พิษสัตว์เป็นยาแก้ปวด

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
12 พฤษภาคม 2558

          มนุษย์นั้นฉลาดสุดยอดเพราะสามารถนำสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้ตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างนึกไม่ถึง เมื่อเห็นแมงมุมกัดฉกเหยื่อจนเป็นง่อยหมดฤทธิ์ มนุษย์ก็คิดว่าในพิษที่ปล่อยออกมานั้นน่าจะมีอะไรที่ทำให้ร่างชาไร้ความรู้สึก จึงคิดสกัดพิษนั้นแล้วนำมาทำเป็นยาแก้ปวดดังเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้

          เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อแก่เฒ่าลงร่างกายก็จะรู้สึกปวดเมื่อย หรือมีความรู้สึกปวดตามร่างกายส่วนต่าง ๆ อยู่เสมอ มีสถิติว่าเฉลี่ยร้อยละ 15 ของประชากรผู้ใหญ่ในโลกเผชิญกับสภาวะปวดเรื้อรัง วงการแพทย์โดยปกติก็มักใช้ morphine หรือ hydrocodone รักษาคนไข้เหล่านี้ แต่ก็มักเกิดปัญหาติดยาและใช้ยาเกินขนาดอยู่บ่อย ๆ จนต้องมองหายาชนิดใหม่

          นักวิทยาศาสตร์สังเกตเห็นว่าแมงมุม (spider) ใช้พิษจากตัวมันฆ่าหรือทำให้ศัตรูเป็นง่อย นักวิจัยจาก University of Queensland ในออสเตรเลียเมื่อเร็ว ๆ นี้สามารถสกัดได้เจ็ดสารหลักในพิษแมงมุมซึ่งทำหน้าที่ขวางกั้นเส้นทางของสัญญาณจากประสาทที่สร้างความเจ็บปวดสู่สมอง

          ในที่สุดก็พบว่าสารหลักตัวหนึ่งในเจ็ดตัวซึ่งมาจากพิษของแมงมุมพันธุ์บอเนียวสีส้มมีลักษณะเหมาะสม กล่าวคือมีศักยภาพของความมีเสถียรและมีพลังเพียงพอที่จะนำมาพัฒนาเป็นยาแก้ปวดได้ การศึกษาชิ้นนี้ตีพิมพ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ในวารสารชื่อ British Journal of Pharmacology

          นักวิจัยอธิบายว่าหากพัฒนายาชนิดนี้ขึ้นมาได้ก็จะเป็นประโยชน์มากเพราะมันทำงานแตกต่างจากยาแก้ปวดปกติที่ใช้กันอยู่ซึ่งมักทำให้เกิดการติดยาขึ้น กล่าวคือมันทำงานด้วยการไป กีดขวางเส้นทางเดินเฉพาะระหว่างความเจ็บปวดและสมอง ในขณะที่ยาแก้ปวดที่มีฐานจากฝิ่นเช่น morphine ทำงานในทางตรงกันข้าม กล่าวคือมันไปกีดขวางเซลล์รับความรู้สึกทั้งหมดที่กระจายอยู่ทั่วไปทั้งในสมองและกระดูกสันหลังและอวัยวะอื่น ๆ

          แมงมุม (spider) ในโลกนี้มีมากกว่า 43,678 พันธุ์ กระจายอยู่ในเกือบทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะในออสเตรเลีย นักวิจัยกลุ่มนี้วิเคราะห์พิษของ 305 สายพันธุ์แมงมุมในท้องถิ่น และจากประเทศอื่น ๆ เป้าหมายก็คือการสกัดสารหลักจากพิษแมงมุมและศึกษาว่าสารหลักใดจากสัตว์ชนิดใดที่มีผลกระทบต่อการขีดขวางช่องทางเดินพิเศษซึ่งส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังทั่วทั้งร่างกาย

          นักวิจัยพบว่าประมาณร้อยละ 40 ของแมงมุมเหล่านี้มีสารหลักที่เป็นตัวกีดขวางช่องทางพิเศษดังกล่าว ขั้นต่อไปคือการทดลองกับสัตว์ (ความโชคร้ายของสัตว์) เพื่อหาผลข้างเคียงของการใช้สารหลักที่สกัดจากพิษแมงมุมดังกล่าวมาทำเป็นยาแก้ความเจ็บปวดเรื้อรัง

          งานศึกษาในลักษณะนี้มิได้ขีดวงอยู่เฉพาะแมงมุม หากครอบคลุมไปถึงงูพันธุ์ดุของอาฟริกาที่มีชื่อว่า Black Mamba (คุณลุงยังจำได้ไหม ตอนน้ำท่วมที่ว่ามีทั้งจระเข้ ปิรันยา และงู Mamba) ซึ่งหากโดนกัดแล้วไม่รอดแน่เพราะพิษนั้นรุนแรงมาก นักวิจัยในฝรั่งเศสพบว่าพิษของงูชนิดนี้ก็สามารถสะกัดมาทำยาระงับความปวดเรื้อรังได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือน morphine

          สัตว์อีกชนิดหนึ่งคือ sun anemone (สัตว์เติบโตเรียงตัวกันเหมือนพรมในแนวปะการังของทะเลคาริบเบียน) ก็มีนักวิจัยอเมริกาศึกษาพิษของมันเพื่อนำมารักษาผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันตนเองบกพร่อง

          นอกจากนักวิจัยสนใจพิษสัตว์เหล่านี้เพราะทำให้เหยื่อเป็นง่อยจนไม่มีความเจ็บปวดแล้ว ยังสนใจเพราะนักพันธุกรรมค้นพบว่าบางคนที่มียีนส์พิเศษซึ่งมีชื่อว่า SCN9A นั้นไม่มีความสามารถที่จะรู้สึกเจ็บปวดได้เลย

          คนเหล่านี้รู้สึกเมื่อสัมผัส รู้สึกถึงความอบอุ่น แต่ความสามารถในการรับรู้กลิ่นและความเจ็บปวดจากความร้อนและหนาว ถูกของมีคม หรือฟกช้ำนั้นถูกจำกัดมาก นักวิทยาศาสตร์พบว่าพิษจากแมงมุมและสัตว์บางชนิด หรือแม้แต่พืชบางชนิดก็ไม่ทำให้คนเหล่านี้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดขึ้นได้เช่นกัน

          นักวิจัยออสเตรเลียพบว่าแมงมุมพื้นเมืองที่มีชื่อว่า Sydney funnel-web spider ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญว่ามีพิษดุร้ายและน่ากลัว เนื่องจากเมื่อถูกคุกคามจะแสดงออกอย่างก้าวร้าวมาก พิษจะไหลเยิ้มจากเขี้ยว อย่างไรก็ดีพิษของมันไม่มีสารหลักที่จะเป็นตัวไปกีดขวางเส้นทางเดินพิเศษของความเจ็บปวดได้

          หน้าตาหรือขนาดหรือท่าทางของแมงมุม แมลงป่อง งู ผึ้ง ตัวต่อ ตลอดจนสัตว์อื่น ๆ ที่มีพิษจากการกัดและต่อย มิได้เป็นเครื่องประกันว่าพิษของมันจะสามารถนำมาเป็นยาระงับความปวดเรื้อรังได้ งานวิจัยอย่างรอบคอบเท่านั้นที่จะเป็นตัวตัดสิน

          หากพิจารณาเรื่องพิษของสัตว์เหล่านี้แล้ว ก็จะรู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นอย่างมาก เพราะสัตว์หนักเป็นร้อย ๆ กิโลกรัม ตายหรือเจ็บปวด หรือเป็นง่อยหมดความรู้สึกได้ด้วยพิษหนักไม่ถึง 3 กรัม ในเวลาไม่กี่นาที ธรรมชาติสร้างกลไกความสมดุลเพื่อมิให้สัตว์ใหญ่และมนุษย์กลายเป็นนักเลงโตที่ไม่มีใครปราบได้ และมีจำนวนมากจนอาจเป็นปัญหาแก่โลก

          ไม่ว่ากลไกความสมดุลของธรรมชาติจะเป็นอย่างไร มนุษย์ก็สามารถทำลายสารพัดกลไกลงได้ด้วยมันสมอง แถมยังเอาพิษของมันมาใช้แก้ปัญหาของเหล่ากอตัวเองอีกด้วย สัตว์ชนิดนี้น่ากลัวจังเลย