พนันทายผลกีฬาถูกกฎหมาย

วรากรณ์ สามโกเศศ
22 กุมภาพันธ์ 2565

มีปรากฏการณ์น่ากลัวอันหนึ่งกำลังก่อตัวขึ้นบนขอบฟ้า หากมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยก็จะเป็นภัยร้ายแรงยิ่งต่อสังคมของเรา ถึงแม้การพนันจะเป็นสิ่งคู่สังคมเรามายาวนาน ทำความเสียหายอย่างมหาศาลแก่ครอบครัวและสังคม แต่เนื่องด้วยอิทธิพลจากต่างประเทศ เทคโนโลยี การเข้าถึงเล่นพนัน และสไตล์การดำรงชีวิตสมัยใหม่ ความเสียหายอาจเพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าทวีคูณ

​ คนเล่นการพนันนั้นสามารถแบ่งออกได้คร่าว ๆ เป็น 4 ประเภท กล่าวคือ (1) เล่นพนันเพื่อความสนุกสนาน คนเล่นพนันส่วนใหญ่อยู่ในประเภทนี้ การพนันเป็นเรื่องสนุกสนานไม่ใช่กิจกรรมหลักของชีวิต อาจพนันบ่อยแต่มิได้มีผลด้านลบในด้านการเงิน การงานและครอบครัว

(2) เล่นพนันหนักมือ ในกลุ่มนี้การพนันเป็นกิจกรรมสำคัญของชีวิต จะรู้สึกว่าขาดอะไรไปหากมิได้เล่นการพนัน ไม่พนันด้วยเงินจำนวนมากนัก ไม่มีการยืมเงินจากเพื่อนหรือใช้บัตรเครดิตเพื่อมาเล่นการพนัน โดยทั่วไปเงินที่ได้จากการพนันมิได้ถูกใช้เพื่อการดำรงชีพ การพนันไม่มีผลต่อการทำงานและความสัมพันธ์ในครอบครัวนัก มีความสนใจกิจการอื่น ๆโดยมิได้เน้นแต่เรื่องการพนัน

(3) เล่นพนันอย่างมีปัญหา การพนันมีผลต่อการทำงาน การดำรงชีวิต และความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนอื่น ๆ เงินถูกนำมาใช้เล่นการพนันจนขาดโอกาสในการออมและนำไปใช้ในเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ มีการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัวเกี่ยวกับการใช้เวลาและใช้เงินไปกับการพนัน เป้าหมายของชีวิตและความมุ่งมั่นสร้างชีวิตในระยะยาวถูกทดแทนด้วยความหมกมุ่นในเรื่องการพนัน ตนเองอาจเห็นว่าไม่มีปัญหาเรื่องการพนัน ซึ่งตรงข้ามกับที่คนอื่นเห็น คนเหล่านี้มองว่าการพนันคืองานที่สองในการหาเงินมาเลี้ยงชีพ มีการกู้ยืมมาเล่นการพนันเกือบทั้งหมด

(4) เล่นพนันอย่างยับยั้งใจไม่ได้ คนประเภทนี้ American Psychiatric Association จัดว่ามีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ (mental disorder) สำหรับคนเหล่านี้ การพนันเป็นกิจกรรมหลักของชีวิต เมื่อได้เงินมาก็ต้องใช้เพื่อดำรงชีวิต และนำไปเล่นการพนันต่อ มักมองไม่เห็นว่าพฤติกรรมของตนมีผลกระทบต่อคนอื่น ๆ ความสนใจในชีวิตมุ่งไปที่การพนันอย่างเดียวโดยไม่สามารถยับยั้งชั่งใจในการเล่นพนันได้ เมื่อเสียพนันไปก็หมกมุ่งอยู่กับการ “เอาคืน” เมื่อได้พนันมาก็เอาไปเล่นต่อ วนเวียนอยู่เช่นนี้จนอยู่ในฐานะการเงินและชีวิตที่ลำบาก ต้องแสวงหาแหล่งพึ่งพิงทางการเงินอยู่เสมอ

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือสิ่งแวดล้อมเช่น สภาพแวดล้อมทางสังคม เพื่อนที่คบหาสมาคม ความสะดวกในการเข้าถึงการเล่นพนัน การถูกกฎหมายของการเล่นพนัน อิทธิพลจากต่างประเทศในด้านความคิด เทคโนโลยี รสนิยมในการดำเนินชีวิต ตลอดจนความคิดอ่านของตนเอง ฯลฯ สามารถทำให้นักพนันไหลเลื่อนจากประเภทหนึ่งสู่ประเภทหนึ่งได้ เช่น จากการเล่นพนันเพื่อความสนุกสนานไป สู่การเล่นพนันหนักมือ หรือจากเล่นพนันอย่างมีปัญหาสู่ประเภทเล่นพนันอย่างยับยั้งใจไม่ได้ การไหลเลื่อนจาก “หนักมือ” ไปสู่ “เบามือ” นั้น ยากที่จะเกิดขึ้น

ลองมาดูตัวเลขการเล่นพนันของสังคมไทยกันบ้าง ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรายงานเกี่ยวกับประเภทการพนันและจำนวนเยาวชนอายุ 15-25 ปีที่เล่นการพนันในรอบปี 2564 ดังนี้ ลำดับที่ 1 หวยใต้ดิน มีเยาวชนเล่นประมาณ 391,905 คน ลำดับที่ 2 สลากกินแบ่งรัฐบาล 341,727 คน ลำดับที่ 3 พนันทายผลฟุตบอล 227,881 คน ลำดับที่ 4 พนันในบ่อนแบบมีที่ตั้ง 181,154 คน ลำดับที่ 5 กาสิโนออนไลน์ 179,043 คน

ในปี 2564 เด็กอายุ 15-18 ปี เล่นการพนันร้อยละ 29.5 หรือ 0.834 ล้านคน โดยมีวงเงินหมุนเวียน 29,155 ล้านบาท เยาวชนอายุ 19-25 ปี เล่นการพนันร้อยละ 54.6 หรือ 3.492 ล้านคน มีวงเงินหมุนเวียนประมาณ 93,321 ล้านคน

ในปี 2562 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปอยู่ในกิจกรรมพนัน อันดับ 1 สลากกินแบ่งรัฐบาล 22.7 ล้านคน อันดับ 2 หวยใต้ดิน 17.7 ล้านคน อันดับ 3 พนันไพ่ 4.5 ล้านคน อันดับ 4 พนันทายผลฟุตบอล 3.5 ล้านคน ฯลฯ รวมแล้วประมาณ 30.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณ 1.49 ล้านคน และในจำนวนนี้เป็นนักพนันหน้าใหม่เพิ่งเล่นการพนันเป็นครั้งแรกในชีวิตประมาณ 0.72 ล้านคน (มีการเพิ่มขึ้นของนักการพนันหน้าใหม่ ระหว่างปี 2560-2562 ร้อยละ 14.4)

ในปี 2562 สลากกินแบ่งรัฐบาลครองอันดับหนึ่งของการพนัน โดยมีผู้เล่น 22.8 ล้านคน อันดับ 2 คือ หวยใต้ดิน 17.7 ล้านคน (3 ใน 4 ของคนเล่นหวยใต้ดินจะเล่นพนันสลากกินแบ่งรัฐบาลไปด้วย) มีวงเงินหมุนเวียนพนัน 153,158 ล้านบาท

ตัวเลขเหล่านี้น่ากลัว และมีทางโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เหตุการณ์หนึ่งในโลกจะเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความคิดในระดับโลก และสังคมไทยในเรื่องความชอบธรรมของการพนันเฉกเช่นเดียวกับเรื่องกัญชาที่เป็นเรื่องถูกกฎหมายในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ กล่าวคือในปี 2018 ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาตัดสินให้ยกเลิกกฎหมายเก่าในปี 1992 ที่จำกัดการพนันทายผลกีฬาอย่างถูกกฎหมายเฉพาะในรัฐเนวาดา ในเวลาต่อมาประมาณ 30 รัฐก็ออกกฎหมายยอมให้เล่นพนันทายผลกีฬาได้ทั้งแบบปกติและออนไลน์ ซึ่งหมายถึงว่าร้อยละ 30 ของคนอเมริกันทั้งประเทศซึ่งอยู่ในรัฐเหล่านี้สามารถเล่นพนันทายผลกีฬาได้ทุกประเภทออนไลน์

คนในโลกพัฒนาแล้วส่วนใหญ่เล่นการพนันด้วยความสนุกสนาน (ประเภท 1) ซึ่งต่างจากคนเอเชียที่ชอบการพนันเป็นชีวิตจิตใจ โดยเฉพาะสังคมไทยเรามีการพนันอยู่ทุกหัวระแหง เข้าใจว่านักพนันส่วนใหญ่อยู่ในประเภท (1) และ (2) ส่วน (3) และ (4) ก็มีเป็นจำนวนมาก คดีฆาตกรรมและฆ่าตัวตายในยามนี้ หลายคดีมั่นใจว่าโยงใยกับการกู้นอกระบบ เมื่อไม่มีจ่ายก็มีการฆ่าชนิด “เชือดไก่ให้ลิงดู” หรือ หนีตายไปเอง การพนันอย่างมัวเมาน่าจะเป็นส่วนสำคัญของหนี้นอกระบบอันนำไปสู่ความหายนะ

หลักฐานของการพนันทายผลกีฬาครั้งใหญ่ในปัจจุบันก็คือ การแข่งขันอเมริกันฟุตบอล “Superbowl” เมื่ออาทิตย์แล้วระหว่าง Los Angeles Rams กับ Cincinnati Bengals คนอเมริกาไม่ต่ำกว่า 31.4 ล้านคนพนันทายผลซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35 จากปีที่แล้ว และวงเงินพนันไม่ต่ำกว่า 7.6 พันล้านเหรียญหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 78 จากปีก่อน หากอิทธิพลจากสหรัฐในเรื่องนี้เเผ่มาถึงภูมิภาคของเรา คนไทยก็จะมีโอกาสสร้างความสูญเสียแก่ตนเองและครอบครัว สร้างอาชญกรรม สร้างความรุนเเรงฯลฯ ได้ง่ายขึ้นอีกมากดังที่การพนันออนไลน์ผ่านเกมส์แบบเนียน ๆ กำลังทำร้ายสังคมไทยอยู่ในขณะนี้

ไม่มีอะไรที่ทำให้มนุษย์สามารถสูญเสียทรัพย์ในเวลาอันรวดเร็วได้เท่ากับการพนัน ไม่ว่ามีเงินกี่หมื่นกี่แสนล้านก็หมดได้ในพริบตาเดียว การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเล่นพนันของพลเมืองโดยภาครัฐเช่นห้ามการพนันออนไลน์ซึ่งสร้างความสะดวกในการเล่นพนันไม่ว่าจะเป็นการทายผลกีฬา หรือเกมส์ออนไลน์ไม่ว่าในลักษณะใดจึงเป็นเรื่องซีเรียสที่ต้องติดตามดูแลกันอย่างระมัดระวังตลอดเวลา

ประชากรกับชีวิตของประเทศ

วรากรณ์ สามโกเศศ
15 กุมภาพันธ์ 2565

ปี 2564 เป็นปีแปลกที่สุดของประเทศไทยในเรื่องประชากรเพราะเป็นปีแรกในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการเก็บสถิติว่ามีจำนวนคนเกิดน้อยกว่าจำนวนคนตายในปีเดียวกัน กล่าวคือมี 544,570 คนที่เกิดและ 563,650 ที่ตาย มันเกิดอะไรขึ้นในบ้านเรา และมีผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างไรบ้าง

เราได้ยินกันมานานว่าเรามีสัดส่วนของผู้สูงวัยในจำนวนประชากรสูงจนเรียกว่าไทยเป็นสังคมผู้สูงวัย เรื่องราวเกี่ยวกับประชากรไทยขอเริ่มต้นที่ข้อมูลพื้นฐาน ตอนไทยเรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เริ่ม พ.ศ. 2504 จำนวนเด็กเฉลี่ยที่เกิดจากผู้หญิงไทยคนหนึ่งในชีวิตคือประมาณ 5 คน (ทางวิชาการเรียกว่า TFR หรือ Total Fertility Rate) อันส่งผลให้อัตราเกิดอยู่ประมาณ 3% กว่าซึ่งนับว่าสูงมาก เมื่อประเทศมีการพัฒนาขึ้น รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จำนวนคนเกิดก็เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2506 ถึง 2526 มีเด็กเกิดในแต่ละปีเกินกว่า 1 ล้านคน

​ อย่างไรก็ดีเมื่อการมีลูกมีต้นทุนสูงขึ้น หญิงชายบากบั่นทำงานหาความร่ำรวย บริการการแพทย์และสาธารณสุขดีขึ้น โครงการวางแผนครอบครัวได้ผลดี TFR ก็ลดต่ำลงเรื่อย ๆ จำนวนการเกิดในแต่ละปีลดลงเป็นลำดับจากเกิน 1 ล้านคนในปี 2626 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายจนถึง ปี 2555 เกิดปีละประมาณ 800,000 คน และลดจนถึงเพียง 500,000 คนเศษในปี 2564 และในปีนั้น TFR ลดลงเหลือเพียง 1.51 เท่านั้น

​ เด็กกว่า 1 ล้านคนที่เกิดในปี 2506 จะมีอายุครบ 60 ปีเข้าเป็นสมาชิกของสโมสรผู้สูงวัยในปี 2566 หรือปีหน้า และคลื่นสึนามิของคนสูงวัยจะเพิ่มปีละอย่างน้อย 1 ล้านคนโดยต่อเนื่องไปอีกกว่า 20 ปี ในสภาพการณ์ที่คนไทยมีอายุยืนขึ้น พายุลูกนี้ก็จะยิ่งหนักหน่วงขึ้น

​ ในปี 2564 มีผู้สูงอายุคือ 60 ปีขึ้นไปอยู่ 20% ในประชากรทั้งประเทศซึ่งตามคำจำกัดความสากลก็คือไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว (อายุ 0-14 ปี มีอยู่ 17% และอายุ 15-59 ปีซึ่งเป็นกำลังแรงงานของประเทศมีอยู่ 63%) อีก 10 ปีข้างหน้าคือ พ.ศ. 2574 จะมีผู้สูงอายุ 28% (เด็กมีสัดส่วนไม่เปลี่ยนแปลงนัก แต่กำลังแรงงานเหลือ 57%) และร้ายกว่านั้นก็คืออีก 9 ปีต่อไป หรือ พ.ศ. 2583 จะมีผู้สูงอายุถึง 32% (กำลังแรงงานเหลือ 55%)

กล่าวโดยสรุปก็คือ 2564 ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้วคือ 20% อีก 10 ปี จะเข้าสู่ซูเปอร์สังคมผู้สูงวัย คือร้อยละ 28 และใน พ.ศ. 2583 หรือประมาณ 20 ปีจากนี้ หนึ่งในสามของประชากรไทยจะเป็นผู้สูงวัย

สถานะปัจจุบันของประชากรไทยก็คือ มีจำนวนประชากรประมาณ 68 ล้านคน TFR ประมาณ 1.5 มีอัตราการเกิด 1.07% ต่อปี จำนวนคนตายในแต่ละปีสูงกว่าจำนวนคนเกิด และประการสำคัญกำลังแรงงานของประเทศจะลดจาก 63% ใน 2564 เหลือเพียง 57% ในอีก 10 ปีข้างหน้า และเหลือเพียง 55% ในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า เป็นที่คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรของไทยจะเพิ่มมากขึ้นอีกเล็กน้อย และทรงตัวอยู่ในระดับใกล้ 68-69 ล้านคนในช่วง 20 ปีข้างหน้า

ประเด็นที่สำคัญก็คือ เมื่อประชากรมีจำนวนทรงตัวใน 20 ปีข้างหน้าแต่สัดส่วนของผู้อยู่ในวัยแรงงานลดลงก็หมายความว่าจำนวนผู้อยู่ในวัยแรงงานจะลดลง โดยลดลงจาก 66% ในปี 2558 / 63% ในปี 2564 / 57% ในปี 2574 / 55% ในปี 2583 ซึ่งคนในวัยกำลังทำงานนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งของประเทศ เพราะเป็นกำลังการผลิต เป็นมันสมอง เป็นแขนเป็นขา เป็นสิ่งแวดล้อมสำคัญของการสร้างผลิตภาพ (productivity) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งของการสร้างความกินดีอยู่ดีของประเทศ หากเปรียบเทียบระหว่าง 2558 กับ 2583 สังคมไทยจะมีคนในวัยทำงานน้อยลงไปกว่า 7-8 ล้านคนในขณะที่เราต้องการการขยายตัวของเศรษฐกิจอีกมากในอนาคตเพื่อให้มาตรฐานการครองชีพของประชากรสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คำถามก็คือเราจะหาแรงงานที่หายไปนี้มาจากไหน

งานศึกษาวิจัยของหลายประเทศพบว่าเมื่อมีสัดส่วนของผู้สูงวัยในประชากรสูงขึ้นจะทำให้กำลังแรงงานของประเทศขยายตัวช้าลงและมีผล (ก) ทำให้การเจริญเติบโตเศรษฐกิจช้าลง (ข) คนในวัยแรงงานต้องรับภาระดูแลสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้นผ่านภาระภาษีที่หนักขึ้น การออมในครัวเรือนลดต่ำลง (ค) ภาครัฐมีข้อจำกัดด้านงบประมาณมากขึ้นเนื่องจากต้องดูแลผู้สูงอายุในด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคม

การเพิ่มกำลังแรงงานเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นในสภาพเช่นนี้การพัฒนาผลิตภาพของแรงงาน (ให้จำนวนคนเท่าเดิมแต่ผลิตได้มากขึ้น) ที่มีอยู่จึงเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย นอกจากนี้การขยายวัยเกษียณอายุการทำงานของผู้สูงอายุพร้อมกับสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน และรับแรงงานจากเพื่อนบ้านและคนไกลมาทำงานในบ้านเรามากขึ้น (เหมือนญี่ปุ่น เยอรมันนี และอีกหลายประเทศในขณะนี้) หากเราไม่ขยายกำลังแรงงานของเราแล้วก็จะเป็นตัวถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งมีทางโน้นที่จะไม่เพิ่มขึ้นมากอยู่แล้วยิ่งขึ้น

นโยบายด้านประชากรต้องเป็นวาระแห่งชาติที่มีการพูดจาอภิปรายกันให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลเพื่อให้เกิดปัญญาโดยเร็วเนื่องจากการแก้ไขปัญหาเรื่องประชากรต้องใช้เวลายาวนานนับทศวรรษภายใต้นโยบายที่เหมาะสมและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ความเข้าใจเรื่องประชากรจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในหลายเรื่อง เช่น การเข้าใจว่าคนไทยขี้เกียจไม่ทำงาน “สกปรก” “อันตราย” “งานหนัก” จนต้องใช้แรงงานจากเพื่อนบ้าน ความจริงก็คือเด็กไทยจำนวนมากมิได้เกิดมาซึ่งต่างจากช่วง 2506-2526 ในแต่ละปีมีจำนวนเด็กเกิดน้อยลงเป็นลำดับ เมื่อหาแรงงานไทยไม่ได้จึงต้องพึ่งเพื่อนบ้าน ซึ่งถ้าหากไม่มีแรงงานเหล่านี้แล้วเศรษฐกิจไทยจะมีปัญหามากเพราะขาดแคลนแรงงาน และเมื่อมองไปในอนาคตก็จะยิ่งเห็นการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพของเศรษฐกิจไทยยิ่งขึ้น

มีข้อที่น่าสงสัยคือเมื่อจำนวนการเกิดน้อยลงทุกทีจนใกล้กับจำนวนการตายแล้วเหตุใดจำนวนประชากรไม่ลดลง ยังทรงตัว 68-69 ล้านคน คำตอบก็คือการที่คนไทยมีอายุยืนขึ้นเพราะคุณภาพการแพทย์และสาธาณสุขดีขึ้น ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพดีขึ้น ฯลฯทำให้คนที่ควรเสียชีวิตตามแบบแผนสมัยก่อนนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ และไปเพิ่มสัดส่วนของผู้สูงอายุให้มากขึ้นนั่นเอง

สร้างประโยชน์จากคลื่นแรงงานย้ายถิ่น

วรากรณ์ สามโกเศศ
8 กุมภาพันธ์ 2565

​วิกฤตโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยขนานใหญ่ ปรากฏการณ์สำคัญหนึ่งที่อาจนำไปสู่ผลกระทบที่กว้างไกล และโอกาสของประเทศในการพัฒนาท้องถิ่นก็คือการที่มีผู้คนจำนวนมากอพยพย้ายกลับไปอยู่ในต่างจังหวัด และบางส่วนอาจไม่กลับไปเมืองอีก

ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้จุดประเด็นนี้ และได้แสดงความเห็นและมีข้อเสนอ โดยบอกว่าการระบาดของโควิดครั้งนี้ได้ผลักแรงงานให้เคลื่อนย้านกลับชนบทหลายล้านคนในรอบ 20 ปี ดังนั้นผู้บริหารประเทศควรเอาจริงเอาจังกับโอกาสนี้ในการเพิ่มศักยภาพของการสร้างชีวิตใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ และกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากยิ่งขึ้นโดยอาศัยแรงงานที่มีคุณค่าเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ

ในฐานะกรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำรัสในงานเสวนาออนไลน์ “อยู่รอด และยั่งยืนหลังโควิด” ภายใต้หัวข้อ “ใครจะอยู่รอดในสังคมแล้วจะอยู่รอดอย่างไรที่ยั่งยืน” ดร.วิรไทกล่าวว่าเหตุการณ์เช่นนี้ตรงกันข้ามกับช่วงที่บ้านเราเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ. 2540 กล่าวคือครั้งนั้นแรงงานจากชนบทย้ายถิ่นเข้าเมืองจำนวนมาก จนทำให้ภาคชนบทอ่อนแอลง เหลือแต่แรงงานสูงอายุและเด็กอันส่งผลให้ผลิตภาพ (productivity) ภาคเกษตรลดต่ำลงอันเป็นการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างเมืองและชนบทยิ่งขึ้น

ผู้เขียนได้ไปค้นตัวเลขของการอพยพของแรงงานครั้งนี้ และประเด็นที่เกี่ยวข้องจากสองบทความในคอลัมน์ “แจงสี่เบี้ย” ของกรุงเทพธุรกิจ (“คลื่นแรงงานย้ายถิ่น กับศักยภาพชุมชนท้องถิ่น” โดยเสาวณี จันทะพงษ์ และพาทินธิดา สัจจานิจการ และ “แรงงานคืนถิ่นหลังโควิด-19 จุดเปลี่ยนภาคเกษตรไทย” โดยเสาวณี จันทะพงษ์ และวริศ ทัศนสุนทรวงศ์) และพบว่าในภาพรวมเกิดมีแรงงานย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนาขนานใหญ่ทั่วประเทศรวมกันประมาณ 2 ล้านคน หลังการล็อกดาวน์สองครั้ง ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุ 21-60 ปี (1 ใน 3 อายุ 15-24 ปี) และกว่าครึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน ทำงานในภาคบริการโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร และค้าปลีก

ในมิติเชิงพื้นที่ แรงงานเหล่านี้ย้ายถิ่นออกจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น ชลบุรี ภูเก็ต และเชียงใหม่ ส่วนใหญ่จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 และ ปวช. และเชื่อว่าส่วนใหญ่น่าจะเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับความคุ้มครองด้านแรงงาน และไม่มีหลักประกันทางสังคม (มากกว่าร้อยละ 65 เคยมีรายได้ 300-500 บาทต่อวัน ) ข้อมูลเหล่านี้ธนาคารแห่งประเทศไทยรวบรวมและวิเคราะห์พฤติกรรมการย้ายถิ่นจากฐานข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือ Telco ของ True Digital Group ซึ่งเป็นวิธีการค้นคว้าสมัยใหม่ในการค้นหาข้อมูลอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลการใช้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือเพื่อติดตามและ ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย

คุณสุทธิชัย หยุ่น ในคอลัมน์ของไทยโพสต์กล่าวว่า “…….ดร.วิรไท ให้ความเห็นว่าประเทศไทยควรหาทางสนับสนุนให้แรงงานที่เคลื่อนย้ายกลับสู่ชนบทจากผลกระทบของวิกฤตโควิดในครั้งนี้ให้สามารถคงอยู่ในชนบทได้อย่างเป็นสุขและยั่งยืน เพราะแรงงานที่กลับไปเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีศักยภาพ และรู้จักใช้เทคโนโลยี สิ่งที่ผมพบเห็นเองในชนบทในช่วงการระบาดของโควิดคือ คนรุ่นใหม่อพยพจากเมืองกลับไปต่างจังหวัด และเริ่มสร้างอาชีพด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่างคล่องแคล่ว….. ประเทศไทยสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ชนบทได้ด้วยการให้ความสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น โดยการสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาครัฐในส่วนท้องถิ่นในการทำงานพัฒนาโดยคำนึงถึงบริบทในเชิงพื้นที่ และควรเป็นการพัฒนาทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมควบคู่กันไปอย่างเกื้อหนุนกัน……..รัฐ ท้องถิ่น ภาคประชาสังคมเช่น มูลนิธิปิดทองหลังพระควรร่วมกันทำงานเพื่อสนับสนุนให้แรงงานที่กลับไปยังชนบทเป็น change agent หรือ “ผู้ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง” ที่จะช่วยสร้างโอกาสและความเข้มแข็งให้ประเทศได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังควรสนับสนุนให้มีการศึกษาที่เหมาะสมในภาวะวิกฤตและในอนาคต เพราะประชาชนต้องการ reskill และ upskill ให้สอดคล้องกับบริบทของโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป……รัฐควรช่วยอำนวยให้ประชาชนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้ตลอดเวลาและตลอดชีวิต ประชาชนไทยควรเปลี่ยนหลักคิด หรือ mindset จากความคิดพึ่งพาภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว มาเป็นการพึ่งตนเองได้ในระยะยาว การเยียวยาจากภาครัฐในวิกฤตโควิดเป็นสิ่งสำคัญในช่วงแรก ๆ แต่ไม่อาจพึ่งได้ต่อไปเมื่อวิกฤตผ่านมาถึง 2 ปีแล้ว …….รัฐสามารถสนับสนุนให้ประชาชนเริ่มพึ่งตนเองได้ด้วยการเน้นการกระจายอำนาจ และให้อำนาจในการตัดสินใจไปอยู่ในมือของท้องถิ่นประชาชนเองมากขึ้น…..”

ดร.วิรไทบอกอีกว่า “………จากการที่ตนทำงานร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระได้เห็นอย่างชัดเจนว่าพื้นที่ใดที่ประชาชนมีความเข้มแข็งก็จะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการพัฒนา และหากได้รับการสนับสนุนที่ตรงจุด ตรงตามความต้องการของพื้นที่โดยเฉพาะจากภาครัฐในระดับท้องถิ่นก็จะทำให้การพัฒนาสำเร็จลุล่วง…….ประเทศไทยสามารถผ่านวิกฤตต่าง ๆ มาได้ในอดีตจากการน้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องความพอเพียงที่มีหลักสำคัญ 3 ประการอันได้แก่ ประการแรกความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล การมีภูมิคุ้มกัน ประการที่สองการตั้งอยู่บนฐานของคุณธรรม มีความอดทน มีวิริยะอุตสาหะ ซื่อสัตย์ และประการที่สามการมีความรู้…. ……. วิกฤตโควิดในครั้งนี้ทำให้ประชาชนไทยเห็นอย่างชัดเจนมากขึ้นถึงความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อให้อยู่รอดท่ามกลางโลกใหม่ที่มีความผันผวนสูง……..”

หากมองภาพกว้าง บัดนี้มีคนสองล้านคนซึ่งมีการศึกษา และทักษะด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีจากเมืองใหญ่ อพยพสู่ชนบท มันเป็นโอกาสทองของการสร้างประโยชน์จากวิกฤตการณ์นี้ว่าทำอย่างไรให้เขาช่วยฟื้นฟูผลิตภาพภาคเกษตรที่ตกต่ำด้วยการใช้เทคโนโลยีก้าวหน้า (smart หรือ precision farming) อีกทั้งสร้างเงื่อนไขให้เขาอยู่ในชนบทต่อไปอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นแรงงานผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศ และเป็นผู้นำท้องถิ่นยุคใหม่ที่มีการกระจายอำนาจมากยิ่งขึ้น

การ upskill และ reskill ที่หลายมหาวิทยาลัยสร้างหลักสูตรอบรมจำนวนมากเพื่อภาคอุตสาหกรรมนั้น บางส่วนต้องปรับเป็นภาคเกษตรในลักษณะที่ต่างออกไปพร้อมกับให้ความรู้การใช้เครื่องจักรกลเกษตรสมัยใหม่โดยคนที่คุ้นกับเทคโนโลยี ทั้งหมดนี้จะช่วยให้คนอพยพเหล่านี้ และคนไทยเป็น ผู้อยู่รอดในสังคม และรอดอย่างยั่งยืนอีกด้วยในระยะยาว


อาลัย “ทิก เญิ้ต หั่ญ”

วรากรณ์ สามโกเศศ
1 กุมภาพันธ์ 2565

การจากไปของ Thích Nhất Hạnh (ทิก เญิ้ต หั่ญ) ในวัย 95 ปี เมื่อเร็ว ๆ นี้สร้างความโศกเศร้าแก่ชาวโลกที่ศรัทธาในตัวท่านและคำสอน มีคนต่างชาติและคนไทยจำนวนมากเขียนถึงท่านแสดงความอาลัยและสดุดี ผู้เขียนเคยเขียนถึงท่านอยู่เนือง ๆ เพราะท่านเป็นภิกษุนิกายมหายานในพระพุทธศาสนาที่คนรู้จักมากที่สุดในโลกท่านหนึ่ง ผู้เขียนชอบเขียนเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนเขียนถึง แต่ครั้งนี้ขอเขียนถึงท่านอาจารย์ผู้มีคำสอนพิเศษที่ทำให้การดำเนินชีวิตที่แสนธรรมดามีความหมายขึ้นอย่างไม่เคยคิดมาก่อนและทำให้รู้ว่าการมีสตินั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิต

ลองพิจารณาสิ่งที่ท่านได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งในจำนวนกว่า 100 เล่มของท่าน “………ปาฏิหาริย์ไม่ใช่การเดินบนน้ำหรือบินอยู่บนอากาศ แต่ปาฏิหาริย์ของชีวิตคือการเดินอยู่บนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว

​ ชีวิตเราเต็มไปด้วยเรื่อง “ธรรมดา” เช่น ตื่นมาอาบน้ำ แปรงฟัน ขับรถไปทำงาน กินอาหารเที่ยงกับเพื่อนในที่เดิม ๆ ตอนเย็นกลับบ้านก็เห็นหน้าภรรยา หรือสามีคนเดิม ใส่ชุดธรรมดา หน้าตาเราหรือก็ธรรมดา ๆ….. เราส่วนใหญ่แล้วก็เป็นคนธรรมดา ๆ มีชีวิตธรรมดา ๆ กันทั้งนั้น

แต่ถ้าความ “ธรรมดา” นี้หมดไปล่ะ เช่น อยู่ดี ๆ ลูกเราเกิดเป็นมะเร็ง ไปมีเรื่องนอกบ้าน ไปติดยา ไปคบเพื่อนไม่ดี หรือสามี หรือภรรยาเราตาย ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม หรือเราถูกไล่ออกจากงาน เราประสบอุบัติเหตุร้ายแรงเป็นอัมพาต

เรื่องที่เคยธรรมดาก็จะ “ไม่ธรรมดา” ไปในทันที และในเวลานั้นเองเราจะหวนมาคิดเสียดายความเป็น “ธรรมดา” จนใจแทบจะขาด…..

สิ่งธรรมดา คือ สิ่งพิเศษ ขอให้เรารีบชื่นชมกับความ “ธรรมดา” ที่เรามี และใช้ชีวิตกับสิ่งรอบตัวของเรา ประหนึ่งว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งมหัศจรรย์ของจักรวาล เพราะสิ่งธรรมดา ๆ แท้จริงแล้วคือสิ่งที่พิเศษที่สุดแล้วสำหรับมนุษย์อย่างเรา…..”

​อีกข้อความหนึ่ง “…..ทุก ๆ วันชีวิตเราเกี่ยวพันกับปาฏิหาริย์อย่างที่เรามิได้ตระหนักถึง เราเห็นท้องฟ้าสีคราม ปุยเมฆขาว ใบไม้เขียวและดวงตาสีดำอันอยากรู้อยากเห็นของเด็กน้อยด้วยดวงตาทั้งสองข้างของเรา…..ทั้งหมดนี้คือปาฏิหาริย์”…..” ถ้าเราไม่เห็นว่ามันเป็นปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นทุกวันแล้ว เราคงเป็นมนุษย์ที่เขลาเอามาก ๆ ทีเดียว

คำว่า Thích (ทิก) นั้น ในเวียดนามใช้เรียกพระอันมีความหมายว่าเป็นผู้สืบทอดพุทธศาสนา ส่วน Nhất Hạnh (เญิ้ต หั่ญ) เป็นชื่อทางธรรมของท่าน คนเวียดนามมักเรียกท่านว่า “ไถ่” ซึ่งแปลว่าอาจารย์เช่นเดียวกับศิษย์ต่างชาติ แต่ศิษย์ชาวเวียดนามบางส่วนเรียกท่านว่า “ซือองม์” ซึ่งแปลว่าหลวงปู่ ในที่นี้ขอเรียกท่านว่า “ไถ่”

ไถ่บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 16 ปี ณ วัดตื่อเฮี้ยว ในเมืองเว้ เมื่ออายุได้ 23 ปี ใน พ.ศ. 2492 ก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูพุทธศาสนาและเขียนบทความเสนอความคิดจนถูกต่อต้านจากผู้นำองค์กรชาวพุทธและรัฐบาลในขณะนั้น ในปี พ.ศ. 2505 ไถ่ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันเพื่อศึกษาศาสนาเปรียบเทียบและได้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย หลังจากนั้นไม่นานก็เดินทางกลับเวียดนามท่ามกลางสงครามเวียดนามที่เริ่มร้อนระอุ

ไถ่ต่อสู้เพื่อสันติภาพโดยไม่เข้าข้างสหรัฐอเมริกา หรือเวียดกง(กลุ่มต่อสู้จากเวียดนามเหนือ) ไถ่เป็นผู้นำพระสงฆ์ในการรณรงค์ต่อสู้เพื่อสันติภาพของชาวเวียดนามทั้งมวล ไถ่ต่อสู้จนอยู่ไม่ได้ ต้องลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลายาวนานเกือบ 40 ปี ซึ่งตลอดเวลานั้นไถ่เดินทางไปนานาประเทศเพื่อเผยแพร่คำสอนของพุทธศาสนา

ไถ่สอนพุทธศาสนาแบบไม่วางไว้บนหิ้ง หากเอามาใ่ส่ไว้ในชีวิตประจำวันอย่างสามารถเอาคำสอนมาปฏิบัติได้ เรื่องสำคัญที่ไถ่ได้สอนตลอดชีวิตก็คือการมีสติ (mindfulness) โดยหมายถึงการตระหนักถึงทุกสิ่งที่เราทำอยู่ตลอดเวลา การมีสติคือแสงสว่างที่ส่องไปยังความคิด ความรู้สึก การกระทำ และคำพูดทั้งหมดของเรา ไถ่กล่าวว่าการมีสติทำให้ตื่นตัว ตระหนักถึงความคิด การกระทำ และสิ่งที่อยู่รอบตัวเราทุกขณะจิต สติคือความระลึกได้ นึกได้ ความไม่เผลอ การคุมใจไว้กับกิจหรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง

ไถ่สอนว่าการควบคุมลมหายใจ (การทำสมาธิ) คือการเชื่อมต่อระหว่างจิตใจกับร่างกายจึงเป็นหนทางที่ช่วยทำให้เกิดการมีสติขึ้น การตระหนักในการควบคุมลมหายใจช่วยให้เราจัดการกับอารมณ์เช่นความโกรธ ความกลัว ความกระวนกระวายใจและ ความผิดหวังได้เป็นอย่างดี อีกทั้งทำให้เกิดความสุขซึ่งมาจากข้างใน นอกจากนี้การมีสติคือหนทางไปสู่การดำรงชีวิตอย่างมีจริยธรรมอีกด้วย

ไถ่อุทิศชีวิตให้แก่การสร้างสันติภาพ ความเมตตากรุณา ความรักความปรารถนาดีต่อกัน และการมีความสุขของมวลมนุษย์ ด้วยความสามารถอันแตกฉานด้านภาษาอังกฤษภาษาฝรั่งเศสและภาษาจีน ทำให้การเผยแพร่คำสอนไปได้กว้างไกล ในหนังสือกว่า 100 เล่มที่เขียนนั้น 40 เล่มเป็นภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ไถ่ได้จัดตั้งหมู่บ้านพลัม (Plum Village) ขึ้นในฝรั่งเศส และต่อมาในอีกหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วยรวม 22 แห่งเพื่อเป็นชุมชนแบบอย่างแห่งการปฏิบัติธรรมที่เน้นการเจริญสติ อย่างไรก็ดีไถ่ไม่สามารถกลับเวียดนามบ้านเกิดได้จนเกือบ 40 ปีผ่านไปและตั้งแต่ 2561 เป็นต้นมาไถ่ก็ได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่วัดดั้งเดิมที่เคยบวชในเมืองเว้ และก็สิ่นชีวิตที่บ้านเกิดแห่งนี้ด้วย

ในเรื่องการศึกษาที่ไถ่สนใจเป็นพิเศษก็กล่าวไว้ว่าโรงเรียนสามารถสอนได้มากกว่าการอ่าน การเขียน การคิดเลข และการเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะสามารถสอนเด็กให้สามารถจัดการความโกรธ ขจัดข้อขัดแย้ง พัฒนาเปลี่ยนแปลงตนเองได้ด้วยการมีสติ โดยเริ่มจากการมีครูที่มีสติก็จะสามารถถ่ายทอดการมีสติไปสู่เด็กได้ ห้องเรียนต้องให้โอกาสที่สองแก่เด็กที่พ่อแม่ไม่สามารถสร้างบรรยากาศของความรักและสิ่งแวดล้อมแห่งความสุขได้ ครูและโรงเรียนต้องช่วยกันทำให้เกิดการสื่อสารที่แฝงไว้ด้วยความเมตตากรุณาในห้องเรียน ตลอดจนสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและสร้างการเยียวยาให้แก่เด็กเหล่านี้

ไถ่จากไปแล้วดั่งที่เคยสอนมาตลอดว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา ชีวิตมาแล้วก็ไปโดยผ่านร่างที่เราอาศัยอยู่ เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องปกติ ไม่มีอะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลง การมีสติจะช่วยให้เรามีชีวิตท่ามกลางสภาพเช่นนี้ได้อย่างมีความสุข สำหรับศิษย์แล้ว การมีสติในชีวิตประจำวันแท้จริงแล้วก็คือการบูชาคุณความดีงามที่ไถ่ได้ทำไว้ให้แก่มนุษยชาติ

ซอฟต์พาวเวอร์มาจากหนใด

วรากรณ์ สามโกเศศ
25 มกราคม 2565

​“ลิซ่า แบล็กพิงก์” นักร้องนักเต้นของวงเกาหลีใต้ในธุรกิจบันเทิงระดับโลกทำให้คนไทยพูดถึง “ซอฟต์พาวเวอร์” (SP_Soft Power) โดยชักชวนให้ดูเกาหลีใต้เป็นตัวอย่าง พูดกันว่าไทยมีหลายสิ่งที่สามารถเอามาใช้สร้างซอฟต์พาวเวอร์ได้ ซอฟต์พาวเวอร์คืออะไรและสร้างได้อย่างไร

โดยแท้จริงแล้ว SP เป็นศัพท์วิชาการด้านรัฐศาสตร์การทูตและการเมืองระหว่างประเทศ และต่อมานำมาใช้ในด้านเศรษฐกิจ ด้านการกำหนดยุทธศาสตร์ธุรกิจ ด้านกลยุทธ์ขององค์กร หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวัน

ความหมายสั้น ๆ ของ SP ก็คือความสามารถในการใช้การโน้มน้าวมาเป็นพลังมากกว่าที่จะเป็นการบังคับด้วยกำลัง พูดอีกอย่างก็คือ SP เกี่ยวพันกับการสร้างแบบแผนความพึงพอใจของคนอื่นด้วยการโน้มน้าว การดึงดูดใจ และการเรียกร้อง เพื่อให้สิ่งที่เขาต้องการเป็นอย่างเดียวกับสิ่งที่เราต้องการ

ตัวอย่างก็คือประเทศ ก. อยากให้ประเทศ ข. ยอมอนุญาตให้ตั้งสถานีเรดาร์ใน ประเทศ ข. วิธีการที่ทำได้ก็คือบังคับด้วยกำลัง ติดสินบน จ่ายเงิน สร้างแรงกดดัน ฯลฯ แต่ถ้าเป็นการใช้ SP แล้วก็หมายถึงการโน้มน้าวเจรจาขอตั้งโดยอ้างความมั่นคงร่วมกันโดยมีประชาชนในประเทศ ข.สนับสนุนเพราะมีความชื่นชอบประเทศ ก. เป็นพิเศษ อาจเป็นการชื่นชอบวัฒนธรรม เลื่อมใสศรัทธาในค่านิยมการเมือง (เช่นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน) หรือนโยบายต่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือเป็นมิตรที่ดีกันมายาวนาน เช่น ยามมีโรคระบาดก็บริจาควัคซีนให้ ให้เงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน ฯลฯ ดังนั้นจึงสามารถทำให้ประเทศ ข. ต้องการในสิ่งที่ ก. ต้องการ

ผู้ทำให้แนวคิด SP ที่มีมานานนับเป็นพัน ๆ ปีแล้วชัดเจนขึ้นมากก็คือ Joseph Nye นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันโดยเริ่มแต่ปลายทศวรรษ 1980 ผ่านหนังสือหลายเล่ม เขาบอกว่าอำนาจคือความสามารถในการมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนอื่นเพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ตามที่ตนเองต้องการ สองวิธีการก็คือ Hard Power คือการใช้อำนาจบังคับตรง ๆ เช่นผ่าน “กระบอกปืน” ขู่เข็ญ จ่ายเงิน ฯลฯ และ Soft Power ดังกล่าวมาแล้ว

Nye บอกว่า SP ของประเทศหนึ่งนั้นขึ้นอยู่กับทรัพยากร 3 ประเภท อันได้แก่ (1) วัฒนธรรมของตนเองในลักษณะที่ดึงดูดใจคนอื่น ๆ (2) ค่านิยมทางการเมือง (political values) ที่คนอื่นชื่นชอบและตนเองมีอย่างแท้จริง (3) นโยบายต่างประเทศที่คนอื่นเห็นว่าถูกกฎหมาย ยอมรับได้ และมีพลังทางศีลธรรม หากใช้ทรัพยากรทั้งหมดนี้ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพแล้วก็สามารถทำให้คนอื่นต้องการสิ่งที่ตนเองก็ปรารถนาด้วยได้

ถ้าพิจารณาลงไปที่ทรัพยากรแรกคือวัฒนธรรมอย่างเดียวแล้ว ก็จะเห็นความทรงพลัง อย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงปลายศตวรรษที่ 20 มี SP ที่เข้มแข็งมาก ผู้คนในโลกชื่นชมภาพยนตร์ฮอลลีวู๊ด วัฒนธรรมการกินอยู่แบบอเมริกัน (ครัว อาหารจานด่วน กางเกงยีนส์ เพลง ละคร ภาษา วรรณคดี) ค่านิยมอเมริกัน (เสรีภาพ โอกาส ความเท่าเทียมกัน การศึกษา) อย่างโดนใจชาวโลกจนมีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้คนแทบทั้งโลกไปในแนว “pro American”

อังกฤษเป็นประเทศเก่าแก่ที่มี SP สูงมากเพราะเป็นต้นแบบของวัฒนธรรมประเพณี การดำรงชีวิตและการเมืองมายาวนาน มีบทบาทสำคัญด้านการเงินของโลกและได้ฝังค่านิยมหลายอย่างในจิตใจของชาวโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือความนิยมทีมฟุตบอลอังกฤษของคนทั่วโลก

หลายประเทศในโลกมีวัฒนธรรมเป็นทรัพยากรที่สำคัญของการมี SP เช่น ฝรั่งเศส (ความเก๋เเละยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรม) จีน (วัฒนธรรมอันเก่าแก่และเศรษฐกิจสมัยใหม่) อินเดีย (อิทธิพลต่อหลายศาสนาของโลก) อิตาลี (แหล่งศิลปวัฒนธรรมของโลก) ญี่ปุ่น (ความเห็นพ้องของวลี “ Cool Japan…ญี่ปุ่นสุดเจ๋ง ) ฯลฯ

ประเทศที่คนไทยสนใจจน SP เป็นประเด็นขึ้นมาก็คือเกาหลีใต้ ประเทศที่เกิดขึ้นมาอย่างไม่มีความมั่นคงในอนาคตเพราะเป็นผลพวงของประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างกลุ่มประเทศคอมมูนิสต์กับกลุ่มประเทศทุนนิยมของโลกตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

สงครามเกาหลีเริ่มในปี ค.ศ. 1950 ฝ่ายหนึ่งคือสหรัฐและสหประชาชาติ อีกฝ่ายหนึ่งคือจีนโดยมีสหภาพโซเวียตหนุนหลัง สู้รบกัน 3 ปีและเจรจาหยุดรบ ลงนามแบ่งเป็นเกาหลีเหนือและใต้ในปี 1953 เกาหลีใต้ตั้งอยู่ในปลายคาบสมุทรเกาหลี ทิศเหนือคือเกาหลีเหนือ และถัดไปข้างบนคือจีน ทางทิศใต้คือญี่ปุ่น ความล่อแหลมของที่ตั้งและสถานะของเกาหลีใต้เป็นประเด็นในใจคนเกาหลีใต้มาตลอดจนเกิด “Hallyu” หรือ“Korean Wave” หรือ”คลื่นบ้าคลั่งเกาหลี”ที่กระจายอยู่ทั่วโลกนับแต่ปลายทศวรรษ 1990 ตามแผนการสร้าง SP ผ่านวัฒนธรรมอย่างประสบความสำเร็จยิ่ง เกาหลีใต้ได้รับการยอมรับจากชาวโลกผ่านคลื่นนี้ที่ประกอบด้วยดนตรี ภาพยนตร์ เรื่องราวประวัติศาสตร์ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย อาหาร วัฒนธรรม ฯลฯ คลื่นนี้มีผลต่อธุรกิจและเศรษฐกิจเป็นอย่างมากจนถือได้ว่าเป็นประเทศที่สร้าง SP ได้อย่างงดงามด้วยการใช้ทรัพยากรวัฒนธรรม

​ ไทยเรามีมวยไทย ผ้าไทย ไหมไทย อาหารไทย แหล่งท่องเที่ยวที่งดงาม รอยยิ้มประจำชาติ ความรู้สึกเป็นมิตรในการยินดีต้อนรับ วัฒนธรรมอันหลากหลาย ฯลฯ เป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่สามารถนำมาสร้าง SP เพื่อทำให้คนอื่นมีความรู้สึกที่ดีกับเรา ซึ่งลักษณะนี้ก็คือการสร้างความพึงพอใจอย่างเป็นไปตามที่เราต้องการซึ่งแท้จริงเราก็ได้ทำมานานแล้ว

​ ไทยสามารถสร้าง SP ที่เข้มแข็งกว่าเดิมได้หากมีการดำเนินงานอย่างมีกลยุทธ์ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนและอย่างบูรณาการ สิ่งที่ต้องศึกษาคือประวัติศาสตร์ในการสร้าง SP ของเราเอง และตัวอย่างของเกาหลีใต้

SP มิได้เพียงนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของมูลค่าด้านเศรษฐกิจเท่านั้น หากนำประเทศและพลเมืองไปสู่การยอมรับมากยิ่งขึ้นในเวทีโลกและในสายตาเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง

ธรรมชาติอำนาจเหนือ

วรากรณ์ สามโกเศศ
18 มกราคม 2565

​เมื่อก่อนมนุษย์ผยองในความสามารถของตนเองจนบ่อยครั้งลืมไปว่าธรรมชาติมีอำนาจเหนือสรรพสิ่ง ‘โควิด’ ช่วยเตือนให้เห็นผู้มีอำนาจที่แท้จริง ผู้เขียนได้พบเรื่องซึ่งยืนยันความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ

เรื่องแรก คือความสำคัญของสีฟ้าในการทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่รอด การที่มนุษย์จำนวนมากชอบสีฟ้านั้นอาจเนื่องมาจากความชื่นชมในใจเกี่ยวกับสีฟ้าของท้องฟ้าและของน้ำสะอาด ซึ่งมีความหมายไปในทางที่ดี ผึ้งก็เหมือนกันชอบสีฟ้ามากถึงแม้จะไม่ค่อยมีดอกไม้สีฟ้าให้บินเข้าไปดอมดมมากก็ตาม ผึ้งทำให้เกสรผู้และเมียผสมกันเกิดเป็นผลและเป็นอาหารของมนุษย์ ซึ่งหนึ่งในสามของอาหารทั้งหมดมาจากกระบวนการนี้

ความคลั่งไคล้สีฟ้าของมนุษย์มีมานานแล้ว มีหลักฐานจากอารยธรรมอียิปต์เมื่อ 5,000 กว่าปีก่อนว่าคนสมัยนั้นชอบสีฟ้าเป็นพิเศษ เช่น ดอกบัวสีฟ้า มีการตกแต่งประดับวัตถุต่าง ๆ รวมถึง เครื่องประดับด้วยสีฟ้าโดยการบดหินสีฟ้า เช่น lapis lazuli และ turquoise เป็นผงแล้วนำมาตกแต่ง

การย้อมผ้าฝ้ายด้วยครามเพื่อให้ได้สีน้ำเงินมาจากยุคเก่าแก่ของเปรูเมื่อ 6,000 ปีก่อนแล้วมาถึงอินเดียในคริสตศตวรรษที่ 16 จนมีบทบาทในสีของเสื้อผ้าที่เราใส่กันทุกวันนี้เช่นกางเกงยีนส์และ เสื้อฟ้าสีโทนฟ้าจากการย้อมด้วยครามและสีวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน

นักวิชาการสนใจเรื่องสีฟ้ากับแมลงเป็นพิเศษเพราะมีนัยสำคัญด้านอาหาร ได้ตรวจสอบและไม่พบดอกไม้สีฟ้าใดเลยซึ่งไม่ต้องอาศัยการผสมเกสรด้วยผึ้ง แต่พบว่ามีดอกไม้สีฟ้าจำนวนไม่มากนักที่อาศัยมันเป็นตัวช่วยผสม

​ ธรรมชาติสอนให้พืชรู้ว่าหากไม่มีการผสมของเกสรก็จะอยู่ไม่รอด ดังนั้นต้นไม้ที่ออกดอกไม้สีฟ้าจึงมักอยู่ในบริเวณที่มีภาวะค่อนข้างแร้นแค้นทางธรรมชาติเช่นบริเวณเทือกเขาหิมาลัย มีการพบดอกไม้สีฟ้ามากโดยเปรียบเทียบกับบริเวณอื่น ๆ ต้นไม้ต้องแข่งขันกันดึงดูดผึ้งให้มาช่วยผสมเกสรด้วยการพยายามปรับตัวให้มีการผลิตดอกสีฟ้าข้ามระยะเวลาเพื่อความอยู่รอด

​ ทำไมจึงมีดอกไม้สีฟ้าจำนวนไม่มากในโลกให้ผึ้งช่วยผสมพันธุ์? คำตอบอาจเป็นว่าธรรมชาติไม่ต้องการให้พืชขยายพันธุ์มากเกินไปเพราะแค่ดอกไม้สีแดง เหลือง และอื่น ๆ ผึ้งก็ผสมเป็นว่าเล่นแล้ว ถ้าเป็นดอกไม้สีฟ้าอีกแยะ ๆ ผึ้งคงบ้าไปแน่เพราะเป็นสีที่ชอบเป็นพิเศษ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมผึ้งจึงชอบสีฟ้า

ในสภาพการณ์ปัจจุบันที่จำนวนผึ้งและแมลงทั่วโลกมีน้อยลงเป็นลำดับอันเนื่องมาจากฝีมือมนุษย์ในการตัดถางป่า การเกษตร การสร้างถิ่นฐาน ฯลฯ และวิกฤตการณ์โลกร้อน มนุษย์จึงต้อง ใส่ใจกับการมีสีฟ้าของดอกไม้มากเป็นพิเศษเพื่อให้เกิดการผสมของเกสรด้วยผึ้ง การทำสวนดอกไม้ที่มีสีฟ้าอันถูกใจทั้งคนและผึ้งจึงเป็นการช่วยเหลือโลกทางอ้อม การปรับปรุงพันธุ์ของพืชเศรษฐกิจให้ดอกมีสีฟ้าหรือมีสีฟ้าผสมมากขึ้นเพื่อดึงดูดผึ้งจึงไม่ใช่เรื่องที่อยู่ไกลตัว

เรื่องที่สอง ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองมายาวนานในสมัยรัชกาลที่ 4 ภาพช้างอยู่บนธงชาติสยาม เป็นพาหนะในการขนส่งและในการทำสงครามอีกด้วย ไม่กี่ปีมานี้มีการพบว่าช้างเป็นสัตว์ใหญ่ที่แปลกมากเพราะมีโอกาสเป็นมะเร็งน้อยมากอย่างสวนทางกับความเข้าใจของมนุษย์มายาวนาน กล่าวคือมะเร็งเป็นผลพวงจากการแบ่งตัวของเซลล์ในร่างกายที่เกิดจากความผิดปกติและการกลายพันธุ์นี้นำไปสู่เนื้องอกที่ไปขัดขวางระบบการทำงานของร่างกายและการทำงานของอวัยวะตามปกติจนเกิดความเจ็บป่วยขึ้น ตรรกะในเรื่องนี้ก็คือเมื่อสัตว์ตัวใหญ่ขึ้นก็มีจำนวนเซลล์มากขึ้น โอกาสที่จะเกิดความผิดปกติในการแบ่งตัวของเซลล์ก็น่าจะมีมากขึ้น แต่ปรากฏว่าถึงแม้ช้างจะมีจำนวนเซลล์มากกว่ามนุษย์ประมาณ 100 เท่า มีอายุ 60-70 ปี แต่เป็นมะเร็งน้อยมาก

ในปลายคริสตศตวรรษที่ 20 จึงได้ข้อสรุปว่าสัตว์มีโอกาสเป็นมะเร็งไม่เท่ากัน โดยโอกาสที่เป็นไม่ผูกพันกับขนาดหรืออายุขัย สัตว์บางชนิดมีกลไกของร่างกายอันเกิดจากลักษณะพิเศษทางพันธุกรรมในการควบคุมมะเร็งที่แตกต่างกัน ช้างมียีนส์ที่มีชื่อเรียกว่า TP53 อยู่ 40 ก็อปปี้ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเติบโตของเซลล์เนื้องอกไม่ให้ลุกลามขยายตัว ซึ่งต่างจากมนุษย์และสัตว์อื่นที่มีเพียง 2 ก๊อปปี้ นอกจากนี้ช้างยังมีกลไกต่อสู้มะเร็งอีกด้วยกล่าวคือเซลล์ของช้างตอบรับจากการสัมผัสกับสารที่ทำลาย DNA อย่างแตกต่างออกไป แทนที่จะซ่อมแซมความเสียหายแต่กลับทำให้เซลล์นั้นตายไปเลย ซึ่งเป็นวิธีการที่ปลอดภัยกว่าเพราะเซลล์ที่พยายามซ่อมแซมตัวเองมีโอกาสที่จะกลายพันธุ์ และกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ ดังนั้นช้างจึงมีโอกาสเป็นมะเร็งเพียง 5%

สัตว์อื่น ๆ ที่มีโอกาสเป็นมะเร็งได้น้อยมากได้แก่ม้า วาฬ ค้างคาว กระรอกเทา ฯลฯ สำหรับสัตว์อื่น ๆ นั้นมีโ อกาสเป็นมะเร็งแตกต่างกันออกไป โดยทั่วไปสัตว์ส่วนใหญ่มีโอกาสเป็นมะเร็งในชีวิตประมาณ 20-40% มนุษย์มีโอกาส 50% สุนัขมีโอกาสเป็นมะเร็งตามพันธุ์ที่แตกต่างกัน มากกว่าครึ่งหนึ่งของพันธุ์ golden retrievers ตายด้วยมะเร็ง พันธุ์ Scottish terriers มีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมากกว่าสุนัขทั่วไป 18 เท่า พันธุ์ Irish wolfhounds มีโอกาสเป็นมะเร็งในกระดูกมากกว่าสุนัขทั่วไป 100 เท่า

สัตว์ที่ประหลาดที่สุดและน่าเกลียดที่สุดคือ blind naked mole rats หนูพันธ์นี้มีขนาดประมาณ 5 นิ้ว ไม่มีขน ตัวมีสีชมพู ไม่มีตา อาศัยอยู่ในรูแถบตะวันออกของอาฟริกา มีอายุยืนถึง 30 ปี โดยแทบไม่เป็นมะเร็งเลย นักวิชาการกำลังศึกษากลไกในร่างกายที่ทำให้รอดจากมะเร็งเพื่อเอามาประยุกต์กับมนุษย์ งานวิจัยมีความก้าวหน้าเป็นลำดับ

สองเรื่องนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่ว่ามนุษย์จะพยายามแก้ไข เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ธรรมชาติกำหนดมาอย่างไรก็ไม่สามารถเอาชนะได้ทั้งหมดธรรมชาติยังคงมีอำนาจเหนือมนุษย์อยู่เสมอ ถ้ามนุษย์ปรารถนาอยู่ในโลกนี้ต่อไปอีกนาน ๆด้วยการต่อสู้กับธรรมชาติ ก็ต้องกระทำด้วยความเคารพธรรมชาติในระดับหนึ่ง และยอมสยบต่อความจริงที่ว่า “ธรรมชาติมีอำนาจเหนือสรรพสิ่ง” เสมอ

เรื่องเล่าดี ๆ มีพลัง

วรากรณ์ สามโกเศศ
11 มกราคม 2565

เรื่องเล่าดี ๆ สามารถเป็นพลังใจสำหรับดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี เรื่องเหล่านี้จากหนังสือ ภาพยนตร์ นิทาน เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของตนเองและของผู้อื่น คำพูดของผู้คนทั้งด้านบวกและลบ ฯลฯ สามารถนำมาใช้เป็นมุมมองของชีวิต ปีใหม่นี้ถ้าเริ่มด้วยเรื่องเล่าดี ๆ ก็อาจเป็นประโยชน์ได้บ้างกระมัง

เรื่องแรก ภาพยนตร์เรื่อง October Sky (ท้องฟ้าเดือนตุลาคม) สร้างจากชีวิตจริงของวิศวกรการบินคนหนึ่งของ NASA ให้ข้อคิดที่ดีมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างในปี 1999 เล่าเรื่องชีวิตของเด็กในชั้นมัธยมปลาย 4 คน ในเมืองเล็ก ๆ ของรัฐ West Virginia ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ประชากรของรัฐส่วนหนึ่งอาศัยในเมืองที่อยู่ท่ามกลางเทือกเขา Appalachian โดยมีธุรกิจเหมืองถ่านหินเป็นแหล่งจ้างงานใหญ่ คนเหล่านี้ที่ค่อนข้างยากจนตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างไม่น่าเชื่อ นานมาแล้วผู้เขียนเคยเดินทางไปหนึ่งในเมืองเล็กเหล่านี้และพบเห็นผู้คนจำนวนหนึ่งที่มีลักษณะหน้าตาแปลก ๆ ร่างกายไม่เป็นปกติ น่ามาจากการผสมของพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกัน เข้าใจว่าเมื่อถูกตัดขาดมากจึงแต่งงานกันในกลุ่มคนที่มีจำนวนจำกัด

​เด็ก 4 คนนี้มีความฝันอย่างเดียวคือเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปลายแล้วก็ทำงานเป็นกรรมกรเหมืองถ่านหินเหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ เหมือนปู่ พ่อ ลุง ฯลฯ ที่สืบทอดกันมายาวนานนับร้อยปี ชีวิตมักจบลงด้วยการป่วยเกี่ยวกับโรคปอด หรือไม่ก็ตายจากเหมืองถล่ม แต่แล้วก็มีครูคนหนึ่งมาจากนอกรัฐมากระตุ้นให้เด็กฝันไปไกล ไม่วนเวียนอยู่ด้วยความน่าสังเวชแบบนี้ ครูบอกว่ามนุษย์เรานั้น “ฝันแค่ไหนก็ไปไกลแค่นั้น” เด็ก 4 คนจึงเริ่มคิดผิดไปจากที่เคยเป็นกันมา เมื่อไปปรึกษาพ่อ ๆ ก็หัวเราะและบอกว่าอย่าไปคิดอะไรมากเลย ที่เป็นอยู่นี้ก็ดีแล้ว จบแล้วก็มีงานทำ มีชีวิตเหมือนที่เป็นกันมา คนที่นี่เรียนจบแล้วมี 2 หนทางที่จะหลุดออกไปอยู่ข้างนอก หนึ่ง ได้ทุนไปเรียนมหาวิทยาลัย สอง ได้ทุนกีฬาเพื่อเรียนมหาวิทยาลัยไปและเล่นกีฬาไป แต่เท่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีเด็กคนไหนที่ได้รับทุนเลย เพราะฉะนั้นเลิกคิดและจงเป็นอย่างที่เราเคยเป็นกันมา

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณต้นทศวรรษ 1960 คนอเมริกันกำลังตกใจที่สหภาพโซเวียตสามารถส่ง Sputnik I ขึ้นไปโคจรรอบโลกได้ก่อนคนทั้งโลกในเดือนตุลาคม 1957 (เหตุผลว่าทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้จึงชื่อ “ท้องฟ้าเดือนตุลาคม”) ในช่วงสงครามเย็นนี้คนอเมริกันรู้สึกว่าถูกแซงหน้าจึงมีแรงกดดันให้รัฐบาลบุกเบิกด้านอวกาศ ประธานาธิบดี Kennedy เมื่อเข้ารับตำแหน่งในปี 1961 จึงประกาศว่าสหรัฐจะเหยียบโลกพระจันทร์ก่อนสิ้นทศวรรษ 1960 ให้ได้

เด็ก 4 คน ภายใต้กระแสนี้จึงตื่นตัวเรื่องจรวด เรียนรู้จากหนังสือและคำแนะนำของครูคนนี้ รัฐบาลสหรัฐประกาศประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอวกาศในหมู่นักเรียนทั่วประเทศ เด็ก ​4 คนนี้ส่งโครงงานเข้าประกวด และในที่สุดก็ชนะได้เดินทางไปรับรางวัลและได้รับทุนไปเรียนมหาวิทยาลัย หลายปีต่อมาคนหนึ่งก็ได้เป็นวิศวกรของ NASA อีก 2 คนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และอีกคนหนึ่งเป็นนักธุรกิจ
​ ถ้าเด็กเหล่านี้ไม่ฝันไกล ในที่สุดก็คงได้เป็นแค่กรรมกรเหมืองแก่ ๆ ที่เป็นโรคปอดอันเนื่องมาจากผงดำของถ่านหิน หรืออาจตายไปแต่ยังหนุ่มเพราะเหมืองถล่มก็เป็นได้ ไม่มีโอกาสได้เป็นอย่างที่เป็นนี้ ทั้งหมดก็เพราะ “ฝันแค่ไหนก็ไปไกลแค่นั้น”

เรื่องที่สอง นิทานเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่าความคิดสร้างสรรค์ ถึงไม่ใช่เรื่องจริงแต่ก็เป็นตัวอย่างของการมีความคิดนอกกรอบชนิดที่ไม่ยอมแพ้ชะตาชีวิต เรื่องก็มีอยู่ว่าพ่อค้าคนหนึ่งที่มีลูกสาวเป็นหนี้เจ้าหนี้หน้าเลือดอย่างท่วมท้น ไม่รู้จะหาทางแก้ไขอย่างไร วันหนึ่งเจ้าหนี้ก็บอกว่าให้เอาลูกสาวมาแลกหนี้ก็แล้วกัน หากแต่งงานกับฉันแล้วก็จะยกหนี้ให้หมดเลย พ่อค้าก็ต่อรองว่าขอโอกาสเสี่ยงแล้วกัน ทางเลือกแรกคือล้างหนี้หมดเลยและไม่ต้องแต่งงานด้วย ส่วนอีกทางก็คือล้างหนี้และยอมให้ลูกสาวแต่งงานด้วย กติกาคือหยิบก้อนหินจากสองก้อนโดยเสี่ยงว่าจะเป็นทางไหน

ไม่น่าเชื่อว่าเจ้าหนี้หน้าเลือดจะยอมแต่ที่ยอมก็เพราะเขาคิดจะโกง ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าถ้าลูกสาวจับได้หินก้อนสีขาวก็พ้นหนี้และไม่ต้องแต่งงาน หากจับได้ก้อนสีดำถึงจะพ้นหนี้แต่ก็ต้องแต่งงานด้วย เจ้าหนี้ก็เริ่มกระบวนการโดยแอบเอาหินสีดำ 2 ก้อนใส่ลงไปในถุงเพื่อที่ว่าจับอย่างไรก็ไม่พ้นแต่งงาน บังเอิญลูกสาวแอบเห็น เมื่อถึงเวลาเธอต้องเลือกก้อนหินจากถุงโดยมี 3 ทางเลือก (1) ปฏิเสธไม่ยอมจับ (2) ยอมแพ้โดยดี โดยจับก้อนใดก็ได้ (3) เปิดโปงว่ามีก้อนหินดำอยู่ทั้งสองก้อน แต่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของเธอ จึงยอมจับขึ้นมาก้อนหนึ่งโดยไม่ให้ใครเห็นสีของก้อนหินแล้วเธอก็แกล้งทำมันหล่นลงไปบนกองก้อนหินที่มีจำนวนอยู่มากมาย

​ เธอขอโทษที่ทำหล่นจนไม่รู้ว่าเป็นหินสีอะไร แต่ไม่เป็นไรลองดูหินอีกก้อนที่อยู่ในถุงก็จะรู้ได้ว่าก้อนที่ทำหล่นไปนั้นสีอะไร เจ้าหนี้เสียรู้ความคิดสร้างสรรค์จึงเทก้อนหินออกมาและเป็นสีดำ ซึ่งแสดงว่าก้อนที่เธอหยิบมานั้นเป็นสีขาว ดังนั้นจึงหลุดทั้งหนี้และไม่ต้องแต่งงานกับชายหน้าเลือด

เรื่องที่สาม เด็กวัย 10 ขวบนั่งรถไฟไปกับพ่อ ตลอดเวลาที่นั่งก็พร่ำพูดถึงความเขียวของต้นไม้ ทิวทัศน์ที่งดงามข้างทางจนทำให้ชายหนุ่มที่นั่งถัดไปรู้สึกรำคาญมาก จึงพูดกับพ่อเขาว่าคุณควรเอาลูกไปตรวจสมองบ้างนะ ดูจะไม่เต็มบาท พูดจาเพ้อเจ้อและไม่สมวัย พ่อเด็กก็บอกว่าผมขอโทษแทนลูกด้วยเพราะเมื่อเช้านี้หมอเพิ่งเปิดผ้าปิดตาหลังจากผ่าตัดแก้ไขตาที่พิการมาแต่กำเนิด เขาเพิ่งเห็นต้นไม้และทิวทัศน์เป็นครั้งแรกในชีวิตครับ เรื่องนี้ทำให้ชายขี้รำคาญเกิดสติ รู้จักสังเกตและคิดให้รอบคอบก่อนที่จะพูดหรือกระทำการใด ๆ เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ที่ได้ยินเรื่องเล่านี้

เรื่องที่สี่ ครั้งหนึ่งนานมาแล้วผู้เขียนมีประสบการณ์ของครอบครัวจากการที่น้องชายต้องรีบพาญาติผู้ใหญ่ไปโรงพยาบาลอย่างรีบด่วนกลางดึกเมื่อมีอาการตัวหนาวสั่น ปัสสาวะติดขัดมาหลายวันจนเข้าใจว่าเกิดการอักเสบจนอาจมีภาวะการติดเชื้อในกระแสโลหิตได้ การขับรถด้วยความเร็วสูง การต้อง แซงปาดหน้ารถราที่วิ่งบนถนนอาจทำให้เกิดอันตราย แต่ในขณะนั้นมันดูเล็กมากเมื่อเทียบกับอาการของผู้ป่วยบนรถ ถึงจะรู้ว่ามีคนใช้รถใช้ถนนที่ไม่พอใจจำนวนมากแต่ก็เป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ประสบการณ์นี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเห็นใจบางคนที่ขับรถเร็ว แซงหน้าและปาดไปมาโดยพยายามคิดว่าเขาคงมีเหตุผลของเขาในการกระทำเช่นนั้น เขาอาจกำลังพาคนเจ็บหนักไปโรงพยาบาลหรือเขาอาจกำลังจะไปทำงานสาย กำลังจะตกเครื่องบิน ฯลฯ หากพยายามคิดอย่างนี้แล้วจะรู้สึกสบายใจ ให้อภัย และมีความสุข ไม่ต้องทะเลาะแบะแว้งกับใครโดยเฉพาะในยามนี้ที่ฟิวส์ของอารมณ์มันเปราะบางอย่างยิ่ง

​ไม่ว่าเรื่องเล่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง จริงหรือเท็จก็ตาม หากมันมีแง่มุมที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตของเราแล้ว จำไว้คิดและเล่าต่อก็จะเกิดประโยชน์ครับ

โรคที่เป็นได้ยากมาก

วรากรณ์ สามโกเศศ
4 มกราคม 2565

นั่งคิดนอนคิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายสำหรับตนเองที่สุดก็ได้คำตอบใหม่แซงคำตอบดั้งเดิมที่ว่า “คนพูดอะไรยาว ๆ ที่สื่อความหมายน้อย ๆ” ว่าเป็น“การระบาดของโควิด-19” กว่าสองปีมาแล้วที่สิ่งนี้อยู่ในใจตลอดเวลา มันจำกัดความสามารถในการเคลื่อนที่ ในการทำงานอย่างที่อยากจะทำ ในการพบปะเรียนรู้จากผู้คน ในการเดินทางไปเห็นและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในการต้องเสียพลังงานและเวลาในการป้องกันตนเองและคนที่เราแคร์ ในการทำให้ผู้คนยากจนลง ฯลฯ พอสถานการณ์ทำท่าจะดีไปสักพัก มาอีกแล้วตัวใหม่กลายพันธุ์ที่ว่าทุกคนสามารถติดโรคได้ง่าย ในโอกาสปีใหม่นี้จึงขอประชดสักหนด้วยการเขียนถึงโรคและกลุ่มอาการของโลกที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและเป็นกันได้ยากมาก ๆ เพื่อเอามาปลอบใจคานไอ้โรคที่เป็นกันได้ง่าย ๆ

กลุ่มอาการของโรคแรกคือ Stoneman Syndrome ที่เรียกว่า “กลุ่มอาการ” ก็เพราะความป่วยมิได้มาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งอย่างชัดเจนและมีอาการที่เฉพาะเจาะจงเช่นโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับกลุ่มอาการนี้ ผู้ที่โชคร้ายสุด ๆ เพราะมีโอกาสเกิด 1 ใน 1-2 ล้านคน (มีโอกาสเป็นยากกว่าถูกรางวัลที่ 1 ของหวยไทย และอาจยากกว่าถึงอีกหนึ่งเท่าตัว) สำหรับ “ผู้ถูกหวย” เนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ยึดโยงอวัยวะ เช่น เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ฯลฯ จะกลายสภาพเป็นกระดูกทีละน้อยโดยเริ่มจากคอ บ่าลงไปส่วนล่างของร่างกายและสุดท้ายที่ขา การเคลื่อนไหวร่างกายจะเป็นไปอย่างลำบากขึ้นทุกทีเพราะข้อต่อทั้งหลายถูกกระทบเพราะเนื้อเยื่อและเอ็นแข็งตัวขึ้น พูดได้ยากขึ้นเพราะการบริโภคอาหารก็ยากอยู่แล้ว
จะมีโครงกระดูกใหม่ขึ้นมาซ้อนโครงกระดูกเก่า กระบวนการนี้เดินหน้าไปเรื่อย ๆ หากผ่าตัดเพื่อตัดกระดูกที่งอกใหม่ก็อาจไปกระตุ้นการเติบโตของกระดูกยิ่งขึ้น สาเหตุของกลุ่มอาการโรคนี้เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม

กลุ่มอาการของโรคที่สองคือ HGPS (Hutchinson-Gilford Progeria Syndrome) HGPSเกิดขึ้นได้น้อยมาก ๆ ประมาณ 1 ใน 8 ล้านคน อย่างดีก็มีชีวิตรอดถึงอายุต้น 20 ปี ส่วนใหญ่เสียชีวิตตอนกลาง ๆ ของวัยรุ่น จากที่มีการบันทึกและศึกษาไว้ตั้งแต่ ค.ศ.1886 ถึงปัจจุบัน พบเพียง 130 รายเท่านั้น
เด็กที่เกิดมาด้วยความผิดปกติในลักษณะหนึ่งทางพันธุกรรม หน้าจะเหี่ยวย่น พร้อมกับความเสื่อมของอวัยวะของร่างกายดังที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ผมร่วง สายตาสั้น กระดูกเปราะบาง ฯลฯ ยังไม่พบวิธีรักษาใดที่สามารถหยุดหรือชะลอกระบวนการแก่อย่างรวดเร็วเช่นนี้ได้

โรคที่สามคือ Kuru มีความเป็นไปได้สูงมาก ๆ ที่คนส่วนใหญ่ในโลกไม่เป็นโรคนี้เพราะมันเกิดขึ้นเฉพาะกับคนที่กินสมองมนุษย์ โรคนี้พบใน New Guinea (เกาะใหญ่มาก พื้นที่มากกว่าไทยครึ่งหนึ่ง อยู่ตอนเหนือของออสเตรเลีย) ในเผ่าที่มีชื่อว่า Fore คนที่เป็นโรคนี้เยื่อสมองจะทำงานผิดปกติ โดยสมองจะเสื่อมลงเรื่อย ๆ คนที่เป็นตายแน่นอนในเวลาอันสั้น (ถ้าเวลายาวแล้วถึงคนไม่เป็นก็ตายแน่นอนเหมือนกัน ทุกคน)
การเป็นโรค Kuru เกิดจากการกินสมองมนุษย์ที่เป็นโรคนี้ โปรตีนชนิดที่มีชื่อว่า prions เป็นสาเหตุการเกิดโรค อาการแรกๆก็คือการระเบิดหัวเราะขึ้นมาเหมือนคนบ้า ขาแขนสั่น สูญเสียการทรงตัว ขาดความสามารถในการยืน กล้ามเนื้อตาดึงจนดวงตากลับเหมือนคนตาเหล่ สูญเสียความสามารถในการพูด และเสียชีวิตในที่สุด การชันสูตรศพพบว่าสมองจะมีรูพรุนไปหมด
ก่อนหน้าทศวรรษ 1950 สมาชิกเผ่า Fore นิยมกินสมองของคนตายในครอบครัวเพื่อเก็บรักษาวิญญาณไว้ปัจจุบันเมื่อการกินเนื้อมนุษย์ผิดกฎหมาย โรคนี้จึงลดลงไปเป็นอันมาก ยกเว้นแต่ในป่าลึกที่สมองมนุษย์ยังน่ากินอยู่

โรคที่สี่คือ Water Allergy หรือโรคแพ้น้ำ โรคนี้มีรายงานอยู่ 30 ราย ดังนั้นโอกาสเป็นจึงต่ำมากในประชากร 7,000 ล้านคน อีกชื่อหนึ่งคือ “quagenic urticaria” โรคนี้มักเกิดขึ้นตอนมีอายุมากขึ้น (ตรงข้ามกับโรคชอบน้ำ และขี้เมื่อยที่เกิดขึ้นได้ในทุกวัย) โดยเป็นผลจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนซึ่งเกิดจากการคลอดลูก
รายล่าสุดเกิดขึ้นในอังกฤษในปี 2021 กับผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่อาจดื่มน้ำได้ หรือโดนฝนได้ เพราะเมื่อโดนน้ำผิวจะไหม้และเจ็บปวด อาทิตย์หนึ่งอาบน้ำได้ในเวลาไม่เกิน 10 วินาที โดยแท้จริงแล้วเธอมิได้แพ้น้ำแต่ร่างกายมีความอ่อนไหวกับ ions ที่อยู่ในน้ำที่มิได้กลั่น โรคนี้ไม่เกี่ยวกับโรคกลัวน้ำ (rabies) ที่เกิดจากไวรัส (Lyssaviruses) เข้าร่างกายแล้วทำให้สมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมบวมและนำไปสู่การสูญเสียการควบคุมการทำงานของสมอง

โรคที่ 5 คือ Alkaptonuria โรคปัสสาวะสีเข้มหรือดำนี้เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิด 1 ใน ล้านคน โรคนี้ทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายโปรตีนสองชนิดในร่างกายคือ amino acid และ phenylalanine ก่อให้เกิดการสะสมทางเคมีของกรดที่มีชื่อว่า homogentistic ในร่างกาย และการสะสมนี้ทำให้ปัสสาวะและบางส่วนของร่างกายมีสีคล้ำดำและเกิดหลายปัญหาด้านสุขภาพในระยะเวลาต่อไป
การสะสมอาจเกิดขึ้นได้ในเกือบทุกส่วนของร่ายกายไม่เว้นแม้แต่ข้อเอ็น พังพืด เอ็น กระดูก เล็บ หู และหัวใจ มันทำให้เนื้อเยื่อมีสีคล้ำดำเมื่อทำปฏิกิริยากับออกซิเจนและทำลายเนื้อเยื่อที่มันสะสมอยู่ ที่ร้ายคือทำให้ลิ้นหัวใจบกพร่อง เกิดนิ่วในไต และอวัยวะอื่น ๆ ก่อให้เกิดการเจ็บปวดต่าง ๆ ขึ้น ผู้ที่เป็น Alkaptonuri อาจมีอายุยืนยาวตามปกติได้ แต่จะขาดคุณภาพชีวิตไปมาก

ในโอกาสปีใหม่นี้ ผมขอพลานุภาพแห่งความดี ความงาม ความจริง และคุณธรรมช่วยบันดาลให้ท่านผู้อ่านพบคนดีๆ พบโอกาสดีๆ ตลอดจนพบเรื่องราวดี ๆ บันดาลใจให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวท่าน ครอบครัว และสังคม และมีความสุขทั้งกายและใจครับ

Paris Agreement เปลี่ยนโลก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
29
ธันวาคม 2558

Photo by Stephen Leonardi on Unsplash

         เมื่อคืนวันที่ 11 ธันวาคม 2558 หอไอเฟลประดับไฟสว่างมีอักษรสื่อความหมายว่า “No Plan B” ในอนาคตหากมองย้อนหลังพิจารณาข้อความแปลกนี้ก็อาจเห็นว่ามีผลโยงใยกับความอยู่รอดของมนุษยชาติ เกิดอะไรขึ้นในปารีสในช่วงเวลานั้นจนถึงกับบอกว่า “ไม่มีแผนสำรอง”

          ก่อนหน้านั้นสองอาทิตย์เกิดเหตุสลดใจผู้ก่อการร้ายยิงคนไร้เดียงสาตายไป 130 คน แต่การประชุมครั้งสำคัญนี้เลิกไม่ได้เพราะวางแผนกันมายาวนาน ดังนั้นฝรั่งเศสจึงทุ่มตำรวจและพนักงานความมั่นคงกว่า 30,000 คน ดูแลการประชุมครั้งนี้จนประสบผลสำเร็จอย่างที่ฝันกันมายาวนาน

          การประชุมนี้เรียกว่า “COP 21” (Conference of Parties ครั้งที่ 21) เนื่องจากประชุมกันครั้งนี้เป็นปีที่ 21 ต่อเนื่องกันหลังจากสหประชาชาติได้กำหนดกรอบที่เรียกว่า “United Nations Framework Convention on Climate Change” (UNFCCC) ในปี 1992 เพื่อควบคุมสถานการณ์โลกร้อน

          การประชุมครั้งที่ 11 ในปี 1997 ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งของการลดภาวะโลกร้อนโดยมีข้อตกลงที่เรียกว่า Kyoto Protocol ซึ่งกำหนดกติกาจำกัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แต่ละประเทศปล่อยออกสู่บรรยากาศ ใครปล่อยเกินโควต้าก็ต้องจ่ายเงิน มีการซื้อขายสิทธิกันได้เสรี โดยตั้งใจให้เป็นแรงจูงใจในการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ส่วนใหญ่ก็คือคาร์บอนไดออกไซด์) ซึ่งจะช่วยไม่ให้โลกร้อนขึ้น อย่างไรก็ดีประเทศใหญ่ที่ปล่อยมากที่สุดคือจีน และสหรัฐอเมริกาไม่ได้ร่วมด้วย ดังนั้นจึงไม่เป็นผลนัก

          ในปี 2009 ที่ Copenhagen ข้อตกลงระดับโลกในเรื่องโลกร้อนของประเทศใหญ่ ๆ เกือบประสบความสำเร็จ แต่ก็ล้มเหลวตกลงกันไม่ได้ในขณะที่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์เลวร้ายลงเป็นลำดับ ปรากฏการณ์อาเพศต่าง ๆ เกี่ยวกับภูมิอากาศไม่ว่าร้อนจัด แล้งจัด หนาวจัด แผ่นน้ำแข็งหนาเป็นกิโลเมตรที่ขั้วโลกเหนือและใต้ละลายมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คาร์บอนไดออกไซด์ก็ออกสู่บรรยากาศมากขึ้นทุกทีจนน่าเป็นห่วงว่าการคาดคะเนว่าผลกระทบสำคัญจะตกอยู่กับชั่วคนต่อไปนั้นไม่เป็นจริงเสียแล้ว ดูจะตกกับคนรุ่นปัจจุบันเอาเลย

          ในช่วง 2009-2016 จีนและสหรัฐอเมริกา (สองประเทศรวมกันปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ต่ำกว่าครึ่งของที่ปล่อยกันทั้งโลก) ก็ประสบปัญหาภูมิอากาศรุนแรง อากาศในเมืองใหญ่ของจีนเลวร้ายลงมากเพราะมีโรงงานอุตสาหกรรม มีการเผาไหม้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า มีการเผาไหม้ Fossil fuels (พลังงานจากน้ำมัน ถ่านหิน ไม้ วัสดุอื่น ๆ ที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ) เป็นพลังงาน ส่วนสหรัฐอเมริกาและกลุ่ม EU ก็เห็นชัดเจนว่าโลกที่มีอายุ 4,500 ล้านปีนั้นเริ่มไม่เหมือนใบเก่าขึ้นทุกที ประชาชนก็สร้างแรงกดดันให้แก้ไขมากขึ้น จนในปี 2014 จีนและสหรัฐอเมริกาก็มีข้อตกลงที่จะพยายามลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

          ระหว่างนี้กลุ่มผู้นำของ UN ก็เดินสายหาเสียงสนับสนุนการมีข้อตกลงครั้งสำคัญในระดับโลกที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาโลกร้อน คนจำนวนมากในหลายประเทศทำงานกันหลังฉากอย่างหนักโดยมีการเตรียมตัวกันมาเป็นอย่างดี โดยตั้งใจจะใช้การประชุมปี 2015 นี้แหละเป็นหลักชัย

          ในที่สุด 196 ประเทศก็มาร่วมประชุมกันที่ชานกรุงปารีสตั้งแต่ 30 พฤศจิกายน ถกเถียงต่อรองกันดึกดื่นเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันกว่า 10 วัน ก็ได้ข้อตกลงที่เรียกว่า Paris Agreement (นายกรัฐมนตรีไทยก็ไปร่วมประชุมด้วย และมีข่าวว่ากระทรวงทรัพยากรตั้งใจใช้เงิน 80 ล้านบาท เพื่อส่งคนจำนวนมากไปร่วมประชุม ซึ่งมีการชี้แจงไม่เป็นความจริง มีแผนการใช้เงินไม่ถึง 1 ใน 4 และน่าจะคุ้ม) เหตุที่ประสบผลสำเร็จก็เพราะเปิดโอกาสให้ทุกประเทศส่งข้อเสนอว่าตนเองจะมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไร และรวบรวมเอามาเป็นข้อสรุป แต่ละประเทศต้องมีคนไปร่วมจำนวนมากเพราะต้องต่อรอง ตกลงกันในที่นั้นเพื่อหาข้อสรุปให้ได้

          ฝรั่งเศสประเทศเจ้าภาพทำหน้าที่อย่างดียิ่งจนได้รับคำชมในการเป็นผู้ประสานทุกทิศเพื่อให้สำเร็จ การที่ทุกประเทศมีฐานะเท่าเทียมกันในการเสนอความคิดเห็นทำให้เกิดพลังร่วม ซึ่งต่างจาก Copenhagen 2009 ที่ใช้ประเทศใหญ่เป็นผู้ร่างข้อตกลง (แนว “ดิ่ง” ไม่เคยสู้ “แนวราบ” ได้)

          เป้าหมายของข้อตกลงก็คือก่อน ค.ศ. 2100 จะต้องควบคุมไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซนติเกรดเมื่อเทียบกับอุณหภูมิก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อกว่า 200 ปีมาแล้ว และถ้าจะให้ดีเยี่ยมก็คือไม่เกิน 1.5 องศาเซนติเกรด สำหรับเป้าหมาย 2 องศานั้นโลกจะต้องปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิ (หักกลบลบที่ปล่อยและที่ถูกดูดโดนต้นไม้และวิธีทางวิทยาศาสตร์) เป็นศูนย์ใน 50 ปีหลังของศตวรรษนี้ (2050-2100)

          Paris Agreement มีความสำคัญต่อโลกอย่างยิ่งเพราะเป็นครั้งแรกที่โลกมีข้อตกลง ร่วมกัน และเป็นสัญญาณครั้งแรกอย่างจริงจังว่ายุคสมัยของการใช้พลังงานจาก fossil fuels ที่มีมากว่า 100 ร้อยปีนั้นบัดนี้ได้เริ่มจบสิ้นลงแล้ว มันเป็นสิ่งบอกเหตุว่าต่อนี้ไปโลกจะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงกว่าเก่า

          ข้อตกลงนี้จะส่งสัญญาณไปยังนโยบายเศรษฐกิจต่าง ๆ ในโลกในเรื่องการผลิต การบริโภค การลงทุน ที่ต้องเป็น ‘สีเขียว’ (ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง มีการเผาไหม้น้อยลง มีริไซเคิลมากขึ้น) ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อวิธีการดำรงชีวิตของผู้คน หลักสูตรการศึกษา การวางผังเมือง การปลูกบ้าน การใช้วัสดุปลูกบ้าน การใช้วัตถุดิบ กระบวนการผลิตและบริโภค การดูแลของเสีย สไตล์ของการดำรงชีวิต การเดินทาง ฯลฯ

          สัญญาณนี้จะลงไปถึงตลาดการเงินโลก (บริษัทใดที่ไม่เป็น ‘สีเขียว’ ก็จะมีคนร่วมลงทุนน้อยลง) ตลาดพลังงาน (ราคาน้ำมัน ราคา fossil fuels การใช้พลังงานทดแทน) ส่งเสริมประดิษฐกรรมที่ช่วยให้เป็นโลก ‘สีเขียว’ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา solar cells การใช้พลังงานลม พลังงานน้ำ ฯลฯ และพลังงานทดแทนอื่น ๆ

          การจะบรรลุ “2 องศา” ได้จริงหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นคือมติมหาชนในเรื่องการเป็น ‘สีเขียว’ ของชาวโลกว่าเป็นสิ่งพึงปรารถนาเพราะโลกได้มีมติร่วมกันแล้ว การกระทำใดที่ไม่เขียวเป็นสิ่งพึงรังเกียจ โมเมนตัมที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นแรงกดดันที่มีพลังมหาศาลต่อการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ของประเทศใหญ่และเล็กให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง

          อาจมีข้อสงสัยว่า Paris Agreement นี้มีผลทางกฎหมายหรือไม่ คำตอบก็คือ “มี” และ “ไม่มี” กล่าวคือจะมีผลทางกฎหมายในระดับหนึ่งหากมีการลงนามระหว่างเมษายน 2016-เมษายน 2017 โดยอย่างน้อย 55 ประเทศที่ร่วมกันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันกว่าร้อยละ 55 ของที่ปล่อยทั้งโลก เมื่อมีการลงนามแล้วแต่ละประเทศต้องรับเงื่อนไขไปดำเนินการภายใต้กฎหมายของแต่ละประเทศต่อไป

          ข้อตกลงนี้ไม่มีบทลงโทษหากไม่ทำตาม แต่จะต้องมีการรายงานโดยทุกประเทศทุก ๆ 5 ปีว่าได้ดำเนินการในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปมากน้อยเพียงใดและอย่างเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยตนเองได้หรือไม่เพียงใด การรายงานนี้จะมีผลบังคับทางกฎหมาย

          มีการใช้ระบบ “name and shame” หรือประเทศถูกประจานให้อายหากไม่ทำตามข้อตกลงที่ตนเองได้ทำไว้ โดยมีระบบการตรวจสอบโดย UN เชื่อกันว่าข้อตกลงนี้จะมีผลต่อประเทศยักษ์ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนโลกทัศน์ในการใช้ fossil fuels ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน

          แมลงสาบอยู่รอดมาได้นับล้านปีเพราะความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม มนุษย์ผู้น่าจะฉลาดกว่าแมลงสาบจะอยู่รอดได้ก็ด้วยการใช้ความสามารถของแมลงสาบบวกความสามัคคีร่วมมือกันทั้งโลกในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

Hate Speech

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
22 ธันวาคม 2558

Photo by Jon Tyson on Unsplash

         สังคมไทยมีความเข้าใจว่า Hate Speech หมายถึงคำพูดที่ใช้กันรุนแรงในโลกออนไลน์ เช่น ด่าทอ ดูถูก ท้าทาย ฯลฯ อันเป็นสาเหตุทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง แต่ในความเป็นจริงแล้วมันมีความหมายกว้างขวางกว่านั้นมาก

         Hate Speech มีมานานก่อนโลกไซเบอร์จะเกิดด้วยซ้ำ เพราะหมายความถึงคำพูด ใด ๆ ซึ่งกล่าวหาโจมตีด่าว่าบุคคล หรือกลุ่ม ไม่ว่าจะอยู่บนพื้นฐานของเพศ ศาสนา เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ดั้งเดิม ความพิการ หรือรสนิยมทางเพศ

         เดาว่ามนุษย์ใช้คำพูดเหล่านี้มานานกว่า 150,000 ปี ของยุคสมัยใหม่ของมนุษย์ มนุษย์สมัยไหนชาติไหนก็ไม่ต่างกันในสัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอด โลภะ โทสะ โมหะ ความเอนเอียงไปทางไม่ชอบคนที่แตกต่างจากตนเอง หรือกลุ่มตนเองไม่ว่าในมิติใด ๆ มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันออกไป

         มนุษย์ฆ่าฟันกันมาตลอดในประวัติศาสตร์ก็เพราะเห็น “ความไม่เหมือนตนเอง” ของผู้อื่น นอกจากสัญชาตญาณที่ไม่ชอบสิ่งที่ต่างไปจากตนเองแล้ว มันยังเป็นสิ่งคุกคามความอยู่รอดหรือความ กินดีอยู่ดีของตนเองหรือกลุ่มอีกด้วย หน้าตา ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ ความเชื่อ ฯลฯ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่าง

         ในสมัยอยู่ในถ้ำเมื่อ 50,000-60,000 ปีก่อนของมนุษย์ Hate Speech ก็มีให้เห็นในรูปของภาพเขียน และในการแสดงออกที่เป็นรูปธรรมของ Hate Speech ก็คือการฆ่าฟัน

         ในยุคไซเบอร์ Hate Speech เกลื่อนไปหมดเพราะสามารถแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตนเองในเรื่อง “ความไม่เหมือนตนเอง” ได้สะดวก ง่ายดาย ต้นทุนต่ำ ไม่เขินอาย ไม่เกรงใจและไม่เกรงกลัวเพราะไม่เห็นหน้ากัน

         Hate Speech ในระดับโลกที่ดาษดื่นที่สุดคือเรื่องการดูหมิ่นเหยียดหยาม เกลียดชัง ชนกลุ่มน้อยที่มีชาติพันธุ์ดั้งเดิมหรือศาสนาแตกต่างจากตนเอง คำพูดซึ่งมีลักษณะที่เรียกว่า racist เหล่านี้มีผลเสียต่อคนที่ถูกกระทำเพราะวาทกรรมมีผลกระทบต่อความรู้สึก ทำให้รู้สึกต่ำต้อย เช่นเดียวกับที่คนถูกด่าทอว่าโง่ ยากจน เป็นเวลายาวนาน

         ในประเทศต่าง ๆ Hate Speech ผิดกฎหมายในดีกรีที่แตกต่างกันออกไป เหตุผลของการมีกฎหมายในเรื่อง Hate Speech แบ่งได้ออกเป็น 2 ลักษณะ กล่าวคือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ (Public Order) และเพื่อปกป้องศักดิศรีแห่งความเป็นมนุษย์ (Protect Human Dignity) ของทุกคนในสังคมอย่างเสมอหน้ากัน

         สิงคโปร์มีกฎหมายหลายฉบับที่ห้ามคำพูดซึ่งก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม การยุยงส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง หรือความรู้สึกไม่ดีระหว่างกลุ่มเชื้อชาติ และศาสนา มีโทษอาญา

         ในยุโรปซึ่งแต่ละประเทศประกอบด้วยประชาชนหลากหลายเผ่าพันธุ์ (ไม่มีประเทศใดในโลกที่ประกอบด้วยชาติพันธุ์เดียว ตนเองหรือบรรพบุรุษล้วนแต่เป็นคนอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศทั้งสิ้น เพียงแต่ใครมาถึงก่อนกันเท่านั้นเอง) การควบคุม Hate Speech จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในการสร้างความสงบเรียบร้อย

         ในประเทศแถบสแกนดิเนเวียแค่การเดินไปและชี้หน้าบอกว่า “เอ็งเป็นไอ้มืด” แค่นั้นก็สามารถติดคุกได้แล้วเพราะเข้าข่าย Hate Speech ยิ่งถ้าพูดในสาธารณะเรียกผู้คนว่าไอ้ยิว ไอ้เจ๊ก ไอ้แขก ไอ้มุสลิม ไอ้พุทธ รับรองได้ว่ามีคนให้ที่พักฟรี อาหารฟรี เพียงแต่ไม่ให้ออกไปไหนเท่านั้นนานทีเดียว

         ในสหรัฐอเมริกานั้นถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1789 ระบุไว้ว่าห้ามสภาผู้แทนราษฎรออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น การนับถือศาสนา เสรีภาพในการชุมนุม หรือสิทธิในการยื่นคำเรียกร้องต่อรัฐบาล แต่ก็ไม่ยอมให้ไปไกลถึงการทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นมาได้

         เมื่อถือได้ว่า Hate Speech เป็นสิ่งน่ารังเกียจในระดับมหาภาคอย่างเป็นสากลในปัจจุบัน ดังนั้นในระดับย่อย การด่าทอ ดูหมิ่น กล่าวหา เหยียดหยาม ระหว่างบุคคลในโลก ไซเบอร์ของทุกประเทศจึงเป็นสิ่งที่ต้องห้าม และผิดกฎหมายในหลายประเทศ (เฉพาะที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไอที) เนื่องจากเป็นการบั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างความแตกแยกและความสามัคคี

         ในบ้านเราโลกไซเบอร์ของบางกลุ่มเต็มไปด้วย Hate Speech มีการด่าทอกันรุนแรงถึงพ่อถึงแม่และหยาบคาย บ่อยครั้งนำไปสู่ความรุนแรงในเวลาต่อมาโดยยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเอาผิดกับผู้กระทำ

         สาเหตุของการแพร่กระจายของ Hate Speech ในโลกไซเบอร์ของบ้านเราอาจมาจากความคึกคะนอง ความใจร้อนของวัยรุ่น ความสามารถในการอดกลั้นต่ำ การสามารถใช้นามแฝงในเฟสบุ๊คจนทำให้ไม่รู้ตัวตนจริง การไร้การบังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ

         เมื่อมนุษย์พบหน้ากันรู้ว่าใครเป็นใคร การด่าทอรุนแรงมีโอกาสเกิดได้น้อยกว่าในกรณีของการไม่เห็นหน้ากัน ไม่รู้จักตัวตนจริงของกันและกัน และเมื่อบวกเอาความสะดวก การสามารถตอบโต้ไปกลับได้อย่างรวดเร็วแล้ว เป็นธรรมดาที่จะเห็นสภาพการณ์ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

         อีกรูปลักษณ์หนึ่งของ Hate Speech ในบ้านเราก็คือการให้ฉายาเรียกคนพิการ ไม่ว่าจะเป็นไอ้เป๋ ไอ้ใบ้ ไอ้บอด เราเห็นการเรียกอยู่บ่อย ๆ ในหมู่เพื่อนและรายการตลกในโทรทัศน์ การล้อเลียนความพิการก็เป็น Hate Speech ในอีกรูปลักษณ์หนึ่งที่ต้องช่วยกันทำให้หายไป

         ความเกลียดบ่มเพาะให้เกิดความเกลียดกันมากยิ่งขึ้นอันนำไปสู่การทำลายล้าง ในขณะที่ความรักปรารถนาดีต่อกันมีแต่จะส่งเสริมให้เกิดความงดงามในโลก