ประธานาธิบดีอุ้มอธิบดีตำรวจ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
17 มีนาคม 2558

          บัลลังก์ของประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซียสั่นสะเทือนเมื่อประสบกับการท้าทายครั้งใหญ่หลังจากดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึง 5 เดือน ไม่น่าเชื่อว่า ‘ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล’ เป็นตัวการเขย่าสำคัญขนาดนี้

          Joko WidodÓ หรือ Jokowi คือชื่อของประธานาธิบดีคนใหม่ สื่อและประชาชนเรียกชื่อเล่นเพราะสั้นและง่ายกว่า ปัจจุบันอายุ 53 ปี เป็นวิศวกรที่ครั้งหนึ่งเป็นเซลส์แมนขายเฟอร์นิเจอร์ Jokowi ฟอร์มสดเพราะไม่มีอะไรเกี่ยวพันกับกลุ่มอำนาจเก่าซึ่งประกอบด้วยนักการเมืองและเผด็จการทหาร ประชาชนเบื่อหน่ายคนเก่า ๆ จึงเลือกผู้ว่าการมหานครจาร์กาต้าที่มีผลงานน่าประทับใจมาเป็นประธานาธิบดี

          อินโดนีเซียได้รับอิสรภาพจากเนธอร์แลนด์ในปี 1945 ประธานาธิบดีคนแรกคือ Sukarno (ครองอำนาจอยู่ 22 ปี) ตามมาด้วย Suharto (ครองอำนาจอยู่ 31 ปีเต็ม จนหมดอำนาจในปี 1998) ถัดมาคือ Habibie เป็นประธานาธิบดีอยู่สั้น ๆ โดยมี Wahid ประธานาธิบดีตาพิการได้รับเลือกตั้งเป็นคนแรกในปี 1999 และเมื่อถูกถอดถอนในปี 2001 รองประธานาธิบดีคือนาง Megawati บุตรสาวของประธานาธิบดี Sukarno จึงเป็นแทน

          ในการเลือกตั้งในปี 2004 เธอก็พ่ายแพ้ Susilo Bambang Yudhoyono (SBY) อดีตทหารเก่า SBY ครองอยู่ 10 ปี เป็นต่อไม่ได้ จึงมีการเลือกตั้งในปี 2014 และได้ Jokowi มา

          Jokowi ต้องต่อสู้อย่างหนักกับนายพล Subianto (อดีตลูกเขยของประธานาธิบดี Sukarno และอดีตนายทหารใหญ่ของ Suharto) หัวหน้าพรรค Gerindra ซึ่งมีเงินมากและดูจะเป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่า ส่วน Jokowi จำเป็นต้องอาศัยใบบุญของนาง Megawai หัวหน้าพรรค PDI-P ลงเลือกตั้ง (โปรดสังเกตความสัมพันธ์ตรงนี้ให้ดี)

          ประชาชนเลือก Jokowi เพราะเขาสัญญาว่าจะปราบคอร์รัปชั่น โค่นอำนาจเก่า แก้ไขสิ่งไม่ถูกต้องทั้งมวล และด้วยผลงานเก่ากอบความสามารถในการสื่อสารกับคนล่างสุดซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประชาชน 250 ล้านคนของอินโดนีเซีย เขาจึงได้รับเลือก

          ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง Jokowi ต้องแก้ระเบิดเวลาที่ Subianto วางไว้ในรัฐสภาก่อนที่เขาจะเข้ารับตำแหน่งนั่นก็คือการแต่งตั้งผู้นำท้องถิ่นแทนการเลือกตั้ง กับอีกเรื่องหนึ่งคือการลดเงินอุดหนุนราคาน้ำมันซึ่งกินงบประมาณรัฐบาลถึงปีละ 25% Jokowi โชคดีอย่างยิ่งเพราะก่อนดำเนินการสักพัก ราคาน้ำมันก็ตกลงอย่างมหาศาลโดยลดลงไปกว่า 50% Jokowi จึงรอดไปเพราะรัฐบาลไม่ต้องกังวลเรื่องลดการจ่ายเงินอุดหนุนราคาน้ำมันเนื่องจากราคามันตกลงมามากด้วยตัวของมันเอง

          พ้นไป 2 เรื่องใหญ่ไม่พอ Jokowi เจอเรื่องที่สามที่ทำให้จุกอันเนื่องมาจากการตัดสินใจของเขาในเรื่องนี้จนทำให้ประชาชนพอใจผลงานของเขาเพียง 45% (ตกจาก 72% เมื่อตอนเข้ารับตำแหน่งใหม่ ๆ)

          เขาตัดสินใจอย่างไร ในเรื่องอะไร ที่ทำให้ความนิยมตกได้มากขนาดนั้น? เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ เมื่อกลางเดือนมกราคม 2015 เขาเสนอชื่อนายพลตำรวจเอกชื่อ Budi Gunawan เป็นอธิบดีกรมตำรวจซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทรงอำนาจอย่างยิ่งในอินโดนีเซีย

          แต่ทันทีที่เขาส่งชื่อให้รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งครั้งนี้ หน่วยงานชื่อ KPK (Corruption Eradication Commission) หรือ ‘ปปช. ของอินโดนีเซีย’ ประกาศว่า Budi เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฟอกเงินเนื่องจากพบหลักฐานว่าระหว่างปี 2005-2008 เขาถอนและฝากเงินเป็นจำนวนรวม 5.9 ล้านเหรียญ (ประมาณ 192 ล้านบาท) ในหลายธนาคาร

          ถึงแม้หน่วยงาน KPK ซึ่งดุมาก และมีประวัติศาสตร์ของการปราบคอร์รัปชั่นที่น่าชื่นชม (เอารัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ของรัฐนับร้อยคนเข้าคุก) ประกาศออกมาเช่นนั้น แต่ Jokowi ก็ไม่ถอย ยังคงเดินหน้าต่อไป

          คำถามว่าเหตุใด Jokowi จึงไม่ทบทวนการแต่งตั้ง Budi เมื่อมีข้อกล่าวหาเช่นนี้ แต่กลับล็อบบี้รัฐสภาซึ่งพรรค PDI-P ที่เขาสังกัดมีที่นั่งเพียง 20% ในรัฐสภาเท่านั้น คำตอบก็คือ ‘ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล’ Budi นั้นในอดีตเป็นนายทหารใหญ่ประจำตัวประธานาธิบดีที่มีชื่อว่า Megawati ซึ่งเป็นคนเดียวกับหัวหน้าพรรคของเขา

          เรื่องตึงเครียดอยู่ถึง 1 เดือนเต็ม จนในที่สุด Jokowi ก็อุ้ม Budi ต่อไปไม่ไหว เขาประกาศแต่งตั้งนายตำรวจคนอื่นแทน ตลอดเวลาที่ผ่านมาประชาชนก็สนุกปากกับการวิจารณ์การเป็นหนุ่มใหญ่หน้าตาดี มีหนวดคมเข้ม อายุ 55 ปี ใกล้ชิดมากกับอดีตประธานาธิบดีหญิงหม้ายอายุ 67 ปี

          ประชาชนเชื่อว่า Budi เป็นเด็กฝากจากหัวหน้าพรรคของ Jokowi เช่นเดียวกับรัฐมนตรีหลายคนที่มาจากสายของเธอ การตัดสินใจเช่นนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับนาง Megawati มีปัญหาขึ้นมาทันที

          นาง Megawati เคยแต่งงานมาแล้ว 3 ครั้ง สามีคนแรกเป็นทหารตกเครื่องบินเสียชีวิตในปี 1970 สามีคนที่สองเป็นนักการทูตชาวอียิปต์โดยแต่งงานกันในปี 1972 แต่ก็หย่ากันในเวลาไม่นาน สามีคนที่สามเป็นคนอินโดนีเซียโดยแต่งงานกันในปี 1973 และอยู่ด้วยกันมาจนเสียชีวิตในปี 2013

          เธอเคยลงเลือกตั้งแข่งกับ SBY เป็นประธานาธิบดีถึง 2 ครั้ง คือในปี 2004 และในปี 2009 แต่พ่ายแพ้ทั้งสองครั้ง ครั้งล่าสุดจึงสนับสนุนนาย Jokowi ลงแข่งขันกับนายพล Subianto ซึ่งถึงแม้จะได้คะแนนน้อยกว่าแต่ก็ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ ฟ้องศาลว่า Jokowi โกงเลือกตั้ง และรวมกลุ่มพรรคพวกในรัฐสภาเป็นกลุ่มก้อนเตรียมฟันนาย Jokowi เพราะเชื่อว่าเขาคงเป็นประธานาธิบดีได้ไม่นาน เนื่องจากเป็น ‘คนนอก’ ไม่มีสมัครพรรคพวกและเงินทองเท่ากลุ่มอำนาจเก่า

          บทเรียนจากเรื่องนี้ก็คือถึงแม้รัฐธรรมนูญจะบังคับให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งอธิบดีกรมตำรวจเพื่อกรองมิให้คนไม่ดีเข้าดำรงตำแหน่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วก็สามารถเล็ดลอด ตัวหนังสือได้ถึงแม้จะมีประวัติในเรื่องคอร์รัปชั่นก็ตาม ทั้งนี้เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนกลัวนายพล Budi เพราะเขาเก็บสะสมความลับของนักการเมืองหลายคนไว้ในมือ ดังนั้นจึงได้รับความเห็นชอบอย่างไม่ยากนัก

          การมีชื่อเสียงดีเป็นทรัพย์สินที่มีค่าอย่างยิ่งก็จริงอยู่ แต่ภายใต้เงื่อนไขที่บิดเบี้ยว คนมีชื่อเสียงไม่ดีก็อาจเป็นใหญ่เป็นโตได้เพราะคนให้ความเห็นชอบก็เป็นคนลักษณะเดียวกัน