ผู้นำหญิงกับคดีฆาตกรรม

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
12 มีนาคม 2558

          หนึ่งในผู้นำหญิงซึ่งมีอยู่ไม่กี่คนนักในโลกกำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักเนื่องจากผู้คนประมาณครึ่งประเทศเชื่อว่าเธอเป็นผู้อยู่เบื้องหลังฆาตกรรมอัยการที่กำลังจะเปิดโปงเรื่องเลวร้ายของเธอ

          เธอผู้นี้คือประธานาธิบดีประเทศอาร์เจนติน่า ซึ่งมีชื่อเต็มว่า Cristina Fernández de Kirchner ประชาชนมักเรียกเธอสั้น ๆ ว่า Cristina Fernández ถึงแม้จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาถึงสองเทอมต่อกันด้วยคะแนนที่ชนะขาดลอย แต่เธอก็หลีกหนีสิ่งไม่ดีหลายอย่างที่เธอได้ทำไว้และมันกำลังตามมาล่าเธอ

          เธอเป็นประธานาธิบดีหญิงคนที่สองของประเทศนี้ แต่เป็นคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเนื่องจากคนแรกได้เป็นประธานาธิบดีโดยไม่ได้รับเลือกตั้ง เราจะค่อย ๆ แกะกันออกดูครับว่าเธอได้กลายเป็น ‘ฆาตกร’ ในสายตาประชาชนไปได้อย่างไร

          อาร์เจนติน่ามีชะตากรรมที่แปลกอย่างไม่น่าเชื่อ มีพื้นที่ถึงกว่า 3 ล้านตารางกิโลเมตร (6 เท่าของไทย) แต่มีประชากรเพียง 43 ล้านคน จากประเทศที่ร่ำรวยในตอนต้นศตวรรษที่ 20 เนื่องจากมีการอพยพของคนยุโรปเข้าไปเป็นระลอกเพื่อทำมาหากินกับทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์จนเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 7 ของโลก อย่างไรก็ดีภายหลังปี 1930 การขาดเสถียรภาพทางการเมืองอย่างหนักทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจเลวร้ายลงเป็นลำดับจนกลายเป็นประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนา ในปลายทศวรรษ 1970 ก็ฟื้นขึ้นมาอีกครั้งเป็นลำดับจนปัจจุบันประชากรมีรายได้ต่อหัวถึง 380,000 บาทต่อปี (ไทย 180,000 บาท)

          เรารู้จักเพลง Don’t Cry for me Argentina ซึ่งเกี่ยวพันกับชีวิตของ Eva Duarte (“Evita”) ภรรยาของประธานาธิบดีเผด็จการทหาร Juan Peron เธอเป็นนักประชานิยมตัวยง ระดมเงินแบบบังคับจากคนรวยมาแจกคนจน และระหว่างทางเธอก็รวยและเปรียบเสมือน

          ‘พระเจ้า’ ไปด้วย ตอนเธอตายผู้คนร่ำไห้ ยืนเข้าแถวคารวะศพเธอเป็นเรือนแสน ต่อมาอีกหลายปีเมื่อ Peron กลับมามีอำนาจอีกครั้ง ภรรยาใหม่ของเขาก็เป็นรองประธานาธิบดี เมื่อประธานาธิบดี Peron ตายใน ค.ศ. 1974 Maria Estela Martinez ก็ได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอาร์เจนตินา

          กลับมาที่ Cristina Fernández ก่อนหน้าได้เป็นประธานาธิบดี เธอเป็นภรรยาของประธานาธิบดี Nestor Kirchner (เป็นประธานาธิบดีระหว่างปี 2003-2007) และเมื่อหมดเทอมลงเธอก็สมัครเป็นประธานาธิบดี และได้รับเลือก (คนอาร์เจนตินาดูจะเป็นโรค ‘ติดเมีย’ กันทั้งประเทศ คือ ‘ติดเมีย’ ประธานาธิบดี มักได้รับตำแหน่งต่อจากสามีกันเสมอ) เป็นประธานาธิบดีระหว่าง ค.ศ. 2007-2011 และในการเลือกตั้งเทอมที่สอง (ค.ศ. 2011 เป็นต้นมา) เธอก็ชนะอีก

          เธอเป็นนักการเมืองมาตลอดโดยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและ วุฒิสมาชิกตั้งแต่ ค.ศ. 1991 จนถึงได้เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งระหว่าง ค.ศ. 2003-2007

          Cristina Fernandez เป็นนักการเมืองที่มีฝีมือ ถึงแม้จะได้รับคะแนนเลือกตั้งมาท่วมท้น แต่ความสำเร็จในการเป็นประธานาธิบดีของเธอก็แปดเปี้ยนด้วยคอร์รัปชั่น การเล่นพรรคเล่นพวก การตกแต่งตัวเลขสถิติโดยเฉพาะเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การแทรกแซงและควบคุมด้วยการใช้หน่วยงานเก็บภาษีเป็นเครื่องมือข่มขู่ ฯลฯ และข้อหาล่าสุดคือคอร์รัปชั่นเชิงอำนาจ กล่าวคือใช้อำนาจตามกฎหมายที่ได้รับมาเพื่อประโยชน์ของสาธารณะมาใช้เป็นประโยชน์สำหรับตัวเธอและพรรคพวก

          เรื่องราวมันเป็นดังนี้ครับ มีอัยการใหญ่ไฟแรง กล่าวหาเธอในโทรทัศน์เป็นเวลาหลายวันว่าเขามีหลักฐานจากการดักฟังโทรศัพท์ของหลายคนในภาครัฐเป็นแรมเดือน ตลอดจนหลักฐานอื่น ๆ จากต่างประเทศว่าประธานาธิบดีมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือชาวอิหร่าน 5 คน ซึ่งเป็นมือระเบิดตึกที่ตั้งสมาคมความสัมพันธ์ระหว่างอาร์เจนติน่าและยิวเมื่อปี 1994 จนคนยิวตายไป 85 คน และบาดเจ็บอีกนับร้อยคน ประธานาธิบดีกระทำไปเพื่อการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่านเพื่อแลกเปลี่ยนธัญพืชกับน้ำมันมูลค่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐที่อาร์เจนติน่าขาดอยู่ ทุกปี การกระทำเช่นนี้คือการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม (Obstruction of Justice) ซึ่งมีโทษอาญา

          อัยการใหญ่ผู้นี้มีชื่อว่า Alberto Nisman เป็นผู้รับผิดชอบเข้ามาผลักดันและหาผู้กระทำผิดในคดีระเบิดอายุเกือบ 20 ปี เขาใช้วิธีปากโป้งในโทรทัศน์ว่าจะเปิดโปงเรื่องนี้ให้หมดต่อหน้ากรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรในวันจันทร์ที่จะถึงเมื่อกลางเดือนมกราคม 2015 แต่ในที่สุดการเปิดเผยก็ไม่เกิดขึ้นเพราะ Nisman ฆ่าตัวตายในวันอาทิตย์เสียก่อน

          คนทั้งประเทศสนุกปากกับการคาดเดาว่าเขาฆ่าตัวตายเองจริงหรือ หากไม่จริงใครเป็นคนฆ่า โพลใหญ่หนึ่งของประเทศระบุผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่ากว่าครึ่งหนึ่งเชื่อว่าประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้อยู่เบื้องหลังฆาตกรรม

          ใครที่อยู่ในสถานะนี้ย่อมเดือดร้อนอย่างยิ่ง ในระดับโลกปัจจุบันมีตัวอย่างที่อดีตผู้นำประเทศติดคุกกันหลายคน เช่น ประธานาธิบดีฟูจิโมริของเปรู ประธานาธิบดีและภรรยาของไต้หวัน ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้สองคน ประธานาธิบดีอิสราเอล ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์สองคน ต่อสู้คดีอาญามายาวนาน ประธานศาลรัฐธรรมนูญและรัฐมนตรีหลายคนของอินโดนีเซีย ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้นอดีตประธานาธิบดีของอาร์เจนติน่าคนหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนคือประธานาธิบดี Menem ถูกตัดสินไปหนึ่งคดีและถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในคดีระเบิดนี้ด้วย

          คนไทยเรามีกำแพงใจมานานว่าคนใหญ่คนโตไทยติดคุกไม่ได้ แต่กำแพงนี้กำลังถูกทำลายลงทุกวันด้วยตัวอย่างที่เห็นจากต่างประเทศ