ข้อคิดกินใจ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
17 กุมภาพันธ์ 2558

          สมาร์ทโฟนไม่ได้มีข้อเสียที่ทำให้เรามีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อที่คอและการเหมือนคนบ้านั่งก้มหน้าอยู่ในโลกของเราคนเดียวโดยไม่พูดจากับผู้คนเท่านั้น ข้อดีก็มีอยู่มาก สิ่งหนึ่งก็คือข้อมูลดี ๆ ที่แลกเปลี่ยนกัน โดยเฉพาะข้อเขียนที่กินใจและทำให้เกิดความคิดต่อเนื่อง วันนี้ผมขอนำเอาบางข้อเขียนที่ได้คัดเลือกมาเรียนเสนอท่านผู้อ่าน

          ชิ้นแรก คือข้อเขียนสั้น ๆ ของท่าน ว.วชิระเมธี เรื่อง “ปาฏิหารย์แห่งการให้” ซึ่งมีข้อความดังต่อไปนี้ (1) ให้ “เวลา” แก่คนที่คุณรัก (2) ให้ “ความรัก” แก่คนในครอบครัว (3) ให้ “ความกตัญญู” แก่บุพการี (4) ให้ “ความรับผิดชอบ” แก่การทำงาน (5) ให้ “อภัย” แก่คนที่หลงผิด (6) ให้ “ความรู้” แก่ผู้ที่ยังเขลา (7) ให้ “ทาน” แก่คนที่ยังขัดสน (8) ให้ “อนาคตที่ดี” แก่คนรุ่นหลัง (9) ให้ “มิตรภาพ” แก่คนทั้งโลก (10) ให้ “ความทุ่มเท” แก่งานที่ทำ (11) ให้ “ความจริงใจ” แก่สัมพันธภาพ (12) ให้ “ความซื่อสัตย์” แก่การทำงาน (13) ให้ “ความเสียสละ” แก่ประเทศชาติ (14) ให้ “ความยินดี” แก่ผู้ประสบความสำเร็จ (15) ให้ “ความ ปล่อยวาง” แก่สิ่งสุดวิสัย (16) ให้ “ความเป็นธรรม” แก่ผู้ถูกรังแก (17) ให้ “มรรคา” แก่ผู้ที่ยังหลงทาง (18) ให้ “ที่พึ่งทางใจ” แก่ผู้สับสน (19) ให้ “อิสรภาพ” แก่ผู้ถูกกิเลสครอบงำ (20) ให้ “โอกาส”แก่ตนเองได้ลิ้มรสพระธรรม

          ชิ้นที่สองเป็น 20 ข้อที่ควรให้ลูกรู้และปฏิบัติก่อนอายุ 45 …..(1) ไม่ต้องตั้งใจเรียนมากไปในสายวิชาที่ตนเลือก แต่ภาษาอังกฤษจำเป็นมาก ๆ จงให้ใส่ใจ ส่วนวิชาอื่น ๆ เอาแค่ดีพอหางาน ดี ๆ ทำก็พอ เพราะโลกแห่งความเป็นจริง วัดกันที่ผลงาน ไม่ใช่ที่เกรดภาษาอังกฤษสร้างผลงานได้ (2) การทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยนั้นสำคัญมากพอ ๆ กับการคร่ำเคร่งหน้าตำราเรียน (3) เลือกงานที่เราชอบนั้นใช่ แต่อย่าลืมด้วยว่าอาชีพนั้น..สามารถเลี้ยงดูตัวเราได้จริงหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ก็อย่าหลอกตัวเอง (4) เมื่อถึงวัยทำงานใครเก็บเงินก่อนรวยเร็วกว่า และสิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้ คือ “ชีวิตที่ไม่มีหนี้คือชีวิตที่ประเสริฐที่สุด” (5) หาเป้าหมายในชีวิตให้เจอโดยเร็วที่สุด เพราะมันจะเป็นเครื่อง นำทางของคุณ ในชาตินี้ตลอดไป (6) ซื้อบ้านก่อนที่จะซื้อรถ เพราะบ้านมีแต่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น รถมีแต่มูลค่าลดลงชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า รถ=ลด (7) ดอกเบี้ยบ้านนั้นมหาโหดมากรีบใช้ให้หมดโดยเร็วพลันก่อนที่จะแก่แล้วผ่อนไม่ไหว (8) การเก็บเงินเป็นแค่บันไดขั้นแรกสู่ความร่ำรวย แต่ขั้นต่อมาคือ ต้องรู้จักลงทุน อย่าลืมคบกับที่ปรึกษาการเงินไว้เป็นเพื่อน (9) อย่าเป็นศัตรูกับใครก็ตามบนโลก ใบนี้ เพราะคุณจะไม่มีทางรู้ว่าวันหนึ่งเขาอาจจะยิ่งใหญ่มากจนกลับมาทำร้ายคุณก็เป็นได้ (10) คอนเน็คชั่นหรือสายสัมพันธ์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ต่อให้เก่งแค่ไหนก็สู้การมีเพื่อนเยอะไม่ได้

          (11) ควรมีงานทำมากกว่า 1 งาน เพราะความมั่นคงไม่เคยมีบนโลกใบนี้ (12) อย่าคิดว่าตัวเองทำอะไรได้แค่อย่างเดียวเพราะความสามารถของคนเรามีมากกว่า 1 เสมอ (13) เมื่อมีโอกาสใดก็ตามเข้ามาจงอย่าปฏิเสธ ถึงจะล้มเหลวแต่มันก็คือประสบการณ์ (14) สร้างเนื้อ สร้างตัวให้ได้เร็วที่สุดในขณะที่คุณยังมีกำลัง ยังเป็นหนุ่ม-สาว เพราะการฝ่าฟันอุปสรรคในช่วงอายุมาก ไม่ใช่เรื่องสนุก (15) ออกเดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่ยังหนุ่มสาว เพราะเมื่อมีครอบครัวการเดินทางจะเป็นเรื่องยุ่งยากกว่าเดิม (16) เลือกคู่ชีวิต จงคิดให้ดี ๆ อย่าดูแต่ข้อดีของเขา แต่ต้องดูด้วยว่าเราสามารถรับข้อเสียของเขาได้มากแค่ไหน (17) การมีแฟนหรือสามีภรรยายังเลิกกันได้ แต่ความเป็นพ่อแม่ลูกนั้นเลิกกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นควรดูแลพวกเขาให้ดี ๆ (18) ความสำเร็จที่มากมายแค่ไหน ก็ไม่สามารถทดแทนความล้มเหลวของครอบครัวได้ (19) ลองหาเวลาอยู่ว่าง ๆ ไม่ต้องทำอะไรเลยดูบ้าง อย่าแบกโลกทั้งใบไว้คนเดียว และอีกอย่างงานก็ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต (20) สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญอันหนึ่งโปรดถนอมตัวเองให้มาก เมื่อยังเป็นวัยรุ่นอย่าใช้ชีวิตให้หนักเกินไป

          ชิ้นที่สามมาจากงานศึกษาของ Dr.Pillemer อาจารย์จาก Cornell ได้ทำการสัมภาษณ์คนแก่ชาวอเมริกันที่อายุเกิน 70 ปีขึ้นไปกว่า 1,200 คน โดยตั้งคำถามว่า “จากประสบการณ์ ชั่วชีวิตอะไรคือบทเรียนสำคัญที่สุดที่อยากจะฝากไว้ให้ลูกหลาน” แล้วเอามาเขียนเป็นหนังสือชื่อ 30 Lessons for Living แต่ 30 เยอะไป..ลองมาดู Top 10 Lessons for Living กัน…..

          (1) เลือกอาชีพที่รักที่ชอบมากกว่าผลตอบแทนทางการเงิน (choose a career for the intrinsic rewards, not the financial ones) คนแก่ ๆ ว่ามันเคยเป็นความผิดพลาดสำคัญในการเลือกอาชีพเพราะไปเลือกที่ผลตอบแทนมากกว่าจะทำในสิ่งที่ชอบและคุณค่าของอาชีพ (2) ให้ทำราวกับจะต้องใช้ร่างกายนี้ไปอีกสักร้อยปี (act now like you will need your body for a hundred years) แปลว่าให้ลด ละ เลิก พฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อโรคทั้งหลายที่ทำอยู่มันไม่ได้ทำให้เราตายทันทีแต่มันจะทรมานเราตอนแก่นี่แหละ (3) ตอบรับโอกาสที่ผ่านเข้ามาในชีวิต (say “Yes” to opportunities) มีอะไรดี ๆ แจ๋ว ๆ ผ่านเข้ามาอย่าไปปฏิเสธมันเพราะจะต้องมานั่งเสียใจเสียดายทีหลังแน่นอน (4) เลือกคู่ทั้งทีเล็งให้ดีเสียก่อน (choose a mate with extreme care) อย่าด่วนตัดสินใจ ให้ใช้เวลาทำความรู้จักให้ถ่องแท้ มีคนให้สัมภาษณ์คนหนึ่งว่า “Don’t rush in without knowing each other deeply. That’s very dangerous, but people do it all the time.”

          (5) เที่ยวเข้าไว้ (travel more) อันนี้ถูกจริตมาก เมื่อมีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวก็ไปเถิด ก่อนจะไปไม่ไหว คนส่วนใหญ่ที่ถูกสัมภาษณ์บอกว่ามันเป็นคุณค่า เป็น highlights ของชีวิตเลยเชียว หลายคนเสียดายเมื่อมองย้อนไปแล้วพลาดการท่องเที่ยวผจญภัยในชีวิต มีคนแก่คนนึงว่า “If you have to make a decision whether you want to remodel your kitchen or take a trip — well, I say, choose the trip!” (6) อยากจะพูด อยากจะบอก ก็พูด ก็บอก เสียเดี๋ยวนี้ (say it now) ให้พูดในสิ่งที่อยากจะพูดเมื่อยังมีโอกาสพูด คนแก่มักจะเสียใจและเสียดายว่าไม่ได้พูดในสิ่งที่เจ้าตัวอยากจะพูดกับหลาย ๆ คนเพราะเราจะมีโอกาสแสดงความรู้สึกที่แท้จริงต่อผู้อื่นได้ก็ต่อเมื่ออีกคนหนึ่งยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น

          (7) เวลามีค่า (time is of the essence) ความจริงคือชีวิตนี้สั้นนักแต่ไม่ควรเศร้า เราควรทำสิ่งที่สำคัญและมีค่าเดี๋ยวนี้ อายุมากขึ้น เวลายิ่งโบยบินไปอย่างเร็ว มีป้าคนหนึ่งว่า “I wish I’d learned that in my thirties instead of in my sixties!” (8) ความสุขคือการเลือก สิ่งที่เลือกเองไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากเงื่อนไข (happiness is a choice, not a condition) ความสุขไม่ใช่ความสมบรูณ์แบบหรือเป็นไปตาม สิ่งที่เกิดขึ้นที่คาดหวังของคนเราสามารถสุขได้ เพราะเราเลือกที่จะสุขไม่ว่าจะมีอุปสรรคใด ๆ ในชีวิต คนแก่ให้คำแนะนำว่าจงรับผิดชอบต่อความสุขของตัวเราเองตลอดชีวิตเรา (9) การเอาเวลามานั่งกังวลต่อสิ่งต่างๆ เป็นการเสียเวลา (time spent worrying is time wasted) หยุดกังวลนะ หรืออย่างน้อยตัดกังวลออกไปบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลในสิ่งที่มันยังไม่เกิดขึ้น (10) คิดเล็ก ๆ (think small) ไม่ต้องคิดใหญ่ การซึมซับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นเรื่องสวยงาม เป็นสิ่งดี ๆ ในชีวิต เรียนรู้ที่จะมีความสุขกับมัน

          ข้อคิดทั้งหมดเหล่านี้จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อคนอ่านนำไปปฏิบัติจริง หรือนำไปคิดต่อยอด หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงในการมองโลกและวิธีคิด แต่ถ้าอ่านไปก็เห็นชอบไป แต่ผ่านซีกหูหนึ่งออกไปอีกซีกหูหนึ่ง โดยซึมผ่านสมองซึ่งกั้นอยู่ตรงกลาง โดยไม่เกิดสิ่งใดเลยดังกล่าวข้างต้น ก็เป็นที่น่าเสียดาย เพราะทั้ง 3 ชิ้นดังกล่าวนี้เป็นที่ชื่นชอบของคนนับแสนนับล้านคนมาแล้ว