วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
10 กันยายน 2556
มนุษย์แปลกใจเสมอกับการตัดสินใจบางครั้งที่ไม่เข้าท่าของกลุ่มบุคคลหรือคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งต่อมาก็พบว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดจริง คำถามก็คือปรากฏการณ์เช่นนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
การพิจารณาตัดสินใจโดยการใช้กลุ่มบุคคลหรือคณะกรรมการเป็นวิธีปฏิบัติสากลซึ่งเชื่อกันว่าจะได้สิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกลุ่มบุคคลประกอบด้วยผู้เปี่ยมล้นด้วยประสบการณ์ มีใจบริสุทธิ์ ตั้งใจดี และเฉลียวฉลาด
Rolf Dobelli ในหนังสือชื่อ The Art of Thinking Clearly (2013) ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับ สิ่งที่เรียกว่า groupthink เขาถามว่าคุณเคยกัดลิ้นตัวเองโดยไม่พูดอะไรเลย และพยักหน้าเห็นด้วยกับข้อเสนอในที่ประชุมเพราะไม่อยากเป็นคนชอบค้านจนกลายเป็นคนแปลกแยกไหม ยิ่งไปกว่านั้นคุณก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมจึงเห็นด้วยกับข้อเสนอที่กลุ่มหนึ่งเขาเห็นดีเห็นงามกัน
เมื่อทุกคนคิดและทำแบบคุณเขาเรียกพฤติกรรมนี้ว่า groupthink การตัดสินใจที่โง่ ๆ จากกลุ่มบุคคลที่แต่ละคนฉลาดจึงเกิดขึ้นได้
groupthink เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเนื่องมาจากอิทธิพลของการทำตามกัน เราไม่เคยเห็นเด็กชั้นประถมที่ไม่ร้องเพลงตามเพื่อน เราไม่เคยเห็นผู้ใหญ่ที่ไม่ปรบมือเมื่อคนทั้งห้องเขาปรบมือกัน เราไม่เห็นคนขวางโลกที่นั่งหน้าบึ้งตึงท่ามกลางเสียงหัวเราะขบขันของผู้ร่วมฟังเดี่ยวไมโครโฟน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ก็เพราะมุนษย์เราต่างมีสัญชาตญาณฝูงสัตว์ (herd instinct) ที่ติดตัวมากว่า 150,000-200,000 ปี ตั้งแต่เราเป็น “มนุษย์สมัยใหม่”
ในยุคที่เราอยู่ในถ้ำล่าสัตว์เป็นอาหาร ถ้าขณะที่เพื่อนซึ่งออกไปล่าสัตว์ด้วยกัน หยุดเดินทันทีและกลับหลังหันวิ่ง เราคงไม่หยุดและคอยดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นเป็นแน่เพราะรู้ว่าอาจมีภัยอันตรายเกิดขึ้นได้ สิ่งที่เราคงทำก็คือหันหลังวิ่งตามเพื่อนอย่างแน่นอน (อาจวิ่งแซงหน้าด้วยซ้ำ)
ราคาหุ้นที่ตกลงอย่างน่ากลัวหรือภาวะฟองสบู่ที่เกิดจากการเก็งกำไรก็เป็นผลพวงจาก สัญชาตญาณฝูงสัตว์ และจากอิทธิพลของการทำตามกันนี่แหละ การที่ละคร sit-com ในโทรทัศน์สอดแทรกเสียงหัวเราะจากเทปเข้าไปด้วยตรงจุดที่คิดว่าตลกก็หวังใช้ประโยชน์จากอิทธิพลของการตามกัน กล่าวคือกระตุ้นให้รู้สึกขบขันตามเสียงหัวเราะนำ
ในการประชุมครั้งหน้าถ้าสังเกตดูให้ดีอาจเห็นการทำงานของ groupthink ก็เป็นได้ ถ้าในการประชุมนั้นมีผู้นำทางความคิดที่พูดเก่งโน้วน้าวใจคน หรือเป็นผู้ใหญ่อาวุโสสูงอยู่สักคน และมีผู้มักตามความเห็นอยู่สัก 2-3 คนในคณะกรรมการ เชื่อได้ว่าเกือบทุกการตัดสินใจจะมาจากสิ่งที่คนกลุ่มนี้เห็นพ้องกัน คนอื่น ๆ จะนั่งเงียบไม่ปฏิเสธ โดยอยู่ในสภาวะอารมณ์ของคนไม่อยากเป็นคน ช่างค้าน ลักษณะอย่างนี้แหละที่อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ไม่ยากนัก
อีกเงื่อนไขที่ทำให้เกิด groupthink ก็คือเมื่อกลุ่มบุคคลที่รักใคร่สนิทสนมร่วมจิตวิญญาณเดียวกันประชุมเพื่อตัดสินใจหาคำตอบ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือภาพลวงตาของความเป็นเอกฉันท์ กล่าวคือถ้าส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทางเลือกเดียวกันแล้ว ใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยต้องผิดอย่างแน่นอน
เมื่อความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นก็จะไม่มีใครที่ไม่เห็นด้วย เพราะไม่อยากเป็นคนที่ทำลายความสามัคคีของทีมและเป็นคนแปลกแยกที่น่ารำคาญ เมื่อความรู้สึกเป็นเช่นนี้ทุกครั้งที่ทีมหารือกันก็จะได้คำตอบที่เป็นเอกฉันท์เสมอโดยคำตอบนี้มักมาจากผู้มีอิทธิพลทางความคิดเพียงคนเดียว ซึ่งมักเป็นหัวหน้าทีม เงื่อนไขนี้แหละที่จะทำให้พากันลงเหวอยู่บ่อย ๆ
นาซีในสงครามโลกครั้งที่สองผิดพลาดในลักษณะที่ว่านี้ ในยุคแรกก่อนเผด็จการสมบูรณ์แบบของระบบนาซี ไม่ว่าประชุมหารือกันอย่างวิถีประชาธิปไตยครั้งใด ข้อตกลงก็เป็นไปตามที่ฮิตเลอร์ต้องการเสมอ และจุดจบของนาซีเราก็ได้เห็นกันแล้วจากประวัติศาสตร์
สายการบิน Swissair ที่มีชื่อเสียงม้วนเสื่อไปในปี 2001 ก็เพราะการทำงานของ groupthink เรื่องก็มีอยู่ว่าบริษัทที่ปรึกษาที่จ้างมามีอิทธิพลต่อ CEO ของ Swissair และกรรมการบริษัทที่มีอิทธิพลบางคนเกินขอบเขต จนในที่สุดคณะกรรมการบริษัทตกลงใจกู้เงินเพื่อขยายกิจการครั้งใหญ่เพราะภาคภูมิใจผลสำเร็จของการประกอบการ โดยเริ่มซื้อกิจการหลายสายการบินในยุโรป แต่เมื่อเศรษฐกิจโลกผันผวน เงินสดขาดมือ Swissair ก็ต้องล้มไป
เราเห็นคำตัดสินของคณะกรรมการภายใต้การทำงานของ groupthink อยู่บ่อย ๆ แต่โชคดีที่มิได้เป็นการตัดสินใจที่ผิดฉกรรจ์ แต่คำถามก็คือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าในการประชุมในอนาคต groupthink จะไม่ทำร้ายเราจนบาดเจ็บสาหัสได้