กลุ่มบุคคลตัดสินใจพลาดได้อย่างไร

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
10 กันยายน 2556

 

          มนุษย์แปลกใจเสมอกับการตัดสินใจบางครั้งที่ไม่เข้าท่าของกลุ่มบุคคลหรือคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งต่อมาก็พบว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดจริง คำถามก็คือปรากฏการณ์เช่นนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

          การพิจารณาตัดสินใจโดยการใช้กลุ่มบุคคลหรือคณะกรรมการเป็นวิธีปฏิบัติสากลซึ่งเชื่อกันว่าจะได้สิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกลุ่มบุคคลประกอบด้วยผู้เปี่ยมล้นด้วยประสบการณ์ มีใจบริสุทธิ์ ตั้งใจดี และเฉลียวฉลาด

          Rolf Dobelli ในหนังสือชื่อ The Art of Thinking Clearly (2013) ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับ สิ่งที่เรียกว่า groupthink เขาถามว่าคุณเคยกัดลิ้นตัวเองโดยไม่พูดอะไรเลย และพยักหน้าเห็นด้วยกับข้อเสนอในที่ประชุมเพราะไม่อยากเป็นคนชอบค้านจนกลายเป็นคนแปลกแยกไหม ยิ่งไปกว่านั้นคุณก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมจึงเห็นด้วยกับข้อเสนอที่กลุ่มหนึ่งเขาเห็นดีเห็นงามกัน

          เมื่อทุกคนคิดและทำแบบคุณเขาเรียกพฤติกรรมนี้ว่า groupthink การตัดสินใจที่โง่ ๆ จากกลุ่มบุคคลที่แต่ละคนฉลาดจึงเกิดขึ้นได้

          groupthink เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเนื่องมาจากอิทธิพลของการทำตามกัน เราไม่เคยเห็นเด็กชั้นประถมที่ไม่ร้องเพลงตามเพื่อน เราไม่เคยเห็นผู้ใหญ่ที่ไม่ปรบมือเมื่อคนทั้งห้องเขาปรบมือกัน เราไม่เห็นคนขวางโลกที่นั่งหน้าบึ้งตึงท่ามกลางเสียงหัวเราะขบขันของผู้ร่วมฟังเดี่ยวไมโครโฟน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ก็เพราะมุนษย์เราต่างมีสัญชาตญาณฝูงสัตว์ (herd instinct) ที่ติดตัวมากว่า 150,000-200,000 ปี ตั้งแต่เราเป็น “มนุษย์สมัยใหม่”

          ในยุคที่เราอยู่ในถ้ำล่าสัตว์เป็นอาหาร ถ้าขณะที่เพื่อนซึ่งออกไปล่าสัตว์ด้วยกัน หยุดเดินทันทีและกลับหลังหันวิ่ง เราคงไม่หยุดและคอยดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นเป็นแน่เพราะรู้ว่าอาจมีภัยอันตรายเกิดขึ้นได้ สิ่งที่เราคงทำก็คือหันหลังวิ่งตามเพื่อนอย่างแน่นอน (อาจวิ่งแซงหน้าด้วยซ้ำ)

          ราคาหุ้นที่ตกลงอย่างน่ากลัวหรือภาวะฟองสบู่ที่เกิดจากการเก็งกำไรก็เป็นผลพวงจาก สัญชาตญาณฝูงสัตว์ และจากอิทธิพลของการทำตามกันนี่แหละ การที่ละคร sit-com ในโทรทัศน์สอดแทรกเสียงหัวเราะจากเทปเข้าไปด้วยตรงจุดที่คิดว่าตลกก็หวังใช้ประโยชน์จากอิทธิพลของการตามกัน กล่าวคือกระตุ้นให้รู้สึกขบขันตามเสียงหัวเราะนำ

          ในการประชุมครั้งหน้าถ้าสังเกตดูให้ดีอาจเห็นการทำงานของ groupthink ก็เป็นได้ ถ้าในการประชุมนั้นมีผู้นำทางความคิดที่พูดเก่งโน้วน้าวใจคน หรือเป็นผู้ใหญ่อาวุโสสูงอยู่สักคน และมีผู้มักตามความเห็นอยู่สัก 2-3 คนในคณะกรรมการ เชื่อได้ว่าเกือบทุกการตัดสินใจจะมาจากสิ่งที่คนกลุ่มนี้เห็นพ้องกัน คนอื่น ๆ จะนั่งเงียบไม่ปฏิเสธ โดยอยู่ในสภาวะอารมณ์ของคนไม่อยากเป็นคน ช่างค้าน ลักษณะอย่างนี้แหละที่อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ไม่ยากนัก

          อีกเงื่อนไขที่ทำให้เกิด groupthink ก็คือเมื่อกลุ่มบุคคลที่รักใคร่สนิทสนมร่วมจิตวิญญาณเดียวกันประชุมเพื่อตัดสินใจหาคำตอบ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือภาพลวงตาของความเป็นเอกฉันท์ กล่าวคือถ้าส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทางเลือกเดียวกันแล้ว ใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยต้องผิดอย่างแน่นอน

          เมื่อความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นก็จะไม่มีใครที่ไม่เห็นด้วย เพราะไม่อยากเป็นคนที่ทำลายความสามัคคีของทีมและเป็นคนแปลกแยกที่น่ารำคาญ เมื่อความรู้สึกเป็นเช่นนี้ทุกครั้งที่ทีมหารือกันก็จะได้คำตอบที่เป็นเอกฉันท์เสมอโดยคำตอบนี้มักมาจากผู้มีอิทธิพลทางความคิดเพียงคนเดียว ซึ่งมักเป็นหัวหน้าทีม เงื่อนไขนี้แหละที่จะทำให้พากันลงเหวอยู่บ่อย ๆ

          นาซีในสงครามโลกครั้งที่สองผิดพลาดในลักษณะที่ว่านี้ ในยุคแรกก่อนเผด็จการสมบูรณ์แบบของระบบนาซี ไม่ว่าประชุมหารือกันอย่างวิถีประชาธิปไตยครั้งใด ข้อตกลงก็เป็นไปตามที่ฮิตเลอร์ต้องการเสมอ และจุดจบของนาซีเราก็ได้เห็นกันแล้วจากประวัติศาสตร์

          สายการบิน Swissair ที่มีชื่อเสียงม้วนเสื่อไปในปี 2001 ก็เพราะการทำงานของ groupthink เรื่องก็มีอยู่ว่าบริษัทที่ปรึกษาที่จ้างมามีอิทธิพลต่อ CEO ของ Swissair และกรรมการบริษัทที่มีอิทธิพลบางคนเกินขอบเขต จนในที่สุดคณะกรรมการบริษัทตกลงใจกู้เงินเพื่อขยายกิจการครั้งใหญ่เพราะภาคภูมิใจผลสำเร็จของการประกอบการ โดยเริ่มซื้อกิจการหลายสายการบินในยุโรป แต่เมื่อเศรษฐกิจโลกผันผวน เงินสดขาดมือ Swissair ก็ต้องล้มไป

          เราเห็นคำตัดสินของคณะกรรมการภายใต้การทำงานของ groupthink อยู่บ่อย ๆ แต่โชคดีที่มิได้เป็นการตัดสินใจที่ผิดฉกรรจ์ แต่คำถามก็คือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าในการประชุมในอนาคต groupthink จะไม่ทำร้ายเราจนบาดเจ็บสาหัสได้

ทูตอเมริกันหญิงประจำญี่ปุ่น

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
3 กันยายน 2556

          ญี่ปุ่นมีประเพณีในการตอบรับบุคคลจากสหรัฐอเมริกามาเป็นทูตด้วยมาตรฐานที่สูงมายาวนาน ในครั้งล่าสุดนี้ก็อีกเช่นกัน ญี่ปุ่นเพิ่งตอบรับบุคคลสำคัญซึ่งเป็นทูตสตรีคนแรกด้วยความยินดี Caroline Kennedy คือชื่อของเธอ

          ชื่อนี้มักออกเสียงว่า แค-โร-ลีน แต่ในกรณีนี้อาจแตกต่างออกไป เราได้รับการยืนยันว่าชื่อเธอออกเสียงอย่างไรจากเหตุการณ์ในงานเลี้ยงวันเกิดของเธอตอนอายุ 50 ปี เมื่อ 6 ปีก่อน Neil Diamond นักแต่งเพลงเอกของสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่าเขาแต่งเพลงโด่งดังชื่อ “Sweet Caroline” (คงจำได้ว่าในเพลงนี้ออกเสียงว่าแค-โร-ไล) เมื่อต้นทศวรรษ 1960 เนื่องจากได้รับแรงจูงใจเมื่อเห็นเธอ ขี่ม้าอย่างน่ารักอยู่ในทำเนียบขาว

          Caroline เป็นลูกสาวคนโตของประธานาธิบดี Kennedy (JFK) ตอนพ่อเธอเป็นประธานาธิบดีนั้นเธออายุเพียง 3 ขวบ และตอนพ่อเธอตายเธออายุ 6 ขวบเท่านั้นเอง

          เธอมีน้องชายคือ John Jr. (จูเนียร์) อายุน้อยกว่าเธอ 3 ปี ที่จริงเธอยังมีน้องชาย คนเล็กสุดอีกคนชื่อ Patrick แต่เกิดได้ 2 วันก็ตายในปีเดียวกับพ่อของเธอ เธอรัก John Junior มาก โดยเฉพาะเมื่อแม่ของเขาสองคนคือ Jacqueline จากไปในปี ค.ศ. 1994 อย่างไรก็ดีในปี 1999 เธอก็สูญเสีย John ไปจากเครื่องบินตก ปัจจุบันเธอเป็นทายาทคนเดียวของ JFK

          เธอเป็นจุดสนใจของคนอเมริกันและชาวโลกมายาวนานว่าชีวิตเธอจะเป็นอย่างไรเมื่อไร้พ่อและแม่ ชีวิตของเธอประสบความสำเร็จ เธอเรียนจบปริญญาตรีด้านศิลปะจาก Radcliff และจบกฎหมายจาก Columbia เธอทำงานการกุศลให้องค์กรไม่หวังกำไรหลายแห่ง เขียนหนังสือและเป็นบรรณาธิการหนังสือหลายเล่ม เธอแต่งงานกับ Edwin Schlossberg นักออกแบบงานแสดงศิลปะเมื่อเธออายุ 29 ปี มีลูกด้วยกัน 3 คน โดยเป็นหญิง 2 และชาย 1 ทั้งสองครองชีวิตคู่มานาน 27 ปี

          มีคนทาบทามเธอให้ลงสมัครประธานาธิบดีหลายครั้งเพราะเชื่อว่าชื่อ JFK นั้นศักดิ์สิทธิ์แตะใจคนอเมริกัน แต่เธอก็ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งใด ๆ ที่ใกล้สุดก็คือเธอแสดงความสนใจตำแหน่งวุฒิสมาชิกของรัฐนิวยอร์กแทน Hilary Clinton ในปี 2008 เมื่อเธอลาออกไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อตำแหน่งว่างลงเช่นนี้ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กจะต้องแต่งตั้ง คนแทนโดยมีอายุเป็นสมาชิกจนถึงเลือกตั้งครั้งหน้า แต่เมื่อมีเสียงวิจารณ์เธอมากพอควรเธอก็ขอ ถอนตัว

          Caroline มีทั้งคนรักและไม่รัก พวกหลังเห็นว่าเธอเกิดมาเป็นอภิสิทธิชน ไม่ต้องออกแรงก็ได้ทุกสิ่งจากการเป็นลูก JFK เธอถูกจับผิดว่าจะเป็นวุฒิสมาชิกได้อย่างไร ไม่ลงคะแนนเลือกตั้งหลายครั้ง เวลาให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ก็พูดอะไรไม่ชัดเจน แถมพูด “you know” ตั้ง 168 ครั้งในการสัมภาษณ์ทางทีวีในเวลา 30 นาที

          เธอเป็นคนแรก ๆ ที่ออกมาสนับสนุน Obama ตั้งแต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แถมเธอช่วยหาเสียงและหาเงินสนับสนุนอีกด้วย เธอชอบพอกับประธานาธิบดี Obama เป็นพิเศษ และเมื่อ John Roos อดีต CEO ของบริษัทใหญ่ใน Silicon Valley ซึ่งเป็นทูตอเมริกาประจำญี่ปุ่นครบเทอม ประธานาธิบดีก็ต้องการให้เธอไปเป็นทูตญี่ปุ่นแทน

          ในประเพณีการแต่งตั้งทูตของอเมริกานั้น มีการแต่งตั้งคนใกล้ชิดหรือผู้สนับสนุนทางการเงินเมื่อครั้งเลือกตั้งไปเป็นทูตในบางประเทศกันเป็นประจำ ในเทอมของประธานาธิบดี Obama ก็ได้มีการแต่งตั้งทูตในลักษณะนี้ไปประจำอิตาลี อาฟริกาใต้ และอังกฤษไปแล้ว (ปู่ของเธอก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตอังกฤษในลักษณะเดียวกัน)

          อย่างไรก็ดีชื่อเธอจะต้องผ่านการอนุมัติของกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภา ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาเพราะข่าวได้ออกมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2013 แล้ว และเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2013 ญี่ปุ่นก็ตอบรับมาอย่างเป็นทางการ

          มีคนวิจารณ์ว่าเธออ่อนหัดในเรื่องการทูต ตำแหน่งนี้มีความสำคัญอย่างมากเพราะญี่ปุ่นกำลังมีปัญหากับจีนในเรื่องความเป็นเจ้าของหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก สหรัฐอเมริกากำลังส่งสัญญาณว่าสหรัฐอเมริกาจะอยู่ข้างญี่ปุ่น ไม่ต้องการให้จีนแสดงอำนาจทางการทหาร และก็ไม่อยากให้ญี่ปุ่นไปแหย่หางเสือด้วยท่าทีก้าวร้าว (จีนกับญี่ปุ่นมีเรื่องกินใจกันในประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นฆ่าคนจีนถึง 300,000 คน ในเวลาเพียง 3 อาทิตย์ในนานกิงในปี 1937)

          สหรัฐอเมริกาต้องการให้ความสัมพันธ์ของมหามิตรในภูมิภาคคือญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แนบแน่นเพื่อเป็นแรงต้านอำนาจจีนไม่ให้มีอิทธิพลมากเกินไปในบริเวณนี้ แต่ญี่ปุ่นกับเกาหลีก็มีเรื่องกินใจกันในประวัติศาสตร์มายาวนานอีกเช่นกัน (เกาหลีถูกญี่ปุ่นยึดครองยาวนานตั้งแต่ 1910 ถึง 1945)

          การดำเนินการทูตของอเมริกาภายใต้เงื่อนไขที่เป็นผลพวงมาจากประวัติศาสตร์ดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ อย่างไรก็ดี Caroline ก็ไม่ธรรมดา เธอมีการศึกษาดี มีกึ๋น มีประวัติชีวิตที่ไม่ด่างพร้อย และการเป็นลูกสาว JFK นั้นมีความหมายมากเพราะคนญี่ปุ่นมีความผูกพันทางใจกับ JFK ภาพที่ลูกเล็ก ๆ 2 คนวิ่งเล่นอยู่ใกล้โลงศพพ่ออย่างไร้เดียงสาในพิธีศพนั้นตรึงใจคนทั่วโลกมายาวนาน

          ชาวโลกขอให้กำลังใจหญิงเก่งคนนี้ให้ทำงานสำเร็จเพื่อสันติภาพของโลก

จราจรจาการ์ต้าให้บทเรียน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
27 สิงหาคม 2556

          รถติดเป็นปัญหาของเมืองใหญ่ทั่วโลก ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งในรูปของการใช้พลังงาน การสูญเสียเวลา การเผาไหม้ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การเพิ่มต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ความสึกหรอของเครื่องยนต์เกินจำเป็น โอกาสที่เสียไปจากการเลือกเมืองอื่น ๆ ในการท่องเที่ยวและการประชุม ฯลฯ การแก้ไขก็ทำกันในหลากหลายรูปแบบอย่างน่าสนใจ

          จาการ์ต้าของอินโดนีเซียเป็นเมืองที่รถติดมากที่สุดในอาเซียนและมากที่สุดเมืองหนึ่ง ของโลก กรุงเทพมหานครของเรานั้นถึงแม้รถจะติดมากในความรู้สึกของเรา แต่ก็ถือได้ว่ายังไม่อยู่ในภาวะวิกฤติและไม่อยู่ในลีกเดียวกับจาการ์ต้า

          จาการ์ต้ามีประชากรใกล้เคียงกรุงเทพมหานครคือ 10 ล้านกว่าคน แต่ถ้านับประชากรในปริมณฑลเข้าด้วยแล้ว ตัวเลขก็จะขึ้นไปถึง 28 ล้านคน โดยอยู่ในอันดับ 17 ของ 200 เมืองใหญ่ในโลก (ขึ้นไปจากอันดับ 171 เมื่อ 4 ปีก่อน) จาการ์ต้าเติบโตในด้านประชากรเร็วกว่าปักกิ่ง กัวลาลัมเปอร์ และกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 1960 จาการ์ต้ามีประชากรเพียง 1.2 ล้านคนเท่านั้น

          คนทำงานในจาการ์ต้าส่วนใหญ่อาศัยอยู่นอกเมืองซึ่งมีค่าเช่าถูกกว่าในเมือง เดินทาง มาทำงานใช้เวลาหนึ่งเที่ยว 1.5 ถึง 2 ชั่วโมง โดยใช้เวลายืนบนรถเมล์ประมาณ 1 ชั่วโมง และต่อรถเมล์เล็ก (minivans) อีก 0.5 ถึงเกือบชั่วโมง และเดินอีก 5-10 นาที

          ข้อมูลสำรวจการเดินทางของคนจาการ์ต้าพบว่าในจำนวนเที่ยวทั้งหมดของการเดินทางในแต่ละวัน ร้อยละ 40 หมดไปกับการเดินเท้า ร้อยละ 21 ใช้ไปกับรถเมล์ขนาดเล็ก ร้อยละ 13 กับรถมอเตอร์ไซต์ ร้อยละ 7.5 กับรถส่วนตัว ร้อยละ 5.4 กับรถเมล์ขนาดกลาง ร้อยละ 3.3 กับรถเมล์ขนาดใหญ่ ร้อยละ 2.9 กับมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ร้อยละ 2.1 กับจักรยาน ฯลฯ

          เหตุที่เราไม่เห็นการเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่เช่นรถไฟบนดิน รถไฟ ใต้ดิน รถโดยสารสาธารณะอย่างเป็นระบบ ฯลฯ ก็เพราะจาการ์ต้าไม่มีให้ใช้ การลงทุนส่วนใหญ่ที่ผ่านมาหมดไปกับการสร้างถนนเพื่อรองรับการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว

          จาการ์ต้ามีชื่อเสียงในเรื่องรถติดอย่างชนิดที่ชาวต่างชาติไม่ว่านักท่องเที่ยว นักลงทุน หรือนักธุรกิจครั่นคร้าม ถึงแม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาจราจรในเกือบทุกลักษณะแต่ก็ยังไม่เป็นผล

          เรื่องแรกที่ใช้แก้ไขปัญหาจราจรก็คือการสร้างเลนด่วนสำหรับรถโดยสารสาธารณะ ดังเช่นที่ใช้ได้ผลในอิสตันบุล นิวเจอร์ซี บริสเบน กวางเจา และหลายเมืองในอเมริกาใต้ ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อรถติดมากรถส่วนตัว มอเตอร์ไซต์ รถเมล์ขนาดเล็ก ก็จะเข้าไปวิ่งในเลนพิเศษนี้อัดกันแน่นจนรถโดยสารสายด่วนวิ่งไม่ได้

          เรื่องสองคือการเก็บค่าผ่านทางในบางถนนที่ติดขัดมากเพื่อทำให้มีโสหุ้ยเพิ่มขึ้นในการผ่านเข้าไปโดยเชื่อว่าจะจูงใจให้คนใช้ถนนนี้หันไปใช้เส้นทางอื่น อย่างไรก็ดีเมื่อทางการโดนคนสวดหนักก็ต้องเลิกไปในที่สุด เช่นเดียวกับการเลิกระบบห้ามรถที่มีบางเลขทะเบียนลงท้ายไม่ตรงกับวันที่กำหนดให้วิ่งในบางสาย

          ความคิดในเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ (electronic road price) เพื่อจงใจให้มี ค่าโสหุ้ยสูงขึ้นในการเข้ามาวิ่งในเมืองในช่วงเวลาเร่งด่วนนั้นใช้ได้ผลในหลายประเทศเนื่องจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีบันทึกการวิ่งผ่านจุด จนปัจจุบันเป็นที่นิยมไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ (ประเทศแรกที่เริ่มใช้เมื่อ 30 กว่าปีก่อน) ลอนดอน สตอกโฮล์ม โตรอนโต มิลาน ดูไบ ฯลฯ การจะใช้ให้ได้ผลนั้นจำเป็นต้องมีเส้นทางอื่นที่ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมเป็นทางเลือกจึงจะได้รับความร่วมมือ ปัจจุบันคนจาการ์ต้ากำลังรอรัฐบาลตัดสินใจวิธีแก้ไขปัญหาจราจรโดยใช้ตรรกะทางเศรษฐศาสตร์นี้อยู่

          เรื่องสามคือการพยายามแก้ไขปัญหาจราจรสารพัดรูปแบบที่ทำกัน ไม่ว่าจะเป็น ไฟจราจรอัตโนมัติ ตำรวจช่วยโบกรถ เพิ่มพื้นที่และช่องจราจร เพิ่มทางลัด ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้ผลเนื่องจากจาการ์ต้าไม่มีระบบทางด่วน ไม่มีรถไฟใต้ดิน ไม่มีระบบถนนวงแหวนรอบเมือง ฯลฯ

          เมื่อประชาชนอดทนกับการเดินทางแบบโหดร้ายทารุณเช่นนี้ไม่ไหว (บ้านเราเมื่อยี่สิบ ปีก่อนก็อยู่ในสภาพเดียวกัน) ก็เกิดแรงกดดันต่อรัฐบาล และเมื่อฐานะการคลังของประเทศมั่นคงขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจอินโดนีเซียดีขึ้นเป็นลำดับ รัฐบาลก็ตัดสินใจใช้เงิน 4,000 ล้านเหรียญลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟใต้ดินช่วงแรก ทางด่วน รถไฟด่วน ทางยกระดับ รถไฟรอบเมือง ฯลฯ โดยเชื่อว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาจราจร

          อย่างไรก็ดีโครงการเหล่านี้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีจึงจะเห็นผล และในช่วงเวลาของการก่อสร้างก็จะยิ่งทำให้การจราจรของสารพัดยานพาหนะที่วิ่งอยู่กว่า 9 ล้านคันในแต่ละวันติดขัดมากยิ่งขึ้น

          การจราจรมิได้แก้ไขได้ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง การเพิ่มผิวถนน สร้างระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ แต่เพียงอย่างเดียว การปรับเปลี่ยนช่วงเวลาทำงาน การใช้รถยนต์ร่วมกัน ฯลฯ ตลอดจนการเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์จากเจ้าของผู้ได้อานิสงส์จากการเกิดขึ้นของระบบขนส่งมวลชนในบริเวณใกล้เคียง และเอาทรัพยากรนั้นมาช่วยแก้ไขปัญหาจราจร ก็ควรกระทำไปพร้อมกันด้วย

          การลงทุนแก้ไขปัญหาจราจรนั้นจะให้ผลตอบแทนมีมูลค่านับเป็นสิบเท่าในระยะเวลายาว ปัญหาที่สำคัญในปัจจุบันก็คือการหาเงินทุนในระยะสั้นเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของผู้อยู่อาศัยใน เขตเมือง

          การวางแผนการจราจรในทุกมิติก่อนหน้าที่จะเกิดปัญหาจราจรคือทางออกที่เหมาะสม การคอยให้เกิดปัญหาแล้วแก้ไขทำให้ปัญหารุนแรงและซับซ้อนยิ่งขึ้น ต้องใช้เงินมากขึ้น และยากต่อการแก้ไขยิ่งขึ้น

กลเม็ดลดการสูบบุหรี่

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
20 สิงหาคม 2556

          หลายสังคมพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ประชาชนสูบบุหรี่น้อยลง ออสเตรเลียเป็นตัวอย่างที่ไม่เหมือนใคร เมื่อปลายปี 2555 กฎหมายออสเตรเลียบังคับให้ใช้รูปน่าเกลียดของการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ อันเป็นผลจากการสูบบุหรี่แทนที่ตรายี่ห้อบุหรี่ การกระทำเช่นนี้จะมีผลหรือไม่ต่อการสูบบุหรี่ของประชาชน

          การสูบบุหรี่โดยแท้จริงแล้วเป็นสมบัติของมนุษยชาติ มนุษย์รู้จักการสูบบุหรี่ตั้งแต่ 5,000 ปี ก่อนคริสตกาลในหลายวัฒนธรรม ในตอนแรกนั้นการสูบบุหรี่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา สำหรับการสูบใบยาสูบเพื่อความสุขของคนสูบนั้นแพร่หลายไปทั่วโลกหลังจากการพบทวีปอเมริกาเมื่อ 500 ปีก่อน

          ในยุคสมัยก่อนการใช้ยาสูบ มนุษย์สูบกัญชา ใบกระท่อม ใบไม้ชนิดต่าง ๆ ส่วนการสูบใบยาสูบและฝิ่นได้กลายเป็นเรื่องปกติในหลายวัฒนธรรมในศตวรรษที่ 19

          ในทศวรรษ 1920 มีการผลิตบุหรี่กันเป็นกอบเป็นกำในยุโรป อย่างไรก็ดีผลเสียจากการสูบบุหรี่เริ่มเป็นที่รู้กันดี ในปี 1929 นักวิจัยชาวเยอรมันตีพิมพ์บทความแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่และมะเร็งในปอด กลุ่ม Nazi ในเยอรมันมีแนวคิดต่อต้านการสูบบุหรี่ อย่างไรก็ดีเมื่อเยอรมันพ่ายแพ้สงครามแนวคิดนี้ก็ตกไป

          การสูบบุหรี่เป็นที่นิยมอย่างมากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 1964 ทางการของสหรัฐอเมริการายงานความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่และมะเร็งในปอดโดยมีหลักฐานที่แน่นหนามากขึ้น และในยุคทศวรรษ 1980 หลักฐานเหล่านี้ก็ชัดเจนยิ่งขึ้นทุกที

          อัตราจำนวนผู้สูบบุหรี่ในสหรัฐอเมริกาลดลงจากร้อยละ 42 ในปี 1965 เหลือร้อยละ 20.8 ในปี 1970 แต่จำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวันเพิ่มจาก 22 เป็น 30 ม้วนต่อวันระหว่างช่วงเวลานี้

          ในประเทศพัฒนาแล้วอัตราจำนวนผู้สูบบุหรี่ในประชากรลดลง ในขณะที่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.4 ต่อปี ในปัจจุบันประเทศที่บริโภคยาสูบต่อหัวมากที่สุดคือรัสเซีย และไล่ลงไปตามลำดับคือ อินโดนีเซีย ลาว ยูเครน เบลารุส กรีก ออสเตรีย และจีน

          สำหรับไทยนั้นอัตราการสูบบุหรีในหมู่ประชากรผู้ใหญ่ลดลงเป็นลำดับ กล่าวคือ ในปี 2534 มีผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 32 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ในปี 2554 ตัวเลขดังกล่าวเหลือเพียงร้อยละ 21.4 ในระหว่าง พ.ศ. 2533-2536 มียอดจำหน่ายบุหรี่เฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านซอง (!) ในขณะที่ระหว่าง พ.ศ. 2537 -2544 ยอดขายเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านซอง และระหว่าง 2545-2556 ยอดขายเท่ากับ 1,933 ล้านซองต่อปี

          ออสเตรเลียแก้ไขปัญหาสูบบุหรี่ตามสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมได้ค้นพบ นั่นก็คือมนุษย์ไม่กลัวสิ่งที่อยู่ห่างตัวออกไป แต่จะกลัวสิ่งที่ทำให้เห็นผลในปัจจุบันมากกว่า

          การเอารูปน่าเกลียด เช่น รูปปอดที่เป็นมะเร็ง รูปแผลในปาก รูปถุงลมโป่งพอง ฯลฯ อันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่มาแสดงไว้บนซองบุหรี่อย่างเต็มที่นั้น ทำให้เสมือนกับเห็นผลเสียที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่อย่างทันใจ การบอกล่าวด้วยตัวอักษรว่าการสูบบุหรี่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายด้วยการเป็นโรคต่าง ๆ นั้นไม่เป็นผลเท่ากับการแสดงรูปที่เห็นผลเสียชัด ๆ

          รูปภาพเช่นนี้อาจทำให้เกิดความกลัวการสูบบุหรี่ขึ้นมาทันที โดยเฉพาะในกรณีที่ ภาพน่าเกลียดบดบังตรายี่ห้อบุหรี่ทั้งหมดจนทำให้ลดการปลุกเร้าความซื่อสัตย์ที่มีต่อยี่ห้อของบุหรี่ลง นักสูบยอมรับว่าการปิดปังตรายี่ห้อด้วยภาพดังกล่าวทำให้เกิดปฏิกริยาที่เป็นลบต่อยี่ห้อที่ตนเป็นทาส มานาน และนี่คือสิ่งที่นักต่อสู้การสูบบุหรี่ต้องการ

          การกระทำเช่นนี้ของภาครัฐออสเตรเลียก่อให้เกิดฟ้องร้องจากต่างชาติในเรื่องการประกอบการค้าที่ไม่เป็นธรรม แต่รัฐบาลก็ไม่ย่อท้อเพราะเชื่อว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องให้แก่สังคม ออสเตรลียโดยอยู่บนพื้นฐานของวิชาการ

          เป็นที่ทราบกันดีว่าการบรรจุหีบห่อ (packaging) มีผลกระทบต่อการบริโภค การบังคับให้มีหีบห่อที่น่าเกลียดน่ากลัวคู่ขนานไปกับราคาบุหรี่ที่แพงระดับโหดเหี้ยมเพราะภาษี (ราคาบุหรี่ซองละ 440 บาท) น่าจะช่วยลดภาระที่บุหรี่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนลงได้ในระดับหนึ่ง

          เวลาจะเป็นตัวตัดสินว่าการออกกฎหมายบังคับเช่นนี้จะมีผลหรือไม่ในการลดการสูบบุหรี่ของประชาชน

          คนสูบบุหรี่ตระหนักดีถึงผลเสียของการสูบบุหรี่ เพียงแต่ยังไม่อยากเลิกสูบบุหรี่ เพราะเชื่อว่าเขาสามารถเอาชนะความป่วยไข้ได้ หรือไม่ก็คิดว่าจะเลิกได้ในอนาคตอันใกล้ ระหว่างนี้ก็ขอสูบไปก่อน และขอบอกว่าจะ ๆ ๆ ๆ เลิกในอนาคตอย่างแน่นอน