ออมก่อนใช้

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
8 เมษายน 2557

          “เป็นคนประหยัดนะ แต่เก็บเงินไม่เคยได้เลย” “วางแผนใช้จ่ายแต่ไม่เคยมีเงินเหลือเก็บ” “ตั้งใจจะออมแต่เงินไม่ถึงปลายเดือนสักที” คำพูดเหล่านี้เราได้ยินกันทุกวัน อะไรเป็นสาเหตุของการออมไม่ได้และจะแก้ไขอย่างไร

          การจับจ่ายใช้เงินเป็นความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์ อย่างไรก็ดีทุกคนมีรายได้เป็นตัวกำกับว่าจะใช้จ่ายได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าจ่ายมากกว่าที่หามาได้ก็จะเกิดหนี้ แต่ถ้าจ่ายน้อยกว่าที่หามาได้ก็จะมีเงินเหลือจ่ายหรือมีเงินออม ซึ่งเก็บไว้เผื่อฉุกเฉินหรือเอาไปลงทุนให้เงินมันงอกเงยขึ้น

          ความสมดุลระหว่างรายได้และรายจ่ายเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะมีรายได้มากเพียงใด ถ้ารายจ่ายแซงหน้าแล้วจะเกิดหนี้ขึ้นเสมอ ดังนั้นจึงมีคำสอนว่า “การหาเงินนั้นสำคัญ แต่การรู้จักใช้เงินนั้นสำคัญกว่า”

          บางคนอาจมีเงินไม่มากนัก แต่ก็สามารถมีเงินออมได้เพราะสามารถควบคุมการใช้จ่ายให้น้อยกว่ารายได้ บางคนมีรายได้มากในแต่ละเดือน และรู้จักใช้จ่ายก็ยิ่งสามารถเก็บเงินออมได้มากยิ่งขึ้น

          การจะมีเงินออมได้นั้นต้องมาจากการมีเงินเหลือจ่ายในแต่ละเดือน และมันจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีศิลปะในการออม อะไรคือความลับของการสามารถมีเงินออมได้?

          ลองสังเกตดูไหมว่าเมื่อเราตั้งใจจะออมเงินโดยใช้วิธีประหยัดรายจ่ายเพื่อให้เหลือเงิน ตอนปลายเดือนนั้นไม่ค่อยเกิดขึ้นจริง งานวิจัยด้านการเงินส่วนบุคคลหลายชิ้นพบว่าวิธีการออมแบบนี้ไม่ได้ผลเนื่องจากผู้คนมักเพลิดเพลินกับการจ่ายเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างทาง จะระมัดระวังมากก็เฉพาะยอดเงินสูง อย่างไรก็ดีส่วนใหญ่ในชีวิตประจำ

          วันนั้น มนุษย์จ่ายเงินยอดเล็กยอดน้อยกันมากกว่าเงินก้อนใหญ่มาก โดยมักไม่ค่อยคิดว่าเมื่อรวมเงินยอดเล็กเข้ากันทั้งหมดแล้วจะเป็นยอดเงินที่ไม่น้อย ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงปลายเดือนจึงไม่มีเงินเหลือให้ออม และก็มักเป็นเช่นนี้เดือนแล้วเดือนเล่า คนแล้วคนเล่า

          ถ้าจะออมให้ได้ผลนั้นต้องเป็นการ ‘ออมก่อนใช้’ กล่าวคือทันทีที่ได้รับเงินมาให้จัดแบ่งส่วนหนึ่งที่ต้องการออมไว้ต่างหากทันทีแล้วจึงใช้จ่ายเงินที่เหลือ การออกแบบบังคับเช่นนี้แหละคือวิธีที่ได้ผล

          ในทางปฏิบัติ “ออมก่อนใช้” หมายความถึงการสั่งธนาคารไว้เลยให้หักเงินรายได้ ส่วนหนึ่งเข้าบัญชี 1 และ 2 และ 3 (เพื่อการศึกษาลูก เพื่อท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะอื่น ๆ) วิธีนี้พิสูจน์โดยงานวิจัยแล้วว่าได้ผลกว่าการออมแบบปกติ

          ‘ออมก่อนใช้’ ในอีกทางปฏิบัติก็คือการผ่อนซื้อที่ดิน บ้าน รถยนต์ หรือสิ่งมีค่าอื่น ๆ เงินที่ถูกบังคับให้ผ่อนชำระเช่นนี้โดยแท้จริงแล้วก็คือ “เงินออมก่อนใช้” ของเรานั่นเอง

          ในกรณีนี้สิ่งพึงระวังก็คือควรผ่อนซื้อสิ่งที่มีค่าเสื่อมน้อย หรือถ้าจะให้ดีมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต รถยนต์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนบางกลุ่มนั้นมีค่าเสื่อมสูง การผ่อนซื้อรถมูลค่าสูงนั้นต้องคำนึงถึงค่าเสื่อมให้มากเพราะเจ้าของมักไม่ตระหนักถึงการสูญเสียมูลค่ารถยนต์ที่เกิดขึ้นทุกนาที จะรู้ว่ามูลค่ารถยนต์ลดไปมากก็ต่อเมื่อถึงเวลาขาย รถราคาสูงจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงและค่าเสื่อมสูงเสมอ ดังนั้นผู้ซื้อจึงจำต้องคำนึงถึงฐานะทางเศรษฐกิจของตนเองให้ดี

          การผ่อนซื้อที่ดินหรือทรัพย์สินเพื่อเก็งกำไรก็ต้องระวังเช่นเดียวกัน เพราะต้องแบก ค่าดอกเบี้ยและความไม่แน่นอนของมูลค่าในอนาคต คนที่ได้รับประโยชน์ในขั้นสุดท้ายนั้นมักเป็นคนอื่น

          ‘ออมก่อนใช้’ ที่ดีก็คือการซื้อที่อยู่อาศัย เพราะทุกเดือนของการผ่อนชำระคือการขยับเข้าไปใกล้การเป็นเจ้าของอีกหนึ่งก้าว (ค่าเช่าที่อยู่อาศัยเป็นการจ่ายค่าบริการ ไม่ว่าจะจ่ายนานเท่าใดก็ไม่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของ) ณ ปลายทางของการผ่อนคือการได้บ้านเป็นของเราเอง เราไม่ต้องจ่าย ค่าเช่าบ้านตลอดเวลาการผ่อน และหลังจากผ่อนครบเป็นเจ้าของบ้านแล้ว นอกจากนี้ยังมีโอกาสสูงที่มูลค่าบ้านจะเพิ่มในอนาคต ถ้าเราไม่อยู่อาศัยเองก็เอาไปให้คนอื่นเช่า เราก็ได้ค่าเช่าเป็นรายได้โดยไม่ต้องออกแรงทำงาน

          ‘ออมก่อนใช้’ เป็นคาถาที่ขลังถ้าต้องการมีเงินเหลือจากการใช้จ่ายเพื่อนำเงินไปลงทุนสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีก คาถานี้จะช่วยให้มีกินมีใช้ไปตลอดชีวิตและอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีโดยไม่ต้องอาศัยจมูกคนอื่นหายใจ