มุขมนตรี ก็ติดคุกได้

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
14
ตุลาคม 2557

Photo by Joshua Gresham on Unsplash

          เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เกิดสิ่งแปลกใหม่ขึ้นในอินเดียนั่นก็คือมุขมนตรี รัฐ Tamil Nadu ซึ่งเป็นที่รักใคร่ของประชาชนถูกศาลตัดสินจำคุก 4 ปี ในข้อหาคอรัปชั่น คนระดับนี้ในประเทศกำลังพัฒนาติดคุกติดตะรางกันได้อย่างไร

          Jayalalithaa Jayaram (ขอเรียกว่า JJ) หรือชื่อที่ชาวบ้านเรียกอย่างรักใคร่ว่า “Amma” ซึ่งแปลว่า “แม่” ปัจจุบันมีอายุ 66 ปี เธอมีความงามสวยผ่องสมวัยเพราะในอดีตเธอเป็นดาราภาพยนตร์ชื่อดังของรัฐนี้ โดยเล่นหนังตั้งแต่อายุ 15 ปี มา 150 เรื่อง

          JJ ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นอเมริกันคนนี้เรียนหนังสือในโรงเรียนฝรั่ง เธอเรียนเก่งมากแต่ไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยถึงแม้จะได้รับทุนก็ตาม แม่ของเธอซึ่งเป็นหม้ายเพราะพ่อ JJ ตายตั้งแต่เธออายุ 2 ขวบ เป็นนักแสดงจึงผลักดันเธอเข้าสู่วงการจนมีชื่อเสียงโด่งดัง

          เธอเล่นการเมืองตอนอายุ 34 ปี ในปี 1982 โดยทำงานให้พรรค AIADMK ซึ่งเป็นพรรคใหญ่ของรัฐ ในปี 1989 เธอก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐและได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคในเวลาต่อมา

          ในปี 1991 เธอก็ได้รับเลือกเป็นมุขมนตรี (นายกรัฐมนตรีของรัฐ) ของ Tamil Nadu เมื่อพรรคของเธอที่จับมือกับพรรค Indian National Congress ชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้นหลังจาก Rajiv Gandhi นายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคร่วมของเธอถูกสังหารไม่กี่วัน กระแสคะแนนเห็นใจทำให้เธอได้เป็นมุขมนตรีครั้งแรก

          JJ ได้รับเลือกตั้งเป็นมุขมนตรีรวมทั้งหมด 3 ครั้ง คือ 1991-1996 / 2002-2006 และ 2011 ถึงปลายเดือนกันยายน 2014 เมื่อมีคำตัดสินของศาลที่ทำให้เธอต้องหลุดจากตำแหน่งทันที เนื่องจากเมื่อปลายปี 2013 ศาลสูงของอินเดีย (Supreme Court) ได้มีคำตัดสินสำคัญ ห้ามนักการเมืองที่ศาลตัดสินจำคุก 2 ปี ขึ้นไปดำรงตำแหน่งการเมืองหรือลงเลือกตั้งอีก

          ทันทีที่ศาลตัดสินจำคุกเธอก็ถูกคุมขังเข้าคุกทันที เธอกำลังขออุทธรณ์ แต่ระหว่างนี้ก็ต้องนอนในคุก ในวันตัดสินของศาลแฟน ๆ กว่า 5,000 คน มาเป็นกำลังใจและเมื่อทราบ คำตัดสินก็ร้องไห้ใคร่ครวญกันยกใหญ่

          ในคดีที่ใช้เวลาถึง 18 ปีนี้ ศาลระบุว่าเธอมีทรัพย์สินมูลค่ากว่า 330 ล้านบาท ที่อธิบายแหล่งที่มาไม่ได้ (ส่วนหนึ่งของความมั่งคั่งคือที่ดิน 5,000 ไร่ ทองคำ 30 กิโลกรัม ส่าหรี 12,000 ชุด) จำเลยคนอื่น ๆ ที่ถูกตัดสินว่าทุจริตคอรัปชั่นร่วมกับเธอก็คือคนสนิท หลานชายและหลานสาว ตลอดจนลูกชายที่เธอขอมาเลี้ยงซึ่งปัจจุบันเธอไม่นับเป็นลูกอีกต่อไป

          ลูกชายคนนี้เธอแต่งงานให้ในปี 1991 หลังจากเธอเป็นมุขมนตรีไม่นาน การแต่งงานครั้งนี้ได้สร้างสองสถิติที่บันทึกไว้ใน Guinness World Record กล่าวคือมีคนมาร่วมงานแต่งงานมากที่สุด (จอที่ตั้งไว้ถ่ายทอดภาพในงานมีผู้ชม 150,000 คน) และมีงานเลี้ยงแต่งงานที่ใหญ่ที่สุด เมื่อผู้คนพูดกันว่าเธอเอาเงินทองจากไหนมาจัดงานสุรุ่ยสุร่ายแบบนี้ เธอก็บอกว่าฝ่ายโน้นซึ่งเจ้าสาวเป็นหลานปู่ของดาราภาพยนตร์ชายที่มีชื่อเสียงมากของรัฐ Tamil Nadu เป็นผู้จ่าย

          เธอมีชื่อเสียงอื้อฉาวในเรื่องคอรัปชั่นมายาวนานพอควรซึ่งเธออธิบายเสมอว่าเธอบริสุทธิ์ (คือไม่โกง ไม่ใช่สาวพรหมจรรย์) คำกล่าวหาเป็นการทำลายกันทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม (ฟังดูคุ้นจัง) ในปี 2001 เธอลงเลือกตั้งไม่ได้เพราะศาลตัดสินจำคุกเธอ 5 ปีในข้อหาหนึ่งที่สำคัญก็คือการครอบครองทรัพย์สินของรัฐโดยมิชอบ แต่ต่อมาในปี 2002 เธอก็พ้นคำตัดสินในบางข้อหาจนสามารถลงเลือกตั้งได้และกลับมาเป็นมุขมนตรีอีกครั้ง

          ในอินเดียการที่นักการเมืองใหญ่ไม่ว่าในระดับรัฐหรือระดับประเทศติดคุกในข้อหาคอรัปชั่นนั้นเป็นเรื่องแปลกประหลาด คดีของคนกลุ่มนี้มีมากแต่ใช้เวลายาวนานจนจำเลยตายหรือไม่ก็ผู้คนลืมไปแล้ว และในที่สุดก็แค่ “เขกเข่า” และก็เลิกกันไป คนติดคุกก็มีแต่ปลาซิวปลาสร้อย เมื่อ JJ ซึ่งเป็นนักการเมืองดังของรัฐ Tamil Nadu และเป็นที่รู้จักกันดีในระดับชาติติดคุกข้อหาคอรัปชั่น กลุ่มต่อต้านคอรัปชั่นในอินเดียซึ่งมีอยู่มากพอควรจึงรู้สึกยินดีแต่ก็ระมัดระวังคำพูดเพราะกลัวหน้าแตกเนื่องจากไม่รู้ว่าจะติดจริงหรือไม่ และติดนานเท่าใด

          ผู้คนรู้จัก JJ ก็เพราะรัฐ Tamil Nadu มีประชากร 72 ล้านคน (มี Chennai หรือ Madras ซึ่งเป็นชื่อเก่าเป็นเมืองหลวง) เป็นรัฐของชาวทมิฬผู้มีผิวสีเข้มข้นกว่าคนอินเดียทั่วไป (พวกเดียวกับทมิฬที่อยู่ในศรีลังกาซึ่งถูกปราบไปโดยพวกสิงหลเมื่อ 4-5 ปีก่อน) และเป็นรัฐที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ใน 29 รัฐของอินเดีย (รัฐใหญ่สุดคือ Maharashtra มีประชากร 110 ล้านคน มี Mumbai หรือ Bombay ซึ่งเป็นชื่อเก่าเป็นเมืองหลวง)

          การติดคุกของมุขมนตรีรัฐใหญ่ผู้มาจากรัฐเพื่อนบ้าน คือ Karnataka (เธอจึงไม่มีผิวสีเดียวกับชาวทมิฬ) เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วอินเดียและทั่วโลก คาดว่าสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วเมื่อผู้คนเห็นว่าคนใหญ่โตก็ติดคุกได้เพราะบังอาจแปลงอำนาจที่ตนมีเพื่อประโยชน์แห่งสาธารณชนไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว

          ถ้าคนใหญ่คนโตประพฤติมิชอบแล้วไม่ถูกลงโทษ ก็จะไม่ยำเกรงและจักประพฤติซ้ำอีกเสมอ ปัญหาคอรัปชั่นก็แก้ไม่ได้ เหตุผลหนึ่งที่ไม่ถูกลงโทษกันในประเทศกำลังพัฒนาก็เพราะผู้คนในกระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่มี “กำแพงใจ” ว่าคนใหญ่โตโดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และนักการเมืองนั้นติดคุกไม่ได้

          ยาหยุดคอรัปชั่นได้ชะงัดในระยะสั้นในสังคมเราก็คือการส่งสัญญาณให้ประชาชนรู้ว่าภาครัฐเอาจริงในเรื่องคอรัปชั่นผ่านการเร่งรัดคดีคอรัปชั่นทั้งหลายในอดีตที่ค้างอยู่โดยสนับสนุนการลงโทษคนทำผิดอย่างเด็ดขาดและทันใจ นอกจากนี้ก็เอาคนใหญ่คนโตในบ้านเมืองที่มีหลักฐานชัดเจนว่าคอรัปชั่นในคดีใหม่ ๆ มาลงโทษอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม  เราจะปราบปรามคอรัปชั่นกันได้ก็ด้วยความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวของภาคประชาชนในความรู้สึกเดียวกับคำกล่าวของมหาตมะคานธีที่ว่า “ฉันจะไม่ยอมให้ใครเดินผ่านเข้ามาในใจของฉันด้วยเท้าที่สกปรก” (I will not let anyone walk through my mind with their dirty feet)

Dunbar’s Number

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
7
ตุลาคม 2557

Photo by Duy Pham on Unsplash

          คน ๆ หนึ่งสามารถมีเพื่อนจำนวนเท่าใดที่เหมาะสมต่อการคุ้นเคย รักใคร่ชอบพอกันและสามารถรักษาความเป็นเพื่อนไว้ได้เป็นอย่างดี? คำตอบนี้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Dunbar’s Number ขึ้น และตัวเลขนี้มีความหมายโยงใยไปถึงหลายเรื่องในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นขนาดของธุรกิจ ขนาดของกลุ่มออกค่ายอบรม ขนาดของหน่วยรบ ขนาด network ของ Social Media ฯลฯ

          ในปี 1992 Robin Dunbar ผู้เป็นศาสตราจารย์ทางมานุษยวิทยาของ Oxford ได้ให้ตัวเลขนี้แก่ชาวโลกจากการศึกษาเชิงการแพทย์ จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา เพื่อหาจำนวนของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่สมองของมนุษย์คนหนึ่งสามารถจัดการได้เป็นอย่างดี Dunbar พบว่ามนุษย์มีทางโน้มที่สามารถจัดการกลุ่มของตน (self-organize) เองได้ดีเมื่อกลุ่มของตนมีจำนวนไม่เกิน 150 คน ดังนั้นตัวเลข 150 นี้จึงเป็นที่รู้จักกันดีในวงวิชาการและถูกเรียกว่า Dunbar’s Number

          Robin Dunbar ปัจจุบันอายุ 67 ปี เป็นคนอังกฤษ ตอนปริญญาตรีเขาเรียนด้านจิตวิทยาและปรัชญาที่ Oxford และเรียนจบปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาจาก University of Bristol จากนั้นก็ทำวิจัยและสอนอยู่หลายแห่งในอังกฤษก่อนที่จะมีชื่อเสียงโด่งดังเพราะการให้ตัวเลขนี้

          คำจำกัดความทางการของ Dunbar’s Number ก็คือ “ตัวเลขของจำนวนคนที่ทำให้เกิดข้อจำกัดเชิงการใช้ความคิดที่บุคคลหนึ่งสามารถทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนได้” พูดง่าย ๆ ก็คือมันเป็นตัวเลขที่สร้างข้อจำกัดในการทำงานของสมองของมนุษย์คนหนึ่งในการสามารถที่จะรักษาความสัมพันธ์กับคนอื่นได้เป็นอย่างดี

          เขามิได้ยกเมฆตัวเลขนี้หากศึกษาอย่างรอบคอบในเชิงสังคมวิทยา บทความของเขาใน Journal of Human Evolution ในปี 1992 อธิบายว่าการมีสมองขนาดใหญ่ขึ้นทำให้สามารถแก้ไขปัญหาสังคมได้ดียิ่งขึ้น การอยู่อาศัยเป็นกลุ่มของมนุษย์แต่ดึกดำบรรพ์ทำให้เกิดประโยชน์มหาศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการป้องกันภัยจากศัตรู

          อย่างไรก็ดีการอยู่ร่วมกันเป็นเรื่องยากเพราะสมาชิกมักแย่งชิงอาหารและเพศตรงข้ามกัน ต่างต้องระวังการถูกโกงและการถูกกดขี่ข่มเหง แต่ในขณะเดียวกันต่างก็หาช่องทางที่จะข่มขู่และกดขี่คนอื่นเพื่อการอยู่รอดด้วย

          เมื่อขนาดของกลุ่มใหญ่ขึ้น ขนาดของข้อมูลที่สมองของสัตว์เผ่าพันธุ์ primates ซึ่งครอบคลุมลิงและมนุษย์จะต้องประมวลก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว กลุ่มที่มีคน 5 คน มี 10 คู่ของความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก ถ้ากลุ่มเป็น 20 ก็มี 190 ถ้ากลุ่มเพิ่มเป็น 50 ก็มี 1,225 เมื่อความซับซ้อนของความสัมพันธ์มากขึ้นเช่นนี้สมองก็จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีหลากหลายชั้นของเซลล์สมองเพื่อจัดการความสัมพันธ์ซึ่งสมองเป็นเครื่องมือสำคัญ

          Dunbar ใช้โมเดลคณิตศาสตร์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของ neocortex (ส่วนสำคัญของสมอง) ของแต่ละประเภท primates กับขนาดของกลุ่มที่อยู่ร่วมกัน ยิ่ง neocortex ใหญ่เท่าใดขนาดของกลุ่มที่สามารถจัดการปัญหาของตนเองได้ก็ใหญ่ขึ้น แม้แต่มนุษย์ซึ่งเป็น primate ที่ฉลาดที่สุด ก็ไม่สามารถอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่อย่างไม่มีที่สิ้นสุดได้

          เขาพบว่าสำหรับลิงประเภทต่าง ๆ มีขนาดของกลุ่มที่อยู่ด้วยกันตั้งแต่ 5 ถึง 80 ตัว ส่วนลิง ape มีขนาดของกลุ่มประมาณ 5 ตัว และขนาดของกลุ่มของมนุษย์คือ 147.8 คน

          Dunbar พบข้อมูลจากประวัติศาสตร์ว่าขนาดของกลุ่มทหารโรมัน กลุ่มทหารในศตวรรษที่ 16 กลุ่มชนที่เดินทางเร่ร่อนในสมัยโบราณ กลุ่มชนที่อาศัยในถิ่นต่าง ๆ ล้วนมีขนาดประมาณ 150 คน เช่นเดียวกับที่เขาคำนวณได้จากโมเดลคณิตศาสตร์

          งานศึกษาของ Dunbar จนได้ตัวเลข 150 สร้างความฮือฮาในทางวิชาการในทศวรรษ 1990’s จนถึงปัจจุบัน มีคนนำไปประยุกต์ใช้ในทางการทหาร ทางธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง Social Media

          กองทัพสหรัฐอเมริกาได้ลองผิดลองถูกกับขนาดของหน่วยรบที่มีประสิทธิภาพที่สุดมายาวนานและใช้ตัวเลข 150 เป็นจำนวนคนของทหารหน่วยรบในปัจจุบัน สำหรับบริษัทใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เช่น Gore-Tex นั้นหากสาขามีจำนวนลูกจ้างถึง 150 คน ก็จะแยกออกเป็นอีกสาขาหนึ่ง และสำหรับชุมชนปกครองตนเองในสหรัฐอเมริกา (เช่น พวก Hutterites ซึ่งคล้ายพวก Amish ซึ่งยึดการใช้ชีวิตแบบโบราณดั้งเดิม) หากสมาชิกเกิน 150 คน ก็จะแยกออกเป็นอีกชุมชนหนึ่ง

          ในโลกของ Social Media นั้น Dunbar’s Number ถูกนำมาทดสอบเพื่อยืนยันจำนวนเพื่อนที่สมาชิกคนหนึ่งสามารถมีความสัมพันธ์ได้อย่างยั่งยืน ตัวเลขนี้มีความสำคัญเพราะเป็นขนาดของ network ที่จะต้องนำเอามาออกแบบเชิงธุรกิจ Facebook สนใจ Dunbar’s Number เช่นเดียวกับ Path ซึ่งช่วยให้สมาชิกโพสต์รูปและความเห็นผ่านสมาร์ทโฟนตลอดจนบอกเวลานอนและตื่นได้ด้วย (จะบอกชาวบ้านเขาไปทำไม?) ผู้บริหาร Path พบว่า network ไม่ควรมีขนาดใหญ่กว่า 150 คน Path ประสบความสำเร็จจากการใช้จำนวนนี้จนปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 5 ล้านคน

          มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีและอย่างต่อเนื่องกับมนุษย์คนอื่น ถ้ามีจำนวนน้อยเกินไปก็ไม่เกิดประโยชน์เต็มที่ แต่ถ้ามีมากเกินไปก็ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์อย่างดีไว้ได้ยั่งยืน Dunbar ให้ตัวเลข 150 ซึ่งอาจเหมาะสมกับวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งมีลักษณะของการรักษาความสัมพันธ์แตกต่างจากวัฒนธรรมอื่น ๆ

          ในสังคมตะวันออกโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา การให้ความสำคัญแก่พิธีกรรมเป็นพิเศษเพื่อสร้างและรักษาความสัมพันธ์ก่อให้เกิดค่าโสหุ้ยไม่ใช่น้อย (เช่น ของฝาก การไปร่วมงานพิธีต่าง ๆ ของขวัญฯ) จนตัวเลข 150 นี้อาจไม่ถูกต้องก็เป็นได้ หากมีงานวิจัยเช่นนี้โดยคำนึงถึงบริบทวัฒนธรรมตะวันออกก็จะเป็นประโยชน์มาก

          ระหว่างนี้ในบ้านเรา Dunbar’s Number อาจช่วยได้ในเรื่องขนาดของหอพัก ขนาดของสมาชิกสหกรณ์ ขนาดของห้องเรียน ขนาดของธุรกิจ ขนาดของนักเรียนในกีฬาสี ขนาดขององค์กร ขนาดของสภาต่าง ๆ จำนวนของสมาชิกการประชุมสัมมนาในแต่ละครั้ง ขนาดของครูในโรงเรียนหรือจำนวนข้าราชการในกอง ฯลฯ ก่อนที่จะมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของเราออกมา

          ในกลุ่ม 150 คนนี้ญาติพี่น้องเราเลือกไม่ได้ แต่เราสามารถเลือกปิยมิตรมาให้ครบ 150 คน ได้เสมอครับ

เพื่อนผมชื่อ TED

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
30
กันยายน 2557

ที่มา https://pantip.com/topic/36936731

          ไอเดียใหม่ทำให้มนุษย์ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอเพื่อชดเชยความอยากรู้อยากเห็นซึ่งช่วยให้สมองกระฉับกระเฉง มีอยู่เว็บไซต์หนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งซึ่งช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว นั่นก็คือ TED.com

          TED.com หรือเรียกกันย่อ ๆ ว่า TED หรือ TED Talks เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีของคนไทยจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว แต่ก็น่าจะมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่คุ้นเคย เว็บไซต์นี้เป็นเพียงหนึ่งในร้อยของเว็บไซต์ด้านการศึกษาที่สามารถเข้าชมได้ฟรีที่มีอยู่ในโลกไซเบอร์ (ตัวอย่างเช่น Coursera, MIT World, Khan Academy) อย่ามัวแต่เล่น

          Facebook หรือ Line อยู่ตลอดเวลาเลยครับ สิ่งน่าสนใจและมีประโยชน์ต่อชีวิตและการทำงานยังมีอยู่อีกมากมาย

          TED รวบรวมคลิปวีดีโอของการนำเสนอสารพัดไอเดียโดยผู้รู้ทั่วโลกที่มีจำนวนถึงประมาณ 40,000 ชิ้น แต่ละคนต้องพูดไม่เกิน 18 นาที (พวกบ้าน้ำลาย น้ำท่วมทุ่ง กรุณาไปให้ไกล) คนทั่วไปเข้าไปดูที่ TED.com ได้โดยไม่เสียเงิน ภาษาที่ใช้คืออังกฤษ แต่กำลังมีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศกว่า 90 ภาษา จำนวนหนึ่งมีคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ และบางส่วนเป็นภาษาไทยด้วย

          แต่ละคลิปผู้ชมจะได้รับฟังไอเดียที่น่าสนใจผ่านการพูดที่ชัดเจน ฉาดฉาน สนุก และมีอารมณ์ขันแทรกในแทบทุกเรื่อง TED ย่อมาจากคำว่า Technology, Entertainment และ Design ซึ่งครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ใครที่ปรารถนาจะได้รับรู้ไอเดียใหม่ ๆ ในชีวิต จะได้ประโยชน์จาก TED มาก

          คำขวัญของ TED ก็คือ “Ideas Worth Spreading” โดยต้องการให้เกิดพลังของไอเดียเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ชีวิตของผู้คนและโลก TED ต้องการเป็น clearing house ของความรู้ที่ฟรีเพื่อปลุกเร้าพลังใจ (inspiration) นอกจากนี้ก็ต้องการเป็น “ชุมชน” ของผู้มีจิตอยากรู้อยากเห็น (curious souls) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันอีกด้วย

          ขอยกตัวอย่างการพูดของ Dan Ariely นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่มีหนังสือดังหลายเล่ม (Predictably Irrational (2008), The Honest Truth about Dishonesty (2010) เมื่อเร็ว ๆ นี้เขาพูดถึงเรื่องแรงจูงใจในการทำงาน เขาบอกว่าโดยปกติคนจะเข้าใจว่าเงินคือแรงจูงใจ แต่จากการทดลองทางจิตวิทยาของเขาก็พบสิ่งที่เขาขอเรียกว่า “Ikea Effect” (ร้านสรรพสินค้าอิเกียของสวีเดนซึ่งเป็นบริษัทขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก)

          ร้านนี้ขายเฟอร์นิเจอร์ที่ผู้ซื้อต้องเอาไปประกอบเอง เขาบอกว่าหลังจากประกอบเองแล้วเขารู้สึกว่ามันเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีค่ามากกว่าเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปที่ซื้อมา มีอีกกรณีที่น่าศึกษาในสหรัฐอเมริกาคือการขายผงเค็กที่เพียงใส่น้ำกวนและเข้าเตาอบก็เป็นขนมเค็กสำเร็จรูปแล้ว สินค้านี้ต่อมาขายไม่ออกเพราะผู้ซื้อไม่รู้สึกภูมิใจว่าเป็นขนมเค็กที่ตนเองทำขึ้นมาเอง ดังนั้นต่อมาจึงต้องให้คนซื้อผสมไข่ไก่และนมลงไปเอง ขนมเค็กแบบนี้จะทำให้รู้สึกว่าเป็นขนมเค็กที่ทำขึ้นมาเองจริง ๆ มากขึ้นและมีความภูมิใจ

          ผู้เขียนนึกถึง Jigsaw Puzzle ยาก ๆ ที่เราต่อได้สำเร็จ จะรู้สึกภูมิใจและไม่ต้องการให้รื้อออกถึงแม้จะไม่ได้เป็นรูปอะไรที่งดงามเลย (เอาสก๊อตเทปติดข้างหลังและใส่กรอบเก็บไว้ได้) การที่เรารักลูกมิใช่เพราะเขาผูกพันกับเราทางสายเลือดเท่านั้น หากความลำบากยากเข็ญในการเลี้ยงและประสบการณ์ในการเห็นเขาเติบโตขึ้นมาทำให้เรารู้สึกภูมิใจ

          สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้กับการทำงานก็คล้ายกัน มันทำให้เกิด “Ikea Effect” ซึ่งเกี่ยวพันกับความภาคภูมิใจ การมีความหมายของงานที่ทำ การมีส่วนสร้างสรรค์ การรู้สึกเป็นเจ้าของ ความท้าทาย ฯลฯ ผู้นำและองค์กรใดที่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ดีจะทำให้คนทำงานมีความสุข ปรารถนาจะทุ่มเทให้องค์กร และมีผลิตภาพ (productivity) เพิ่มขึ้น

          อีกเรื่องหนึ่งก็ได้แก่การที่ศิษย์เก่าคนหนึ่งกลับไปโรงเรียนและนึกถึงแม่บ้านที่ทำอาหารกลางวันให้เด็กรับประทานชั่วนาตาปี (เด็กอเมริกาจะมีคูปองกินอาหารกลางวันที่โรงเรียน) เด็กส่วนใหญ่มองข้ามไม่เห็นความสำคัญ เขาไปจัดงานวันระลึกถึง “Lunch Ladies Hero” จนแม่บ้านเหล่านี้ ซาบซึ้งใจ และปรากฏว่าเด็กอีกกว่า 10 ล้านคนในโรงเรียนอื่น ๆ ก็ทำตาม ไอเดียนี้ทำให้เด็กเห็นความสำคัญของคนตัวเล็ก ๆ ที่ทำสิ่งต่าง ๆ ให้รู้สึกขอบคุณสิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับ และจะว่าไปแล้วเป็นรากฐานของประชาธิปไตยที่ถือว่าทุกคนเท่าเทียมกัน

          TED เกิดขึ้นในปี 1984 โดยเริ่มจากการจัดประชุมปีละครั้งและบันทึกการพูดเป็นเทปไว้ (ในปีแรกคนพูดกล่าวถึง Mackintosh computer / CD-rom / Sony Dics Pact) แต่พอมาถึงปี 2001 Richard Saul Warman สถาปนิกมีชื่อชาวอเมริกันผู้ริเริ่ม TED ก็ขายให้ Christ Anderson

          เจ้าของคนใหม่หัวก้าวหน้าเอามาทำต่อโดยให้เป็นสมบัติของมูลนิธิ Sapling และขยาย ต่อยอด TED ออกเป็นเวทีเล็ก ๆ ทั่วโลกที่เรียกว่า TEDGlobal / TED อีกทั้งจัด TED ประจำปีที่คานาดาและสหรัฐอเมริกา และบางประเทศในทุกทวีปจนเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันทุกวันจะมี TED ประมาณ 8 แห่งต่อวันใน 133 ประเทศ

          การไปร่วมประชุม TED ใหญ่ประจำปีนั้น บัตรราคา 6,000 เหรียญ (กว่า 180,000 บาท) เป็นเวลา 3-4 วัน มีคนพูดประมาณ 40 คน (กติกาคนละไม่เกิน 18 นาทีเป็นยี่ห้อ และไม่ได้ค่าตอบแทนใด ๆ แถมต้องมอบลิขสิทธิ์การพูดนั้นให้ด้วย) แต่ละวันมีงานเลี้ยงเพื่อให้คนเข้าร่วมได้รู้จักแลกเปลี่ยนความคิดกัน แต่ว่ามีเงิน 6,000 เหรียญก็ใช่ว่าจะได้เข้าร่วมประชุม การไปร่วมงานนั้นมาจากการเชิญเท่านั้น (สมัครไปได้แต่ต้องเขียนคำอธิบายขอเข้าร่วม)

          ทีมงานจะคัดสรร TED talks ที่ดี ๆ มาขึ้นเว็บ โดยมีประมาณ 5-7 การนำเสนอต่ออาทิตย์ จากตัวเลขเดิมที่มีคนมาร่วมงานปีละ 800 คน ปัจจุบันไม่ต่ำกว่าวันละ 1 ล้านคนที่เข้าชม TED

          TED มีโครงการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ ปัจจุบันมีผลงานนับหมื่นชิ้นในสารพัดภาษา โดยอาสาสมัครทั่วโลกเกือบ 10,000 คน ที่แปลเป็นภาษาไทยก็มีที่ดังได้กล่าวแล้ว และนับวันจะมีเป็นภาษาไทยมากตอนขึ้น

          TED ถูกวิจารณ์ว่าเป็นงานของพวกอภิสิทธิชน (คล้ายกับที่ World Economic Forum ถูกวิจารณ์) ทั้งคนร่วมงานประชุมประจำปีและผู้พูดไม่เปิดโอกาสให้คนไม่มีเงินได้เข้าร่วมประชุม (คนวิจารณ์ลืมไปว่าคลิปนับหมื่นชิ้นที่เขาคัดเลือกมานั้น คนทั่วโลกถึงยากไร้อย่างไรก็ได้ดูฟรี)

          ผู้เขียนขอร่วมช่วยแพร่กระจายเว็บไซต์ดี ๆ เช่นนี้เพราะเท่ากับช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นทางอ้อมเช่นกัน มันเป็น Website Worth Spreading ครับ

Digital Economy

วรากรณ์  มาสโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
23
กันยายน 2557

Photo by Pierre Borthiry on Unsplash

          คนไทยรู้จักคำว่า Digital Economy เมื่อรองนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แถลงนโยบายว่าต้องสนับสนุนให้เกิด Digital Economy ขึ้นเพื่อเปลี่ยนรูปภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการดั้งเดิมของเรา ลองมาดูความหมายของคำนี้กัน

          Digital Economy หมายถึงเศรษฐกิจที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที (ซึ่งมีอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก) เป็นปัจจัยสำคัญ สิ่งที่เราเรียกว่า E-Commerce หรือการค้าขายกันทางอินเตอร์เน็ตคือลักษณะหนึ่งของ Digital Economy

          ผู้บัญญัติศัพท์นี้ขึ้นเป็นคนแรกคือ Don Tapscott ผู้เขียนหนังสือชื่อ “The Digital Economy : Promise and Peril in the Age of Networked Intelligence” ในปี 1995 หนังสือเล่มนี้เป็นเบสส์เซลเลอร์ระดับชาติภายในเวลา 1 เดือน และคงความเป็นหนังสือยอดฮิตอยู่หลายเดือน ในที่สุดก็ได้เป็นหนังสือด้านไอเดียธุรกิจที่ฮิตอันดับ 1 ในปี 1996

          Tapscott ชี้ให้เห็นว่าอินเตอร์เน็ตจะเปลี่ยนวิถีของการค้าขายอย่างชนิดที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อนโดยจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที กฎกติกาและกฎหมาย การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการปรับตัวและปรับทัศนคติของประชาชน

          Digital Economy มีชื่ออื่นอีกเช่น The Internet Economy / The New Economy หรือ Web Economy อย่างไรก็ดีชื่อที่คนนิยมที่สุดคือ Digital Economy

          Digital Technology เป็นฐานสำคัญของไอทีซึ่งอาศัยการใช้เลข 0 และ 1 ซึ่งอยู่ในลักษณะของ Binary System (ถ้าเป็น Decimal System ก็จะเป็นฐาน 10 กล่าวคือประกอบด้วยเลข 0 ถึง 9) ในการส่งสัญญาณ ซึ่งการส่งสัญญาณ 0 และ 1 ส่วนใหญ่กระทำผ่านใยแก้วนำแสง (Optic Fiber)

          ไอทีคือการผนวกเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ากับเทคโนโลยีโทรคมนาคม สังคมที่มีโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม (เช่นเครือข่ายใยแก้วนำแสงเป็นตัวกลางนำเสียง ข้อมูลและภาพสู่โทรศัพท์และอุปกรณ์ไอทีทั้งหลาย / ชุมสาย / เสาส่งสัญญาณ / สถานีรีเลย์สัญญาณ ฯลฯ) ที่มีคุณภาพและครอบคลุมกว้างขวาง มีการบริหารจัดการเครือข่ายที่ดี ตลอดจนมีการประยุกต์ซอฟต์แวร์ และมีกลไกในการประสานการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ดี จะเป็นกุญแจสำคัญสู่การเป็น Digital Economy

          การเป็น Digital Economy ทำให้เกิดสิ่งต่อไปนี้ (1) การลดต่ำลงของต้นทุนในการประกอบการไม่ว่าในด้านการผลิต ด้านการขาย (ลองจินตนาการสังคมที่ไม่มีอีเมล์ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มี Conference Call ดูว่าจะมีโสหุ้ยหรือ Transaction Cost ในการดำเนินการสูงเพียงใด)

          (2) อำนวยให้เกิดการต่อยอดในการผลิตสินค้าและบริการใหม่ออกสู่ตลอดเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค ตัวอย่างเช่นการได้รับข้อมูลข่าวสารในเรื่องต่าง ๆ จากแหล่งอื่น ๆ ทั่วโลกเพื่อนำมาช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ฯลฯ

          (3) การขยายตัวอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นของ E-commerce ท่ามกลางสภาวการณ์ที่ต้นทุนในการดำเนินการลดต่ำลง เช่น การขายของทางอินเตอร์เน็ตโดยไม่ต้องมีร้านค้า ความสะดวกของผู้ซื้อที่ไม่ต้องเดินทางไปหาซื้อของ เกษตรกรเปิด Application และรู้ได้ทันทีจากตำแหน่ง GPS ที่ตนอยู่ว่าในพื้นที่นั้นในปีนั้นควรปลูกพืชอะไร ฯลฯ

          (4) ขยายการจ้างงานและสร้างการจ้างงานในลักษณะใหม่ ๆ อันเป็นผลจากการเกิดสินค้าการตลาดและรูปแบบการค้าขายใหม่ เช่น นักกลยุทธ์การตลาดทาง social media ที่ปรึกษา E-commerce นักโฆษณาสินค้าทาง Social Media ฯลฯ

          (5) อำนวยให้เกิดการลงทุนธุรกิจข้ามพรมแดนมากยิ่งขึ้น เช่น การจองโรงแรมและ ทริปท่องเที่ยว การลงทุนซื้อหุ้นต่างประเทศ การค้าขายเงินตราต่างประเทศ ฯลฯ

          (6) สนับสนุนการเรียนรู้ของประชาชนซึ่งช่วยส่งเสริมคุณภาพของมนุษย์และแรงงาน เช่น การเรียนการสอนผ่านอินเตอร์เน็ต / E-Learning ฯลฯ

          ประการสำคัญ Digital Economy อำนวยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคต่าง ๆ มีมูลค่าสูงยิ่งขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังสนับสนุนความแข็งแกร่งในการกำหนดกลยุทธ์การตลาดอันเนื่องมาจากการมีข่าวสารข้อมูลที่กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น

          ภาค Hospitality ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ อาหาร บันเทิง การเดินทาง wellness (นวด สปา รักษาพยาบาล) ซึ่งกำลังจะมีความสำคัญในภูมิภาคของ CLMV (Cambodia-Laos-Myanmar-Vietnam) จีนตอนใต้และไทยมากยิ่งขึ้นจะได้อานิสงส์เป็นอย่างมากจากการเป็น Digital Economy

          ปัจจุบันบ้านเรามีเครือข่ายใยแก้วนำแสงอย่างกว้างขวางไปถึงประชาชน 1 ใน 3 ของอำเภอทั้งหมด และตำบลใหญ่ ๆ เครือข่ายโทรคมนาคมของเราก็กระจายตัวไปเกือบทั่วประเทศอีกทั้งมีการผนวกกิจกรรมเศรษฐกิจเข้ากับไอทีจนอาจเรียกได้ว่าเราเป็น Digital Economy ในระดับหนึ่ง ในภาครัฐเองสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมการใช้ไอทีของงานภาครัฐก็วางโครงสร้างพื้นฐานของอินเตอร์เน็ตของภาครัฐไว้กว้างขวาง และสามารถนำเอาฐานข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐจำนวนหนึ่งมารวมกันไว้เพื่อความสะดวกในการใช้ของประชาชน หน่วยงานของรัฐชื่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) ก็ได้วางรากฐานกฎหมายของการต่อยอดขึ้นไปเป็น Digital Economy ไว้พอควรแล้ว เช่นเดียวกับองค์กรของภาครัฐที่สนับสนุนการผลิตซอฟต์แวร์ และการใช้ไอทีในการผลิตและให้บริการ

          ถ้ารัฐบาลเอาจริงในเรื่องการสร้าง Digital Economy ก็จะทำให้สามารถต่อยอดขึ้นไปจากฐานที่มีอยู่ได้เป็นอย่างดีด้วยการประสานงานของหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน มีแผนพัฒนาเป็นขั้นตอนโดยมีลำดับความสำคัญ อะไรที่ขาดก็เติมให้เต็มและร่วมใช้ทรัพยากรกัน ก็เชื่อได้ว่าจะทำได้สำเร็จในระดับหนึ่งในเวลาพอควร และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและอนาคต

          ปัจจุบัน Tapscott คนคานาดาผู้ประดิษฐ์คำว่า Digital Economy เป็นกูรูสำคัญของโลกในด้านการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เขาเขียนหนังสือธุรกิจร่วมกับคนอื่นรวม 15 เล่ม หลายเล่มดังระดับโลก เมื่อไม่นานมานี้กลุ่ม Thinkers50 ได้เรียงลำดับท๊อป 50 คน ในโลกซึ่งยังมีชีวิตอยู่ที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดด้านธุรกิจมากที่สุด ผลก็คือ Tapscott อยู่ในอันดับที่ 4

          ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นและยินดีกับความสำเร็จของ Tapscott ผู้เกิดวันเดียวเดือนเดียวและ ปีเดียวกับผู้เขียน จำนวนนาทีที่เราสองคนมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ต่างกันอย่างมากก็ไม่เกิน 60 x 24 หรือ1,440 นาที

สก๊อตแลนด์ลงมติประกาศอิสรภาพ?

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
16
กันยายน 2557

ที่มา https://www.pinterest.com/pin/680888037386364564/

         คนสก๊อตแลนด์จะลงประชามติกันในวันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน นี้ว่าจะเป็นประเทศอิสระโดยไม่เป็นส่วนหนึ่งของ United Kingdom อีกต่อไป หลังจากร่วมหอลงโรงกันมา 307 ปี ขณะนี้คะแนนเสียงต้องการเป็นอิสระมากกว่าเสียงปฏิเสธเป็นครั้งแรกและโมเมนตั้มดูจะเอียงไปทางตอบรับ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริงก็จะเกิดผลกระทบกว้างไกลในโลก

          ใน ค.ศ. 1707 สก๊อตแลนด์ซึ่งเคยเป็นดินแดนอิสระมายาวนานหลายร้อยปีก็ทำสัญญา เป็น Union (รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน) กับราชอาณาจักรอังกฤษ และประมาณอีกร้อยปีต่อมาไอร์แลนด์ก็ทำอย่างเดียวกัน อย่างไรก็ดีไอร์แลนด์หลุดออกไปเป็นประเทศอิสระด้วยสงครามต่อสู้เพื่ออิสรภาพในปี 1922 และเป็นสาธารณรัฐสมบูรณ์ในปี 1948 แต่สก๊อตแลนด์ยังคงติดอยู่กับสัญญาเดิม การลงประชามติครั้งนี้จะเป็นการชี้ชะตาว่าต้องการจะเป็นประเทศอิสระหลุดพ้นจากอังกฤษตามอย่างไอร์แลนด์ หรือไม่

          ในปัจจุบันสิ่งที่เรียกว่า United Kingdom ประกอบด้วยอังกฤษ (England) สก๊อตแลนด์ (Scotland) เวลส์ (Wales) และไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) ซึ่งเป็นดินแดนประมาณ 1 ใน 6 ของเกาะไอร์แลนด์ทั้งหมด (ประชากร 4.6 ล้านคน) อังกฤษถือว่า Northern Ireland เป็นดินแดนของตนเองตามประวัติศาสตร์โดยมีประชากรทั้งหมด 1.8 ล้านคน เกือบทั้งหมดมิได้นับถือ ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเช่นเดียวกับพลเมืองประเทศไอร์แลนด์

          4 ชาติพันธุ์ คือ อิงลิช ไอริช สก๊อต และเวลช์ (ประชากรของ Wales ประมาณ 3 ล้านคน) อยู่ร่วมกันเป็น United Kingdom มายาวนาน ปัจจุบันไอร์แลนด์ออกไปแล้วเหลือไว้แต่ Northern Ireland และคราวนี้สก๊อตแลนด์กำลังพยายามจะหนีออกไปอีกราย

          ถ้าสก๊อตแลนด์หลุดออกไปก็หมายถึงดินแดน 1 ใน 3 ของ United Kingdom จะหายไปพร้อมกับน้ำมันและก๊าซในทะเลเหนือซึ่งมีปริมาณอยู่เป็นจำนวนมาก และประการสำคัญจะเป็นตัวอย่างให้เกิดการเลียนแบบในอังกฤษ ใน EU และในประเทศอื่น ๆ ในโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่กำลังมีปัญหาแบ่งแยกดินแดนอยู่ในปัจจุบัน

          ความคิดเรื่องการเป็นประเทศอิสระของชาว Scots นั้นมีมายาวนาน เพียงแต่ไม่เป็นขบวนการที่เข้มข้นและจริงจังเหมือนคนไอริช (คงจำขบวนการ IRA หรือ Irish Republican Army กันได้ที่ต่อสู้ฆ่าฟันกับอังกฤษตามสไตล์ก่อการร้ายตั้งแต่สงครามอิสรภาพจนถึงการจะเอา Northern Ireland มาผนวกเข้ากับประเทศให้เป็น Ireland ทั้งเกาะ Lord Louis Mountbatten พระราชวงศ์ชั้นสูง ผู้ช่วยเหลือประเทศไทยมากในสงครามโลกครั้งที่สองก็ถูกระเบิดของ IRA เสียชีวิตในปี 1979)

          การลงประชามติครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากพรรค SNP (Scottish National Party) ของ สก๊อตแลนด์ชนะเลือกตั้งในปี 2011 โดยรณรงค์ว่าจะจัดให้มีประชามติตัดสินการเป็นอิสระจาก United Kingdom ซึ่งก็คือตัดขาดจากอังกฤษในปี 2014 และหากลงมติเห็นพ้องกันก็จะใช้วันที่ 24 มีนาคม 2016 เป็นวันประกาศอิสรภาพของสก๊อตแลนด์

          สก๊อตแลนด์เป็นเสมือนรัฐกึ่งอิสระของ United Kingdom มีนายกรัฐมนตรีของตนเองซึ่งเรียกว่า First Minister และมีรัฐบาลแบบท้องถิ่น (มีตัวแทนเป็น ส.ส. ในรัฐสภาอังกฤษด้วย) ดูแลเรื่องการศึกษากฎหมาย สถาบันศาสนา โดยมีระบบเป็นของตนเอง ส่วนการต่างประเทศ การป้องกันประเทศ การเก็บภาษี การให้เงินอุดหนุนสก๊อตแลนด์ ฯลฯ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลอังกฤษ

          ในตอนแรกเมื่อมีการผลักดันประชามติดังกล่าว รัฐบาลอังกฤษสนับสนุนเพราะมั่นใจว่าคนสก๊อตจะปฏิเสธอย่างแน่นอนและจะเป็นการดีเพราะหากไม่ผ่านการพูดเรื่องแยกเป็นอิสระจะได้จบสิ้นลงเสียทีหลังจากมีความพยายามกันมายาวนาน ในตอนแรก ๆ หลายโพลมีผลตรงกันว่าคนสก๊อตไม่เอาด้วยแน่ คะแนนห่างกันถึง 4-14 จุด รัฐบาลอังกฤษก็นอนใจ เชื้อสายสก๊อตทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น J.K. Rowling / Rod Stewart / Alex Ferguson / Susan Boyle / David Bowie ฯลฯ ต่างออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าควรอยู่กับอังกฤษต่อไป

          คนที่ออกมาบอกว่าควรแยกได้แก่ Sean Connery / Brian Cox นักแสดง / Ken Loach ผู้กำกับภาพยนตร์ ฯลฯ

          อย่างไรก็ดีในอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ โพลระบุว่าคะแนนที่เห็นว่าควรแยกเป็นอิสระมากกว่าอีกฟากหนึ่งเป็นครั้งแรกคือ 51-49 และมีทางโน้มที่จะห่างมากขึ้นเมื่อใกล้วันลงมติ

          นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลอังกฤษตกใจ เพราะการสูญเสียสก๊อตแลนด์นั้นหมายถึงการสูญเสียดินแดนถึง 78,000 ตารางกิโลเมตร ตลอดจนมูลค่าก๊าซและน้ำมันมหาศาลซึ่งเคยเป็นแหล่งรายได้และพลังงานสำคัญ ประการสำคัญต้องจับตามอง Wales และ Northern Ireland ถึงแม้ประชากร 3 ล้านคนของ Wales ขณะนี้ยังไม่มีความรู้สึกต้องการแบ่งแยกเด่นชัด แต่ก็ไม่อาจแน่ใจได้ในเรื่องการเลียนแบบ อย่างไรก็ดีแม้แต่เมื่อยังไม่มีมติเห็นชอบออกมา ขณะนี้หลายเมืองและเขตของอังกฤษที่คิดว่าตนเองไม่ได้สิ่งที่ควรได้รับจากรัฐสภาอังกฤษก็เริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น และถ้าประชามติออกมาว่าแยก นาย David Cameron นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็อาจต้องลาออก

          เบลเยี่ยมและสเปนเฝ้าดูการลงประชามติครั้งนี้อย่างสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากพรรคของกลุ่ม Flemish (กลุ่มเบลเยี่ยม-ดัชน์) ซึ่งสนับสนุนการแบ่งแยกกำลังได้รับความนิยม นอกจากนี้แคว้น Catalonia (Barcelona เป็นเมืองหลวง) ของสเปนกำลังจะลงประชามติลักษณะเดียวกันในเดือนพฤศจิกายนของปีนี้ หากประชามติผ่านก็อาจเป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้เกิดการรู้สึกไปในทิศทางเดียวกันได้

          ประชาชนที่จะลงประชามติของสก๊อตแลนด์คือผู้อยู่อาศัยในประเทศที่มีอายุเกิน 16 ปี ซึ่งมีจำนวน 4.2 ล้านคน คนเชื้อสายสก๊อตที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกากว่า 27 ล้านคน และที่อยู่ในส่วนอื่น ๆ แม้แต่อังกฤษไม่มีสิทธิลงคะแนน ข้อพึงสังเกตก็คือถึงแม้มติจะผ่านแต่สก๊อตแลนด์ก็ใช่ว่าจะเดินไปบนกลีบกุหลาบ

          การเป็นสมาชิก EU เป็นเรื่องสำคัญยิ่งในเชิงเศรษฐกิจและการอยู่รอดจากการค้าขายกับประเทศในยุโรปซึ่งล้วนเป็นสมาชิก EU เมื่อเป็นประเทศสก๊อตแลนด์ใหม่ก็ต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิก EU ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะอาจถูกวีโต้โดยเบลเยี่ยมและสเปนที่ไม่ต้องการให้ ‘รางวัล’ เพราะจะเท่ากับ ช่วยให้ความคิดแบ่งแยกมีพลังมากขึ้น

          การเป็นประเทศเล็กที่มิได้เป็นสมาชิกของสังคมใหญ่อีกต่อไปจะทำให้ไม่มี Economy of Scale (การลดต้นทุนอันเกิดจากขนาดการผลิตที่ใหญ่) ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น นอกจากนี้ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ในเรื่องการใช้สกุลเงิน นโยบายเศรษฐกิจ เงินทุน ภาระการเงินที่ติดค้างมาจากการแบ่งแยก ตลอดจนการขาดเงินอุดหนุนดังที่เคยได้รับจากอังกฤษก็จะทำให้เกิดอุปสรรคในการเป็นประเทศใหม่ได้มาก

          อย่างไรก็ดีการที่สก๊อตแลนด์เป็นประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นเลิศในโลก รวมทั้งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่โลกผ่านผลงานของบุคคลสำคัญเชื้อสายสก๊อต เช่น Adam Smith / Sir Alexander Fleming / James Watt / Tony Blair / Gordon Brown ฯลฯ ตลอดจนความขยันหมั่นเพียรในการทำงานและความประหยัดมัธยัสถ์ของคนสก๊อตจะช่วยให้ประเทศไปได้ดีในระยะยาว           ถ้าคนสก๊อตร่วมใจกันลงประชามติแยกเป็นอิสระได้สำเร็จ ภาพประทับใจที่อาจเกิดขึ้นในวันประกาศเอกราชคือการชุมนุมของชาวสก๊อตจำนวนมากเพื่อลาจากเพื่อนเก่าท่ามกลางเสียงกระหึ่มของเพลง Auld Lang Syne (หรือ Days Gone By ซึ่งเป็นทำนองพื้นเมืองและเนื้อร้องมาจากบทกวีที่เขียนขึ้นในปี 1788 ของยอดกวีเอกของโลกชาวสก๊อต Robert Burns) พร้อมกับน้ำตาแห่งความหวั่นไหวกับอนาคต

นางงามพม่าและสิทธิมนุษยชน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
9
กันยายน 2557

ที่มา https://women.mthai.com/scoop/183547.html

     อ่านเรื่องนางงามพม่าได้เป็น Miss Asia Pacific World และถูกปลดออกจากตำแหน่งเนื่องจากไม่ยอมทำศัลยกรรมความงามโดยเฉพาะทรวงอกเมื่อเร็ว ๆ นี้แล้ว นึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา ๆ แต่เมื่อลองค้นคว้าลงลึกแล้วจึงรู้ว่ามันมีอะไรให้คิดกว่านั้นมาก

     May Myat Noe เป็นนางงามพม่าในยุคเปิดประเทศที่ผู้คนตื่นเต้นกับความงามในวัยรุ่นของเธอเป็นอันมาก อีกทั้งมาจากประเทศที่ตัดขาดจากโลกภายนอกในเรื่องการประกวดความงามมายาวนาน เมื่อเธอเข้าประกวดก็ได้รับรางวัล Miss Asia Pacific Word ที่เกาหลีใต้อย่างชนะใจคนดู ตอนชนะเธอเป็นข่าวดังไปทั่วโลก แต่ตอนที่เธอถูกปลดออกจากตำแหน่งเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านไปนี้และนำมงกุฎกลับประเทศไปด้วยยิ่งดังกว่าเก่าอีก

     เรื่องราวของเธอมี 2 ด้านขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดเล่า แต่ที่แน่นอนก็คือเมื่อเธอได้รับรางวัลแล้วสักพัก เธอก็แตกคอกับผู้จัดการพม่าของ Miss Asia Pacific World ประจำย่างกุ้ง ฝั่งผู้จัดการนางงามบอกว่าไม่เป็นความจริงที่เธอจะหักร้อยละ 30 ของรายได้ และแม่ของนางงามเป็นตัวยุ่งเจ้ากี้ เจ้าการแล้วทะเลาะกับผู้คนไปหมด อีกทั้งไม่ยอมทำตามข้อตกลงคือไม่ยอมลงนามในสัญญา 3 ปี โฆษณา ร้องเพลง เดินแบบ ปรากฏตัว ฯลฯ นอกจากนี้เธอยังหยาบคายไม่เคารพยำเกรงทีมงานผู้จัดการประกวดและผู้เป็นเจ้าของ Miss Asia Pacific World ซึ่งเป็นบริษัทเกาหลีอีกด้วย

     ในด้านของนางงาม เธอตอบคำถามผู้สื่อข่าวหลังจากโดนปลดออกจากตำแหน่งว่าสาเหตุมาจากการที่เธอปฏิเสธการถูกบังคับให้ทำศัลยกรรมนมและส่วนอื่น ๆ ของร่างกายโดยบริษัทเกาหลีเจ้าของการประกวด และเหตุที่เธอเอามงกุฎผลิตโดย Swarovski ราคา 100,000-200,000 เหรียญมาพม่าก็เพราะต้องการใช้เป็นตัวบังคับให้บริษัทประกวดขอโทษเธอที่ถูกกล่าวหาว่า ‘ขี้โกง’ และ ‘ไม่เคารพ ยำเกรง’ ก่อนที่จะคืนให้ นอกจากนี้เธอย้ำว่าเธอได้หอบมงกุฎกลับย่างกุ้งก่อนที่จะถูกบริษัทประกาศปลดตำแหน่ง

     ฝ่ายบริษัทเกาหลีก็ออกข่าวว่าเธอถูกปลดเพราะมีทัศนคติไม่เหมาะสม ขี้โกง ไม่เคารพยำเกรง และพูดจากำกวมทำนองว่าเธอได้ทำศัลยกรรมนมแล้ว จมูกก็ทำให้แล้ว แต่ไม่เคยนึกถึงบุญคุณ และแถมเคยได้รับเงินไปแล้ว 10,000 เหรียญด้วย

     ไม่ว่าฝ่ายใดจะว่าอย่างใดก็ตาม ข่าวที่สื่อรายงานในต่างประเทศโดยไม่มีฝ่ายใดเอ่ยถึงก็คือผู้จัดการประกวด Miss Asia Pacific World มีเรื่องข่าวคาวด้านเซ็กส์ระหว่างผู้ประกวดกับผู้จัดและสปอนเซอร์โดยผู้ประกวดถูกบังคับมิฉะนั้นจะไม่ได้รับตำแหน่ง และบริษัทประกวดนี้อื้อฉาวมาแล้วหลายครั้งจนเป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไป

     Miss Asia Pacific World จัดประกวดเป็นปีที่ 4 และทุกปีก็มีแต่เรื่องอื้อฉาว ในปีแรกคือ 2011 นางงามจาก Wales และผู้เข้าประกวดหลายคนออกมาพูดว่าทุกอย่างถูกล๊อกไว้ก่อนประกวดแล้ว (เหมือนดั่งหวยที่คนไทยมักเชื่อกัน) นางงามคนรองจากเวเนซูเอล่าได้ตำแหน่งก่อนการประกวดด้วยซ้ำ นางงามฝรั่งสุดแสบคนนี้แอบอัดเสียงที่เธอถกเถียงกับผู้จัดและเอาขึ้นยูทูปจนคนได้ยินกัน ทั่วโลก นอกจากนี้คนอื่นยังเล่าเรื่องการต้องไปนอนกับพวกผู้จัดเพื่อให้ได้ตำแหน่งอีกด้วย เธอเล่าว่าเธอกับเพื่อนนางงามหนีไปสนามบิน แต่ผู้จัดก็ยังตามไปเพื่อหน่วงเหนี่ยวโดยมีตำรวจรับสินบนเป็น ผู้ช่วยเหลืออีกด้วย

     การประกวดในปี 2011 ก็วุ่นวาย กรรมการตัดสินชาวเกาหลีทั้งหมดเลือกนางงามเกาหลีเป็นผู้ชนะ ได้ตำแหน่งอยู่ 1 วัน ก็ลาออกเมื่อถูกวิจารณ์หนัก รองที่หนึ่งจากฝรั่งเศสจึงได้เป็นแทนโดยอยู่ได้ไม่นานก็ถูกถอด จนรองที่สองคือนางงามจากยูเครนได้เป็น Miss Asia Pacific World แทนในที่สุด

     บริษัทประกวดเกาหลีแห่งนี้พยายามใช้ชื่อ Miss Asia Pacific เพื่อให้ดูเหมือนว่าเป็นอันเดียวกับ Miss Asia Pacific International ซึ่งมีชื่อเสียงโดยมีการประกวดตั้งแต่ปี 1968 (ศิริพร สว่างล้ำ ได้ตำแหน่งในปี 1978 และปรียานุช ปานประดับ ในปี 1988)

     อย่างไรก็ดีระหว่างปี 2006 ถึง 2014 ก็เลิกจัดไปเพราะหาสปอนเซอร์ไม่ได้ บริษัทของเกาหลี Miss Asia Pacific World จึงพยายามมาสวมชื่อแทน ซึ่งคุณภาพการจัดอยู่ในระดับอื้อฉาวจนเรื่องราวจากฝั่งของนางงามพม่าดูน่าเชื่อถือกว่า

     ความจริงถูกเปิดเผยออกมาในตอนนี้ว่านางงามพม่านั้นอายุจริงแค่ 15 ปี แต่ผู้จัดก็ยอมให้สมัครโดยออกข่าวว่าอายุ 18 ปี และมีเงื่อนไขบังคับให้นางงามที่ชนะทำศัลยกรรมนมทุกคนเพื่อความงาม “ยิ่งขึ้น” อีกทั้งจะทำให้ทั้งตัวด้วยในมูลค่า 10,000 เหรียญ ในกรณีของนางงามพม่านั้นผู้จัดการบอกว่าต้องให้ทำศัลยกรรมเพราะนมของเธอเล็กไป (พูดอย่างนี้อภัยให้กันไม่ได้) นอกจากนี้ก็ให้เธอเข้าคอร์ส เรียนดนตรี ร้องเพลง ฝึกท่าเต้นเป็นเวลา 3 เดือน ทั้งหมดนี้เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าที่จะเก็บเกี่ยวจากเธอในอนาคต

     ประเด็นที่น่าคิดก็คือการกระทำเช่นนี้กับนางงามโดยบริษัทที่มุ่งผลกำไรสูงสุดเป็นเสมือนกับการค้ามนุษย์โดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ก่อนจะชนะในบางกรณีผู้เข้าประกวดก็ต้องทำในสิ่งที่ตนเองไม่ต้องการและหากชนะแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงร่างกาย (เพื่อประชาสัมพันธ์ศัลยกรรมของเกาหลี) ไปในรูปแบบที่นายจ้างต้องการ เช่น ตาสองชั้น หน้ารูปตัววี จมูกโด่ง นมได้ขนาด ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพื่อ “การขาย” ความเป็นนางงามของเธอ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาสินค้าหรือการค้าอื่น ๆ ที่บริษัทรับมาให้ทำอีกต่อหนึ่ง

     สิ่งที่ผู้จัดการประกวดของบริษัทเกาหลีแห่งนี้กระทำโดยแท้จริงแล้วก็ไม่แตกต่างจากบริษัทจัดประกวดอื่น ๆ ในไทยหรือประเทศอื่น เพียงแต่บริษัทเกาหลีมีการบังคับให้ทำศัลยกรรมเพิ่มเติม ผู้เข้าประกวดและผู้ชนะอยู่ในฐานะ ‘ทาสสมัยใหม่’ โดยทั้งหมดนี้ก็เพื่อเงินสำหรับผู้จัด สปอนเซอร์ ผู้จัดการนางงาม นางงาม และเหล่าผู้เข้าประกวด

     ความงามของสตรีกลายเป็นสินค้านามธรรมที่จับต้องได้ผ่านความงามจริงและปลอมของบรรดาเหล่านางงามที่เรียงหน้าเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน และถูกเอารัดเอาเปรียบผ่านเงื่อนไขบังคับโดยคิดปลอบใจว่าเป็น ‘win-win’ ของทุกฝ่าย

     ถ้าสตรีจะมีดีก็ตรงที่ความงามของร่างกายแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว โลกของเธอคงอยู่ง่ายขึ้นอีกมากเพราะเพียงมีเงินไปทำศัลยธรรมก็มีที่ยืน คำถามก็คือเราจะให้สตรีมีที่ยืนเฉพาะในแง่มุมของความงามเท่านั้นหรือ

จลาจลอเมริกาให้บทเรียน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
2
กันยายน 2557

Photo by Alex McCarthy on Unsplash

          จลาจลย่อย ๆ ในเมือง Ferguson ของสหรัฐอเมริกาเมื่อตอนต้นเดือนสิงหาคมทำให้เกิดหลายประเด็นที่น่าเรียนรู้เพราะสิ่งเดียวกันอาจเกิดกับบ้านเราได้ในอนาคต

          เมือง Ferguson ตั้งอยู่ชานเมือง St Louis ของรัฐ Missouri ซึ่งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า Midwest มีประชากร 21,000 คน อันประกอบด้วยคน African-Americans (ดั้งเดิมเรียก Negros เปลี่ยนมาเป็น Blacks และเปลี่ยนมาเป็นชื่อนี้) ร้อยละ 67

          ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเยาวชนผิวดำอายุ 18 ปี แต่ตัวสูงใหญ่ถึง 6 ฟุต 4 นิ้ว ถูกตำรวจยิง ตายคาที่โดยนัดหนึ่งเข้าศีรษะในเวลากลางวันแสก ๆ ขณะเดินกับเพื่อนคนหนึ่งอยู่บนถนน รถตำรวจซึ่งมีตำรวจผิวขาวขับผ่านมาก็สั่งให้ขึ้นไปเดินบนถนน แต่ขัดแย้งกัน ตำรวจอ้างว่าถูกทำร้ายก่อนจนบาดเจ็บ แต่เพื่อนของ Michael Brown ผู้ตายให้การว่าตำรวจโดดเข้าจับตัว กอดรัดกันและเกิดการยิงขึ้นโดย Brown ไม่มีอาวุธ

          หลังเหตุการณ์ตำรวจก็ยังไม่ยอมเปิดเผยชื่อตำรวจผู้ยิง การให้ข่าวก็ติดขัดจนเกิดม๊อบคนผิวดำมาประท้วงหน้าสถานีตำรวจ เหตุการณ์ลุกลามใหญ่โตมีการปล้นร้าน ทุบกระจก ความคุกรุ่นมีตั้งแต่ 9 สิงหาคมซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ จนถึงคืนวันที่ 19 สิงหาคม ก็มีคนผิวดำมาประท้วงจำนวนมาก ตำรวจก็ใช้แก๊สน้ำตาและเตรียมสรรพอาวุธมาเต็มพิกัด (คล้ายบ้านเราเมื่อ 4-5 เดือนก่อน) เมื่อมีคนขว้างปาขวดและเข้าของใส่ตำรวจ การจลาจลก็เกิดขึ้นจนวุ่นวายไปหมด จนเกรงว่าจะลามไปถึงเมื่องอื่น ๆ ด้วย

          ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจริง ๆ แล้วเรื่องราวเป็นอย่างไร ฝ่ายสนับสนุนผู้ตายบอกว่าถูกยิงขณะยกมือยอมแพ้และตะโกนบอกให้หยุดยิงแล้ว (ผู้ประท้วงเอามาใช้เป็นท่าของการต่อต้าน) ฝ่ายตำรวจบอกว่าผู้ตายเพิ่งไปปล้นร้านชำมาเมื่อสิบนาทีก่อนหน้าและมีเทปแสดงให้ดูด้วย แต่ที่แน่ ๆ ก็คือเยาวชนอายุ 18 ปีตายไปแล้วโดยถูกยิงขณะมือเปล่า

          คำถามก็คืออะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดจลาจลขึ้นจากกรณี ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ ถ้าเราหาคำตอบได้บ้างก็อาจนำมาใช้เป็นบทเรียนสำหรับสังคมอื่น

          สาเหตุแรก มาจากปัญหาเรื่องสีผิวซึ่งยังคุกรุ่นอยู่ใต้ผิวน้ำ การที่ Obama ชายผิวสีได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีมิได้หมายความว่าปัญหาสีผิวหมดไปแล้วเชื่อกันว่ามีคนอเมริกันจำนวนล้าน ๆ คนที่ไม่ยอมรับประธานาธิบดี Obama เพราะรับไม่ได้กับการที่คนผิวดำซึ่งเคยเป็นทาสจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี (ถึงแม้ประธานาธิบดี Obama สืบเชื้อสายจากนักศึกษาชาว Kenya ที่ไปเรียนหนังสือต่อในสหรัฐอเมริกาโดยไม่ได้มาจากการเป็นทาสก็ตาม) สำหรับคนเหล่านี้ซึ่งมีจำนวนอยู่พอควรทาง รัฐตอนใต้ยังคงรังเกียจสีผิวอยู่ถึงแม้ Voting Rights Act ที่ทำให้คนทุกผิวสีเท่าเทียมกันจะออกมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แล้วก็ตาม ความเชื่อที่ว่า “ทาสเมื่อ 400 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร ฐานะก็ควรคงไว้เช่นนั้น” (การค้าทาสคนผิวดำมีมาตั้งแต่เมื่อ 400 ปีก่อนในบริเวณนั้นก่อนที่จะมีประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อ 238 ปีก่อนด้วยซ้ำ) ก็ยังคงมีอยู่

          ความไม่ชอบกันอยู่แล้วประทุเป็นเรื่องขึ้นเพราะเมือง Ferguson มีตำรวจ 53 คน เป็นคนขาว 50 คน ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์ในปี 1990 ของเมืองนี้ที่เคยมีคนขาวอยู่ถึงร้อยละ 75 แต่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีอยู่เพียงร้อยละ 30

          ถ้าดูสถิติของการเกิดอาชญากรรมก็พอจะเข้าใจได้ว่าเหตุใดคนผิวขาวส่วนหนึ่งจึงรังเกียจ คนผิวดำ ถึงแม้คนผิวดำจะมีจำนวนเพียงร้อยละ 13 ของประชากร 300 ล้านคนทั้งประเทศ แต่ครึ่งหนึ่งของคดีฆาตกรรมทั้งหมดคนผิวดำเป็นคนก่อเหตุ และร้อยละ 90 ของคนผิวดำที่เสียชีวิตจากฆาตกรรมเป็นฝีมือของคนผิวดำด้วยกันเอง

          สาเหตุที่สอง คนผิวดำไม่ไว้ใจตำรวจอย่างแตกต่างจากคนกลุ่มอื่นในสหรัฐอเมริกาอย่างเห็นได้ชัด พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือตำรวจมีปัญหาความไม่น่าเชื่อถือในสายตาของคนผิวดำ สิ่งที่ทำให้ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจก็อาจมาจากการที่ตำรวจไม่ “เคารพ” คนผิวดำอันเห็นได้จากการมักถูกตรวจค้นการมีสิ่งผิดกฎหมาย การจับกุมคุมขังอย่างรุนแรงอย่างขาดความ ‘เคารพ’ และจากการถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษในทุกสถานการณ์ (ถ้าเป็นตำรวจผิวขาวอาจตอบว่าก็สถิติอาชญากรรมมันเป็นอย่างนี้ จะ ‘เคารพ’ ได้อย่างไร ยังไง ๆ ก็ต้องสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นคนไม่ดี)

          เมื่อไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นพื้นฐาน เหตุการณ์จึงรุนแรงขึ้นจากความไม่พอใจของคนผิวดำซึ่งจำนวนหนึ่งเป็นระดับผู้นำที่เดินทางมาจากเมืองใหญ่ไกล ๆ ในประเทศเพื่อมาร่วมชุมนุมประท้วงด้วย

          สาเหตุที่สาม “ความกลัว” มีบทบาทสำคัญในหลายเรื่อง ตำรวจไม่กล้าให้ข้อมูลเต็มที่เพราะกลัวว่าเรื่องจะลุกลามไปใหญ่โต ฝ่ายผู้ตายและกลุ่มผู้ประท้วงก็กลัวว่าเรื่องจะเงียบหายไปอย่างไม่เป็นธรรมจึงต้องประท้วงกันจริงจัง ตำรวจที่จับกุมก่อนยิงก็กลัวเช่นกันเพราะประเทศนี้มีปืนที่อยู่ในมือประชาชนกว่า 300 ล้านกระบอก หากไม่

          ระมัดระวังก็อาจเสียชีวิตได้อย่างไม่ยากนัก ดังนั้นจึงอาจกระทำการเกินกว่าเหตุได้

          สาเหตุที่สี่ ผู้ชุมนุมให้สัมภาษณ์ว่าการระดมสรรพกำลังและสรรพอาวุธสไตล์ทหารของตำรวจในคืนวันที่ 19 สิงหาคม เพื่อรับมือผู้ชุมนุม เป็นการยั่วยุอย่างสำคัญจนเร้าใจให้เกิดการประท้วงจนกลายเป็นจลาจล

          การที่ตำรวจเมืองต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกามีอาวุธและเครื่องมือใช้เช่นเดียวกับทหารก็เนื่อง รัฐบาลกลางมอบให้เพื่อรับมือกับผู้ก่อการร้ายหลังจากเหตุการณ์ 9-11 ปัจจุบัน ‘ดีกรีความเป็นทหาร’ ในงานของตำรวจเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกตในเมืองต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา

          ทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนที่บ้านเราควรนำมาพิจารณา ถ้าเราเปลี่ยน ‘คนผิวดำ’ เป็น ‘คนต่างด้าว’ ที่มาจากการเป็นแรงงานต่างชาติที่ทั้งผิดและถูกกฎหมายที่ไม่กลับบ้านและมีลูกหลานอยู่ในบ้านของเรา สถานการณ์ก็อาจไม่ต่างกันมากนัก ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าถ้าคนไทยขาดความเป็นพลเมือง (ไม่ยอมรับและไม่เคารพความแตกต่าง ไม่ใช้เหตุใช้ผล ไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้อื่นฯ) ใจไม่เปิดกว้างยังยึดติดอยู่กับประวัติศาสตร์เมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว จนไม่อาจรับคนต่างชาติเหล่านี้เข้ามาในสังคมเราอย่างกลมกลืนได้ ดั่งเช่นที่เราเคยทำได้ดีมาโดยตลอด 800 กว่าปี ปัญหาปวดหัวเช่นนี้ก็อาจอยู่ไม่ไกล

          สาเหตุสำคัญที่สุดของความขัดแย้งก็คือความยากจน ถ้าตัวละครในเรื่องนี้ไม่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำของฐานะทางเศรษฐกิจ ทุกคนอยู่ดีกินดีอย่างเสมอหน้ากันแล้ว คงไม่มีความไม่ไว้ใจสูงขนาดนี้และคงไม่มีใครอยากเสียเวลามาประท้วงเพราะคงต้องการใช้เวลาไปกับการทำมาหากินหรือหาความสุขกับเงินที่ตนเองหามาได้เป็นแน่

บัณฑิต “ลิงจับหลัก”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
26
สิงหาคม 2557

Photo by MD Duran on Unsplash

          ช่วงเวลา 4-5 เดือนที่ผ่านไปนี้มีบัณฑิตใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน และในจำนวนที่มีงานทำแทบทั้งหมดในขณะนี้อยู่ในสภาพของความกระวนกระวายใจหลายอย่าง ลองเข้าไปนั่งในใจของหนุ่มสาวเหล่านี้กันดู

          ในขั้นแรกผู้เข้าทำงานใหม่แทบทุกคนหวั่นไหวว่าจะไปทำงานอะไรให้เขาได้จนคุ้มค่าจ้าง อีกทั้งไม่มั่นใจว่าจะทำงานได้ และไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรให้นายจ้างตามที่เขาต้องการได้

          เมื่อเข้าทำงานสักเดือนสองเดือนโดยทั่วไปก็เริ่มสบายใจขึ้น พอมองออกว่าตนเองมีค่าต่อนายจ้างอย่างไร เริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น อย่างไรก็ดีจำนวนมากจะประสบสิ่งที่เรียกว่า culture shock กับการทำงาน กล่าวคือตกใจกับประสบการณ์ในการทำงาน เช่น ต้องตื่นเช้าไปทำงานตรงเวลา ต้องมีวินัยในการทำงาน แต่งตัวเรียบร้อย พูดจามีสัมมาคารวะ จะทำอะไรตามใจชอบอย่างที่เคยเป็นไม่ได้ ถูกดุว่าหรือดุด่าโดยลูกพี่หรือเจ้านาย ฯลฯ

          สิ่งที่ทุกคนประสบหากไม่เคยฝึกงานมาก่อนก็คือสภาพการณ์ที่ผิดไปจากที่คาดหวังไว้ สิ่งที่เคยนึกฝันว่าสถานที่ทำงานจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ผู้คนจะดีและให้ความสำคัญแก่ตนเอง งานที่ทำตรงกับที่เรียนมา ฯลฯ ไม่เป็นความจริง ส่วนใหญ่ที่มีความสามารถในการปรับตัวก็จะทำใจได้เมื่อสัมผัสกับโลกแห่งความเป็นจริง พวกที่ปรับใจไม่ได้ก็จะมีปฏิกิริยาหลายอย่าง เช่น ย้ายงานใหม่ ลาออก ทำงานอิสระ เลิกทำงานโดยอยู่บ้านแทน ดิ้นรนเรียนต่อ ฯลฯ

          ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สำหรับบัณฑิตจำนวนมากที่อาจมีจำนวนถึง 2 ใน 3 ของผู้ที่เรียนจบในปีนี้หรือประมาณ 2 แสนคนจะบอกว่าไม่รู้เพราะยังหางานทำไม่ได้ สถิติของการหางานทำของบัณฑิตในปัจจุบันก็คือ 2 ใน 10 คน มีงานทำในเวลาหนึ่งปี (ผู้เขียนคิดว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำเกินไป ถ้าใช้ คำจำกัดการมีงานทำที่กว้างกว่านี้ เช่น ครอบคลุมไปถึงงานอิสระ ตัวเลขอาจอยู่ในระดับสูงกว่านี้พอควร ไม่ใช่เพียงแค่ 2)

          จากการสังเกตด้วยตนเอง ผู้เขียนเชื่อว่าบัณฑิตที่หางานทำได้ยากหรือ “ทำงานต่ำกว่าระดับ” (ได้ค่าจ้างต่ำกว่าที่บัณฑิตอื่น ๆ ได้รับกัน) มักเป็นบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัยขนาดเล็กในต่างจังหวัดในสาขา “โหล” เช่น บริหารธุรกิจ จัดการทั่วไป ฯลฯ กอบกับตลาดแรงงานในต่างจังหวัดเล็ก จ่ายค่าตอบแทนไม่สูง และบัณฑิตไม่มีทักษะในระดับที่ตรงกับความต้องการของตลาด

          สำหรับบัณฑิตส่วนใหญ่จากมหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัยใหญ่ ๆ ที่มีคุณภาพในกรุงเทพมหานครทั้งรัฐและเอกชนในแทบทุกสาขา การมีงานทำและได้ผลตอบแทนตรงกับระดับความรู้ความสามารถไม่ใช่เรื่องยากแม้แต่ในยามนี้ที่สภาพเศรษฐกิจต้องการแรงกระตุ้นอย่างแรง ไม่ว่าจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีผลโดยตรง จากอำนาจซื้อจากนักท่องเที่ยว จากการลงทุนจากต่างประเทศ ฯลฯ

          สำหรับบัณฑิตเหล่านี้ซึ่งอยู่ในยุคของ “Me Generation” ที่เพิ่งทำงาน จิตใจว้าวุ่นเพราะมีโอกาสในการเลือกงานพอควร สิ่งที่ได้ยินคือการเปลี่ยนงานหลังจากการทำไปได้ 1-2 เดือน หรือต่ำกว่านั้นเพื่อหาสถานที่ทำงานที่ “ดี” กว่า

          “ดี” กว่าของบัณฑิตจำนวนมากก็คือเงินดี สวัสดิการดี ไม่ต้องเดินทางไกลมาก งานไม่หนักเกินไป ถ้าหายังไม่เจอก็จะทำงานไปพลาง หาไปพลาง จนกว่าจะคิดว่าเจอ ในระหว่างทางก็ทำงานไปเรื่อย ๆ โดยมิได้มุ่งมั่นบากบั่นมากนักเพราะใจคิดแต่จะย้ายเพื่อหางานใหม่ที่ ‘ดี’ กว่าอยู่ร่ำไป

          การเรียนรู้งาน การพยายามเพิ่มคุณค่าของตัวเอง และการสร้างความไว้วางใจแก่ผู้เป็นนาย และผู้ร่วมงานก็ย่อหย่อนไปเป็นธรรมดาเพราะใจมันไม่นิ่งเสียแล้ว บัณฑิตจบใหม่จำนวนมากทำงานในสภาวะจิตใจเช่นนี้

          อย่างไรก็ดียังมีบัณฑิตจำนวนหนึ่งซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าแต่มีปัญญามากกว่า พวกนี้จะบากบั่นมุ่งมั่นทำงานที่ตนเองได้รับให้ดีที่สุด ถึงแม้จะไม่ใช่งานในฝันแต่ก็ไม่คิดจะย้ายงานในวันในพรุ่ง และถึงเงินจะไม่มากมายแต่หากเป็นงานที่ให้โอกาสที่ดีแก่ตนเองในการสร้างคุณค่าให้ตัวเองแล้ว พวกนี้จะทำงานเต็มที่ถึงแม้จะเป็นงานที่หนัก

          กลุ่มที่มีปัญญานี้จะไปไกลในระยะยาวกว่าพวกชอบเล่น ‘ลิงจับหลัก’ เปลี่ยนงานเพื่อมองหางาน ‘เงินดี’ เพื่อสานฝันให้ตัวเองอย่างรวดเร็วโดยหารู้ไม่ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ดี ๆ ซึ่งเข้ามาอย่างรวดเร็วได้ (จะมีก็แต่น้ำท่วม หนี้ และความแก่เท่านั้น) ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไปโดยอยู่บนพื้นฐานของความมีคุณค่าของตนเอง หรือพูดอย่างภาษาเศรษฐศาสตร์ก็คือการมีผลิตภาพ (productivity) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          คนในยุค Me Generation ส่วนใหญ่จะใจร้อน รอคอยอะไรไม่ค่อยได้ ครุ่นคิดแต่เรื่องจะ “ได้” โดยไม่ตระหนักว่าทุกอย่างมีต้นทุน (จะเก่งและรวยได้อย่างยั่งยืนก็ด้วยการเสียสละเวลา หยาดเหงื่อ และน้ำตา บากบั่นทำงานเพื่อเพิ่มพูนคุณค่าและผลิตภาพของตนเองเท่านั้น) โดยมีการมองชีวิตอย่างที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า myopic กล่าวคือมองชนิดใกล้ ๆ แคบ ๆ อย่างขาดวิจารณญาณที่ดี

          ถ้าพูดให้ทันสมัยก็คือคนเหล่านี้เป็นเหยื่อของสิ่งที่เรียกว่า survivorship bias (Rolf Dobelli บัญญัติศัพท์นี้ใน The Art of Thinking Clearly, 2013) กล่าวคือมีความโน้มเอียงโดยธรรมชาติสู่ภาพลวงตาว่าความสำเร็จได้มาโดยง่ายในพริบตาเหมือนที่เห็นนางงาม นักแสดง และนักร้อง ร่ำรวยอย่างรวดเร็วในสื่อ โดยหารู้ไม่ว่าโดยแท้จริงแล้วมีคนอีกเป็นจำนวนแสน ๆ และล้าน ๆ คน ที่ล้มเหลวแต่ผู้คนไม่เคยรับรู้เรื่องราวของคนเหล่านี้ สื่อทำให้เห็นแต่เฉพาะผู้ประสบความสำเร็จซึ่งคนทั่วไปมีความเป็นไปได้ในการพบความสำเร็จต่ำมาก ๆ

          ที่น่าสมเพชก็คือคนใจร้อนเหล่านี้มีโอกาสสูงที่จะตกเป็นเหยื่อของคนฉลาดกว่าที่เข้าใจความใฝ่ฝันและความต้องการ ‘ได้’ อย่างรวดเร็วจนสามารถหาประโยชน์และเอาเปรียบได้เป็นอย่างดี

          คำถามก็คือทำอย่างไรถึงจะเตือนบัณฑิตประเภท ‘ลิงจับหลัก’ ให้เข้าใจความจริงของชีวิตว่าความยั่งยืนของความมั่งคั่งในชีวิตนั้นอยู่ที่ใด? ใครที่พยายามจะเตือนก็จงเตรียมรับความผิดหวังไว้มาก ๆ เพราะคนเหล่านี้มัก ‘ฟังแต่ไม่ได้ยิน’ เนื่องจากหูของเขาอื้อ จะไม่รับฟังคำสอนหรือคำเตือนของผู้ใดนอกเสียจากว่าคำพูดเหล่านั้นตรงกับสิ่งที่เขาอยากได้ยิน

          คนขาดปัญญาก็เสมือนคนขาดวัคซีนชีวิต มีโอกาสที่จะรับเชื้อ ‘ถูกเอาเปรียบ’ หรือ ‘ถูกหาประโยชน์’ จนช้ำใจหรือเสียผู้เสียคนได้ง่ายกว่าคนอื่น ๆ

ZMapp ปราบ Ebola สำเร็จ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
19
สิงหาคม 2557

Photo by CDC on Unsplash

          ชาวโลกหวั่นกลัว Ebola กันมากเพราะยังไม่มียารักษา ถ้าติดเชื้อแล้วมีโอกาสตายสูงระดับ 50-50 และในหลายกรณีไม่รอดสักราย อย่างไรก็ดีในขณะนี้ในสหรัฐอเมริกาหญิงชายคู่หนึ่งที่ติดเชื้อ Ebola จากอาฟริกาตะวันตกกำลังได้รับการรักษาด้วยยาที่ชื่อว่า ZMapp ยานี้มาจากไหนและมีโอกาสช่วยชีวิตชาวโลกได้มากน้อยเพียงใด

          Ebola หรืออีกชื่อหนึ่งว่า EVD (Ebola Virus Disease) เป็นโรคติดเชื้อจาก Ebola virus โรคนี้มิใช่โรคใหม่หากประทุครั้งแรกในปี 1976 ในประเทศ Democratic Republic of Congo (เคยมีชื่อว่า Zaire) ใกล้แม่น้ำ Ebola ครั้งนั้นมีคนป่วย 300 คน โดยตายเกือบทั้งหมด และระบาดตลอดในบริเวณนั้นในช่วงทศวรรษ 1990 และต้น

          ทศวรรษ 2010 แต่ก็มีผู้ป่วยในจำนวนระดับสิบหรือร้อยต้น ๆ อัตราการตายส่วนใหญ่ก็เกินร้อยละ 50 การระบาดในปี 2012 ในประเทศเดียวกับการระบาดครั้งแรกมีคนตาย 29 คน

          ในการระบาดครั้งล่าสุดของปี 2014 หากนับถึงต้นสิงหาคมมีคนติดเชื้อ 1,750 คน ตายไปแล้วกว่า 1,000 คน โดยระบาดในบริเวณอาฟริกาตะวันตกและตอนกลาง อันได้แก่ประเทศ Guinea / Sierra Leone / Liberia และเริ่มระบาดไป Nigeria (ประเทศที่มีประชากรมากสุดในอาฟริกาคือ 175 ล้านคน)

          ในโลกที่มีการเดินทางชนิดลัดนิ้วมือเดียว ผู้คนหวาดหวั่นกันทั่วเพราะเริ่มมีรายงานของการติดเชื้อในประเทศนอกอาฟริกา (การระบาดครั้งก่อน ๆ พบผู้ติดเชื้อในฟิลิปปินส์ด้วย) โดยเฉพาะสองคนในสหรัฐอเมริกาดังกล่าวแล้ว เมื่อความกลัวขึ้นถึงระดับได้ที่จึงมีการทดลองยารักษาข้ามขั้นตอนที่กำหนดโดยกฎหมาย อเมริกันสองคนนี้ได้รับยาที่ชื่อ ZMapp ไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ และดูจะสามารถต่อสู้กับโรคได้ดี

          ยานี้มาจากบริษัทเล็ก ๆ ในสหรัฐอเมริกาซึ่งได้ทดลองยานี้มานานพอควรกับลิงโดยได้ผลดีพอควร แต่ยังไม่ได้ทดลองกับสัตว์ใหญ่ก่อนที่จะทดลองกับคนตามข้อบังคับที่เข้มงวดของทางการสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดีเมื่อเห็นคนทั้งสองใกล้ตาย ชาวโลกแตกตื่นและคนอาฟริกา ฝั่งตะวันตกและตอนกลางตายมากขึ้นเป็นลำดับ ก็จำต้องให้ยาที่เพิ่งทดลองกับสัตว์ไปได้ไม่นาน

          ZMapp ได้มาโดยผ่านหลายขั้นตอนอย่างไม่น่าเชื่อ ผ่านจากสิ่งมีชีวิตสู่ต้นยาสูบ และออกมาเป็นยาที่อาจช่วยชีวิตชาวโลกจากโรคน่ากลัวนี้ซึ่งกำเนิดจากไวรัสที่อาศัยอยู่ในตัวค้างคาว กินผลไม้ไปสู่สัตว์ตระกูลลิง เม่น กวาง ฯลฯ มนุษย์ติดเชื้อมาจากการสัมผัสซากสัตว์เหล่านี้ และต่อมาติดต่อจากคนสู่คนด้วยการสัมผัสของเหลวต่าง ๆ จากร่างกายของผู้ที่เชื้อกำลังออกฤทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำลาย น้ำมูก อสุจิ เลือด อวัยวะภายใน ฯลฯ

          การค้นหายานี้เริ่มในปี 2003 โดย Dr. Zeitlin และ Kevin J. Whaley ผู้เคยศึกษาร่วมกันมายาวนานที่ John Hopkins University ในสหรัฐอเมริกาในโครงการใช้พืชผลิตโปรตีนซึ่งอยู่ในระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์เพื่อรักษาหลายโรค

          ZMapp ทำงานด้วยวิธีการที่เรียกว่า passive immunotherapy กล่าวคือแทนที่จะใช้วัคซีนกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเพื่อให้ผลิต antibodies ออกมาโจมตีไวรัสที่หลุดเข้าไปในร่างกาย วิธีนี้กลับผลิต antibodies ให้คนป่วยโดยตรงเลย

          สำหรับการรักษาบางโรคติดเชื้อ antibodies ถูกเอาออกมาจากเลือดของคนไข้ที่รอดชีวิตมาโดยเชื่อว่ามี antibodies ที่ทำงานได้ผล ส่วนยา ZMapp ได้มาโดยทำให้หนูได้สัมผัสกับโปรตีนตัวสำคัญของ Ebola ที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วย เมื่อร่างกายหนูผลิต antibodies เพื่อต่อต้านขึ้นมากพอควร นักวิจัยก็เก็บเกี่ยว antibodies เหล่านี้จากตัวหนูและนำไปดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้คล้าย antibodies ของมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อให้มีโอกาสน้อยที่สุดที่มันจะไปกระตุ้นปฏิกริยาปฏิเสธเมื่อถูกฉีดเข้าไปในร่างกายมนุษย์

          แค่นี้ยังปวดหัวไม่พอ นักวิจัยเอายีนส์ของ antibodies แต่ละชนิดที่ได้มาเข้าไปใส่ใน ใบยาสูบซึ่งจะผลิต antibodies ออกมาตามที่ต้องการ และนี่คือยา ZMapp ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย ๆ ก็จะได้รับ antibodies ซึ่งจะไปโจมตี Ebola virus โดยตรง

          จากการทดลอง ZMapp เมื่อปีที่แล้วพบว่าลิง 3 ตัวจาก 7 ตัว ที่ป่วยจาก EVD รอดตาย ถึงแม้จะได้รับยารักษาเมื่อได้รับเชื้อไปแล้วถึง 4 วันก็ตาม ลิงป่วยตัวอื่นที่ไม่ได้รับ ZMapp ตายหมด ทุกตัว ในอีกการทดลองหนึ่งพบว่า ZMapp มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเมื่อรักษาเร็วให้ขึ้นหลังการรับเชื้อเข้าไปในร่างกาย

          ZMapp ได้รับการพัฒนาขึ้นอีกขั้นเมื่อนักวิจัยทั้งคู่ได้รับ antibodies ต่อต้าน Ebola virus อีกชุดจากอีกบริษัทหนึ่ง และนำมาผสมกันเป็นค็อกเทลซึ่งทำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและนี่คือ ZMapp ที่ผู้ป่วยชาวอเมริกันสองคนได้รับ

          ถึงจะเป็นข่าวดีสำหรับชาวโลกแต่การผลิตก็ต้องใช้เวลาอีกนานหลายเดือนกว่าจะผลิตได้เป็นกอบเป็นกำ (แค่ต้นยาสูบที่ปลูกขึ้นก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าหนึ่งเดือนกว่าจะนำมาใช้งานได้) ซึ่งหมายถึงแค่ในระดับร้อย ๆ ยูนิตที่จะฉีดรักษาได้

          ถึงแม้ ZMapp จะเป็นคำตอบสำหรับชาวโลก แต่ทุกฝ่ายตั้งแต่บริษัทยาอเมริกันจนถึงทางการสหรัฐอเมริกาซึ่งสนับสนุนการทำงานของบริษัทแห่งนี้ต่างสงวนท่าทีอย่างมากไม่ยอมตอบว่าจะสามารถช่วยคนอาฟริกาที่กำลังป่วยด้วย EVD ในจำนวนนับพันคน และจะสามารถเตรียมพร้อมรับมือ คนป่วยในส่วนอื่นของโลกได้มากน้อยเพียงใด

          สงครามแย่งชิงทรัพยากรในอาฟริกากำลังดุเดือดระหว่างจีน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และบางยักษ์ใหญ่ในยุโรป ใครเป็นประเทศผู้ครอบครองการผลิตและการใช้ ZMapp ย่อมเป็น ผู้ได้เปรียบในการเจรจาต่อรองกับเจ้าของทรัพยากรผู้กำลังรับกรรมจาก EVD และผู้ที่กลัวว่าอาจรับกรรมในอนาคตจาก EVD

          มีคนบอกว่าทำไมไม่สั่ง ‘ไอ้โบลา ไปปราบ ‘อีโบลา’ ผมเชื่อว่าจะไม่ได้ผลเพราะมันแพ้ทางกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วครับ

รู้จักทัวร์ “อุ้มบุญ” ในโลก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
12
สิงหาคม 2557

Photo by freestocks on Unsplash

          ข่าวเรื่องการจ้าง ‘อุ้มบุญ’ หรือการจ้างท้องในบ้านเราเมื่อเร็ วๆ นี้อาจสร้างความแปลกใจอยู่บ้าง แต่ที่น่าประหลาดใจจริง ๆ ก็คือความกว้างขวางที่กระทำกันในจีน โดยเฉพาะในอินเดียและรัสเซีย ตลอดจนปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดตามมาอีกมาก

          ‘อุ้มบุญ’ หรือ Surrogacy คือการท้องของหญิงคนหนึ่งอย่างตั้งใจเพื่อสามีภรรยาคู่อื่น ‘อุ้มบุญ’ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ (1) Traditional Surrogacy หมายถึง Surrogate หรือ ‘แม่อุ้มบุญ’ ท้องโดยการฉีดสเปิร์มไม่ว่าเป็นของสามีคู่นั้นหรือที่ใช้รับบริจาคมาเข้าไปในมดลูก หรือผสมไข่ของ ‘แม่อุ้มบุญ’ กับสเปิร์มกันในหลอดแก้วก่อนที่จะฉีดเข้าไปในมดลูก ลูกที่ออกมาจะมีพันธุกรรมของ ‘แม่อุ้มบุญ’ ปนอยู่ด้วย

          (2) Gestational Surrogacy หมายถึง ‘แม่อุ้มบุญ’ ท้องโดยเอาไข่กับสเปิร์มที่ผสมแล้วใส่เข้าไปในมดลูก ลูกที่ออกมาจะไม่มีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับ ‘แม่อุ้มบุญ’ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

          เรื่อง ‘อุ้มบุญ’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลังจาก 1978 ซึ่งเด็กหลอดแก้วคนแรกเกิดจากกระบวนการผสมสเปิร์มและไข่ในหลอดแก้วก่อนที่จะใส่เข้าไปในมดลูกศักราชของ ‘อุ้มบุญ’ ประเภท ที่ 2 ก็เปิดทันทีเพราะเกิดความคิดเรื่องเอาไข่ผสมแล้วไปใส่มดลูกคนอื่นที่ไม่ใช่แม่ ในปี 1985 โลกก็ได้เห็นเด็กคนแรกจากการ ‘อุ้มบุญ’ ชนิดนี้ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการเกิดการจ้าง ‘อุ้มบุญ’ ก็ตามมาโดยธรรมชาติ

          การ ‘อุ้มบุญ’ แบบ Traditional คือเอาสเปิร์มของสามีไปใส่ในหญิงอื่นโดยภรรยารู้เห็นเป็นใจมีมาแต่ดึกดำบรรพ์นับเป็นพันปี เช่นเดียวกับการ ‘อุ้มบุญ’ แบบสามีแอบไปทำเองโดยภรรยาไม่รู้ ซึ่งเรื่องแบบนี้ทำให้หัวแตกกันมาแยะแล้ว

          กรณีของน้องแกมมี่ที่เกิดในบ้านเรานั้นสะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดจากการจ้าง ‘อุ้มบุญ’ ชนิดที่ 2 เรื่องก็คือสามีภรรยาออสเตรเลียมาจ้างหญิงไทยท้องในราคา 350,000 บาท เพราะภรรยาไม่อาจท้องได้ เมื่อเป็นลูกแฝดหญิงชาย ทารกหญิงเป็น down syndrome (ที่สมัยก่อนเรียกว่า ‘ปัญญาอ่อน’) แต่ทารกชายปกติ พ่อแม่ที่จ้างก็รับไปแต่เด็กปกติ ทิ้งให้เธอต้องเลี้ยงน้องแกมมี่คนเดียว ถึงแม้เรื่องนี้จะฟังสะดุด ๆ อยู่บ้างแต่ก็ชี้ให้เห็นปัญหาทางจริยธรรมที่เกิดขึ้น

          เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ในออสเตรเลียวิพากษ์วิจารณ์กันหนักและมีการรณรงค์บริจาคเงินช่วยรักษาน้องแกมมี่ซึ่งเป็นโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิดด้วย พ่อปรากฏตัวแต่เอเย่นต์หายตัวไปแล้ว มีแต่หญิงไทยที่ให้ข่าวและไม่รู้จักชื่อพ่อแม่ที่จ้าง

          การจ้าง ‘อุ้มบุญ’ ทั้งหมดเป็น Surrogacy ประเภทที่ 2 ซึ่งในบ้านเราเป็นที่ทราบกันว่ามีการจ้างกันกว้างขวางพอควรโดยมีเอเย่นต์แสวงหา ‘แม่อุ้มบุญ’ ไทยที่ต้องการเงินทองผ่านโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ก็มีกรณีของคนต่างชาติเดินทางมา 3 คน หญิง 2 ชาย 1 มาให้หมอไทย ฝังตัวอ่อนเข้าไปในมดลูกของหญิงที่สามีภรรยาพามา และก็เดินทางกลับบ้านเพื่อไปฟูมฟักเด็กต่อไป คนจีนไม่น้อยที่ทำอย่างนี้เพราะต้องการให้ ‘แม่อุ้มบุญ’ เป็นคนจีนด้วยกัน

          คาดเดาว่าในไทยมีจำนวนการจ้าง ‘อุ้มบุญ’ กันมากพอควรเพราะกฎหมายไทยยังเป็น สีเทาอยู่ แต่ที่ทำกันกว้างขวางกว่ามากก็คือจีน อินเดีย และรัสเซีย

          นโยบายผ่อนปรนให้มีลูกเกิน 1 คน ได้ ฐานะทางเศรษฐกิจทีดีขึ้น ความอยากมีลูก การแต่งงานช้า สิ่งแวดล้อมที่เชื่อว่าไม่เอื้ออำนวยให้มีภาวะเจริญพันธุ์สูง ฯลฯ ทำให้เกิด ‘ลูกอุ้มบุญ’ ในจีนไม่ต่ำกว่า 10,000 รายต่อปีอย่างผิดกฎหมายโดยมีเอเย่นต์รับงานกันเป็นร้อย ๆ แห่งในหลายเมือง ค่าจ้าง ‘อุ้มบุญ’ มีตั้งแต่ 500,000-700,000 บาท

          สำหรับอินเดียและรัสเซียนั้นจัดได้ว่าเป็นแหล่งทัวร์ ‘อุ้มบุญ’ ใหญ่ อินเดียนั้นเป็นแหล่งทัวร์ใหญ่ที่สุดเนื่องจากถูกต้องตามกฎหมาย สามารถเลือกผู้หญิงอินเดียที่ไม่เสพยาและไม่กินเหล้าเป็น ‘แม่อุ้มบุญ’ ได้ไม่ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในราคาที่ถูกมากคือทั้งแพ็กเกจทั้งการผสม ค่าจ้างอุ้มท้อง ค่าคลอดลูกที่โรงพยาบาล ค่าที่พัก ค่าเดินทางโดยเครื่องบิน ในราคาประมาณ 800,000 บาท ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในสามของราคาในประเทศพัฒนาแล้ว ปัจจุบันมีสามีภรรยาจากทุกมุมโลกไปใช้บริการ

          รัสเซียก็เป็นอีกแหล่งของทัวร์ ‘อุ้มบุญ’ ทุกอย่างถูกกฎหมายหมด และแถมใส่ชื่อ พ่อแม่จริงทางชีววิทยาให้ในใบเกิดอีกด้วย ทั้งสองประเทศนี้มีระบบการใช้เอเย่นต์เป็นผู้จัดการให้ทุกอย่าง

          เรื่องที่ฟังดูง่ายนี้จริง ๆ แล้วมีปัญหาเกิดขึ้นมาก เช่น (1) กรณีที่คลอดออกมาแล้วไม่เอาลูก (2) แม่ ‘อุ้มบุญ’ ท้องแล้วอุ้มท้องหนี (3) คลอดออกมาแล้วรู้สึกผูกพันจนไม่ยอมให้ลูก (4) แม่ ‘อุ้มบุญ’ หายไปกับพ่อเจ้าของสเปิร์ม (5) แม่ ‘อุ้มบุญ’ เบี้ยวสัญญาโดยโก่งราคาเพิ่มขึ้นระหว่างท้อง (6) สามีภรรยากับ ‘แม่อุ้มบุญ’ ขัดแย้งกันหนักในเรื่องการดูแลเด็กในท้องจนไม่รู้จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ฯลฯ

          ปัญหาที่ปวดหัวทางกฎหมายก็คือ การจ้าง ‘อุ้มบุญ’ ควรถูกกฎหมายหรือไม่ และใครเป็นแม่ในทางกฎหมาย สองประเด็นนี้มีกฎหมายแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ในกรณีของการอุ้มบุญโดยไม่มีการว่าจ้าง กฎหมายในหลายประเทศไม่ห้ามแต่ห้ามกรณีของการจ้าง ส่วนประเทศที่ถูกกฎหมายเรื่องการจ้าง ‘อุ้มบุญ’ ได้แก่ อินเดีย รัสเซีย จอร์เจีย ยูเครน บางรัฐในสหรัฐอเมริกา ส่วนไทยนั้นมีความพยายามออกกฎหมายใหม่แต่ขณะนี้ยังไม่มีการถูกจับจึงทำกันแบบกล้า ๆ กลัว ๆ แต่ดูจะกล้ามากกว่ากลัว

          สำหรับประเด็นใครเป็นแม่นั้น ศาลในประเทศส่วนใหญ่เช่นเดียวกับไทยถือว่าผู้ให้กำเนิดคือแม่โดยไม่นำพากับประเด็นการเป็นพ่อแม่ทางชีววิทยา (biological parents) หนทางเดียวที่ผู้ไม่ได้ให้กำเนิดจะเป็นแม่

          ได้ก็ด้วยการรับเป็นลูกบุญธรรมเท่านั้น ดังนั้นผู้จ้าง ‘อุ้มบุญ’ จึงใช้วิธีรับเป็นบุตรบุญธรรมหลังการคลอดเพื่อการเป็นพ่อแม่อย่างถูกกฎหมาย

          เรื่องการเป็นแม่ของผู้จ้างทางกฎหมายนั้นเป็นปัญหาหากการรับเป็นบุตรบุญธรรมไม่เกิดขึ้นดังเรื่องฮื้อฉาวในปี 1986 ที่เรียกว่ากรณี “Baby M” ในสหรัฐอเมริกา แม่ ‘อุ้มบุญ’ ทำสัญญากับสามีภรรยา แต่ผิดสัญญาเมื่อ Baby M คลอดโดยฟ้องศาลว่าเป็นสัญญาที่ผิดกฎหมาย ศาลตัดสินว่าเพื่อเป็นประโยชน์กับเด็กมากที่สุดให้ “Baby M” อยู่ในความดูแลของสามีภรรยาผู้เป็นพ่อแม่ทางชีววิทยา

          ในปี 1990 ศาลคาลิฟอเนียร์ในกรณีคล้ายกันตัดสินให้พ่อแม่ทางชีววิทยาเป็นผู้ดูแล และให้คำจำกัดความของแม่ที่แท้จริงว่าคือคนที่ตั้งใจสร้างขึ้นมาและเลี้ยงดูอบรม ข้อสังเกตก็คือศาลไม่ได้บอกว่า แม่ ‘อุ้มบุญ’ มิได้เป็นแม่ตามกฎหมาย

          การ ‘อุ้มบุญ’ จะเป็นปัญหาทางกฎหมาย ทางประเพณี และทางศีลธรรมไปอีกนาน ตราบที่มนุษย์ยังไม่เห็นตรงกัน การแก้ไขต้องใช้เวลาและใช้เหตุและผลทางปรัชญา สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญก็คือความเชื่อทางศาสนา

          การเป็นเพียงพ่อแม่ทางชีววิทยา ไม่อาจเปรียบเทียบทางจริยธรรมได้เลยกับพ่อแม่ที่ตั้งใจทุ่มเทฟูมฟักเลี้ยงดูเด็กด้วยความรัก