น้ำผึ้งฤาถึงจุดจบ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
17 กันยายน  2556

          น้ำผึ้งเป็นหนึ่งในสิ่งอัศจรรย์ของโลกที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์ อย่างไรก็ดีในช่วงเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ที่น่าตกใจได้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา นั่นก็คือการล้มหายตายจากของผึ้งซึ่งเป็นกองทัพสร้างน้ำผึ้งจำนวนมาก สัญญาณเช่นนี้หมายถึงจุดเริ่มต้นการสูญสลายของน้ำผึ้งไปจากโลกหรือไม่

          มนุษย์เอาน้ำผึ้งป่ามาเป็นอาหารไม่ต่ำกว่า 15,000 มาปีแล้ว ภาพเขียนในถ้ำอายุ 8,000 ปีของเมืองวาเล็นเซียในสเปนแสดงให้เห็นคนสองคนกำลังช่วยกันปีนเก็บรังผึ้งโดยใช้บันได หลักฐานอีกชิ้นก็คือการพบตะกอนน้ำผึ้งอยู่บนภาชนะในหลุมฝังศพที่ประเทศจอร์เจีย ซึ่งมีอายุ 4,700-5,500 ปี ผู้คนในบริเวณนั้นตั้งใจให้น้ำผึ้งเป็นอาหารของผู้ตายระหว่างเดินทางไปสู่โลกหน้า

          ยุคอียิปต์เมื่อ 5-6 พันปีก่อนก็ใช้น้ำผึ้งเป็นส่วนหนึ่งของสารช่วยเก็บรักษามัมมี่ ซึ่งมีทั้งมัมมี่คนและสัตว์เลี้ยง ทั้งคนอียิปต์และโรมันใช้น้ำผึ้งผสมในขนมเพื่อสร้างความหวาน

          ศิลปะของการเลี้ยงผึ้งปรากฏในตำราจีนโบราณซึ่งไม่อาจระบุอายุได้ แต่เป็นที่ชัดเจนว่ามนุษย์เลี้ยงผึ้งเพื่อเอาน้ำผึ้งมาใช้นานหนักหนาแล้ว มิได้หวังพึ่งน้ำผึ้งป่าแต่เพียงอย่างเดียว

          การเลี้ยงในลักษณะสมัยใหม่ กล่าวคือสร้างรังเพื่อให้ผึ้งไปทำรังโดยสามารถย้ายไปมาได้เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 หลังจากที่เข้าใจธรรมชาติของผึ้งและการสร้างน้ำผึ้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกพันธุ์ผึ้งมาเลี้ยง

          ในศตวรรษที่ 19 นวตกรรมการเลี้ยงผึ้งทั้งการสร้างรังและการผลิตน้ำผึ้งก้าวหน้าไปเป็นอันมาก นักบุกเบิกชาวอเมริกันชื่อ Walter T. Kelley ประสบความสำเร็จในการออกแบบรัง และการผลิตน้ำผึ้งอย่างเป็นกอบเป็นกำ

          ผึ้งแบ่งได้เป็น 3 พวก พวกแรกคือผึ้งงาน (worker) มีหน้าที่สร้าง เก็บ ป้องกัน รังผึ้ง และผลิตน้ำผึ้ง มีอายุอยู่ได้ 20-30 วัน พวกสองคือผึ้งผสมพันธุ์ (drone) มีหน้าที่ผสมพันธุ์กับแม่ผึ้งแต่เพียงอย่างเดียวและตายทันทีหลังจากผสมพันธุ์เสร็จ พวกสามคือแม่ผึ้ง (queen) มีหน้าที่วางไข่วันละ 1,500 ใบ หรือกว่านั้น จะปล่อยสาร pheromones เพื่อควบคุมผึ้งงาน

          ผึ้ง 6 พันธุ์ใน 20,000 พันธุ์คือพวกที่สามารถเอามาใช้ผลิตน้ำผึ้งเชิงพาณิชย์ได้ ผึ้งมีตัวเลขที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ (1) ผึ้งงานหนึ่งตัวตลอดชีวิตจะผลิตน้ำผึ้งได้ 1/12 ช้อนชา (2) ในการผลิตน้ำผึ้งหนัก 1 ปอนด์ (0.4 กิโลกรัม) ผึ้งงานต้องบินเพื่อเก็บน้ำหวานจากเกสรดอกไม้รวมกันทั้งสิ้นเป็น ระยะทาง 89,000 กิโลเมตรโดยสัมผัสดอกไม้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านดอก

          ผึ้งมีหน้าที่สำคัญคือเป็นตัวกลางในการนำเกสรตัวผู้และตัวเมียมาผสมกันจนเกิดเป็นผลและเมล็ดขึ้น พืชบางอย่างเกสรผสมกันเองได้โดยไม่ต้องอาศัยผึ้ง แต่พืชหลายอย่างต้องอาศัยผึ้งในระดับที่แตกต่างกัน เช่น อัลมอนด์ อาศัยผึ้ง 100% แอปเปิ้ล หน่อไม้ฝรั่ง อะโวกาโด บล็อคโคลี่และหัวหอมต่างพึ่งผึ้ง 90% และพืชผลไม้อื่น ๆ ดังนี้ แตงโม (65%) ส้ม (45%) มะนาว (20%) ถั่ว (2%) และองุ่น (1%)

          ผึ้งเป็นแรงงานที่ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแม้แต่สตางค์แดงเดียว แต่กลับสร้างมูลค่าพืชผักผลไม้ซึ่งแปรเป็นรายได้มหาศาล ไม่รู้ว่าเป็นเพราะมนุษย์ไม่สำนึกในบุญคุณของผึ้ง หรือด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์อย่างอื่นที่ทำให้ผึ้งพันธุ์ที่ใช้ผลิตน้ำผึ้งในสหรัฐอเมริกามีจำนวนที่ลดลงอย่างผิดสังเกตในช่วงเวลา 7 ปี ที่ผ่านมา

          ในปี 2006 นักเลี้ยงผึ้งอเมริกันตกใจมากเมื่อเปิดกล่องรวงผึ้งและพบว่ามีจำนวนผึ้งเหลือเพียงครึ่งเดียว บางลังก็ไม่มีผึ้งเลย ในช่วงฤดูหนาวของปี 2012 จำนวนรังผึ้งในสหรัฐอเมริกาหายไปถึง 1 ใน 3 ซึ่งการหายไปนี้เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับจำนวนของปีก่อนในเวลาเดียวกัน (ปกติจะหายไปเพียง ร้อยละ 10-15)

          นักวิทยาศาสตร์เรียกปรากฏการณ์ที่น่ากลัวนี้ว่า CCD (Colony-Collapse Disorder) ข้อกังวลนี้มิใช่หมายถึงเพียงการลดลงของปริมาณน้ำผึ้งเท่านั้น หากจะกระทบอย่างมากต่อผลผลิตการเกษตรที่ต้องอาศัยผึ้ง หากไม่แก้ไขปัญหาแล้วอัลมอนด์ซึ่งอาศัยผึ้งมากที่สุดและเป็นพืชเกษตรสำคัญที่สุดของรัฐแคลิฟอร์เนียก็จะต้องสูญอนาคตไป

          หลังจากการวิเคราะห์โดยวงวิชาการและภาครัฐก็คาดว่าสาเหตุน่าจะมาจาก (1) ยาฆ่าแมลงตระกูล neonicotinoid ซึ่งใช้กันแพร่หลายตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ไม่ว่าในพืชเกษตร หรือแปลงดอกไม้หลังบ้าน ยานี้ต่างจากยาฆ่าแมลงอื่น ๆ เพราะเมล็ดจะถูกแช่ในน้ำยา neonicotinoid ก่อนนำไปปลูก ดังนั้นยาจะปรากฏอยู่ในทุกส่วนของพืชซึ่งรวมไปถึงเกสรดอกไม้ด้วย

          ผู้เลี้ยงผึ้งเชื่อว่ายาฆ่าแมลงชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญ จากการทดลองพบว่าเมื่อผึ้งสะสม ยาฆ่าแมลง neonicotinoid ในร่างกายในระดับหนึ่งแล้วประสาทของมันจะถูกทำลายจนไม่สามารถบังคับการบินให้ถูกทิศทางได้ และตายในที่สุด

          (2) ฆาตกร varroa ซึ่งเป็นแมลงตัวเล็กมองไม่เห็นสามารถเจาะเซลล์ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนการเลี้ยงตัวอ่อนจนทำให้ตัวอ่อนตาย ฆาตกรตัวร้ายนี้ปรากฏในสหรัฐอเมริกาในปี 1987 โดยเชื่อว่าติดมากับผึ้งที่นำเข้าจากอเมริกาใต้ (3) แบคทีเรียหรือฟังกัสที่นำเชื้อโรคมาฆ่าผึ้งทั้งรังได้นั้นมีอยู่หลายตัวซึ่งอาจมีบทบาทร่วมอย่างสำคัญ

          น้ำผึ้งมีสรรพคุณเป็นยาและอาหารสุขภาพชั้นเลิศ ถ้ามนุษย์ไม่ดูแลผึ้งซึ่งทำงานหนักมากเพื่อสร้างน้ำผึ้งให้ชาวโลกภายใต้ความสมดุลของธรรมชาติแล้ว ธรรมชาติอาจทวงกลับไปจากมนุษย์ก็ได้และหลังจากจุดนั้นแล้ว อีกหลายอย่างก็อาจถูกทยอยทวงกลับคืนไปก็เป็นได้