อย่าลืมไต้หวัน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
18 มีนาคม  2557

          ครั้งหนึ่งไต้หวันดูจะเป็นที่คุ้นเคยของคนไทย แต่เมื่อกระแสจีน อาเซียน และเกาหลีพุ่งสูงขึ้น ไต้หวันก็ดูเหมือนถูกมองข้ามไป

          ชื่อดั้งเดิมของไต้หวันตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 คือฟอร์โมซา นักเดินเรือปอตุเกสเป็นผู้ตั้งชื่อว่า Ilha Formosa ซึ่งหมายถึง Beautiful Island

          ในสมัยโบราณ เมืองหลวงเก่าแก่เป็นเมืองท่าอยู่ทางใต้มีชื่อว่า “ไต้หวัน” แต่ต่อมาชื่อเมืองกลับกลายเป็นชื่อเกาะ ดังนั้นเมืองนี้จึงต้องมีชื่อใหม่ว่า Tainan ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองท่องเที่ยว มีอารยธรรมดั้งเดิมก่อนที่ความเจริญจะแพร่ขึ้นไปทางเหนือคือไทเปซึ่งเป็นเมืองหลวงปัจจุบัน

          เกาะนี้อยู่ภายใต้การครอบครองของพวกดัชจนกระทั่งถึงราชวงศ์ชิง จึงตกอยู่ในมือของจีนนับตั้งแต่ ค.ศ. 1683 โดยอยู่ภายใต้มณฑลฝูเจี้ยนอันเป็นแหล่งที่อยู่ของคนฮกเกี้ยนเป็นส่วนใหญ่

          ในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งแรกระหว่าง ค.ศ. 1894-1895 เกาะไต้หวันก็ตกเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่น จนกระทั่งอีก 50 ปีต่อมาเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ไต้หวันจึงมีประวัติศาสตร์ใหม่

          ในปี 1949 เมื่อสงครามกลางเมืองในจีนสงบลงโดยพรรคคอมมูนิสต์ของเหมา เจอ ตุง เป็นผู้ชนะได้ครอบครองแผ่นดินใหญ่ จอมพลเจียงไคเช็คแห่ง Republic of China ผู้พ่ายแพ้ก็ต้องยึดเกาะไต้หวันเป็นฐาน และตั้งแต่นั้นมาไต้หวันก็เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจจนกลายเป็นหนึ่งในเสือ 4 ตัวของเอเชีย

          ในปี 1945 เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม จอมพลเจียงไคเช็คประธานาธิบดี Republic of China เป็นผู้ปลดอาวุธญี่ปุ่นแทนฝ่ายพันธมิตร และได้ไต้หวันมาเป็นดินแดน ในตอนนั้นคงมองอยู่เหมือนกันว่าถ้าแพ้สงครามกลางเมืองก็จะมายึดเกาะนี้เป็นหัวหาด

          การมองเช่นนี้มิใช่สิ่งผิดเพราะตลอดเวลาที่ญี่ปุ่นยึดครองไต้หวัน 50 ปี ถึงแม้จะประสบปัญหากับคนพื้นเมืองและคนจีนรบราฆ่าฟันกันมาตลอด แต่ก็ได้สร้างเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน (รถไฟ ถนน) อาคารตึกรามบ้านช่อง ระบบน้ำทิ้ง ตลอดจนรากฐานการศึกษา (ตั้ง National Taiwan University ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลกในปัจจุบัน) ไว้เป็นอย่างดี

          ด้วยโครงสร้างที่ดีเช่นนี้เมื่อไต้หวันเดินเครื่องด้วยการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา (โดยเฉพาะในระหว่างสงครามเกาหลีต้นทศวรรษ ค.ศ. 1950 ไต้หวันเป็นฐานสนับสนุนการผลิตที่สำคัญ) และโลกตะวันตก เศรษฐกิจก็รุดหน้าไปไกลกว่าจีนแผ่นดินใหญ่คู่แข่งดั้งเดิมเป็นอันมากในทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970

          ถึงแม้ไต้หวันจะประสบปัญหาการถูกมองข้ามทางการเมืองเมื่อจีนได้รับการยอมรับจากสหรัฐอเมริกาและโลกนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา แต่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจก็มิได้ลดลงเมื่อผนวกกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีอุตสาหกรรม เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และไอที คนไต้หวันมีรายได้ต่อหัวสูงทัดเทียมประเทศพัฒนาแล้วในปัจจุบัน

          คนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีประมาณ 200,000 บาท คนไต้หวันมีรายได้สูงกว่า คนไทย 3.4 เท่า คนญี่ปุ่น 6 เท่า และคนเกาหลี 3.8 เท่า

          จำนวนเท่าเหล่านี้น่าตื่นเต้นแต่อย่าลืมว่าค่าครองชีพก็สูงตามไปด้วย ดังเช่นเกาหลี ญี่ปุ่น ยกเว้นไต้หวัน

          ผู้เขียนได้ประสบด้วยตนเองเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ค่าครองชีพของคนไต้หวันใกล้เคียงกับคนไทยในเมืองใหญ่ (ค่าเล่าเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนก็ใกล้เคียงกัน) แต่คนไต้หวันมีรายได้มากกว่าคนไทย 3.4 เท่า ตัวเลขเช่นนี้ทำให้เห็นภาพได้ว่าคนไต้หวันมีคุณภาพชีวิตสูงอย่างเงียบ ๆ เพียงใดในโลกปัจจุบัน

          สาเหตุสำคัญที่ไต้หวันสามารถรักษาค่าครองชีพให้ต่ำไว้ได้ก็คือเทคโนโลยีการเกษตรที่ก้าวหน้ามีผลผลิตสูงจนทำให้ต้นทุนอาหารอยู่ในระดับต่ำ กอบกับการไม่ใช้จ่ายเงินเกินตัวของภาครัฐ ทำให้อำนาจซื้อของประชาชนและภาครัฐสมดุลกับผลผลิตจนส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อต่ำ นอกจากนี้ความสามารถในการส่งออกทำให้ค่าเงินดอลล่าร์ไต้หวันไม่อ่อนจนทำให้น้ำมันและวัตถุดิบที่นำเข้ามีราคาสูงด้วย

          ไต้หวันมีจุดแข็งด้านการศึกษาในทุกระดับ ถึงแม้จะมีจำนวนสถาบันอุดมศึกษาใกล้เคียงกับไทยคือประมาณ 170 แห่ง (แต่มีประชากรเพียง 23 ล้านคน) ทางการของไต้หวันก็สามารถควบคุมดูแลรักษากฎเกณฑ์ บังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาคุณภาพการศึกษาได้อย่างแข็งขัน

          ไต้หวันมีปัญหาเรื่องสีเช่นเดียวกัน ในทางการเมืองความคิดของคนไต้หวันแบ่งออกเป็นสองสีคือพวกสีน้ำเงินซึ่งมองว่าในระยะยาวนั้นการรวมตัวกับจีนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ในระยะเวลาสั้นไม่เห็นด้วยกับการรวมตัวกับจีนซึ่งเป็นความเห็นอย่างท่วมท้นของ คนไต้หวัน

          อีกสีหนึ่งคือพวกสีเขียวซึ่งต้องการอิสรภาพของไต้หวัน ไม่ต้องการรวมตัวกับ จีน หากปรารถนาความเป็นไต้หวัน อย่างไรก็ดีในระยะเวลาสั้นเห็นว่าควรจะคงสถานะไว้อย่างเดิม ไม่ควรไปแหย่หางเสือ

          ไต้หวันมีโจรผู้ร้ายน้อยกว่าไทย บ้านเมืองสวยงามสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ประชาชนมีเสรีภาพทางการเมือง และมีความมั่นคงในชีวิตหากไม่คิดไปไกลถึงจีนซึ่งเป็นอิทธิพลคุกคามอยู่ลึก ๆ ในใจของคนไต้หวันทุกคน

          คนไต้หวันเป็นนักลงทุนสำคัญในธุรกิจ SME’s ของไทยมาตั้งแต่สมัยเมื่อ 30-40 ปีก่อน เทคโนโลยีการเกษตรของไทยหลายอย่างมาจากไต้หวัน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมเครื่องกล ฯลฯ

          ไต้หวันมีวัฒนธรรมจีน แต่ก็ไม่ใช่จีนที่ขาดความเป็นตัวเป็นตน หากมีพลังเข้มแข็งบนฐานคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีในระดับโลก