วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
17 ธันวาคม 2556
เมื่อเร็ว ๆ นี้นิตยสาร Time ระบุ 25 ประดิษฐกรรมในปี 2013 ที่เยี่ยมยอดที่สุด ขอนำเอาบางประดิษฐกรรมที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง
ประดิษฐกรรมแรกคือยาเม็ดที่เมื่อกินเข้าไปแล้วจะส่ง password ออกมาเพื่อให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการจดจำอีกต่อไปในการใช้เครื่องมืออิเล็กโทรนิกส์
ยานี้เรียกว่า edible password pill ถ้ากินวันละเม็ดก็จะช่วยทำให้การใช้อุปกรณ์ไอทีที่ต้องใช้ password เป็นไปอย่างสะดวก เพราะข้างในเม็ดยาจะมีชิปเล็ก ๆ ฝังอยู่ เมื่อยาทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหารก็จะเกิดพลังปลุกให้ชิปทำงาน
เมื่อชิปทำงานก็จะส่งคลื่นไฟฟ้าคล้ายคลื่นสมองที่เรียกว่า EKG ออกมาเป็นสัญญาณเฉพาะให้โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องมืออื่น ๆ ของเราทำงานทันที พูดง่าย ๆ ก็คือยานี้เปลี่ยนให้ร่างกายของเราผลิต password เจ้าของงานประดิษฐ์ก็คือ Motorola ซึ่งปัจจุบัน Google เป็นเจ้าของ
เมื่อยานี้ออกขายในตลาด เราก็ไม่ต้องแอบจดหรือจำ password แล้ว จะตั้ง password ให้มันประหลาดยากแก่การแฮ็กอย่างไรก็ทำได้ ประเด็นก็คือต้องมียานี้ไว้ใช้ประจำตัว หากมันมีราคาแพงก็ต้องรอใช้ชิปมือสองหรือรีไซเคิลคือถ่ายออกมาจากร่างกายแล้ว
ประดิษฐกรรมที่สองคือการทำให้ตึกที่สูงจนบังวิวเมืองหายไปชั่วคราว ในเกาหลีตึก The Tower Infinity จะสูง 450 เมตรเสียดเมฆ คนจำนวนมากบ่นว่าทำให้เมืองดูน่าเกลียดและไม่สวยงาม ดังนั้นบริษัทสถาปนิกชนะเลิศการประกวดจึงเสนอไอเดียที่เหลือเชื่อ
วิธีการทำให้ไม่เห็นตึกสูงวันละ 2-3 ชั่วโมงก็คือเอากล้องดิจิตอลชนิดความชัดคมสูงมากที่ทนต่อสภาวะอากาศขึ้นไปติดบนตึกพร้อมกับใช้เทคโนโลยีหลอดไฟ LED ผสมกันเพื่อทำให้มองเห็นตึกเตี้ยลงมาก ส่วนที่มองเห็นว่าหายไปมาจากการบังแสงสว่างจากส่วนยอดของตึกก็คือทำให้ตึกมืดพร้อมกับใช้เทคโนโลยีไอทีสร้างความแนบเนียน
อย่างไรก็ดีผู้ประดิษฐ์ย้ำว่าเครื่องบินและนกจะยังคงมองเห็นตึกเป็นปกติ มิฉะนั้นอาจบินชนได้ ขณะนี้ตึกยังก่อสร้างไม่เสร็จ อีกสัก 3-4 ปี เมื่อเสร็จแล้วคงเป็นจุดเด่นสำหรับการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน อย่างนี้เขาเรียกว่า creative economy หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวคือสร้างรายได้จากความคิดริเริ่มและนวตกรรม
ประดิษฐกรรมที่สาม คือการลบความทรงจำที่ไม่ต้องการ มนุษย์นั้นเจ็บปวดจากการจำสิ่งที่อยากลืม และชอบลืมสิ่งที่ควรจำมาตลอดประวัติศาสตร์ ถ้าทำให้มันกลับกันได้มนุษย์ก็จะมีความสุขขึ้นอีกมาก
การที่คนอายุมากขึ้นมักขี้ลืมมากขึ้นนั้น ธรรมชาติจงใจช่วยให้มนุษย์มีความเจ็บปวดน้อยลงเพราะในยามชรามีเวลาให้ครุ่นคิดมากขึ้น หากความทรงจำไม่บุบสลายเลย ยังจำถึงสิ่งที่ทำให้เสียใจในอดีตได้แม่นยำ ความเจ็บปวดก็ยิ่งมีมาก อย่างไรก็ดีหากมัวแต่ทิ้งให้ธรรมขาติช่วยรักษาก็อาจสายไปเพราะบางคนถูกผลกระทบจากความทรงจำเหล่านั้นจนทำให้มีอาการซึมเศร้า หรือเกิดผลกระทบทางลบต่อจิตใจอย่างรุนแรงหลังเหตุการณ์
นักวิจัยที่ MIT ได้ทดลองกับหนูเพื่อให้มีความจำที่ผิดเกิดขึ้น เราเคยเห็นมนุษย์ บางคนทึกทักจริงจังว่าตนเองเป็นคนริเริ่มทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องจริงเลย สิ่งที่เขาเชื่อว่าเกิดขึ้นจริงนั้นโดยแท้จริงแล้วมาจากความเชื่อซึ่งคนอื่นเป็นคนเอาไปใส่ในหัวให้
ถ้าเราพยายามทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นในมนุษย์ได้ โดยทำให้สิ่งที่ได้เกิดขึ้นจริงกับเขาเป็นสิ่งที่เขาเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องจริงเสีย ความทรงจำอันขมขื่นนั้นก็จะหายไป พูดง่าย ๆ ก็คือทำให้ความทรงจำที่เกิดขึ้นจริงกลายเป็นความทรงจำผิด ๆ ในสมองเรา
นักวิจัยประสบความสำเร็จกับการทดลองกับหนู โดยสามารถควบคุมให้เซลล์สมองในส่วนที่เกี่ยวกับความจำทำงาน จากนั้นก็ติดตามดูผลการทำงานของเซลล์เหล่านี้ นักวิจัยใช้กระแสไฟฟ้าช็อตเพื่อดูปฏิกิริยาและพบว่าสามารถลวงให้สมองหนูตอบรับว่าถูกช็อตในอีกที่หนึ่ง ทั้ง ๆ ที่โดยแท้จริงแล้วความเจ็บปวดนั้นเกิดขึ้นในอีกที่หนึ่ง
การค้นพบขั้นต้นนี้นับว่าเป็นประโยชน์ต่องานวิจัยความจำของมนุษย์ต่อไป ถึงแม้ว่ามันจะไม่เป็นประโยชน์ต่อหนู (หนูจริง ๆ ไม่ใช่หนูปากแดง) ทั้งในปัจจุบันและอนาคตเลยก็ตาม
สิ่งประดิษฐ์อีกชิ้นหนึ่งคือ 3 doodler หรือปากกาพิเศษที่เมื่อเขียนลากเป็นลายเส้นแล้วจะออกมาเป็นสิ่งของที่จับต้องได้ตามเส้นที่เขียน การทำงานของ 3 doodler ก็คล้ายกับเครื่องพิมพ์ 3-D (3 มิติ) ในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อพิมพ์ออกมาก็เป็นสิ่งของที่จับต้องได้ เช่น ภาพตุ๊กตา ก็จะพิมพ์ (ผลิต) ออกมาเป็นตัวตุ๊กตาซึ่งสามารถสัมผัสได้
มนุษย์ที่หลับไปร้อยปีแล้วตื่นขึ้นมาเหมือนนิทาน Rip Van Winkle คงอาจช็อกจนเกือบหัวใจวายกับสิ่งที่เห็นในปัจจุบัน อาจขอกลับไปหลับต่อก็เป็นได้