดยธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่มีความรุนแรงเป็นพิเศษภายใต้บริบทปัจจุบันของโลกและประเทศไทย สมรรถนะในการปรับตัวเข้ากับ New Normal เป็นหัวใจสำคัญของการเกิดความสุขในใจของประชาชน และสมรรถนะเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็จากการมีความสามารถในการคิดเท่านั้น การยกเครื่องการศึกษาซึ่งคือการเปลี่ยนแปลงกระบวนการฝึกฝนการคิดอย่างสำคัญจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในยุค New Normal

          คนสองคนนั่งกินข้าวด้วยกันโดยต่างคนต่างนั่งก้มหน้าดูสมาร์ทโฟน ไม่พูดคุยกันก็คือ New Normal เช่นเดียวกับการอ่านสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร ฯ น้อยลงมากก็เป็น New Normal อีกเช่นกัน

          มาตรฐานการใช้ภาษาไทยในลักษณะที่ขาดการออกเสียงควบกล้ำ และ ร.เรือ คือ New Normal (ได้ยินโฆษณาทางวิทยุ “ช่วยกันฆ่าปวกไม่ให้ทำลายบ้านด้วยสมุนไพ ลับลองปวกตาย ยกลัง”) ที่น่าเป็นห่วงสำหรับอนาคตภาษาไทย

          การใช้ภาษาพ่อขุนทั้งในที่สาธารณะและในที่ลับระหว่างเพื่อนและคู่รักก็คือ New Normal (คำพลอดรักด้วยภาษาพ่อขุน คือ Old Normal ซึ่งไม่น่าจะโรแมนติกสำหรับอารยะชนในปัจจุบัน)

          เพลงที่ขาดความกลมกลืนและสุนทรียรส ตลอดจนเสียงร้องเพลงที่ราวกับออกมาจากคนปวดตับและลิ้นบวม (การบีบเสียงสไตล์สุนทราภรณ์ คือ Old Normal ที่คนรุ่นใหม่อาจวิจารณ์ได้เช่นกัน) ก็เป็น New Normal อีกเหมือนกัน

          อำนาจของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และกล้อง CCTV บนรถยนต์ก็เป็น New Normal ทางอำนาจอีกลักษณะหนึ่ง

          New Normal มีทั้งสิ่งที่ถูกใจและไม่ถูกใจคละกันไปแล้วแต่รสนิยมและวัย ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่การปรับตัวและปรับใจเข้ากับการเปลี่ยนแปลงใหม่ให้ได้

          เมื่อ ‘การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์’ New Normal จึงเป็นนิรันดร์เช่นกัน และเป็นดั่งนี้มาตลอดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

ลงทุนการศึกษาเพื่อให้หลุดพ้น “กับดัก”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
29
กันยายน  2558

Photo by Jeswin Thomas on Unsplash

          สหประชาชาติกำลังพูดถึง Global Goals ของโลกใน 15 ปีข้างหน้า หรือที่รู้จักกันใน ชื่อเดิมคือ SDG (Sustainable Development Goals_____เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน) ที่บ้านเราเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีพูดกันถึงเรื่อง “การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในเอเชีย” โดย ดร.ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (อดีตประธาน ADB) ในงาน Amartya Sen Lecture Series

          ปาฐกถาครั้งนี้น่าสนใจเพราะมีส่วนที่เกี่ยวกับไทยอยู่มาก “จดหมายเหตุถึงเพื่อนสมาชิก” ของ สสค. (สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน) ได้ลงสรุปย่อปาฐกถาครั้งนี้ ซึ่งผู้บันทึกคือ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา ของ สสค.

          ในบ้านเราปัจจุบันมีนักเศรษฐศาสตร์การศึกษาน้อยคนมากอย่างน่าเสียดาย รุ่นใหม่ก็มี ดร.ไกรยศ (Harvard) ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ (Australian National University-Berkeley) อยู่ที่ World Bank เป็นผู้รับผิดชอบรายงานสถานะการศึกษาของประเทศไทยที่เพิ่งออกมาและ สสค. กำลังแปลเป็นไทย ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว (Australian National University) อยู่ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีบทความเรื่องการกู้ยืมเพื่อการศึกษา ในวารสารต่างประเทศหลายบทความ ฯลฯ

          ผมขอนำข้อสรุปปาฐกถาบางส่วนมาสื่อต่อดังต่อไปนี้ “…..ดร.ฮารุฮิโกะ กล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจเอเชียจะเติบโตเร็วถึง 12 เท่าภายในเวลา 50 ปีที่ผ่านมา แต่ในอีกไม่ช้านี้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียจะต้องเผชิญกับปัญหาการชะลอตัวเช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกเคยประสบมา เนื่องมาจาก 3 กับดักที่สำคัญคือ

          (1) “กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มปัจจัยการผลิตที่สำคัญ อย่างการลงทุนและการโยกย้ายแรงงานจากชนบทป้อนภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มแรงงานราคาถูก แม้วิธีนี้จะใช้ได้ผลในระยะแรก แต่ผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะค่อย ๆ ลดลงจนหมดไปในที่สุด ประเทศที่ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปได้อย่างประเทศเสือเศรษฐกิจ 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง สามารถก้าวข้ามได้ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเพิ่มผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity) ของระบบเศรษฐกิจ และการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง รวมถึงการเปิดตลาดใหม่สู่การเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขั้นสูงที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

          (2) “กับดักโครงสร้างประชากร” (Demographic Trap) ธรรมชาติของประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร อันเนื่องมาจากอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลงและอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ประชากรในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้จึงมีความเสี่ยงที่จะ “แก่ก่อนรวย” หรือก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ก่อนเป็นประเทศรายได้สูง (High Income Country) การมีประชากรวัยพึ่งพิงสูงกว่าประชากรวัยแรงงานเช่นนี้จะยิ่งทำให้การหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลางล่าช้ายิ่งขึ้นไปอีก

          (3) “กับดักด้านความจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ” (Natural Resource Trap) การสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ น้ำ รวมถึงที่ดิน เป็นต้น เมื่อทรัพยากรเหล่านี้หร่อยหรอไป ภาระต้นทุนการผลิตจึงเพิ่มขึ้นและฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายจึงพยายามรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วยการขยายฐานการค้นหาทรัพยากรธรรมชาติแหล่งใหม่จากในและนอกประเทศตนเอง

          กับดักทั้ง 3 ประการนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่สามารถเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 แห่งเอเชียได้เสียที ปัจจุบันการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาการส่งออกสินค้าการเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังขาดนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงเหมือนเมื่อทศวรรษที่แล้ว ด้วยภาวะการแข่งขันในระดับนานาชาติที่สูงขึ้น รวมถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไม่ยั่งยืน และมีแนวโน้มถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง

          ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีก 10 ปี ในขณะที่ประชากรวัยเด็กกำลังลดลง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ธนาคารโลกได้รายงานว่า “…..มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนโรงเรียนขนาดเล็ก (จำนวนเด็กต่ำกว่า 120 คน) ถึง 5,000 โรงเรียน (ปัจจุบันร้อยละ 50 ของ 28,803 โรงเรียนในบ้านเราเป็นขนาดเล็ก) อันเนื่องมาจากการลดลงของจำนวนนักเรียนกว่า 2 ล้านคน (ร้อยละ 20) ภายในเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยในประเทศไทย ทำให้ปัจจุบันดัชนีการสูงวัย (Aging Index) ซึ่งคิดจากสัดส่วนผู้สูงวัยต่อประชากรเด็ก 0-15 ปีของประเทศไทยสูงถึง 83.1 สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และมีแนวโน้มสูงกว่า 100 ภายใน 10 ปีข้างหน้านี้ ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการก้าวออกจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง

          ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นจึงได้ให้กุญแจ 3 ดอกในการสร้างความยั่งยืนให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในเอเชีย ได้แก่ (1) มาตรการยกระดับคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ (2) การยกระดับสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ และ (3) การพัฒนาตลาดการเงินให้เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ โดยประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนมีประชากรวัยแรงงานส่วนใหญ่ที่มีระดับการศึกษาสูง ตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่ 7 ใน 10 คน ของประชากรวัยแรงงานมีการศึกษาสูงสุดเพียงแค่ระดับประถมศึกษาเท่านั้น

          แม้ว่าประเทศไทยจะเร่งขยายโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาผ่านการลงทุนด้านการศึกษาด้วยการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาสูงถึงปีละ 5 แสนล้านบาทต่อปี และเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปีตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3 ต่อปีเท่านั้น หากต้นทุนการจัดการศึกษายังคงเพิ่ม สูงกว่าการเติบโตของรายได้คนไทยถึง 2.5 เท่าเช่นนี้ มาตรการยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของไทยก็จะไม่ยั่งยืน ระบบการศึกษาไทยจึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปประสิทธิภาพการลงทุนด้านการศึกษาอย่างเร่งด่วน…..”

          ด้วยสถานการณ์และทางโน้มของประเทศเราข้างต้น ดังนั้นจึงมีหนทางเดียวเท่านั้นที่จะสามารถช่วยให้หลุดพ้นจากปัญหาอันหนักหน่วงในอนาคตอันใกล้ได้ นั่นก็คือการเร่งปฏิรูปการศึกษาอย่างไม่อาจรออะไรได้อีกต่อไป

รู้จัก 4-4-80

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
22
กันยายน 2558

Photo by Robina Weermeijer on Unsplash

          เมื่อไม่มีใครอยากตาย มนุษย์จึงพยายามดิ้นรนหลีกเลี่ยงแต่ก็ไม่มีใครประสบความสำเร็จสักคน อย่างดีที่ทำได้ก็คือยืดอายุออกไปให้ยาวที่สุด ปัจจุบันงานศึกษาทางการแพทย์พบความจริงบางอย่างที่ช่วยทำให้มีโอกาสตายช้าลง (ข้อมูลสำหรับข้อเขียนมาจากโครงร่างการบรรยายของศาสตราจารย์ นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ)

          NCD หรือ Non-communicable diseases คือโรคที่มิได้มาจากการติดเชื้อ หรือจากการติดต่อ หากเป็นโรคที่เป็นเรื้อรังหรือสั้น ๆ ก็ได้ อาจเสียชีวิตลงได้ทันที่ในบางโอกาส หรือตายอย่างช้า ๆ ก็ได้ทั้งนั้น เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง สโตรก เบาหวาน โรคไตอย่างเรื้อรัง อัลไซเมอร์ ฯลฯ

          NCD เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของชาวโลก ในปี 2012 NCD เป็นสาเหตุของการตายของชาวโลกร้อยละ 68 (38 ล้านคนเสียชีวิต) โดยเพิ่มจากร้อยละ 60 ในปี 2000

          ในทุกทวีปยกเว้นอาฟริกา NCD เป็นสาเหตุหลักทั้งสิ้น ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2008 ในจำนวนการตายประมาณ 14 ล้านคน ประมาณ 6 ล้านคน เสียชีวิตด้วย NCD

          โดยทั่วไป 4 โรคหลัก คือ โรคเบาหวาน โรคทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง และโรคหัวใจ รวมกันเป็นสาเหตุหลักของการตายจาก NCD

          สำหรับประเทศไทย โดยเฉลี่ยมีคนเสียชีวิตประมาณปีละกว่า 400,000 คน ประมาณครึ่งหนึ่งเสียชีวิตจาก NCD และในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 27 เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี สิ่งที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็น NCD เรียงลำดับความสำคัญ ได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ ความอ้วน และการเนื่อยนิ่ง (การขาด physical activity)

          ในปี 2011 ในการประชุมใหญ่ของสหประชาชาติ (UN General Assembly) ที่เรียกว่า High-Level Meeting on NCD’s Prevention & Control ได้ข้อสรุปหนึ่งที่น่าสนใจโดยมีชื่อว่า 4-4-80

          สูตร4-4-80 หมายถึงว่า 4 ปัจจัยเสี่ยงร่วมกันก่อให้เกิด 4 โรคใหญ่ของ NCD ซึ่งเป็น ตัวอธิบายร้อยละ 80 ของการตายจาก NCD ทั้งหมด

          ขยายความเพิ่มเติมได้ว่า 4 ปัจจัยเสี่ยงอันได้แก่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (อย่างเป็นอันตราย) การใช้ยาสูบ การบริโภคอาหารอย่างไม่เหมาะสม และการเนื่อยนิ่ง หากเกิดร่วมกันในบุคคลหนึ่งจะก่อให้เกิด 4 โรคใหญ่ของ NCD คือโรคเบาหวาน โรคทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง และโรคหัวใจ อันนำไปสู่การเสียชีวิตกว่าร้อยละ 80 ของการตายจาก NCD ทั้งหมด

          เมื่อ NCD อธิบายร้อยละ 68 ของการตายของชาวโลกก็หมายความว่าประมาณร้อยละ 54.4 (68 x 80) ของการตายทั้งหมดในโลกในแต่ละปีเกิดจาก 4 โรคใหญ่นี้ ซึ่งมีสาเหตุจาก 4 สาเหตุหลัก ซึ่งทั้งหมดอาจปรับแก้ไขได้โดยเจ้าของร่างทั้งสิ้น

          ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่าประมาณร้อยละ 54 ของการตายทั้งหมดของชาวโลกมาจาก 4 สาเหตุ ซึ่งได้แก่ แอลกอฮอล์ ยาสูบ อาหารไม่เหมาะสม และการเนื่อยนิ่ง เฉพาะอาหารไม่เหมาะสมเท่านั้นที่อาจเป็นสิ่งที่ปรับแก้ไขไม่ได้ เช่น ความยากจนทำให้ขาดอาหารที่เหมาะสม แต่ที่เหลืออีก 3 สาเหตุนั้นล้วนปรับแก้ไขได้ทั้งสิ้น กล่าวคือหลีกเลี่ยงเหล้า ยาสูบ และชีวิตที่ เนื่อยนิ่ง

          สำหรับคนที่มีอันจะกินอาจกล่าวได้ว่าสามารถแก้ไขเพื่อหลีกหนีความเสี่ยงอันเกิดจาก 4 สาเหตุได้ทั้งหมดเพียงแต่ลดดีกรีความมีอัน “จะกิน” ลง

          บ่อยครั้งที่ความมีอันจะกินนำไปสู่เหล้า ยาสูบ และบริโภคอาหารมากเกินไปจนเกิดความอ้วนซึ่งนำไปสู่โรคเบาหวานประเภท II (มิได้เป็นโรคนี้มาแต่กำเนิด) และหากเติมความเนื่อยนิ่งเข้าไปด้วยแล้วก็เรียกได้ว่าครบสูตร กล่าวคือมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของสถิติตายร้อยละ 80 ค่อนข้างสูง

          ปัจจุบันเรามักไม่ค่อยได้ยินคำแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ต่ออาทิตย์ เนื่องจากงานศึกษาหลายชิ้นพบว่าการมีชีวิตที่คึกคักกระฉับกระเฉง เคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอด้วยการเดินเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และอาจทดแทนการออกกำลังกายดังกล่าวได้พอควร

          เมื่อการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ยากสำหรับคนทั่วไปในขณะที่การมีชีวิตที่ไม่เนื่อยนิ่งนั้นกระทำได้ง่ายกว่า ดังนั้นจึงได้กลายเป็นข้อแนะนำไป (ใครจะเอา 4-4-80 ไปแทงหวย ผมไม่ว่าอะไรขอเพียงเดินไปสัก 3 กิโลเมตรเพื่อไปแทงแล้วกัน)

          การลดอัตราการเสียชีวิตกระทำได้ด้วยการส่งเสริมการลดละเลิกแอลกอฮอล์และยาสูบ การบริโภคอาหารอย่างเหมาะสมและมีชีวิตที่ไม่เนื่อยนิ่งซึ่งมีส่วนช่วยให้ค่าใช้จ่ายของสังคมต่ำกว่าการรักษาพยาบาลหลังจากที่เป็น NCD แล้วเป็นอันมาก

          “การรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดคือการไม่เจ็บป่วย” การทุ่มเททรัพยากรเพื่อการป้องกันโรคจึงเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นสุขด้วยต้นทุนที่ต่ำ

          ชีวิตคือการเลือก เราทุกคนเลือกแบบแผนการใช้ชีวิตได้อย่างเสรี แต่ต้องไม่ลืมผลหรือราคาที่ตามมาก็แล้วกัน

          ถึงจะรอดจาก NCD แต่ก็มีโอกาสเสียชีวิตจากเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การเจ็บป่วย รวมทั้งเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อและโรคติดต่อต่าง ๆ ดังนั้นการหลีกเลี่ยง 4 ปัจจัยนี้จึงเป็นเพียงวิธีการในการลดความเป็นไปได้ในการเสียชีวิตลงเท่านั้นเอง

          โอกาสตายมีอยู่รอบตัว ถ้าตัดความเสี่ยงจาก NCD ลงไปได้บ้างก็ถือได้ว่าเป็นหนทางที่น่าเดินแล้ว

GDP ไม่ดีหลายอย่าง

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
15
กันยายน  2558

Photo by Mathieu Stern on Unsplash

          GDP ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและราวกับเป็นตัวเลขที่ศักดิ์สิทธิ์ และ น่าสะพึงกลัวในเวลาเดียวกัน น่าสงสัยว่ามันสื่อความหมายตามความเป็นจริงหรือไม่

          GDP (Gross Domestic Product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเป็นรายการหนึ่งในบัญชีรายได้ประชาชาติ (National Income Accounting) ที่สหประชาชาติได้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้แต่ละประเทศทราบสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละปีซึ่งประกอบด้วยมูลค่าการผลิต มูลค่าการส่งออกและนำเข้า การลงทุน การใช้จ่ายเพื่อบริโภค ฯลฯ

          GDP เป็นตัวชี้ให้เห็นสถานะการผลิตและรายได้ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ ซึ่งสามารถวัดได้ 3 ทาง คือ ด้านการผลิต ด้านรายได้ และด้านรายจ่าย

          GDP เมื่อวัดในด้านการผลิตก็มาจากการรวมกันของสิ่งที่เรียกว่า Gross Farm Product (มาจากภาคเกษตรกร) / Gross Manufacturing Product (จากภาคอุตสาหกรรม) / Gross Services (ภาคบริการ) และ Gross Government Product (ผลผลิตจากภาครัฐ โดยทั่วไปใช้มูลค่าการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยใช้เหตุผลว่าการจ่ายเงินออกไปของรัฐก็คือผลงานที่เกิดขึ้นโดยภาครัฐ)

          การวัด GDP ในด้านรายได้นั้นไม่สามารถเอารายได้ของผู้คนในประเทศจากภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ ฯลฯ มารวมกันได้ เนื่องจากมีปัญหาการนับซ้ำ (รายได้เปลี่ยนมือจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งก็กลายเป็นการนับซ้ำ เช่น พ่อให้เงินลูก ถ้านับรายได้ทั้งสองคนก็นับซ้ำ) และไม่อาจรู้ได้ว่าการนับซ้ำนั้นมีมากน้อยเพียงใด ดังนั้น จึงไม่มีการวัดกันในด้านนี้

          ในด้านรายจ่าย GDP สามารถวัดได้แต่ไม่สะดวกเท่าด้านการผลิต วิธีวัดก็คือรวมการใช้จ่ายของภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ฯลฯ ของทั้งประเทศเข้าด้วยกัน

          ตามตรรกะนั้นไม่ว่าจะวัด GDP ด้านใดก็ตาม (การผลิต รายได้ และรายจ่าย) จะให้ ตัวเลขที่ตรงกัน กล่าวคือเมื่อมีการผลิตเกิดขึ้นก็เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจซึ่งก็คือรายได้ (ค่าจ้างแรงงาน กำไร ภาษีอากร ฯลฯ) และเมื่อมีรายได้ก็มีรายจ่ายเกิดขึ้นด้วยจำนวนเท่ากันเช่นกัน ดังนั้นไม่ว่าจะวัดทางใดก็จะให้ตัวเลขเลขเดียวกัน

          ในการคำนวณหา GDP ของแต่ละปีในทางปฏิบัติ ประเทศต่าง ๆ มักเลือกใช้ด้านการผลิตเป็นหลัก ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีความผิดพลาดน้อยที่สุด ที่พูดว่า “มีความเป็นไปได้” ก็เพราะไม่มีอะไรที่แน่นอนและง่ายดาย ในการคำนวณหาค่า GDP จำเป็นต้องใช้สมมุติฐานมากมาย ใช้การประเมินอย่างสมเหตุสมผล (educated guess) หรือแม้แต่ใช้การประเมินอย่างคาดเดา (guestimate = guess + estimate) เช่นในเรื่องการนับผลผลิตหรือรายได้ซึ่งเกิดจาก SME’S ขนาดเล็กของบ้านเราที่มีจำนวนมหาศาลเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตคนยากจนจำนวนมากซึ่งบางครั้งเรียกว่าพวก Informal Sector (ภาคที่มิได้เป็นทางการ) เช่น ขายเสื้อผ้าท้ายรถ ร้านขายส้มตำ ร้านซ่อมรองเท้าริมถนน รถเข็นขายอาหาร ร้านตัดผมริมถนน ร้านขายของชำในชนบท ฯลฯ ก็ใช้ประมาณการ

          หากต้องการได้ GDP ที่มาจาก Informal Sector ก็ต้องนับจำนวนธุรกิจ (ทำได้ดีที่สุดก็คือ คาดเดา) นับยอดขายจากทุกลักษณะการผลิตและการค้าที่กระจายอยู่ทั่วประเทศด้วยประมาณการเช่นกัน

          ตัวเลขการผลิตจาก Formal Sector นั้นเป็นเรื่องไม่ยากเพราะสามารถเก็บได้จากโรงงานใหญ่ ๆ ทั้งหลาย บริษัทผลิตรถยนต์ ร้านสะดวกซื้อ (สร้างมูลค่าเพิ่ม) โรงไฟฟ้า ฯลฯ ที่ยากอีกอย่างก็คือภาคการเกษตร ซึ่งผลิตโดยผู้คนจำนวนมากด้วยหลากหลายสินค้าและผลิตภัณฑ์ การประมาณการตัวเลขรวมต้องใช้สมมุติฐานและการคาดเดาอย่างมีเหตุผลอยู่มาก

          แค่วัด GDP อย่างเดียวก็ปวดหัวและไม่แน่นอนพออยู่แล้ว ยังต้องระวังอีกว่าต้องเป็นการผลิตที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินไทย (คนชาติใดผลิตก็ได้) ไม่ผิดกฎหมาย และมีการซื้อขายกันผ่านตลาด (มูลค่ามะม่วงต้นหลังบ้านที่ผลิตได้ไม่นับใน GDP แต่ถ้าเอาไปขายก็นับ มูลค่าการทำงานบ้านของภรรยาไม่นับแต่ของเด็กทำงานบ้านนับ เมื่อใดที่เด็กที่บ้านกลายเป็นภรรยาก็เลิกนับรวมใน GDP)

          สมมุติให้ตัวเลข GDP ของบ้านเราที่ภาครัฐประกาศมีความแม่นยำ แต่มันก็ยังไม่ได้สะท้อนสภาวะการผลิตหรือสถานะของการเกิดรายได้ขึ้นจริงในเศรษฐกิจ ทั้งนี้เนื่องจากบ้านเรามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้แต่ผิดกฎหมายอีกมากมายที่ไม่นับรวม เช่น ผลิตยาเสพติด ผลิต CD เถื่อน หญิงบริการ ค้ามนุษย์ ค้าของเถื่อน ฯลฯ ซึ่งเรียกว่าเศรษฐกิจใต้ดิน ตัวเลข GDP ประมาณ 13 ล้าน ๆ บาทนั้นอาจมีเศรษฐกิจใต้ดินอยู่อีก 1 ใน 4 หรืออีกกว่า 3 ล้าน ๆ บาท ก็เป็นได้ (รองนายกฯ สมคิดท่านพูดถูกที่ว่าอย่าไปดูตัวเลข GDP เพียงอย่างเดียวมันยังมีสิ่งที่อยู่นอก GDP ที่เป็นรายได้ ‘เถื่อน’ อีกมาก ข้างหลังนี้ท่านไม่ได้พูด แต่ผมพูดเอง)

          ตัวเลข GDP ที่ชอบอ้างอิงกันจนน่ากลัวก็คือการย่อย GDP ออกเป็นรายจังหวัดและเรียกว่า Gross Provincial Product (GPP) และใช้ GPP นี้มาวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนในแต่ละจังหวัดและนำไปใช้ในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ

          GPP ของจังหวัดต่าง ๆ นั้นเมื่อรวมกันเข้าแล้วจะเท่ากับ GDP ของประเทศซึ่งคำนวณมาได้ด้วยความยากเย็นดังกล่าวแล้วซึ่งอาจผิดจากความจริงก็ได้เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ (พยายามตรวจเช็คกับด้านรายจ่าย แต่ด้านรายจ่ายก็มาจากการประมาณการอีกเช่นกัน)

          ในเชิงวิชาการไม่สามารถยืนยันได้แม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าตัวเลข GDP นั้นถูกต้อง จนกว่าหลายปีผ่านไป ได้เห็นตัวเลขอื่น ๆ ประกอบแล้วจึงจะมาชำระสะสางกัน เมื่อ GDP ไม่แม่นยำGPP จึงมีปัญหาตามไปด้วย และเมื่อพิจารณาลักษณะของ GDP แล้วก็เห็นว่าเป็นตัวเลขที่อยู่บนพื้นฐานของแหล่งการผลิต (income-originating base)

          GPP ของไทยระบุว่าสมุทรปราการ (GPP เท่ากับ 683,921 ล้านบาท) ปทุมธานี (321,288 ล้านบาท) อยุธยา (367,571 ล้านบาท) ชลบุรี (737,077 ล้านบาท) และ กทม. (4 ล้าน ๆ บาท) นั้นรวยมาก ยิ่งดูรายหัวแล้วก็จะเห็นว่าคนจังหวัดนี้รวยมากอีกเช่นกัน

          รายได้คน กทม. เฉลี่ยต่อหัวต่อปี (466,844 บาท) สมุทรปราการ (352,296 บาท) ปทุมธานี (229,609 บาท) อยุธยา (422,421 บาท) ชลบุรี (457,845 บาท) ทั้งนี้เนื่องจากจังหวัดเหล่านี้เป็นแหล่งการผลิตอุตสาหกรรมใหญ่แต่จะไปหาคนที่มีรายได้ต่อหัวขนาดนี้คงยากมากเพราะตัวเลข มาจากมูลค่าการผลิตหรือการสร้างรายได้โดยโรงงาน มิได้มาจากการที่คนในจังหวัดได้รับจริง (income-received base)

          ในทางตรงกันข้ามคนอีสานมี GPP ต่อคนประมาณ 74,532 บาท หนองบัวลำภู (46,804 บาท) ศรีสะเกษ (65,409 บาท) ร้อยเอ็ด (65,868 บาท) ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำ แต่โดยแท้จริงแล้วเขาอาจมีรายได้มากกว่านี้เพราะมีเงินโอนข้ามจากที่อื่นโดยลูกหลานหรือจากการข้ามไปทำงานหรือค้าขายที่จังหวัดอื่นอีกซึ่งตัวเลข GPP ต่อคนมิได้สะท้อนให้เห็น

          เมื่อ GDP มีธรรมชาติของการคำนวณเช่นนี้ทั่วโลก (เพียงแต่ใครจะ “เดา” ได้อย่างมีเหตุผลกว่ากัน) เราจึงไม่ควรไว้วางใจและบูชาราวกับเป็นตัวเลขที่พระเจ้าประทานมาให้ใช้วัดความสุขของคนในโลก

          GDP เป็นเพียงเครื่องมือที่มีข้อจำกัดในการช่วยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ มันไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายซึ่งคือการกินดีอยู่ดีและมีความสุข มีความสงบสุขมั่นคงในชีวิต ซึ่งบรรดาสิ่งที่เป็นนามธรรมสำคัญเหล่านี้ GDP ไม่สามารถให้ได้

Gig Economy

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
8
กันยายน 2558

Photo by Sigmund on Unsplash

         Gig Economy มิได้หมายถึง Digital Economy หรือแม้แต่ ‘เศรษฐกิจเกี่ยวกับกิ๊ก’ ของไทย หากเกี่ยวพันกับปรากฏการณ์ใหม่ที่สอดคล้องกับรสนิยม และความปรารถนาของคนรุ่นใหม่ซึ่งมีทั้งจุดแข็งจุดอ่อน

          Digital Economy นั้นมีชื่ออื่นว่า New Economy หรือ Web Economy หรือ Internet Economy ซึ่งหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของ IT (IT เรียกเล่น ๆ ว่าเป็นลูกที่เกิดจากการแต่งงานระหว่าง computer กับโทรศัพท์) เช่น การซื้อขาย on-line / Digital TV / social media ฯลฯ ซึ่งบางส่วนเกี่ยวเนื่องกับ Gig Economy

          ส่วน ‘เศรษฐกิจเกี่ยวกับกิ๊ก’ นั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน ซึ่งถึงอย่างไรก็หนีไม่พ้นเรื่องศีลธรรม คำว่า ‘กิ๊ก’ ฟังดูน่ารัก เป็นมิตร หากใครมีกิ๊กก็ไม่ผิดศีลธรรมเพราะมันดูคิกขุ ไร้เดียงสา ไม่ผิดศีลธรรม (มันแค่กิ๊กยังไม่ถึง gigabyte เลย) ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว ‘กิ๊ก’ ก็คือการนอกใจ การทรยศ ฯลฯ ใครเห็นว่า ‘กิ๊ก’ เป็นเรื่องธรรมดาก็คือ ‘การเห็นกงจักรเป็นดอกบัว’

          เมื่อปฏิเสธไปแล้วว่า Gig Economy ไม่ใช่ทั้งสองอย่างข้างต้น คราวนี้ก็ต้องขยายความว่ามันคืออะไร ขอเริ่มที่คำว่า Gig ในภาษาอังกฤษซึ่งมีหลายความหมาย เช่น รถสองล้อที่ ม้าลาก เรือลำยาวแคบ ๆ สำหรับพาย งานแสดงดนตรี แต่ในที่นี้เป็นคำแสลงอเมริกันหมายความถึง ‘งาน’

          Gig Economy หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยงานชนิดที่เป็น part time / ชั่วคราว / freelance / self-employed หรืองานที่รับมาจากคนอื่นอีกต่อเป็น outsource กล่าวโดยสรุปก็คือไม่ใช่งานประจำแบบเป็นลูกจ้างดังที่เคยเป็นกันมา

          Adam Smith บิดาวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่กล่าวถึงระบบเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 18 ไว้ในหนังสือคลาสสิกชื่อ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations (ค.ศ. 1776) ว่าแต่ละคนค้าขายกันและเกิดเป็นระบบตลาดเสรี และต่อมาในอีก 2 ช่วงศตวรรษหลังการเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายศตวรรษที่ 18 ก็มีบริษัทขนาดใหญ่และเล็กมีนายจ้างและลูกจ้างทำงานรับเงินเดือน ดังที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน และมีผู้ประกอบการอิสระ มีผู้รับจ้างงานอิสระด้วย

          ในรอบ 30 ปี ที่ผ่านมา เราเห็นปรากฏการณ์ในโลกตะวันตกที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยกำลังกลับมาค้าขายตัวต่อตัวดังที่ Adam Smith บรรยายไว้โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง digital revolution ตัวอย่างได้แก่ การซื้อขาย on-line โดยถึงตัวระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายอยู่ใน Gig Economy อย่างไรก็ดีโลกใหม่ที่เรากำลังเห็นแตกต่างไปจากระบบกลไกตลาดแบบ พื้น ๆ ที่ Adam Smith มองเห็น

          เราเห็น Uber (ระบบบริหารแท็กซี่ที่รถยนต์เอกชนร่วมรับจ้างเป็นบางครั้ง) Airbnb (ระบบการให้เช่าที่พักส่วนตัวทั่วโลก) Etsy (ระบบซื้อขายสินค้าทำด้วยมือแนวศิลปะ) TaskRabbit (ระบบจ้างเพื่อนบ้านช่วยทำธุระ) การรับงาน freelance รับงาน outsource รับจ้างงาน ชั่วครั้งชั่วคราว ฯลฯ โดยไม่มีลูกจ้างทำงานประจำของบริษัท

          งานส่วนใหญ่ใน Gig Economy ผู้รับเงินเป็นรายได้มิใช่ลูกจ้าง หากมีตัวกลางเป็น ผู้เชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ดังเช่นกรณีของ Uber (คนขับแท็กซี่ซึ่งเป็นคนทำงานอิสระตามใจชอบรับเงินโดย Uber เป็นตัวกลาง) Airbnb (เจ้าของได้รับค่าเช่าผ่านคนกลาง) Etsy และ Task Rabbit ก็เช่นเดียวกัน คนกลางที่สร้างระบบเครือข่าย digital ขึ้นเป็นผู้จับผู้ซื้อผู้ขายมาพบกัน โดยตนเองได้เงินเช่นเดียวกับผู้ร่วมกิจกรรม

          ในความหมายทั่วไป Gig Economy คือระบบเศรษฐกิจที่ผู้ทำงานรับงานเป็นครั้ง ๆ ตามความต้องการ (on demand) ซึ่งหมายความถึงความชั่วคราวไม่เต็มเวลา ความเป็นอิสระ ทำงานตามความสมัครใจโดยหลุดออกไปจากระบบดั้งเดิมของการเป็นลูกจ้างบริษัท

          คนไทยในชนบทส่วนใหญ่นั้นจะว่าไปแล้วอยู่ใน Gig Economy มานานแล้วเพราะไม่มีคนจ้างให้ทำงานประจำ ต้องทำงานอย่างเป็นอิสระอย่างไม่สมัครใจ เมื่อว่างจากงานเกษตรกรรมก็วิ่งรับจ้างหางานสารพัดอย่างมาเสริม เพราะไม่อาจอยู่รอดได้จากรายได้จากภาคเกษตรกรรมแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงทำงานไม่เต็มเวลา ชั่วคราว เป็น freelance ซึ่งตรงกับคำจำกัดความของ Gig Economy เพียงแต่ไม่ได้สมัครใจ อย่างไรก็ดี Gig Economy ในที่นี้มีนัยยะว่าเลือกที่จะทำงานประจำแบบดั้งเดิมได้แต่ไม่ต้องการทำ

          การรับงานชนิด Gig Economy อย่างสมัครใจและเต็มใจของคนรุ่นใหม่เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับรสนิยมในการต้องการความเป็นอิสระ สามารถเป็นนายตนเอง ริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ได้คล่องตัว และประการสำคัญมั่นใจว่าสามารถรวยได้ในอนาคต

          สิ่งเหล่านี้เป็นจุดแข็งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ อย่างไรก็ดีปรากฏการณ์ “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” นั้นจริงเสมอเพราะสิ่งที่ได้มาต้องเอาไปแลกกับความไม่แน่นอนและไม่สม่ำเสมอของรายได้ การขาดสวัสดิการและความเสี่ยง

          สิ่งสำคัญที่คนรุ่นใหม่ซึ่งชื่นชอบ Gig Economy จะต้องเผชิญอย่างเจ็บปวดก็คือความไม่สม่ำเสมอและไม่แน่นอนของรายได้ การได้เงินสม่ำเสมอไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตามทีเป็นการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพให้ชีวิตในระดับหนึ่ง

          ประเด็นที่คนรุ่นใหม่พึงพิจารณาก่อนเลือกเส้นทางใหม่นี้ก็คือการตระหนักถึงด้านลบ ต่าง ๆ ที่จะต้องเผชิญก่อนที่จะประสบความสำเร็จ (หากสามารถประสบความสำเร็จ) เพื่อประกอบการตัดสินใจอันได้แก่ การขาดความคุ้มครองจากการทำงานซึ่งแตกต่างจากการเป็นลูกจ้างขององค์การ

          ผลิตภาพ (productivity) ในการทำงานของผู้เลือกเส้นทาง Gig Economy เป็นปัจจัยสำคัญที่ตัดสินว่าตนเองจะอยู่รอดหรือไม่ และเศรษฐกิจโดยส่วนรวม (ประเทศชาติ) จะดำเนินไปได้อย่างดีหรือไม่ ในปัจจุบันดีกรีของความเป็น Gig Economy ในบ้านเรายังอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็เริ่มมีโมเมนตั้มในการเคลื่อนไหวเข้าสู่ Gig Economy อยู่ไม่น้อยอันเห็นได้จากการประกอบธุรกิจ SME’s โดยเฉพาะใน digital economy

          ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมซึ่งยากหนักหนาที่ภาครัฐจะควบคุมดูแลให้เดินอยู่ในเส้นทางที่เหมาะสมได้ จำเป็นที่จะต้องมีอีกฟากหนึ่งที่เข้มแข็งมาคานไว้โดยธรรมชาติ การเป็น Gig Economy ในดีกรีที่เข้มข้นขึ้นจะเป็นอีกหนทางในการช่วยคานอำนาจและให้โอกาสแก่คนรุ่นใหม่ในการเข้าร่วม

          ผู้คนใน Gig Economy เผชิญความเสี่ยงและการขาดหลักประกันซึ่งการทำงานประจำสามารถให้ได้ ดังนั้นภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีบทบาทในการช่วยเหลือเสริมจุดอ่อนเหล่านี้หากเห็นความสำคัญของมัน

          อย่าลืมว่าการห่วงอาทรชีวิตและความสุขของพลเมืองทุกคน คือ เป้าหมายแรกและเป้าหมายเดียวของรัฐบาลที่ดี

อายุเท่ากันแต่แก่ไม่เท่ากัน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
1
กันยายน 2558

Photo by Matteo Vistocco on Unsplash

          เวลาพบเพื่อนเก่าแก่รุ่นราวคราวเดียวกัน ท่านรู้สึกไหมว่าทำไมบางคนจึงดูแก่กว่าบางคนอย่างเห็นได้ชัด บางคนก็ดูแก่คงที่หรือหนุ่มสาวคงที่ ท่านมิได้รู้สึกเอาเองหรอกครับ มีงานวิจัยที่พบว่ามนุษย์มีอัตราการแก่ที่ไม่เท่ากัน

          “อายุเป็นเพียงตัวเลข” เป็นวลีปลอบใจ ส.ว. (ผู้สูงวัย) ซึ่งปัจจุบันเรียกกันอีกอย่างว่า ปสช. (ผู้มีประสบการณ์ชีวิต) แต่งานวิจัยหลายชิ้นกำลังบอกว่ามันเป็นความจริง กล่าวคือมนุษย์มีสองตัวเลขซึ่งได้แก่อายุตามจำนวนปีที่อยู่บนโลกนี้ (Actual Age___AG) และอายุเชิงชีวะ (Biological Age___BA) บางคนอาจแก่ (อย่างไรก็หนีคำนี้ไม่ได้) หรือมี AG สูงแต่ BA ต่ำกว่าก็เป็นได้ (ร่างกายยังแข็งแรงโดยไม่แก่ไปตามวัย) หรือบางคนมี BA สูงกว่า AG กล่าวคืออายุก็อาจไม่มากนักแต่ร่างกายแก่กว่าวัย

          งานวิจัยที่พิสูจน์ว่ามนุษย์แก่ในอัตราที่ไม่เท่ากันตีพิมพ์ใน Proceedings of the National Academy of Sciences ซึ่งกล่าวถึงในหนังสือพิมพ์ International New York Times เมื่อไม่นานมานี้ ผู้วิจัยต้องการศึกษาอัตราการแก่ของมนุษย์โดยใช้หญิงชายรวม 954 คน ทุกคนจะได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดตอนอายุ 26, 32, และ 38 ปี และนำข้อมูลสุขภาพร่างกายมาวิเคราะห์ว่าเมื่อข้ามเวลาไป 6 และ 12 ปี แล้ว อายุเชิงชีวะ (BA หรือสภาวะของคนทั่วไปเชิงชีวะตามนัยของอายุ) เป็นเท่าใด

          เมื่อเอาข้อมูล AG กับ BA ของแต่ละคนมาเปรียบเทียบกันข้าม 6 และ 12 ปี ก็พบว่าแต่ละคนมีอายุเชิงชีวะแตกต่างกัน บางคนก็มี BA ต่ำกว่าอายุจริง (อัตราแก่ช้า) บางคนก็มี BA สูงกว่าอายุจริง (อัตราการแก่สูง)

          นอกจากพิสูจน์ว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลข” แล้ว ผู้วิจัยมีวัตถุประสงค์ที่จะค้นหาว่าอะไรเป็นตัวชี้บอกว่ากำลังแก่เร็วกว่าอายุจริง หากทราบว่าเมื่อใดที่จะถึงจุดแก่ซึ่งอาจเป็นเวลาหลายทศวรรษอันเป็นผลจากการป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน หรือเจ็บป่วยเรื่องปอด (โรคไหนที่ทำให้แก่เร็วกว่ากัน?) ก็อาจสามารถช่วยชะลอความแก่ได้บ้าง

          คำจำกัดความของ “ความแก่” ที่ผู้วิจัยใช้ก็คือความเสื่อมของหลายระบบการทำงานของอวัยวะโดยอาศัยสิ่งที่เรียกว่า biomarkers (ตัวชี้เชิงชีวะ เช่น ระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ฯลฯ) ถึง 18 ตัว

          นอกจากนี้ยังพบว่าส่วนใหญ่ของกลุ่มทดลองจะแก่ขึ้นหนึ่งปีของอายุเชิงชีวะต่อ ทุกหนึ่งปีของอายุจริง (แก่ขึ้นตามวัยเหมือนคนทั่วไป) อย่างไรก็ดีมีบางคนที่แก่ขึ้น 3 ปีของอายุเชิงชีวะต่อทุก 1 ปี ของอายุจริง (ความแก่เร่งขึ้นราวสปีดของบิ๊กไบค์) และบางคนอายุเชิงชีวะไม่เปลี่ยนแปลงเลยตลอดระยะเวลา 12 ปีของการทดลอง และเมื่อแปรเปลี่ยนเป็นการคำนวณโดยอาศัยการวิเคราะห์ biomarkers แล้วก็พบว่ากลุ่มทดลองนี้มีอายุเชิงชีวะระหว่าง 28 ถึง 61 ปี ในขณะที่มีอายุจริง 38 ปี

          งานศึกษาความแก่นี้ทำให้ได้ biomarkers 18 ตัว มาเป็นตัวชี้วัดสุขภาพซึ่งครอบคลุม 8 ด้านด้วยกันอันได้แก่ (1) ความฟิตของร่างกายโดยส่วนรวม (วัด BMI หรือดัชนีซึ่งเท่ากับความสูงเป็นเมตรหารด้วยน้ำหนักเป็นกิโลกรัมยกกำลังสอง วัดรอบเอว ความฟิตของการทำงานของระบบหายใจ) (2) สุขภาพหัวใจ (ระดับสัดส่วนโคเรสตอรอลชนิดดี HDL และชนิดเลว LDL) (3) ความเสี่ยงจากโรคเบาหวาน (ระดับน้ำตาลในเลือดโดยรวมข้ามระยะเวลา) (4) การทำงานของปอด (วัด FEV หรือปริมาณอากาศที่ขับออกมาจากปอด) (5) สุขภาพฟัน (ฟันเสียเรื้อรังนำไปสู่ความเสี่ยงในการมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ) (6) การอักเสบ (จำนวนเม็ดเลือดขาวและระดับ C-reactive protein) (7) การทำงานของตับและไต (ตรวจสอบว่าร่างกายกำจัดของเสียได้ดีเพียงใด) และ (8) ความยาวของ Leukocyte telomere หรือความยาวของส่วนปลาย DNA (เมื่อร่างกายเสื่อมส่วนนี้ก็จะสั้นเข้า)

          การตรวจร่างกายโดยดูที่ biomarkers เหล่านี้จะทำให้สามารถเข้าใจวิธีชะลอความแก่ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตรวจสอบคู่ไปกับความสามารถในการทรงตัว เคลื่อนไหวประสานอวัยวะของร่างกาย แรงจับของมือ และความสามารถในด้านการคิดวิเคราะห์

          ผู้วิจัยพบด้วยว่าผู้ที่มีความเสื่อมสูงซึ่งวัดได้จากระดับของ 18 biomarkers ก็มักจะมีความสามารถในเรื่องต่าง ๆ ข้างบนนี้ต่ำลงไปด้วย การศึกษานี้ให้ความหวังว่า 18 biomarkers และการทดสอบเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ใช้กันทั่วไปในคลินิกทั่วโลกถึงแม้ว่าจะต้องมีการศึกษาทดลองมากกว่านี้เนื่องจากอาจมีความแตกต่างกันในกลุ่มประชากรอื่น ๆ ก็เป็นได้

          งานศึกษาจะช่วยชะลอความแก่ได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการควบคุม biomarkers เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายด้วยวิธีการต่าง ๆ การนั่งสมาธิ บริโภคอาหารน้อยลง (โดยเฉพาะอาหารบางประเภท) วิถีการดำรงชีวิต การกินวิตามินหรือยาบางตัว ฯลฯ อนึ่งสำหรับพันธุกรรมผู้ศึกษาพบว่ายีนส์มีผลต่อความแก่ประมาณร้อยละ 20

          Nir Barzilai ผู้อำนวยการ Institute for Aging Research ที่ Albert Einstein College of Medicine ใน New York City บอกว่าการตรวจ biomarkers เหล่านี้เพื่อตรวจสอบความแก่จะช่วยประหยัดเงินได้อย่างมาก เช่น หากพบว่า BA เท่ากับ 50 ปี ถึงแม้อายุจริงคือ 60 ปี ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจร่างกายบ่อย ๆ เหมือนคนอายุ 60 ปี และสามารถมีความมั่นใจในการดำเนินชีวิตที่ท้าทายได้ เช่น ปีนเขา ขับเครื่องบิน ดำน้ำ ฯลฯ

          Dr. Stephen Kritchevsky ผู้อำนวยการ Sticht Center on Aging ที่ Wake Forest Baptist Medical Center ในรัฐ North Carolina ระบุว่าความแข็งแรงของมนุษย์สูงสุดระหว่างอายุ 35 ถึง 40 ปี หลังจากนั้นโดยทั่วไปจะสูญเสียความแข็งแรงลงไปประมาณร้อยละ 1 ต่อปี อัตราการสูญเสียนี้จะเร่งตัวระหว่างช่วงอายุ 70-80 ปี การเดินได้เร็วของคนแก่เป็นตัวชี้ง่าย ๆ ของการมีสุขภาพในอนาคต การออกกำลังกายช่วยให้เดินได้เร็วขึ้นและการออกกำลังที่ต้องฝืนต้าน (เช่น ว่ายน้ำ) ช่วยความแข็งแรงได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับโยคะ ไทเก็ก ซึ่งช่วยความสามารถในการทรงตัว

          บ่อยครั้งการมีอายุเชิงชีววิทยาที่สั้นกว่าอายุจริงมาจากการทำสิ่งงดงามให้ผู้อื่นมากกว่าที่จะนึกถึงแต่ตนเอง และถึงแม้อายุจริงจะจบลงอย่างไม่ยืนยาว แต่ก็อาจมีมิติที่ลึกซึ้งเพราะได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคมมากกว่าพวก “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน”

ว่าด้วย Active Citizen

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
25
สิงหาคม 2558

Photo by Jacek Dylag on Unsplash

          มีหลายคำในสังคมเราที่ผ่านหูอยู่บ่อย ๆ ที่สมควรได้รับการเจาะลึก Active Citizen เป็นหนึ่งในคำเหล่านั้น

          citizen เป็นคำที่รู้จักกันมานานและมักแปลว่า “พลเมือง” ซึ่งหมายถึง “กำลังของเมือง” (พละ + เมือง) ผู้เขียนไม่อยากเข้าไปข้องแวะกับข้อถกเถียงเรื่องการใช้คำว่า “พลเมือง” หรือ “ประชาชน” หรือ “ราษฎร” ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพียงต้องการอธิบายคำว่า Active Citizen ซึ่งใช้กันมากในวงการศึกษาไทยปัจจุบัน

          คำว่า citizen เป็นแนวคิดของตะวันตกซึ่งเชื่อมโยงไปถึงนคร (city-states) ของกรีกโบราณ ซึ่งมีเมืองหรือนครที่ปกครองในหลายรูปแบบอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นระบบกษัตริย์ หรือระบบการเลือกบุคคล หรือคณะบุคคลขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง ฯลฯ คนที่เป็น citizen จะเป็น “สมาชิก” ของนคร และมีสิทธิต่าง ๆ ตามที่นครให้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างนครกับบุคคลหนึ่ง

          citizen ใช้กันเรื่อยมา (ในยุคโรมันก็เรียกว่า citizens of Rome เป็นต้น) ในประวัติศาสตร์ จนเมื่อประมาณกว่า 20 ปีที่ผ่านมานี้ก็เกิดคำว่า Global Citizen ซึ่งเกี่ยวพันกับการเป็นสมาชิกของโลก หรือคำว่า Netizen ซึ่งเกี่ยวพันกับการเป็นส่วนหนึ่งของ internet

          ล่าสุดที่ได้ยินกันบ่อย ๆ ก็คือ Active Citizen คำนี้เกี่ยวพันกับ citizen ที่ active หรืออย่างไร citizen ประเภท passive หรือแม้แต่ lazy citizen รวมอยู่ด้วยหรือไม่

          Active Citizenship หรือสถานะของการเป็น Active Citizen โยงใยกับปรัชญาซึ่งนำเสนอว่าสมาชิกขององค์กร (ไม่ว่าธุรกิจหรือรัฐ) หรือของประเทศ ล้วนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบทบาทในด้านการปกครองเลยก็ตามที

          พูดง่าย ๆ ก็คือบุคคลทั้งหลายต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าตนเองจะไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม

          เหตุผลของการกล่าวอ้างเช่นนี้ก็คือทุกคนเมื่อเกิดมาได้รับสิทธิจากรัฐและในฐานะมนุษย์ ก็ได้รับประโยชน์โดยธรรมชาติ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองได้รับ

          ในฐานะสมาชิกของรัฐ เมื่อเกิดมาก็มีสัญชาติ และมีสิทธิได้รับประโยชน์ต่าง ๆ จากภาครัฐ เช่น ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมาย สิทธิตามกฎหมายต่าง ๆ ในฐานะพลเมือง ฯลฯ ดังนั้นในฐานะพลเมืองจึงจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบในการตอบแทนให้แก่รัฐ

          เมื่อเกิดมาในโลกก็เป็นสมาชิกของมนุษยชาติ หรือเผ่าพันธุ์ Homo sapien ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายจากทุกประเทศ ใครจะฆ่าฟันไม่ได้ (ในขณะที่หากเกิดมาเป็นสัตว์ก็ไม่ได้การคุ้มครองเช่นนี้) ดังนั้นเมื่อมนุษย์เขาอยู่กันมาโดยมีหน้าตาแบบมนุษย์ปัจจุบันประมาณ 150,000 ปี (ประมาณ 7,500 ชั่วคน) และได้ทำให้เกิดความอยู่รอดสืบทอดกันมาแถมช่วยกันพัฒนาโลกเราจนมีความสุขสบายเหนือกว่าสัตว์อื่น ๆ ทั้งปวง มนุษย์จึงจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อโลกสิ่งแวดล้อม

          ประเด็นของ Active Citizenship คือเรื่องของสิทธิและความรับผิดชอบ ความสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้เป็นสิ่งพึงปรารถนาเพราะช่วยให้เกิดความยั่งยืน

          ถ้าชาวโลกทุกคนเป็น Active Citizen อย่างเข้มแข็ง ปัญหาเรื่องโลกร้อนจะได้รับการแก้ไขอย่างง่ายดายเพราะทุกคนตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนเอง แต่ละคนจะกระทำสิ่งต่าง ๆ ภายใต้ความรับผิดชอบของตน เช่น ไม่เผาไหม้ให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกินควร ใช้พลังงานต่าง ๆ เท่าที่จำเป็น อาสาสมัครร่วมรณรงค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ มีจิตสาธารณะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ฯลฯ

          คนที่เรียกว่าเป็น Active Citizen ก็คือคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีบทบาทในชุมชน มีจิตอาสา (กระทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่หวังผลตอบแทนแก่ตนเอง) และจิตสาธารณะ (มีจิตที่เห็นแก่ประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก) ศรัทธาในการรีไซเคิลทรัพยากรเพื่อถนอมสิ่งแวดล้อม รักสันติภาพ ร่วมบริจาคทรัพยากรเพราะตระหนักดีว่าเป็นความรับผิดชอบของตน

          อังกฤษเป็นประเทศผู้นำในเรื่องแนวคิด Active Citizen โดยมีสาเหตุมาจากความกังวลใจในเรื่องการให้ความสนใจแก่การเลือกตั้งของคนรุ่นใหม่ของอังกฤษในหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษบังคับให้การศึกษาเรื่อง citizenship แก่เด็กทุกคนจนถึงอายุ 14 ปี

          ในปัจจุบันแนวคิด Active Citizen ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงมหาวิทยาลัย แพร่กระจายไปทั่วโลก ไม่ว่าในอังกฤษ สก๊อตแลนด์ เดนมาร์ก คานาดา สหรัฐอเมริกา ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา

          Active Citizenship เป็นวิชาบังคับในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ซึ่งอาจตรงกับวิชา ‘หน้าที่พลเมือง’ ของไทยในสมัยก่อน ปัจจุบันคำว่า ‘ความเป็นพลเมือง’ ดูจะมาแทนที่ “หน้าที่พลเมือง” ความเป็นพลเมืองนั้นถือว่าต้องทำให้เกิดมิใช่เป็นเพียงหน้าที่เท่านั้น สิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นในตัวบุคคลเพื่อให้เป็นทรัพยากรที่มีค่าของสังคม (“กำลังของเมือง”) ก็คือ (ก) การเคารพความแตกต่างของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าตา ความเชื่อ เชื้อชาติ (ข) เคารพสิทธิและความ เสมอภาค (ค) มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง (ง) เคารพกฎหมายและกฎกติกาของสังคม (จ) ใฝ่สันติภาพ

          Active Citizen มิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะได้เรียนวิชานี้หรือท่องคำจำกัดความได้ หากเกิดจากการบ่มเพาะโดยพ่อแม่ ครู และสังคม ข้ามระยะเวลาให้ความรับผิดชอบเป็นสิ่งซึ่งฝังอยู่ใน ตัวทุกคน

          ทุกคนที่เกิดในแผ่นดินไทยล้วนมีฐานะเป็นพลเมืองไทย (Thai Citizen) แต่ถ้าจะเป็น Active Citizen แล้วจะต้องเป็นคนมีความรับผิดชอบ

“ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียเงิน”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
18
สิงหาคม 2558

Photo by Obi Onyeador on Unsplash

         คนไทยเราส่วนหนึ่งดูจะเริงร่าเมื่อได้ยินข่าวอะไรที่ไม่ดีเกี่ยวกับประเทศไทย “ผู้รู้” จะออกมาให้ข่าวกันสนุกสนาน สื่อก็โดดเข้าเล่นด้วย ดูไปแล้วเหมือนคนเป็นโรคจิต อะไรดี ๆ เกี่ยวกับบ้านเรากลับไม่เป็นข่าว เข้าอีหรอบ ‘ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียเงิน’ ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงชอบกันนักที่จะพูดถึงเรื่องไม่ดีของบ้านเรา วันนี้ขอเอาเรื่องดี ๆ ที่ได้ยินมาแบ่งปันกันบ้างเพื่อแก้ไขความเจ็บป่วยทางใจ

          เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านไปนี้ มีรายงานข่าวจาก CNN และ CNBC ตลอดจนสื่อต่างประเทศและไทยบางส่วนว่าบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ดได้จัดทำดัชนีความนิยมเมืองต่าง ๆ ในโลก (Global Destination Index) โดยถามความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวทั่วโลกและนำมาจัดทำเป็นรายงานเมืองยอดนิยมของโลกเป็นประจำทุกปี ในรายงานประจำปี 2558 นั้นลอนดอนกับกรุงเทพมหานคร แย่งชิงตำแหน่งที่หนึ่งกันอย่างดุเดือด โดยในที่สุดกรุงเทพมหานครถูกเฉือนไปอย่างหวุดหวิด

          สองเมืองนี้ผลัดกันเป็นที่หนึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ในปีนี้ปารีสมาอันดับ 3 และไล่ลงมาดังนี้ ดูไบ อิสตันบูล นิวยอร์ก สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ โซล และฮ่องกง

          ในปี 2015 คาดว่าทั้งกรุงเทพมหานครและลอนดอนจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนไล่เรี่ยกัน คือ 18.24 ล้าน และ 18.82 ล้านคน ตามลำดับ โดยนักท่องเที่ยวจะใช้จ่ายเงิน 12,400 ล้านเหรียญสหรัฐในกรุงเทพมหานคร และ 20,200 ล้านเหรียญสหรัฐในลอนดอน ปารีสในอันดับ 3 จะมีนักท่องเที่ยว 16.06 ล้านคน สิงคโปร์ 11.88 ล้านคน และกัวลาลัมเปอร์ 11.12 ล้านคน

          ข่าวนี้ดังไปทั่วโลก สร้างภาพพจน์ที่ดีแก่ประเทศไทยเป็นอันมากถึงแม้จะเป็นข่าวอยู่บ้างในบ้านเราแต่ก็ไม่มีใครสานต่อกันมากนักอย่างน่าน้อยใจ

          เมื่อสงสัยว่าชาวโลกตะวันตกโดยทั่วไปเขามองบ้านเราอย่างไร ผู้เขียนก็มองไปที่ application ชื่อ QUORA ซึ่งตอบคำถามสารพัดเรื่องโดยผู้เชี่ยวชาญ เมื่อลองถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับคนไทยและประเทศไทย ก็ได้คำตอบซึ่งน่าสนใจมาก

          ผู้เขียนคุ้นกับบทความเกี่ยวกับประเทศไทยในหนังสือพิมพ์ฝรั่งฉบับยักษ์หลายฉบับ และหลายนิตยสารที่เขียนโดยคนไทยกันเองและสื่อตะวันตก อ่านแล้วก็รำคาญและหงุดหงิดใจในความ ไร้เดียงสา และเอนเอียงในทางต่อต้าน ตรรกะของคนตะวันตกนั้นมีง่าย ๆ (จนถูกหาประโยชน์โดย ผู้ไม่หวังดีต่อชาติ) กล่าวคือเมื่อมีรัฐประหารหรือปฏิวัติ แล้วก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยดังนั้นต้องเป็นสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ถูกต้องก็คือการเลือกตั้งโดยเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย คนอเมริกันโดยทั่วไปมีตรรกะเช่นนี้จริง ๆ โดยลืมไปว่าถ้าไม่มีการปฏิวัติประกาศอิสรภาพจากอังกฤษโดยใช้กำลังในปี ค.ศ. 1776 แล้ว จะมีประเทศสหรัฐอเมริกาในวันนี้หรือ

          คำตอบที่ได้จาก QUORA ล้วนเป็นบวกกับบ้านเราทั้งสิ้น คำตอบของคำถามข้างต้น ก็คือรอยยิ้มที่มีอยู่รอบตัว ประเพณีการไหว้ที่งดงาม ผู้คนที่เป็นมิตร อาหารนานาชนิดที่แสนถูกและเชื่อใจได้ว่าเลวที่สุดก็แค่ทำให้ท้องเสีย ผลไม้ไทยนั้นยอดเยี่ยม ค่าครองชีพที่ต่ำกว่าหลายประเทศ น้ำใจของคนไทย ฯลฯ

          สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในหลายคำตอบของ QUORA ที่เกี่ยวกับคนไทยและประเทศไทย มีคำตอบหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งที่เขาชอบในวัฒนธรรมของเรานั่นก็คือการที่ทุกคนมีชื่อเล่น (พ่อแม่ตั้งให้กับชื่อที่เพื่อนเรียก) ซึ่งใช้กันในทุกโอกาสยกเว้นเวลาที่เป็นทางการ เขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้หลุดพ้นภัยจากการปลอมบัตรเครดิต หรืออาชญกรรมอื่น ๆ เพราะเป็นวิธีการรักษาความเป็นส่วนตัวที่ดีมาก
          มนุษย์มักมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว หรือเห็นก็แค่เพียงองค์ประกอบโดยไม่เห็นภาพรวม ดังนั้นเราจึงมองข้ามสิ่งที่ดีของสังคมเราไปได้ และไปเชื่อสิ่งที่คนอื่นบอก ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป เพราะเขามองเห็นจากจุดยืนของเขา

          ประเด็นอยู่ตรงที่คนไทยบางคนโดยเฉพาะคนที่สังคมเชื่อถือเพราะตำแหน่ง ชอบที่จะเอาสิ่งไม่ดีที่คนอื่นมองเห็นมาบอกคนไทยกันเองอย่างสนุกสนานและสื่อก็ขยายความเพราะมันตื่นเต้นดี

          ยกตัวอย่างเรื่องที่ WEF (World Economic Forum) ระบุว่าคุณภาพการศึกษาของไทยอยู่ในอันดับแปดหรือท้าย ๆ ของอาเซียน คนชอบพูดกันมากอย่างสนุกปาก ยกตัวอย่างคำถามง่าย ๆ ว่าถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง ท่านยินดีส่งลูกไปเรียนในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ของเราที่มิได้อยู่ทางทิศใต้ไหม

          ข้อสรุปของ WEF นั้นมาจากการถามคำถามนักธุรกิจที่อยู่ในแต่ละประเทศจำนวนไม่กี่คนว่ามีความเห็นอย่างไรกับคุณภาพของการศึกษาของประเทศที่ตนเองอยู่ และก็นำคำตอบเหล่านั้นมาปรับค่าแล้วเอามาเรียงกันเป็นอันดับ ถึงแม้คุณภาพการศึกษาของไทยจะเลวร้ายจริงแต่ถ้าใครที่เดินทางไปหลายประเทศในอาเซียนก็จะเห็นว่าสภาพแวดล้อมในหลายประเทศไม่น่าจะทำให้มีคุณภาพการศึกษาสูงกว่าไทยได้ น่าเสียดายที่ไม่มีคะแนนการสอบ PISA ของหลายประเทศในอาเซียนมาเทียบเคียงกับไทย มิฉะนั้นจะมีหลักฐานสนับสนุนความเห็นของผู้เขียนว่าคุณภาพการศึกษาของไทยไม่อยู่ในระดับครึ่งท้ายของอาเซียนอย่างแน่นอน

          ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องคุณภาพของประชากรอย่างไม่ต้องสงสัย แต่มันมิได้เลวร้ายขนาดที่พูดกัน เรามีปัญหาเรื่องโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจ มีปัญหาประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ มีปัญหาคอรัปชั่นที่เลวร้าย มีสภาพความเหลื่อมล้ำของฐานะทางเศรษฐกิจสูง มีปัญหาทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้

          ประเทศอื่น ๆ ก็มี มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันออกไป ทุกปัญหามีทางแก้ไขเสมอถึงแม้อาจจะไม่ได้ผลที่ดีที่สุดก็ตาม

          สิ่งที่สังคมเราควรช่วยกันคือการสร้างความหวังในการแก้ไขปัญหาของชาติ สื่อควรให้บรรยากาศที่เป็นบวกบ้างในหลายเรื่องเพื่อให้กำลังใจสนับสนุนในโอกาสที่เหมาะสม บางครั้งสิ่งที่ไม่ดีก็อาจกลายเป็นดีได้ถ้าทุกคนคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดี

          ไม่มีบทสวดมนต์ใดที่กล่าวถึงความอัปมงคล ล้วนมีแต่การสรรเสริญคุณงามความดีและคุณธรรมอันประเสริฐ อย่าลืมว่าผู้ที่สวดมนต์คือผู้ให้พรตนเองให้ประสบแต่ความดี ความงามและความเจริญ

อย่าเอนเอียงจนผิดพลาด

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
11
สิงหาคม 2558

Photo by Bret Kavanaugh on Unsplash

         มนุษย์ถูกลวงโดยตนเองได้หลายลักษณะจนอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ การเข้าใจธรรมชาติของการลวงจะช่วยให้ไม่เสียประโยชน์มากเกินไปในชีวิต

          นิทานอีสปเรื่ององุ่นเปรี้ยวนั้นคงยังจำกันได้ สุนัขจิ้งจอกอยากกินพวงองุ่นที่ห้อยอยู่ พยายามโดดงับครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่ประสบผลสำเร็จสักทีจนตกลงมาเจ็บตัว ในที่สุดมันก็เลิกและบอกกับตัวเองว่า “องุ่นมันยังไม่สุก ใครจะอยากได้องุ่นเปรี้ยวกันเล่า”

          อีสปซึ่งเป็นกวีสมัยกรีกโบราณเมื่อ 2,000 กว่าปีมาแล้วแต่งนิทานเรื่องนี้เพื่อชี้ให้เห็นความผิดพลาดในการใช้เหตุใช้ผลที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดของมนุษย์ หลายครั้งที่มนุษย์ตกอยู่ในฐานะเดียวกับสุนัขจิ้งจอกตัวนี้และใช้เหตุผลอธิบายกับตนเองอย่างเขลา ๆ และก็ตัดสินใจอย่างเขลา ๆ ไปด้วย (เช่น สมัครงานแต่สู้คู่แข่งไม่ได้ กลับบอกกับตัวเองว่าไม่ได้ต้องการงานนี้จริงแค่ลองตลาด และไม่พยายามพัฒนาตนเอง)

          Rolf Dobelli ในหนังสือ The Art of Thinking Clearly (2013) บอกว่าในสถานการณ์เช่นนี้ สุนัขจิ้งจอกมี 3 ทางเลือกคือ (ก) หาหนทางกินองุ่นให้จนได้ (ข) ยอมรับว่าตนเองไม่มีทักษะเพียงพอที่จะได้องุ่น และ (ค) ตีความย้อนหลังในเรื่องที่เกิดขึ้น (“องุ่นมันเปรี้ยวจะอยากได้มันไปทำอะไร?”)

          ทางเลือกสุดท้ายนี้คือตัวอย่างของสิ่งที่ Dobelli เรียกว่า “cognitive dissonance” (นักจิตวิทยาเรืองนามชาวอเมริกัน Leon Festinger เป็นผู้นำเสนอ และขยายความใน The Making of Behaviourial Economics : Misbehaving (2015) โดย Richard Thaler) ตัวอย่างเช่นเลือกซื้อรถยนต์ผิดมา มันเสียงดังมากและนั่งก็ไม่สบาย การเอารถไปคืนและยอมรับเงินคืนมาบางส่วนก็คือการยอมรับว่าตัวเองตัดสินใจผิด ดังนั้นไม่ช้าไม่นานก็บอกตัวเองว่า “รถแบบนี้ก็ดีเหมือนกันมันทำให้เวลาขับแล้ว ไม่ง่วง” บอกตัวเองอย่างนี้บ่อย ๆ เข้าก็ชักจะคล้อยตามและบอกตัวเองว่า “จริง ๆ แล้วเราไม่ได้โง่เลย” และอาจรู้สึกภาคภูมิใจกับความชาญฉลาดในการซื้อรถคันนี้ก็เป็นได้

          ตัวอย่างอื่นก็มีให้เห็น เช่น คนที่หลงผิดไปนับถือ “หลวงพ่อ” ที่ไม่ใช่ของจริง เมื่อมีหลักฐานความกลวงของ “หลวงพ่อ” หนักแน่นขึ้นทุกทีก็ยังยอมรับไม่ได้ว่า “หลวงพ่อ” นั้น “กลวง” เพราะการยอมรับก็เท่ากับว่าตัวเองได้ตัดสินใจผิด (สำหรับบางคนแล้ว “ฉันไม่มีทางทำอะไรผิดได้เลย” “ฉันถูกเสมอ”) ดังนั้นจึงดื้อดึงนับถือต่อไปและจมดิ่งอยู่ในความนับถือ “ของกลวง” นั้น มิใยที่ใครจะชี้แจงหรือทัดทาน

          ปรากฏการณ์ cognitive dissonance คือคำอธิบายว่าเหตุใดเพื่อนเราบางคนจึงหลง งมงายในตัวบุคคลหรือสิ่งที่ใคร ๆ เขาก็รู้กันทั้งนั้นว่าเป็นของปลอม ยิ่งเป็นคนที่มี ego สูง ไม่เคยยอมรับว่าตนเองสามารถผิดพลาดได้ ปรากฏการณ์นี้ก็จะยิ่งแรงขึ้น

          cognitive dissonance คือการใช้ความคิดของเราสร้างตรรกะที่ไม่สอดคล้องกลมกลืนกับความเป็นจริงเพื่อให้เราสบายใจซึ่งจะนำไปสู่การคิดที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ตัดสินใจบิดเบี้ยว และไม่เกิดผลดี เราอาจบอกตัวเองด้วยสารพัดเหตุผลว่าทำไมจึงไม่ต้องการองุ่นนั้น แต่ไม่ว่าจะโน้มน้าวตนเองอย่างไรก็ไม่มีวันได้องุ่นนั้นมาอย่างแน่นอน

          จิตวิทยาของมนุษย์มักเล่นกลจนทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้อีกในกรณีของ effort justification ซึ่งเป็นกรณีพิเศษของ cognitive dissonance กล่าวคือเมื่อเราไม่ได้ “องุ่น” เราก็สร้างกลไกเพื่อชดเชยโดยพยายามสร้างตรรกะผิด ๆ ผ่านการประเมินบางสิ่งเกินกว่าความเป็นจริง เช่นในกรณีของสุนัขจิ้งจอก เมื่อบอกว่าองุ่นเปรี้ยวแล้วก็คิดว่าท่ากระโดดงับองุ่นของตนนั้นสง่างามน่าภูมิใจ

          ตัวอย่างของ effort justification มีมากมายในชีวิตประจำวัน (ก) งานการฝีมือของเราไม่ว่าจะเป็นลายปักผ้าเช็ดหน้า งานฉลุไม้ ถ้วยเซรามิคปั้น หรือแม้แต่จิ๊กซอว์ที่เราต่อได้สำเร็จและเก็บไว้ฯ สิ่งเหล่านี้เราจะให้คุณค่าแก่มันเกินกว่าที่ควรจะเป็นเพราะเป็นความภูมิใจของเรา (ข) การสอบวิชาที่ยากได้จะภูมิใจในตัวเองเกินความเหมาะสม (ค) การทุ่มเททำงานที่ต้องใช้ความพยายามสูงและยาวนานทำให้รักใคร่ชื่นชมผลพวงของมันเป็นพิเศษ (ง) การจบหลักสูตรที่ต้องออกแรงกายและใจมากจนคิดว่ามันให้คุณค่าแก่เรามากจนเกินความจริง ปรากฏ effort justification เหล่านี้ล้วนให้น้ำหนักแก่บางสิ่งมากกว่าที่สมควรจะได้รับ

          “การรับน้องใหม่” ที่สร้างสวรรค์และประทับใจก็คือการใช้ effort justification สร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน น้องใหม่จะจดจำและให้คุณค่าแก่การได้ร่วมวาทกรรมนั้นเกินสมควรและจะรัก “ความเป็นพวกเดียวกัน” เป็นพิเศษ

          การร้องเพลงของกลุ่มช่วยเน้นการมีอัตลักษณ์ร่วมกัน และเมื่อการเป็นสมาชิกกลุ่ม มาจากการต้องผ่านการฝึกฝนที่ยากเข็ญร่วมกันกว่าจะสำเร็จได้ก็จะยิ่งสร้างความเป็นพวกเดียวกันซึ่งเป็นเทคนิคของทหารที่ใช้มายาวนานอย่างได้ผล

          IKEA effect ก็คือรูปลักษณ์หนึ่งของ effort justification กล่าวคือเฟอร์นิเจอร์ที่ซื้อมาจากร้าน IKEA นั้นต้องนำมาประกอบเอง และเมื่อประกอบเสร็จแล้วดูเหมือนว่ามันมีค่ามากกว่าชิ้นอื่นที่ซื้อมาสำเร็จรูป ทั้งนี้ก็เพราะเราเป็นคนทำให้มันเกิดขึ้นมา

          ใครที่ชอบปลูกต้นไม้ ดอกไม้ และชื่นชมความงามของใบและดอกที่เติบโตภายใต้ความรักเอาใจใส่ของเราจะเข้าใจดีว่าความรู้สึกชื่นชมนี้เป็นอย่างไร ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ต่างไปจาก IKEA effect นัก

          ผู้เขียนเคยพบนักผสมพันธุ์ไม้มงคลที่ได้ต้นงดงามออกมา มีคนมาขอซื้อในราคาหลายแสนบาทแต่ก็ไม่ยอมขายจนสุดท้ายโอกาสทองหลุดลอยไป ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะภาคภูมิใจกับผลงานจนเกินเหตุ พูดง่าย ๆ effort justification ทำให้ตัดสินใจผิดจนพลาดโอกาสได้เงินก้อนใหญ่

          ข้อเสนอของโครงการที่เราเขียนขึ้นมาเอง หรือที่เราดำริขึ้นมาเอง ดูจะมีค่ามากกว่าโครงการอื่น ๆ เพราะความภาคภูมิใจในผลงานที่เราทุ่มเทและสร้างมันขึ้นมา ผลจาก effort justification เช่นนี้พึงระวังเป็นอย่างมากเพราะเมื่อต้องตัดสินใจเลือกโครงการ เราอาจเผลอไผลใช้ “หัวใจ” มากกว่า “สมอง” ความเอนเอียงเช่นนี้อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดจนเกิดความเสียหายมหาศาลขึ้นได้

          การตัดสินใจที่ถูกต้องนั้นต้องพิจารณาไปที่ “ผล” ที่จะเกิดขึ้น มิใช่สิ่งที่เรามีความผูกพันและภาคภูมิใจเป็นส่วนตัวเป็นพิเศษอันเนื่องมาจาก effort justification

          การตระหนักในวิธีคิดและรู้ทันการสร้างตรรกะที่ผิดของตัวเราอาจช่วยทำให้โอกาสในการตัดสินใจผิดเพราะความเอนเอียงลดน้อยลงก็เป็นได้

          เมื่อรู้ถึงความเอนเอียงในใจของเราอย่างนี้แล้ว คู่รักของเราที่รู้สึกว่ามีคุณค่ามากเป็นพิเศษเพราะต้องฝ่าฟันต่อสู้หนักกว่าจะได้มาเป็นคู่นั้นโดยแท้จริงแล้วอาจมีคุณค่าไม่ต่างจากคนรักที่บังเอิญใจปิ๊งกันมากจนเป็นแฟนกันง่าย ๆ ก็เป็นได้

อย่ามัดมือตัวเองโดยห้าม Earmark Tax

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
4
สิงหาคม 2558

Photo by Campaign Creators on Unsplash

          สังคมไทยมีความเข้าใจผิดในเรื่องสำคัญอยู่เรื่องหนึ่งที่หากไม่ช่วยกันอาจนำไปสู่การสูญเสียประโยชน์ของประชาชนอย่างมหาศาลได้ เรื่องนั้นก็คือเรื่อง Earmark Tax

          ในระดับสากลการใช้ Earmark Tax หรือบางครั้งเรียกว่า Hypothecation ก็คือการที่กฎหมายกำหนดให้จัดสรรรายได้จากการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมให้ไปใช้เป็นการเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์ หรือโครงการหนึ่ง ๆ หรือให้มีการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมเป็นการพิเศษ หรือแม้แต่ให้มีค่าลดหย่อนภาษีเป็นพิเศษสำหรับโครงการที่กำหนดนั้น ๆ

          ในประเทศเรามีการใช้ Earmark Tax อยู่ในหลายลักษณะ ที่โดดเด่นคนจับตามองก็คือกรณีของ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ซึ่งกฎหมายกำหนดให้จัดสรรรายได้ร้อยละ 2 ของภาษีที่เก็บได้จากภาษีสุราและยาสูบให้แก่องค์กรนี้ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน ซึ่งครอบคุลมทั้งด้านสุขภาวะทางกาย จิต และสังคม

          อีกองค์กรหนึ่งคือ TPBS (องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย) ได้รับรายได้ร้อยละ 2 เหมือนกับ สสส. แต่ไม่ให้เกิน 2,000 ล้านบาทต่อปี

          สององค์กรนี้ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของบางภาคส่วนมานาน ในเบื้องต้นเป็นความ น่าหมั่นไส้เนื่องจากมีรายได้สม่ำเสมอตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ต้องไปคอยชี้แจงงบประมาณกับเหล่าผู้กุมอำนาจงบประมาณ และมีความคล่องตัวในการใช้ สสส. ต่อต้านเหล้าสุรา บุหรี่ รวมทั้งสรรพสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาวะของคนไทย การทำงานในบทบาทนี้จึงมีศัตรูรอบข้างเพราะทำให้รายได้ของธุรกิจหายไปแต่คนไทยมีสุขภาวะดีขึ้น

          ส่วน TPBS นั้นทุกสถานีโทรทัศน์ในปัจจุบันที่ต่อสู้กันอย่างหนักเจียนตายเพราะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้รัฐตามสัญญาต่างไม่สบอารมณ์เพราะ TPBS ยืนอย่างแข็งแรงเพราะรายได้จากรัฐ สามารถต้านคลื่นลม และมีรายการที่เป็นอิสระ หลายรัฐบาลไม่สบอารมณ์การมีสื่อที่เป็นอิสระ

          มีข่าวออกมาว่ามีข้อเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ที่จะห้าม Earmark Tax เด็ดขาด สำหรับ 2 องค์กรข้างต้นก็จะให้มีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 3 ปีเท่านั้น เมื่อผู้เขียนได้ยินแล้วมีความรู้สึกหลายประการดังต่อไปนี้

          ประการแรก การระบุไว้เช่นนี้ในรัฐธรรมนูญถือได้ว่ากำลังมัดมือตนเองเพราะจะทำให้ความคล่องตัวในการทำงานของภาครัฐทั้งในบทบาทที่ตนเองทำเองและสนับสนุนองค์กรภาคประชาชนหมดไปทันที

          ในต่างประเทศนั้นการใช้ Earmark นั้นถือเป็นเรื่องธรรมดาและมีมายาวนาน ตัวอย่างเช่นอินโดนีเซียเก็บภาษีเพิ่มพิเศษจากผู้พักโรงแรมเพื่อเอาไปใช้ในการจัดกีฬาซีเกมส์ อังกฤษและประเทศยุโรปจำนวนมากเก็บค่าธรรมเนียมจากการเป็นเจ้าของโทรทัศน์เพื่อการมีสื่อเสรีปลอดจากการเมืองในระดับท้องถิ่น สหรัฐอเมริกามีการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินเพื่อเอาไปใช้ในการศึกษาเป็น การเฉพาะ ฯลฯ

          กลุ่มประเทศ OECD (ประเทศพัฒนาแล้ว 30 ประเทศ) กับ EU มี Earmark Tax ที่จัดสรรรายได้จากภาษีอากร ค่าธรรมเนียม ค่าใช้บริการ ที่เกี่ยวพันกับการจัดการสิ่งแวดล้อม (กำจัดอากาศเสีย ของเสีย จัดการเรื่องน้ำ) ถึง 65 ภาษีใน 18 ประเทศ และ 109 ค่าธรรมเนียมและ ค่าให้บริการใน 23 ประเทศ

          อย่างไรก็ดีเป็นความจริงที่ว่าในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2010 รัฐสภาห้ามมิให้ใช้ Earmark Tax อีกต่อไปหลังจากที่ใช้กันมานับร้อยปี การห้ามในประเทศนี้เป็นเรื่องพิเศษเพราะ ที่ผ่านมามีการใช้ Earmark Tax สำหรับโครงการต่าง ๆ จำนวนมหาศาลเพื่อหาเสียงของนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสะพาน โครงการทางด่วน ก่อสร้างถนน ฯลฯ การใช้ Earmark ก็ทำได้ง่ายเพียงบรรจุไว้ในเอกสารงบประมาณของกรรมาธิการเท่านั้น การกระทำเช่นนี้ได้นำไปสู่คอรัปชั่น การหาเสียงแบบผิด ๆ ว่ากันเละเทะจึงถึงจุดที่ห้ามกัน

          ในบ้านเรากว่าที่โครงการ Earmark Tax ของ 2 องค์กรนี้จะคลอดออกมาได้นั้นเป็นเรื่อง หนักหนาสาหัส ใช้เวลายาวนาน แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว สสส. ก็ได้กลายเป็นโครงการตัวอย่างที่หลายประเทศต้องการเลียนแบบเพราะสนับสนุนงานสาธารณสุขอย่างมิให้มีช่องว่างและทำได้อย่างคล่องตัวสอดประสานกับงานสาธารณสุข (รมว. สาธารณสุขเป็นรองประธาน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สสส.)

          การตัดออกไปเด็ดขาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งถอนรากถอนโคน 2 องค์กรนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ก้าวหน้าโดยแท้

          ประการที่สอง การควบคุมการคลังทั้งด้านรายได้และรายจ่ายของภาครัฐให้เป็นระบบนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่เข้าใจกันได้ อย่างไรก็ดีความเพอร์เฟ็กต์ในโลกนี้ไม่มี สิ่งที่ผู้รับผิดชอบด้านการคลังควรกังวลก็คือประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ เรื่องการเงินของกองทุนหมุนเวียน องค์การมหาชน การกู้ยืมของรัฐบาล การใช้จ่ายของส่วนกลางก้อนใหญ่ที่สามารถมาประดังอยู่ที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ในบางรัฐบาล

          ความปรารถนาที่จะเป็นกองทุนที่มี Earmark Tax สนับสนุนกันมากมายตามที่มีผู้เสนอนั้นน่าเป็นห่วง แต่ก็มิได้หมายความว่าสมควรจะห้ามเด็ดขาดไปทั้งหมด โดยเฉพาะให้มีผลย้อนหลังกับสององค์การข้างต้นซึ่งได้ทำหน้าที่ที่มีประโยชน์ในสังคมไทยมากว่า 7 ปีแล้ว

          ทั้งสององค์กรนั้นรวมกันในแต่ละปีมีรายได้จาก Earmark Tax รวมกันประมาณไม่เกิน 6,000 ล้านบาทต่อปีซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้จากภาษีอากรทั้งหมดคือ 2,670,000 ล้านบาทแล้วก็พอเห็นภาพว่าเล็กน้อยเพียงใด

          ถ้าจะให้ความสนใจกันจริง ๆ แล้ว องค์การปกครองท้องถิ่นประมาณ 5,000 แห่งที่ได้รับ Earmark Tax มูลค่านับแสน ๆ ล้านบาทต่อปี ซึ่งแบ่งมาจาก 1 ใน 9 ของภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศ (ซึ่งจัดเก็บอยู่ในอัตราร้อยละ 7) และจัดสรรให้ท้องถิ่นให้เป็นการพิเศษเพิ่มเติมจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่จัดเก็บเองอยู่แล้ว

          การจัดสรรบางส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มให้ท้องถิ่นเป็นการพิเศษนี้โดยแท้จริงแล้วก็เข้าลักษณะ Earmark Tax เช่นกัน อย่างไรก็ดีผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยกเว้นกรณีของท้องถิ่นเป็นพิเศษ

          ประโยชน์ของ Earmark Tax ที่เด่นชัดก็คือ (ก) เป็นการเอาเงินภาษีที่เก็บจากบางสิ่งกลับไปสู่การใช้ที่พิเศษและต้องการความต่อเนื่อง เช่น ในหลายประเทศมีการเก็บภาษีอากรจากเชื้อเพลิงเพื่อเอาไปสร้างถนน ภาษีขาเข้าที่เก็บได้ของแต่ละภูมิภาคกันไว้เฉพาะสำหรับพัฒนากองทัพจีนของภูมิภาคนั้น ๆ ภาษีที่เก็บจากผลิตภัณฑ์ยาสูบของรัฐวิคตอเรียในออสเตรเลียถูกกันไว้เพื่อการสนับสนุนสุขภาพระหว่าง 1987-1997 (ปัจจุบันหลายรัฐบาลทั่วโลกมี Earmark Tax ในลักษณะนี้) ฯลฯ

          (ข) เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่สาธารณชนว่าโครงการนั้น ๆ ของรัฐบาลมีความจริงจังและต่อเนื่อง (ค) เป็นหนทางในการรู้ต้นทุนที่แท้จริงของโครงการเนื่องจากรู้รายได้ที่จัดสรรให้ชัดเจน และเห็นผลผลิตและผลลัพธ์ชัดเจน การวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลจึงชัดเจนกว่า (ง) เป็นเครื่องมือในทางเศรษฐกิจในการชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ถูกระทบ เช่น ค่าธรรมเนียมเก็บจากเครื่องบินทำเสียงดังเป็นพิเศษและกันไว้กลับไปให้แก่ผู้ถูกกระทบ (คล้ายกับภาษีจากยาสูบสู่การสร้างเสริมสุขภาวะ)

          ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ใช้ Earmark Tax อย่างกว้างขวางและได้ผล กล่าวคือกฎหมายมีการระบุวัตถุประสงค์พิเศษของการใช้เงินภาษีจากที่เก็บมาได้แก่โครงการ องค์การ ประชาชน ฯลฯ ตัวอย่างเช่นเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นกองทุนซื้อปืนคืนจากประชาชน ค่าธรรมเนียมพิเศษเรื่องสร้างบริการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับประชาชน ค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับระบบการรักษาพยาบาล (Medicare) ค่าธรรมเนียมสำหรับสร้างโครงการพื้นฐาน ฯลฯ ทั้งในระดับท้องถิ่น รัฐ และส่วนกลาง

          ตราบที่รายได้จาก Earmark Tax ไม่มากเกินไปในงบประมาณ (เช่น ไม่เกินกว่า ร้อยละ 5) แล้ว การกำกับควบคุมก็ไม่เป็นปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับให้การเก็บ Earmark Tax ต้องออกเป็นกฎหมาย (ไม่ใช่ประกาศกฎกระทรวง) อย่าลืมว่าค่าธรรมเนียมที่หน่วยงานรัฐจัดการและให้เป็นขององค์กรนั้นแท้จริงแล้วก็คือ Earmark Tax อย่างหนึ่ง ซึ่งจะว่าไปแล้วค่าธรรมเนียมการศึกษาหรือค่าเล่าเรียนที่มหาวิทยาลัยของรัฐจัดการและเป็นของมหาวิทยาลัยเองเพื่อวัตถุประสงค์ การศึกษาเป็นการเฉพาะนั้นภายใต้คำจำกัดความนี้ก็อาจต้องถูกยกเลิกไปด้วย

          กรุณาอย่าได้มัดมือตัวเองอย่างไม่ตั้งใจด้วยการห้าม Earmark Tax โดยเด็ดขาดเลย เพราะจะนำไปสู่ความยุ่งยากในการตีความทางกฎหมาย ความไม่คล่องตัวในการทำงาน และสำหรับ สสส. และ TPBS นั้น ผมว่าเขาทำงานของเขาดีอยู่แล้ว อย่าไปยุ่งกับเขาเลย แทนที่จะให้เขาเสียขวัญและเสียกำลังใจ ควรช่วยเขาต่อสู้ทุนนิยมที่พยายามเข้ามาบั่นทอนการทำงานของเขา เราไม่อยากมีสังคมที่มีคนร่างกายแข็งแรง จิตใจดี มีสัมมาอาชีวะ และมีเสรีภาพในการรับสื่อข้อมูลที่เที่ยงธรรมหรือครับ การตรวจสอบประเมินผลกันอย่างเคร่งครัดก็เป็นคนละประเด็นกับการห้ามมี Earmark Tax และการที่มีหลายฝ่ายต้องการตั้งกองทุนมาจาก Earmark Tax จนต้องห้ามเด็ดขาดและย้อนหลังไปใช้กับกองทุนอื่นด้วยก็เป็นอีกคนละประเด็นเช่นเดียวกัน

          ประเด็นหลักอยู่ที่ว่าเราจะมีระบบการคลังแบบก้าวหน้าหรือระบบการคลังที่เน้นการควบคุมซึ่งที่ผ่านมาในโลกก็ไม่มีประสิทธิภาพ ยุคสมัยของการควบคุมนั้นหมดไปแล้ว ยุคใหม่ของโลกการคลังคือการควบคุมตนเองอย่างสร้างสรรค์ และมีการตรวจสอบจากภาครัฐอีกระดับหนึ่ง