ความแปลกของเลือกตั้ง US 2016

วรากรณ์  สามโกเศศ
1 พฤศจิกายน 2559

          ตลอดสองเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอย่างชนิด ติดจอ ทั้งจอทีวีและจอสมาร์ทโฟน โต้วาทีทั้งสามครั้งก็ตั้งใจฟังอย่างใจจดใจจ่อ แถมดูทั้งรายการก่อนหน้าและหลัง อ่านข้อเขียน อ่าน blog ฯลฯ เพราะเรื่องนี้เป็นความสนใจส่วนตัวมาตั้งแต่ปี 1972 วันนี้ขอเล่าเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2016 ที่ถือได้ว่าแปลกประหลาดที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง

          ประการแรกของความแปลกก็คือทั้งสองคนคือ Hillary Clinton และ Donald Trump เป็นคนที่ไม่เป็นที่สบใจของคนอเมริกัน Hillary โดยทั่วไปนั้นโพลล์ก่อนโต้วาทีครั้งแรกมีคนไม่ชอบประมาณร้อยละ 40 ส่วน Trump นั้นร้อยละ 60 แต่ก็จำต้องเลือก ดังนั้นการเลือกครั้งนี้สำหรับคนจำนวนหนึ่งจึงเป็นการบังคับให้เลือกคนที่ไม่ชอบน้อยที่สุดหากปรารถนาจะไปลงคะแนน (อเมริกันชนไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีกันไม่เคยเกินร้อยละ 40 ของผู้มีสิทธิ์)

          ประการที่สอง ถึงแม้ Hillary จะเคยเป็น First Lady ถึง 8 ปี เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นวุฒิสมาชิก เป็นอดีตศาสตราจารย์ทางกฎหมาย ทำงานให้สาธารณะมายาวนาน ฯลฯ มีผลงานเด่นหลายชิ้น แต่ก็ “ช้ำ” (ก) จากการถูกวิจารณ์การทำงานในอดีต (ข) จากความเจ้าชู้ของสามีคือประธานาธิบดี Clinton (ค) จากการรับส่งอีเมล์ที่มีลำดับชั้นความลับโดยใช้เสิรฟ์เวอร์ส่วนตัว ซึ่งอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่ FBI บอกว่าเป็นการเลินเล่อ (ง) จากการมี Clinton Foundation ซึ่งได้เงินบริจาคจากรัฐบาลต่างประเทศด้วยขณะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ (จ) จากการพูดของทั้งสองสามีภรรยาโดยเรียกเก็บเงินแพงหูดับเพื่อเข้ามูลนิธิซึ่งทำงานกว้างขวางในโลก

          สรุปว่าถึงเธอจะมีผลงาน มีความรู้ มีประสบการณ์ มีบุคลิกเหมาะสมพร้อมต่อการเป็นประธานาธิบดีมาก แต่ก็ “ช้ำ” จากกระบวนการทางการเมืองและการกระทำส่วนตัวในบางเรื่องที่บางคนอาจดูว่าก้ำกึ่ง เธอเคยแพ้ Obama เมื่อ 8 ปีที่แล้วในการชิงเป็นตัวแทนพรรค Democrat แต่ก็ไม่ เคยท้อ สู้ไม่ถอยจนได้เป็นตัวแทนพรรคอย่างเรียกได้ว่าชนะคู่แข่งขาด

          ประการที่สาม Donald Trump นั้นประหลาดสุด คนอเมริกันชาวพรรค Republican กำลังหันมาพิจารณาตัวเองกันว่า เลือกคนอย่างนี้มาเป็นตัวแทนพรรคได้อย่างไร เป็นเรื่องแปลกมากที่สามารถหลุดเข้ามาได้ถึงระดับนี้ ที่พูดอย่างนี้เพราะ Trump เป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ (ระหว่างที่โต้วาทีก็พูดแทรก มีอากัปกิริยาชนิดคนเห็นว่าไม่เหมาะสมต่อการเป็นประธานาธิบดี ด่าโจมตี พูดเรื่องที่ไม่ควรพูด ดูถูกผู้หญิง เหยียดคนอเมริกันผิวสี หาว่าคนเชื้อสายลาตินเป็นพวกข่มขืน ค้ายา) บ่อยครั้งไม่ให้เกียรติคน มักทำอะไรตามใจตนเอง ขาดวุฒิภาวะ

          Trump ดังมานานจากการเป็นมหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ของนิวยอร์ก เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จัดนางสาวอเมริกา เป็นเจ้าของโรงแรม สนามกอล์ฟ ฯลฯ แถมจัดรายการ TV Reality “The Apprentice” ที่หนักสุดคือไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองและขาดความรู้อย่างลึกซึ้งในประเด็นต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ

          Trump ได้เป็นตัวแทนพรรค Republican ก็เพราะเขาพูดถูกใจคนอเมริกันกลุ่มหนึ่งซึ่งเชื่อว่ามีอยู่ไม่น้อยในจำนวนคนที่มีสิทธิลงคะแนนกว่า200 ล้านคน คนกลุ่มนี้นักทำโพลล์และนักวิชาการเรียกว่าพวกคนผิวขาว-ไม่จบมหาวิทยาลัย ซึ่งจำนวนมากคือคนชั้นกลางที่รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าและขาดความมั่นคงจากการเปลี่ยนแปลงที่ตนเองต้องรับกรรมและไม่สามารถทำอะไรกับมันได้ สิ่งเหล่านี้ได้แก่การค้าระหว่างประเทศซึ่งทำให้ถูกแย่งงานโดยคนต่างชาติ การอพยพต่างชาติเข้ามาอยู่ในถิ่นฐานที่เคยมีแต่คนขาวอยู่ ว่างงานหรือกลัวว่าจะว่างงานในอนาคตอันใกล้เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง

          คนเหล่านี้ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจผันผวนตั้งแต่ปี 2008 และถึงแม้เศรษฐกิจฟื้นตัวในภาพรวม แต่คนเหล่านี้ซึ่งมักอยู่ในเขตนอกเมืองในหลายรัฐก็ยังย่ำแย่ ต่อต้านการค้าเสรี ไม่พอใจรัฐบาลกลางและนักการเมือง ไม่พอใจที่คนผิวสีได้เป็นประธานาธิบดี และที่ผู้หญิงมีโอกาสเป็นประธานาธิบดี เห็นว่าทุกอย่างมีลับลมคมใน รวมหัวกันในกลุ่มคนรวยและคนมีอำนาจโดยหาประโยชน์จากคนกลุ่มเขา

          Trump วางฐานเสียงการเมืองมาหลายปี จึงเห็นช่องทางที่จะเข้ามาหาประโยชน์ เป็นฮีโร่ของคนเหล่านี้ พูดสิ่งที่โดนใจคนกลุ่มนี้ ไปที่ไหนก็พูดแต่ข้อความเดิมซ้ำ ๆ (จนเผลอนำมาใช้บนเวทีโต้วาที จึงทำให้ดูเป็นคนตื้นเขินในความรู้เรื่องบ้านเมือง) ใช้ความเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้วประชาสัมพันธ์ตนเอง จิกรัฐบาลกลาง จิกนักการเมือง จิกคอรัปชั่นในวงการธุรกิจชั้นสูง จุดประกายข่าวสื่อว่าโอบามาไม่ได้เกิดในสหรัฐ ทำตนเป็นตัวแทนคนเสียเปรียบ แต่แท้จริงแล้วตนเองนั่นแหละมีประวัติทั้งโกง ทั้งเอาเปรียบคนจน (ฟังดูคุ้น ๆ) เคยล้มละลายโดยล้มบนฟูกกว่า 6 ครั้ง ไม่ยอมเปิดเผยใบแสดงรายการเสียภาษี (ทุกคนที่แข่งในระดับนี้ใน 40 ปี ที่ผ่านมาเปิดเผยทุกคน) และหลักฐานของปี 1995 ระบุว่าเขาไม่เสียภาษีเลย และอาจไม่เสียภาษีอีก 18 ปีต่อมาก็เป็นได้

          Trump เป็นคนขี้คุย ขี้โม้ อวดร่ำรวย โกหกคำโตแบบไม่อาจฟ้าดิน (มีสถิติว่าพูดสิ่งที่เป็นเท็จ 1 ครั้งทุก ๆ การพูด 4 นาทีครึ่ง) มั่นใจในตัวเองสูงมาก ๆ ไม่ฟังใคร (แม้แต่ผู้จัดการแคมเปญ) ทุกอย่างเป็นความผิดของคนอื่น และเหนือสิ่งอื่นใดขาดวินัยในการบังคับการกระทำของตนเอง

          Trump คุยโม้โอ้อวดโดยถูกอัดเสียงว่าคนดังนั้นจะทำอะไรกับผู้หญิงก็ได้ จะคว้าจะจับอะไรก็เป็นเรื่องเล็ก ผู้หญิงยอมทั้งนั้น แต่เมื่อเขาถูกจับได้ก็บอกว่าแค่โม้ ไม่เคยทำจริง ต่อมาจึงมีผู้หญิงถึง 11 คน ออกมาบอกว่าเคยถูก Trump ละเมิด ทั้งจูบ ทั้งจับ ทั้งลวนลามตลอดเวลาสิบ ๆ ปีที่ผ่านมา Trump ตอบโต้ว่าจะฟ้อง เขาไม่เคยทำ พวกนี้โกหกทั้งนั้น แต่ตนเองก็ไม่เคยปฏิเสธแบบลงในรายละเอียดโต้เถียงหญิงเหล่านี้เลย

          หนักที่สุดของ Trump ก็คือในการโต้วาทีครั้งสุดท้าย สำหรับคำถามว่าเมื่อผลเลือกตั้งออกมาแล้ว เขาจะยอมรับผลนั้นหรือไม่ เขาบอกว่าไม่ขอตอบ แต่จะขอดูอีกที ระหว่างนี้จะขอทำให้คนอเมริกันลุ้นไปก่อน (วันต่อมาก็บอกว่าจะรับผลถ้าหากตนเองชนะ!) คำตอบนี้สื่อและประชาชนไม่พอใจกันมากเพราะมันเป็นรากฐานของประชาธิปไตย เป็นพฤติกรรมที่กระทำกันมายาวนานกว่า 200 ปี ที่คนแพ้ยอมรับผลการเลือกตั้ง และร่วมมือกับผู้ชนะทำงานให้แก่ประเทศ

          ประการที่สี่ สื่ออเมริกันนั้นไม่เป็นกลางเลยในหลายกรณี สถานี CNN นั้นเชียร์ Clinton แบบรู้ ๆ กัน ส่วน Fox News นั้นเชียร์ Trump แบบไม่อายเลย สื่ออเมริกันและ นักคิด นักวิชาการส่วนใหญ่รุมถล่ม Trump เพราะเห็นว่าไม่มีความเหมาะสมทั้งบุคลิก ความรู้ และประสบการณ์ อีกทั้งไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ที่คนเหล่านี้รู้ดีว่าการค้าระหว่างประเทศ โลกาภิวัตน์ การปรับตัวกับเทคโนโลยี การอพยพของคนต่างชาติเข้าประเทศเพื่อหาแรงงานถูกและสร้างดีมานด์ ฯลฯ ล้วน เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

          หากสนใจว่าใครจะชนะ กรุณาดู fivethirtyeight.com ซึ่งพยากรณ์เชิงสถิติไว้อย่างน่าสนใจ เชิงวิทยาศาสตร์และไม่มั่ว เจ้าของคือ Nate Silver สุดยอดนักพยากรณ์ซึ่งทำนายไว้ ณ เวลา 10 กว่าวันก่อนเลือกตั้งว่า Clinton มีโอกาสที่จะชนะ 86.5%
 

เข้าใจเพื่อหนี Galápagos Syndrome

วรากรณ์  สามโกเศศ
12 กรกฎาคม 2559

          สิ่งหนึ่งซึ่งเชื่อมโยงหมู่เกาะในมหาสมุทรปาซิฟิกทางตะวันตกของประเทศอิกัวดอร์ในอเมริกาใต้ เข้ากับญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในเอเชีย คือ ปรากฏการณ์ที่ชาวโลกรู้จักกันมากขึ้นในนามของ Galápagos Syndrome

          ถึงแม้หมู่เกาะ Galápagos ซึ่งประกอบด้วย 19 เกาะ มีพื้นที่รวมกันเพียง 8,000 ตารางกิโลเมตร มีคนอยู่อาศัย 26,000 คน แต่ผู้คนรู้จักชื่อกันมานาน ทั้งนี้เพราะ Charles Darwin ผู้เขียนหนังสือชื่อดังก้องโลก On the Origin of Species ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1859 เล่าเรื่องการพบต้นไม้และสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่แตกต่างกว่าที่อื่นเพราะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก จนเอามาเป็นหลักฐานสำคัญส่วนหนึ่งในการสนับสนุน Evolution Theory (ทฤษฎีวิวัฒนาการ)

          Charles Darwin เขย่าศาสนจักรเพราะทฤษฎีนี้ค้านทฤษฎี Creation ซึ่งสอนและมีคนเชื่อกันมานานว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นเลย ไม่ใช่วิวัฒนาการ

          ข้อสังเกตอันหนึ่งของ Charles Darwin ก็คือต้นไม้และสัตว์มีชีวิตเหล่านี้เติบโตได้ดีในหมู่เกาะแห่งนี้ แต่เมื่อเอาออกไปนอกบริเวณแล้ว การปรับตัวทำได้ไม่ดี หลายพืชพันธุ์ไม่สามารถมีชีวิตรอดได้

          ลักษณะพิเศษของสิ่งมีชีวิตใน Galápagos จึงถูกมาใช้เปรียบเปรยกับ สินค้าหลายอย่างของญี่ปุ่นที่มีลักษณะแบบเดียวกัน และถูกใช้จนมีความหมายกว้างกว่าเดิม และสามารถนำมาใช้กับหลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมอื่นด้วย

          Galápagos Syndrome (กลุ่มอาการของโรค Galapagos) ซึ่งมีที่มาจากธุรกิจของประเทศญี่ปุ่น อธิบายได้ด้วยหลายตัวอย่างดังต่อไปนี้ (1) โทรศัพท์มือถือ 3G ของญี่ปุ่นซึ่งคือสินค้าที่ทำให้เกิดคำนี้ขึ้นมานั้นพัฒนาขึ้นมาโดยมีลักษณะพิเศษที่ก้าวหน้ากว่าแห่งอื่นในหลายเรื่อง สินค้านี้ไปได้ดีมากในญี่ปุ่นและครอบงำตลาดญี่ปุ่น แต่ไม่ประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศเลย

          ผู้คนในอุตสาหกรรมนี้มีความกระวนกระวายใจซึ่งเกิดจากความไม่แน่ใจว่าพัฒนาการด้านโทรศัพท์มือถือของตนจะมีเส้นทางสอดคล้องกับที่เกิดขึ้นในที่อื่น ๆ ของโลกหรือไม่ และสินค้าญี่ปุ่นอย่างอื่นจะประสบชะตากรรมเดียวกันหรือไม่

          โทรศัพท์มือถือของญี่ปุ่นมีลักษณะคล้ายเหล่าพืชพันธุ์ที่ Charles Darwin พบบนเกาะ Galápagos กล่าวคือมีความโดดเด่น มีคุณภาพดีแตกต่างจากชาวบ้านเขาแต่มีระบบและมาตรฐานเฉพาะเพื่อกีดกันไม่ให้ต่างชาติเข้ามาตีตลาดได้ซึ่งก็ทำได้ดี แต่ก็เป็นดาบสองคมเพราะไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ หลายแบรนด์ของโทรศัพท์มือถือญี่ปุ่นจึงวนเวียนใช้กันอยู่ในประเทศเท่านั้น เพิ่งจะมีเพียงน้อยแบรนด์ที่กำลังปรับตัวผ่านการปรับระบบและมาตรฐานเพื่อส่งออก

          (2) Wallet Phone ในปี 2004 เริ่มมีการใช้ Wallet Phone ในญี่ปุ่นซึ่งเป็นนวตกรรมของญี่ปุ่นเองในเรื่องการจ่ายเงินทางโทรศัพท์มือถือ ที่จริงแล้วมันเป็นต้นกำเนิดของ Apple Pay และ Google Wallet ที่นิยมกันอยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้จะเป็นของดีแต่ก็ใช้กันอยู่ในประเทศไม่สามารถนำออกไปให้เป็นที่นิยมในโลกได้

          (3) รถยนต์ Kei ของญี่ปุ่น รถยนต์ขนาดเบาและเล็กนี้นิยมกันในญี่ปุ่นมาก มีทั้งในรูปสปอร์ต รถนั่ง ขนสินค้า แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จในต่างประเทศ

          มีตัวอย่างอีกมากมายที่เกี่ยวกับความหมาย “เก่งในบ้าน” ของ Galápagos Syndrome ทั้งนี้อาจโยงใยกับสิ่งที่ฝังอยู่ในสมองอันเนื่องมาจากการเป็น “ชาวเกาะ” ของญี่ปุ่นหรือจะด้วยเหตุผลประการใดทางธุรกิจก็ตามที

          ปัจจุบันมีการใช้คำนี้ออกมานอกเรื่องธุรกิจจนกลายพันธุ์เกิดคำใหม่ขึ้นคือ “Galápagosization” ซึ่งหมายความถึงกระบวนการตัดขาดหรือโดดเดี่ยวออกจากโลกภายนอก

          ต่อมาชาวโลกก็เอาคำเหล่านี้มาใช้กับเรื่องอื่น ๆ สำหรับความ “เก่งในบ้าน” ก็ได้แก่นักกีฬาที่เก่งแต่ในบ้าน พอไประดับโลกก็ไปไม่รอด นายทหารระดับสูงเก่งในเรื่องการทหารแต่พอถอดเครื่องแบบออกมาสมัครเลือกตั้งเล่นการเมืองก็เหี่ยวปลายเกือบทุกราย (นักวิชาการก็มีชะตากรรมไม่ต่างกัน) ฯลฯ

          อีกความหมายของ Galapagos ก็คือคนที่มองอะไรแคบ เสมือนเป็นสิ่งมีชีวิตบนเกาะนี้ที่ตัดขาดจากคนอื่น มองเห็นแต่การอยู่รอดบนเกาะนี้เท่านั้น หรือคนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ งอกงามได้ดีเฉพาะบนเกาะ หากเอาไปนอกเกาะก็ไปไม่รอด

          “Galápagosization” กลายเป็นเรื่องของใครก็ได้ที่มีกระบวนการโดดเดี่ยวตัวเองออกไป อังกฤษหลังลงประชามติก็เข้าความหมายนี้ Donald Trump ก็อยู่ในกระบวนการนี้เช่นกันและเป็นคนพื้นเมืองของหมู่เกาะนี้แน่ ๆ

          ญี่ปุ่นกำลังพนันตัวเองครั้งสำคัญที่จะพยายามเป็น Hydrogen Society คือใช้ก๊าซไฮโดรเจนที่แยกได้จากน้ำเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนรถยนต์และใช้ในชีวิตประจำวัน ปี 2020 ที่จัดกีฬาโอลิมปิกจะเป็นการเปิดตัว ถ้าชาวโลกรับเทคโนโลยีนี้ไปใช้อย่างกว้างขวางก็เท่ากับเอาชนะGalápagos Syndrome
ทุกภาคส่วนต้องหนีให้ไกลการเป็นชาวเกาะนี้ มิฉะนั้นจะมีหนทางแคบลงในการมีชีวิตและดำรงชีวิต

ข้อคิดหลังปีใหม่

วรากรณ์  สามโกเศศ
19 มกราคม 2559

          อินเตอร์เน็ตทำให้เสียเวลา แต่ก็มีประโยชน์มหาศาลหากเรารู้จักใช้มัน มี 2 ข้อเขียนที่ผมพบและเห็นว่ามีประโยชน์จึงขอนำมาสื่อสารต่อดังต่อไปนี้

          เรื่องที่หนึ่ง “ชีวิตที่ดีสร้างจากอะไร?…..งานวิจัยที่นานที่สุดในโลก” ชีวิตที่ดีขึ้นคืออะไรกันแน่? และอะไรคือส่วนผสมที่ก่อให้เกิดชีวิตที่ดีได้?

          วันนี้ผมเลยขอหยิบเอาเรื่องราวที่คุณ Robert Waldinger พูดบนเวที TEDxBeaconStreet เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วมาแบ่งปันให้ฟังครับ ผมขอท้าวความนิดนึงครับว่า

          ในวัย 75 ปี คุณโรเบิร์ต วาล์ดินเจอร์ รับบทบาทหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ นักจิตวิเคราะห์ หรือพระนิกายเซน ทว่า บทบาทที่แกสวมขึ้นมาพูดบนเวที TEDTalk นั้นคือบทบาทผู้อำนวยการ โครงการศึกษาการพัฒนาในผู้ใหญ่แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด หรือ Director of Harvard Study of Adult Development โดยหัวข้อที่แกพูดคือ “What makes a good life? Lessons from the longest study on happiness” “ชีวิตที่ดีเกิดจากอะไร? บทเรียนจากงานวิจัยเกี่ยวกับความสุขที่ยาวที่สุดในโลก” โรเบิร์ตเริ่มต้นสปีชด้วยการเล่าถึงผลจากงานวิจัยในช่วงหลัง ๆ ที่เด็กหรือคนสมัยนี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์

          บอกว่าเป้าหมายในชีวิตของพวกเขาคือ “ความร่ำรวย” และอีกกว่า 50 เปอร์เซ็นต์บอกว่า “ต้องการมีชื่อเสียง” นั่นทำให้คนจำนวนมากมายต้องทำงานอย่างหนักหรือยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่ง

          “ความร่ำรวย” และ “ความโด่งดัง” ซึ่งถือเป็นนิยามของ “ชีวิตที่ดี” ในมุมมองของคนในยุค Millennial นั่นเพราะสื่อต่าง ๆ ชอบนำเสนอแต่เรื่องของคนรวย คนที่ประสบความสำเร็จ คนดังจนคนส่วนใหญ่ เชื่อว่านั่นคือหนทางเดียวที่จะมีความสุข แต่คำถามก็คือนั่นคือชีวิตที่ดีจริง ๆ หรือ? และ “ความร่ำรวย” “ความโด่งดัง” ใช่คำตอบจริง ๆ หรือไม่?

          สำหรับโรเบิร์ตแล้ว สิ่งที่น่าจะตอบคำถามข้อนี้ได้ดีที่สุดคือโครงการวิจัยที่เขาเป็นผู้อำนวยการอยู่ Harvard Study of Adult Development ที่ถือว่าเป็นโครงการศึกษาวิจัยชีวิตของผู้ใหญ่ที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์โลก โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1938 โดยผู้ริเริ่มโครงการวิจัยได้ติดตามศึกษาชีวิตของวัยรุ่นชายสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นนักศึกษาชายปีสอง ของมหาวิทยาลัย ฮาวาร์ด จำนวน 268 คน ซึ่งมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการศึกษาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง กลุ่มที่สองเป็นเด็กวัยรุ่นอายุราว 12-16 ปี ที่เติบโตขึ้นมาในตัวเมืองบอสตันจำนวน 456 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตขึ้นมาในความยากลำบาก และยากจนข้นแค้นอย่างแสนสาหัส ทุก ๆ 2 ปี ทีมนักวิจัยจะขอให้ผู้ถูกวิจัยจำนวน 724 คนนี้ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับความพอใจในชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นความพอใจในชีวิตในชีวิตแต่งงาน ความพอใจในหน้าที่การงาน หรือแม้แต่ความพอใจทางสังคม และหลายครั้งที่ทีมนักวิจัยจะขอไปสัมภาษณ์พวกเขาถึงที่ห้องรับแขกเพื่อถือโอกาสพูดคุยกับภรรยา หรือลูก ๆ หลาน ๆ ของพวกเขาด้วย นอกจากนี้ทุก ๆ 5 ปี จะมีการตรวจสอบสุขภาพของพวกเขาเหล่านี้ ทั้งรายงานทางการแพทย์ ผลการตรวจเลือด ผลการตรวจปัสสาวะ หรือแม้แต่ผลการ X-ray หรือการ scan สมอง โดยตลอดเวลาที่ทำการติดตามพวกเขาเหล่านี้ทีมนักวิจัยได้เห็นพวกเขาเติบโตขึ้นไปประกอบอาชีพต่าง ๆ บ้างเป็นคนงานในโรงงาน บ้างเป็นทนาย บ้างเป็นช่างปูน บ้างเป็นหมอ และมีหนึ่งคนเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ

          บางคนในจำนวนนั้นกลายเป็นคนติดเหล้า และสามสี่คนมีอาการทางประสาท

          จำนวนไม่น้อยที่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวไต่ระดับทางสังคมขึ้นมาได้ ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

          ที่เลือกทางเดินที่ตรงกันข้าม ซึ่งความมหัศจรรย์ของการศึกษาวิจัยแบบนี้คืองานวิจัยระยะยาวแบบนี้

          เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่มักจะเลิกไปภายใน 10-20 ปี เพราะผู้ถูกวิจัยไม่ยอมให้วิจัย ต่อบ้าง เงินทุนวิจัยหมดบ้าง คนทำวิจัยหันไปทำเรื่องอื่น หรือ แม้แต่เสียชีวิตไปก็มี แต่ Harvard Study of Adult Development กลับดำเนินมาได้เป็นเวลากว่า 75 ปีแล้ว โดยผู้ถูกวิจัยจำนวน 724 คน นั้นเหลือเพียงแค่ 60 กว่าคนเท่านั้น ซึ่งผู้เหลือรอดเกือบทั้งหมดอยู่ในวัย 90 ปีขึ้น มากกว่า โรเบิร์ต วาล์ดินเจอร์ ผู้อำนวยการวิจัยรุ่นที่ 4 ที่ยังไม่เกิดด้วยซ้ำ

          เมื่องานวิจัยชิ้นนี้เริ่มต้น แล้วอะไรบ้างล่ะที่บรรดานักวิจัยหลายรุ่นเรียนรู้จากเรื่องราวกว่า 70 ปีของกว่า 700 ชีวิตผ่านทางเอกสาร และข้อมูลเป็นหมื่น ๆ หน้า พวกเขาเรียนรู้ว่า “ความร่ำรวย” “ความโด่งดัง” หรือแม้แต่ “การทำงานอย่างหนักหน่วง” ไม่ใช่คำตอบของการมีชีวิตที่ดี

          หรือสุขภาพที่ดีแม้แต่นิดเดียว แต่เป็น “ความสัมพันธ์ที่ดี” ต่างหากที่นำมาซึ่งสิ่งเหล่านั้น “Good relationships keep us happier and healthier” ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด (Key Massage)

          โรเบิร์ตบอกต่อว่าพวกเขาได้เรียนรู้อีก 3 บทเรียนล้ำค่าที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ (Relationship) นั่นก็คือ (1) Connection is really good for us, loneliness kills คุณจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นคู่ครอง เพื่อน ครอบครัวหรือสังคมก็ตาม ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้แหละจะทำให้คุณมีความสุขกว่า แข็งแรงกว่าและมีอายุที่ยืนยาวกว่า ในทางกลับกันความเหงาและโดดเดี่ยวนั้นเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งเพราะมันจะทำให้คุณมีความสุขน้อยลง ทำให้ร่างกายคุณเริ่มแย่ลงตั้งแต่วัยกลางคน สมองเสื่อมเร็วขึ้น และมีชีวิตที่สั้นกว่า

          (2) Quality Not Quantity มันไม่สำคัญที่ปริมาณหรือรูปแบบของความสัมพันธ์

          เช่น ต้องแต่งงานเท่านั้น แต่เป็น “คุณภาพของความสัมพันธ์” ต่างหากที่จะเป็นตัวบ่งชี้ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ให้เห็นว่าหากคุณอยู่ในความสัมพันธ์แบบสามี-ภรรยา ที่แย่ มันจะส่งผลลบกับคุณมากกว่า

          การหย่าร้างที่เข้าใจกันเสียอีก (3) Good relationships don’t just protect our bodies they protect our brains การที่คุณมีความสัมพันธ์ที่อบอุ่น และมั่นคงกับใครซักคนที่คุณสามารถไว้ใจและพึ่งพาได้

          ไม่เพียงแต่ช่วยให้คุณมีสุขภาพร่างกายที่ดีเท่านั้น แต่ยังดีต่อสมองของคุณด้วย ความสัมพันธ์ที่ดี จะทำให้ความจำของคุณยังดีอยู่ สมองของคุณยังทำงานได้ดีอยู่ ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความสัมพันธ์ที่ราบรื่นสุด ๆ ไม่ทะเลาะกันเลย แต่เป็นความสัมพันธ์ที่คุณรู้ว่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องการ จริง ๆ คุณจะมีคนที่พึ่งพาได้

          นั่นคือสิ่งที่ โรเบิร์ต วาล์ดินเจอร์ และทีมงานวิจัยของฮาวาร์ดค้นพบ ซึ่งโรเบิร์ตบอกว่าจริง ๆ แล้วผู้ถูกวิจัยเหล่านี้ในช่วงที่ยังเป็นวัยรุ่น หรือเริ่มเป็นผู้ใหญ่ใหม่ ๆ นั้นก็เชื่อเหมือนกับที่คนในยุคนี้เชื่อว่าเงินทองและชื่อเสียงจะทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จและมีชีวิตที่ดี แต่ความจริงที่พบจากการศึกษากว่า 75 ปี กลับกลายเป็นว่าคนที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์และคนรอบข้างของพวกเขา ต่างหากคือคนที่มีชีวิตที่ดีที่สุด

          โรเบิร์ตชวนคิดว่าสิ่งที่ทำให้คนเรามองข้ามความสำคัญของ “ความสัมพันธ์ที่ดี” และ หันไปใส่ใจกับชื่อเสียง เงินทอง หรือหน้าที่การงานมากกว่า อาจเพราะจริง ๆ แล้วการมีความสัมพันธ์ที่ดีนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากยากและไม่รู้จบ แถมยังต้องได้รับการใส่ใจตลอดเวลาจนหลายคนเลือกจะทำงานหรือหาเงินมากกว่า แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้ว…..การใส่ใจ และทำความสัมพันธ์ให้ดีก็อาจไม่ได้ยากขนาดนั้น แค่เงยหน้าจากจอมือถือแล้วสบตาคนรอบตัวคุณมากขึ้น หาอะไรใหม่ ๆ ทำร่วมกันเพื่อให้ความสัมพันธ์ที่จืดจางกลับมามีสีสันอีกครั้ง อะไรง่าย ๆ ที่ไม่ต้องเสียเงินอย่างชวนคนที่คุณรักไปเดินเล่นตอนกลางคืน หรือติดต่อหาสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้คุยกันมานานแล้ว เพราะจริง ๆ แล้ว ชีวิตเราก็เหมือนที่มาร์ก เทวน บอกไว้ว่ามันช่างสั้น และก็สั้นเหลือเกิน สั้นเกินกว่าที่จะเอาเวลามาโกรธ ทะเลาะ อิจฉาริษยากัน ควรจะมีแต่เวลาที่ใช้รักกันเท่านั้น ซึ่งแค่นั้น…ชีวิตเราก็แทบจะไม่มีเวลาพออยู่แล้วนั่นคือสิ่งที่ โรเบิร์ต วาล์ดินเจอร์ พูดในสปีชของเขา

          ถ้ามีเวลามากพอผมอยากให้คุณดูสปีชเต็ม ๆ ของเขาได้ที่https://www.youtube.com/watch?v=q-7zAkwAOYg ท่านที่ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงนักก็สามารถเปิด Sub ไทยได้และหากท่านที่อ่านบทความนี้แล้วนึกถึงใครอยู่ ก็อย่าลืมบอกให้เขารู้จะด้วยการพูดต่อหน้า โทรหา หรือแชร์บทความนี้ต่อให้เขา ก็ได้ทั้งนั้นเพราะชีวิตที่ดี…..สร้างจากความสัมพันธ์ที่ดี

          เรื่องที่สอง 8 ข้อปฏิบัติเพื่อฝึกหาความสุข ….. (1) ฝึกมองตัวเองให้เล็กเข้าไว้ หมายความว่าจงเป็นคนตัวเล็ก อย่าเป็นคนตัวใหญ่ จงเป็นคนธรรมดา อย่าเป็นคนสำคัญ เวลามีอะไรเกิดขึ้นกับเราอย่าไปให้ความสำคัญกับตัวเองมากไป (2) ฝึกให้ตัวเองเป็นนักไม่สะสม หมายความว่าการสะสมอะไรสักอย่างนั้นเป็นภาระ ไม่มีอะไรที่เราสะสมแล้วไม่เป็นภาระยกเว้นความดี นอกนั้นล้วนเป็นภาระทั้งหมดไม่มากก็น้อย (3) ฝึกให้ตนเองเป็นคนสบายๆ หมายความว่าอย่าไปบ้ากับความสมบูรณ์แบบ เพราะความสมบูรณ์แบบมันไม่มีจริง มีแต่คนโง่เท่านั้นที่มองว่า ความสมบูรณ์แบบมีจริง (4) ฝึกให้ตัวเองเป็นคนนิ่ง ๆ หรือไม่ก็พูดในสิ่งที่ดี ๆ หมายความว่าถ้าอะไรไม่ดีก็อย่าไปพูดมากไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกหรือผิด แต่ถ้ามันไม่ดี เป็นไปได้ก็ไม่ต้องพูด เพราะการพูด หรือวิจารณ์ในทางเสียหายนั้น มีแต่ทำให้จิตใจตนเองตกต่ำและขุ่นมัว (5) ฝึกให้ตัวเองรู้ธรรมชาติว่าอะไร ๆ ก็ผ่านไปเสมอหมายความว่าเวลามีความสุขก็ให้รู้ว่า เดี๋ยวความสุขมันก็ผ่านไป เวลามีความทุกข์ ก็ให้รู้ว่าเดี๋ยวความทุกข์ก็ผ่านไป เวลามีสถานการณ์แย่ ๆ เกิดขึ้นก็ให้รู้ทันว่าเรื่องราวเหล่านี้ มันไม่ได้อยู่กับเราจนวันตาย (6) ฝึกให้ตัวเองเข้าใจเรื่องของการนินทาหมายความว่า เราเกิดมาก็ต้องรู้ตัวว่าเราต้องถูกนินทาแน่นอน ดังนั้นเมื่อถูกนินทาขอให้รู้ว่า “เรามาถูกทางแล้ว” แปลว่าเรายังมีตัวตนอยู่บนโลก คนที่ชอบเต้นแร้งเต้นกา กับคำนินทาก็คือคนไม่รู้เท่าทันโลก แม้แต่คนเป็นพ่อแม่ก็ยังนินทาลูก คนเป็นลูกก็ยังนินทาพ่อแม่ นับประสาอะไรกับคนอื่น ถ้าเราห้ามตัวเองไม่ให้นินทาคนอื่นได้เมื่อไหร่ ค่อยมาคิดว่าเราจะไม่ถูกนินทา (7) ฝึกให้ตัวเองพ้นไปจากความเป็น ขี้ข้าของเงิน หมายความว่าเราต้องหัดพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ รถยนต์ใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจ กับมัน นาฬิกาใช้อะไรอยู่ก็หัดพอใจกับมัน เสื้อผ้าใช้อะไรอยู่ก็หัดพอใจกับมัน การที่คนเราจะเลิกเป็นขี้ข้าเงินได้ต้องเริ่มจากการรู้จักเพียงพอก่อน เมื่อรู้จักพอแล้วก็ไม่ต้องหาเงินมาก เมื่อไม่ต้องหาเงินมาก ชีวิตก็มีโอกาสทำอะไรที่มากกว่าการหาเงิน (8) ฝึกให้ตัวเองเสียสละ และยอมเสียเปรียบ หมายความว่าการที่คน ๆ หนึ่งยอมเสียเปรียบผู้อื่นบ้างเป็นเรื่องจำเป็น ใครก็ตามที่บ้าความถูกต้อง บ้าเหตุบ้าผล ไม่ยอมเสียเปรียบอะไรเลย ไม่ช้าคน ๆ นั้นก็จะเป็นบ้าสติแตก กลายเป็นคนที่ถูกทุกอย่างแต่ไม่มีความสุข เพราะต้องสู้รบกับคนรอบข้างเต็มไปหมดเพื่อความถูกต้องที่ตนเองยึดมั่นถือมั่น

          ในช่วงปีใหม่มีประเด็นให้ตระหนักถึงมากมาย ไม่ว่าจากพรที่ได้รับหรือจากการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา และที่จะเกิดขึ้นในปีใหม่ หลังปีใหม่ก็มีเรื่องให้ขบคิดเช่นกันดังสองข้อเขียนข้างต้น

การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4

วรากรณ์  สามโกเศศ
8 มีนาคม 2559

          รถยนต์ที่ไม่ใช้คนขับ เครื่องมือตรวจร่างกายแทนแพทย์ หุ่นยนต์ทำงานรับใช้งานบ้าน ยาเม็ดขนาดเล็กที่มีวงจรไฟฟ้าขนาดมองไม่เห็นเพื่อรักษาโรคและแก้ไขยีนส์ sensor ที่เป็นเม็ดยาเมื่อกลืนลงไปในกระเพาะแล้วช่วยให้ย่อยสลายยาอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ใบพัดหมุนเพื่อผลิตไฟฟ้าจากลมปรับรูปใบตามทิศทางกระแสลมเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ฯลฯ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่นวนิยาย แต่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

          มนุษย์มีหน้าตาลักษณะเหมือนมนุษย์ปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 150,000 ปี หรือ 7,500 ชั่วคน โดยอยู่กันอย่างแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกขึ้นใน ค.ศ. 1784 หรือเมื่อ 232 ปีก่อน ซึ่งใช้น้ำและไอน้ำเป็นพลังการผลิตโดยสามารถทดแทนแรงงานคนและสัตว์ที่ใช้มาชั่วนาตาปี

          ต่อมาใน ค.ศ. 1870 ก็เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 2 ขึ้นโดยใช้ไฟฟ้าเพื่อการผลิตขนาดใหญ่ และต่อมาเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สามขึ้นใน ค.ศ. 1969 ซึ่งใช้อิเล็กทรอนิกส์เทคโนโลยีสารสนเทศอินเตอร์เน็ตในการสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อรับใช้มนุษย์

          การเปลี่ยนแปลง 3 ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์มนุษยชาติทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในสังคมมนุษย์อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะเมื่อวิถีการผลิตเปลี่ยนแปลง วิถีการดำรงชีพ การทำงาน การประกอบอาชีพ การบริโภค ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล วัฒนธรรม ฯลฯ ก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

          การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่อัศจรรย์ยิ่ง เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคมผสมผสานกันจนเกิดเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ IT และความก้าวหน้าของ IT ทำให้เกิดความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน (ซื้อของและถอนเงิน on-line เบิกเงิน ATM ติดต่อสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ) เกิดประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าจนมีต้นทุนลดต่ำลง (ตลอดเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา ราคาตู้เย็นและโทรทัศน์แทบไม่เปลี่ยนแปลงถึงแม้ค่าครองชีพจะสูงขึ้นไม่รู้กี่เท่าก็ตาม)

          การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ทำให้พ่อแม่ลูกไม่พูดคุยกันเวลาทานอาหาร ไม่ดูโทรทัศน์ร่วมกัน ต่างคนต่างมีสมาร์ทโฟนคนละเครื่อง ต่างค้นหาสิ่งที่แต่ละคนสนใจเพื่อความบันเทิงส่วนตัว คู่รักคุยกันไปกดสมาร์ทโฟนไปเพื่อสื่อสารกับเพื่อน (หรือแม้แต่กับคนรักอีกคนที่อยู่ไกลออกไป) ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ผิดไปจากเดิมที่เคยมีมาเป็นแสนปี ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาเพียง 8 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น

          ถ้าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 เปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ได้มากขนาดนี้ ลองพิจารณาการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้และกำลังขยายตัวมากขึ้นในอนาคตอันใกล้

          การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือการต่อยอดและผสมผสานของเทคโนโลยีหลายด้านที่ได้เกิดขึ้นในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 เพื่อรับใช้มนุษย์ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น เทคโนโลยีเหล่านี้ได้แก่เทคโนโลยีหุ่นยนต์ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ การพิมพ์สามมิติ ไบโอเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) พันธุวิศวกรรม ฯลฯ

          ตัวอย่างที่ได้กล่าวถึงในตอนแรกคือผลพวงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของโลก ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงอย่างไร และเป็นอันตรายต่อโลกในที่สุดมากน้อยเพียงใด (หุ่นยนต์ที่ฉลาดกว่ามนุษย์ เชื้อโรคร้ายแรงที่เกิดจากวิศวพันธุกรรม)

          The Fourth Industrial Revolution หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นสิ่งที่คนในโลกกำลังกล่าวถึงกันอย่างมากในปัจจุบัน

          ในการประชุม World Economic Forum 2016 ภายใต้ชื่อว่า Mastering The Fourth Industrial Revolution (WEF เป็นการประชุมประจำปีของเหล่านักธุรกิจ นักการเมือง นักคิด โดยวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสำคัญ ๆ ของโลก) วาระการประชุมของปี 2016 คือการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนและระบบเศรษฐกิจของประเทศเพื่อรับมือกับความท้าทายจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

          หนังสือชื่อ The Fourth Industrial Revolution เขียนโดย Klaus Schwab (ผู้ผลักดันคนสำคัญให้เกิด World Economic Forum) อธิบายปรากฎการณ์ของการปฏิวัติครั้งนี้ได้อย่างดีเยี่ยมและ บทสรุปอธิบายเรื่องราวความเป็นมาและกล่าวถึงความท้าทายอย่างน่าสนใจ

          มีการศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในช่วงเวลาอันใกล้คือ 4 ปี ข้างหน้า ประกอบการประชุมครั้งนี้ โดยได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์นายจ้างที่มีลูกจ้างรวมกัน 13.5 ล้านคน ครอบคลุม 371 สถานประกอบการขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ทั่วโลกรวมทั้งประชาคมอาเซียน และพบว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้จะมีทั้งคุณและโทษต่อตลาดแรงงาน เพราะนอกจากสร้างโอกาสในการทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังจะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานและทำให้ตำแหน่งงานจำนวนไม่น้อยหายไปเนื่องจากกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีใหม่แทนที่แรงงานมนุษย์ แรงงานและสถานประกอบการที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันก็จะประสบปัญหาเป็นอย่างมาก

          งานวิจัยนี้ระบุว่าในการรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในขั้นต้นจำเป็นต้องมีทักษะและลักษณะบางประการดังต่อไปนี้ (1) ทักษะการแก้ไขปัญหา (2) ทักษะการคิดวิเคราะห์ (3) ทักษะการคิดสร้างสรรค์ (4) ทักษะการบริหารจัดการบุคคล (5) ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (6) ทักษะการมีวุฒิภาวะทางอารมณ์(EQ) (7) ทักษะการตัดสินใจ (8) ทักษะการเจรจาต่อรอง (9) การมีใจรักบริการ และ (10) ความยืดหยุ่นทางความคิด

          (1) ถึง (8) ข้างต้นคือทักษะหรือความสามารถในการกระทำสิ่งหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นจากการฝึกฝน มิได้เกิดจากความเฉลียวฉลาด ส่วน ‘การมีใจรักบริการ’ นั้นชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของงานบริการ ไม่ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศจะก้าวหน้าอย่างใด มนุษย์ก็ยังคงเป็นมนุษย์อยู่เสมอ โดยปรารถนาจะได้รับบริการที่ดี ซึ่งคุณลักษณะเช่นนี้สามารถฝึกหัดให้เกิดขึ้นได้เสมอ

          ประเด็นสุดท้ายก็คือ ‘ความยืดหยุ่นทางความคิด’ เป็นคุณลักษณะที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงจากการปฏิวัติครั้งที่ 4 ฃึ่งไม่มีใครทราบได้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ตัวอย่างเช่น ขณะที่นักศึกษากำลังเรียนคณะหนึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัยปีที่หนึ่ง งานที่บัณฑิตจากคณะนี้ไม่เคยคิดว่าจะมีก็อาจกำลังก่อตัวขึ้น และเป็นงานที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่มีหลักสูตรใดที่เตรียมไว้รองรับเลย ถ้าบัณฑิตขาดความยืดหยุ่นทางความคิด มีแต่ความสนใจและมีความรู้เฉพาะในสาขาวิชาของตัว หรือเคยชินกับวิธีการคิดอย่างที่เคยเป็นมาแล้ว ก็จะไม่สามารถทำงานลักษณะใหม่ที่รออยู่นี้ได้เลย

          ในช่วงเวลาต่อไปคนที่ทำงานตรงสาขาที่เรียนมาจะมีน้อยลงทุกทีเพราะเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจะทำให้ลักษณะงานที่เคยมีมานานเปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น Digital Marketing หรือการตลาดดิจิตอล ซึ่งเพิ่งจะมีหลักสูตรสอนกันในมหาวิทยาลัย ผู้ที่เรียนแต่การตลาดโดยไม่เข้าใจหรือไม่สนใจเรื่องเทคโนโลยีดิจิตอลเลย หรือคนที่เรียน IT มาโดยไม่สนใจเรื่องการตลาดเลย จะทำงานนี้ไม่ได้ เฉพาะคนที่มีความยืดหยุ่นทางความคิด รู้จักปรับตัวปรับใจ เรียนรู้ใหม่เพิ่มเติมเท่านั้นที่จะไปได้ดีกับงานลักษณะใหม่ที่เกิดขึ้นภายใต้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

          สิ่งที่น่าคิดก็คือเกือบทั้งหมดของ 10 เรื่องนี้ล้วนเกี่ยวพันกับลักษณะที่เรียกว่า Non-Cognitive ทั้งสิ้น (cognitive เกี่ยวพันกับเรื่องการคิดวิเคราะห์) ซึ่งเกิดขึ้นจากการมีประสบการณ์และมีการฝึกฝน ซึ่งกิจกรรมนักศึกษาคือสนามฝึกที่สำคัญในช่วงชีวิตของการเป็นนักศึกษา

          การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ คนที่เห็นสัจธรรมข้อนี้จะเป็นคนที่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดีและอย่างมีความสุขด้วย

การเบี่ยงเบนความสนใจลด “ผลิตภาพ”

วรากรณ์  สามโกเศศ
1 มีนาคม 2559

          โลกในยุคสมาร์ทโฟนก่อให้เกิดผลดีอเนกอนันต์และผลเสียอย่างประเมินมิได้เช่นกัน ทุกสถานที่ทำงานจะเห็นคนทำงานใช้สมาร์ทโฟนเพื่อความบันเทิงส่วนตัวกันทั่วไป โดยเอาใจใส่ในงานน้อยลง สมาร์ทโฟนเป็นตัวที่เบี่ยงเบนความสนใจอย่างสำคัญ ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องที่น่ากังวล

          ภาพห้องเรียนไม่ว่าระดับมัธยมหรืออุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศที่ผู้เรียนใช้ แล็ปท็อปขณะที่ครูหรืออาจารย์กำลังสอนหน้าห้องเรียนนั้นดูขลังเพราะทันสมัย แต่เบื้องหลังก็คือเวลาที่อยู่กับบทเรียนนั้นมีไม่ถึงครึ่ง อีกครึ่งหนึ่งคือการท่องเว็บออกไปนอกห้อง เล่นเฟสบุ๊ค ไลน์ ดูภาพยนตร์ หรือค้นหาเรื่องราวบนเน็ต งานวิจัยชิ้นหนึ่งของวงการศึกษาอเมริกันพบว่าผู้เรียนใช้เวลาให้กับการสอนหน้าชั้นเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น

          distraction หรือการเบี่ยงเบนความสนใจโดยสมาร์ทโฟนมีผลกระทบต่อ productivity (“ผลิตภาพ”) ของแรงงาน กล่าวคือคนหนึ่งคนมีผลผลิตออกมาน้อยลงจาก distraction เราเห็นภาพคนทำงานเป็น รปภ. แม่บ้านทำความสะอาด พนักงานนั่งเคาน์เตอร์ พนักงานขายของหรือแม้แต่ตำรวจ เล่นสมาร์ทโฟนขณะพักจากงาน แต่ส่วนใหญ่มักเล่นไปพร้อมกับทำงาน

          พนักงานขายของและเจ้าของร้านเล็ก ๆ จำนวนมากนั่งเล่นสมาร์ทโฟนอยู่ข้างในร้านจนลูกค้าเดินผ่านไปเพราะไม่เห็นคนขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ทำงานที่พนักงานใช้คอมพิวเตอร์ (โดยเฉพาะข้าราชการหรือพนักงานราชการ) มักเล่นสมาร์ทโฟนกันเกือบตลอดเวลา

          ผู้ทำงานระดับบริหารก็ไม่น้อยหน้า เวลาประชุมมีจำนวนไม่น้อยไม่สนใจฟัง นั่งกดสมาร์ทโฟนราวกับว่าถ้าไม่เล่นแล้วมันจะชักตาย สำหรับประธานในที่ประชุม เข้าใจว่าไม่มีอะไรที่เป็นการไม่ให้เกียรติเท่ากับการนั่งกดสมาร์ทโฟน เคยได้ยินว่าในต่างประเทศหลายบริษัทมีการปลดพนักงานระดับบริหารออกทันที (you are fired!) เมื่อมีพฤติกรรมเช่นนี้เพราะถือว่าไม่ให้ความสนใจแก่เรื่องที่สำคัญจนต้องเสียเวลาจัดประชุม (ไม่ใช่มาพบกันเพื่อเล่นสมาร์ทโฟน)

          ผู้ที่เพลิดเพลินกับพฤติกรรมเหล่านี้เมื่อตอนเข้าพบคนอื่นจะหมดความสำคัญในสายตาทันที (เช่นเดียวกับพวกที่ชอบเปิดโทรศัพท์ให้มีเสียง) เพราะถือว่าไม่ให้เกียรติกัน การเล่นสมาร์ทโฟนเพื่อการใดก็ตามในกาละอย่างนี้ถือได้ว่าหยาบคายเสมือนว่ามีคนพูดด้วยและไม่ฟัง

          “ผลิตภาพ” เป็นหัวใจสำคัญของความกินดีอยู่ดีของทุกครอบครัว ทุกสังคม ทุกองค์กร ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ถ้าสมาชิกในครอบครัวโดยเฉลี่ยมีความสามารถในการผลิตและสร้างรายได้มากกว่าสมาชิกอีกครอบครัวแล้ว ครอบครัวแรกต้องมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับองค์กร ถ้าคนทำงานมีความสามารถในการทำงาน (วัดด้วยผลผลิตที่ออกมาของแต่ละคน) สูง องค์กรนั้นก็ย่อมเข้มแข็ง และสามารถสร้างรายได้หรือความสำเร็จได้สูงกว่า distraction จากสมาร์ทโฟนในลักษณะนี้แหละคือตัวถ่วง (drag) “ผลิตภาพ” ขององค์กรในปัจจุบันอย่างไม่ต้องสงสัย

          distraction สำหรับหน่วยราชการอีกชนิดหนึ่งก็คือการขายสินค้าโดยมีตลาดนัดขายในสถานที่ราชการหรือติดรั้วหน่วยราชการ การที่ใจจดจ่ออยู่กับการซื้อของมากกว่าทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ ย่อมลด “ผลิตภาพ” อย่างแน่นอน ใครที่ผ่านรั้วกระทรวงศึกษาธิการในทิศทางที่ไปสี่เสาเทเวศร์ จะเห็นตลาดนัดที่ขายสารพัดสินค้าโดยเฉพาะอาหารทุกวัน (ทำงาน) ตั้งแต่เช้าตรู่ยันเย็นและเป็นอย่างนี้มาชั่วนาตาปี

          ข้าราชการและลูกจ้างจำนวนมากจะซื้อของกันอย่างสนุกสนานแม้แต่ในเวลาราชการหากไม่มีการกำชับเรื่องเวลาทำงาน และที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะซึ่งมีหน่วยราชการอยู่จำนวนมากไม่ว่ากรมที่ดิน สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานสถิติแห่งชาติฯ ภายในเป็นที่โล่งใหญ่โตขนาด 2-3 สนามฟุตบอลส์ ปัจจุบันสถานที่ว่างเหล่านี้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นตลาดนัดขนาดใหญ่ขายอาหาร ขายเครื่องไฟฟ้า ขายรถยนต์ ฯลฯ เกือบทุกวันอย่างน่าตื่นเต้น

          พนักงานของรัฐและผู้มาติดต่อก็ซื้อกันอย่างมันส์ในอารมณ์ จนดูเหมือนเป็นตลาดนัดมากกว่าสถานที่ราชการ distraction ก็น่าจะเกิดขึ้นที่นี่อย่างแรงเช่นเดียวกับที่ข้างกระทรวงศึกษาธิการ

          ปัจจุบันเกือบทุกหน่วยราชการไม่เว้นแม้มหาวิทยาลัยของรัฐจะจัดให้มีตลาดนัดเช่นนี้ ทุกอาทิตย์ หรือทุกปลายเดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วย “ลดค่าครองชีพ” (อาจมีราคาถูกแต่เมื่อมันยวนใจเพราะจ่ออยู่หน้าประตูห้องทำงานก็ซื้อจำนวนมากขึ้น แล้วมันจะประหยัดได้อย่างไร) ยังไม่มีการศึกษากันว่าตลาดนัดเช่นนี้ก่อให้เกิด distraction จนทำให้ “ผลิตภาพ” ของข้าราชการลดลงมากน้อยเพียงใด เช่นเดียวกับผลเสียอันเกิดจากการเล่นสมาร์ทโฟน

          distraction ในลักษณะอื่นก็ก่อให้เกิดความหวาดเสียวและอันตราย เช่นการพูดโทรศัพท์มือถือขณะขับรถ การส่งข้อความ (texting) ระหว่างขับรถ และล่าสุดก็คือการมีจอ DVD อยู่ในรถชนิดที่ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นได้ ในหลายประเทศห้ามเด็ดขาดเพราะตระหนักดีว่าอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุเพราะผู้ขับขี่อาจเหลือบมองดูจนเพลิน (สมัยหนึ่งแท็กซี่ในญี่ปุ่นหลีกเลี่ยงโดยผู้ขับเห็นภาพจากกระจกซึ่งสะท้อนภาพจากทีวีที่ตั้งให้ผู้โดยสารที่นั่งข้างหลังดู)

          นับวัน distraction จะมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น โดยมากับเทคโนโลยีสารสนเทศ จนทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างด้อยประสิทธิภาพ ขณะที่เราใช้อินเตอร์เน็ตอยู่นั้นเราเห็นการโฆษณาชนิด pop up หรือปรากฏขึ้นซ้อนบนจอบ่อยมากขึ้น และซับซ้อนเชิงบังคับ (ถ้าไม่รู้จักวิธีกดไล่มัน ๆ ก็จะค้างอยู่ และหากกดรับเพราะรำคาญก็จะเข้าล็อกเขาทันที) ลองจินตนาการว่าขณะที่เยาวชนกำลังศึกษาบทเรียนอยู่บนจออย่างขะมักเขม้นก็ปรากฏ pop up โฆษณาสิ่งที่เยาวชนคนนั้นสนใจ ความเป็นไปได้ที่จะหันเหเลิกศึกษาบทเรียนก็มีสูงจนเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ยิ่งเทคโนโลยีดึงดูดความสนใจได้แนบเนียนมากเท่าใด โอกาสจากการสูญเสียก็มีมากเป็นเงาตามตัว

          การเอาชนะ distraction ที่ก้าวหน้าและสอดรับกับจิตวิทยาเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นทุกที เฉพาะคนที่มีความมุ่งมั่นบากบั่น และมีสมาธิเป็นเลิศเท่านั้นที่พอจะต้าน distraction ดังกล่าวนี้ได้

          ถ้าปรากฏ distraction ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมเราไม่ถูกสะกัดกั้นบ้างแล้ว การเพิ่มพูน “ผลิตภาพ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกสังคมปรารถนาก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้

กฎทองของวัยแห่งความสุข

วรากรณ์  สามโกเศศ
4 ตุลาคม 2559

          ได้พบ “กฎทอง 21 ข้อของวัยแห่งความสุข” ในอินเตอร์เน็ตและชอบมากจนอดไม่ได้ที่จะนำมาสื่อสารต่อกับผู้สูงวัยทุกท่านครับ

          1. ถึงเวลาแล้วที่คุณจะใช้เงินที่หามาได้อย่างยากลำบาก ขอให้ใช้จ่ายและมีความสุขกับเงินของคุณ อย่าคิดแต่จะเก็บไว้ให้คนที่บางทีไม่เคยรู้เลยว่าคุณต้องลำบากเพียงใดกว่าจะหาเงินมาได้ ขอให้จำไว้ว่าไม่มีอะไรจะอันตรายไปกว่าลูกหลานหรือเขยสะใภ้ที่มีไอเดียบรรเจิดกับการเอาเงินเก็บของคุณไปลงทุน วัยนี้ไม่เหมาะกับการลงทุนอย่างยื่ง ไม่ว่ามันจะดูวิเศษแค่ไหน เพราะมีแต่จะทำให้คุณอยู่กับปัญหาและความกังวล เวลานี้คุณควรมีชีวิตที่สุขและสงบได้แล้ว

          2. เลิกกังวลกับเรื่องเงินๆทองๆของลูกหลาน ไม่ต้องรู้สึกผิดที่คุณใช้จ่ายเงินเพื่อตัวเอง คุณเลี้ยงเขามานาน สอนเขาทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ให้ทั้งการศึกษา อาหาร ที่อยู่ ดูแลเอาใจใส่ ตอนนี้เป็นหน้าที่ที่เขาจะดูแลรับผิดชอบตัวเองแล้ว

          3. เอาใจใส่สุขภาพ แต่อย่าหักโหม ออกกำลังกายปานกลาง เช่นเดินทุกวัน กินดี อยู่ดี นอนให้เพียงพอ เพราะวัยนี้ป่วยง่าย และยิ่งวันเรายิ่งรักษาสุขภาพได้ยากขึ้น สนใจเรื่องทางการแพทย์และยาบ้าง ไปหาหมอสม่ำเสมอ ตรวจร่างกายแม้ในยามที่คุณไม่ได้เจ็บป่วย หาความรู้ทางการแพทย์ไว้ด้วย

          4. ซื้อของที่ดีที่สุด สวยที่สุดให้กับคู่ของคุณ ข้อสำคัญคือจงใช้เงินอย่างมีความสุขกับคู่ชีวิตของคุณ เพราะวันหนึ่งจะต้องมีใครคนหนึ่งที่ยังอยู่และคิดถึงอีกคน ถึงเวลานั้นเงินทองก็ไม่อาจให้ความอบอุ่นได้ ฉะนั้น จงมีความสุขร่วมกันเสียแต่วันนี้

          5. อย่ากังวลกับเรื่องเล็กๆน้อยๆ คุณผ่านเรื่องใหญ่ๆในชีวิตมามากแล้ว คุณมีทั้งความทรงจำที่ดีและไม่ดี แต่สิ่งสำคัญคือปัจจุบัน อย่าให้อดีตมาทำให้คุณหดหู่ อย่าให้อนาคตมาทำให้คุณกังวล มีความสุขอยู่กับปัจจุบัน ไม่นานคุณก็จะลืมกังวลกับเรื่องเล็กๆน้อยๆเหล่านั้น

          6. ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ จงหล่อเลี้ยงความรักไว้เสมอ รักคู่ของคุณ รักชีวิต รักครอบครัว รักเพื่อน(บ้าน) ขอให้จำไว้ว่า คนเราจะไม่มีวันแก่ตราบใดที่ยังมีสมองและมีความรัก

          7. ขอให้อยู่อย่างภาคภูมิ ทั้งภายในและภายนอก อย่าเลิกไปร้านทำผม ทำเล็บ หาแพทย์ดูแลผิวและฟัน หาครีมและน้ำหอมดีๆไว้ใช้ เพราะเมื่อคุณดูแลร่างกายภายนอกอย่างดี ความรู้สึกดีๆจะซึมซาบเข้าไปภายใน ทำให้คุณรู้สึกภาคภูมิใจและเข้มแข็ง

          8. อย่าทิ้งแฟชั่นที่เหมาะกับวัย แต่ขณะเดียวกันให้คงสไตล์ที่เป็นตัวคุณไว้ ไม่มีอะไรน่าเกลียดไปกว่าคนสูงวัยที่พยายามเลียนแบบแฟชั่นปัจจุบันของวัยรุ่น ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา คุณสร้างบุคลิกภาพของคุณไว้แล้ว รู้ว่าสิ่งใดดูดีสำหรับคุณ ขอให้ทำตามนั้น และจงภูมิใจว่านี่คือส่วนหนึ่งที่เป็นตัวตนของคุณ

          9. ติดตามดูข่าวสารบ้านเมืองเสมอ อ่านหนังสือพิมพ์ ดูข่าว เข้าออนไลน์ ดูและฟังสิ่งที่เขาพูดกัน ใช้งานอีเมล์และโซเชียล เน็ตเวิร์คต่างๆบ่อยๆ การรับรู้ความเคลื่อนไหวและเสวนากับเพื่อนฝูงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนทุกวัย

          10. ให้ความสำคัญกับคนรุ่นหลัง รับฟังความคิดเห็นของพวกเขาซึ่งอาจไม่เหมือนของคุณ แต่คนรุ่นหลังคืออนาคต และจะนำโลกไปในทิศทางของเขา ให้คำแนะนำไม่ใช่คำตำหนิ พยายามให้เขาตระหนักถึงภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ยังนำมาใช้ได้ในปัจจุบัน

          11. อย่าใช้คำว่า “ในสมัยของฉัน” เป็นอันขาด สมัยของคุณคือปัจจุบัน ตราบใดที่คุณยังมีชีวิตอยู่ สมัยนี้คือสมัยของคุณ สมัยก่อนคุณอายุน้อยกว่านี้ก็จริง แต่ปัจจุบันคุณก็ยังเป็นคุณ ฉะนั้น จงสนุกกับชีวิตให้มาก

          12. บางคนยอมรับความสูงวัยอย่างมีความสุข แต่บางคนกลับหดหู่ หงุดหงิด ชีวิตเราสั้นเกินกว่าจะไปเสียเวลาอยู่กับคนกลุ่มหลัง ใช้เวลาของคุณกับคนที่มีทัศนคติบวก รื่นเริงแจ่มใส คุณจะสดชื่นไปด้วย ใช้เวลากับคนกลุ่มหลัง คุณจะแก่มากขึ้น และกลายเป็นคนน่ารำคาญไปด้วย

          13. อย่าพ่ายแพ้กับความเย้ายวนที่จะไปอยู่กับลูกหลาน (ถ้าคุณมีทางเลือกด้านเศรษฐกิจ) แน่นอนว่าการมีลูกหลานแวดล้อมฟังดูดีมากๆ แต่เราทุกคนต้องการความเป็นส่วนตัว ทั้งคุณทั้งเขา หากคุณสูญเสียคู่ชีวิตไปแล้ว หาคนมาอยู่เป็นเพื่อนคอยช่วยเหลือ แต่จงทำเมื่อคุณจำเป็นต้องมีคนช่วย หรือไม่อยากอยู่คนเดียวแล้วเท่านั้น

          14. อย่าทิ้งงานอดิเรก ถ้ายังไม่มีก็จงมองหา จะเป็นการเดินทางท่องเที่ยว ทำอาหาร เต้นรำ ฯลฯ หรืองานอาสาสมัคร ข้อสำคัญหาสิ่งที่ชอบและใช้เวลาสนุกกับมันอย่างจริงจัง

          15. ตอบรับคำเชิญบ้าง แม้ไม่ชอบนัก ไม่ว่าจะเป็นงานวันเกิด งานรับปริญญา งานแต่งงาน ฯลฯ ออกจากบ้านไปพบปะผู้คน หาประสบการณ์ใหม่ๆ พบปะคนที่ไม่ได้พบกันนานแล้ว ข้อสำคัญคือได้ออกจากบ้าน ไปพิพิธภัณฑ์ ไปเดินเล่น ไป ฯลฯ

          16. เป็นคู่สนทนาที่ดี พูดน้อย ฟังมาก บางคนพล่ามแต่เรื่องในอดีต ไม่สนใจว่าใครจะฟังหรือไม่ เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมที่จะให้คนหลีกลี้หนีหน้าคุณ ฟังเสียก่อน ตอบคำถามเท่าที่จำเป็น อย่าเล่ายืดยาว ยกเว้นมีคนขอร้อง พูดด้วยน้ำเสียงสุภาพ ไม่พยายามบ่นหรือตำหนิยกเว้นจำเป็นจริงๆ พยายามยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น เพราะถึงทุกคนก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน แต่ก็ไม่มีใครอยากฟังคำบ่น พยายามหาจุดดีมาพูดจะดีกว่า

          17. ความเจ็บปวดไม่สบายเนื้อสบายตัวเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการสูงวัย อย่ากังวลกับมันมาก ยอมรับว่านี่เป็นวงจรของชีวิตที่เราต้องเผชิญ พยายามใส่ใจกับมันให้น้อยๆ คิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆที่เพิ่มเติมเข้ามาในชีวิต เพราะถ้าคุณมุ่งใส่ใจกับมันมาก คุณจะสูญเสียการมองโลกอย่างที่คุณเคยมี

          18. ถ้ามีใครมาทำให้คุณหงุดหงิด อภัยให้เขา ถ้าคุณทำให้ใครหงุดหงิด ขอโทษเขาเสีย อย่าเอาความขุ่นข้องติดตัวไป มันรังแต่จะทำให้คุณเศร้าหมอง ครั้งหนึ่งมีคนพูดว่า “คุณพกความโกรธไว้ก็เหมือนคุณกินยาพิษ แต่หวังจะให้อีกคนหนึ่งตาย” ฉะนั้นอย่ากินยาพิษ อภัยให้กัน ลืมซะแล้วเดินหน้าต่อไป

          19. ถ้าคุณศรัทธาในสิ่งใด จงศรัทธาต่อไป แต่อย่าเสียเวลาโน้มน้าวคนอื่น เพราะไม่ว่าคุณจะพูดอย่างไร เขาจะเลือกเอง แล้วคุณจะหงุดหงิดเปล่าๆ ทำตามสิ่งที่คุณเชื่อทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง และปล่อยให้สิ่งนี้ช่วยให้เขาปรับเปลี่ยนความคิดเอง

          20. หัวเราะ และหัวเราะให้มากๆ คิดว่าคุณคือหนึ่งในผู้โชคดี ที่คุณสามารถมีชีวิตมาถึงวันนี้ได้ หลายคนมาไม่ถึง ไม่มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างเต็มที่เหมือนคุณ แล้วมีอะไรที่เราไม่ควรหัวเราะกันเล่า หาแง่ขำๆในชีวิตกันดีกว่า

          21. อย่าสนใจขี้ปากชาวบ้าน ยิ่งเรื่องที่เขาคิดยิ่งไม่ต้องสนใจ ยังไงคุณก็ห้ามเขาไม่ได้ คุณต้องมีความภูมิใจในตัวเอง และในความสำเร็จของคุณ ปล่อยให้เขาพูดไปและไม่ต้องกังวล พวกนี้ไม่เคยรู้ภูมิหลังของคุณ ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก ขอให้มุ่งมั่นทำไป ไม่ต้องสนใจว่าใครคิดอย่างไร ขณะนี้ขอให้เป็นชีวิตที่สุขสงบให้มากที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้”

          ถ้าไม่ทำสิ่งที่อ่านมาก็ไร้ประโยชน์ครับ

Tasmania และการท่องเที่ยว

วรากรณ์  สามโกเศศ
22 มีนาคม 2559

  เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว White House จัดงานเลี้ยงอย่างยิ่งใหญ่ต้อนรับนายกรัฐมนตรีของประเทศเพื่อนบ้านคนใหม่คือนาย Justine Trudeau สื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศคึกคักตื่นเต้นกันมากเพราะเตือนใจให้นึกถึงสิ่งที่เรียกว่า Trudeaumania เมื่อ 48 ปีก่อน

          ในปี 1968 ผู้คนในคานาดา สหรัฐอเมริกา และนานาชาติตื่นเต้นกับ charisma (เสน่ห์) ของนาย Pierre Trudeau ตั้งแต่เมื่อแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรค Liberal Party จนแม้กระทั่งเลือกตั้งเสร็จได้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นานพอควรแล้วก็ตาม ความ บ้าคลั่ง Trudeau หรือ Trudeaumania ก็ยังไม่จบ

          ในตอนต้นทศวรรษ 1960 คนอังกฤษและชาวโลกบ้าคลั่ง The Beatles เช่นเดียวกับที่คนอเมริกันและชาวโลกคลั่งไคล้ประธานาธิบดี John F. Kennedy เมื่อ 1968 มาเยือนก็ถึงตาของคานาดาบ้าง

          Pierre Trudeau เกิดใน ค.ศ. 1919 ในสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้อง มีความรู้ ความสามารถ มีพื้นฐาน ครอบครัวและมี “เสน่ห์” อย่างตรงกับยุคสมัยพอดี บรรพบุรุษของเขาเป็นชาวฝรั่งเศสที่อพยพมาคานาดาใน ค.ศ. 1659 พ่อของเขาเป็นทนายความและพ่อค้า แม่มีเชื้อสาย สก็อตและฝรั่งเศส

          เขาเติบโตในครอบครัวที่พูดฝรั่งเศส เรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงของกลุ่ม ฝรั่งเศส-คานาดา ซึ่งคนคานาดาที่มีพื้นเพอพยพมาจากฝรั่งเศสนั้นอยู่ในมณฑล Quebec กันหนาแน่น ซึ่งต่างจากพวกที่อพยพมาจากอังกฤษ สก๊อตแลนด์ ไอร์แลนด์ ที่อยู่ทางตะวันตกและตรงกลาง

          Pierre พูดได้ทั้งสองภาษาอย่างคล่องแคล่วฃึ่งไม่ใช่เรื่องธรรมดาในสมัยนั้นจนเป็นขวัญใจของชาวฝรั่งเศส-คานาดา ซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กกว่าพวกอังกฤษ-คานาดา

          ในตอนต้นชีวิต เขาเลื่อมใสสังคมนิยม และเชื่อในเรื่องการแบ่งแยกดินแดน Quebec ออกจากคานาดาเป็นประเทศใหม่ แต่เมื่อเขาเป็นนักการเมืองเขาเปลี่ยนความเชื่อโดยไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดนจนเป็นขวัญใจของคนอังกฤษ-คานาดา ที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดแบ่งแยก

          การได้เรียนที่มหาวิทยาลัย Montréal / Institut d’Etudes Politiques de Paris / Harvard และ London School of Economics and Political Science (LSE) ทำให้เขาได้รับการยอมรับจากทั้งคนอเมริกัน คนอังกฤษ คนฝรั่งเศส และคนยุโรปทั่วไป

          ทั้งหมดนี้คือพื้นฐานของคนที่เริ่มต้น Trudeaumania เมื่อเกือบ 50 ปีก่อน และเชื้อไฟนั้นฃึ่งยังคงมีอยู่อย่างมากจนถึงปัจจุบันช่วยสนับสนุนให้ Justine Trudeau ลูกชายคนโตของเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้

          Pierre เป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัย คือ 1968-1979 และ 1980-1984 เขาเสียชีวิตเมื่อปี 2000 ขณะมีอายุ 80 ปี ความเด่นของเขามาจากความรู้ความสามารถโดยเฉพาะในการใช้สองภาษา (ไม่มีนายกรัฐมนตรี คานาดาก่อนหน้าเขาที่พูดฝรั่งเศสได้) บุคลิกลักษณะในการพูดจา การมีอายุเพียง 49 ปี การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนและความเด่นดังจากการเป็นนายกรัฐมนตรีโสด และแต่งงานกับสาวสวยลูกสาวอดีตรัฐมนตรีที่มีวัยเพียง 21 ปี (น้อยกว่าเขาประมาณ 30 ปี) ในขณะดำรงตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีชื่อเสียงจากการสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับคนฝรั่งเศส-คานาดา ความสัมพันธ์ระหว่างคนในชาติ ฯลฯ

          Justine คือลูกชายคนโตในจำนวน 3 คนของเขากับสาวสวยอายุ 21 ปีคนนั้นที่มี ชื่อว่า Margaret Sinclair ซึ่งมีเชื้อสายสก๊อต อังกฤษ และชาวมะละกาในมลายู (Justine เป็นนายกรัฐมนตรีคานาดาคนแรกที่มีเชื้อสายที่ไม่ใช่คนยุโรปปนเปอยู่ในสายเลือด)

          เขาเกิดในปี 1971 และมีน้องชายตามมาอีก 2 คนก่อนที่พ่อแม่จะแยกกันอยู่ในปี 1977 Justine เรียนในโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาฝรั่งเศสทั้งในระดับประถมและมัธยม จบปริญญาตรีด้านศิลปศาสตร์จาก McGill University ต่อมาเรียนต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ École Polytechnique de Montréal และจบปริญญาโทด้านภูมิศาสตร์สิ่งแวดล้อมจาก McGill University

          ในปี 2000 Pierre เสียชีวิต ในขณะที่ Justine อายุ 28 ปีเขา เป็นผู้กล่าวคำไว้อาลัยบิดาได้อย่างประทับใจคนคานาดามาก จนถูกจับตามองว่ามีอนาคตทางการเมือง

          Justine ทำงานอิสระและช่วยงานองค์กรการกุศลหลายแห่งที่เขาศรัทธาในวัตถุประสงค์โดยช่วยต่อสู้ในหลายเรื่องทั้งระดมทุน และการดำเนินงาน เขาเคยเล่นละครโทรทัศน์เซียรี่ของคานาดาด้วย

          มีเรื่องเล่าว่าตอนเขาอายุได้ 2 ขวบ พ่อได้จัดงานเลี้ยงใหญ่ต้อนรับประธานาธิบดีนิกสันผู้มาเยือน ประธานาธิบดีนิกสันกล่าวเล่น ๆ ว่า “ขอดื่มให้นายกรัฐมนตรีคานาดาในอนาคต Justine Trudeau” Pierre Trudeau ก็ตอบว่า “ถ้าเป็นจริงก็หวังว่าเขาจะ have the grace and skill of the President” (Pierre หารู้ไม่ว่าไม่ถึง 2 ปีหลังจากนั้น ประธานาธิบดีนิกสันก็ไม่มี grace เหลืออยู่ให้เลียนแบบเลย)

          Justine ช่วยงานพรรค Liberal ของพ่อมายาวนาน มีข่าวลือมานานว่าเขาจะลงเลือกตั้ง แต่ในที่สุดก็ลงจริงในปี 2008 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่พรรคของเขาก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล

          ในระหว่างที่เป็นฝ่ายค้านระหว่าง 2008-2015 เขาได้รับการสนับสนุนให้ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค Liberal หลายครั้ง แต่ก็ปฏิเสธมาตลอดเพราะอ้างว่าลูกยังเล็กและมีถึง 3 คน แต่เมื่อถึงปี 2012 เขาก็ไม่อาจปฏิเสธได้เพราะโพลระบุว่าหากเขาเป็นหัวหน้าพรรค พรรคจะได้คะแนนนิยมพุ่งสูงขึ้นมาก เขาจึงประกาศลงชิงตำแหน่งในปลายปี 2012 และในเดือนมกราคม 2013 เขาก็ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคด้วยคะแนนท่วมท้นและได้รับความนิยมอย่างมาก ในการเลือกตั้งเดือนตุลาคม 2015 เขาก็สามารถนำชัยชนะมาสู่พรรค Liberal โดยได้จำนวน ส.ส. 184 คน จากจำนวนทั้งหมด 338 คน

          Justine Trudeau ทำให้พรรคได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 150 ที่นั่ง และในฐานะหัวหน้าพรรคที่มี ส.ส. เกินครึ่งหนึ่งจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2015 ในวัย 44ปี

          Justine เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับศรัทธาและความนิยมท่วมท้นจากประชาชน เขาชนะขาดลอยใน Quebec ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่ Pierre เป็นนายกรัฐมนตรี และไม่เคยมีมาก่อนเลยที่พรรคใดจะได้ ส.ส. เพิ่มขึ้นมากถึง 150 คนในการเลือกตั้งครั้งเดียว ตั้งแต่ตั้งประเทศ คานาดา มา

          เมื่อปลายปี 2015 คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ได้เขียนลงเฟสบุ๊คเล่าว่าไม่นึกเลยว่าหนุ่มวัยรุ่นสไตล์แบ็คแพคผมยาวคนหนึ่งผู้มาพักที่บ้านเชียงใหม่เมื่อนานมาแล้วโดยเพื่อนฝรั่งที่รู้จักกันฝากฝังมาจะกลายเป็น Justine Trudeau คนนี้ผู้กำลังปลุกกระแส Trudeaumania อีกครั้งด้วยรูปแบบการหาเสียงสมัยใหม่และนโยบายสังคมที่ก้าวหน้า

          ไม่ว่าการเมืองในประเทศใดก็ตาม สิ่งดี ๆ ที่พ่อแม่ทำไว้ลูกจะได้รับอานิสงส์เสมอ และในทางกลับกันก็เป็นที่น่าดีใจว่ามันเป็นจริงสำหรับกรณีตรงข้ามเช่นกัน

Tasmania และการท่องเที่ยว

วรากรณ์  สามโกเศศ
26 เมษายน 2559

   เมื่อได้ยินข่าวว่าเจ้าของเมือง Tarraleah ในรัฐ Tasmania ของออสเตรเลียประกาศขายเมืองให้ใครก็ได้ไม่ว่าจะเป็นคนในประเทศหรือต่างประเทศ คงรู้สึกฉงนเหมือนกันว่าเมืองมีเจ้าของด้วยหรือ? และขายเมืองกันได้ด้วยหรือ?

          Tarraleah (ทาร์ราเลห์) ที่จริงแล้วไม่ใช่เมืองในความหมายทั่วไปที่เป็นสมบัติสาธารณะ หากเป็นเมืองที่สร้างขึ้นมาโดยบริษัทเอกชนในที่ดินเอกชน ไม่ต่างอะไรไปจากการสร้างเรือนพักและอาคารสนับสนุนสำหรับวัตถุประสงค์บางอย่างของธุรกิจ

          ในยุคทศวรรษ 1930 Hydro Electric Commission และต่อมา คือ Hydro Tasmania สร้างเมืองเช่นนี้ขึ้นให้เป็นที่พักของแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนอพยพมาจากยุโรป (ออสเตรเลียในยุคก่อน 1980 มีนโยบายที่เรียกว่า White Australians Policy คือรับคนอพยพเฉพาะที่เป็นคนผิวขาวหรือคนยุโรปเท่านั้น) เพื่อสร้างเขื่อนพลังน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าและดูแลรักษาให้เขื่อน

          ที่พักของคนกว่า 2,000 คน ก็ต้องมีโบสถ์ โรงแรม โรงเรียน บ้าน โรงมหรสพ แหล่งหย่อนใจ ฯลฯ อยู่ด้วยเป็นธรรมดาในเมืองที่มีพื้นที่ 145 เอเคอร์ (ประมาณ 367 ไร่) เมื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถดูแลเขื่อนผลิตไฟฟ้าได้ดีกว่าแรงงานมนุษย์ Hydro Tasmania จึงเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก สถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้จึงถูกทิ้งร้างไปตั้งแต่ทศวรรษ 1990

          เจ้าของคนปัจจุบันซื้อมาจาก Hydro Tasmania แล้วทอดหนึ่งเมื่อ 13 ปีก่อน และฟื้นฟูตกแต่งจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทำรายได้ปีละ 2 ล้านเหรียญออสเตรเลีย แต่ตอนนี้ดูแลต่อไปไม่ไหวจึงตั้งใจจะขายในราคา 11 ล้านเหรียญออสเตรเลีย

          ทันทีที่ประกาศออกไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีผู้สนใจนับสิบ ๆ ราย เพราะเห็นศักยภาพของการทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้งพักผ่อน ตกปลา (ในเขื่อนเต็มไปด้วยปลาเทราส์ และปลาแซลมอน) พักแรม รวมทั้งเป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงฉลองต่าง ๆ เช่นพิธีแต่งงาน ฯลฯ

          เมือง Tarraleah มีเจ้าของและซื้อขายกันได้เพราะโดยแท้จริงแล้วก็คือ รีสอร์ทแห่งหนึ่งที่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ อายุกว่า 80 ปี และเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าให้ชาว Tasmania มายาวนาน

          สิ่งที่ซื้อขายก็คือสิทธิในการใช้ที่ดิน และเป็นเจ้าของอาคารตลอดจนใบอนุญาตต่าง ๆ ไม่ใช่ม้วนแผ่นดินและบ้านมาใส่กระเป๋า เพราะโดยแท้จริงแล้วเวลาที่บุคคลหนึ่งซื้อที่ดินนั้นก็คือซื้อสิทธิในการใช้ที่ดินตลอดจนทรัพยากรที่อยู่ใต้ผืนดินนั้น

          เมื่อมีคนต่างชาติมาซื้อที่ดินของบ้านเรานั้น ที่หวั่นเกรงกันไม่ใช่การม้วนเอาแผ่นดินไปที่อื่น หากเป็นประเด็นของการควบคุมการใช้ เคยมีผู้นำบอกว่าไม่น่าห่วงเรื่องต่างชาติมาซื้อที่ดินเพราะเอาไปไม่ได้ แต่ความจริงก็คือถึงแม้เอาไปไม่ได้แต่ก็สามารถสร้างความเสียหายให้แก่ชาติได้อย่างมาก เช่นสมมุติที่ดินริมหาดภูเก็ตทั้งหมดเป็นของต่างชาติและเขาเอามาทำฮวงซุ้ยแทน อย่างนี้เราจะสนับสนุนการท่องเที่ยวของบ้านเราได้อย่างไร

          กลับมาเรื่อง Tasmania อีกครั้ง Tasmania ดูจะเป็นดินแดนลึกลับของผู้คนโดยทั่วไป สถานที่แห่งความสวยงามและสงบน่าอยู่แห่งนี้ คือรัฐหนึ่งของประเทศออสเตรเลียโดยเป็นเกาะแยกออกมา (จริง ๆ ประกอบด้วยเกาะเล็ก ๆ อีก 334 เกาะ) เกาะใหญ่อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ คือตรงที่เป็นรัฐ Victoria ประมาณ 240 กิโลเมตร ช่องแคบตรงนี้มีชื่อว่า Bass Strait

          รัฐ Tasmania มีพื้นที่ 68,401 ตารางกิโลเมตร (ภูเก็ตมีพื้นที่ 576 ตารางกิโลเมตร) มีประชากรอยู่ประมาณ 500,000 คน (ทั้งออสเตรเลียมีประมาณ 24 ล้านคน มีพื้นที่ 7.69 ล้านตารางกิโลเมตร ไทยมีพื้นที่ประมาณ 0.5 ล้านตารางกิโลเมตร)

          Abel Tasman นักบุกเบิกดินแดน ชาวดัชเป็นชาวยุโรปคนแรกที่พบเกาะนี้ ในปี ค.ศ.1642 โดยตั้งชื่อว่า “Anthony van Diemen’s Land” ตามชื่อของผู้สนับสนุนการเดินทางของเขา ในปี ค.ศ.1856 อังกฤษได้เปลี่ยนชื่อเป็น Tasmania เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้พบคนแรก

          ประวัติศาสตร์ Tasmania บันทึกว่ามีการสู้รบระหว่างคนผิวขาวผู้บุกรุกกับชาวพื้นเมืองของออสเตรเลีย ที่เรียกว่า Aborigines ในทศวรรษ 1820 มีการต่อสู้กันจนคนพื้นเมืองตายไปกว่า 550 คน เมื่อปราบปรามได้สำเร็จในปี 1832 อังกฤษก็เอา Aborigines เกือบทั้งหมดจับใส่เรือไปไว้บนเกาะ Flinders Island ซึ่งต่อมาก็ตายไปเป็นจำนวนมากด้วยโรคระบาด Tasmania จึงเป็นรัฐเดียวในออสเตรเลียที่มี Aborigines จำนวนน้อยที่สุดในปัจจุบัน (ทั้งประเทศมีประมาณ 600,000 คน)

          การเป็นรัฐที่อยู่ไกลออกไปทางใต้สุด และนโยบาย White Australians Policy ในอดีตทำให้ Tasmania เป็นรัฐที่ประชากรมีความกลมกลืนกันมากทางชาติพันธุ์กว่ารัฐอื่น ๆ กล่าวคือร้อยละ 65 ของคน Tasmania ปัจจุบันเป็นลูกหลานของ “10,000 ครอบครัวแรก” ที่อพยพมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 19 หรือประมาณ ค.ศ.1850 การสำรวจในปี ค.ศ.1996 ระบุว่ากว่าร้อยละ 80 ของคน Tasmania เกิดในรัฐนี้ และเกือบร้อยละ 90 เกิดในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไอร์แลนด์ หรือสหราชอาณาจักร

          ในยุคของการท่องเที่ยวปัจจุบัน การซื้อขายเมืองประวัติศาสตร์ เช่น Tarraleah จะมีให้เห็นอีกมาก เช่นเดียวกับการสร้างเมืองหรือบ้านเก่าจากจินตนาการขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว

          การบูรณะหรือสร้างบ้านเกิดของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์มีอยู่ทุกแห่งหนเพื่อเป็นแหล่งดึงดูดความสนใจ การได้ไปยืน selfie อยู่หน้าป้ายของบ้านที่ระบุว่าเป็นบ้านเกิดของบุคคลสำคัญเป็นความพอใจของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ โดยไม่สนใจว่าเป็นบ้านเก่าจริง ๆ หรือสร้างขึ้นมาใหม่ การมีเรื่องราวประกอบสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อเป็นแรงดึงดูดจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

          ผมรอคอยมานานแล้วว่าเมื่อไหร่จะเห็นกระท่อมบ้านเกิดของ Siamese Twins (แฝดสยามหรืออินจัน) ที่คนทั่วโลกรู้จักสร้างขึ้นบนริมแม่น้ำแม่กลองอันเป็นบ้านเกิด เพื่อสมุทรสงครามจะไม่ได้เล่น แต่แค่ “หิ่งห้อย” และ “ครูเอื้อ” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเท่านั้น

          เรื่องเล่าขานจริงหรือเท็จจากประวัติศาสตร์ สามารถทำเงินในด้านการท่องเที่ยวได้มหาศาลเสมอ แดร็กคูล่าไม่มีตัวตนจริงเพราะเป็นนิยายแต่ก็มีคฤหาสน์อยู่ในสาธารณรัฐเช็กที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากไปเยือนในแต่ละปี ถ้าเราสร้าง “นากพระโขนง” ให้เป็นแบรนด์ของผีประจำ ASEAN ได้ คนไทยรวยอีกมาก แน่ ๆ

Sustainable Consumption และความรับผิดชอบ

วรากรณ์  สามโกเศศ
29 พฤศจิกายน 2559

          เราได้ยินคำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development_____SD) กันบ่อยมาก แต่อีกคำที่มีความสำคัญเหมือนกันแต่มักไม่ได้ยินก็คือ “การบริโภคที่ยั่งยืน” (Sustainable Consumption _____SC) SD และ SC มีความสัมพันธ์กันอย่างไร และ SC มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์อย่างไร เป็นเรื่องน่าสนใจเพราะมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการกำหนดนโยบาย

          SD หมายถึงการปฏิบัติที่มุ่งรักษาความสมดุลระหว่างทรัพยากรที่ใช้ไปกับทรัพยากร “ใหม่” โดยไม่ทำลายหรือทำให้ระบบนิเวศของธรรมชาติเกิดอันตราย พูดง่าย ๆ ก็คือการปฏิบัติที่ห่วงกังวลความสามารถของธรรมชาติที่ต้องสู้กับความท้าทายจากเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของมนุษย์

          แนวคิดนี้มีรากมาจากการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ป่าไม้มิได้มีไว้เพื่อเก็บเข้าเซฟ หากต้องใช้ประโยชน์จากมันอย่างมีความสมดุลและยั่งยืน ในศตวรรษที่ 17 และ 18 เกิดมีความกังวลเรื่องป่าไม้ที่หายไปในอังกฤษจนอาจเกิดเป็นปัญหาขึ้นได้ ดังนั้นแนวคิดจัดการเรื่องป่าไม้อย่างยั่งยืนจึงเกิดขึ้น

          หนังสือชื่อ Silent Spring ของ Rachel Carson ตีพิมพ์ในปี 1962 มีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อความสนใจในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมของสิ่งแวดล้อม แนวคิดจาก Silent Spring ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในระดับโลกในเรื่องความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

          เรียงความที่มีชื่อเสียงในปี 1966 ที่มีชื่อว่า “The Economics of the Coming Spaceship Earth โดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิล Kenneth Boulding ตอกย้ำแนวคิดดังกล่าว โดยเสริมว่าระบบเศรษฐกิจจะต้องเข้าไปสอดคล้องอยู่ในระบบนิเวศที่มีทรัพยากรจำกัดของโลก

          แนวคิดเรื่อง “ความยั่งยืน” ในความหมายที่ใช้กันในปัจจุบันมาจากรายงานของ Club of Rome ในปี 1972 ที่มีชื่อว่า “Limits to Growth” ซึ่งเขียนโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จาก MIT รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ามี “State of Global Equilibrium” (สภาวะดุลยภาพของโลก) ที่พึงปรารถนา กล่าวคือมีระบบที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนในโลกจากการผลิตสินค้าบริการพื้นฐานสำหรับมนุษย์ทั้งหมดโดยไม่เกิดการพังทลายทันทีหรือการพังทลายที่ควบคุมไม่ได้ขึ้น

          แนวคิด SD เกิดขึ้นในระดับโลกมาจาก 1987 Brundtland Report ของ UN ซึ่ง SD คือหลักการในการรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรที่มีจำกัดในโลกให้สืบทอดไปถึงคนรุ่นต่อ ๆ ไปบนโลกใบนี้ SD เป็นกระบวนการที่นำไปสู่สภาวการณ์ที่น่าพึงปรารถนาของมนุษยชาติในอนาคต

          สำหรับศัพท์ Sustainable Consumption (SC) นั้นตามมาในภายหลังโดยผูกโยงใกล้ชิดกับ SD โดย SC เป็นส่วนหนึ่งของ SD กล่าวคือถ้าไม่มีการบริโภคที่มีลักษณะของความยั่งยืนแล้ว “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ SD ก็เกิดขึ้นไม่ได้

          SC ปรากฏชัดใน 1994 Oslo Symposium on Sustainable Consumption โดยมีคำจำกัดความว่าเป็นการบริโภคสินค้าและบริการซึ่งตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์อันนำไปสู่คุณภาพของชีวิตที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็พยายามใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และก่อให้เกิดสารพิษและสร้างมลภาวะน้อยที่สุดเพื่อที่จะไม่ให้เกิดผลเสียต่อคนรุ่นต่อไป

          พูดสั้น ๆ คือ SC คือการบริโภคที่เพิ่มพูนคุณภาพชีวิตมนุษย์โดยใช้ทรัพยากรน้อยสุด ก่อมลภาวะน้อยสุด และไม่เป็นภาระต่อคนรุ่นต่อไป เช่น บริโภคแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นเดียวแต่ใช้กระดาษนับสิบแผ่น บริโภคอาหารทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ เก็บอาหารไว้ไม่ดีจนสูญเสีย บริโภคอาหารประหลาด เช่น อุ้งตีนหมี ท่ออสุจิปลาวาฬ มันสมองลิง ดีงู ฯลฯ คำถามก็คือ ทำอย่างไรจึงจะเกิด SC ขึ้นได้

          เพื่อให้เกิด SC ขึ้น สองสิ่งจะต้องเกิดขึ้น กล่าวคือ (1) การเพิ่มประสิทธิภาพของการบริโภค และ (2) การเปลี่ยนแปลงแบบแผนการบริโภคและการลดระดับการบริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้ว

          การเพิ่มประสิทธิภาพของการบริโภคของข้อ (1) หมายถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสินค้าและบริการที่ทำให้ใช้วัตถุดิบน้อยลงและใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ (ตัวอย่างเช่นไม่ตัดต้นไม้เพื่อเก็บรังผึ้ง ถลุงทองคำและปล่อยไซยาไนด์ซึ่งเป็นผลพลอยได้ให้ประชาชน)

          สำหรับข้อ (2) นั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่ขาดไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงแบบแผนการบริโภค (เช่น เปลี่ยนการเสิร์ฟอาหารบนเครื่องบินจากถ้วยและจานเป็นกล่องกระดาษ) และการลดระดับการบริโภค โยงใยกับทัศนคติ ค่านิยม การเลือกของผู้บริโภค โครงสร้างพื้นฐาน (การรณรงค์การบริโภคระดับ “พอเพียง” การบังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ)

          ในเดือนกันยายน 2015 UN ได้กำหนด 2030 Agenda for Sustainable Development โดยมี 17 Sustainable Development Goals (SDG’s) โดยตั้งใจให้ประสบความสำเร็จในทุกประเทศ ความพยายามนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2016 ถึง 2030 และใน Goal ที่ 12 นั้นมีการระบุ Sustainable Consumption เป็นเป้าหมาย

          SC คือการบริโภคที่มีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนของการพัฒนา และความยั่งยืนของมนุษยชาติ คนที่จะทำให้เกิด SC ได้อย่างแท้จริงก็คือพฤติกรรมของมนุษย์แต่ละคน ลองดูข้อมูลเหล่านี้แล้วจะเห็นว่า SC เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

          (1) ในแต่ละปี 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตทั้งหมดในโลก (ประมาณ 1.3 พันล้านตัน หรือมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) ถูกทิ้งในถังขยะโดยผู้บริโภคและผู้ขายรายย่อย หรือเน่าเสียอันเนื่องมาจากการขนส่ง หรือการเก็บเกี่ยวที่ขาดประสิทธิภาพ

          (2) ด้วยระดับการบริโภคในปัจจุบัน ตัวเลขที่ประมาณการว่าจะมีประชากรโลก 9.6 พันล้านคน (ปัจจุบัน 7 พันล้านคน) ในปี 2050 หมายถึงว่าจะต้องมีโลกถึง 3 ใบ จึงจะมีทรัพยากรเพียงพอ

          (3) ประชากรโลก 2 พันล้านคน มีน้ำหนักเกินพอดี ในขณะที่ประมาณ 1 พันล้านคนที่มีภาวะทุโภชนาการ และอีก 1 พันล้านคนอดอยาก

          (4) น้อยกว่า 3% ของปริมาณน้ำในโลกที่ดื่มได้ ในจำนวนนี้ 2.5% เป็นก้อนน้ำแข็งในทวีป Arctic และ Antarctica ดังนั้นมนุษย์จึงต้องพึ่งพิง 0.5% ที่เหลือนี้

          ถ้าไม่คำนึงถึง “การบริโภคที่ยั่งยืน” มนุษยชาติก็จะไม่มีชีวิตที่ยั่งยืนจนไปถึงชั่วคนต่อ ๆ ไปได้ แนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” สอดคล้องกับ SC เพราะทำให้มีความต้องการของทรัพยากรน้อยลง และช่วยให้เกิด SC โดยอัตโนมัติ
 

Red Herring กับ Spin Doctor

วรากรณ์  สามโกเศศ
21 มิถุนายน 2559

         นายกรัฐมนตรีอังกฤษ David Cameron บอกว่าที่กลุ่มสนับสนุนการออกจากสมาชิก EU กล่าวว่าตุรกีจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU ซึ่งจะทำให้อังกฤษต้องจ่ายเงินสนับสนุน EU เพิ่มขึ้นอีกนั้นเป็น red herring อย่างแท้จริงเพราะยังไม่มีเรื่องตุรกีจะเป็นสมาชิก EU ข้อความนี้ฟังแล้วงุนงงว่าปลา red herring (เฮอริ่งแดง) มาเกี่ยวกับเรื่องการลงคะแนนอย่างไร และน่าสงสัยว่าในบ้านเรามีปลาชนิดนี้อยู่บ้างหรือไม่

          คนอังกฤษกำลังจะลงประชามติว่าจะอยู่ร่วมกับ EU ต่อไปหรือไม่ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ ล่าสุดโพลหลายสำนักระบุตรงกันว่าคะแนน “ถอนตัว” นำ “คงอยู่” ร้อยละ 6 คือ 53-47 โดยล่าสุดมีคะแนนเทมาอย่างมากทาง “ถอนตัว” ถึงร้อยละ 10

          ตุรกีคือred herring ในกรณีนี้ ผู้คนรังเกียจตุรกีก็เพราะมีหนี้ต่างประเทศถึงประมาณ 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (14.13 ล้านล้านบาท) หากได้เป็นสมาชิก EU สมาชิกด้วยกันก็ต้องช่วยเหลือทางการเงินมหาศาล ขณะนี้อังกฤษก็ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือ EU สุทธิปีละ 8,800 ล้านปอนด์ (458,000 ล้านบาท) อยู่แล้ว

          ขอปล่อยให้คนอังกฤษถกเถียงเรื่องประชามติกันต่อไป ในที่นี้ขอกล่าวถึงสำนวน red herring ที่เห็นกันอยู่บ่อย ๆ ในภาษาอังกฤษว่ามีความหมายอย่างไร red herring คือปลาทะเลหมักเกลือแห้งรมควันชนิดหนึ่ง ซึ่งมีสีแดงเพราะการรมควันและมีกลิ่นแรง

          ปลา herring มีลักษณะคล้ายปลากะพงแต่ตัวเรียวยาวกว่า ความยาวปกติประมาณ 14-18 เซ็นติเมตร เป็นปลาตระกูลเดียวกับปลาฃาดีน อาศัยอยู่ในน้ำเค็มบริเวณปาซิฟิกตอนเหนือ และแอตแลนติกตอนเหนือ ตลอดจนฝั่งตะวันตกของอเมริกาใต้ herring เป็นปลาที่มีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์การบริโภคปลาทะเลของคนยุโรป
คนตะวันตกคุ้นเคยกับ red herring ดีจึงนำเป็นสำนวนในภาษาอังฤษซึ่งหมายถึงสิ่งซึ่งล่อให้หลงทาง หรือดึงให้หันเหไปจากประเด็นหรือเรื่องที่พูดกันอยู่ ในโลกการเขียนนิยายลึกลับ red herring ถูกใช้อย่างจงใจให้คนอ่านเข้าผิดในตอนดำเนินเรื่องแต่จบลงด้วยพล๊อตที่ต่างไปจากที่ถูกหลอกให้เชื่อ เช่น ถูกลวงให้เข้าใจว่าบุคคลหนึ่งเป็นผู้ร้าย แต่สุดท้ายแล้วอีกคนหนึ่งนั่นแหละคือฆาตรตัวจริง

          ในทางการเมือง red herring อาละวาดอย่างผู้ใช้จงใจให้เป็นตัวลวงให้เข้าใจผิด ในเรื่อง Cameron นั้น กลุ่ม “ถอนตัว” (Leave) ออกข่าวว่าตุรกีจะเป็นสมาชิก EU และทำให้อังกฤษเสียเงินอีกมหาศาล ดังนั้นจึงควรรีบออกมาเสีย แต่ต่อมาก็ถอนคำพูด ดังนั้น Cameron จึงบอกว่าเรื่องตุรกีจะเป็นสมาชิก EU นั้นเป็น red herring
ในรัฐสภาไทยเราเห็น red herring กันอยู่แทบทุกวัน ผู้อภิปรายจำนวนไม่น้อยนำเรื่องอื่นซึ่งอยู่นอกประเด็นมาพูดจนฝ่ายตรงข้ามประท้วงและลืมประเด็นสำคัญที่ถกเถียงกันอยู่แต่แรกไป นักโต้วาทีชอบใช้ red herring เป็นเทคนิคในการลวงให้ฝ่ายตรงข้ามหลงประเด็นไปพูดในเรื่องที่ตนไม่เสียเปรียบ

          สิ่งที่เรียกกันในวงการสื่อสารสาธารณะโดยเฉพาะในการเมืองอเมริกาว่า spin ในบางลักษณะก็คือ red herring นั่นเองกล่าวคือ spin (หมุน) หมายถึงการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) เพื่อช่วยให้เกิดการตีความเหตุการณ์หรือประเด็นอย่างให้เอนเอียงไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง หรือกลวิธีรณรงค์เพื่อชักจูงความเห็นสาธารณะให้เหไปในทิศทางที่ตนเองต้องการ

          spin สื่อความหมายของแท็คติกการจัดการสื่อให้เป็นไปอย่างที่ต้องการ ตลอดจนการใช้กลลวงอย่างชาญฉลาดและแนบเนียนซึ่งก็คือ red herring ในรูปแบบหนึ่ง องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ และกลุ่มการเมืองชอบที่จะมี spin doctor หรือมือปืนซึ่งเก่งกาจในการ spin ไว้ใช้งาน

          spin doctor บ่อยครั้งใช้วิธีหันเหความสนใจของประชาชนที่มีต่อเหตุการณ์สำคัญที่เป็นลบแก่กลุ่มของตนด้วยการสร้างข่าวอื่นขึ้นมากลบ หรือให้หันไปสนใจจนการวิจารณ์ถกเถียงของสาธารณชนในเรื่องลบนั้นน้อยลงไป

          ครั้งหนึ่งนานมาแล้วเกือบ 12-13 ปี มีการประชุมนานาชาติระหว่างผู้นำที่เชียงใหม่ แต่ไม่มีแถลงการณ์ที่น่าสนใจเนื่องจากข้อตกลงไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลไทยในสมัยนั้นต้องการ ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนไทยไม่เห็นความล้มเหลวของการประชุม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นจึงจุดประเด็นเรื่องปรับเวลาประเทศไทยให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมง ปรากฏว่าเกิดการถกเถียงกันสนุกสนานว่าเหมาะสมหรือไม่จนลืมเรื่องผลการประชุมเสียสิ้น

          ในยุคนั้นการ spin ข่าวกระทำกันอย่างกว้างขวาง spin doctor ของรัฐบาลหลายคนรุ่งเรืองในอาชีพเนื่องจาก “เล่นข่าว” เป็นจนประชาชนไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องที่สำคัญ หากถูก spin จนหัวหมุนไปหมด ข่าวเล็กก็กลายเป็นข่าวใหญ่ หรือไม่ก็มีข่าวใหญ่อื่นมากลบข่าวใหญ่ที่เป็นลบไปเสีย

          ในปัจุบันสิ่งที่น่าจะเป็น red herring ได้แก่การขอตั้งศูนย์ติดตามตรวจสอบการลงประชามติ การต่อสู้ของศิษย์ไม่ให้จับธัมมชโยจนกว่าประเทศมีประชาธิปไตย ฯลฯ สาธารณชนพึงระวัง red herring ที่ออกมาจากทุกภาคส่วนเช่นเดียวกับสื่อที่รับผิดชอบต่อสังคมก็ไม่ควรช่วยทำให้ red herring มีกลิ่นแรงขึ้นจนทำให้ประชาชนเสียประโยชน์

          เมื่อพูดถึงกลิ่นของ red herring ก็โยงใยไปถึงที่มา William Cobbett (1763-1835) เป็นนักหนังสือพิมพ์มีชื่อของอังกฤษเล่าถึงประวัติที่มาของ red herring ในหนังสือ Continental War (1807) ว่าคนอังกฤษชั้นสูงที่ชอบล่าสัตว์ใช้ red herring ซึ่งมีกลิ่นแรงเป็นตัวล่อสุนัขล่าสัตว์ที่มักจะไล่จับกระต่ายไม่เป็นที่เป็นทางให้มาอยู่กับนักล่าสัตว์ บางครั้งก็ใช้ฝึกหัดล่อลูกสุนัขให้รู้จักดมกลิ่น ดังนั้นสำนวน red herring จึงเกิดขึ้น

          red herring มีความหมายทั้งการจงใจและไม่จงใจลวงล่อให้เข้าใจผิด อย่างไรก็ดีการใช้ส่วนใหญ่มักเป็นไปในทางจงใจทั้งในเรื่องนวนิยายลึกลับ การเมือง การโฆษณาชวนเชื่อ spin doctor หรือแม้แต่ข้อสอบที่ชอบลวงให้ตอบผิดเพื่อฝึกฝนการคิดและทำให้มันยากยิ่งขึ้นเพื่อสะใจคนออกข้อสอบ

          doctor banana (ผู้ที่จบปริญญาเอกแล้วไม่เคยทำงานวิจัยเลย เปรียบเสมือนต้นกล้วยที่ออกดอกครั้งเดียวแล้วตายเลย) “doctor ปลอม” “doctor จ้างคนทำวิทยานิพนธ์แทน ” “doctor โหล” ฯลฯ ก็มีแล้ว สังคมเราอย่ามี spin doctor มากนักเลย เพราะแค่นี้ก็หัวหมุนกันพออยู่แล้ว

          red herring คือสิ่งลวงให้เข้าใจผิดนั้นมีกลิ่นแรงเป็นที่ผิดสังเกต หากสมาชิกสังคมและสื่อที่รับผิดชอบได้เค้ากลิ่นก็น่าที่จะช่วยกันกลั่นกรองก่อนที่จะเป็นเครื่องมือช่วยกระจายกลิ่นนั้นออกไปอีก