วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
25 มีนาคม 2557
ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้นในการเดินทางด้วยเครื่องบิน ผู้คนก็จะหวาดผวา การบินกันไปพักหนึ่ง ในช่วงเวลานี้ก็หาความสบายใจไม่ค่อยได้เพราะไม่รู้ว่ามันปลอดภัยจริงหรือไม่ วันนี้ลองมาดูกันว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินนั้นปลอดภัยหรือไม่เพียงใด
เหตุการณ์ผิดปกติของสายการบินมาเลเซียเที่ยวบินที่ MH370 เมื่อไม่นานมานี้ถือได้ว่าติดอันดับ แต่เที่ยวบิน AF447 ของ Air France เมื่อปี 2009 ก็ไม่ยิ่งหย่อนเพราะใช้เวลาเกือบ 2 ปี จึงจะพบสถานที่ตกและพบกล่องดำของเครื่องบิน และสามารถเอาศพของผู้โดยสารบางส่วนขึ้นมาได้อีกจากความลึกประมาณ 4 กิโลเมตรในมหาสมุทรแอตแลนติค
AF447 บินระหว่างเดอไจนาโรของบราซิลกับปารีส เที่ยวนั้นนอกจากกัปตันแล้วยังมีนักบินผู้ช่วยอีกถึง 2 คน (ปกติเครื่องบิน Airbus A330 ใช้นักบินเพียง 2 คนเท่านั้น) จากกล่องดำซึ่งบันทึกเสียงที่พูดกันในห้องนักบินและการทำงานของเครื่องบินทั้งหมด และหลักฐานประกอบต่าง ๆ อย่างกว้างขวางก็สรุปได้ว่าเครื่องบินสูญเสียการควบคุมเนื่องจากน้ำแข็งไปอุดช่องส่งสัญญาณวัดความเร็วจนนักบินไม่ทราบตัวเลขที่แท้จริง นอกจากนี้ความผิดพลาดของนักบินจากความไม่สันทัดการควบคุมเครื่องบินด้วยมือหลังจากหลุดมาจากโหมดการบินด้วยเครื่องบังคับอัตโนมัตก็มีส่วนช่วยทำให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น
ทุกครั้งของอุบัติเหตุการบินที่เกิดขึ้น โดยแท้จริงแล้วมิได้เกิดจากสาเหตุภายนอกอย่างเดียว หากมีปัจจัยอื่นประกอบด้วยจนช่วยทำให้เหตุการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น บ่อยครั้งมาจากการที่นักบินมิได้แก้ไขปัญหาจากภายนอกที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจัยความผิดพลาดของมนุษย์จึงมักมีบทบาทร่วมอยู่ด้วยเสมอ
เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นบริษัทเครื่องบินก็ชอบที่จะโทษนักบิน สายการบินก็พยายามโทษความผิดพลาดของกลไกเครื่องบิน ผู้ควบคุมการบินเพื่อนำร่องเครื่องบินและขึ้นลงก็พยายามคุ้มครองตัวเอง ดังนั้นการสอบสวนทุกอุบัติเหตุจึงกินเวลานาน ผ่านการต่อสู้เชิงความคิดและการถกเถียง ทั้งในแง่วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และการเมืองกว่าจะหาข้อสรุปได้ บางครั้งก็มีหลายรายงานกว่าจะลงตัวกันในที่สุด
AF447 ทำให้ผู้โดยสาร 216 คนกับเจ้าหน้าที่เครื่องบิน 12 คน เสียชีวิตหมด ผ่านไป 5 วันก็เก็บศพได้จำนวนหนึ่งแต่ใช้เวลาอีกเกือบ 2 ปีกว่าจะหาเครื่องบินพบและสามารถนำศพขึ้นมาได้อีกจำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือ 74 รายไม่สามารถหาพบ ความสยองขวัญครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลกการบินสมัยใหม่เนื่องจากในปัจจุบันการเดินทางด้วยเครื่องบินปลอดภัยกว่าสมัยก่อนอย่างเทียบกันไม่ได้
เครื่องบินปัจจุบันมีความก้าวหน้าเป็นอันมากทางด้านเทคโนโลยี ชิ้นส่วนหลายล้านชิ้นประกอบกันขึ้นเป็นเครื่องจักรหนักกว่า 150 ตันที่ช่วยให้มนุษย์สมัยใหม่เดินทางได้อย่างรวดเร็ว และปลอดภัยในระดับที่สูงมาก
ข้อมูลที่ยอมรับในเชิงสถิติก็คือถ้าท่านขึ้นเครื่องบินโดยสารพาณิชย์สายใดโดยไม่เฉพาะเจาะจงทุกวัน ท่านจะต้องใช้เวลา 26,000 ปี จึงจะมีโอกาสประสบอุบัติเหตุ
ถ้าเป็นสหรัฐอเมริกาซึ่งมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ความเสี่ยงที่จะประสบอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิตในเที่ยวบินพาณิชย์หนึ่ง คือ 1 ใน 23 ล้าน ซึ่งพอ ๆ กับความเป็นไปได้ที่เด็กคนหนึ่งในประเทศนั้นจะเติบโตและได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี
ในปี 2000 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาตก 92 คน แต่มีคนตายด้วยรถยนต์ 41,800 คน ถ้าจะหลีกหนีข้อถกเถียงว่าคนเดินทางด้วยรถยนต์มากกว่าก็ต้องมีจำนวนผู้ตายมากกว่าเป็นธรรมดาออกไป ก็ต้องใช้จำนวนการตายต่อกิโลเมตรแทน
เมื่อคำนึงถึงจำนวนการตายต่อระยะทางแล้ว โดยทั่วไปสำหรับเครื่องบินมีจำนวน การตาย 0.01 ต่อ 100 ล้านไมล์ของการเดินทางของผู้โดยสาร 0.05 จำนวนการตายต่อ 100 ล้านไมล์ของผู้โดยสารด้วยรถโดยสารและรถไฟ และจำนวนการตาย 0.72 ต่อ 100 ล้านไมล์ของการเดินทางของรถยนต์ สำหรับประเทศที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษในการเดินทางทางบก ตัวเลขการตายอาจสูงกว่าสถิตินี้
ถ้าคำนึงถึงความเป็นไปได้โดยทั่วไปแล้ว ผู้เดินทางคนหนึ่งในเที่ยวหนึ่งมีความเป็นไปได้ในการตายจากเครื่องบินตก 1 ใน 11 ล้าน ในขณะที่มีความเสี่ยงในการถูกฉลามกัดตาย 1 ใน 3.7 ล้าน
ในระดับโลกระหว่างปี 2009 ถึง 2011 โดยเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตจากเครื่องบินโดยสารพาณิชย์ตกปีละ 800 คน ในขณะที่บ้านเราทุกชั่วโมงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์เกือบ 2 คน (ปีละ 17,520 คน) ดังนั้นเพียงหนึ่งปีแค่ประเทศไทยก็มีผู้เสียชีวิตจากรถยนต์มากกว่าเครื่องบินตกทั่วโลกแล้ว
สำหรับคนที่กลัวการบินเพราะได้ฟังข่าวอุบัติเหตุของเครื่องบินอยู่เนือง ๆ สิ่งที่ทำให้ น่ากลัวก็คือลักษณะการตายของผู้โดยสาร มักเห็นกันว่ารถยนต์นั้นเดินทางทางบก จะชั่วจะดีก็จอดได้ และหลบหลีกได้โดยรถยนต์ซึ่งอยู่ในการควบคุมของเรา ถึงเกิดอุบัติเหตุก็อาจไม่ร้ายแรงนัก มีโอกาสเพียงบาดเจ็บ แต่กรณีเครื่องบินนั้นเหมือนซื้อหวย บังคับอะไรไม่ได้เลย (ยกเว้นคนที่เลขหวยล๊อก) เวลาเกิดเหตุก็ตายหมู่กันนับร้อย ๆ คนทันที การคิดเช่นนี้เป็นความสับสนระหว่างความเป็นไปได้ของการเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตกับลักษณะของการเสียชีวิต ถ้าตายมันก็ตายทั้งนั้นแหละไม่ว่าวิธีใด
โดยเหตุและผลแล้ว การเดินทางด้วยเครื่องบินปลอดภัยกว่าทุกวิธีของการเดินทางถึงแม้จะมีโอกาสตายอย่างน่ากลัวด้วยเครื่องบิน แต่โอกาสของความเป็นไปได้ก็น้อยมากจนน่าจะสบายใจได้
เพื่อไม่ให้สบายใจเกินไป ก็ขอให้สถิติว่าสำหรับเครื่องบินที่ประสบอุบัติเหตุนั้น ร้อยละ 80 เกิดขึ้นในช่วง 3 นาทีแรกของการบิน (ช่วง take-off) และ 8 นาทีหลังของการบิน (ช่วง landing)