การบ้านนั้นสำคัญหรือ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
26 กุมภาพันธ์ 2556
         

การบ้านของนักเรียนไทยกำลังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในปัจจุบันว่ามีมากไปหรือไม่   หากมีก็ควรมีลักษณะใด    ใช้เวลานานเท่าใดในแต่ละวัน   เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อเด็กหรือไม่    ประเด็นเหล่านี้หลายคนอาจบอกว่าเป็นเรื่องรอง  พราะความสำคัญอยู่ที่วัตถุประสงค์ของการมีการบ้าน

           ดร.จุฬาภรณ์ มาเสถียรวงศ์  แห่งสถาบันรามจิตติยืนยันในรายงานวิจัย “ปรับการเรียนเปลี่ยนการบ้าน ประสบการณ์และแนวโน้มนานาประเทศ”   ว่าทั่วโลกกำลังมีกระแสต่อต้านการบ้าน (เด็กร้องไชโย)  ที่ฝรั่งเศสเมื่อ 3 เดือนก่อนทางการประกาศยกเลิกนโยบายมีการบ้าน  สิงคโปร์ก็ไม่   ประกาศไม่เอาการบ้าน     กระแสสังคมจีนหนุนให้ลดการบ้าน    เดนมาร์ก  ฟินแลนด์  ญี่ปุ่น   มีทางโน้มลดการบ้านลงอีก

          ครั้งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1901      รัฐแคลิฟอร์เนียออกกฎหมายยกเลิกการบ้านของเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมปีที่สอง     อย่างไรก็ดีในปัจจุบันการบ้านในสหรัฐอเมริกาก็กลับมา    อีกครั้งและดูจะหนักขึ้นในทุกชั้นเรียน     แต่ถึงจะหนักอย่างไรก็คงสู้เด็กไทยในโรงเรียนที่มีการแข่งขันกันสูงโดยเฉพาะในเมืองไปไม่ได้

           เด็กไทยในโรงเรียนเหล่านี้ในช่วงชั้นประถมปลายต้องทำการบ้านกัน 5 คืนต่ออาทิตย์   ใช้เวลาคืนละไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมง   ยิ่งในชั้นมัธยมปลายยิ่งหนักขึ้นเพราะต้องแข่งขันกันสู่อุดมศึกษา  

        จุดประสงค์ดั้งเดิมของการบ้านก็คือการเพิ่มพูนความรู้    ทักษะและความสามารถของเด็ก     การบ้านที่เหมาะสมควรถูกออกแบบเพื่อสนับสนุนเพิ่มเติมสิ่งที่นักเรียนได้เรียนไปแล้ว     เตรียมตัวสำหรับบทเรียนที่ยากในวันถัดไป   ต่อยอดสิ่งที่ได้รู้โดยนำไปประยุกต์กับสถานการณ์ใหม่     ตลอดจนนำความสามารถหรือทักษะที่ได้รับไปบูรณาการ

           การบ้านที่ดีในยุคปัจจุบันและยุคต่อไป     ต้องเน้นเรื่องของการเรียนรู้ผ่านการฝึกทักษะ     ไม่ใช่การเรียนรู้ผ่านการรับข้อมูลหรือองค์ความรู้     ทั้งนี้เนื่องจากความรู้แตกตัวขยายองค์ความรู้มากมายอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีไอทีในปัจจุบัน      ความรู้หลายเรื่องอาจผิดในวันข้างหน้า (เช่นไม่มีภาวะเรือนกระจก)   และเด็กสามารถหาอ่านได้เองจากอินเตอร์เน็ต 

          ตัวอย่างเช่น     ทักษะชีวิต     ซึ่งได้แก่ความสามารถในการอดกลั้น     ความสามารถในการทำให้คนอื่นทำตามที่ตัวเองต้องการ    ความสามารถในการพูดโน้มน้าว    ความสามารถในการเอาตัวรอดในสิ่งแวดล้อมที่ลำบาก   ฯลฯ   นักเรียนอาจมีทักษะเช่นนี้ได้จากการทำการบ้าน   ในการฝึกหัดทักษะเหล่านี้ผ่านเกมส์    ข้อสอบทางจิตวิทยา      แบบฝึกหัดทดลองสถานการณ์ออนไลน์       การอ่านหนังสือที่เป็นประโยชน์     ตลอดจนการฝึกฝนกับครอบครัว

           การบ้านที่ไม่ดีคือการส่งเสริมการท่องจำ       การรับความรู้โดยไม่ผ่านการใช้เหตุใช้ผลหากใช้ความจำ     การทำแบบฝึกหัดที่เน้นผลลัพธ์โดยไม่ได้สนใจกระบวนการคิด

           ปัจจุบันมีการเชื่อว่าการบ้านคือการเตรียมตัว     ฝึกฝนทักษะเพื่อจะไปรับการเรียนรู้ที่โรงเรียนในวันรุ่งขึ้น   กล่าวคือเรียนด้วยตนเองที่บ้านแต่ไปทำโครงงานหรือเข้ากระบวนการเรียนรู้กับ เพื่อน ๆ ที่โรงเรียน

            การบ้านเป็นส่วนประกอบสำคัญของการจัดการเรียนการสอนของครู     เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้    การบ้านไม่ควรเป็นเครื่องมือของการหารายได้พิเศษของครูในตอนเย็นหลังโรงเรียนเลิกแล้ว       โดยพ่อแม่จำเป็นต้องยอมจ่ายเงินเพื่อลดภาระของตนเองหรือเพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับครูจนลูกของตนเองเสียประโยชน์

           กฎที่ใช้กันของเวลาในการทำการบ้านในแต่ละวันของเด็กก็คือ   เพิ่มขึ้น 10 นาที    ทุกชั้นเรียนของเด็ก    เช่น   ประถมสามควรทำการบ้านคืนละ 30 นาที   แต่เมื่อขึ้นไปเรียนประถมสี่   ควรทำการบ้านคืนละ 40 นาที  ดังนี้เรื่อยไป      กฎ “10 นาที”  นี้ได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด

           อย่างไรก็ดีปัจจุบันเวลาที่ทำการบ้านดูจะไม่สำคัญเท่ากับว่าเวลาการบ้านนั้นใช้ทำอะไร      ถ้าเป็นการบ้านที่ส่งเสริมการท่องจำถึงแม้จะใช้เวลานานก็ไม่มีประสิทธิภาพต่อการเป็นผู้มีการศึกษาเมื่อเติบโตขึ้น      เท่ากับการบ้านที่ใช้ไปในการเตรียมพร้อมต่อการฝึกฝนและรับทักษะสำคัญเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการเรียนรู้   และเป็นผู้มีการศึกษาอย่างแท้จริงในเวลาต่อไป

           การมีความทุกข์จากการทำการบ้านมากเกินไปของเด็กตั้งแต่เยาว์วัย     อาจสะสมจนทำให้เกลียดการเรียนรู้ในเวลาต่อไปซึ่งเท่ากับว่าการบ้านเป็นตัวทำลายการเป็นคนมีการศึกษาซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการเรียนหนังสือ

Infographics ช่วยการเรียนรู้

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
19 กุมภาพันธ์ 2556

          Infographics กำลังเป็นคำฮิตติดหูผู้คนอยู่ในปัจจุบัน การเข้าใจความหมายและธรรมชาติของมันอาจช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

          ภาพผังองค์กร แผนที่ สถิติ เครือข่าย ฯลฯ ที่มีภาพโยงใยและสีสันงดงาม เห็นแล้วเข้าใจง่ายนั่นแหละคือ infographics ซึ่งมีทั้งภาพนิ่งและเคลื่อนไหว

          ถ้าความเจ็บปวดจากน้ำท่วมครั้งที่แล้วไม่บดบังความทรงจำเรื่อง “ปลาวาฬ” เสียหมด หลายท่านคงจำคลิปครั้งนั้นที่อธิบายว่าเหตุใดน้ำจึงท่วมกรุงเทพฯ และสถานการณ์รุนแรงเพียงใดกันได้ motion graphics หรือ 2-D animation เช่นนั้นสร้างความประทับใจให้ประชาชนเพราะความง่ายในคำอธิบายประกอบภาพ

          การสร้าง infographics ซึ่งมาจากสองคำคือ information + graphics มีวัตถุประสงค์ง่าย ๆ คือการทำให้สิ่งที่ยากเป็นสิ่งที่ง่าย ตัวอย่างแรก ๆ ของ infographics ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติก็คือภาพเขียนต่าง ๆ บนผนังถ้ำเมื่อประมาณ 32,000 ปีก่อน (มนุษย์ยืน 2 ขา มีหน้าตาเหมือนคนปัจจุบันเมื่อประมาณ 150,000 ปีก่อน)

          ต่อมาเมื่อ 5,000 ปีก่อน infographics ชั้นยอดกำเนิดขึ้นที่อียิปต์ซึ่งได้แก่ อักษรจารึกของอารยธรรมอียิปต์ที่เรียกว่า hieroglyphics หรืออักษรที่เป็นภาพ infographics ยอดเยี่ยมอีกชิ้นหนึ่งคือภาพสเกตซ์อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายพร้อมคำอธิบายของ Leonardo da Vinci ใน ค.ศ. 1510

          ใน ค.ศ. 1786 วิศวกรชาวสก็อต ชื่อ William Playfair เป็นคนแรกที่นำข้อมูลสถิติมาแสดงเป็นรูป pie chart กราฟ แท่ง ฯลฯ จากนั้นเป็นต้นมาก็มีการนำเสนอตัวเลขสถิติในรูปแบบต่าง ๆ ที่พิศดารและกว้างขวางมากขึ้น

          ระหว่าง ค.ศ. 1970-1990 infographics เป็นที่นิยมมากขึ้นเป็นลำดับเมื่อความซับซ้อนของวิชาความรู้และของสังคมมีมากขึ้นควบคู่ไปกับความก้าวหน้าด้าน IT และซอฟแวร์ ในช่วงเวลานี้หนังสือพิมพ์ USA today / Time Magazine และ The Sunday Times ของอังกฤษเริ่มนำเสนอ infographics ในข่าวและบทวิเคราะห์เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น

          ในกระบวนการย่อยข้อมูลข่าวสาร มนุษย์ใช้รูปแบบการเรียนรู้ 4 แบบด้วยกันกล่าวคือ (1) การมองเห็น ใช้ภาพผัง แผนที่ ฯลฯ เพื่อการเข้าใจแทนคำพูด (2) การได้ยิน มนุษย์เรียนรู้โดยการฟังคำที่ออกเสียง (3) อ่าน / เขียน เรียนรู้โดยการอ่านและเขียน (4) ประสบการณ์ (kinesthetic) เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ด้วยการลงมือปฏิบัติ

          Infographics ก่อให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้หลายประการดังนี้ (1) ทำให้เกิดความเข้าใจดีขึ้นในเรื่องของแนวคิด ไอเดียและข้อมูลข่าวสาร (2) เพิ่มสมรรถนะในการคิดและพัฒนา ไอเดีย (mindmapping ก็คือลักษณะหนึ่งของ infographics) (3) ทำให้จำได้ง่ายขึ้น คงอยู่นานและสามารถนำกลับมาใช้ได้สะดวกขึ้น

          Infographics เป็นการเรียนรู้ผ่านการมองเห็น (visual learning) โดยเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างการใช้กราฟิกกับข้อมูลข่าวสาร infographics ที่แสดงไว้ด้านบนของข้อเขียนนี้อธิบายได้ชัดกว่าคำพูดใด ๆ

         ซอฟแวร์สำคัญที่ทำให้เกิดการแตกตัวของ infographics มากมายจนถึงปัจจุบันก็คือ Adobe Flash ซึ่งเปิดตัวใน ค.ศ. 2000 สำหรับโปรแกรมชั้นยอดในปัจจุบันที่ช่วยสร้างสรรค์ infographics ได้แก่ Infogr.am / Piktochart และ Easel.ly

         ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นหัวใจสำคัญของ infographics ปัจจุบันเราเห็นการนำเสนอข้อมูลสถิติที่แปลกใหม่ (พื้นที่จังหวัดใหญ่เล็กตามจำนวนประชากร) กราฟข้อมูลตามเวลา (กราฟขึ้นลงสีต่าง ๆ ที่มีความหมายและกะทัดรัด) แผนที่รถไฟใต้ดินและบนดินซึ่งถึงแม้จะซับซ้อนหลายระดับแต่ก็เข้าใจได้ง่าย การโยงใยเครือข่ายของความคิดหรือบุคคลซึ่งซับซ้อนให้เข้าใจง่ายขึ้น โครงสร้างองค์กรที่เข้าใจได้ง่าย ผังและตารางต่าง ๆ ที่นำเสนอข้อมูลอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ฯลฯ

          Infographics สร้างประสิทธิภาพในการเรียนรู้เนื่องจากมนุษย์รับรู้ข้อมูลจาก 5 แหล่ง (เห็น สัมผัส ได้ยิน กลิ่น รส) งานวิจัยพบว่าการมองเห็นสำคัญกว่าแหล่งอื่น ๆ ทั้งหมด ร้อยละ 50 ของสมองมนุษย์ถูกใช้เพื่อการทำงานด้านการมองเห็นจนสมองสามารถย่อยภาพที่ได้รับทั้งหมดในทันที แต่สำหรับข้อความนั้นสมองย่อยในลักษณะเป็นเส้นตรงกล่าวคือเริ่มจากต้นไปท้ายโดยเรียงกันไปตามลำดับ ซึ่งทั้งหมดนี้หมายความว่ามนุษย์ใช้เวลานานกว่าในการรับทราบข้อมูลจากข้อความ

          ยิ่งไปกว่านั้นงานวิจัยยืนยันว่าร้อยละ 65 ของจำนวนประชากรโดยทั่วไปเป็นผู้เรียนรู้จากการมองเห็น (visual learners) เมื่อเปรียบเทียบกับการเรียนรู้จากการได้ยิน การอ่านเขียนและเรียนรู้จากประสบการณ์ ดังนั้น infographics จึงสามารถเข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่และสามารถย่อยข้อมูลได้รวดเร็วกว่าด้วย

          ปัจจุบันการเรียนรู้ด้วยตนเองของมนุษย์นั้นสำคัญกว่าการสอนเนื่องจากการเพิ่มและกระจายตัวขององค์ความรู้อย่างรวดเร็วจนทำให้สอนอย่างไรก็ไม่มีวันตามทัน การทำอย่างไรให้เกิดความกระหายอยากเรียนรู้จึงเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งของการศึกษา

หลายแนวคิดของ CSR

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
12 กุมภาพันธ์ 2556

          CSR เป็นคำที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา และเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าคือการ “ทำบุญ” ของธุรกิจ อย่างไรก็ดีหากเจาะลึกลงไปแล้วก็จะพบว่า CSR นั้นมีหลายแนวคิดด้วยกัน

          CSR (Corporate Social Responsibility) เป็นที่เริ่มรู้จักกันในโลกตะวันตกตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 เมื่อผู้นำทางความคิดของโลกชี้ให้เห็นว่า มิใช่เพียงผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของธุรกิจเท่านั้นที่ถูกผลกระทบจากการประกอบธุรกิจไม่ว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว หากแท้จริงแล้วยังมีผู้อื่นอีกซึ่งเรียกรวมกันว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) เกี่ยวพันอยู่ด้วย ซึ่งได้แก่พนักงาน ผู้ขายวัตถุดิบ ผู้จัดส่งสินค้า ชุมชน สังคม ฯลฯ คนเหล่านี้ล้วนมีชะตากรรมร่วมกับองค์กรอย่างแยกไม่ออก

          เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ธุรกิจจึงไม่อาจให้ความสนใจเฉพาะแค่ผู้ถือหุ้นเท่านั้น จำเป็นต้องมองออกไปกว้างกว่าเดิม ดังนั้นการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงควรเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบธุรกิจ ความจริงที่สำคัญก็คือการอยู่รอดในระยะยาวของธุรกิจต้องพึ่งพิงซึ่งกันและกันโดยสร้างสภาวการณ์ win-win ขึ้น

          หนังสือเขียนโดย R. Edward Freeman ชื่อ Strategic Management : A Stakeholder Approach ในปี 1984 มีอิทธิพลต่อความคิดในเรื่องผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการคำนึงถึงกำไรในระยะยาวจนวลี “doing well by doing good” (อยู่ได้ดีด้วยการทำดี) เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และ CSR มีรากมาจากแนวคิดนี้

          อย่างไรก็ดี CSR มีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลานับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 จนถึงปัจจุบัน ถ้าจะสรุปก็มีไม่ต่ำกว่า 3 แนวคิดหรือเวอร์ชั่นดังนี้

          (1) CSR เวอร์ชั่น 1.0 คือ CSR ที่เรารู้จักกันทั่วไป คือ ความมีใจเป็นกุศล ความมี จิตอาสาและจิตสาธารณะของธุรกิจ เรามักเห็นการบริจาคหรือการทำโครงการสาธารณกุศลต่าง ๆ ของเอกชนซึ่งเป็นพื้นฐานของเวอร์ชั่นนี้

          เวอร์ชั่น 1.0 คือการพยายามทำดีเพื่อหวังผลตอบแทนหรืออาจไม่หวังผลตอบแทนในระยะสั้น หรือทำการกุศลด้วยการตระหนักถึงการได้รับกำไรในระยะยาว ตลอดจนการอยู่รอดร่วมกันขององค์กรและสังคม

          (2) CSR เวอร์ชั่น 2.0 คือความกลมกลืนระหว่าง CSR ของธุรกิจไปกับกลยุทธ์ธุรกิจขององค์กร เช่น จะบริจาคเงินเป็นร้อยละของกำไร จะบริจาคเท่านั้นเท่านี้บาทต่อชิ้นที่ขายได้ให้แก่ สาธารณกุศล จะร่วมกันพิทักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ขององค์กรที่มุ่งรักษาความเขียวเป็นหลัก ฯลฯ

          ในเวอร์ชั่นนี้ถึงแม้องค์กรจะตั้งใจทำดีเพื่อให้อยู่รอดด้วยกันทุกฝ่าย แต่การทำดีนั้นก็สอดประสานไปกับกลยุทธ์ของธุรกิจ ไม่ว่าจะเปิดเผยหรืออย่างแนบเนียนก็ตามที

          ทั้งสองเวอร์ชั่นถูกวิจารณ์ตลอดมาด้วยวาจาและความคิดของประชาชนว่า CSR คือการสร้างภาพให้ดูสวยหรู (window dressing) การสร้างภาพลักษณ์ หรือสาธารณกุศลเชิงการตลาด ฯลฯ ซึ่งผู้มีใจเป็นธรรมทั้งหลายคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในหลายกรณีก็มีความจริงอยู่มาก

          (3) CSR เวอร์ชั่น 3.0 เกิดจากบทความของ Michael Porter (ไม่ใช่ Harry Potter) และ Mark Kramer ชื่อ The Big Idea : Creating Shared Value, Rethinking Capitalism ตีพิมพ์ในปี 2011

          ถึงแม้เวอร์ชั่นนี้จะยังอยู่ในขอบเขตของ “doing well by doing” เหมือนสองเวอร์ชั่นแรก แต่ไม่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบซึ่งอยู่ในสองเวอร์ชั่นนี้ หากเกี่ยวกับเรื่องการสร้างคุณค่า (creating value)

          เวอร์ชั่น 3.0 ไม่ถูกจำกัดไว้ด้วยงบประมาณเหมือนสองเวอร์ชั่นแรก หากองค์ประกอบสำคัญคือการสร้างคุณค่าร่วมกัน (Creating Shared Value_____CSV) ขึ้นในองค์กรเพื่อที่จะนำไปขับเคลื่อนสร้างสรรค์สิ่งงดงามของสังคมอย่างยั่งยืน

           CSR ชนิดนี้อยู่บนความเชื่ออย่างจริงใจว่าความก้าวหน้าของสังคมและของธุรกิจเชื่อม ถึงกัน และความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจกับความกินดีอยู่ดีของสังคมนั้นพึ่งพาซึ่งกันและกัน

           ในเวอร์ชั่น 3.0 CSV ในธุรกิจทั้งหลายจะก่อให้เกิดแรงผลักดันช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจในระยะยาวพร้อมไปกับความก้าวหน้าของสังคม และถ้าองค์กรสามารถสร้าง CSV หรือ “คุณค่าภายในร่วม” เช่นนี้ขึ้นในใจของสมาชิกสังคมด้วยแล้วก็จะยิ่งทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายของการอยู่ร่วมกันของธุรกิจและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

           ตัวอย่างของ CSV ก็คือความรักศรัทธาในการรักษาสิ่งแวดล้อม การชื่นชมความดีงาม การสร้างสิ่งที่มีประโยชน์แก่สังคม การประหยัดการใช้ทรัพยากรของโลก การศรัทธาในการให้ ฯลฯ ธุรกิจที่สร้าง CSV ขึ้นในองค์กรได้สำเร็จจะขับเคลื่อนให้ CSR ขององค์กรนั้นสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าแก่สังคมอย่างยั่งยืนเพราะเป็นไปโดยอัตโนมัติ

          ทุกเวอร์ชั่นของ CSR ล้วนเกี่ยวกับการให้ซึ่งเป็นประโยชน์แก่โลก แต่ประเด็นสำคัญของ CSR นั้นอยู่ที่ความจริงใจขององค์กร

          การให้แก่ตนเองนั้นอยู่ทนแค่ขณะที่ตนเองมีชีวิตอยู่ แต่การให้คนอื่นนั้นจะอยู่คงทนตลอดไป

Common Nonsense

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
5 กุมภาพันธ์ 2556

           มนุษย์ทั่วไปมักมีสามัญสำนึก (common sense) แต่มีบางพวกที่ขาดสามัญสำนึกหรือมีสามัญสำนึกที่ผิดชาวบ้านเขา (uncommon sense) ที่ร้ายสุดก็คือพวกที่มีสามัญสำนึกแบบไร้สาระ (common nonsense) ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษอีกคำว่าพวก bull shit หรือ BS

          เมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมได้ไปฟังการบรรยายหัวข้อเกี่ยวกับการศึกษาของ Sir Harold Kroto ผู้ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเคมีในปี ค.ศ. 1996 ก่อนการบรรยายมหาวิทยาลัยนเรศวรได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้ท่านด้วย ปัจจุบัน Sir Harold Kroto ทำงานวิจัยเกี่ยวกับ nanotechnology ไอเดียเรื่อง sense ต่าง ๆ ข้างต้นนี้มาจากการบรรยายในวันนั้นของท่าน

         คนที่มี common sense จะรู้ว่าถ้าเอามีดแทงคนก็จะได้เลือดและอาจตายได้ ที่รู้อย่างนี้ก็เพราะว่ามีหลักฐานปรากฏชัดเจนเสมอว่าคนโดนมีดแทงแล้วเลือดไหลแน่นอนและอาจตายได้

         ส่วนคนที่มี uncommon sense นั้นอาจบอกว่าเมื่อโดนมีดแทงก็จะมีเลือดไหลแต่ไม่ตายแน่นอน เพราะถึงแม้มีดจะมีปลายแหลมและยาวอย่างไรก็ไม่มีทางตาย เขาเชื่ออย่างนี้โดยมิได้คำนึงถึงความเป็นไปได้บนหลักฐานที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ uncommon sense ของเขาทำให้เห็นเช่นนั้น

         สำหรับพวก common nonsense นั้น เชื่อว่ามีดปลายแหลมเท่าใดก็แทงไม่เข้า เพราะคนถูกแทงมีของดี ไม่ว่าจะกินว่านหรือมีสิ่งเหนือวิทยาศาสตร์ก็ตาม เขาเชื่อโดยไม่ดูหลักฐานว่าเมื่อมีดปลายแหลมทิ่มเนื้อนั้นเลือดไหลและอาจตายได้ เหตุที่เชื่อว่าแทงไม่เข้าก็มาจากความเชื่อของเขาที่ปราศจากหลักวิทยาศาสตร์ ไม่เคยเห็นด้วยตาตนเองว่าแทงไม่เข้าแต่ก็เชื่อ ๆ ตามกันมาแบบนั้น

         น่าเสียดายที่ประเทศไทยเรามีพวก common nonsense อยู่มากมาย ได้ยินอะไรก็เชื่อไปหมดโดยปราศจากการไตร่ตรองว่ามันมีเหตุมีผลและมีหลักฐานสนับสนุนความเชื่อนั้นหรือไม่ เหตุผลที่สังคมเราอุดมด้วยข่าวลือไร้สาระก็เพราะเรามีพวกนี้อยู่เต็มไปหมด

          การซื้อซองบอกใบ้หวยจากแผงหนังสือพิมพ์หรือเชื่อการบอกเลขหวยจากหลวงพ่ออย่างมั่นใจคืออาการของคนพวกนี้ คำถามง่าย ๆ ก็คือถ้าคนทำธุรกิจนี้รู้ว่ามันจะออกเลขอะไรแล้ว จะมามัวขายเบอร์ในซองอยู่ทำไม ไปแทงเองเสียไม่ดีกว่าหรือ บางคนอาจเถียงว่ามันศักดิ์สิทธิ์เพราะไม่ซื้อหรือแทงเอง ถ้าซื้อเองแล้วความวิเศษของเขาจะหมดไปและก็ไม่ถูกด้วย

          ถ้าหากจะโต้กลับก็อาจเป็นว่าก็ไม่แทงหรือซื้อเองสิ แต่กระซิบให้คนอื่นกระทำแทนแล้วแบ่งเงินกัน ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรไปจากการที่พวกเดียวกันซื้อซองหวยไปแทง (ทำพิธีซื้อซองหน่อยก็ได้) และแบ่งเงินให้เป็นสินน้ำใจก้อนใหญ่

          พวกยอมเสียเงินเพื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็คือพวก common nonsense อีกเหมือนกัน ก็เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วซึ่งหมายถึงการดับขันธ์ไม่กลับมาเกิดอีก แล้วท่านจะอยู่ให้เฝ้าได้อย่างไร

          พวกขูดตัวเลขบนต้นไม้เพื่อขอหวย เห็นงูเผือกตะขาบเผือกก็กราบไหว้บูชาเพื่อขอเลขโดยดูมูลที่ถ่ายว่าเป็นตัวเลขอะไร หลวงพ่อชื่อดังคายหมากออกมามีเค้าเลขอะไร 2012 คือ ปีโลกาวินาศ พวกคอรัปชั่นก็ปล่อยมันไปแล้ววันหนึ่งเวรกรรมจะตามทันเอง ภาครัฐให้อะไรเราฟรีโดยประชาชนไม่ต้องเสียอะไรเลย ฯลฯ

          พวกอุดมด้วย common nonsense หรือกลุ่ม BS เหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการปกครองประเทศ ต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ และต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนอื่นเป็นอันมากเนื่องจากเขาเชื่อ นับถือ ยึดมั่น ในสิ่งที่ขาดหลักฐานและขาดสามัญสำนึกของคนธรรมดา

          ตราบใดที่การศึกษาของเราไม่สอนให้คนคิดเป็น เราก็จะติดกับดัก common nonsense อยู่อย่างนี้และจะมีคนประเภทนี้อยู่เต็มไปหมดทั้งในปัจจุบันและอนาคต

          พวก common nonsense ที่มีอาการหนักนั้นเขาเรียกกันว่าพวก “เต่าถุย” กล่าวคือเป็นเง่าบัวที่อยู่ใต้โคลนตมชนิดที่เต่ากินเข้าไปแล้วยังคายออกมาเลย

แฮกเกอร์ผู้มีหลักการ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
29 มกราคม 2556   

Aaron Swartz เป็นอัจฉริยะ IT ได้รับรางวัลสำคัญของประเทศสำหรับการสร้างเว็บไซต์อเมริกันที่มีประโยชน์ด้านการศึกษาตั้งแต่อายุ 13  ปี   เมื่ออายุได้ 14 ปีก็ร่วมงานกับผู้ก่อตั้ง world wide web (www)  และมีความเชื่อมั่นอย่างจริงใจว่าความรู้ที่อยู่ในหนังสือและบทความในห้องสมุดตลอดจนข้อมูลที่เป็นสาธารณะทั้งปวงนั้น   ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงได้อย่างเสรีและฟรี

เมื่อโตเป็นหนุ่มเขาเป็นนักต่อสู้คนสำคัญในการคัดค้านความพยายามปิดกั้นเสรีภาพในโลกอินเตอร์เน็ตของภาครัฐอเมริกัน   เขาสร้าง Reddit เว็บแนว bulletin board ซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดเว็บหนึ่งในโลกในปัจจุบัน   และเขาได้สร้างสรรค์งานสำคัญอีกหลายชิ้นที่เป็นประโยชน์ต่อโลก   พร้อมกับตั้งใจทำผิดกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อช่วยให้โลกเป็นไปตามความเชื่อของเขาซึ่งเขามั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ

เขาน่าจะช่วยให้เกิดสิ่งแปลกใหม่ในโลกและปล่อยข้อมูลที่สาธารณชนสมควรได้รับรู้อีกมากมายแต่เขาก็ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป   เพราะเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2013 ที่ผ่านไปนี้   เขาตัดสินใจแขวนคอตายในวัยเพียง 26 ปี

Aaron Swartz เกิดในเมืองชิคาโก   พ่อเป็นเจ้าของบริษัทซอฟแวร์   เขาฉายแววอัจฉริยะด้าน IT ตั้งแต่เด็ก ๆ      โดยเติบโตขึ้นด้วยอุดมการณ์ที่มั่นคงว่าอินเตอร์เน็ตเป็นสมบัติของประชาชน  ทุกสิ่งควรฟรีและเปิดเผยอย่างไม่มีขีดจำกัด

เขาเคยเป็นบรรณาธิการอาสาสมัครของ Wikipedia    เป็นหัวหอกรณรงค์ต่อต้านการร่างกฎหมายชื่อ Stop Online Piracy Act  ซึ่งภาครัฐพยายามใช้อำนาจในการติดตามตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งเขาเชื่อว่าในที่สุดแล้วจะเป็นสะพานไปสู่การแทรกแซงอำนาจของประชาชนในโลกไซเบอร์    Swartz ต่อสู้ร่างกฎหมายนี้อย่างเด็ดเดี่ยวจนชนะในที่สุด
 

“วีรกรรม”  สำคัญที่นำเขาไปสู่การกระทำผิดกฎหมายและการฆ่าตัวตายในที่สุดก็คือในปี 2010 เขาแอบดาวน์โหลดบทความวิชาการจำนวนรวม 4.8 ล้านบทความจากคลังเอกสารวิชาการของ MIT (Massachusetts Institute of Technology) ที่มีชื่อว่า JSTOR และปล่อยออกมาให้นักศึกษาทั้งโลกได้ใช้กันโดยไม่ต้องจ่ายเงินอีกต่อไป    เขากระทำด้วยความเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะความรู้ที่อยู่ในเอกสารส่วนใหญ่นั้นได้มาจากการใช้ภาษีของประชาชน       ดังนั้นเอกสารวิชาการเหล่านี้สมควรให้ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
 

นอกจากนี้เขายังโพสต์แค็ตตาล็อกของข้อมูลที่เก็บรักษาไว้ของ Library of Congress ซึ่งปกติขายในราคาแพงลงบน Open Library ให้ได้ใช้กันอย่างเสรีอีกด้วย    แค่นั้นยังไม่พอเขาปล่อยเอกสารคดีต่าง ๆ ของศาลที่เขาเห็นว่าสาธารณชนควรได้รับรู้อีกจำนวน 19.9 ล้านหน้า
 

ทั้งหมดนี้เขาไม่ได้ทำไปเพื่อเงินเลยแม้แต่น้อย   ทั้งที่ถ้าเขาเป็นหัวขโมยตัวจริงแล้วอาจทำเงินให้เขาได้นับล้านเหรียญ    สิ่งที่เขาต้องการคือโลกที่ดีกว่า   เสรีกว่า  และก้าวหน้ากว่าเดิม  ในที่สุด “วีรกรรม” ที่เขาทำไว้ก็เป็นผลร้ายต่อตัวเขา   Swartz ถูกจับและอัยการระบุว่าอาจติดคุกนานถึง 35 ปีได้   โอกาสติดคุกนานขนาดนั้นเริ่มมีผลต่อชีวิตของเขา  บ่อยครั้งที่เขาซึมเศร้า   นอนอยู่ในความมืดคนเดียวเงียบ ๆ  และป่วยกระเสาะกระแสะตั้งแต่ยังไม่ถึงวัย 25 ปี 
 

หลังจากที่มีผู้พบเขาเสียชีวิตแล้ว   มีข่าวรอดออกมาว่าก่อนหน้านั้นไม่กี่วันอัยการได้ เสนอข้อต่อรองกับเขา (plea bargaining)  ให้ยอมสารภาพผิดเสียและยอมติดคุก 6 เดือนแทนที่จะไปสู้คดี  ในศาลซึ่งอาจติดคุกนานกว่านั้นมาก      เขาเกือบตกลงแต่ในที่สุดก็ไม่เกิดขึ้นเพราะเจ้าทุกข์คนหนึ่งคือ MIT ไม่เห็นชอบด้วย
 

ประเด็นที่พึงพิจารณาก็คือถึงแม้เขาดูจะมีความผิดแน่นอน   ไม่ว่าจะมีเจตนาดีอย่างไรก็ตาม   แต่มันเป็นความผิดที่สมกับโทษ 35 ปีหรือไม่
 

Aaron Swartz เรียน Stanford อยู่เพียงปีเดียวก็เลิกเรียน    ออกมาอ่านหนังสือปรัชญาเป็นหลัก  และเรียนรู้ด้วยตนเองนอกห้องเรียนจนสามารถทิ้งผลงานสำคัญไว้ให้โลก     บทเรียนหนึ่งที่เขาทิ้งให้สมาชิกร่วมโลกขบคิดก็คือเรื่องความยุติธรรม    ความผิดที่เขาก่อนั้นทำให้เกิดประโยชน์แก่โลกและก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงิน     โดยสิ่งที่ถูกดาวน์โหลดไปก็ยังอยู่ครบถ้วน     การลงโทษที่เสมือนขโมยของธรรมดานั้นสอดคล้องกับความผิด “สมัยใหม่” เยี่ยงนี้หรือไม่     
 

ชีวิตมีทั้งความยาวและความลึก   ในหลายกรณีความยาวของชีวิตอาจไม่สำคัญเท่ากับความลึกกระมัง

ทองคำทำร้ายอินเดีย

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
22 มกราคม 2556

อินเดียเป็นชาติที่พิสมัยทองคำเป็นพิเศษมาเป็นเวลาช้านาน   ทองคำเป็นทั้งเครื่องประดับ   เครื่องมือในการสะสมทรัพย์   และในการเก็งกำไร   การที่เศรษฐกิจอินเดียประสบปัญหาในปัจจุบันนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชอบทองคำเป็นพิเศษนี่แหละ

  ทองคำเป็นสิ่งมีค่าที่มนุษย์เชื่อถือมาไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 ปี   และอาจเป็นโลหะชนิดแรกที่มนุษย์ใช้ในการประดับและประกอบพิธีกรรม

  มีประมาณการว่าตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติมีการนำทองคำออกมาใช้ในโลกของเราทั้งหมดประมาณ 171,300 ตัน หรือ 5,500 พันล้านทรอยเอาซ์ (ทรอยเอาซ์เป็นหน่วยของทองคำโดย  1 หน่วยหนัก 31.10347 กรัม  ดังนั้นทองคำ 1 บาทไทยจึงหนัก 0.4887 ทรอยเอาซ์) หรือ 8,876  คิวบิกเมตร   ซึ่งถ้าเอามาปั้นเป็นลูกเต๋าก็จะได้ความยาวด้านละ 20.7 เมตร  นักธรณีวิทยาเชื่อว่าทองคำจำนวนมหาศาลของโลกฝังลึกอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางของโลก หรือลึกลงไปประมาณ 6,300 กิโลเมตร (อยู่ห่างถ้ำลิเจียที่กาญจนบุรีมาก)   มันได้จมลงไปในดินในขณะที่โลกยังมีอายุน้อยเนื่องจากทองคำมีความหนาแน่นสูง (หนัก)    

  ทองคำเกือบทั้งหมดที่มนุษย์ค้นพบกันนั้นล้วนเป็นทองคำที่มาจากอุกกาบาตจำนวนมากที่หล่นลงมาบนโลกในเวลาหลายล้านปีที่ผ่านมา  

  อินเดียเป็นประเทศที่บริโภค (ใช้) ทองคำมากที่สุดในโลก  สถิติในปี 2010 ระบุว่าใช้ถึง 745.7 ตัน  ในขณะที่ในปี 2009 ใช้เพียง 442.37 ตัน รองลงมาคือจีนใช้ 428 ตันในปี 2010  ไทยใช้ 6.28 ตัน รวมแล้วทั้งโลกใช้ทองคำ 2,059.6 ตัน  เปรียบเทียบกับ 1,760.3 ตันในปี 2009  ในปัจจุบันอินเดียในแต่ละปีซื้อทองคำโดยเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 4 ของทั้งโลก  คือประมาณ 800 ตัน  โดยนำเข้าประมาณ 400 ตัน

  คาดว่าครัวเรือนอินเดียทั้งประเทศถือครองทองคำประมาณ 18,000 ตัน   มูลค่าประมาณ 950,000 ล้านเหรียญสหรัฐ   ซึ่งเท่ากับร้อยละ 11 ของปริมาณทองคำทั้งหมดในโลกในปัจจุบัน  หรือเกือบ 3 เท่าของทองคำที่ธนาคารกลางสหรัฐถืออยู่

  ความบ้าคลั่งทองคำในรูปของทองรูปพรรณมีมายาวนาน     อินเดียห้ามนำเข้าทองคำนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947      กฎหมาย The Gold Control Order 1963 และปี 1968 กำกับควบคุมความต้องการทองคำโดยห้ามนำเข้า     ตลอดจนจำกัดปริมาณทองคำที่ช่างทองสามารถมีอยู่ได้ในมือ     เนื่องจากภาครัฐรู้จักรสนิยมของประชาชนดีและตระหนักถึงความต้องการทองคำอย่างไม่มีที่สุดของคนอินเดีย     อย่างไรก็ดีกฎหมายนี้ถูกยกเลิกไปใน ค.ศ. 1990 

  ประเพณีให้ทองคำเป็นของขวัญในเทศกาล Diwali งานแต่งงาน  และโอกาสอื่น ๆ อันเป็นมงคล    ตลอดจนปรากฏการณ์เศรษฐกิจสังคมในประเทศ   เช่น   การลักลอบซื้อขายและขนส่งยาเสพติด   การค้าขายเงินตราต่างประเทศในตลาดมืด   คอรัปชั่น   การใช้เป็นหลักทรัพย์   การหนีภาษี  การใช้เป็นสินสอด  การค้าขายสินค้าใต้ดิน      การเก็งกำไร     การแสวงหาความมั่นคงจากเศรษฐกิจที่ผันผวน     ฯลฯ    ล้วนมีส่วนในการทำให้ทองคำเป็นที่นิยม 

  ในแต่ละปีอินเดียนำเข้าทองคำกันมากมายเฉลี่ยปีละ 400 ตัน จนสูญเสียเงินตราต่างประเทศเป็นอันมาก    นอกจากการนำเข้าน้ำมันซึ่งเป็นอันดับหนึ่งแล้ว    ทองคำซึ่งเป็นอันดับสองมีสัดส่วนร้อยละ 11.5 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

  เมื่อทางการอินเดียปล่อยข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าจะมีการเก็บภาษีนำเข้าให้สูงขึ้นเพื่อสกัดการนำเข้า     ตัวเลขการนำเข้าทองคำก็ถีบตัวสูงขึ้นไปอีก    การเก็บสะสมเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของครัวเรือนก็สูงขึ้นจาก 18,000 ตัน เป็น 20,000 ตัน    ซึ่งยิ่งทำให้การพยายามแก้ไขปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่พุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 5.4 ของ GDP ยากยิ่งขึ้น

  หากอินเดียไม่มีการเกินดุลบัญชีทุน (เงินตราต่างประเทศจากการลงทุนและกู้ยืมสูงกว่าเงินตราต่างประเทศที่ไหลออกจากการไปลงทุนต่างประเทศและใช้คืนหนี้) ก็หมายถึงการขาดดุลการชำระเงิน (เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะลดลง)     หากสภาวการณ์ขาดดุลนี้รุนแรงและเรื้อรังก็จะนำไปสู่ปัญหาการขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและเงินสกุลรูปี      เนื่องจากมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศน้อยลงเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบทำให้ราคาของเงินตราต่างประเทศในรูปของเงินรูปีสูงขึ้น (ค่าเงินรูปีลดลง) ซึ่งหลีกไม่พ้นที่จะกระทบถึงค่าครองชีพของประเทศ (อินเดียนำเข้าน้ำมันอันดับหนึ่ง     ดังนั้นเมื่อเงินตราต่างประเทศมีราคาแพง   ราคาน้ำมันในรูปเงินรูปีก็ย่อมสูงตามไปด้วย)

  การถือทองคำไว้ในมือไม่ว่าในรูปทองรูปพรรณหรือทองแท่งมิได้เพิ่มพูนความสามารถในการผลิตของสังคม     อีกทั้งมิใช่การลงทุนที่เป็นประโยชน์    ทรัพยากรการเงินของทั้งประเทศไปจมอยู่ และไม่มีผลตอบแทนทางการเงินระหว่างที่ถือไว้อีกด้วย

  อย่างไรก็ดีถ้าทางการอินเดียสนับสนุนให้มีการกู้ยืมโดยใช้ทองคำเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน  การเป็นสังคมที่นิยมทองคำก็อาจก่อให้เกิดประโยชน์โภคผลขึ้นได้ถ้าไม่มีการนำเข้าอย่างบ้าคลั่งอีกอย่างไม่รู้จบ

  การแสวงหาและถือทองคำไว้ในมือไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมฉันใด  การบ้าคลั่งปริญญาเพื่อเพิ่มวิทยฐานะก็ฉันนั้น  เงินอาจซื้อทองคำและเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการได้มาซึ่งปริญญาได้   แต่เงินซื้อปัญญาไมได้

เดิน ๆ ๆ จะช้าอยู่ใย

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
15 มกราคม  2556
 

การเดินนอกจากจะทำให้ถึงที่หมายแล้ว     ยังช่วยสร้างมนุษยชาติ    ทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้น  และสมองทำงานเข้าที่เข้าทางอีกด้วย

โครงการรณรงค์ “10,000 ก้าว” เพื่อสุขภาพ   ซึ่งริเริ่มในประเทศญี่ปุ่นเป็นวิธีการที่ทำให้เกิดเป้าหมายซึ่งเป็นรูปธรรมของการเดินในแต่ละวัน      ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์เชื่อว่าการเดินมีส่วนช่วยทำให้ความดันโลหิต      ระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับที่ดี     ทั้งทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงขึ้นอีกด้วย     อย่างไรก็ดีมีหลักฐานปัจจุบันว่าการเดินสำคัญกว่านั้นมาก     สำคัญขนาดทำให้มนุษย์อยู่รอดได้    มนุษย์ฉลาดขึ้น  และทำให้สมองทำงานเป็นปกติด้วย

  นักชีววิทยาสองคน คือ D.E. Lieberman และ D.M. Bramble ได้เขียนบทความในวารสาร Nature ในปี 2004 โดยชี้ให้เห็นว่าบรรพบุรุษของเราสืบทอดลูกหลานมาถึงวันนี้ได้ก็เพราะความอึดทนทานในการเดินวิ่งตามเหยื่อที่เป็นสัตว์อย่างไม่ลดละ   จนในที่สุดสัตว์ก็ทนไม่ไหวต้องล้มลงและเป็นอาหารในที่สุด

  การเดินทนทานทำให้เกิดอาหาร   และอาหารทำให้มีกำลังที่จะผลิตลูกหลาน    ยีนส์จากผู้แข็งแรงเหล่านี้ก็ถูกถ่ายทอดลงมาเรื่อย ๆ      เมื่อกฎธรรมชาติมีว่าคนเข้มแข็งสุดเท่านั้นที่อยู่รอด   ก็เลยสรุปได้ว่าลูกหลานปัจจุบันคือผู้ที่มียีนส์ของความอึดอดทนในการเดินเป็นเยี่ยม (เมื่อรู้แล้วและรู้สึกภูมิใจแล้ว    พวกเราก็จงลุกขึ้นเดินกันให้มาก ๆ เพื่อเป็นการคารวะบรรพบุรุษ)

  คู่ขนานไปกับข้อสรุปของสองนักวิชาการข้างต้นก็คือความจริงที่พบว่ามนุษย์นั้นฉลาดขึ้นเป็นลำดับ    กล่าวคือมีมันสมองที่ใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวตลอดระยะเวลาของการพัฒนาในหนึ่ง ล้านปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วง 150,000-200,000 ปีหลังที่เป็นมนุษย์ยืนสองขา    หน้าตาเหมือนพวกเราในปัจจุบัน 

  ปัจจุบันมนุษย์มีมันสมองใหญ่เป็น 3 เท่าของมันสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิด    อื่น ๆ หากแม้นว่ามีน้ำหนักตัวเท่ากัน

  เหตุที่มันสมองใหญ่ได้ขนาดนี้ก็เพราะการกินเนื้อและความเป็น “สัตว์สังคม” กล่าวคือมีการติดต่อสัมพันธ์กันทางสังคมของมนุษย์ตั้งแต่ยุคแรก ๆ     นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าบรรพบุรุษของเราในยุคแรก ๆ จำเป็นต้องวางแผนล่าสัตว์เป็นอาหารและออกปฏิบัติการเป็นกลุ่ม     ความจำเป็นดังกล่าวทำให้เกิดการพัฒนาระบบการคิดขึ้น      ใครมีการพัฒนาดีก็ได้รางวัลคือสัตว์ที่ล่าได้     ดังนั้นความจำเป็นต้องคิดจึงเป็นตัวผลักดันวิวัฒนาการของสมอง

  ล่าสุดนักมานุษยวิทยาเชื่อว่านอกเหนือจากการกินเนื้อและการเป็น “สัตว์สังคม” แล้ว   การออกแรงในแต่ละวันของมนุษย์ก็มีบทบาทสำคัญในการทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้น     ในเอกสารวิชาการ Proceedings of the Royal Society ประจำเดือนมกราคมของปี 2013     นักมานุษยวิทยาชื่อ D.A. Raichlen ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความทนทานในการออกกำลังของหนูทดลองในกรงกับการเพิ่มขึ้นของโปรตีนชนิดที่ช่วยทำให้เซลล์สมองขยายตัวขึ้น

  สัตว์ชนิดที่มีความสามารถในการอึดอดทนการออกกำลังสูงคือ   หนู    สุนัข   และหมาป่า     หมาจิ้งจอก    ฯลฯ    จะมีมันสมองที่ใหญ่กว่าสัตว์อื่นเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว

  การทดลองผสมพันธุ์หนูที่มีความอึดทนทานในการออกกำลังผ่านหลายชั่วพ่อแม่    ทำให้พบสารหลายตัวที่สนับสนุนการเติบโตของเนื้อเยื่อในสมอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนชื่อ BDNF  (Brain-derived Neurotrophic Factor)   ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเติบโตของสมอง และความฉลาดที่ตามมา

  การอึดทนทานในการออกกำลังของมนุษย์ยุคแรกพร้อมไปกับการมีอาหารดี    ทำให้สมองใหญ่ขึ้นและฉลาดขึ้นคล้ายกับกรณีของหนู      ยิ่งเคลื่อนไหวมากขึ้นก็ยิ่งทำให้สามารถทรงตัวได้ดีขึ้น     ยิ่งคล่องตัวในการออกกำลังอึดทนทานมากขึ้น   และฉลาดยิ่งขึ้น

  ข้อสรุปก็คือถ้าการออกกำลังช่วย “ปั้น” โครงสร้างของสมองแล้วไซร้   ก็มีความเป็นไปได้สูงที่การออกกำลังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพของสมองในปัจจุบัน

  ยิ่งไปกว่านั้นล่าสุดมีหลักฐานทางการแพทย์มากชิ้นขึ้นที่ชี้ให้เห็นว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพียงการเดินก็ช่วยทำให้ความสามารถในการทำงานของสมองดีขึ้น     ดังนั้นการเดินจึงมิใช่เป็นเพียงเรื่องของการเคลื่อนไหวธรรมดาเพื่อให้ถึงจุดหมายเท่านั้น

  กลุ่มคนที่สมองยากที่จะฝ่อเพราะต้องออกกำลังวิ่งอย่างอึดทนทานอยู่เป็นประจำและตามฤดูกาลก็คือส่วนใหญ่ของข้าราชการไทยระดับสูง