สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผู้อื้อฉาว

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
15 เมษายน  2557

          คงไม่มีสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนใดของโลกในปัจจุบันที่อื้อฉาวเท่ากับ Nadine Heredia ภรรยาของประธานาธิบดี Ollanta Humala แห่งเปรู เธอสามารถทำให้รัฐมนตรีต้องลาออกไปหลายคน และความนิยมของสามีเธอตกอย่างน่ากลัว

          ทั้งสามีและภรรยามีเชื้อสายอินเดียนแดงพื้นเมืองเผ่า Quechua ในเปรู ประเทศที่อุดมไปด้วยคนพื้นเมือง ซึ่งต่างจากชิลีซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของเผ่าพันธุ์คนผิวขาว

          เปรูมีประชากร 30.8 ล้านคน มีพื้นที่มากกว่าไทยกว่าเท่าตัว รายได้ต่อหัวต่อคนต่อปีต่ำกว่าไทยเกือบ 10 เท่าตัว ประเทศนี้มีตัวละครการเมืองที่โลดโผนราวนิยาย

          คนไทยคุ้นกับชื่อของอดีตประธานาธิบดีเปรู Alberto Fujim?ri ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทยเคยไปเยือนประเทศนี้ใน ค.ศ. 2000 และหลังจากนั้นไม่กี่วันเขาก็ตกจากอำนาจเพราะรัฐสภาจะเล่นงานจนต้องหนีไปอยู่ญี่ปุ่นด้วยข้อหาคอรัปชั่น ใช้อำนาจเถื่อนปราบปรามคู่แข่ง ผู้ก่อการร้าย สื่อและกลุ่มประชาชนที่ขัดขวางอำนาจซึ่งเขาครองอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1990-2000

          ระหว่างหลบหนี เขามาเยี่ยมชิลีในปี 2005 และถูกจับส่งไปขึ้นศาลที่เปรูใน ค.ศ. 2007 ศาลตัดสินจำคุกเขาหลายคดีรวมแล้ว 25 ปี ปัจจุบันก็ยังอยู่ในคุก (ใครว่าผู้นำติดคุกไม่ได้ ปัจจุบันอดีตประธานาธิบดีอิสราเอล อดีตประธานาธิบดีไต้หวันก็อยู่ในคุก อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ก็เคยติดคุก)

          ในช่วงที่ Fujimori เป็นประธานาธิบดี เขามีผลงานที่ประชาชนชื่นชอบหลายประการท่ามกลางการใช้อำนาจเด็ดขาดและการคอรัปชั่น ประชาชนจำนวนมากรักชอบเขา แต่บางส่วนก็เกลียดชัง และท่ามกลางกระแสไม่พอใจนี้ ใน ค.ศ. 2000 ก็มีนายทหารระดับกลางใจกล้าคนหนึ่งลุกขึ้นต่อสู้ความไม่ชอบธรรมร่วมกับทหารอีก 40 คน แต่ไม่สามารถสู้รบกับการปราบปรามของรัฐบาลได้จนต้องหนีเข้าป่า เมื่อ Fujimori ตกจากอำนาจแล้วเขาจึงออกมาและได้รับนิรโทษกรรม

          การกระทำของ Ollanta Humala ครั้งนั้นได้รับความเห็นใจและชื่นชอบจากประชาชนเปรูจำนวนมาก จนผลักดันให้เขาโดดลงเล่นการเมือง และได้เป็นสามีของเฟิร์สเลดี้ผู้อื้อฉาวคนนี้ในปัจจุบัน

          ชีวิตของ Humala ก็ไม่ธรรมดา พ่อเขาเป็นทนายความที่กล้าพูดสิ่งที่อื้อฉาวพอ ๆ กับแม่ของเขา เขามีพี่น้องอีก 2 คน ๆ หนึ่งปัจจุบันติดคุก 25 ปีด้วยข้อหาฆ่าตำรวจ 4 คน จากการจับตำรวจ 17 คนไปกักขังหน่วงเหนี่ยว อีกคนหนึ่งเป็นศาสตราจารย์ซึ่งเป็นคู่แข่งคนหนึ่งในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีครั้งแรกของเขาในปี 2006 แต่สู้เขาไม่ได้เลย

          Humala แพ้ไปอย่างฉิวเฉียดในปี 2006 หลังจากโดนป้ายสีมากมาย แต่พรรค Peruvian Nationalist Party ของเขาซึ่งมีอุดมการณ์เอียงซ้ายก็ไม่ย่อท้อ ต่อสู้ต่อไปจนชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีในปี 2011 โดยชนะคู่แข่งคือ Fujimori ไปอย่างน่าหวาดเสียว…เปล่าครับ…นาย Fujimori มิได้แหกคุกออกมาแข่งเลือกตั้ง หากเป็น Keiko Fujimori ลูกสาวอดีตประธานาธิบดี

          ประเพณีของการพยายามสืบทอดบัลลังค์ประธานาธิบดีโดยภรรยาในอเมริกาใต้มีมายาวนานตั้งแต่ Eva Peron (เจ้าของตำนาน Don’t Cry for me Argentina) ภรรยาของนายพล Peron หรือ Susama Higuchi Miyagawa ภรรยาอดีตประธานาธิบดี Fujimuri แต่ที่เปรูนั้นไม่สามารถทำได้ในปัจจุบันเนื่องจากมีการออกกฎหมายห้ามภรรยาเป็นประธานาธิบดีต่อเนื่องกับสามี (สู้ไทยไม่ได้ ที่มี ‘หย่าการเมือง’ เพื่อสร้างสภาผัวเมีย)

          ถ้าถามคนเปรูปัจจุบันว่า Nadine Heredia มีเป้าหมายจะเป็นประธานาธิบดีในอนาคตหรือไม่ คนส่วนใหญ่จะตอบว่าใช่เพราะเฟิร์สเลดี้คนนี้เข้าไปจุ้นจ้านกับงานของสามีอย่างไม่เขินอาย เธอกล้าแสดงความคิดเห็นในสื่อในเรื่องที่สวนทางกับนายกรัฐมนตรีอย่างเปิดเผย จนนายกรัฐมนตรีต้องลาออก

          Nadine เรียนจบปริญญาตรีด้านนิเทศาสตร์ และจบปริญญาโทด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยในเปรู ปัจจุบันมีอายุเพียง 38 ปี (สามีอายุ 52 ปี มีลูกด้วยกัน 3 คน) เธอเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมตั้งพรรค Peruvian Nationalist Party กับสามีตั้งแต่ยังมีอายุน้อย ๆ ทั้งสองพูดภาษาท้องถิ่นของชาว Quechua ซึ่งเป็นภาษาแม่ของตน จึงสามารถสื่อสารได้เป็นอย่างดีและได้รับความนิยมมากใน ตอนแรก เชื่อกันว่าเธอได้รับเงินสนับสนุนทางการเมืองจากอดีตประธานาธิบดี Hugo Chavez แห่งเวเนซูเอล่า ผู้มีอุดมการณ์คล้ายคลึงกัน

          จาก ค.ศ. 2011 ถึง 2014 ความนิยมของสามีและตัวเธอเริ่มตกต่ำลงเป็นลำดับ เมื่อคนเปรูเห็นว่าเธอวุ่นวายกับงานของสามีมากเกินไป ประธานาธิบดีมีความนิยมตกจากร้อยละ 50 เหลือเพียงร้อยละ 25 ในเวลาหนึ่งปี ส่วนเธอนั้นลดลงจากร้อยละ 66 เมื่อสองปีก่อน เหลือเพียงร้อยละ 27

          เธอบอกสื่อว่ารัฐบาลจะไม่มีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งสวนทางกับที่นายกรัฐมนตรีคือนาย Cesar Villanueva ประกาศไว้เมื่อตอนเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อ 4 เดือนก่อน จนเขาประกาศลาออก (นักการเมืองประเทศนี้ดูจะหน้าบางอย่างมีมารยาท) เช่นเดียวกับอีก 3 นายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ Humala เข้ามาเป็นประธานาธิบดี

          twitter ของ Nadine มีผู้ติดตาม 750,000 คน ข้อความของเธอทำให้หลายคนต้องลาออกหรือหมดอำนาจไปไม่นานหลังจากเริ่มงาน รองประธานาธิบดีก็ลาออกไปหลังจากมีข่าวเรื่องทุจริต Nadine เป็นผู้ช่วยเร่งการลาออกด้วยการเขียนใน twitter ว่า ‘กะอีกแค่เดินตรง ๆ ก็ทำไม่ได้หรือ’

          เธออาละวาดหลายครั้งจนปัจจุบันเหลือรัฐมนตรีที่ร่วมงานกันมาแต่แรกเมื่อ 3 ปีก่อนอยู่ไม่กี่คน ตลอดเวลาสามีของเธอปกป้องมาตลอดว่าเธอมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเพื่อแก้ปัญหาว่าเธอเป็น ‘ข้าวนอกนา’ จะมายุ่งกับเรื่องการเมืองได้อย่างไร เธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค Peruvian Nationalist Party แต่ถึงอย่างไรคนเปรูก็เห็นว่าเธอข้ามเส้นไกลเกินไปแล้ว

          ชะตากรรมของ Nadine จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้นเป็นที่น่าสนใจติดตาม ระหว่างนี้คงจะต้องคอยดูกันว่าประธานาธิบดี Humala จะ พ.พ.ม. ด้วยฟางเส้นสุดท้ายใด

          น่าเสียดายที่มนุษย์จำนวนมากไม่รู้จักใช้คุณสมบัติและโอกาสที่มีให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมเพราะถูกความทะเยอทะยานครอบงำจนขาดวุฒิภาวะและการรู้จักกาลเทศะ