การชุมนุมคือแหล่งเรียนรู้

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
10 ธันวาคม 2556

          หลายคนเห็นว่าเหตุการณ์ชุมนุมในบ้านเราในปัจจุบันเป็นเรื่องวุ่นวายน่าปวดหัว บ้านเมืองควรสงบราบเรียบเพื่อคนต่างประเทศจะได้มาลงทุน มาท่องเที่ยว ใช้ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยได้เต็มที่ สร้างงาน ฯลฯ บ้างก็ว่าเป็นเรื่องจำเป็นเพราะเป็นการแสดงออกซึ่งความเห็นของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไรก็ตาม มันได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของเยาวชนและพลเมืองไทย

          คนจำนวนมากกลัวหนักหนาว่าคนต่างชาติจะไม่มาลงทุน จะไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางการค้า เศรษฐกิจและการเงินกับประเทศของเรา ผมอยากบอกว่าทุกสังคมในโลกมันก็มีเหตุการณ์ทั้งบวกและลบในชีวิตสลับกันไปเช่นนี้ตั้งแต่มนุษย์เดินหลังตรงเป็นผู้เป็นคนเมื่อ 150,000-200,000 ปีมาแล้ว

          สหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชีย อังกฤษ เยอรมันนี ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ล้วนเจอมรสุมเศรษฐกิจและการเมืองมาด้วยกันทั้งนั้น ประเด็นมันอยู่ที่ว่าสังคมนั้น ๆ จะใช้เวลาก่อนที่มันจะกลับมาอยู่ในสภาพที่เป็นปกตินานเพียงใดเท่านั้นเอง และประการสำคัญสังคมนั้นได้เรียนรู้มากขึ้นซึ่งก็คือการไต่ Learning Curve นั่นเอง

          มนุษย์ทุกสังคมลองถูกลองผิดในทุกเรื่องกันอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างมีมากมาย เช่น สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหมายเลขหนึ่งของโลก แต่จนบัดนี้ยังหาโมเดลให้บริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและถูกใจประชาชนไม่พบ กฎหมายควบคุมธุรกิจการเงินออกมากี่ฉบับต่อกี่ฉบับเพื่อควบคุมและสร้างความมั่นคงแต่สถาบันการเงินก็ยังเป็นปัญหาทำร้ายผู้ลงทุนจนต้องแก้ไขกันอยู่ตลอดเวลา

          นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลเป็นคนอเมริกันเกือบทั้งหมด ความรู้เศรษฐศาสตร์กระจายกว้างขวางในทุกระดับของสังคม แต่เศรษฐกิจอเมริกันก็ยังมีอัตราการว่างงานสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ

          เมื่อการมีปัญหาของสังคมและเศรษฐกิจเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นจึงไม่ควรตกอกตกใจกันจนเกินเหตุ แต่ควรหาประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อทำให้มันเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อการ “ลองถูก” บ่อยกว่าเดิมในอนาคต

          สำหรับนักศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัย กฎหมายนิรโทษกรรมที่ผู้คนรังเกียจควรเป็นหัวข้อของการวิเคราะห์อย่างละเอียดทั้งด้านดีและด้านเสียด้วยเหตุด้วยผลโดยผู้สอนไม่นำความรู้สึกส่วนตัวหรือความเอนเอียงทางการเมืองเข้ามาในห้องเรียน เมื่อถกกันแล้วนักศึกษาก็จะเห็นประเด็น ต่าง ๆ และได้เรียนรู้มากขึ้น

          ผู้ศึกษากฎหมายมหาชน ศึกษาสังคมวิทยา การเมือง รัฐตำรวจ การจัดการกับฝูงชน การเจรจาต่อรอง การวางแผนกลยุทธ์ ฯลฯ ล้วนมีแหล่งการเรียนรู้ที่ทำให้นักศึกษาเห็นว่าเรื่องที่เรียนรู้ในห้องเรียนกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน

          บ่อยครั้งที่ผู้เรียนเข้าใจว่าเรียนสิ่งที่ครูอาจารย์สอนในห้องเพื่อเอาไว้สอบได้คะแนน ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นนอกห้องเรียนนั้นเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เมื่อใดที่ครูอาจารย์สามารถทำให้ผู้เรียนเข้าใจว่าสิ่งที่สอนในห้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนอกห้องเรียนเป็นเรื่องเดียวกันแล้ว ความเบื่อหน่ายของผู้เรียนดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็จะหายไปมาก

          เมื่อมีนักเรียนหัวดีถามว่าแล้วแหล่งเรียนรู้ที่อาจารย์เอามาสอนนี้เมื่อไหร่มันจะหายไปหมดจนผมได้เจอหน้าพ่อแม่ ลุงป้าที่หายไปตอนค่ำ ๆ กันทุกวันบ้าง ก็คงจะตอบว่ามันตอบยากเพราะมันขึ้นอยู่กับ (ก) พลังของ ‘มวลมหาประชาชน’ จะยืนตัวอย่างที่เป็นอยู่นี้ได้นานแค่ไหน ซึ่งมันก็ไปขึ้นอยู่กับว่าพลังนี้เข้มข้นแค่ไหน กลยุทธ์ของฝ่ายรัฐบาลที่เล่นเกมส์ยื้อนั้นผู้คนจะรู้ทันกันทั่วและพร้อมที่จะสู้กับเกมส์นี้อย่างยาวหรือไม่

          (ข) ผู้นำทหารพร้อมจะออกแรงอยู่เบื้องหลังอย่างแข็งขันเหมือนที่ได้ทำตอนต้นมากน้อยเพียงใด และจะเห็นแตกต่างกันหรือไม่ในหมู่ผู้นำเมื่อต้องเผชิญกับการตัดสินใจ โดยเฉพาะเมื่อมีการระดมคนจากอีกฝ่ายมาต่อสู้กัน

          (ค) ผู้นำความคิดในสังคมโดยเฉพาะนักวิชาการจะช่วยกันประคับประคอง อดใจไม่วิพากษ์วิจารณ์อันจะเสมือนกับเป็นการบั่นทอนแรงของ ‘มวลมหาประชาชน’ ได้หรือไม่เพียงใด

          (ง) ผู้อำนวยการ ศอ.รส. คนใหม่ (สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) จะช่วยเติมเชื้อไฟแบบ เขลา ๆ ให้แก่ “มวลมหาประชาชน” ได้ดีเพียงใด

          สังคมไทยต้องช่วยกันทำให้เหตุการณ์ชุมนุมครั้งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ชนิดที่เมื่อหลายปีผ่านไปแล้ว เมื่อกลับมาย้อนคิดถึงมันแล้วก็สามารถยิ้มกันได้
 

“เมารี” ยังมีปัญหา

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
3 ธันวาคม 2556

          นิวซีแลนด์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย ผู้คนมีความสุข แต่เหตุไฉนจึงมีคนติดคุกสูงติดอันดับโลก และส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้คือชาวเมารี (Mouri) ผู้ได้ชื่อว่าเป็นคนพื้นเมืองที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีแห่งหนึ่งของโลก

          นิวซีแลนด์มีประชากรประมาณ 4.3 ล้านคน มีพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของไทย มีรายได้ต่อหัวต่อปี 40,000 เหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 6 เท่าของคนไทย ประชากร 67% เป็นคนเชื้อสายยุโรป 15% เมารี และ 10% เอเชีย

          ประเทศนี้อยู่ในหมู่เกาะ Polynesia ซึ่งมีเกาะอยู่ด้วยกันทั้งสิ้นประมาณ 1,000 เกาะ ในจำนวนนี้มีเกาะ Hawaii / Tonga / Cook Islands ฯลฯ รวมอยู่ด้วย โดยนิวซีแลนด์อยู่ในบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ อีก 2 หมู่เกาะในมหาสมุทรปาซิฟิกคือหมู่เกาะ Melanesia และ Micronesia ซึ่งมีขนาดพื้นที่เล็กกว่า Polynesia

          สถิติที่แปลกของนิวซีแลนด์ก็คือในกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วโดยมีสมาชิกรวม 34 ประเทศ มีผู้ต้องขังทั้งหมดรวม 3 ล้านคน ในจำนวนนี้ 2 ล้านคนอยู่ในคุกของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีอัตราของผู้ต้องขังต่อประชากรสูงสุดในโลก คือ 701 คนต่อประชากร 100,000 คน (ไทยอันดับ 18 ของโลกอัตรา 381 คน ต่ำสุดในโลกคือ Iceland มีอัตรา 37 คน) ในขณะที่นิวซีแลนด์มีอัตรา 155 คน

          มากกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิก OECD มีอัตราผู้ต้องขังต่ำกว่า 140 คน อัตรา 155 คน ของนิวซีแลนด์ทำให้อยู่ในลำดับ 7 ของ OECD โดยต่ำกว่า Mexico หนึ่งอันดับ

          ในจำนวนผู้ต้องขัง 10,000 คนของนิวซีแลนด์ ร้อยละ 51 เป็นเชื้อสายเมารี ร้อยละ 33 เป็นยุโรป ร้อยละ 12 เป็นคนกลุ่มชาวเกาะ และร้อยละ 3 เป็นเอเชีย

          ในขณะที่ทั้งประเทศมีประชากรเชื้อสายเมารีเพียงร้อยละ 15 แต่มีอัตราผู้ต้องขังถึงร้อยละ 51 ซึ่งหมายความว่านอกจากประเทศจะมีอัตราผู้ต้องขังสูงถึง 155 คนแล้ว สัดส่วนของผู้ต้องขัง เชื้อสายเมารีสูงอย่างผิดปกติ

          เมารีหน้าตาเป็นอย่างไร ถ้าท่านเป็นแฟนรักบี้ทีม All Blacks ซึ่งเป็นทีมรักบี้ที่ เกรียงไกรสุด ๆ ของโลก (ปีนี้แข่ง 14 ครั้งยังไม่เคยแพ้ใครเลย) คงจะเห็นผู้เล่นหน้าตาออกมาทาง ชาวเกาะคล้ายคนเอเชียหลายคนซึ่งล้วนเป็นผู้เล่นที่เก่งมาก นั่นแหละคือเมารีชนกลุ่มน้อยของนิวซีแลนด์ซึ่งอยู่บนเกาะนี้มาก่อนคนผิวขาวซึ่งเหยียบเกาะนิวซีแลนด์เมื่อ 400 ปีก่อน

          เมารีเป็นชาว Polynesians โดยสายเลือด อพยพมาจากเกาะต่าง ๆ เมื่อ 700-900 ปีก่อน อยู่กันอย่างมีความสุขโดยมีภาษา ความเชื่อ และวัฒนธรรมคล้ายชาวเกาะอื่น ๆ ในบริเวณนั้น

          ชาวดัชเป็นผู้ตั้งชื่อเกาะนี้ว่า Nova Zeelandia ตามชื่อจังหวัดของเนเธอร์แลนด์คือ Zeeland (ตรงกับภาษาอังกฤษ Sealand) ต่อมาในภายหลังได้ชื่อใหม่ว่า New Zealand

          เมารีปัจจุบันมีประชากรประมาณ 750,000 คน อยู่ในนิวซีแลนด์ประมาณ 620,000 คน อยู่ในออสเตรเลีย 126,000 คน ที่เหลืออีกประมาณ 10,000 คนอยู่ในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และ คานาดา

          สิ่งที่โลกได้ยินมาตลอดก็คือทางการนิวซีแลนด์และคนนิวซีแลนด์เชื้อสายยุโรปดูแลคนพื้นเมืองเมารีเป็นอย่างดี มีความเท่าเทียมกัน ไม่เหมือนคนพื้นเมืองในออสเตรเลีย และไม่เหมือนอินเดียนแดง และคนดำในสหรัฐอเมริกา

          อย่างไรก็ดีเมื่อได้เห็นสถิติสัดส่วนผู้ต้องขังของเมารีเช่นนี้แล้วก็เกิดคำถามว่าได้เกิดอะไรขึ้น คำตอบก็คือเป็นความจริงที่ทางการทุ่มเทเงินทองมากพอควรและกฎหมายให้ความทัดเทียม หากแต่เมารีเองก็มีปัญหาทางสังคมไม่น้อยมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ปัญหาการศึกษา ปัญหาสาธารณสุข ปัญหาครอบครัวแตกแยก ฯลฯ

          ลักษณะอาชญากรรมของผู้ต้องขังเมารีในอันดับ 1 ก็คือความผิดอาญาทางเพศ รองมาคือการทำร้ายร่างกาย ลักเล็กขโมยน้อย ปล้น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ฆาตกรรม ฯลฯ

          ในเชิงสังคมวิทยา ปัญหาของเมารีมาจากการสูญเสียดุลยภาพทางสังคม โดยเคยอยู่ในรูปแบบของวัฒนธรมดั้งเดิมมายาวนาน แต่ตลอดเวลา 400 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลา 100 ปีหลังได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมขนานใหญ่ ซึ่งชาวเมารีส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันจึงเกิดการล่มสลายของสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของมนุษย์ และถูกซ้ำเติมด้วยระบบทุนนิยมซึ่งให้รางวัลแก่ผู้ชนะเท่านั้น

          นิวซีแลนด์ซึ่งอยู่ไกลไปทางตะวันออกสุดของออสเตรเลีย 1,500 กิโลเมตร เป็นสวรรค์ของคนผิวขาวมายาวนาน แต่สำหรับเมารีผู้อยู่อาศัยมาก่อนแล้วต้องรอไปก่อนเพราะความไม่พร้อมของการปรับตัวกับวัตถุนิยมและค่านิยมใหม่ที่ถาโถมเข้าสู่สังคมเมารี

          การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดของทางการนิวซีแลนด์มีส่วนในการทำให้สถิติอัตราส่วนของผู้ต้องขังสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ที่อาจมีสถิติอาชญากรรมสูงกว่าแต่การบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ แต่กระนั้นก็ตามสัดส่วนของผู้ต้องขังเมารีที่สูงอย่างไม่สอดคล้องกับสัดส่วนประชากรทำให้ต้องฉุกคิดว่าสังคมนิวซีแลนด์ได้ให้ความช่วยเหลือแก่คนพื้นเมืองดั้งเดิมอย่างเพียงพอและเป็นธรรมแล้วหรือไม่

          คนเมารีไม่ได้เลือกที่จะมีเส้นทางชีวิตแบบโลกตะวันตก เขาอยู่ของเขาอย่างมีความสุขตามอัตภาพ การเข้าไปแทรกแซงสังคมของเขาโดยคนผิวขาวทำให้เส้นทางชีวิตเป็นไปเช่นในปัจจุบัน ดังนั้นจึงเป็นความชอบธรรมที่สังคมนิวซีแลนด์จะต้องช่วยเหลืออุ้มชูอย่างยิ่ง

          สังคมอยู่กันได้ด้วยคุณธรรมและการยอมรับของสมาชิก เมื่อใดมันไม่เกิดขึ้นปัญหาต่าง ๆ ก็จะตามมาอย่างไม่รู้จบ

Word of The Year ในปี 2013

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
26 พฤศจิกายน 2556

          โดยสัญชาตญาณพื้นฐานตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มนุษย์ทุกคนอยากเห็นภาพตัวเอง เริ่มตั้งแต่เห็นภาพตัวเองในน้ำ ในกระจก ในรูปถ่ายจากกล้องในวิดีโอ จนกระทั่งถึงรูปถ่ายตัวเองชนิดดิจิตอลจากสมาร์ทโฟน ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดคำยอดฮิตขึ้นในภาษาอังกฤษ

          เมื่อเร็ว ๆ นี้ The Oxford Dictionaries ประกาศว่าในปี 2013 Word of The Year ในภาษาอังกฤษที่ใช้กันทั่วโลกคือคำว่า selfie หมายถึงรูปภาพที่ตนเองถ่ายซึ่งโดยทั่วไปใช้สมาร์ทโฟน หรือเว็บแคม และอัพโหลดไปยัง social media website

          ผมไม่มีตัวเลขสถิติที่มาจากการสำรวจจริงจัง แต่จากการสังเกตซึ่งนับว่าเป็นการสำรวจอีกลักษณะหนึ่ง ผมเชื่อว่ามนุษย์ในสมัยปัจจุบันถ่ายรูปกันมากขึ้นกว่าสมัยที่ต้องถ่ายรูปลงฟิล์มและ อัดภาพหลายร้อยหลายพันเท่า เนื่องจากต้นทุนการถ่ายภาพลดลงจนเกือบเป็นศูนย์ ถ่ายแล้วเห็นรูปทันทีไม่ต้องคอย ถึงแม้คนที่ห่างไกลมาตรฐานความงามอยู่มากก็สามารถขยับเข้าใกล้ได้ด้วยซอฟต์แวร์แต่งเสริม ฯลฯ

          ในประวัติศาสตร์ของการอยากเห็นหน้าตาตัวเอง จุดเปลี่ยนคือการใช้สิ่งคล้ายกระจกที่ทำขึ้นจากหินขัดซึ่งมีกำเนิดจากหินภูเขาไฟเมื่อ 8,000 ปีก่อนโดยมีหลักฐานการพบใน Anatolia หรือบริเวณประเทศตุรกีในปัจจุบัน

          มนุษย์ใช้ทองแดงขัดเงาเป็นกระจกส่องเมื่อ 6,000 ปีก่อน และต่อมาในสมัยอียิปต์โบราณเมื่อ 5,000 ปีก่อนก็ยังคงใช้โลหะขัดเงาเช่นเดียวกัน กระจกชนิดที่ฉาบด้วยโลหะคล้ายกระจกปัจจุบันเพิ่งใช้กันเมื่อ 2,000 ปีก่อนมานี้เอง ชาวโรมันพบเทคนิคในการฉาบกระจกด้วยตะกั่วให้เป็นกระจก ส่วนจีนรู้จักใช้เงินและปรอทฉาบกระจกเมื่อ 1,500 ปีก่อน และสืบทอดต่อมาเป็นกระจกในปัจจุบันด้วยวิธีการผลิตที่ใช้หลักการเดียวกัน

          กระจกเป็นสิ่งมีค่าในสมัยอยุธยา มีการนำเข้าจากต่างประเทศโดยถือว่าเป็นของขวัญมีค่าและหายาก หลายร้อยปีผ่านไปคนไทยก็ยังอยากเห็นหน้าตัวเองเหมือนเดิม ไม่เชื่อลองมองไปรอบ ๆ ตัว โดยเฉพาะในรถไฟฟ้า ศูนย์การค้า มหาวิทยาลัย สถานที่วิวสวย แม้แต่การชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน ผู้คนผลิต selfies กันอาจเป็นแสน ๆ รูปต่อวันในประเทศไทย

          Selfies (เซลล์-ฟี่) เป็นคำนามที่ใช้กันอย่างไม่เป็นทางการ สมาร์ทโฟนยี่ห้อต่าง ๆ ในปัจจุบันตระหนักถึงการชอบ selfies จึงผลิตกล้องถ่ายรูปชนิดที่ถ่ายรูปตัวเองได้อย่างสะดวก

          The Oxford Dictionaries บอกเล่าว่าเขาหาคำหรือวลีที่มีคนใช้กันมากที่สุดในแต่ละปีโดยใช้เทคโนโลยีไอทีรวบรวม 1.5 ล้านคำของภาษาอังกฤษที่ใช้กันอยู่ในแต่ละเดือนไม่ว่าใน blog ใน internet และในสื่อต่าง ๆ จากนั้นก็นำมาหาความถี่ของการใช้

          Word of The Year มิได้หมายความว่าต้องเป็นคำหรือวลีใหม่ที่เพิ่งประดิษฐ์ขึ้น หากต้องเป็นคำหรือวลีที่มีการใช้กันมากในปีนั้นเป็นพิเศษ สำหรับ selfie นั้น ในปี 2013 มีการใช้คำนี้เพิ่มขึ้น 17,000% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

          Selfie เกิดขึ้นในปี 2002 ในข้อความ on-line ของคนออสเตรเลียชิ้นหนึ่ง และหลังจากนั้นมาก็มีการใช้กันมากขึ้นเป็นลำดับเพราะสะดวกสำหรับการเรียกรูปถ่ายตัวเองจากสมาร์ทโฟน และในปัจจุบันคำนี้ก็ใช้กันเกร่อในชีวิตประจำวันไปแล้ว

          ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียนั้นมีหลายคำชอบลงท้ายด้วย ie (สระอี) เช่น Aussie (คนออสเตรเลีย) footie (หมายถึงออสเตรเลียนฟุตบอล) barbie (ไม่ใช่ตุ๊กตาหากหมายถึง barbecue) tinnie (เบียร์กระป๋อง) firie (พนักงานดับเพลิง) dunnie (ห้องน้ำ) rellies (ญาติ) ฯลฯ

          selfie มีรากมาจาก self และบอกด้วย ie ตามสไตล์ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียคล้ายคนมาเลเซียและสิงคโปร์ชอบลงท้ายประโยคด้วย ‘ล่า’ และคนไทยลงท้ายด้วย ‘นะ’

          นวตกรรม selfie หนึ่งเกิดที่การชุมนุมราชดำเนิน ภาพเขียนขนาดใหญ่จำนวนมากวางต่อกันเป็นแถวในเต็นท์เพื่อเป็นแบล็คกราวด์ให้พวกชอบ selfie ใครจะเลือกสไตล์ดุเดือดขนาดไหนก็เลือกเอาตามใจชอบ

          คำอังกฤษฮิตในไทยสำหรับเดือนที่ผ่านมาคือ self-inflicted หรือทำร้ายตัวเองด้วยการ วิ่งชนกำแพงที่อยู่สุดซอย

คิดบนเส้นทางลบ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
19 พฤศจิกายน 2556

          หลายอย่างในชีวิตเราไม่รู้ชัดเจนว่าทำอย่างไรจึงจะประสบผลสำเร็จ แต่เรารู้ว่าต้องไม่ทำอะไรจึงจะบรรลุผลสำเร็จ วิธีคิดเช่นนี้เป็นประโยชน์มากหากรู้จักนำไปใช้

          Role Dobelli เล่าไว้ในหนังสือชื่อ The Art of Thinking Clearly (2013) ว่าครั้งหนึ่งสันตะปาปาซึ่งเป็นผู้จ้างรายใหญ่ในการผลิตงานศิลปะได้ถาม Michelangelo ศิลปินเอกของโลกร่วมสมัยกับ Leonardo De Vinci เมื่อ 500 กว่าปีก่อนว่า “ช่วยบอกความลับของการเป็นอัจฉริยะของท่านหน่อยเถอะว่าทำอย่างไรจึงสามารถสร้างสรรรูปปั้นเดวิด (The Statue of David) ซึ่งเป็นงานชิ้นเอกของชิ้นเอกทั้งหมดได้” คำตอบของ Michelangelo ก็คือ “ง่ายนิดเดียว ผมก็สกัดทุกสิ่งที่ไม่ใช่ David ออกไป”

          รูปสลักหินอ่อน David ซึ่งเป็นชายเปลือยยืนอยู่คนเดียว มือขวาแนบลำตัวและมือซ้ายจับผ้าผืนเล็กที่พาดอยู่บนบ่าซ้าย ว่ากันว่าเป็นรูปสลักที่งดงามที่สุดชิ้นหนึ่งของโลก David ในที่นี้เป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ David ในคัมภีร์ไบเบิล และ David คนนี้แหละที่สู้กับ Goliath

          รูปสลักนี้ Michelangelo เป็นเจ้าของผลงาน ใช้เวลาสร้างระหว่าง ค.ศ. 1501-1504 ตลอดเวลากว่า 500 ปีรูปสลักนี้ได้รับความสนใจจากชาวโลกมาตลอด ปัจจุบันก็ยังเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่หลั่งไหลไปอิตาลีเพื่อชื่นชม

          คำพูด “ต้องสกัดทุกสิ่งที่ไม่ใช่ David ออกไปเพื่อให้ได้มาซึ่งรูปสลัก David” ของ Michelangelo ฟังดูแล้วเวียนหัวเสมือนการตีโวหารเล่นกับสันตะปาปา แต่จริง ๆ แล้วเขาหมายความถึงวิธีคิด ซึ่งต่อมามีชื่อเรียกว่า Via Negativa

          แนวคิด Via Nagativa หมายถึงเส้นทางลบ หรือเดินทางการปฏิเสธ หรือเส้นทางของการตัดออกไป หรือเส้นทางของการตัดลด เป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่ยุคกรีกโรมัน และสืบทอดมาจนถึง ทุกวันนี้

          ในเส้นทางนี้เราไม่รู้ว่าอะไรที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ เพราะเราไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ แต่เรารู้ชัดเจนว่าอะไรจะทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จ การตระหนักเช่นนี้ทำให้เราเห็นว่า negative knowledge (what not to do) อาจเป็นพลังสำคัญมากกว่า positive knowledge (what to do) ด้วยซ้ำ

          ไม่เชื่อลองพิจารณาแนวคิดของศีล 5 ก็ได้ ทั้งหมดเป็นการห้าม เริ่มตั้งแต่งดเว้นการ ฆ่าสัตว์ งดเว้นการลักขโมย งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นการกล่าวเท็จ และงดเว้นการดื่มสุราเมรัย การไม่ทำสิ่งเหล่านี้จะทำให้มีชีวิตอยู่ในครรลอง ไม่เกิดปัญหา ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการห้ามในเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต

          ข้อสอบแบบปรนัยมีคำตอบให้เลือกก็อาจใช้ Via Negative ช่วยได้ ถึงแม้จะไม่รู้ว่าข้อใดถูกต้องแต่ก็มีหลายข้อที่รู้ว่าไม่ใช่คำตอบแน่นอน จึงสามารถขจัดข้อไม่ถูกออกไปจนเหลือข้อให้คาดเดาน้อยลง โอกาสตอบถูกต้องก็มีมากขึ้น

          Michelangelo บอกสันตะปาปาว่าไม่รู้เหมือนกันว่าจะสร้างสรร David อย่างไร รู้แต่เพียงว่าสกัดส่วนที่คิดว่าไม่ใช่ David ออกไปทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่เหลือก็คือรูปสลักที่มีชื่อเสียงที่สุดชิ้นหนึ่งของโลก (มีไม่กี่ครั้งที่รูปปั้นหรือรูปสลักชายเปลือยชนิดเห็นอวัยวะเพศได้รับความนิยมจากทุกเพศ ไม่ว่าเพศที่ 1 หรือ 2 หรือ 3)

          การคิดของมนุษย์ก็เหมือนกัน เราถูกหลอกเพราะสิ่งลวงตามากมาย จนไม่รู้ว่าการคิดที่ถูกต้องคืออะไร รู้แต่เพียงว่าต้องตัดสิ่งที่ลวงออกไปให้มากที่สุด ก็จะทำให้ได้การคิดที่ผิดพลาดน้อยที่สุด

          ตัวอย่างเช่นเราถูกลวงตาเพราะ Halo Effect กล่าวคือเมื่อเราเห็นชายหรือหญิงมีความงามเป็นพิเศษ ใจเราก็จะถูกครอบงำโดยความงามนั้นจนลักษณะประกอบพิเศษอื่น ๆ ถูกมองข้ามไป ถ้าประยุกต์ไปไกลอีกหน่อย ความร่ำรวย (หรือคิดว่าร่ำรวยเพราะเห็นใช้ของหรือขับรถราคาแพง) การศึกษา ชาติกำเนิด บุคคลิก ความสามารถ ฯลฯ ก็สร้าง Halo Effect ได้เช่นกัน

          “การเชื่อว่าคนรวยแล้วไม่โกง” “คนหน้าตาดีมักเป็นคนฉลาดไว้ใจได้” “เก่งอย่างนี้ต้องดีด้วยแน่” ล้วนเป็นผลพวงจาก Halo Effect ที่ทำให้การคิดตัดสินใจของเราผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ

          อีกลักษณะหนึ่งของการลวงก็คือเรามักเชื่ออย่างที่เราอยากจะเชื่ออย่างขาดเหตุผล เช่น ชื่นชมเทิดทูนว่าคน ๆ หนึ่งเก่ง เป็นคนดี ก็จะปักใจอย่างนั้น มิใยที่มีหลักฐานท่วมท้นที่เป็นอย่างอื่น อย่างนี้เรียกว่าหลอกตัวเองได้มีประสิทธิภาพกว่าถูกคนอื่นหลอก

          ถ้าเราตระหนักว่าตัวอย่างสองปรากฏการณ์นี้ลวงใจเราได้จริง ๆ เราก็ต้องระมัดระวัง และในที่สุดเราก็จะได้การคิดที่ปราศจากการถูกลวงมากที่สุด

          มนุษย์เราได้ยินแต่ว่าการคิดที่เป็นบวก (positive thinking) จะสร้างพลังและสิ่งงดงามก็จะตามมาซึ่งเป็นวิธีคิดที่ไม่ผิด อย่างไรก็ดียังมีแนวคิดชนิดที่เป็นลบ (Via Negativa) (ซึ่งมิใช่ทิศทางตรงกันข้ามกับแนวคิดบวกดังกล่าว) ที่อาจช่วยให้ตัดสินใจได้ผิดพลาดน้อยที่สุด

          แนวคิดลบนี้เน้นการคำนึงถึงสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่ควรทำคืออะไร ฯลฯ กล่าวคือไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่รู้ว่าอะไรที่ไม่ใช่มัน

          ผมบอกไม่ได้ชัดเจนว่าอะไรที่ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งมีเสน่ห์น่ารัก แต่ผมรู้ว่าสิ่งใดที่ เธอทำแล้วหมดเสน่ห์ไม่น่ารัก เช่น สูบบุหรี่ จู้จี้จุกจิกกับการไปไหนมาไหนของผม ชอบข่มผมต่อหน้าคนอื่น เรื่องมาก ขี้หึงอย่างไร้เหตุผล เอาแต่ใจตัว ฯลฯ

          Via Negativa ไม่เพียงแต่ให้คำแนะนำที่ดี ๆ แก่หญิงเท่านั้น หากยังสามารถเป็นประโยชน์แก่ชายอีกด้วย เพราะผู้หญิงเขาก็รู้เหมือนกันว่าชายที่เรียกว่าดีนั้นไม่สมควรทำอะไรบ้าง
 

พรางตานิรโทษยังไม่เนียนพอ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
12 พฤศจิกายน 2556

          อยู่มาจนแก่ป่านนี้ยังไม่เคยเห็นปรากฏการณ์การประท้วงของประชาชนครั้งใดในประเทศนี้ที่ยิ่งใหญ่และกว้างขวางดังที่เกิดขึ้นในกว่าหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา น่าสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น

          เมื่อได้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเก่า ๆ ที่กล่าวถึงตอนแรกของการชุมนุม ก็รู้ได้ทันทีว่าเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติประเมินผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย (ไม่เข้าใจว่ามาเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐบาลได้อย่างไร เพราะชาติกับรัฐบาลนั้นไม่เหมือนกัน) ท่านบอกว่าม็อบมีไม่กี่พัน ไม่กี่วันก็เลิกชุมนุมไปเอง ตัวรัฐบาลเองก็ดูจะมั่นใจว่าทุกอย่างจะเดินไปได้สะดวก หลังจากการ “ข่มขืน” โดย ส.ส. 300 กว่าคนในสภาฯ ในวาระ 2 และวาระ 3 ของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้

          มันเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้ในปัจจุบันรัฐบาลหวาดหวั่น ตัวสั่นงันงกเกรงว่าการประท้วงร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมจะกลายเป็นการขับไล่รัฐบาลและ “ระบบทักษิณ” ไป ปรากฏการณ์นี้มีสาเหตุมาจากไม่น้อยกว่า 3 เรื่องดังต่อไปนี้

          เรื่องแรก มนุษย์ทุกผู้นามโดยธรรมชาติมีความตระหนักว่าอะไรคือความถูกต้องด้วยกันทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันออกไป ในเรื่องนี้เมื่อเข้าใจเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็รู้ได้ทันทีว่ามันไม่ถูกต้องอย่างฉกรรจ์เพราะ

          (ก) มันเป็นการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดทุจริตคอรัปชั่น ฉ้อราษฏร์บังหลวง หรือโกงบ้านเมืองอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย กล่าวคือไม่เพียง นิรโทษกรรมแก่ผู้ทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้น หากยังครอบคลุมไปถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องกล่าวหาก่อนหน้านี้และเรื่องมันต่อเนื่องมาด้วย โดยย้อนให้ไปถึงวันที่ 1 มกราคม 2547 ดังนั้นช่วงเวลาของนิรโทษกรรมคือ 1 มกราคม 2547 ถึง 8 สิงหาคม 2556

          …..อุแม่เจ้า…..นอกจากนิรโทษผู้ชุมนุมแล้ว ยังรวมไปถึงนิรโทษการถูกกระทำจากองค์กร (มิได้นิรโทษการกระทำของบุคคล) ที่ตั้งขึ้นหลัง 19 กันยายน 2549 และองค์กรอื่น ๆ ที่ดำเนินการเรื่องไว้ก่อนหน้าจนมีเรื่องสืบเนื่องต่อมาให้องค์กรจัดตั้งหลังรัฐประหารเดินเรื่องต่อด้วย

          พูดง่าย ๆ ก็คือทุกเรื่องที่ ปปช. กกต. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ฯลฯ ดำเนินการ ให้ผู้ถูกดำเนินคดีได้รับนิรโทษกรรมหมดทุกคน ถ้าสืบสวนอยู่ก็ให้เลิก ถ้าค้างอยู่ในศาลก็ให้ศาลพิพากษายกฟ้อง (กฎหมายฉบับนี้ไป สั่งศาล) ถ้าติดคุกอยู่ก็ให้ปล่อยทันที

          (ข) ดูเผิน ๆ ช่วงเวลาที่ครอบคลุมก็คือ 9 ปี คือจาก 1 มกราคม 2547 ถึง 8 สิงหาคม 2556 แต่หากดูให้ดี ๆ อาจย้อนถึง 18-19 ปีก็ได้ เพราะเรื่องที่ ปปช. หรือองค์กรอื่นซึ่งตั้งขึ้นก่อนรัฐประหาร 2549 ดำเนินการสอบสวนกล่าวหา อาจค้างย้อนหลังไปถึง 9-10 ปีก็เป็นได้ ดังนั้นเมื่อรวมกับ 9 ปี ผลก็อาจเป็นการนิรโทษความผิดที่เกิดขึ้นเมื่อ 18-19 ปีก่อน ที่น่าสังเกตก็คือเรื่องที่ถูกกล่าวหาในช่วง 2547-2549 ก็คือที่ดินรัชดา คดีกรือเซะ ตากใบ ฯลฯ และคดีใหญ่ ๆ อีก 24 คดีที่ คตส. ทำและมอบให้ ปปช. ดำเนินการต่อก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย

          เรื่องที่ถูกสอบสวนโดยองค์กรที่ตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร เพียง ปปช. นั้นมีรวม 25,331 คดี (เป็นคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง 400 คดี เป็นคดีของเจ้าหน้าที่ทั่วไป 24,931 คดี ในจำนวนนี้มีคดีทุจริตที่ชี้มูลความผิดแล้ว 666 คดี) คดีเหล่านี้หลุดหมดทั้งสิ้น ถ้ารวมคดี กกต. และองค์กรอื่น ๆ อีกก็อาจถึง 4,000-5,000 คดี คดีทั้งหมดนี้เป็นคดีทุจริตเกือบทั้งสิ้น

          ที่อัศจรรย์ก์คือกฎหมายังลากยาวลงมาถึง 8 สิงหาคม 2556 ซึ่งทำให้ครอบคลุมไปถึงคดีทุจริตจำนำข้าว โครงการน้ำ (โครงการโครงสร้างพื้นฐาน 3 ล้านล้านบาท? ที่อาจเกิดขึ้นแล้วด้วยทั้งที่ยังไม่มีงบประมาณ) และทุกข้อกล่าวหาทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลนี้ทั้งหมด (น่าจะคลุมไปถึงวันเลือกตั้งครั้งหน้าเสียเลย) ซึ่งองค์กรเหล่านี้กำลังดำเนินการอยู่ซึ่งหมายความว่าจะได้รับนิรโทษกรรมทั้งหมดด้วย

          นิรโทษกรรมหมายถึงพ้นผิดและไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังที่ถูกกล่าวหาเลย (น่าสงสารคนสุจริตที่ไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ความผิดเพราะได้รับนิรโทษกรรมแบบเหมาเรือบรรทุกน้ำมันเสียก่อน) ดังนั้นจึงลงเลือกตั้งได้ ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ได้เหมือนคนอื่น ๆ)

          เรื่องสอง ผู้ชุมนุมมาเพราะความโกรธที่ถูก “ตบหน้า” โดยผู้ชำเรา 300 กว่าคน โกรธที่คนเหล่านี้ไม่เห็นหัว ไม่รู้สึกเกรงใจเจ้าของประเทศตัวจริง เห็นเขาเป็น “คนกินแกลบ” เห็นเขาเป็นควายที่จะสนตะพายทำอะไรก็ได้เพราะมีเสียงข้างมากในสภา และโกรธ ๆ ๆ ๆ ผู้สั่งการ

          เรื่องสาม ผู้ชุมนุมรู้สึกว่ามัน “มากไป” หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือมันเกินเลยความพอดีไปมาก ดังเช่นมาตรา 6 เขียนไว้ชัดเจนว่า “การดำเนินการใด ๆ ตาม พ.ร.บ. นี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคล…..ในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง”

          เรียกว่าพ้นผิดจากการทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวงยังไม่พอ พ.ร.บ.ยังเปิดช่องไว้อ้าซ่าอย่างชัดเจนให้คืนเงินที่โกงมาแก่ผู้โกงอีกด้วย ดังนั้นไม่ว่าเงินกี่หมื่นล้านที่มีการยึดมา เงินสดกี่สิบล้านซึ่งเป็นคดีที่คนกว่าสิบคนเข้าไปขนในบ้านจนปลัดกระทรวงใหญ่แห่งหนึ่งถูกยึดทรัพย์ก็ต้องคืนเขาไปทั้งหมดด้วย…..พร้อมกับดอกเบี้ย

          นอกจากนี้เงินที่ ก.ก.ต. เรียกเก็บจากการต้องจัดเลือกตั้งใหม่เพราะคนสมัครรับเลือกตั้งโกงก็ต้องคืนเขาพร้อมกับการพ้นผิดอีกด้วย คนโกงเลือกตั้งที่ กกต. ลงโทษจะเป็นผู้บริสุทธิ์ทันที เช่นเดียวกับคดีของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็ต้องคืนเงินเขาและปล่อยตัวเขาให้เดินยิ้มกลับบ้านอย่างเท่ ๆ อีกด้วย บรรดาคดีต่าง ๆ ที่มีการสอบสวนอยู่ก็ต้องเลิกไปทั้งหมด

          อุแม่เจ้า…..มันช่างเป็นสวรรค์ของคนโกงอะไรเช่นนี้

          เขียนแค่นี้ก็เกิดอารมณ์ ของขึ้นแล้ว สิ่งต่าง ๆ ที่สอนลูกสอนเยาวชนว่าการทุจริตเป็นเรื่องชั่วร้ายก็ไม่จริงเสียแล้ว เพราะมันพ้นผิดกันได้เสมอ ผิดเป็นถูกได้ถ้ามีเสียงในสภามากพอที่จะ “ข่มขืน” ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใดก็ได้

          หาก พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้รับรองได้ว่าคนต่างชาติต้องตะลึงกับนวตกรรมชิ้นใหม่ของโลกที่มั่นใจว่ายังไม่มีที่ใดในโลกที่นิรโทษกรรมคนโกงบ้านเมืองแถมคืนเงินที่โกงมา ทั้งหมดนี้เป็นอาหารเมนูหลัก ส่วนนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมตัวเล็ก ๆ นั้นมันเป็นน้ำจิ้ม

          ที่น่าสงสัยก็คือเนื้อหาที่วิปริตพิกลพิการใน พ.ร.บ. ฉบับนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร…..ทั้งหมดนี้เป็นไปเพียงเพื่อการพรางตา เพราะของจริงที่ต้องการนิรโทษมันหลบอยู่ข้างในอย่างพยายามทำให้เนียน ๆ ?

รู้จัก Halo Effect

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
5 พฤศจิกายน 2556

          ใจมนุษย์นั้นถูกลวงได้ไม่ยากหากเจ้าของไม่ตระหนักถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและการถูกลวงอาจสร้างความเสียหายให้ได้มากมาย สาเหตุสำคัญของการลวงใจอันหนึ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่า Halo Effect

          “…..เห็นเขาหล่อดี หนูก็เลยชอบเชา…..” พุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีลูกทุ่ง เคยร้องไว้เมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว เป็นทำนองรำพึงรำพันว่าเมื่อเห็นหน้าตาดีก็เลยไม่ได้พิจารณาด้านอื่น ๆ ให้รอบคอบมันก็เลยเกิดปัญหาขึ้น พวกเราทุกคนอาจมีปัญหาในลักษณะเดียวกับพุ่มพวง เพราะสิ่งที่เรียกว่า Halo Effect นั้นมันบดบังตาและบังใจได้ดีนัก

          Edward Thorndike นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเป็นผู้บัญญัติคำว่า Halo Effect ในบทความชื่อ “The Constant Error in Psychological Ratings” (1920) Halo นั้นหมายถึงแสงสว่างเป็นวงกลมอยู่เหนือศีรษะของนักบุญในคริสตศาสนาซึ่งส่อความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ หรือมีอะไรพิเศษน่าชื่นชม

          Halo Effect จึงหมายความถึงผลที่เกิดจากการเป็น “คนพิเศษ” ดังเช่นความหล่อของชายในเพลงของพุ่มพวงจนบดบังลักษณะด้อยอื่นที่เธอควรจะได้เห็นเสียหมด

          Halo Effect ทำให้เกิดความเอนเอียง (bias) วิจารณญาณของบุคคลหนึ่งที่มีต่ออีกบุคคลหนึ่งในภาพรวมถูกบดบังโดยลักษณะพิเศษเสียหมด ปรากฏการณ์นี้มนุษย์เผชิญอยู่โดยอาจไม่รู้ตัวและเกิดขึ้นในทุกวงการในทุกเวลา

          Thorndike ทำการทดลองทางสถิติโดยให้นายทหาร 2 คน ประเมินทหารผู้ใต้บังคับบัญชาในด้านกายภาพ (ความเป็นระเบียบ เสียง รูปร่าง หน้าตา ความแข็งขัน) ด้านความเฉลียวฉลาด ทักษะความเป็นผู้นำ และคุณลักษณะส่วนตัว เช่น ความไว้วางใจได้ ความจงรักภักดี ความรับผิดชอบ ความไม่เห็นแก่ตนเอง ความร่วมมือ ฯลฯ เขาพบว่าบางลักษณะจากข้างต้นมีความสัมพันธ์กันสูงอย่างผิดสังเกต กล่าวคือรูปร่างหน้าตากับความเฉลียวฉลาด รูปร่างหน้าตากับความเป็นผู้นำ รูปร่างหน้าตากับบุคลิกอุปนิสัยที่น่าพึงปรารถนา

          ข้อสรุปก็คือรูปร่างหน้าตาดีดูจะมีสหสัมพันธ์กับคุณลักษณะอื่นอย่างไม่น่าจะเป็นปกติ ซึ่งหมายความว่ามี Halo Effect เกิดขึ้น กล่าวคือความมีหน้าตาดีกับคุณลักษณะที่พึงประสงค์อื่น ๆ จะตามไปด้วยกัน

          ในงานศึกษาอื่น ๆ ในเวลาต่อมา ก็ยิ่งพิสูจน์ได้ชัดยิ่งขึ้นว่าการมีลักษณะกายภาพที่ประกอบกันจนเห็นว่าเป็นการหน้าตาดีนั้นส่อให้คนอื่น ๆ คิดว่าจะเป็นคนฉลาด มีความเมตตากรุณา ประสบความสำเร็จ ฯลฯ

          คนหน้าตาดีไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เกิด Halo Effect ความร่ำรวย การศึกษา ฐานะทางสังคม เสน่ห์ ความสามารถในการทำงาน ความเป็นคนเก่ง ความเป็นคนพูดเก่ง ฯลฯ ก็เป็นสาเหตุได้เช่นกัน การไม่ตระหนักถึง Halo Effect จากสถานะเด่นต่าง ๆ ข้างต้นอาจทำให้บุคคลตัดสินใจผิดพลาดเพราะถูกลวงตา

          การหลงใหลในความหล่อความสวยมักทำให้ทึกทักเอาเองว่าเป็นคนดีและฉลาดด้วยทั้งนี้เพราะ Halo Effect ทำงานเสมอไม่หยุดพัก สร้างความปวดร้าวมายาวนานในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เพราะ Halo Effect ทำให้วิจารณญาณเสื่อมถอยเนื่องจากความหน้าตาดีบดบังคุณลักษณะอื่น ๆ ที่มีอยู่ด้วย

          ถ้าประยุกต์ Halo Effect เข้ากับเรื่องอื่น ๆ ก็จะพบว่าเรามักซื้ออาหารหน้าตาน่ากินเพราะคาดว่าต้องอร่อยและสะอาดโดยไม่คำนึงถึงว่าโดยแท้จริงแล้วการประกอบอาหารนั้นถูกสุขอนามัยหรือไม่ เราโดดเข้าซื้อหุ้นตัวที่ราคาเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นมากโดยมิได้พิจารณาเหตุของการเปลี่ยนแปลงหรือคุณภาพของการบริหารบริษัท

          เราเลือกงานที่ให้ผลตอบแทนดีโดยไม่คำนึงถึงว่างานนั้นจะช่วยเพิ่มพูนทักษะและความสามารถให้แก่เราได้มากน้อยเพียงใด เราชื่นชมคนขับรถราคาแพง อยู่บ้านหลังใหญ่ โดยไม่ได้ตระหนักถึงว่าเขามีลักษณะอื่น ๆ ที่พึงประสงค์ดังที่เคยเราคาดคิดไว้หรือไม่

          เป็นที่น่าอนาถใจว่าในสังคมไทยความชื่นชมความรวยสนับสนุนให้เกิด Halo Effect ที่รุนแรงจนบดบังการพิจารณาในเรื่องคุณธรรมไปอยู่บ่อย ๆ คนไทยน่าจะเลิกเชื่อได้แล้วว่าคนรวยแล้ว ไม่โกง ในชีวิตผมเห็นแต่เศรษฐีไทยจำนวนหนึ่งยิ่งรวยก็ยิ่งโกง และยิ่งงกด้วย

          มนุษย์เราถูกหลอกกันไม่เว้นแต่ละวันโดยตนเองเป็นคนหลอกเพราะหลุ่มหลงชื่นชมในลักษณะเด่นจนละเลยที่จะพิจารณาองค์ประกอบอื่น ๆ ไปสิ้น

          หนทางพิสูจน์ม้าฉันใด กาลเวลาและลักษณะรวมโดยเฉพาะประวัติชีวิตและอันตรนิสัยก็พิสูจน์คนฉันนั้น
 

ความสะดวกในชีวิตและเทคโนโลยี

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
29 ตุลาคม 2556

          สิ่งที่น่าเบื่อหน่ายที่สุดของคนใช้รถแท็กซี่ในกรุงเทพมหานครก็คือการปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารโดยอ้างสารพัดเหตุ การปฏิเสธไม่รับเช่นนี้โดยแท้จริงแล้วผิดกฎหมาย แต่คนไทยก็เป็น คนไทยคือรอมชอมกันทั้งคนที่เห็นความผิดซึ่งหน้าและคนที่มีหน้าที่คอยจับคนทำผิด โดยธรรมชาติมนุษย์นั้นถ้าคนคิดจะทำผิดกฏหมายคาดว่าตนเองมีโอกาสถูกจับได้สูงก็จะไม่ทำ ในเรื่องให้คนท้อใจไม่กล้าทำผิดกฎหมายนั้นเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถช่วยได้มาก

          ก่อนหน้ารัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุน 2-3 ปี รถแท็กซี่มีสภาพเหมือนโลงศพ คนขับต้องง้อเจ้าของอู่ ถึงแม้เช่าไปและรถเสียก็ยังต้องจ่ายค่าเช่า สาเหตุที่สำคัญก็คือกฎของทางการที่จำกัดจำนวนรถแท็กซี่ในกรุงเทพมหานคร

          การจำกัดจำนวนใบอนุญาตรถแท็กซี่ไว้คงที่ทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เป็นเจ้าของใบอนุญาตอยู่แล้ว กล่าวคือมันทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ” (economic rent) เจ้าของใบอนุญาตได้รับผลตอบแทนมากเกินกว่าที่ตนเองจะได้รับหากแม้นว่าเป็นการแข่งขันเสรีซึ่งไม่มีการจำกัดใบอนุญาต ในยุคนั้นมีการขายใบอนุญาตกันถึง 5-6 แสนบาท

          สภาพรถนั้นไม่ต้องไปสนใจ ถึงเกือบพังคนก็ขึ้นเพราะหารถยาก เจ้าของรถก็สนุกกับการเก็บเงินจนไม่ดูแล เมื่อจำนวนรถมีจำกัดและมีคนขึ้นมาก ค่ารถแท็กซี่ก็แพงมหาโหดเป็นธรรมดา เมื่อคุณนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลชุดนั้นก็เปิดเสรีแท็กซี่ในกรุงเทพมหานคร และเราก็เห็นรถแท็กซี่สีลูกกวาดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          วันเวลาผ่านไป เศรษฐกิจขยายตัวพร้อมกับแท็กซี่เสรี ค่าเช่าทางเศรษฐกิจก็กลายเป็นสูญ สภาพรถก็ดีขึ้น ค่าโดยสารก็พอขึ้นกันได้ แต่การใช้บังคับกฎหมายในเรื่องการปฏิเสธผู้โดยสารหย่อนยาน คนขับแท็กซี่บางส่วนก็ทำตัวน่าระอา นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนไม่น้อยบ่นเรื่องนี้ในโลกไซเบอร์

          สิ่งที่จะเป็นลักษณะ win-win ในเรื่องแท็กซี่ก็คือผู้โดยสารได้รับความสะดวกในการใช้และผู้ขับไม่ต้องวิ่งรอกจนเสียน้ำมันหรือก๊าซเกินสมควร หลายเมืองในโลกปัจจุบันใช้ application บนมือถือที่สร้างขึ้นโดยบริษัทเอกชน ผู้โดยสารที่เคยชินกับการโบกรถริมถนนก็ทำต่อไป แต่หากใช้ application เรียกรถแท็กซี่ก็จะมีคนขับที่อยู่ใกล้เคียงตอบรับกลับมาโดยตรง ทันทีนั้นชื่อ รูปคนขับ พร้อมเลขทะเบียนรถและภาพรถคันนั้นก็ปรากฏขึ้นบนมือถือของเธอ และรถคันที่อยู่ใกล้ที่สุดนั้นก็จะมารับเธอ

          โจฮันเนสเบิร์ก ลอนดอน โอซาก้า ซานฟรานซิสโก มอสโคว์ นิวยอร์ก สิงคโปร์ ฯลฯ รวมแล้วกว่า 49 เมืองใน 19 ประเทศใช้ application ที่สร้างขึ้นโดยบริษัทข้ามประเทศเช่นว่านี้แก้ไขปัญหาผู้โดยสารหารถไม่ได้และคนขับหาผู้โดยสารไม่ได้ เมื่อมีจุดร่วมกันผ่าน application เช่นนี้ win-win ก็เกิดขึ้นได้

          ในบ้านเราปัจจุบันใช้การโบกรถ (ถ้าโชคดีมีรถผ่านมาและกรุณายอมรับเราขึ้นรถ) หรือใช้โทรศัพท์เรียกรถ (ถ้าไม่เหี่ยวไปซะก่อนที่โอเปอร์เรเตอร์จะรับสายและมีรถให้เราใช้ และถ้ามีรถมาจริงโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน) ซึ่งแท้จริงไม่มีประสิทธิภาพทั้งสองวิธี วิธีแรกขึ้นอยู่กับความบังเอิญที่สองฝ่ายมาพบกัน วิธีที่สองขึ้นกับระบบและประสิทธิภาพของการจัดรถให้ตรงกับคนโดยมีโอเปอเรเตอร์เป็นคนกลาง

          ในระบบโทรศัพท์เรียกรถ ศูนย์รับโทรศัพท์ก็จะวิทยุเรียกรถที่อยู่ใกล้ที่สุด ซึ่งเป็นสิทธิของคนขับที่จะไปจุดนั้นหรือไม่ก็ได้ บ่อยครั้งถ้ารับจะไปก็ต้องเป็นเส้นทางไกล ๆ (ชอบมากที่สุดคือสุวรรณภูมิ)

          ถ้ากระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพจัดการให้มี application ลักษณะนี้ขึ้น ผู้โดยสารก็จะไม่ต้องพึ่งศูนย์เรียกรถแท็กซี่อีกต่อไป ผู้บริโภคมีความคล่องตัวมากขึ้นในการใช้บริการ (รู้แน่ว่ามีรถมา ถ้าไม่มาก็ไปฟ้องกรมการขนส่งทางบกได้เพราะมีชื่อและรูปคนขับตลอดจนเลขทะเบียน) คนขับแท็กซี่ก็ประหยัดค่าโสหุ้ยในการประกอบอาชีพไปได้มาก ไม่ต้องกังวลกันเรื่องการปฏิเสธรับเพราะคนขับได้ตัดสินใจที่จะเลือกไปรับผู้โดยสารคนนั้นแล้ว

          ในต่างประเทศมีการตื่นตัวในการใช้เทคโนโลยีไอซีทีเพื่อเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในอีกหลายด้าน เช่น ในเกาหลีประชาชนสามารถใช้บริการขอสำเนาทะเบียนราษฎร์ ทะเบียนเกิด ใบรับรองว่าเรียนจบ ชั้นต่าง ๆ สำเนาใบเสียภาษี ฯลฯ รวมแล้วกว่า 50 บริการจากตู้ที่ทางการตั้งไว้ที่ว่าการอำเภอ หรือประชาชนสามารถดาวน์โหลดขอสำเนาเหล่านี้ได้จากมือถือที่พ่วงกับเครื่องพิมพ์โดยไม่ต้องเดินทางไปหน่วยงานราชการแห่งใดทั้งสิ้น

          ในเมืองใหญ่ ๆ ของหลายประเทศมีบริการ Wi-Fi ฟรีเกือบทุกจุดสำหรับผู้ใช้มือถือ ในกรุงโซลและเมืองใหญ่อื่น ๆ ของเกาหลีมีบริการ Wi-Fi ฟรีอยู่ทั่วไปหมด ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถใช้ได้อย่างสะดวก โดยไม่ต้องมีการลงทะเบียนให้ยุ่งยากน่ารำคาญใจ

          กฎหมายอินเตอร์เน็ตในบ้านเราที่บังคับให้มีการลงทะเบียนชื่อผู้ใช้ Wi-Fi สาธารณะ (บางแห่งทุกครั้งที่มีการใช้ด้วย) สมควรมีการทบทวน ทางโน้มของโลกในปัจจุบันก็คือการให้บริการอินเตอร์เน็ต Wi-Fi ฟรีและสามารถใช้ได้อย่างสะดวกโดยถือว่าเป็นบริการพื้นฐานของประชาชนเช่นเดียวกับไฟฟ้า น้ำ และประปา

          แนวคิดระมัดระวังความปลอดภัยเพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่ามีมาตรการในเรื่องความปลอดภัย ของประเทศเราตามกฎหมายนั้นล้าสมัยอย่างสมควรมีการทบทวน เหตุใดเกาหลี (ใต้) ซึ่งเป็นประเทศที่ระวังในเรื่องความปลอดภัยและความอยู่รอดของประเทศอย่างยิ่งเนื่องจากมีปัญหาปวดหัวจากเกาหลีเหนือ จากญี่ปุ่นและจีนอดีตผู้รุกรานมายาวนานในประวัติศาสตร์ จึงมีฟรี Wi-Fi ได้อย่างเสรีและสะดวกจนประทับใจทุกคนที่ไปเยือน

          การมีบริการอินเตอร์เน็ต Wi-Fi ฟรีทั่วทั้งกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ ๆ นั้นใช้เงินทองน้อยกว่ารถไฟฟ้าความเร็วสูงหนึ่งเส้นทางอย่างเทียบกันไม่ได้ (ตราบใดที่ไม่ถูกหลอกเรื่องราคา หรือเต็มใจให้หลอก) และมีประโยชน์โดยตรงแก่ผู้คนทั่งไป ซึ่งต่างจากโครงการรถไฟที่ผู้รับได้ประโยชน์โดยตรงคือผู้โดยสารรถไฟเท่านั้น

          ปัญหาความไม่สะดวกในการดำรงชีวิตประจำวันของสมาชิกสังคมในปัจจุบันแก้ไขได้ด้วยสติปัญญาและการรู้จักใช้เทคโนโลยี ตราบที่ผู้แก้ไขมีความจริงใจและไม่มีวาระซ่อนเร้นของการเขมือบในทุกระดับ
 

Gutenberg เปลี่ยนแปลงโลกยิ่งกว่าอินเตอร์เน็ต

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
22 ตุลาคม 2556

          การเกิดขึ้นของอินเตอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงโลกอย่างไม่เคยมีใครคิดมาก่อนจนอาจเชื่อกันว่าเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุด อย่างไรก็ดีในประวัติศาสตร์โลกมีสิ่งหนึ่งที่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในโลกที่ยิ่งใหญ่กว่าอินเตอร์เน็ต

          สิ่งประดิษฐ์โดย Johannes Gutenberg ชาวเยอรมันในปี ค.ศ. 1450 มีอิทธิพลต่อมนุษยชาติอย่างมหาศาลและต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

          มนุษย์รู้จักการพิมพ์ภาพ ตัวอักษรลงบนผ้า หรือวัสดุอื่น ๆ มานานตั้งแต่เมื่อ 5,000 พันปีก่อนโดยใช้ลูกกลิ้งดินเผาทั้งในจีนและอียิปต์ หลายท้องถิ่นมีการพิมพ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่นจีนใช้แกะอักษรลงบนแผ่นไม้เพื่อพิมพ์ข้อความ อินเดียสลักลงบนแผ่นหิน ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้เป็นไปด้วยความยากลำบากจึงไม่แพร่หลายจนมีส่วนทำให้คนอ่านหนังสือออกมีจำนวนน้อย

          ในพันปีแรกของคริสตศาสนา พระและนักบวชใช้วิธีลอกข้อความจากไบเบิลและหนังสือโดยทำกันเป็นล่ำเป็นสันแต่ก็ผลิตได้ในจำนวนจำกัด ถ้าเป็นคนธรรมดาที่ต้องการเป็นเจ้าของหนังสือก็ต้องจ้างในราคาแพงมาก

          Nate Silver หนุ่ยวัยไม่ถึง 40 ปี ซึ่งกำลังดังเป็นพลุเพราะสามารถพยากรณ์ผลเลือกตั้งโดยไม่ต้องทำโพลล์เอง หากเอาโพลล์ต่าง ๆ มารวมกันวิเคราะห์ เขาเป็นคนเดียวที่พยากรณ์ว่าโอบามาจะชนะขาดในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านไปและพยากรณ์ได้ถูกในทั้ง 50 รัฐอีกด้วย ในการเลือกตั้งระดับชาติและท้องถิ่นของนักการเมืองอื่น ๆ เขาก็พยากรณ์ถูกเกือบทั้งหมด

          ในหนังสือของเขาชื่อ The Signal and the Noise : The Art and Science of Prediction (2012) เขาคำนวณให้เห็นว่าเครื่องพิมพ์ของ Gutenberg ทำให้ตั้งทุนในการผลิตหนังสือลดลงไปกว่า 300 เท่า

          ในสมัยนั้นค่าจ้างลอกหนังสือห้าหน้าตก 1 florin (เหรียญทองคำปัจจุบันมีมูลค่าตามราคาปัจจุบันประมาณ 200 เหรียญสหรัฐ) ดังนั้นหนังสือขนาด 500 หน้าจะมีต้นทุนประมาณ 20,000 เหรียญตามราคาปัจจุบันซึ่งต่างจากราคาของหนังสือปัจจุบันซึ่งตกเล่มละ 70 เหรียญ

          เมื่อหนังสือมีราคาแพงมากขนาดนั้นในสมัยก่อน การแพร่กระจายของหนังสือและองค์ความรู้ที่ฝังตัวอยู่จึงมีน้อยมาก เมื่อหนังสือมีน้อย คนอ่านออกเขียนได้ก็มีน้อยตามไปด้วย เฉพาะพระและชนชั้นสูงเท่านั้นที่มีโอกาสเป็นเจ้าของหนังสือเล่มที่สืบทอดมาจากยุคโบราณ เช่นของ Plato และ Aristotle

          เทคนิคการพิมพ์ในยุคก่อนหน้าระบบออฟเซ็ตไม่ต่างไปจากเครื่องพิมพ์ของ Gutenberg กล่าวคือเป็นแบบเรียงพิมพ์โดยวางอักษรโลหะแต่ละตัวลงในบล๊อกไม้และเอาหมึกกลิ้งบนอักษรโลหะ จากนั้นก็ใช้การบีบอัด (press) แผ่นกระดาษที่วางทับอยู่บนบล๊อกอักษรลงไป ก็ได้กระดาษที่พิมพ์ข้อความออกมา

          เมื่อสมัยก่อนมีแต่สิ่งพิมพ์เป็นสื่อปากเสียงของประชาชน และใช้การบีบอัดตามแบบเครื่องพิมพ์ Gutenberg ดังนั้นในภาษาอังกฤษปัจจุบันคำว่า press จึงหมายถึงสื่อมวลชนด้วย

          Gutenberg สร้างผลกระทบอย่างมากมายมหาศาล ภายในเวลาเพียง 20 ปี ศาสตร์การพิมพ์ตามแบบของ Gutenberg กระจายไปทั่วเมืองใหญ่ของยุโรปทั้งหมด จำนวนหนังสือที่ผลิตออกมาในยุโรปจากจำนวนหมื่นพุ่งเป็น 12 ล้านเล่มในอีก 200 ปีต่อมา

          การเกิดขึ้นของเครื่องพิมพ์ Gutenberg เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ยุคฟื้นฟูครั้งใหญ่ (The Renaissance) ในช่วง 300 ปีต่อมา Francis Bacon ใน ค.ศ. 1620 กล่าวว่าการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ ปืน และเข็มทิศนำทางเรือคือ 3 สิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบของเรา

          ผลกระทบของ Gutenberg อาจสรุปได้ดังนี้ (1) การอ่านเขียนกลายเป็นสมบัติของประชาชน แทนที่จะกระจุกตัวอยู่ในชนชั้นสูงดังเช่นที่เป็นมานับพันปี โดยข่าวสาร ความคิด และความรู้กระจายไปทั่วทุกชนชั้นและเกิดความรู้มากยิ่งขึ้น การตีพิมพ์วารสารวิชาการทำให้เกิดมีลิขสิทธิ์ และเกิดการแลกเปลี่ยนต่อยอดความคิดเห็นขึ้น

          (2) ทำให้เกิดยุคสมัยของสื่อสารมวลชน การกระจายตัวขององค์ความรู้และความคิดเสรีนิยมเปลี่ยนแปลงความนึกคิดของผู้คนในสังคมจนมีส่วนทำให้โครงสร้างสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวรทั้งในยุโรปและในเอเชียในเวลาต่อมา

          (3) ผู้มีอำนาจมายาวนานนับพันปีถูกท้าทายยิ่งกว่ามีด ดาบ ธนู กองทัพทหาร ดังที่เคยเป็นมาในอดีตเมื่อผู้คนสามารถสื่อสารแนวคิด เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และสื่ออารมณ์ถึงกันได้อย่างสะดวกกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีความถูกต้องไม่ผิดเพี้ยนโดยคำบอกเล่าหรือโดยหนังสือซึ่งคัดลอกมาผิดพลาดอีกด้วย

          (4) การแพร่กระจายของคริสต์ศาสนาผ่านการพิมพ์ไบเบิลนับล้าน ๆ เล่มสู่ประชาชนในแทบทุกมุมโลกนำไปสู่การเกิดขึ้นของความคิดในเรื่องคุณธรรม การทำงานหนัก การประหยัด อดออม ความรัก ความเมตตา ฯลฯ ตามหลักศาสนา คงไม่ผิดถ้าจะกล่าวว่า Gutenberg มีอิทธิพลอย่างมากต่อการแพร่กระจายของคริสตศาสนา

          (5) หลายภาษาในยุโรปมีความเป็นตัวตนมากขึ้นเพราะการพิมพ์จนนำไปสู่ความรู้สึกชาตินิยมและความคิดในเรื่องรัฐ-ชาติ การเกิดขึ้นของสงครามศาสนาและอีกหลายสงครามในเวลาต่อมาเป็นผลพวงจากอิทธิพลของ Gutenberg อย่างไม่อาจปฏิเสธได้

          การเป็นอดีตช่างทองของ Gutenberg ทำให้เข้าใจเรื่องส่วนผสมที่เหมาะสมของโลหะสำหรับตัวอักษร กอปกับการพัฒนาของคุณภาพกระดาษ ตลอดจนการเกิดขึ้นเป็นเล่มแบบหนังสือ (codex) แทนที่จะเป็นม้วน ล้วนเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการแพร่อิทธิพลของ Gutenberg

          การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดรก็จริง แต่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ทิ้งผลกระทบไว้แก่ชาวโลกอย่างเกินพรรณา

คนอินเดียเลือกวัวเหนือเงิน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
15 ตุลาคม 2556

          โลกนี้มีหลายสิ่งที่น่าพิศวงในความขัดแย้ง คำอธิบายมีทั้งตัวเลข เหตุผล เชิงวิชาการ บ่อยครั้งที่มักมองข้ามสิ่งที่ใกล้ตัว

          อินเดียมีวัวกว่า 280 ล้านตัว นอกจากจะเป็นสัญญลักษณ์ของความมั่งคั่ง ความเข้มแข็ง ความอุดมสมบูรณ์ ฯลฯ ในสังคมฮินดูแล้ว คนอินเดียยังเลี้ยงวัวเพื่อกินนม ให้มูลที่ใช้ทำได้สารพัดประโยชน์ และเลี้ยงลูกเพื่อขายอีกด้วย

          นักเศรษฐศาสตร์สามคนนำโดย Santosh Anagoo เขียนรายงานวิจัยชื่อ “Continued Existence of Cows Disproves Central Tenet of Capitalism?” (September, 2013) ของ National Bureau of Economic Research (NBER) เสนอสิ่งน่าพิศวง

          นักวิจัยสามคนพบว่าผลประโยชน์ตอบแทนเฉลี่ยจากการเลี้ยงวัวในชนบทตอนเหนือของอินเดีย คือ -64% เมื่อเอาค่าแรงเลี้ยงวัว ค่าอาหาร ค่ายา ค่าดูแล ฯลฯ ตลอดจนผลประโยชน์ที่ได้รับทั้งหมดมาคำนวณรวมกัน

          ข้อสงสัยก็คือเมื่อผลประโยชน์ตอบแทนมันต่ำมากเช่นนี้จนถือว่าเป็นการลงทุนที่ต่ำ มาก ๆ เหตุใดเกษตรกรจึงยังคงเลี้ยงวัวกันไปทั่ว พฤติกรรมมันค้านกับเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์

          วัวตัวหนึ่งถึงแม้จะกินหญ้ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 รูปีต่อปี (ประมาณ 5,000 บาท) ต้องมีการดูแลเป็นอย่างดีเพราะวัวมิใช่สัตว์ที่ทนทานต่อความเจ็บป่วย แต่มันก็ช่วยไถนา ช่วยขนส่ง และเดินทาง มีนมให้เป็นอาหาร ออกลูกขายได้อีก (ไม่มีการฆ่ากินเป็นอาหารเด็ดขาดเพราะคนฮินดูไม่กินเนื้อ และการฆ่าวัวนั้นสุดบาป) มูลวัวนั้นสุดวิเศษเพราะสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิง เชื่อมต่ออิฐและสร้างผนังบ้าน ปูพื้นดินให้เรียบเพื่อทำกิจกรรมเกษตร ไม่ว่าฝัดข้าว ตากข้าว ซ้อมข้าว ปุ๋ยใส่ต้นไม้ ฯลฯ 

          การศึกษาได้ทำการคำนวณอย่างละเอียด ทั้งวัวและควาย (ในที่นี้จะพูดถึงเฉพาะวัวเท่านั้น) และได้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก ๆ ดังกล่าว งานวิจัยได้พยายามอธิบายสาเหตุของความพิศวงไว้ดังนี้

          (1) ในบริเวณหมู่บ้านที่สำรวจนี้มีสาขาธนาคารจำนวนน้อยมาก (ทั้งอินเดียร้อยละ 7 ของจำนวนหมู่บ้านเท่านั้นที่มีสาขาธนาคาร) ซึ่งหมายความว่าเกษตรกรขาดกลไกการออมสำหรับเงินที่เขามีเหลือ เมื่อไม่รู้ว่าจะเอาไปฝากไว้ที่ไหนนอกเหนือการซุกไว้ใต้ที่นอนหรือฝังดิน การลงทุนซื้อวัวเก็บไว้จึงเป็นทางออกที่น่าสนใจ

          (2) เกษตรกร (โดยเฉพาะเมียเกษตรกร) คงเห็นว่าเงินที่หามาได้มีโอกาสหมดไปกับการบริโภค (ฮินดูกินเหล้าและเล่นการพนันก็มีแยะ) ง่าย ๆ ในระยะสั้น ดังนั้นจึงทำให้มันไปจมอยู่ในตัววัว ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นเงินสดได้ยาก เงินออมเช่นนี้จะอยู่คงทนกว่าเงินฝากในธนาคารซึ่งถึงแม้จะอยู่ไกลแต่ก็มีความเป็น liquid สูงกว่าวัวซึ่งเป็น illiquid asset (แปรเปลี่ยนทรัพย์สินเป็นเงินได้ยาก)

          นักเศรษฐศาสตร์เรียกปรากฏการณ์ซึ่งทำให้มองเห็นความสุขในระยะสั้น ๆ มากกว่าประโยชน์ในระยะยาวว่า ““สายตาสั้น” (myopia) การลงทุนในตัววัวบังคับให้เกษตรกรมีอาการ “สายตาสั้น” น้อยลง

          (3) ในจิตใจของคนฮินดู การเลี้ยงวัวทำให้เกิดความสุขเชิงจิตวิญญาณอย่างสูงถึงแม้จะให้ผลตอบแทนต่ำก็ตามที

          (4) เกษตรกรเลี้ยงวัวเพื่อให้นมคุณภาพดี (ร้อยละ 68.4 ของนมที่ขายในอินเดีย มีการสำรวจและพบว่าไม่ได้มาตรฐาน) แก่ครอบครัวแทนที่จะซื้อจากตลาดและไม่ขาย (ในงานศึกษาร้อยละ 12 ของเกษตรกรเท่านั้นที่ขายนม)

          ในความเห็นของผู้เขียนเอง นักวิจัยได้ละเลยสิ่งที่ประเมินเป็นตัวเลขได้ยาก (ในที่นี้ไม่ได้ประเมินเลย) และมีความสำคัญต่อการเลี้ยงวัวไว้ นั่นก็คือความสะดวกจากการมีมูลวัว

          ใครที่คุ้นเคยกับสังคมอินเดียจะสังเกตเห็นว่าการมีมูลวัวไว้ประจำบ้านซึ่งสามารถนำมาใช้ได้อย่างสะดวกตลอดเวลานั้นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งของการยอมลงทุนในตัววัว ตราบที่เกษตรกรอินเดียต้องการปุ๋ยไว้ปลูกผัก เพาะเห็ด ไถนา เทียมเกวียน ต้องการมูลวัวแห้งไว้เป็นเชื้อเพลิง ฯลฯ ตราบนั้นวัวจะเป็นการลงทุนที่ขาดไม่ได้

          ผู้เขียนไม่เชื่อว่าอัตราผลตอบแทนของการเลี้ยงวัวจะต่ำเป็นลบมากขนาดนั้นหากสามารถประเมินความสะดวกของการมีวัวไว้ในบ้านออกมาเป็นตัวเลขและรวมอยู่ในการคำนวณนี้
 

          การเข้าใจการเกิดของข้อพิศวงสามารถช่วยในเรื่องนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นที่ชัดเจนว่าการแจกวัวหรือให้กู้ยืมเพื่อเลี้ยงวัวไม่ใช่หนทางแก้ไขความยากจนเนื่องจากผลตอบแทนทางการเงินต่ำมาก การสร้างกลไกการเก็บรักษาเงินออม (ธนาคารเคลื่อนที่ สหกรณ์ออมทรัพย์) ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าและสามารถนำไประดมให้กู้ต่อเพื่อสร้างผลิตภาพ (productivity) ของเกษตรกรด้วยกันเองน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า 

หงส์ดำไม่มีวันสูญพันธุ์

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
8 ตุลาคม 2556

          ชีวิตมนุษย์ทุกคนมิได้เดินไปบนถนนที่เป็นเส้นตรงดังที่เคยนึกไว้ ถนนมีทั้งโค้งและ หักงออย่างคาดไม่ถึงหลายครั้งในชีวิต การเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันจะทำให้เดินบนถนนนี้ได้อย่างปลอดภัยขึ้น

          เป็นเวลานับร้อย ๆ ปีที่มนุษย์เชื่อว่าหงส์มีแต่สีขาว เพราะไม่เคยมีใครเห็นสีอื่น แต่การที่ไม่เคยเห็นมิได้หมายความว่ามันไม่มี คนสมัยนั้นคิดว่าหงส์ดำ (black swan) เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะกี่ร้อยปีที่ผ่านมาก็มีแต่หงส์ขาวเท่านั้น

          โลกตกตะลึงในปี ค.ศ. 1697 เมื่อ William de Vlamingh พบหงส์ดำในออสเตรเลียตะวันตก เชื่อกันว่าพบในบริเวณที่เรียกว่า Swan River ในปัจจุบันซึ่งเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านเมือง Perth ของรัฐออสเตรเลียตะวันตก และ The University of Western Australia (มหาวิทยาลัยเก่าของผู้เขียน ทั้งสององค์กรมีหงส์ดำปรากฏอยู่บนตราสัญลักษณ์)

          ในหนังสือชื่อ The Black Swan (2007) เขียนโดย Nassim Nicholas Taleb เรียกเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อชีวิต อาชีพ การประกอบธุรกิจ บริษัท ประเทศ ฯลฯ ทั้งในทางบวกและลบว่า Black Swan (ขอเรียกย่อ ๆ ว่า BS______ ถึงแม้จะเป็นตัวย่อที่ไม่ค่อยดีนักก็ตาม)

          ถ้าเป็นภาษาสมัยใหม่ BS เป็นสิ่งที่เรียกว่า outlier ซึ่งหมายถึงคนหรือสิ่งที่อยู่ “ข้างนอก” (เช่น พวก “ข้าวนอกนา” ของอาจารย์คึกฤทธิ์) ซึ่งในที่นี้คือสิ่งที่อยู่ข้างนอกการคาดคะเน ทั้งปวง ถ้าจะเป็น BS ก็ต้องมี 3 ลักษณะคือ (1) เป็น outlier (2) ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างแรง และ (3) เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็สามารถย้อนกลับไปพิจารณาเพื่อหาคำอธิบายและคำพยากรณ์ต่อไปได้

          ตัวอย่างของ BS ก็ได้แก่ สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์ internet Google การล่มสลายของสหภาพโซเวียต เหตุการณ์ 9/11 เศรษฐกิจการเงินของโลกผันผวนครั้งใหญ่ (2007-2008) สินค้าของ Apple การเกิดขึ้นของ facebook การเกิดขึ้นของ Line application ฯลฯ

          Donald Rumsfeld อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐบอกว่าในโลกนี้มีอยู่ 3 สิ่งที่ต้องแยกให้ออก กล่าวคือสิ่งที่เรารู้ข้อเท็จจริง (known facts) สิ่งที่เรารู้ว่าไม่รู้ (known unknowns) และมีสิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้ (unknown knowns)

          อิหร่านมีระเบิดนิวเคลียร์? Social Media ทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้นหรือเขลาขึ้น? ผู้นำเกาหลีเหนือมีแผนน่ากลัวอะไรบ้าง? สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เรารู้ว่ายังไม่รู้หรือ known unknowns ซึ่งถ้าเราค้นหาข้อมูลและหลักฐานวันหนึ่งเราก็จะรู้ได้ แต่สำหรับสิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้ (unknown knowns) นั้นเรามองไม่เห็นมันเลยในปัจจุบัน เช่น เราไม่เคยรู้ว่าโลกจะบ้าคลั่ง facebook และLine เมื่อ 10 ปีก่อน สิ่งเหล่านี้คือ Black Swan

          ในยุคปัจจุบันเราเห็น BS โผล่ขึ้นมาจากน้ำบ่อยมากและส่งผลกระทบต่อเนื่อง ไม่ว่าเราจะวางแผนในอนาคตไว้ดีอย่างไร ไอ้นกดำนี้ก็จะโผล่ขึ้นมาทำให้แผนการของเราต้องเปลี่ยนอยู่เสมอ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐและโลกในปี 2007-2008 หนี้ครอบครัวไทยท่วมหัว smartphone social media ฯลฯ

          200,000 ปีก่อนจนถึงมีปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 200 ปีก่อน โลกเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เทคโนโลยีอยู่คงตัว ชีวิตในแต่ละวันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อหันมาดูปัจจุบันก็จะเห็นว่าโลกผันผวนตลอดเวลา ผู้คนสามารถรวยข้ามคืนได้กันเป็นว่าเล่นดังกรณีของ J.K.Rowling (ผู้สร้าง Harry Potter) / George Soros / Jeffrey Bezos (เจ้าของ Amazon) / Mark Zuckerberg (ผู้ก่อตั้ง facebook) ฯลฯ

          คำถามที่น่าสงสัยก็คือ BS เกิดขึ้นได้อย่างไร? Taleb อธิบายว่าเหตุที่มนุษย์ประสบสิ่งที่ไม่คาดคิดเลยจนตั้งหลักไม่ติดนั้นก็เพราะมนุษย์มีทางโน้มที่จะใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีของตัวเองไปใช้ในการพยากรณ์อนาคต อย่างไรก็ดีความรู้และประสบการณ์ของเราที่มีนั้นมีพื้นฐานมาจากความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่คนอื่น “ประดิษฐ์” ให้เรา ซึ่งสิ่ง “ประดิษฐ์” นี้มักไม่ถูกต้องจนทำให้เราคาดมองอนาคตผิด มองไม่เห็นสิ่งที่น่าจะมองเห็น

          Taleb บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นชิ้น ๆ แยกจากกัน เมื่อเวลาผ่านไปมนุษย์ก็พยายามถักทอเชื่อมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อหาคำอธิบาย นานวันเข้าเมื่อมีคนเชื่อมากขึ้น “เรื่องแต่ง” นั้นก็จะกลายเป็น “เรื่องจริงแท้” แน่นอนขึ้นทุกที

          สิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์อย่างแท้จริงนั้นอาจไม่ใช่บทเรียนจริง เพราะประวัติศาสตร์เป็นเรื่อง “ประดิษฐ์” ขึ้นโดยอยู่พื้นฐานของการตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เชื่อมโยงถึงกัน (นโปเลียนบอกว่าประวัติศาสตร์คือ “ เรื่องโกหกที่เห็นพ้องกัน” ______ History is a set of lies agreed upon)

          ตราบที่มนุษย์พยายามหาเหตุและผลอธิบายหลายเหตุการณ์ในอดีตโดยโยงใยให้เป็นเรื่องราวที่อธิบายได้และนำมาใช้พยากรณ์ได้สำหรับอนาคต โดยไม่มีใครบอกได้ว่าเรื่องเล่านั้นถูก หรือผิด เมื่อนั้นมนุษยก็จะมีโอกาสผิดพลาดในการพยากรณ์อนาคตจนพบกับ BS อยู่เสมออย่างไม่ได้เตรียมตัว

          Black Swan จะเตือนใจให้ผู้ลงทุน นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ผู้นำ ฯลฯ ไม่ประมาทและเข้าใจโลกได้ดียิ่งขึ้น ตระหนักว่าสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น ยังไม่เคยเกิดขึ้น มิได้หมายความว่าไม่มีและจะไม่เกิดขึ้น อีกทั้งเพื่อให้เตรียมพร้อมรับด้านบวกของเจ้านกดำตัวนี้ด้วย

          หากท่านผู้อ่านย้อนนึกถึงชีวิตที่ผ่านมา ผู้เขียนมั่นใจว่าชีวิตของท่านถูกกระทบทั้งด้านบวกและลบโดยหงส์ดำหลายตัวในชีวิตจนไม่เป็นไปดังที่เคยคาดหวังไว้ คนที่คิดว่า Black Swan เป็น BS (คำย่อที่เราคุ้นกันนั้น) ระวังเถอะวันหนึ่งจะถูกมันจิกเอา

          สิ่งที่ไม่รู้จักและไม่คาดว่าจะเกิดแต่ก็เกิดขึ้นคือ Black Swan และสิ่งที่เราไม่รู้ว่าไม่รู้นั้นมีมากมายนัก ดังนั้นหงส์ดำจะไม่มีวันสูญพันธุ์ สิ่งที่เราควรทำก็คือดำเนินชีวิตอย่างระมัดระวังไม่ประมาทไม่ว่าในเรื่องส่วนตัวหรือนโยบายเศรษฐกิจของประเทศก็ตาม