ผลที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นเสมอ

วรากรณ์  สามโกเศศ
24 ตุลาคม 2560

          บ่อยครั้งมากที่เราพบว่าการกระทำด้วยความตั้งใจดีกลับก่อให้เกิดผลที่คาดไม่ถึงตามมา มีเรื่องเล่ามากมายที่สนับสนุนข้อสังเกตนี้จนเตือนใจให้เราต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะ สิ่งที่ไม่คาดคิดนั้นเกิดขึ้นอย่างอยู่นอกการควบคุม ซึ่งถือได้ว่าเป็นความเสี่ยง

          Unintended Consequences (UC____ผลที่เกิดขึ้นอย่างมิได้ตั้งใจ) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมิได้ตั้งใจและมองไม่เห็นแต่แรก มันเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ อย่างไม่ควรปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม

          ไอเดียเรื่อง UC มีมายาวนานในความคิดของนักปราชญ์ตะวันตกเช่น John Locke, Adam Smith ฯลฯ ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 ต่อมาได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อมีนักสังคมวิทยาพยายามวิเคราะห์อย่างเป็นระบบของ UC ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสังคม ในเวลาต่อมามีการยก UC ขึ้นเป็น Law of Unintended Consequences เพื่อเตือนให้ระวังการไปแทรกแซงในระบบใดที่มีความซับซ้อนเพราะมีทางโน้มที่จะก่อให้เกิดผลที่คาดไม่ถึงทั้งบวกและลบสูง มันเป็นคำเตือนให้มนุษย์ลดความอวดดีลงในการเชื่อว่าสามารถควบคุมโลกที่อยู่รอบตัวได้อย่างสมบูรณ์

          Robert Merton (1960-2003) คือนักสังคมวิทยาชาวอเมริกันผู้นั้นซึ่งมีชื่อเสียงมากและได้รับการเชิดชูให้เป็นบิดาของวิชาสังคมวิทยาสมัยใหม่ เขาได้ศึกษาและเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1936 โดยสรุปว่า UC แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ (1) ประโยชน์ด้านบวกอย่างที่มิได้คาดไว้ (อาจเรียกว่าโชค) (2) ประโยชน์ด้านลบอย่างไม่ตั้งใจควบคู่ไปกับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้ (สร้างเขื่อนเก็บน้ำเพื่อเกษตรกรรมแต่ได้ผลเสียมาด้วยคือโรคจากทางน้ำที่มีผลเสียต่อสุขภาพ) และ (3) ประโยชน์ด้านลบล้วน ๆ ฃึ่งอาจทำให้ปัญหาเดิมเลวร้ายลงหรือเกิดปัญหาใหม่ขึ้น

          Merton ระบุว่ามี 5 สาเหตุที่ก่อให้เกิด UC ซึ่งได้แก่ (1) ความไม่รู้ว่าตนเอง ไม่รู้ (ignorance) ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะคาดว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น (2) ความผิดพลาดในการวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาโดยกระทำตามสิ่งที่เคยได้ผลในอดีต แต่ใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ปัจจุบัน (3) การพิจารณาที่มุ่งผลระยะสั้นจนบดบังการพิจารณอย่างใคร่ครวญ (4) ค่านิยมพื้นฐานเป็นอุปสรรคทำให้ไม่กระทำบางสิ่งถึงแม้จะตระหนักว่าไม่เป็นประโยชน์ในระยะยาวก็ตาม (ไม่กล้าตัดต้นไม้ใหญ่ติดถนนเพราะเคารพ เจ้าแม่ และต่อมาก็เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง) และ (5) สิ่งที่เรียกว่า self-defeating prophecy กล่าวคือหวาดหวั่นว่าจะเกิดผลเสียขึ้นจนพยายามกระทำการก่อนมีปัญหา ดังนั้นจึงไม่คาดคิดถึงเรื่องการไม่เกิดขึ้นของผลเสียนั้น(ดูตัวอย่างข้างหน้า)

          Self-fulfilling prophecy คือคำพยากรณ์ที่ช่วยทำให้เกิดเป็นจริงขึ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม ตัวอย่างเช่นเศรษฐกิจโดยแท้จริงนั้นไม่อยู่ในสภาวการณ์ที่ดีนัก แต่ถ้ามีคนเชื่อ คำพยากรณ์ว่าปีหน้าจะดีกว่าปัจจุบัน คำทำนายก็เป็นจริงขึ้นมาได้ อาจเนื่องจากมีคนเชื่อและลงทุนกันมากจนเศรษฐกิจดีขึ้นมาจริง ๆ หรือเด็กคนหนึ่งเกิดมาและมีแต่คนบอกว่าจะเป็นคนมีบุญ เด็กก็จะทำตัวเป็นคนดีและเป็นคนมีบุญจริงในที่สุด

          ส่วน self-defeating prophecy นั้นตรงกันข้าม มันเป็นคำพยากรณ์ที่ทำให้คำทำนายนั้นไม่เกิดเป็นจริงขึ้น เช่น กรณีของปัญหาปี 2000 ผู้คนหวาดหวั่นกันทั่วโลกว่าจะเกิดปัญหาการล้มเหลวของเทคโนโลยีเพราะนาฬิกาอ่านเวลาผิด ดังนั้นผู้คนจึงร่วมกันแก้ไขจนคำทำนายไม่เป็นจริง หรือกรณีที่มีคนทำนายว่าจะตายก่อนอายุ 25 ปี เพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ดังนั้นจึงระมัดระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับการขับรถจนคำทำนายนั้นไม่เกิดขึ้นจริง

          ตัวอย่างของ UC มีมากมายในโลก ผู้เขียนขอนำมาใช้เป็นเครื่องเตือนใจในการใช้นโยบายต่าง ๆ ทั้งในระดับรัฐ องค์กรเอกชน และบุคคล โดยขอแยกเป็นด้านดี ด้านดีปนไม่ดี และไม่ดีล้วน ๆ

          ด้านดี ยาทั้งหมดมีผลข้างเคียง เกิด UC อยู่บ่อย ๆ ในด้านลบ ในด้านดีก็ได้แก่ แอสไพริน (เริ่มใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 1899)ฃึ่งเป็นยาลดความเจ็บปวดขนานสำคัญ UC ที่พบก็คือทำให้เลือดไหลลื่นได้คล่องตัวและแข็งตัวช้า ช่วยป้องกัน heart attack และลดความรุนแรงจาก strokes นอกจากนี้ Viagra ในตอนแรกนั้นพัฒนาขึ้นมาเพื่อลดความดันโลหิต แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันเอาไปใช้ประโยชน์ช่วยการไหลของเลือดไปยังองคชาติ

          ด้านดีปนไม่ดี (1) เข็มขัดนิรภัยทำให้ผู้คนเกิดความฮึกเหิมในการขับรถ จนทำให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น แต่งานศึกษาพบว่าช่วยชีวิตคนได้อย่างมาก เมื่อหักลบกันแล้วปรากฎว่าได้ผลดีมากกว่าผลเสีย เราจึงใช้เข็มขัดนิรภัยกันในทุกวันนี้

          (2) มีการนำกระต่ายเข้าไปเลี้ยงในออสเตรเลียโดยผู้บุกเบิกโดยเริ่มใน ค.ศ. 1827 เพื่อเป็นอาหาร แต่มันแพร่พันธุ์รวดเร็วนับเป็นล้านตัว กินพืชผลในแต่ละปีมหาศาล อีกทั้งยังทำลายร่องน้ำและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก (3) ในยุคสมัยอาณานิคม รัฐบาลอังกฤษกังวลที่มีงูจงอางเพ่นพ่านเป็นจำนวนมากในกรุงเดลลี จึงให้รางวัลด้วยการเอาหัวงู (หมายถึงงูไม่ใช่คน)มาขึ้นเงิน ในตอนแรกนโยบายนี้ประสบความสำเร็จ งูจงอางหายไปมาก ต่อมาพบว่ามีคนหัวดีเพาะพันธ์ งูจงอางเพื่อมารับรางวัล ดังนั้นจึงประกาศเลิก งูจงอางที่เลี้ยงไว้จึงไร้ค่าทันที ผู้เลี้ยงจึงพร้อมใจกันปล่อยงู สุดท้ายปรากฏว่าสถานการณ์เลวร้ายกว่าเก่า แถมเสียเงินค่ารางวัลงูไปไม่น้อย

          (4) ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็กในอิสราเอลประสบปัญหาพ่อแม่มารับลูกเกินเวลากันมาก เพื่อแก้ไขปัญหาให้พ่อแม่มารับลูกตรงเวลา ศูนย์จึงเรียกเก็บเงินค่าดูแลลูกเกินเวลาในจำนวนที่สูงพอควร ผลปรากฏว่าพ่อแม่ที่มารับลูกเกินเวลามีจำนวนมากขึ้นเพราะต่อไปนี้ไม่รู้สึกผิดเนื่องจากได้จ่ายเงินให้แล้ว ศูนย์จึงเลิกเก็บเงินค่ามารับเกินเวลา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือพ่อแม่จำนวนมากก็ยังคงมารับลูกสายเช่นเดิมเนื่องจากความรู้สึกละอายใจที่เป็นพ่อแม่มารับลูกสายลดลงไปมากเพราะคนอื่น ๆ ก็มารับสายเช่นกัน

          ด้านไม่ดีล้วน ๆ (1) ในปี 1919 เมื่อเยอรมันนีแพ้สงครามก็ถูกลงโทษอย่างหนัก ต้องจ่ายเงินมหาศาลชดใช้ผู้ชนะ ต้องเสียดินแดนสำคัญ กองทัพถูกบังคับให้มีจำนวนไม่เกิน 100,000 คน ฯลฯ คนเยอรมันไม่มีทางเลือก แต่มีความไม่พอใจในสิ่งที่ถือว่าอยุติธรรมอย่างยิ่ง และนี่คือการปูทางไปสู่ชัยชนะเป็นผู้นำของฮิตเลอร์ในปี 1933 ขัดขืนไม่ยอมปฏิบัติตามสนธิสัญญา Versailles และที่เหลือก็คือเรื่องราวของความหายนะจากสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งมีผู้คนเสียชีวิตรวมกันกว่า 60 ล้านคน

          ผลที่เกิดขึ้นอย่างมิได้ตั้งใจทั้งดีและไม่ดีมักเกิดขึ้นเสมอในทุกการแทรกแซง ข้อผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ข้อหนึ่งในการดำเนินนโยบายก็คือการพิจารณาตัดสินเลือกโครงการโดยดูที่ความตั้งใจดีมากกว่าผลที่เกิดขึ้น