จากไป 40 ปี แต่ก็ยังอยู่

วรากรณ์  สามโกเศศ
29 สิงหาคม 2560

          ผู้เขียนมีคอลัมน์ประจำที่เขียนทุกสัปดาห์ตั้งแต่ปี 2535 รวม 25 ปี ในช่วงเวลานี้ ส่วนใหญ่เขียนสัปดาห์ละ 2 บทความ ข้อเขียนมีความหลากหลายพอควร แต่ผู้เขียนไม่เคยเขียนถึงบุรุษผู้นี้เลย วันนี้ขออนุญาตเขียนถึงสักครั้งให้สมใจอยาก

          เขาตายครบ 40 ปีในเดือนสิงหาคม 2560 พอดี ย้อนกลับไปคิดแล้วผู้เขียนเสียดายมากที่ไม่ได้ไปดู คอนเสิรต์ของเขาก่อนเสียชีวิตไม่นานซึ่งจัดแสดงที่เมือง Kansas City (อยู่ไม่ไกลจากเมือง Lawrence ที่ผู้เขียนเรียนอยู่) เนื่องจากค่าดูแพงมากจนสู้ไม่ไหว

          เพื่อนคนไทยที่ไปดูมาเล่าว่าเขาอ้วนมากจนต้องใส่เสื้อโอเวอร์โค้ตปิดบัง แค่เอาผ้าพันคอผืนเล็กแตะคอที่มีเหงื่อแล้วโยนแจกแฟน ๆก็กริ๊ดกันหูแทบดับแล้ว คนดูต่างประทับใจมากเพราะเขาคือ The King ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึง Elvis Presley

          Elvis เป็นนักร้องเดี่ยวในประวัติศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจมากที่สุด สิ่งบันทึกเพลงของเขาขายได้ 1 พันล้านชิ้น ในกลุ่มคนดังที่ทำเงินหลังตายไปแล้วนั้นเขาอยู่ในอันดับที่ 4 รองจากอันดับหนึ่งคือ Michael Jackson (อดีตลูกเขยของเขา) อันดับสองคือ Charles Schulz (นักเขียนการ์ตูน Snoopy) และอันดับ 3 Arnold Palmer นักกอล์ฟชื่อดัง

          คนรุ่นลูกรุ่นหลานของแฟน Elvis พันธุ์แท้ทั่วโลกที่ไม่มีโอกาสเห็นเขาก็รู้จักเขา ฟังเพลงของเขาชื่นชมเขาและร้องเพลงของเขา คฤหาสน์ของเขาที่เมือง Memphis ในรัฐ Tennessee ที่มีชื่อว่า Graceland นั้นเป็นบ้านที่มีคนเข้าเยี่ยมชมมากพอ ๆ กับ White House

          เขาจากไป 40 ปีแล้วในวัย 42 ปี (วัยเดียวกับแม่ที่เขารักมากและเชื่อมาตลอดว่าจะตายในวัยก่อนที่แม่เขาจากไป) เนื่องจากหัวใจวายจากการใช้ยาเสพติดเกินขนาด เวลา 40 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์สิ่งที่นักคิดได้วิเคราะห์ไว้แต่แรกแล้วว่า Elvis Presley คนนี้แหละคือพลังทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 20 เพราะเขามีส่วนอย่างสำคัญในการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การใช้ชีวิต ดนตรี ภาษา เสื้อผ้า ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้คือการปฏิวัติสังคมยุคใหม่

          ขอย้อนหลังไปถึงเรื่องราวก่อน Elvis เกิดเพื่อปูเรื่องมาสู่ตัวเขาและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดตามมา สงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริการะหว่าง ค.ศ. 1861-1865 ระหว่างรัฐทางเหนือและใต้ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งในเรื่องทาสและสิทธิของรัฐในการมีอำนาจตัดสินใจ ฝ่ายใต้ยังต้องการคน ผิวดำที่ถูกจับมาขายจากอาฟริกาให้เป็นทาสเพื่อเป็นแรงงานปลูกฝ้ายและต้องการสิทธิในการปกครองตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งตรงข้ามกับคนฝ่ายเหนือ หลังจากสู้รบกัน 4 ปี ทั้ง 2 ฝ่ายตายรวมกันกว่า 600,000 คน โดยฝ่ายใต้ซึ่งเป็นรัฐที่ Elvis เกิดคือ Mississippi และรัฐ Tennessee ที่เขาย้ายมาเติบโตเป็นฝ่ายแพ้

          ถึงแม้จะเลิกทาสแล้ว แต่ความรังเกียจเหยียดผิวก็ยังคงอยู่มาตลอดแม้กระทั่งทุกวันนี้ โดยเฉพาะในรัฐทางใต้ ในปี 1935 ที่ Elvis เกิดนั้นสงครามกลางเมืองเพิ่งจบสิ้นไปได้เพียง 70 ปี กลิ่นอายของความรังเกียจคนผิวดำทั้งในเรื่องวัฒนธรรม ดนตรี การดำรงชีวิต ฯลฯ ยังมีอยู่มาก

          คนผิวดำในภูมิภาคนี้ของโลกมีความเป็นเลิศทางดนตรี แต่งเพลงและเล่นเพลงที่เรียกกันว่า black music แต่แพร่หลายในเฉพาะกลุ่ม Elvis คนนี้แหละที่เอาเพลงลักษณะนี้มาร้องในตอนแรกจนโด่งดัง แม้แต่จังหวะ Rock and Roll ที่ Elvis ทำให้รู้จักกันไปทั่วโลกนั้น แท้จริงแล้วมีมาแต่ทศวรรษ 1940 และต้นทศวรรษ 1950 โดยมาจากการปนเปของหลายสไตส์ของ black music

          ตอนเด็ก Elvis ไม่เคยเรียนดนตรีแม้แต่อ่านโน๊ตก็ไม่เป็น เขาเรียนรู้ด้วยตัวเองทั้งหมด ในตอนปี 1953 เขาเริ่มอัดเพลงลงแผ่นแต่ก็ไม่ดัง มาเริ่มดังจากเพลง “That’s’ All Right” ในปี 1954 ที่เป็นเพลงสไตส์ black music แต่งโดยคนผิวดำ และจากนั้นก็เป็นประวัติศาสตร์ของความโด่งดังที่เรารู้จักกันดี

          ผู้คนชื่นชอบเขาโดยเฉพาะสาว ๆ แต่ผู้คนในชั่วคนก่อนหน้าทั้งในทางใต้และทั่วประเทศจับตามองว่าเขากำลังนำสิ่งชั่วร้ายมาสู่โลก ด้วยสไตส์ “โยกและคลึง” (rock and roll) ซึ่งโน้มเอียงไปทางเรื่องเพศ และนำเพลง “ชั้นต่ำ” มาครอบงำ อย่างไรก็ดีผู้คนจำนวนมากรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันเพราะเขามาจากครอบครัวยากจนของผู้ใช้แรงงาน เป็น”คนบ้านนอก ” และมีการศึกษาไม่สูง

          โลกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นยุคแห่งการปลดปล่อย ยุคเสรีภาพในด้านความสัมพันธ์ทางเพศ ยุคของความต้องการมีการเท่าเทียมกันทางเพศและทาง ผิวสี Elvis เปรียบเสมือนผู้นำสิ่งแปลกใหม่ที่ไพเราะและสนุกสนาน rock and roll สร้างความพอใจให้หนุ่มสาวได้เป็นอันมากจน เสียงวิจารณ์เขาเงียบลงไปทุกทีพร้อมกับความนิยมในตัวเขาพุ่งขึ้นในทุกภาคและทุกกลุ่มของประเทศและทั่วโลกด้วยเสียงร้องที่หาคนเลียนแบบไม่ได้ หน้าตาอันหล่อเหลาและท่าทางที่เป็นมิตร

          การมาจากครอบครัวที่ยากจน การต่อสู้ชีวิต การเคร่งศาสนา ความรักที่มีให้แม่อย่างท่วมท้น การยอมเป็นทหารเกณฑ์ ความนิยมจากต่างประเทศจากเพลงหลากหลายสไตส์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกทีผ่านภาพยนตร์ที่เขาเล่นและจอโทรทัศน์ที่เริ่มแพร่หลายทำให้ Elvis ดังเป็นพลุตลอดปลายทศวรรษ 1950 และทศวรรษ 1960 และเริ่มตกต่ำลงบ้างในกลางศตวรรษ 1970 ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตอันเนื่องมาจากข่าวคราวยาเสพติด ชีวิตครอบครัวที่ล้มเหลว และบุคลิกที่แปรเปลี่ยนตามอารมณ์

          การยอมรับเสรีภาพของคนผิวดำในยุคสมัยของประธานาธิบดีเคเนดี้ และจอห์นสัน โดยคนอเมริกันในต้นทศวรรษ 1960 นั้น เป็นผลบางส่วนจากบทบาทของ Elvis ในการนำเพลง black music มาให้โลกรู้จักและชื่นชม และการเลียนแบบค่านิยมในชีวิตของ Elvis ในกลุ่มวัยรุ่นมีผลต่อการวัฒนธรรมการดำรงชีวิตในเวลาต่อมาอย่างไม่ต้องสงสัย

          Elvis จากไปแต่ก็ยังอยู่ เสียงร้องของเขาในเพลง “Love Me Tender” “เพลงชุด G.I. Blues” “เพลงชุด Blue Hawaii” “Can’t Help Falling in Love with You” ฯลฯ เตือนใจพวกเราว่าเขายังคงอยู่ในหัวใจของคนทั้งโลก ไม่ว่าจะจากไปแล้ว 40 ปี หรือ 100 ปีก็ตาม

          ถึงแม้ Elvis จะมีชีวิตสั้นเกินไปแต่คุณค่าของชีวิตมนุษย์นั้นความยาวมิสำคัญเท่ากับความลึกมิใช่หรือ

แค่ 31 ก็เป็นนายกได้

วรากรณ์  สามโกเศศ
28 พฤศจิกายน 2560

          “อายุเป็นเพียงตัวเลข” เคยเป็นวลีปลอบใจของผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันกลายเป็นวลีท้าทายของคนอายุน้อยไปแล้ว เพราะสองเดือนที่ผ่านมานี้โลกมีนายกรัฐมนตรีอายุเพียง 37 ปี จากนิวซีแลนด์ และ 31 ปี จากออสเตรีย ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถิติโลกปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่อาจลบล้างสถิติโลกที่อังกฤษเคยทำไว้โดยมีนายกรัฐมนตรีอายุเพียง 24 ปี เท่านั้นเมื่อกว่า 200ปีมาแล้ว

          Sebastian Kurz หนุ่มวัย 31 ปี หัวหน้าพรรค Austrian People’s Party (เรียก ย่อว่า ÖVP) ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคเพียง 5 เดือนก่อนเลือกตั้งใหญ่กลางเดือนตุลาคม 2017 เนื่องจากหัวหน้าพรรคคนเก่าลาออกกะทันหัน และพรรคเชื่อมั่นว่าเขาจะนำพรรคไปสู่ชัยชนะได้ที่นั่งมากที่สุดในสภาล่าง (National Council) ซึ่งมีที่นั่งรวม183 และเขาก็สามารถทำได้คือชนะ 62 ที่นั่ง

          พรรครองมาคือพรรค Social Democratic Party (SPÖ) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้าย ได้ 52 ที่นั่ง และพรรคใหญ่อีกพรรคคือ Freedom Party of Austria (FPÖ) ได้ 51 ที่นั่ง และในที่สุดในฐานะหัวหน้าพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุด เขาประกาศว่าจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรค FPÖ ซึ่งเป็นพรรคขวา (จัด) ทั้งสองพรรครวมที่นั่งกันเกินกว่า 92 ซึ่งเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของ ส.ส. ในสภาล่าง Kurz จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรี (chancellor) ของออสเตรียคนใหม่และเป็นผู้นำที่มีอายุน้อยที่สุดในปัจจุบัน

          สามพรรคใหญ่มีประวัติย้อนหลังไปถึงปี 1945 หลังแพ้สงคราม ทั้งสามผลัดกันเป็นรัฐบาลเดี่ยวบ้าง ร่วมรัฐบาลกันบ้าง สลับพรรคไปมาหลายครั้งหลายหน พรรค ÖVPของ Kurtz เป็นพรรคอนุรักษ์นิยมเอียงขวา ในขณะที่ SPÖ นั้นเป็นพรรคซ้ายตามอุดมการณ์สังคมนิยม ส่วน FPÖ นั้นอยู่ทางขวาชัดเจน

          Kurtz เรียนไม่จบปริญญา เขาเรียนกฎหมายที่ University of Vienna อยู่ 7 ปี ก่อนที่จะเลิกเรียนและหันมาเล่นการเมืองโดยเป็นยุวชนของพรรค ÖVP เขาโดดเด่นในด้านสติปัญญา ความสามารถในการสื่อสาร การตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นคนที่สุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน ให้เกียรติคนอื่น จนเป็นคนมีเสน่ห์ ทะลุจากระดับเยาวชนขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อมีอายุ 27 ปี และมีผลงานเป็นที่ชื่นชอบของคนออสเตรียและคนยุโรป

          เขาเป็นผู้จัดให้มีการเจรจาระหว่างนานาประเทศกับอิหร่านในเรื่องปัญหาระเบิดนิวเคลียร์ จนมีการลงนามข้อตกลงกันในปี 2015 ที่กรุงเวียนนา นอกจากนี้ก็มีบทบาทระดับ EU ในเรื่องเกี่ยวกับผู้อพยพ ผู้ก่อการร้าย สันติภาพ ฯลฯ สิ่งที่ผลักดันเขาขึ้นไปเหนือนักการเมืองสูงวัยกว่าก็คือการเป็น Wonderkid หรือ Wunderwuzzi หรือ “เด็กมหัศจรรย์” ในสายตาของสมาชิกพรรค ÖVPและประชาชนออสเตรีย ซึ่งมีจำนวนประมาณ 8.8 ล้านคน

          Kurz รีแบรนด์ พรรค ÖVP ให้เป็นพรรคฝ่ายขวาสมัยใหม่ที่ต้องการควบคุมการอพยพเข้ายุโรปครั้งใหญ่ของมุสลิมจากซีเรียและกำกับบทบาทของมุสลิมในประเทศซึ่งมีถึงกว่า 400,000 คน นโยบายของเขาโดนใจชาวออสเตรียฃึ่งมีความกังวลใจอยู่มากเนื่องจากเกรงว่าจะเกี่ยวพันกับการก่อการร้าย เขาขยับพรรคให้ออกไปทางขวามากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน เขาผลักดันกฎหมาย “Islam Act” ในปี 2015 ควบคุมการไหลของเงินจากต่างประเทศมาสร้างสุเหร่า ควบคุมมิให้กลายเป็น “อิสลามการเมือง” เขาไปไกลขนาดสนับสนุนการห้ามสตรีมุสลิมคลุมผ้า ไม่ให้เงินช่วยเหลือผู้อพยพมากเหมือนที่เคย และบังคับให้ทำงานมากกว่ารับสวัสดิการอย่างเดียว เขากล่าวว่ามุสลิมในออสเตรียควรอ่านเฉพาะคัมภีร์อัลกุรอานภาษาเยอรมันที่รัฐบาลตรวจสอบแล้วเท่านั้น

          Kurz พยายามสร้างภาพของ “ขวาใหม่” ด้วยการใช้ภาษาที่ไม่รุนแรง เพื่อเรียกร้องความนิยมข้ามพรรคจากคนทุกวัย เขาต้องการหยุดการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด (เขามีบทบาทสำคัญระหว่างประเทศในการปิดเส้นทางที่เรียกว่า Balkan route ที่ผู้อพยพผิดกฎหมายใช้เข้ายุโรป ในปี 2016) เขาแย่งประเด็นหาเสียงของพรรค FPÖ และเอามานำเสนอในรูปแบบที่ประชาชนทั่วไปยอมรับได้ ชนิด “ลีลาแตกต่างกันโดยน้ำยาไม่เปลี่ยนแปลง”

          มาดของ Kurz รวมทั้งหน้าตา และการพูดจา ทำให้เขาเป็นดาราเด่นของพรรค เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอยู่ 4 ปีอย่างได้รับการยอมรับอย่างมากจากเพื่อนใน EU และทั้งหมดนี้ผลักดันให้คนอายุเพียง 31 ปี ที่มีประสบการณ์และความสามารถได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตยของโลกตะวันตก

          31 ปี ถือว่ายังไม่มากถ้าเทียบกับ William Pitt The Younger (สร้อยสองคำท้ายเพื่อให้รู้ว่าเป็นผู้ลูก เพราะพ่อของเขาชื่อเดียวกันก็เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษเช่นกัน) ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 2 สมัย ครั้งแรกได้เป็นนายกรัฐมนตรีตอนอายุ 24 ปี (ค.ศ. 1783) โดยเป็น ส.ส. มาก่อน 2 ปี ตอนเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น นักการเมืองรุ่นเดอะหัวเราะเยาะว่าเด็กเมื่อวานซืนจะเป็นได้ กี่น้ำ แต่ปรากฏว่าเขาได้เป็นอยู่นานถึง 18 ปี (ค.ศ. 1783-1801) ฝากผลงานในช่วงเริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรม สงครามกับนโปเลียน การบริหารงานของจักรภพอังกฤษ ฯลฯ ไว้อย่างประทับใจคนอังกฤษ สมัยที่สองเขาได้เป็นระหว่าง ค.ศ. 1804-1806 โดยเสียชีวิตในหน้าที่

          สำหรับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีที่ได้เป็นในวัยต่ำกว่า 50 ปี ได้แก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (อายุ 41 ปี) พระยาพหลพลพยุหเสนา และ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (อายุ 46 ปี) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (อายุ 44 ปี) ส่วนกรณีที่น่าสนใจอื่น ๆ ได้แก่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (อายุ 51 ปี เสียชีวิตในวัย 55 ปี) อานันท์ ปันยารชุน (59 ปี) ชวน หลีกภัย (อายุ 54 ปี) และทักษิณ ชินวัตร (52 ปี)

เคล็ดลับ “บังคับ” ประชาชน

วรากรณ์  สามโกเศศ
17 ตุลาคม 2560

          นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมรับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ ผ่านมา Richard H.Thaler อเมริกันเชื้อสายยิวแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก เป็นผู้เดียวที่รับรางวัลประจำปี2017 สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาได้รับรางวัลน่าสนใจเพราะมีผลกระทบต่อผู้คนผ่านการใช้นโยบายของภาครัฐอย่างเห็นผล

          ในปี 2002 Daniel Kahneman นักจิตวิทยาได้รับรางวัลนี้เพราะมีบทบาทสำคัญในการขยายขอบเขตของเศรษฐศาสตร์ด้วยการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ ว่ามิได้มีเหตุมีผลดังที่เคยเชื่อและสมมุติกันมา และเขาได้ทำสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนคือใช้การทดลองค้นหาความจริงของเศรษฐศาสตร์ในห้องปฏิบัติการเพื่อสร้างความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ในด้านการใช้วิจารณญาณและการตัดสินใจเชิงเศรษฐศาสตร์

          ในปีนี้ Thaler ผู้มีอายุ 72 ปี เรียนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จาก University of Rochester และเคยวิจัยศึกษาร่วมกับ Kahneman มายาวนาน Thaler สนใจพฤติกรรมของมนุษย์เชิงเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับเรื่องเงิน ตลอดจนการแปรความรู้จากนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

          Thaler เป็นผู้บุกเบิกคนหนึ่งของเศรษฐศาสตร์สาขาใหม่ดังกล่าวคือ Behavioural Economics ทฤษฎีที่ทำให้เขาโดดเด่นเป็นที่รู้จักก็คือ “nudge theory” ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศและองค์กร กำลังพิจารณานำไปประยุกต์หลังจากเห็นความสำเร็จของอังกฤษในการหารายได้เพิ่มจากภาษีอากร คนบริจาคอวัยวะมากขึ้น ออมเงินได้มากขึ้น ประกันสุขภาพมากขึ้น ฯลฯ

          ไอเดียของ “nudge theory” นั้นมีง่าย ๆ ว่า เมื่อมนุษย์โดยทั่วไปขาดความมีเหตุ มีผล มองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ในระยะยาว มองเห็นแต่ประโยชน์ใกล้ตัว อีกทั้งละเลยสิ่งที่ควรทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม การแก้ไขจึงจำเป็นต้องมาจากการใช้มาตราการด้านบวก และการแนะนำทางอ้อม เพื่อที่จะทำให้เกิดแรงจูงใจ เกิดการตัดสินใจของกลุ่มและปัจเจกชนอย่างเห็นพ้องโดยไม่มีการบังคับ (nudge แปลว่าสัมผัสหรือผลักอย่างเบา ๆ เพื่อให้ได้รับความสนใจ หรือเพื่อชักจูงสนับสนุนให้ทำบางอย่าง)

          โดยสรุป แนวคิด Nudge ก็คือการทำอย่างแนบเนียนให้มนุษย์เปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางที่สามารถคาดเดาได้โดยไม่มีการบังคับและอย่างนิ่มนวล

          ตัวอย่างน่าจดจำไปเล่าต่อก็คือการใช้แนวทาง nudge ในการแก้ปัญหาเรื่องปัสสาวะในห้องน้ำชายของสนามบิน Schiphol ที่ Amsterdam ปัญหาที่มีคือเรื่อง “การเล็ง” ไม่แม่นจนปัสสาวะกระเด็นออกมาเลอะเทอะ ผู้บริหารแก้ไขในทางบวก ไม่มีป้ายเตือน ไม่มีการบังคับ แต่ใช้วิธีทาสีรูปตัวแมลงเกาะอยู่ในโถปัสสาวะเพื่อให้ ”เล็ง” ในตำแหน่งที่เหมาะสม ผลปรากฎว่าชายทั้งหลายมีพฤติกรรมไปในทางเดียวกันคือ “เล็ง” ที่ตัวแมลงจนแก้ไขปัญหาปัสสาวะกระฉอกได้สำเร็จ

          แนวคิดนี้ฃึ่งมีลักษณะทางวิชาการที่เรียกว่า libertarian paternalism (การแทรกแซงโดยองค์กรเอกชนและสาธารณชนเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยยังคงเคารพเสรีภาพในการเลือก) ได้รับความสนใจมากเมื่อนายกรัฐบาลหญิงของอังกฤษ Theresa May ใช้แนวคิด nudge เก็บภาษีได้เพิ่มด้วยวิธีการเตือนอย่างนิ่มนวลและแนบเนียนว่าเพื่อนบ้านได้จ่ายภาษีกันไปแล้ว กล่าวคือเป็นไปในทางบวก ไม่บังคับแต่เปิดช่องให้เลือกพฤติกรรม

          ต่อมาTheresa May ประกาศว่าการบริจาคอวัยวะนั้นเป็นเรื่องสมัครใจ หากแต่มีเงื่อนไขว่าหากใครไม่ระบุว่าไม่ต้องการบริจาคก็หมายความว่าต้องการบริจาค ผลปรากฏว่ามีผู้บริจาคอวัยวะเพิ่ม 100,000 รายต่อปีทันที

          แนวคิด nudge มีอิทธิพลต่อความคิดในปัจจุบันของผู้นำมาก เมื่อหนังสือชื่อ Nudge : Improving Decisions about Health, Wealth, and Happiness ออกมาในปี 2008 เขียนโดย Richard Thaler ร่วมกับ Cass Sunstein ประธานาธิบดี Obama สั่งตั้งหน่วยงานพิเศษในทำเนียบขาวเพื่อพิจารณาหามาตราการจากเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและ David Cameron นายกรัฐมนตรีอังกฤษตั้งหน่วยงานพิเศษคือ Behavioural Insights Team นอกจากนี้ญี่ปุ่น เยอรมันนี ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศกำลังสนใจใช้ nudge ในการออกนโยบายและแนวปฏิบัติที่อยู่พื้นฐานของการเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ในระดับย่อย โดยใช้วิธีการที่ “แนบเนียน”เพื่อเปลี่ยนแปลงโดยให้เสรีภาพในการเลือกมากกว่าที่จะใช้การบังคับในระดับรวมที่อยู่บนพื้นฐานว่ามนุษย์มีเหตุมีผล ดังที่ปฏิบัติกันมา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อพัฒนาประสิทธิผลของการให้บริการสาธารณะ

          ตัวอย่างอื่นของแนวคิด nudge ที่มีการทำกันก็ได้แก่ (1) ในระดับองค์กรเอกชนมีการให้พนักงานเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ เช่น เข้าหลักสูตรการพัฒนาตนเอง การร่วมกิจกรรม CSR ฯลฯ โดยถือว่าเป็นการตอบรับหากไม่มีการปฏิเสธ (ผู้ทำงานมีเสรีภาพในทางเลือก แต่ทำให้เกิดความสะดวกที่จะเลือกเข้าร่วมอย่างแนบเนียน) (2)ในตอนแรกไม่มีคนร่วมโครงการรับเงินอุดหนุนในการสร้างฉนวนความร้อนที่บ้านมากนัก เมื่อหน่วยงานพิเศษของอังกฤษศึกษาพฤติกรรมก็พบว่าเหตุที่ไม่ร่วมก็เพราะเบื่อที่จะ ขนย้ายขยะ “สมบัติ” ที่สะสมไว้ เมื่อมีการช่วยเหลือเรื่องนี้ก็มีคนเข้าร่วมเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว (3) การเพิ่มการออมของประชาชนโดยหักจากค่าจ้างหรือเงินเดือนโดยอัตโนมัติ นอกเสียจากจะระบุว่าไม่ต้องการ เช่นเดียวกับการประกันสุขภาพ การประกันชีวิต การประกันอัคคีภัย ฯลฯ

          นอกจากเรื่อง nudge แล้ว Thaler ได้ศึกษาเขียนหนังสือและบทความอีกมากมายในแนวนี้ เล่มหนึ่งคือ “Misbehaving: How Economics Became Behaviourial” (2015) ตลอดจนข้อเขียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์แนวพฤติกรรมให้แก่หนังสือพิมพ์และนิตยสาร เพื่อให้ความรู้แก่สาธารณชนจนเรียกได้ว่าเขามีส่วนร่วมในการทำให้เศรษฐศาสตร์สาขานี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผ่านการใช้นโยบายที่ได้ผล

          “Mental Accounting”ของ Thaler เป็นอีกพฤติกรรมหนึ่งที่มนุษย์มีทางโน้มที่จะปฏิบัติอย่างไม่รู้ตัวโดยแบ่งแยกเงินที่ได้รับมาออกเป็นบัญชีย่อยในสมองตามแหล่งของเงินที่ได้รับมาหรือการตั้งใจใช้ เช่น เงินที่ได้มาจากการทำงาน มนุษย์จะใส่ไว้ในบัญชีหนึ่งที่มีคุณค่า ดังนั้นจะใช้จ่ายอย่างระวัง ส่วนเงินที่ได้มาง่าย ๆ ไม่ว่าคนให้หรือถูกหวยจะอยู่ในบัญชีที่มักใช้จ่ายอย่างไม่ระวัง หนทางแก้ไขก็คือการปรับพฤติกรรมเอาเงินที่ได้มาโดยง่ายไปใส่รวมไว้ในบัญชีเงินทีได้มายากเย็นในธนาคาร การใช้จ่ายในเรื่องไม่เหมาะสมก็จะลดน้อยลงได้

          Thaler และผู้บุกเบิกพฤติกรรมพยายามทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของความไม่เป็นเหตุเป็นผลของมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถพยากรณ์พฤติกรรมได้ และนำมาพิจารณารวมไว้ในการกำหนดนโยบายแต่แรก เขาต้องการให้เศรษฐศาสตร์สามารถนำความขาดเหตุขาดผลนี้เข้ามาใช้อธิบายทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เช่นเดียวกับที่เคยมีสมมุติฐานว่ามีเหตุมีผลมาแต่แรก

          คนถาม Thaler ว่าจะใช้เงินประมาณ 40 ล้านบาท ที่ได้จากรางวัลครั้งนี้อย่างไร เขาบอกอย่างตลกว่า “จะเอาไว้ใช้จ่ายอย่างขาดเหตุขาดผลเท่าที่เป็นไปได้”

เครื่องบินจีนสู้ยักษ์สองทวีป

วรากรณ์  สามโกเศศ
8 สิงหาคม 2560

         เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลจีนสร้างความภาคภูมิใจให้ชาวจีนอีกครั้งโดยแสดงให้ชาวโลกเห็นว่าสามารถสร้างเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ได้อย่างไม่ต่างไปจาก Boeing และ Airbus ของโลกตะวันตก ความสำเร็จของการสร้าง Comac C919 ของจีนมีนัยยะสำคัญหลายประการ

          จีนมิได้เพิ่งสร้างเครื่องบินเป็น หากสร้างเครื่องบินฝึกบิน เครื่องบินรบ เครื่องบินตรวจภูมิอากาศและกิจการเกษตร เฮลิคอปเตอร์ ฯลฯ หลากหลายรูปแบบและหลายรุ่นมานานแล้ว

          สำหรับเครื่องบินโดยสารนั้นมีความพยายามมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 หลังจากประธานาธิบดีนิกสันไปเยือนจีนด้วย Boeing 707 จีนได้ซื้อเครื่องยนต์จาก Boeing ไป 40 เครื่องเพื่อสร้างเครื่องบินเองคือ Y-10 ซึ่งต่อมาได้สร้างไป 3 ลำ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะปัญหาน้ำหนัก

          เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาครบรอบ 1 ปี ของการบินพาณิชย์โดยเครื่องบินรุ่น ARJ 21 ของจีนซึ่งจุคนได้ไม่เกิน 100 คน จำนวน 6 ลำ ที่บินโดยเฉินตูแอร์ไลน์ และจีนก้าวไปอีกโดยการนำ Comac C919 ขึ้นบินอย่างประสบผลสำเร็จ

          C919 มีลักษณะและคุณสมบัติคล้าย Airbus รุ่น 320 และ Boeing 737 ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง จุคนได้ไม่เกิน 190 คน เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2008 แต่ล่าช้าไป 3 ปี ตั้งใจว่าจะผลิตจากที่มีอยู่ 2 ลำ เป็น 6 ลำเพื่อทดลองบิน และจะผลิตรุ่นแรกออกมาในปี 2020 ประมาณไม่ต่ำกว่า 100 ลำ และคาดว่าใน 20 ปีหลังจากนั้นจะผลิตรวมได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ลำ

          จีนเอาความรู้และประสบการณ์มาจากที่ใดจึงหาญกล้าสร้างเครื่องบินโดยสารขึ้นมาทาบรัศมี Boeing ของสหรัฐอเมริกา และ Airbus ของยุโรป ผู้ครองตลาดใหญ่อยู่ 2 รายมายาวนาน คำตอบก็คืออยู่ที่จีนเอง ARJ21 มีลักษณะคล้าย MD-80 และ MD-90 ของบริษัท McDonnell Douglas ซึ่งผลิตในจีนและเลิกไป จีนก็ใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่ทิ้งไว้ตลอดจนความรู้มาออกแบบและสร้างเองจนมีเสียงนินทาว่าคล้ายต้นตำรับมาก

          สำหรับ C919 นั้นทำได้เพราะ จีนรับจ้าง Airbus ประกอบลำตัวรุ่น A320 และรับจ้างผลิตชิ้นส่วนให้ Boeing 737 มานาน ความรู้และประสบการณ์จึงมีมากและก็ถูกนินทาอีกว่า C919 คล้าย A320 มาก

          จีนโดดลงมาผลิตเครื่องบินโดยสารเพราะเห็นโอกาสทางการค้าและต้องการพึ่งตนเองตามประกาศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เรื่อง “Made in China 2025” ซึ่งครอบคลุม 10 อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นรถไร้คนขับ รถไฟฟ้าความเร็วสูง เครื่องบิน หุ่นยนต์ ไมโครชิพแบบล้ำหน้า ปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ

          ใน 20 ปีข้างหน้า (2016-2036) คาดว่าโลกจะมีความต้องการเครื่องบินประมาณ 30,000 ลำ ร้อยละ 75 ของจำนวนนี้จะเป็นขนาด A320 และ Boeing737 (หรือเรียกว่าชนิดมีทางเดินเดียว) เนื่องจากมีความคล่องตัวในการตอบรับกับความต้องการโดยสารที่ผันแปรของโลกได้ดี ระยะบินได้ไกลถึง 5,000 กิโลเมตรและประหยัดพลังงาน

          ตลาดที่ใหญ่สุดในปี 2036 ก็คือเอเชียแปซิฟิก (จีนนั่นแหละคือตลาดใหญ่) คาดว่าจะมีส่วนแบ่งของตลาดถึงร้อยละ 36 (เพิ่มจากร้อยละ 29 ในปี 2016) รองลงมาคืออเมริกาเหนือคือร้อยละ 23 (ตกจากร้อยละ 30 ในปี 2016) ยุโรปตกจากร้อยละ 20 ในปี 2016 เหลือร้อยละ 18 ลาตินอเมริกาและตะวันออกไกลใกล้เคียงกันคือเพิ่มจากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 8 ในปี 2036

          ตัวเลขความต้องการเครื่องบินจำนวนมหาศาลเช่นนี้กอบกับตลาดมีมูลค่ารวมระหว่างปัจจุบันถึง 2036 ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จีนจึงต้องลงมาเล่นในตลาดผลิตเครื่องบินโดยสารเพื่อความยิ่งใหญ่ประทับใจชาวจีนและชาวโลกอันเป็นเหตุผลทางการเมืองที่สำคัญยิ่ง (โครงการอวกาศจีนก็ไปได้ดี จนคาดว่าจะเหยียบดวงจันทร์ หรือบรรลุเป้าหมายสำคัญได้ในเวลาอีกไม่นาน)

          สำหรับ C919 นั้นจะว่าไปแล้วก็ซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศในทุกระบบที่สำคัญ เช่น เครื่องยนต์ ระบบข้อมูล ระบบเบรค ระบบการบิน ระบบไฟฟ้า ฯลฯ จีนนั้นออกแบบและเอาระบบต่าง ๆ ที่ซื้อมาประสานกัน กลุ่มผู้ผลิตเก่าอ้างว่า C919 นั้นล้าสมัยถึง 10-15 ปี ไม่สามารถสู้กับ Boeing737 รุ่นชั่วคนที่ 4 คือ รุ่น Max (737-800 ที่บินกันว่อนสำหรับราคาประหยัดนั้นยังล้าสมัยกว่า 737-Max 8) และAirbus รุ่นใหม่ คือ Airbusneo 320 ได้ ฝ่ายจีนก็บอกว่า C919 ออกแบบในยุคปี 2000 ส่วน Boeing737 นั้นออกแบบในยุค 1960 และ Airbus 320 นั้นออกแบบในยุค 1980 อีกทั้งเราก็ใช้อุปกรณ์ของพวกยูเกือบทั้งหมด ดังนั้นมันจะทิ้งกันห่างมากได้อย่างไร

          ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ C919 ราคาประมาณลำละ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ A320 และ Boeing737 รุ่นใกล้เคียงกันนั้นตกไม่ต่ำกว่าลำละ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ พูดง่าย ๆ ก็คือถูกกว่ากันเท่าตัว คุณภาพใกล้เคียงกัน ตอนนี้ C919 มีคำสั่งซื้อแล้ว 500 กว่าลำจาก 23 ประเทศ (ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น)

          C919 ผลิตโดยบริษัท Comac ซึ่งรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของทั้งหมดและทุ่มสุดตัว (ลงทุนไปในการผลิต C919 แล้วประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีโรงงานใหญ่โตมโหฬาร มีตึกใหญ่กว่า 100 หลัง มีทุนให้ไม่จำกัด) ขณะนี้ Comac จับมือกับรัสเซียจะผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่ รุ่น C929 จุผู้โดยสาร 280 คน บินได้ไกล 12,000 กิโลเมตร ออกมาสู้กับ Airbus350 และ Boeing787 ที่เรียกว่า Dreamliner

          อย่างไรก็ดีเรื่องมันไม่ได้จบแค่ผลิตเครื่องบินออกมาได้เท่านั้น C919 และรุ่นอื่น ๆ ต้องการใบอนุญาตรับรองความปลอดภัยจากยุโรป สหรัฐอเมริกาและองค์กรบินระหว่างประเทศซึ่งเป็นงานใหญ่ใช้เวลา ต้องการงานทูตระดับโลกเพราะไม่อาจหลีกเลี่ยงการเป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศไปได้ (ถ้ายอมกันง่าย ๆ ก็ไม่มีการต่อรองเพื่อต้องเอาอะไรบางอย่างมาแลกสิ) แต่วงการบินโลกก็เชื่อมือจีนในการเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก และบทบาทที่พร้อมจะเป็นผู้นำโลกแทนสหรัฐอเมริกาที่มีผู้นำบุคคลิกสุดประหลาดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

          เลวร้ายสุดหากมีการดึงกันนานในเรื่องนี้ จีนก็สามารถบิน C91และ C929 ภายใน ประเทศที่มีประชากรอันดับ 2 คือ 1,300 ล้านคนในโลกได้ (ตอนนี้อินเดียแซงหน้าเป็นอันดับหนึ่งไปแล้วที่ 1,400 ล้านคน) เพราะมีความต้องการในประเทศเพียงพอ

          จีนไม่เพียงแต่ภูมิใจที่สามารถผลิตเครื่องบินระดับนานาชาติได้เท่านั้น หากยังมีการจัดการการบินที่มีประสิทธิภาพกว่าโลกตะวันตกท่ามกลางเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกาอีกด้วย หลักฐานก็คือในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่งมีอุบัติเหตุเครื่องบินที่มีผู้เสียชีวิตเพียงครั้งเดียวเท่านั้น นอกจากนี้มีสถิติคนตาย 1 คนจากอุบัติเหตุเครื่องบินต่อผู้โดยสาร 70 ล้านคน ในขณะที่ตัวเลขเดียวกันในโลกตะวันตกคือ 25 ล้านคน

          ธุรกิจผลิตเครื่องบินไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะจำเป็นต้องมีการให้บริการบำรุงและซ่อมแซมเครื่องยนต์และอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนควบคุมติดตามการใช้เครื่องบินของตนหลังการขายไปแล้วอีกด้วย เนื่องจากความน่าเชื่อถือในความปลอดภัยคือหัวใจของความสำเร็จ

          จีนจะใช้การเมืองระหว่างประเทศอย่างไรในการให้เครื่องบินได้รับการยอมรับ ในการขายและในการให้บริการ ภายใต้การผลิตและการบริหารที่มีประสิทธิภาพอย่างเป็นเลิศอย่างน่าไว้วางใจ จนสามารถแข่งขันกับสองยักษ์จากสองทวีปที่ผูกขาดแบ่งตลาดกันมานานแล้วได้

ความเหลื่อมล้ำกับชีวิตที่มีความหมาย

วรากรณ์  สามโกเศศ
14 กุมภาพันธ์  2560

          ครั้งหนึ่งเมื่อสื่อต่างประเทศทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 9 ในทศวรรษ 60 ซึ่ง บ้านเมืองของเรากำลังลุกเป็นไฟจากภัยคอมมิวนิสต์ว่า “ทรงต่อสู้กับคอมมิวนิสต์อย่างไร” ทรงตอบอย่าง แยบยลว่า “ข้าพเจ้าต่อสู้กับความยากจน” ในช่วงเวลาหลังจากนั้นมีชายผู้หนึ่งในโลกตะวันตกได้กระทำคล้ายกันกับพระองค์โดยใช้วิชาการ และเมื่อต้นปีนี้เองเขาก็จากโลกนี้ไป

          Sir Anthony Atkinson นักเศรษฐศาสตร์ของอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งผู้คนรอคอยการรับรางวัล โนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ของเขามายาวนานสิ้นชีวิตเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2017 ในวัย 72 ปี ด้วยโรคมะเร็ง ถึงเขารู้ว่ากำลังจะตายก็ไม่ลดงานลงหรือรู้สึกย่อท้อ แต่กลับเร่งงานชิ้นสำคัญคือการเป็นประธานคณะทำงานศึกษาความยากจนในระดับโลกของธนาคารโลก และเขียนหนังสือชื่อ “Inequality : What can be done?” ในเวลาเพียง 3 เดือน ตลอดชีวิตเขาผลิตหนังสือเฉลี่ยปีละ 1 เล่ม รวม 40 เล่ม

          เพื่อน ๆ และลูกศิษย์ของ Professor Atkinson กล่าวถึงเขาว่าเป็น “one of the all time greats” โดยมีชื่อเสียงประกอบในความเป็นสุภาพบุรุษ มีความรักมนุษย์โดยเฉพาะคนยากจนทั่วโลก มีความสัตย์ซื่อต่อหลักการ หลักคิดที่สำคัญของเขาในการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ก็คือ “เศรษฐศาสตร์เป็นไปเพื่อทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น”

          ประสบการณ์สำคัญยิ่งในชีวิตที่ทำให้เขาเกิดอุดมการณ์ต่อสู้ความยากจนของมนุษยชาติก็คือการเป็นอาสาสมัครผู้ช่วยพยาบาลเป็นเวลา 6 เดือนในโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในเขตยากจนของเมือง Hamburg ในสหพันธรัฐเยอรมันนี เขาต่อสู้ความยากจนด้วยวิชาการตลอดชีวิตอย่างไม่เคยท้อใจ และด้วยความสำนึกถึงความเป็นธรรมในสังคม

          Sir Anthony เรียนจบจาก Cambridge ในปี 1966 เป็นอาจารย์หลายแห่งทั้ง Cambridge / University College London / The London School of Economics (LSE) / The University of Essex และ Oxford และเป็นบรรณาธิการวารสารวิชาการ The Journal of Public Economics

          งานวิชาการเกือบทั้งหมดของเขาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกระจายรายได้ ความไม่เท่าเทียมกันของความมั่งคั่งและรายได้และความยากจน ที่มีอยู่ทุกหนแห่งในโลก เขาต่อสู้อย่างหนักในทศวรรษ 80 และ 90 เมื่อเกิดทางโน้มของความไม่เท่าเทียมกันในโลกมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ หลักฐานที่สนับสนุนก็คือคำกล่าวกันในงานสัมมนาประจำปีของ World Economic Forum 2017 เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าในปัจจุบันทรัพย์สินของเศรษฐีรวยสุดในโลก 8 คนรวมกันมีมูลค่าเท่ากับทรัพย์สินของคนจนที่สุดครึ่งโลกหรือ 3,500 ล้านคนรวมกัน

          Professor Anthony เชื่อว่าข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาความยากจน เขาไม่ไว้ใจกลไกตลาดที่ทำงานในลักษณะที่ทำให้คนรวย ๆ ยิ่งขึ้น และคนจน ๆ ลง เขาเชื่อมั่นว่าบทบาทของภาครัฐที่เข้มแข็งคือคำตอบ

          ผลงานที่สำคัญของเขาก็คือการเป็นผู้ริเริ่มปลุกเร้าคนทั่วโลกโดยเฉพาะลูกศิษย์ของเขาให้สนใจเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน เขาสร้าง World Wealth and Income Database และการเฝ้าระวังความไม่เท่าเทียมกันในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ดัชนี Atkinson ของเขาซึ่งเป็นตัววัดความไม่เท่าเทียมกันและต่อมาพัฒนาขึ้นมาจนเป็นที่รู้จักและใช้กันอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ

          Professor Anthony ศึกษาข้อมูลของความไม่เท่าเทียมกันย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์โลกอย่างกว้างขวาง ตลอดจนวิเคราะห์สถานการณ์และสาเหตุเพื่อสร้างความเข้าใจของปัญหาและที่สำคัญยิ่งก็คือการมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

          “Lectures on Public Economics” เป็นผลงานสำคัญของเขาในปี 1980 โดยเขียนร่วมกับ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลชื่อก้องโลก Joseph. E. Stiglitz ผู้ซึ่งมีแนวคิดคล้ายคลึงกัน กล่าวคือความยากจนและความเหลื่อมล้ำสามารถแก้ไขได้โดยใช้นโยบายภาครัฐที่ปราศจากการครอบงำจากคนรวย ซึ่งมักใช้อำนาจในการรักษาสถานะของตนเองเสมอ

          ข้อเสนอแนะที่ก้าวหน้าและสุดโต่ง แต่กระตุ้นความคิดในโลกมากก็คือแนวคิดที่เรียกว่า Basic Income กล่าวคือสังคมควรสร้างความมั่นคงทางสังคมให้แก่ทุกคนโดยให้เงินแก่ประชาชนทุกคนเมื่อมีอายุครบ 18 ปี โดยภาครัฐหรือองค์กรสาธารณะที่มีกำไรเป็นผู้จ่ายโดยเพิ่มให้เหนือรายได้ประจำ ทั้งนี้เพื่อลดความยากจน ระบบนี้โปร่งใสและง่ายในการดำเนินงาน ถูกกว่าและมีประสิทธิภาพกว่าระบบสวัสดิการต่าง ๆ ที่มีอยู่หลากหลายและซับซ้อนจนในที่สุดไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ความคิดนี้มีรากมาจากแนวคิดในศตวรรษ ที่ 18

          แนวคิดหลักของ Sir Anthony ก็คือการเก็บภาษีจากคนรวยอย่างหนักเพื่อมาช่วยคนยากจนทั้งนี้เนื่องจากความรวยเหล่านี้ก็มักมาจากการเอาเปรียบคนยากจน ดังนั้นการเอากลับคืนมาจึงเป็นความชอบธรรม และช่วยแก้ไขความยากจนและความเหลื่อมล้ำไปในเวลาเดียวกัน

          ในสิ่งพิมพ์ชิ้นสุดท้ายของเขา “Monitoring Global Poverty (2016)” ซึ่งเป็นรายงานที่เขาเป็นประธานการศึกษาของธนาคารโลกได้ทิ้งคำถามที่ชัดเจนและแหลมคมเกี่ยวกับความยากจนของโลก อีกทั้งเป็นการวิเคราะห์ที่เข้มข้นโดยใช้ข้อมูลอย่างระมัดระวังจนเป็นที่กล่าวขวัญว่าเป็นรายงานที่ดีที่สุด ชิ้นหนึ่ง

          Sir Anthony อุทิศทั้งชีวิตให้แก่การลืมตาอ้าปากของคนธรรมดาทั่วโลกที่ยากจน และเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งหากทิ้งไว้โดยไม่แก้ไขอย่างจริงจังแล้วอาจนำไปสู่ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่ยากจะเยียวยาในอนาคต อีกบทบาทที่สำคัญของเขาในฐานะผู้ริเริ่มการศึกษาวิจัยแนวนี้ก็คือการเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิชาการได้ศึกษาวิจัยและติดตามอย่างลึกซึ้งและยั่งยืน ตลอดจนให้แนวทางในการกำหนดนโยบายที่มีการพิจารณาวิเคราะห์อย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ถูกทางและเกิดผลอย่างแท้จริง

          การจากไปของ Sir Anthony Atkinson เป็นเรื่องธรรมดาของวงจรชีวิตที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาก็คือการเป็นตัวอย่างของชีวิตที่มีความหมายโดยทิ้งมรดกในเรื่องสำคัญที่สุดของมนุษยชาติไว้ให้คนรุ่นหลังได้ขบคิดและสืบสานต่อไป

เข้าใจตนเองเพื่อการตัดสินใจ

วรากรณ์  สามโกเศศ
25 กรกฎาคม 2560

          มนุษย์ทั่วไปมักคิดว่าตนเองเป็นคนมีตรรกะ มีเหตุมีผล มีสติปัญญา มีประสบการณ์ และมีคุณธรรมพอที่จะตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ ได้อย่างถูกต้อง เราไม่อาจตำหนิการคิดเช่นนี้ได้ เพียงแต่ว่ามีงานศึกษาด้านจิตวิทยาที่พบว่าบ่อยครั้งที่มนุษย์โดยทั่วไปเข้าใจตนเองอย่างผิด ๆ หรือหลอกลวงตัวเอง อีกทั้งความคิดก็ขาดเหตุขาดผล การเข้าใจข้อบกพร่องของตนเองเช่นนี้จะช่วยให้ดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นและเป็นผู้บริหารที่ผิดพลาดน้อยลง

          ประการแรก มนุษย์ชอบที่จะตีความให้เห็นรูปแบบหรือแบบแผนจากสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีแบบแผน (random) ที่อยู่รอบตัวเอง พวกเล่นหวยเป็นคนประเภทนี้ ฝันอะไรก็ออกมาเป็นตัวเลขหมด (หากออกมาถูก ความฝันเรื่องนั้นก็เป็นสิ่งวิเศษไป) นอกจากนี้บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นอิสระก็มีการเอามาโยงใยกันเป็นเรื่องราวขึ้น (เห็นรถถังเคลื่อนที่ก็ทึกทักว่าจะมีปฏิวัติ) เห็นดาวตกก็เป็น เรื่องใหญ่ เห็นตัวเงินตัวทองเป็นสิ่งบอกลางไม่ดี ฯลฯ

          การเกิดขึ้นอย่างไม่มีแบบแผน ของเหตุการณ์อาจสื่อความเป็นรูปแบบหรือแบบแผนได้แต่ต้องใช้วิชาการโดยเฉพาะทางสถิติ แต่ไม่ใช่ใช้การสังเกตหรือความเชื่อ ความศรัทธา ความจริงข้อนี้เป็นข้อมูลที่สำคัญยิ่งสำหรับการตัดสินใจ

          ประการที่สอง ถ้าถามใครสักคนว่าชอบเพลงหรือภาพยนตร์เรื่องใดเป็นพิเศษและขอคำอธิบายด้วยว่าเพราะเหตุใด ถึงแม้จะเป็นคำถามที่ยากแต่ทุกคนจะพยายามให้คำตอบซึ่งส่วนใหญ่แล้วคำอธิบายนั้นจะเป็นสิ่งที่เพิ่งแต่งขึ้นมา งานวิจัยพบว่าเมื่อเราพยายามอธิบายอารมณ์และความรู้สึกของเรา เรามัก “แต่งเรื่อง” โดยหาเหตุผลอธิบายความรู้สึกและการตัดสินใจว่าเหตุใดเราจึงชอบ เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมนุษย์มักจำความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นได้แต่ละเลยการจำรายละเอียดของสิ่งที่เกิดขึ้น

          เหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นสมองเราจะบันทึกจดจำความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษโดยมองข้ามสิ่งที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่นใครที่พูดอะไรที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจเรา เราจะจำความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้และมักเอาไปผูกพันกับคนที่พูดจนเรามีความรู้สึกนั้น ๆ กับตัวคนพูดไปด้วยโดยจำไม่ได้ชัด ๆ ว่าพูดว่าอะไร

          เราอาจเคยได้ยินบางคนเล่าเรื่องในอดีตสองสามครั้งที่ขัดแย้งกันราวกับเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น แท้จริงแล้วมันเป็นธรรมชาติเพราะไม่มีใครจำสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตได้ครบถ้วน เราจะจำได้เป็นส่วน ๆ และเมื่อต้องมานึกทบทวน สมองก็จะทำหน้าที่เพิ่มรายละเอียดให้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นอย่างไม่ตั้งใจเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของความทรงจำ ความจริงข้อนี้สำคัญมากสำหรับพนักงานสอบสวนเพราะ พยาน จำเลย หรือแม้แต่โจทก์ มิได้ตั้งใจให้การเท็จแต่การให้การขัดกันนั้นอาจเกิดขึ้นเพราะสมอง “แต่งเรื่อง” เพื่อเชื่อมต่อสิ่งที่จำได้เป็นส่วน ๆ อย่างไม่ตรงกันในคำให้การที่ต่างเวลากัน อุทาหรณ์ในเรื่องนี้ก็คือเราไม่ควรไว้ใจความจำของเรามากเกินไป เพราะมันอาจทำให้เราหลอกลวงตัวเราเองได้อย่างไม่ตั้งใจ

          ประการที่สาม มีความเป็นไปได้สูงที่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าความเห็นของตนเองนั้นเกิดขึ้นจากประสบการณ์อันยาวนาน และจากการวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล แต่ความจริงที่พบจากงานศึกษาก็คือความเห็นเรานั้นถูกกำหนดขึ้นมานานแล้ว มิได้เกิดขึ้นใหม่จากข้อมูลและการคิดวิเคราะห์ใหม่เนื่องจากเราให้ความสนใจแต่เฉพาะสารสนเทศซึ่งยืนยันสิ่งที่เราเชื่ออยู่แล้ว พูดสั้น ๆ ก็คือมนุษย์ทั่วไปมีลักษณะที่เรียกว่า confirmation biased กล่าวคือเอนเอียงไปทางรับฟังสิ่งที่ยืนยันความเห็นเดิม

          งานวิจัยพบว่าบุคคลมักใช้เวลาในการอ่านข้อเขียนที่ตรงกับความเห็นที่มีอยู่แล้วของตนมากกว่าความเห็นอื่น ๆ โดยเฉพาะที่ตรงข้ามกับความเห็นของตน พูดง่าย ๆ ก็คือเรามองหาคำยืนยันมากกว่าข้อมูลหรือสารสนเทศ แม้แต่ความทรงจำของเราก็เหมือนกัน เรามักชอบย้อนกลับไปนึกถึงเหตุการณ์ซึ่งสนับสนุนความเชื่อของเรา และลืมเหตุการณ์อื่นที่ขัดแย้งมันเสียสิ้น

          ถ้าเราไม่ตระหนักถึงความเอนเอียงนี้โดยธรรมชาติของเราแล้ว เราอาจตกลงไปอยู่ในกับดักของคิดเดิม ๆ ที่อาจผิดพลาดและไม่มีอะไรใหม่ได้ ลองนึกดูว่าท่านอยู่ในไลน์กรุ๊ปของกลุ่มเพื่อนที่มีความเชื่อและความคิดแบบเดียวกับท่านหรือไม่ ไม่ชอบอ่านหรือรับฟัง หรือคิดอะไรที่ต่างออกไปจากที่กลุ่มของท่านเชื่อถือหรือศรัทธาหรือไม่

          ประการที่สี่ หากมนุษย์ไม่มีความเชื่อมั่นในความสำคัญของตนเอง (self-esteem) แล้ว คงดำเนินชีวิตในแต่ละวันได้ด้วยความยากลำบาก ดังนั้นมนุษย์จึงมักบ่มเพาะมันในทุกโอกาส

          กลยุทธ์แรกที่มนุษย์ทั่วไปชอบใช้ในการรักษาไว้ซึ่ง self-esteem ก็คือการรู้สึกในใจว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นมาจากเราคนเดียว และโทษความล้มเหลวว่ามาจากปัจจัยภายนอก กลยุทธ์ที่สองก็คือให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดแก่ความสำเร็จของตนเองและความล้มเหลวของคนอื่น ทั้งนี้เพื่อเอามาเพิ่มพูน self-esteem ของตนเอง งานศึกษาพบว่าโดยเฉลี่ยคนจำนวนมากคิดว่าตนเองทำงาน เก่งกว่า มีจริยธรรมอันสูงส่งกว่า และฉลาดกว่าเพื่อนร่วมงาน

          ในการรักษา self-esteem ของตนเอง มนุษย์ชอบใช้กลยุทธ์ที่สามซึ่งมีชื่อเรียกว่า “self-handicapping” กล่าวคือมีข้อแก้ตัวไว้ล่วงหน้าสำหรับความล้มเหลวที่จินตนาการว่าอาจเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกเลวร้ายเกี่ยวกับตนเองเมื่อความล้มเหลวนั้นเกิดขึ้นจริง

          ข้อสรุปนี้ใช้การทดลองในห้องแล็บ อาสาสมัครต้องทำข้อสอบที่ยากมาก แต่หลังการสอบแล้วมีคำประกาศว่าทุกคนจะได้คะแนนเต็มไม่ว่าทำข้อสอบได้ดีหรือไม่ก็ตาม หลังจากนั้นก็มีข้อเสนอให้เลือกกินยาที่จะทำให้เพิ่มหรือลดความสามารถในการทำข้อสอบครั้งต่อไป ผลปรากฏว่าคนส่วนใหญ่เลือกยาที่ลดความสามารถซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ต้องการปกป้อง self-esteem ซึ่งเพิ่งได้รับเพิ่มมาด้วยการสร้างสถานการณ์ล่วงหน้าเพื่อใช้เป็นข้อแก้ตัวในอนาคตหากทำสอบไม่ได้ดี

          มนุษย์ส่วนใหญ่มิได้มีเหตุมีผลและไม่ได้มีลักษณะบางอย่างดังที่ตนเองเข้าใจ การเข้าใจประเด็นข้อจำกัดเหล่านี้จะช่วยให้เกิดความตระหนักในการตัดสินใจอย่างรอบคอบและระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

          มนุษย์เกือบทุกคนเป็นเช่นนี้ ถ้าท่านต้องการเป็นข้อยกเว้นก็ต้องฝึกฝนคัดค้านธรรมชาติ ถ้าท่านเพียงประกาศยืนยันว่าตนเองคือข้อยกเว้นอย่างหนักแน่น ท่านก็คือหลักฐานสนับสนุนสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด (ข้อมูลได้มาจาก David McRaney, “You Are Not So Smart” (2011)

ขัดแย้งมรดกทำร้ายสิงคโปร์

วรากรณ์  สามโกเศศ
27 มิถุนายน 2560

          เมื่อวันพุธที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา คนสิงคโปร์ช็อคกับข้อความยาวใน facebook ซึ่งเป็นแถลงการณ์ของน้อง 2 คนในตระกูลลีของนายกรัฐมนตรี Lee Hsien Loong (LHL) ถล่มพี่ชายจนหน้าแตกแบบหมอปฏิเสธเย็บ คอลัมน์นี้ไม่ใช่ “ลัดดา” ซุบซิบ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้มีประเด็นให้คิด

          คนสิงคโปร์ไม่คุ้นกับการเปิดเผยข้อมูลหรือการวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวของ Lee Kuan Yew (LKY) แล้วแทบไม่มี ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นคนสิงคโปร์จึงจับตามองจอสมาร์ทโฟน และก็ไม่ผิดหวังเพราะนายกรัฐมนตรี (LHL) ผู้พี่ก็ออกแถลงการณ์ด้วยข้อความและเอกสารยาวเช่นกัน ฝ่ายน้องชายและน้องหญิงก็โต้กลับไปมาบน social media จนเป็นที่สนุกสนานของพวกปากหอยปากปูเป็นอันมาก

          ลีกวนยู มีลูก 3 คน คนโตเป็นชาย คือ LHL เป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2004 LHL มีลูกรวม 4 คน ภรรยาคนแรกมีลูกสาวและลูกชายแต่เสียชีวิตเพราะหัวใจล้มเหลวหลังจากคลอดลูกชายได้ไม่นาน ตอนอายุ 33 ปี LHL ก็แต่งงานใหม่กับข้าราชการดารรุ่งชื่อ Ho Ching มีลูกชายด้วยกัน 2 คน ปัจจุบัน LHL มีอายุ 65 ปี ต่อสู้เอาชนะโรคมะเร็งมาได้สองครั้งคือในทศวรรษ 1990 และ ปี 2015

          ลูกคนที่สองเป็นหญิง ชื่อ Lee Wei Ling (LWL) เป็นหมออายุ 62 ปีมีสถานะโสด ในอดีตพบรักแต่พ่อไม่ยอมรับจึงหนีไปอยู่อังกฤษด้วยกัน ลีกวนยูโกรธมากสั่งห้ามเข้าสิงคโปร์ เมื่อเลิกกับแฟนก็กลับเข้าประเทศไม่ได้จนแม่ต้องช่วยเจรจา เธอเป็นนักเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ ดูจะเป็นคน “แรง” สักหน่อยในพี่น้อง 3 คน เธอเคยเป็นผู้อำนวยการ The Institute of National Neuroscience สื่อกล่าวว่าเธอปล่อยเนื้อปล่อยตัวไม่แต่งตัว ไม่แต่งหน้า และเมื่อกินยาเพราะมีโรคประจำตัว เธอจึงดูโทรมกว่าอายุเอามาก ๆ

          ลูกคนที่สามเป็นชาย ชื่อ Lee Hsien Yang (LHY) อายุ 60 ปี อดีตเป็นนายพลในกองทัพเหมือนพี่ชาย ปัจจุบันเป็น CEO ของ Sing Tel และอีกหลายตำแหน่ง ภรรยาเป็น นักกฎหมาย ชื่อ Lee Suet Fern เป็นลูกสาวของปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่ NUS ชื่อ Lim Chong Yah (นานมาแล้วผู้เขียนไปงานเลี้ยงที่บ้าน และเห็นรูปถ่ายจึงรู้ว่าลูกสาวเป็นสะใภ้ของครอบครัวนี้)

          ประเด็นของข้อขัดแย้งตามที่อ้างในสาธารณะของฝ่ายน้อง 2 คน ที่จับมือกันแน่นก็คือพินัยกรรมของพ่อ (LKY) ระบุว่าให้รื้อบ้านเลขที่ 38 Oxley Street ให้หมดเพราะต้องการให้สอดคล้องกับ ความประสงค์ของพ่อที่ไม่ต้องการให้มีอนุสรณ์สถาน รูปปั้น พิพิธภัณฑ์ หรือสิ่งบูชาใด ๆ ที่เกี่ยวกับตัวเขาเพื่อให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่อย่างเด็ดขาด เพราะผลงานนั้นปรากฏชัดแล้วในสิ่งที่ประเทศเป็นอยู่และประชาชนได้รับ

          น้อง 2 คน โจมตีพี่ชายว่าไม่ยอมรื้อเพราะต้องการเก็บไว้เป็น “ทุน” สำหรับการเชิดชูพ่ออันจะเป็นประโยชน์ทางการเมือง นับว่าเป็นสิ่งเห็นแก่ตัว ลุแก่อำนาจ ไม่น่าไว้วางใจ ไม่น่าเชื่อถือ ขนาดกับน้องยังทำได้อย่างนี้และกับประชาชนสิงคโปร์จะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังถูก “ข่มขู่” จนน้องชายคิดจะออกไปอยู่นอกประเทศ อีกทั้งพาดพิงไปทางลบถึง Ho Ching ภรรยาซึ่งมีหน้าที่ใหญ่โต เป็น CEO ของ Temasek อีกด้วย และอ้างว่าพี่ชายมีแผนที่จะสนับสนุนลูกชายให้สืบทอดเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป พูดง่าย ๆ ก็คืออัดพี่ชายเสียเละไม่มีชิ้นดี

          รุ่งขึ้นพี่ชาย (LHL) ก็ปล่อยเอกสารที่ให้การกับคณะกรรมการที่รัฐได้ตั้งขึ้นพิจารณาว่าสมควรรื้อบ้านหลังนี้หรือไม่และกำลังพิจารณาอยู่ ในเอกสารยาวระบุชัดเจนและก็เป็นไปตามที่คนสิงคโปร์คาดเดากันกล่าวคือ มันน่าจะเกี่ยวพันกับสิ่งอื่นมากกว่าแค่ “รื้อ” หรือ “ไม่รื้อ” บ้านเท่านั้น

          LHL บอกว่าพ่อซึ่งถึงแก่อนิจกรรมในปี 2015 เมื่อมีอายุ 91 ปี ในปีที่สิงคโปร์ฉลองเอกราชย์ครบ 50 ปี มีพินัยกรรมถึง 7 ฉบับ แก้กันไปแก้กันมา หนักที่สุดก็ในช่วงปี 2011 ถึงก่อนเสียชีวิต ตัวเขาเองเห็นแค่ 6 ฉบับคือฉบับปี 2013 เมื่อพ่อเสียชีวิตแล้วจึงรู้ว่ามีฉบับที่ 7 ซึ่งระบุให้รื้อบ้าน (ไม่มีข้อความให้รื้อใน 2 ฉบับก่อนหน้า) และให้น้องสาวได้มรดกเพิ่มขึ้นอีก 1/7 เมื่อ อ่านดูละเอียดแล้ว ทุกสิ่งที่กล่าวถึงน่าจะเป็นความจริงเพราะเป็นข้อมูลทางการที่นายกรัฐมนตรีมอบให้แก่คณะกรรมการ

          ข้อมูลระบุว่าในช่วงหลังจากที่แม่ (Kwa Geok Choo) เสียชีวิตในปี 2010 ลูก ๆ ก็ผลัดกันไปหาพ่อ รบเร้าหลายเรื่อง เรื่องสำคัญก็คือการรื้อบ้าน มีหลักฐานว่าพินัยกรรมถูกแก้กลับไปมาหลังจากที่ลูกแต่ละคนไปหาและโน้มน้าวได้สำเร็จ

          ประเด็นสำคัญของการรื้อบ้านก็คือ จะทำให้เหลือแต่ที่ดินซึ่งสามารถเอาไปขายได้ซึ่งมูลค่าปัจจุบันอาจถึง 30-40 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (700-1,000ล้านบาท) เพราะอยู่ใกล้กับ Orchard Road แหล่งค้าขายสำคัญ นายกรัฐมนตรีบอกว่าต้องการให้เก็บไว้เพราะจะได้ไม่สามารถขายให้แก่ธุรกิจได้เพราะไม่ต้องการให้ครอบครัวหาประโยชน์จากความมีชื่อเสียงของพ่อ ตราบที่ไม่มีการรื้อบ้านก็ขายที่ดินกันไม่ได้เพราะเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ (บ้านหลังนี้ ลีกวนยู อยู่มาตลอดชีวิตตั้งแต่ทศวรรษ 1940 เป็นบ้านที่แสนธรรมดาที่สุด) หากรัฐจะซื้อมาก็เป็นที่ชัดเจนว่าพี่น้องจะรับเงินไปทั้งหมดโดยไม่บริจาคก้อนใหญ่ให้แก่การกุศลนั้นเป็นไม่ได้

          เมื่อพิจารณาเรื่องนี้แล้วจึงเห็นว่ามันเป็นเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ เหมือนครอบครัวธรรมดาทั่วไปที่ขาดธรรมะในใจ ที่น่าเสียดายก็คือมันเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่สมควรนำมาทะเลาะกันในสาธารณะ จนมีผลกระทบต่อมรดกแห่งความยิ่งใหญ่ที่ลีกวนยูได้ทิ้งไว้ให้แก่สิงคโปร์และโลก

          เพื่อให้เรื่องนี้จบ นายกรัฐมนตรีสั่งให้เปิดสภาซักถามกันให้เต็มที่ในวันที่ 3 กรกฎาคม นี้ ตนเองพร้อมจะตอบทุกอย่างเพราะเรื่องนี้ผูกพันกับชื่อเสียงและเกียรติภูมิของ ชาวสิงคโปร์

          แง่คิดในเรื่องนี้ก็คือถ้าไม่มี social media เรื่องก็คงไม่เป็นไฟลามทุ่งดังที่เกิดขึ้น เป็นแน่ จนเกิดความเสียหายแก่ภาพพจน์ของครอบครัวหนึ่งอันเกรียงไกรของโลกเพราะได้รับการศึกษา ดีมากทุกคน ทำงานทำการอย่างแข็งขัน ไม่มีคนใดทั้งลูกและสะใภ้ที่เกเร ทุกคนมุ่งสนับสนุนเกียรติภูมิของปู่ และชื่อเสียงของสิงคโปร์

          สิงคโปร์เสียชื่อในด้าน brand control เพราะแต่ไหนแต่ไรสิงคโปร์มี brand ในด้านประสิทธิภาพ ความสมาร์ท ความสามรถในการ”จัดการได้” และควบคุมได้อย่างดีมายาวนาน มาครั้งนี้ความสามารถในด้านนี้ลดลงไปอย่างช่วยอะไรไม่ได้

          คนที่น่าสงสารที่สุดคือลีกวนยู ในตอนอายุ 88-90 ปี ก่อนเสียชีวิตต้องปวดหัวกับเรื่องมรดกที่ลูกหลานนำมารบเร้าให้แก้ไขพินัยกรรม และร้ายกว่านั้นก็คือไม่เป็นการยุติธรรมเลยที่ตนเองต้องเสียเกียรติภูมิเพราะลูก ๆ หลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว

เก็บภาษีจากหุ่นยนต์

วรากรณ์  สามโกเศศ
7 มีนาคม 2560

          มนุษย์เราจำเป็นต้องใช้สมองซึ่งหมายถึงการใช้ความคิด เรียนรู้สิ่งใหม่ โดยเฉพาะมีประสบการณ์กับสิ่งซึ่งแปลกไปจากที่คุ้นเคยเพื่อรักษาเฃลล์สมองที่งอกขึ้นทุกวันในทุกวัย ถ้าผู้เขียนบอกว่า “หุ่นยนต์ สมควรถูกเก็บภาษี” คงจะเป็นประโยชน์ต่อสมองของท่านผู้อ่านเป็นแน่

          ข้อเสนอให้เก็บภาษีจากหุ่นยนต์นั้นมีจริง และเสนอแนะโดยผู้น่าเชื่อถือในระดับโลกเสียด้วย ในการให้สัมภาษณ์นิตยสารออนไลน์ Quartz เมื่อเร็ว ๆ นี้ Bill Gates พูดถึงความกังวลของสังคมในการจัดการกับ automation ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่ง ( automation หมายถึงระบบหรือกระบวนการที่ให้เครื่องมือหรือเครื่องจักรทำงานโดยอัตโนมัติซึ่งหุ่นยนต์คือเรื่องใหญ่ของ automation)

          Bill Gates บอกว่าเพื่อถ่วงเวลาให้หุ่นยนต์แพร่ระบาดในสังคมเราช้าลง ไม่รวดเร็วจนไม่สามารถจัดการกับมันได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะนำไปสู่วิกฤตของสังคม รัฐบาลควรพิจารณาเก็บภาษีจากหุ่นยนต์

          เมื่อได้ยินดังนี้สมองคนส่วนใหญ่ก็จะทำงานทันที “จะบ้าหรืออย่างไร หุ่นยนต์ไม่ใช่คนนะจะได้เก็บภาษี” “มันเป็นเครื่องจักรที่มีประโยชน์จะเอาภาษีไปยุ่งอะไรกับมัน” “ถ้าทำอย่างนี้อีกนานสิกว่าผมจะมีโอกาสเป็นเจ้าของเจียเจีย” (เจียเจียคือชื่อของหุ่นยนต์สาวสวยหุ่นดีของจีนที่เหมือนคนมาก ทราบว่าจะมาโชว์ตัวในไทยอีกไม่นานนี้)

          อย่าลืมว่ารถยนต์ โทรทัศน์ ตู้เย็น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ฯลฯ ก็ล้วนถูกเก็บภาษีทั้งนั้น ถึงจะไม่ใช่คนก็ตาม แล้วทำไมหุ่นยนต์ (ถ้าสมควร) จะถูกเก็บภาษีไม่ได้ มันก็เหมือนเครื่องจักรชิ้นหนึ่งที่ทำงานโดยอัตโนมัติโดยไม่จำเป็นต้องมีร่างเหมือนคน อาจอยู่ในรูปของเครื่องจักรที่ทำงานโดยตัวของมันเอง เช่น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องจักรผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ฯลฯ ภาษีนั้นอยู่ทุกแห่งหน เป็นปกติ โลกเรามีความแน่นอนอยู่สองอย่างคือความตายและเสียภาษี

          หากจะว่าไปแล้ว หุ่นยนต์อาจเป็นอัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติก็ได้ อาจเป็น humanoids (ตัวอย่างคือ ASIMO ของ Honda ที่เดินเคลื่อนไหวร่างกายได้) drones บินอยู่ในอากาศ De Vinci ซึ่งเป็นชื่อของหุ่นยนตร์ผ่าตัด หุ่นยนต์ที่มีหน้าตาเหมือนมนุษย์ ฯลฯ

          เหตุที่เริ่มมีความกังวัลกันก็คือการพัฒนาของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือความฉลาดที่มนุษย์ประดิษฐ์ใส่ไปในเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์นั้นไปไกลมากจนมันอาจฉลาด สามารถคิดเองได้ตามแนวของมัน ต่อไปมนุษย์จะไม่สามารถควบคุมได้ (ตอนนี้การแปลข้ามภาษาก็ทำได้ดีมาก การเล่นเกมส์ต่าง ๆ มันชนะมนุษย์ได้หมด การแปลภาษาพูดเป็นภาษาเขียนก็ไปไกล) และประการสำคัญมันจะแย่งงานมนุษย์ จนเกิดการว่างงานขนานใหญ่เกิดผลเสียทางสังคม

          มีการพยากรณ์ว่าใน 20 ปี ข้างหน้า แรงงานในสหรัฐอเมริกาไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งจะถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์ (เศรษฐกิจอเมริกันนั้นใหญ่อันดับ 1 ของโลก ผลิต GDP ประมาณ 1 ใน 4 ของ GDP โลก) ซึ่งถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่ากลัวมาก

          การเกิดและแพร่กระจายของหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแล้วทั่วโลก ในบ้านเราการปลดคนงานเป็นร้อยคนของโรงงานผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ตลอดจนการใช้รถตัดอ้อย เครื่องนวดข้าว รถไถนา รถแทรกเตอร์ ฯลฯ ล้วนส่อให้เห็นความเป็น automation ที่มากยิ่งขึ้น

          ในความเห็นของ Bill Gates การทดแทนแรงงานอย่างรวดเร็วของหุ่นยนต์ก่อให้เกิดปัญหาต่อสังคมเฉกเช่นเดียวกับคนสูบบุหรี่ ขับรถเร็ว การปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ การปล่อยควันเผาไหม้ของโรงงานหรือรถยนต์ การดูดน้ำบาดาลจนทำให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดิน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดสิ่งที่เศรษฐศาสตร์เรียกว่าผลกระทบภายนอกที่เป็นลบ (negative externality) กล่าวคือเกิดผลกระทบต่อคนอื่นโดยเขาไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งซึ่งไม่พึงปรารถนา

          รัฐบาลมีหน้าที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นน้อยที่สุดหรือเยียวยาด้วยการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น กฎหมาย กฎระเบียบ และที่สำคัญคือภาษี เพื่อทำให้การกระทำเหล่านี้มีต้นทุนสูงขึ้นอย่างจงใจจนมีการกระทำน้อยลง

          Bill Gates บอกว่าในกรณีของหุ่นยนต์ การเก็บภาษีตอนติดตั้งหรือตอนเกิดกำไรจากการใช้หุ่นยนต์ (อันเนื่องมาจากมีต้นทุนต่ำลงเพราะไม่ต้องใช้คน) จะทำให้ต้นทุนของการใช้หุ่นยนต์สูงขึ้น ผู้ประกอบการก็จะไตร่ตรองไม่รีบนำมาใช้ ส่วนรายได้จากภาษีก็จะนำมาเยียวยาบำบัดแรงงานที่ถูกทดแทน

          ข้อเสนอของ Bill Gates นั้นช่วยกระตุ้นเซลล์สมองได้เป็นอย่างดีเพราะตรงข้ามกับความเชื่อในทางวิชาการเพราะหุ่นยนต์เป็น capital investment ที่สำคัญ ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจผลิตได้มากขึ้นด้วยการใช้วัตถุดิบเท่าเดิม หัวใจสำคัญของการสร้างความกินดีอยูดีของทุกสังคมอยู่ที่การเพิ่มขึ้นของ ผลิตภาพ (productivity) หรือปริมาณผลผลิตต่อหนึ่งหน่วยวัตถุดิบ หุ่นยนต์มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพ ดังนั้นจึงสมควรส่งเสริม ไม่ควรปิดกั้นด้วยการเก็บภาษี ซึ่งจะทำให้เกิดขึ้นได้ยากขึ้น

          คนงานหนึ่งคนเคาะขันได้วันละ 10 ใบ ถ้าใช้เครื่องจักรในการขึ้นรูปก็จะช่วยทำให้ผลิตได้ วันละ 20ใบ เช่นนี้คือการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพ วัตถุดิบคือแรงงานก็หนึ่งคนเหมือนเดิม ค่าแรงก็ เท่าเดิมแต่ผลิตได้มากขึ้นในแต่ละวัน ในด้านเศรษกิจ ถ้าแต่ละคนสามารถผลิตได้มากขึ้นต่อวัตถุดิบหนึ่งหน่วย(ผลิตภาพเพิ่มขึ้น ) ผลผลิตของทั้งประเทศก็จะเพิ่มขึ้น และกลายเป็นรายได้รวมของประเทศเพิ่มขึ้น

          ข้อแตกต่างระหว่างความเห็นของ Bill Gates กับคนทั่วไปในเรื่องนี้ก็คือเขากังวลเรื่องผลเสียทางสังคมจากการว่างงาน ในขณะที่คนทั่วไปอาจเถียงว่าเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ว่างงาน(หากฝึกฝนทักษะใหม่หลายคนก็มีงานใหม่ทำ)แต่คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ อีกทั้งอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ก็เป็นตัวสร้างงานที่สำคัญในอนาคตอีกเช่นกัน

          ในความเห็นของผู้เขียน ไม่มีใครสามารถหยุดการแพร่กระจายของหุ่นยนต์ได้แล้วในปัจจุบัน เพราะมันเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าในด้านการแพทย์ (ผ่าตัด ตรวจหรือรักษา) ด้านการบันเทิง ด้านอุตสาหกรรม ภาคบริการ ด้านความมั่นคง ด้านการดำรงชีวิต ฯลฯ

          การเก็บภาษีไม่น่าจะชะลอได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ยกเว้นแต่จะเก็บในระดับสาหัสเท่านั้น การเลียนแบบกันข้ามสังคมอย่างรวดเร็วในยุคสังคมออนไลน์ และการคาดหวังของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งในทุกสังคม เป็นตัวผลักดันสำคัญที่สำคัญในการใช้หุ่นยนต์

          เซลล์สมองไม่รู้ว่าตัวของมันเองอยู่ในสมองของใคร ถ้ามันได้รับการดูแลผ่านการกระตุ้นความคิดในแต่ละวัน มันก็จะอยู่ในสภาพที่เสื่อมสลายช้าลง ถ้าบังเอิญเจ้าของเป็นคนดีมีประโยชน์ ต่อโลก ไอเดียของ Bill Gate ก็นับได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความหมายไม่น้อย

การฝึกฝนทักษะและสถาบันอุดมศึกษา

วรากรณ์  สามโกเศศ
11 เมษายน 2560

         คนรุ่นหนุ่มสาวปัจจุบันคงหวาดหวั่นและมึน ๆ กับคำพยากรณ์ว่าโลกในอนาคตจะต้องการคนมีความรู้และทักษะที่ผิดไปจากปัจจุบันพอสมควร อย่างไรก็ดีอย่าว่าแต่คนรุ่นนี้เลย คนมีอายุมากกว่าก็รู้สึกแบบเดียวกัน เราจะทำอย่างไรกันดีสำหรับสังคมไทยของเรา

          ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงเรื่องความรู้มากนัก แต่จะตีวงให้แคบลงในเรื่องทักษะในเรื่องการทำงานที่จะทำให้ชีวิตอยู่รอดและอยู่ดีในอนาคต

          ทักษะแตกต่างจากความรู้ ทักษะคือความสามารถในการกระทำบางสิ่ง เช่น ปีนต้นไม้ ใช้คอมพิวเตอร์เป็น ใช้สมาร์ทโฟนเป็น โกนหนวดสิงห์โตได้ ปลูกต้นไม้ใหญ่ที่ ขุดมาจากนา ซ่อมรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ได้ ฯลฯ

          ส่วนความรู้คือการรู้ข้อมูลสารสนเทศ ข้อเท็จจริง เข้าใจกฎเกณฑ์ทฤษฎี รู้ภาษาต่างประเทศ (ความรู้นี้ต้องปนกับทักษะในการพูด การฟัง การเขียน จึงจะสมบูรณ์) ตระหนักหรือคุ้นเคยกับประสบการณ์หรือสถานการณ์ (เช่นรู้ว่าแผ่นดินไหวจะทำตัวอย่างไร)

          ในโลกที่เรียกกันว่า VUCA คือ V-volatility ฟุ้งกระจายจนคาดคะเนไม่ได้ U-uncertainty ไม่แน่นอน / C-complexity ซับซ้อน / A-ambiguity กำกวมนั้น การบอกว่าทักษะใดที่จำเป็นต่อคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องยากเนื่องจากสถานการณ์แปรเปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การแสวงหากำไรจากเทคโนโลยี การยอมรับเทคโนโลยีของผู้บริโภค สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สภาวการณ์ใช้พลังงานของโลก ฯลฯ

          อย่างไรก็ดีในระดับที่กว้างที่สุด โลกใน10-20 ปีข้างหน้าต้องการคนมีทักษะ (ความรู้พื้นฐานในเรื่องเลข อ่านและเขียนได้แตกฉานต้องมีอยู่แล้ว) ในเรื่องดังต่อไปนี้

          (1) คิดเป็น กล่าวคือเข้าใจสถานการณ์ที่ตนเองเป็นอยู่ คาดคะเนได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น รู้จักแก้ไขสถานการณ์ และเรียนรู้จากสถานการณ์หรือประสบการณ์นั้น ๆ (รู้ว่าตนเองอยู่ในความรัก และมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดต่อการมีความทุกข์จากความรัก คาดคะเนได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต เตรียมแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต เช่น เลิกกัน และถ้าจะเลิกกัน จะเรียนรู้สิ่งใดจากประสบการณ์ครั้งนี้

          ในเรื่องงานก็คือเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันว่าตนเองขาดทักษะใด คาดคะเนได้ว่าตลาดต้องการทักษะชนิดใด เตรียมตัวเรียนรู้ทักษะนั้น ๆ ไว้เพื่อป้องกันการตกงาน และค้นหาว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรบ้างจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องการทักษะใหม่ ๆ

          การคิดเป็นเป็นทักษะสำคัญยิ่งสำหรับคนที่ต้องการความกินดีอยู่ดี มีความสุขโดยไม่ใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตตกปลักอยู่ในนานาปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ประมาทจนละเลยการสร้างสมหลากหลายทักษะ

          (2) ทักษะด้าน IT ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิตอลมากยิ่งขึ้นในอนาคตของทั้งโลกการงานและโลกส่วนตัว การสร้างทักษะในการใช้ IT เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน การเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะ IT มีหลายระดับ และงานที่มีให้ทำก็มีหลายระดับและหลากชนิด ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลกับการไม่สามารถเป็นกูรูด้าน IT

          (3) ทักษะด้านมนุษย์ ในโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์ใน รูปแบบเดิม เช่น พูดคุยด้วยวาจา สบตาทักทาย สังเกตความรู้สึกซึ่งกันและกัน รักใคร่ชอบพอกันผ่านการสื่อสารด้วยวาจาและภาษากาย ฯลฯ กำลังหดหายไป คนที่มีทักษะในความเป็นมนุษย์สูง กล่าวคือ สามารถทำให้คนอื่นชอบตนเองได้ สามารถสื่อสารเพื่อโน้มน้าวให้คนอื่นทำตามความประสงค์ของตนเองได้ สามารถเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นได้ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ตลอดจนมีวินัยในการบังคับใจตนเอง ฯลฯ จะอยู่ได้ดีในอนาคต

          ทักษะข้างต้นเมื่อผสมปนเปกับความรู้พื้นฐาน ความรู้ตามวิชาชีพ และหากบวกเอาการมีทัศนคติในชีวิตที่เหมาะสมเข้าด้วยแล้ว (มองโลกเป็นบวก ความสัมพันธ์กับมนุษย์ผู้อื่นเป็นไปในแนวนอนไม่ใช่แนวตั้ง การตื่นตัวในการเรียนรู้ การตั้งใจเป็นคนมีจริยธรรมและเมตตาธรรม ฯลฯ) ก็เชื่อได้ว่าจะทำให้อยู่ได้ดีท่ามกลางความผันผวน

          เมื่อมีฝั่งดีมานด์คือความต้องการแล้ว คำถามต่อไปก็คือแล้วจะหาฝั่งสัพพลายหรือ ผู้สนองตอบมาจากไหน คำตอบก็คือจากสถานศึกษาทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นทั้งสมองและแขนขาของสังคม สิ่งที่หน่วยงานเหล่านี้ควรทำก็คือ

          เปิดอบรมหลักสูตรระยะสั้นในหลากหลายเรื่อง ไม่ว่า IT ขั้นพื้นฐาน / coding หรือเขียนโปรแกรม / การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปที่สำคัญ / การใช้สมาร์ทโฟนให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต / อบรมผู้ประกอบการ SME’s ให้เข้าสู่โลกค้าขายออนไลน์ / การใช้ IT ในธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ตลอดจนการเกษตร การดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ

          สถาบันอุดมศึกษาของรัฐมีสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรที่มาจากเงินภาษีอากรของประชาชนอยู่แล้ว จึงมีความพร้อมกว่าทุกหน่วยงานในการสนองตอบ หากมีการวางแผน จัดสรรงบประมาณ และการประสานงานที่ดีว่าแห่งใดจะเน้นทักษะใด ในระดับใดโดยสร้างหลักสูตรต้นแบบสำหรับประชาชน (ยังมีอีกมากมายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี และบริหารจัดการที่สมควรจัด เช่น เรื่องของ logistics / hospitality ที่กินความกว้างขวางตั้งแต่ท่องเที่ยวจนถึงบริการ หย่อนใจ / การซ่อมแซมดูแลเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ การติดตั้งเครื่องโทรทัศน์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ฯลฯ)

          ท่ามกลางจำนวนนักศึกษาที่ลดน้อยลง งานให้บริการประชาชนผ่านการฝึกอบรมครั้งใหญ่อย่างกว้างขวางในหลาย ๆ ทักษะเช่นนี้ คือเส้นทางที่เหมาะสมในการใช้ทรัพยากรของรัฐที่ได้จัดสรรให้มาเป็นเวลายาวนาน

          การใช้เวลาและแรงงานในการให้บริการอบรมประชาชนที่ต้องการปรับตัวไม่ให้ตกงานและมีโอกาสใหม่นั้นดีกว่าการเล่นการเมืองในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระ อย่าลืมว่าภาษีอากรของประชาชนมูลค่ามหาศาลที่เสียสละให้สถาบัน

          อุดมศึกษานั้น สามารถเลือกเอาไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ แต่ก็ไม่ได้ทำเช่นนั้นเพราะคาดหวังว่าจะเป็นที่พึ่งได้ โอกาสนี้แหละคือการแสดงออกของความรับผิดชอบและการเป็นที่พึ่งได้ของประชาชน

Street Data สู้ผักชี

วรากรณ์  สามโกเศศ
19 มิถุนายน 2560

          ข้อมูลเป็นวัตถุดิบที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการตัดสินใจและความสำเร็จของเป้าหมาย นโปเลียน โบนาปาร์ต นักรบผู้ยิ่งใหญ่เคยบอกว่า “War is ninety percent information.” อย่างไรก็ดีข้อมูลมีหลายระดับ ข้อมูลจากระดับล่างสุด คือ street data เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยถ้าหากต้องการ “ชนะ”

          โลกรู้จัก street food (อาหารข้างถนน) อันเรืองนามของบ้านเรา นอกจากนี้ก็ยังมี street boxing (ชกกันข้างทางแบบสดๆต่อหน้าคนดู) street cars (รถรางไฟฟ้า) walking street (ถนนคนเดิน) และที่โจรต้องระวังเป็นพิเศษก็คือ street CCTV

          data หรือข้อมูล มาจากภาษาละติน data หมายถึง “(thing) given”หรือ “สิ่งที่ถูกให้มา” data เป็นพหูพจน์ ส่วน datum คือเอกพจน์ ในภาษาอังกฤษในยุคต้นทศวรรษ 2010 data อยู่ในรูปพหูพจน์ แต่ในปัจจุบัน data ถูกใช้ในรูปของ mass noun หรือเรียกแบบรวม ๆ เช่น rain / sand / หรือ information

          data มีการออกเสียงกัน 3 อย่าง คือ “เด-ต้า” / “แด-ต้า” และ “ดา-ต้า” มีคน 2 กลุ่มที่ออกเสียงต่างกัน คนอังกฤษและอเมริกันมักออกเสียงว่า “เด-ต้า” หรือ “แด-ต้า” ส่วนคนออสเตรเลียออกเสียงว่า “ดา-ต้า”

          data / information และ knowledge มีความสัมพันธ์กันใกล้ชิด data หมายถึงข้อมูลที่เป็นทั้งตัวเลขและไม่ใช่ตัวเลข อาจเป็นข้อความในจดหมาย คำบอกเล่า สถิติ ความรู้สึก สถานะของคนหรือสถานการณ์ ยอดขาย กำไร อัตราการว่างงาน ฯลฯ โดยไม่จำเป็นที่ data ต้องเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด data ที่สำคัญก็คือข้อมูลที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา

          ถ้านำ data มาวิเคราะห์พิจารณาก็จะได้ information หรือสารสนเทศ และเมื่อนำ information มาผสมปนเปกับประสบการณ์อย่างกว้างขวางก็จะได้ knowledge หากนำหรือไม่นำความรู้นั้นไปใช้และรู้ว่าจะทำอย่างไรกับมันก็คือสิ่งที่เรียกว่าปัญญา (wisdom)

          ตัวอย่าง เช่น ความสูงของยอดภูเขา Everest คือ data หากนำข้อมูลนี้มาประกอบกับข้อมูลอื่นเพื่ออธิบายการพิชิตภูเขานี้อย่างปลอดภัย มันก็กลายเป็น information ถ้านำมันมาใช้ประกอบกับประสบการณ์ของหลายคนที่พิชิตยอดเขานี้มาเพื่อใช้เป็นบทเรียนในการปีนเขา มันก็จะกลายเป็น knowledge และถ้าบุคคลหนึ่งนำความรู้นี้มาใช้เพื่อประเมินความสามารถของตนเองในการพิชิตยอดเขาก็จะสามารถตัดสินใจได้อย่างมีสติว่าสมควรไปปีนยอดเขา Everest กับเขาหรือไม่ อย่างนี้คือ wisdom

          อีกตัวอย่างที่ใกล้ตัว เช่น รู้สึกเหนื่อยง่ายมากเวลาขึ้นบันได หรือเจ็บอกเป็นพัก ๆ เวลาออกกำลังกาย เหล่านี้คือ data ถ้านำ data เหล่านี้มาวิเคราะห์ประกอบกับข้อมูลทางการแพทย์อื่น ๆ ก็ได้สารสนเทศหรือ information ว่าเป็นโรคหัวใจ หากไปหาแพทย์โรคหัวใจและมีการตรวจอย่างลึกซึ้งก็รู้ว่าเป็นโรคหัวใจรุนแรงเพียงใดและควรดูแลรักษาตนเองอย่างไร อย่างนี้ก็คือความรู้ และการรู้จักดำเนินชีวิตกับโรคหัวใจก็คือปัญญา (wisdom)

          street data หรือข้อมูลในระดับต้นหญ้า เป็นสิ่งที่ผู้คนในทุกระดับตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรอื่น ๆ ลงมา ตลอดจนหัวหน้าครอบครัวต้องให้ความใส่ใจและนำมาแปรเปลี่ยนเป็น information และ knowledge จนถึง wisdom อย่างไม่ผิดพลาดและอย่างชาญฉลาด

          ในระดับครอบครัวพ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรม (รูปร่าง หน้าตา ความคิด ภาษากาย ตลอดจนการแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ ของลูกบ้าน) ซึ่งก็คือ street dataนั่นเองเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความหมาย และเพื่อให้คำแนะนำสั่งสอนอันเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งของพ่อแม่ (“ลูกสนิทกับดิฉันมาก เราคุยกันทุกเรื่อง เขาบอกดิฉันทุกอย่าง” ระวังความเชื่อนี้เพราะเป็นสิ่งลวงตา)

          ในทุกองค์กรก็เช่นกัน การเก็บ street data จากเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร จะช่วยทำให้การตัดสินใจชัดคม และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขอเน้นว่าเป็นข้อมูลระดับล่างสุดจากการไถ่ถาม พูดจาและสังเกต ไม่ใช่จากรายงานหรือคำบอกเล่าของผู้ใต้บังคับบัญชา

          มีคำพูดตลกที่แฝงความจริงอยู่มากก็คือให้เจ้านาย “ระวังผักชี” และ “การเป็นเห็ดที่อยู่ในความมืดเพราะลูกน้องชอบที่จะให้เจ้านายรู้เฉพาะเรื่องที่อยากให้รู้โดยเฉพาะเรื่องที่ทำให้เขาดูดี และจะป้อนแต่ BS (bullshit หรือบีเอสหรือขี้วัว หรือขยะ) ให้อยู่เสมอ”

          หนทางที่จะหลีกหนีจาก “ผักชี” และ “BS” ได้ก็คือการดิ้นรนหา street data เท่านั้น ถ้าเป็นผู้บริหารประเภท remote management(การบริหารระยะทางไกล) ไม่ใช่ประเภทถึงลูกถึงคนแล้ว รับรองได้ว่าสักวันหนึ่งหรือโอกาสหนึ่งจะสำลักกลิ่นผักชีและกลิ่นขี้วัวตายแน่นอน

          street data สำหรับผู้บริหารภาครัฐยิ่งมีความสำคัญเพราะมันไม่ได้ถูกขีดวงอยู่แค่กำไรและขาดทุน หากหมายถึงชีวิตของผู้คน ความกินดีอยู่ดีและ คุณภาพชีวิตของตัวเขาเอง ตลอดจนครอบครัวและลูกหลานของเขาไปอีกหลายชั่วคนข้างหน้า

          ผู้เขียนขอยกตัวอย่างที่เห็นมาจริง เรื่องนี้ภาครัฐตั้งใจดี เห็นแก่ความปลอดภัยของชีวิตผู้คนโดยต้องการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล จึงบังคับให้มีการรัดเข็มขัดหากนั่งกระบะหลังซึ่งทำให้นั่งได้จำกัดคนมาก เมื่อมีประชาชนร้องมา (street data) ก็ยอมผ่อนปรนโดยเป็นนโยบายจากส่วนกลาง โดยไม่ได้แก้ไขกฎหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือชาวบ้านเดือดร้อนมากเพราะการนั่งรถกระบะเช่นนี้เป็นความจำเป็นในการเดินทาง กฎหมายที่ยังมีอยู่กลายเป็นเครื่องมือรีดไถของเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มอย่างสนุกมือเพราะวิจารณญาณของผู้ใช้กฎหมายที่หิวโหยย่อมเป็นช่องทางหากินชนิดแรดวิ่งผ่านได้เสมอ street data ในเรื่องนี้ก็คือความไม่พอใจรัฐอย่างเงียบ ๆ อย่าคิดว่าความพอใจของผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือคนมีปัญหาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจะสามารถหักลบกับความไม่พอใจ นี้ได้ ผู้เขียนเชื่อว่าเขาเห็นเป็นคนละเรื่องกัน

          “เสียงชาวบ้าน” หรือ “feedbacks จากชาวบ้าน” คือ street data นั้นเป็นของจริงเพราะมาจากบุคคลที่สำคัญที่สุด ตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคที่ดีมิได้หมายความว่าเศรษฐกิจส่วนตัวของทุกคน หรือของทุกภาคเศรษฐกิจจะต้องดีไปด้วย จะรู้ว่าเศรษฐกิจ “ข้างล่าง” เป็นอย่างไรนั้น ต้องดิ้นรน หา street data จากชาวบ้านโดยเฉพาะในชนบท

          กลิ่น “ผักชี” นั้นฉุนและหอมหวานสำหรับผู้บริหารบางคนจนอาจทำให้มึนงงจนตัดสินใจผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ได้ ยารักษามีตัวเดียวคือ street data